
เมธาวี รัชตวิจิน เขียน
เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งบ้างหรือเปล่า?
คุณเคยรู้สึกน้อยใจบ้างไหมว่า ทำไมตัวเองไม่อาจเข้าใจงานที่ได้รับมอบหมายในการอธิบายเพียงครั้งเดียว
เกรดไม่ดี ไม่ได้มีบ้าน รถ หรือเงินเดือนเหลือเฟือเหมือนคนอายุเท่ากัน ตามคนอื่นๆ ไม่ทัน
ไม่มีพรสวรรค์อะไรกับเขาบ้างเลย ทำไมเราโง่อย่างนี้ และอีกสารพัดถ้อยคำที่เฝ้าตอกย้ำความห่วยของตัวเอง
แต่เดี๋ยวก่อน …
หากคุณเห็นเด็กตัวเล็กๆ หัดเดินแล้วล้ม คุณจะบอกเด็กคนนั้นว่าเขาใช้ไม่ได้หรือเปล่า
คงไม่มีใครพูดกับเด็กเล็กแบบนั้นหรอกจริงไหม เพราะพวกเขากำลังเรียนรู้นี่นา
สำหรับเด็กๆ การล้มลงก็เป็นการเรียนรู้ เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเติบโต
แล้วเหตุใดเมื่อเขาโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กวัยรุ่น แล้วเกิด “สะดุดล้ม” ในชีวิตบ้าง พวกเขาจึงไม่ได้รับคำปลอบโยนเล่า?
เหตุใดเราจึงเฝ้าก่นด่าตัวเอง? การเรียนรู้ไม่ได้หยุดลงเมื่อเราเริ่มเดินได้ หรือในวัยที่เราก้าวเท้าออกจากห้องเรียนเสียหน่อย
จริงๆ แล้วคุณไม่ได้ห่วยหรอกนะ คุณแค่กำลังเติบโต
หนังสือ The Growth Mindset Coach: คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset บอกกับเราว่า ประโยคบั่นทอนกำลังใจเหล่านั้นเป็นเสียงของ ชุดความคิดแบบตายตัว (fixed mindset) หรือความเชื่อที่ฝังหัวว่าคนเราเกิดมาพร้อมความสามารถที่จำกัด และเราจะต้องใช้ชีวิตภายในกรอบนั้นโดยที่ไม่มีความพยายามใดจะเปลี่ยนแปลงมันได้
แต่ถ้าเราลองปรับวิธีคิดใหม่มาใช้ ชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ซึ่งเชื่อว่าทุกคนเรียนรู้ได้ถ้าพยายามมากพอ เราจะพบว่า ไม่ใช่ว่าเราทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ แต่เรายังทำไม่ได้ต่างหาก
เราเกิดมาเพื่อเติบโต
แครอล ดเว็ก (Carol Dweck) ศาสตราจารย์จิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้นำเสนอแนวคิดเรื่องชุดความคิด (mindset) เขียนในหนังสือ Mindset ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับชุดความคิดแบบเติบโต สังเกตได้จากวิธีคิดของเด็กทารก หากคุณนั่งมองทารกสักคนเริ่มต้นใช้ชีวิต เราจะเห็นว่า ทารกไม่สนใจว่าสิ่งที่พูดออกมาจะมีความหมายหรือไม่ หรือใครจะหัวเราะเสียงอ้อแอ้ของพวกเขา เพราะกำลังหัดพูด และหากล้มลงหลังเดินได้เพียงไม่กี่ก้าว พวกเขาก็พร้อมจะลุกขึ้นใหม่ในทันที เพราะกำลังหัดเดิน มุมมองเช่นนี้ทำให้มนุษย์ตัวเล็กทุกคนพร้อมออกไปสำรวจและเรียนรู้ทุกเรื่อง
แต่แล้วทัศนคติที่เปิดกว้างเช่นนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปรไป …
การเรียนรู้ที่เคยเกิดขึ้นเพราะความอยากรู้กลับถูกตัดสินด้วยเกรด เพื่อนๆ และบางทีผู้ใหญ่ก็พากันหัวเราะเมื่อพวกเขาพูดผิด สังคมเริ่มขีดเส้นเขียนคำนิยามว่าอย่างไรเรียกว่าฉลาด อย่างไรเรียกว่าโง่ ดังที่ดเว็กได้เขียนไว้ว่า “เมื่อเด็กๆ โตพอจะประเมินความสามารถตัวเอง หลายคนจะเริ่มกลัวความท้าทาย เพราะกลัวที่จะถูกมองว่าไม่ฉลาด”
แต่ไม่ว่าสังคมจะบอกเราว่าอย่างไร หลายงานวิจัยก็ยังคงยืนยันว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไร สมองของมนุษย์ก็ยังคงยืดหยุ่นและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เรายังไม่รู้อยู่เสมอ หากจิตใจของเราเชื่อเช่นนั้น
สมองของเราเติบโตได้เหมือนกับกล้ามเนื้อ
หลายคนอาจคิดว่าสมองของเราก็เหมือนกับห้องที่หน้าตาและพื้นที่จำกัด เราเกิดมากับสมองแบบไหน สิ่งที่เราเรียนรู้ได้ก็จะตายตัวแบบนั้น ทว่ามีงานวิจัยรองรับหลายชิ้นที่ตอบว่าไม่ใช่
ในหนังสือเรื่อง The Brain: The Story of You เดวิด อีเกิลแมน (David Eagleman) นักประสาทวิทยาศาสตร์ เล่าถึงเด็กชายคนหนึ่งซึ่งต้องผ่าตัดสมองครึ่งหนึ่งออกไปตั้งแต่อายุสี่ขวบ เพื่อต่อสู้กับอาการของโรคร้ายหายาก แต่สมองของเขาก็เปลี่ยนแปลงตัวเอง จนมีประสิทธิภาพเทียบเท่าสมองขนาดปกติได้ แม้จะเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว
อีกหนึ่งงานวิจัยพบว่า สมองฮิปโปแคมปัส (ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำ) ของคนขับแท็กซี่ในลอนดอนเติบโตขึ้นกว่าคนทั่วไป เพราะต้องจดจำถนนกว่า 2,500 สายทั่วเมือง เพื่อสอบใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ให้ผ่าน
เห็นไหมว่าสมองของมนุษย์มีศักยภาพมากถึงเพียงนั้น กับแค่การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทำไมเราจะทำไม่ได้
…
แอนนี บร็อก และเฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ ผู้เขียน The Growth Mindset Coach เปรียบเทียบการทำงานของสมองเหมือนกับการเดินทางในป่า
ให้ลองนึกว่าเราอาศัยอยู่ในบ้านหลังน้อยที่กลางป่า ทุกวันคุณต้องเดินทางจากบ้านไปยังลำธารสายเล็กๆ นานวันเข้าเส้นทางจากบ้านไปยังลำธารก็ราบลงจนเป็นเส้นทางที่ชัดเจน เดินง่าย การทำสิ่งที่เราคุ้นเคยแล้ว เช่น การทำโจทย์เลขบวกลบง่ายๆ ก็ไม่ต่างจากการเดินบนเส้นทางที่แผ้วถางแล้วในสมอง
ส่วนการเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น การทำโจทย์เลขที่ซับซ้อนและไม่เคยทำมาก่อน ก็เหมือนกับการเปิดเส้นทางใหม่ สมมติว่าวันหนึ่งคุณบังเอิญรู้มาว่ามีทุ่งดอกไม้แสนสวยอยู่กลางป่าในจุดที่คุณยังไม่เคยไปและคุณต้องการจะเชยชมดอกไม้ คุณจึงต้องเดินลุยเข้าไปในป่า หักร้างถางพง อาจหลงทางหรือสะดุดรากไม้จนเจ็บตัวบ้างในครั้งแรกๆ แต่ทุ่งดอกไม้ที่ได้เห็นก็คุ้มค่า และเมื่อคุณได้ เดินผ่านทางใหม่บ่อยๆ เข้า ทางดังกล่าวก็จะราบเรียบขึ้น การเดินไปเก็บดอกไม้ก็จะไม่ยากลำบากอีกต่อไป
เมื่อเราใช้งานสมอง สัญญาณไฟฟ้าจะถูกส่งถึงกันผ่านเซลล์ประสาท เมื่อมีสัญญาณส่งผ่านเส้นทางใดบ่อยๆ เซลล์ประสาทในสมองก็จะเชื่อมต่อกันเป็นเส้นทางที่แข็งแรงขึ้น เราจึงระลึกถึงหรือทำสิ่งที่คุ้นเคยได้ง่ายดาย ในทำนองเดียวกัน หากเราเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่ยังทำไม่ได้ หรือใช้เซลล์ประสาทในจุดที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน การเชื่อมต่อก็จะเป็นไปได้ช้า แต่เมื่อเรียนหรือใช้ความรู้นั้นบ่อยๆ เส้นทางดังกล่าวก็จะเติบโตและเชื่อมต่อกันได้เร็วขึ้นไม่ต่างจากเส้นทางในป่า และคุณก็จะทำสิ่งนั้นได้ชำนาญขึ้น
เพราะสมองของเราเติบโตได้เมื่อเราใช้ ไม่ต่างจากที่กล้ามเนื้อเติบโตได้เมื่อเราออกกำลังกายนั่นเอง
ทุกครั้งที่เจอปัญหา ให้คิดถึงตอนเราเป็นเด็ก ให้คิดถึงสมองที่เติบโตได้ ให้คิดถึงเส้นทางในป่า
และบอกตัวเองว่า
“ฉันไม่ได้ห่วยหรอกนะ ฉันแค่กำลังเติบโต”
…
ศึกษาแนวทางการสร้างชุดความคิดแบบเติบโตอย่างละเอียดได้ใน
The Growth Mindset Coach คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset
(The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve)
Annie Brock, Heather Hundley เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล
นุชชา ประพิณ ออกแบบปก
344 หน้า