7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน: 5. ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

ชุดความคิดการส่งเสริมศักยภาพปฏิเสธคำพูดทำนองว่า “เขาพยายามอย่างหนัก แต่อนิจจา มันไม่มีทางเป็นไปได้หรอก” และต่อยอดชุดความคิดแบบเติบโตขึ้นไปอีก

การรับเอาชุดความคิดนี้มาใช้จะเปลี่ยนการตัดสินใจของคุณไป ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคุณตามไปด้วย พฤติกรรมที่ทำเป็นประจำในระยะเวลาหนึ่งจะกลายเป็นนิสัย และนิสัยจะกลายเป็นบุคลิกของคุณในที่สุด

ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพมีความสำคัญยิ่ง กล่าวสั้นๆ คือ บ่อยครั้งชุดความคิดและความเชื่อที่เราบอกตัวเองว่าทำไมเราจึงล้มเหลวนี่เองที่ปั้นแต่งอนาคตของเรา เราทุกคนต่างล้มเหลว ณ จุดใดจุดหนึ่ง คำถามที่ต้องถามตัวคุณเองคือ

“ฉันจะตอบสนองต่อความล้มเหลวอย่างไร ทั้งโดยส่วนตัวและในฐานะครู ฉันจะเรียนรู้และเติบโตขึ้นจากความผิดพลาด ความผิดพลาดคือผลสะท้อนที่ช่วยให้ฉันเก่งขึ้น”

จำไว้ว่า ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพขยายชุดความคิดแบบเติบโตให้กว้างขึ้น

หมายเหตุ: สรุปความจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน

 

ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน: พิจารณาผลวิจัยโดยสังเขป

 

ชวนคุณพิจารณาความแตกต่างระหว่างชุดความคิดแบบยึดติดกับชุดความคิดแบบเติบโต ดังภาพประกอบด้านล่าง

 

 

งานศึกษาในปี 2008 ของแครอล ดเวก คาดการณ์ว่า ผลลัพธ์ของผู้คนไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพวกเขาล้มเหลว แต่เกิดจากความเชื่อของพวกเขาที่ว่า ทำไม พวกเขาจึงล้มเหลวต่างหาก เธอค้นพบว่าเมื่อให้ดูตารางเปรียบเทียบชุดความคิดแบบยึดติดกับแบบเติบโต เรามักติดอยู่ระหว่างกลางเมื่อเผชิญกับสถานการณ์อันหลากหลาย ดูตัวอย่างปลายอันสุดโต่งทั้งสองด้านของตารางเปรียบเทียบชุดความคิดได้ในภาพประกอบด้านล่าง

 

 

เมื่อเราโทษว่าความล้มเหลวของเรามีสาเหตุจากความผิดพลาดของผู้อื่นหรือการขาดความสามารถของตัวเราเอง สถานการณ์ ไอคิว ยีน หรือพรสวรรค์ เราจะเสียกำลังใจ

แต่ถ้าถือว่าความล้มเหลวเป็นอุปสรรคธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน และผูกโยงมันเข้ากับตัวแปรชั่วคราว (ที่เปลี่ยนแปลงได้) อุปสรรคก็มีแนวโน้มที่จะผลักดันเรา

ตัวแปรเหล่านั้นรวมถึงการขาดความพยายาม ทัศนคติแย่ๆ กลยุทธ์ที่ไม่เข้าท่า การขาดเครื่องมือ และประสบการณ์ที่ไม่เพียงพอ

ในทางสรีรวิทยา เรารู้ว่าเซลล์สร้างการเชื่อมต่อใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่โรงเรียน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ไอคิวเปลี่ยนแปลงได้ โภชนาการยกระดับไอคิวได้ เพียงอ่านนวนิยายวันละ 30 นาทีติดต่อกันเก้าวันก็สร้างการเชื่อมต่อเพิ่มเติมขึ้นในสมองได้ การสอนการใช้เหตุผลเปลี่ยนแปลงสมองได้ คุณสามารถกระตุ้นสติปัญญาเลื่อนไหล (fluid intelligence สติปัญญาที่ได้รับสืบทอดมาจากพันธุกรรม) ซึ่งหมายถึงการคิดตามหลักเหตุผลโดยอาศัยการฝึกอย่างมีเป้าหมาย

เรายังรู้ด้วยว่า ประสบการณ์ในโรงเรียนกับครูผู้มีประสิทธิภาพสูงกว่าครูส่วนใหญ่ยกระดับความสำเร็จในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนได้ โรงเรียนระดับมัธยมที่มีความยากจนสูงจำนวนมากมีนักเรียนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นข้ออ้างสำหรับความล้มเหลวจึงน่าเชื่อถือน้อยลงทุกที

 

เราจะสอนชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพได้หรือไม่?

 

เมื่อเจาะลึกลงไป งานวิจัยของดเวกเกี่ยวกับชุดความคิดแบบเติบโตสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ชุดความคิดของเราก่อนและหลังประสบความล้มเหลวบ่งบอกผลลัพธ์ในอนาคตของเรา และงานวิจัยอื่นๆ ก็สนับสนุนงานวิจัยนี้ นักวิจัยด้านชุดความคิดทดสอบการยกระดับการรู้คิดสำหรับเด็กวัยก่อนเรียนโดยเฉพาะ พวกเขาแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม จากนั้นจึงสอนหลักสูตรชุดความคิดแบบเติบโตระยะสี่เดือนให้กับกลุ่มทดลอง นักเรียนเตรียมอนุบาลเหล่านี้ได้รับการสอนว่า “สมองของนักเรียนเปลี่ยนแปลงได้ สมองของนักเรียนเปลี่ยนแปลงได้ นักเรียนเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ ความคิดเห็น ความพยายาม และวิธีการของนักเรียนจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในท้ายที่สุดของนักเรียน” สุดท้าย กลุ่มทดลองไม่เพียงมีผลการเรียนดีกว่ากลุ่มควบคุม แต่ยังรักษาผลลัพธ์เชิงบวกไว้ได้หลายปีอีกด้วย

ต่อมางานวิจัยเด็กชั้นอนุบาลถึง ป.5 โดยใช้เกมคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่า ชุดความคิดแบบเติบโตช่วยเพิ่มความมุมานะ และแม้กระทั่งในชั้นเรียนที่ยากที่สุด (เช่น ฟิสิกส์) นักเรียนชั้นมัธยมที่มีชุดความคิดแบบเติบโตก็ทำได้ดีกว่านักเรียนที่มีชุดความคิดแบบยึดติด

ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ระดับมัธยม นักเรียนที่ได้รับการฝึกสอนชุดความคิดแบบเติบโตมีผลการเรียนดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกสอนดังกล่าว แม้กระทั่งสองปีหลังจากได้รับการฝึกสอนครั้งแรก ผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นเมื่อพวกเขาเพียงได้เรียนรู้ชุดความคิดแบบเติบโต แม้แต่เมื่อการสอนยังคงเดิม

ในงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้เขียนเมื่อปี 2014 ซึ่งศึกษาโรงเรียนที่มีความยากจนสูง 10 แห่ง (มีนักเรียนฐานะยากจนไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์) โรงเรียนครึ่งหนึ่งมีผลการเรียนสูง (อยู่ในกลุ่มโรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงสุด 25 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ) และครึ่งหนึ่งมีผลการเรียนต่ำ (ผลการเรียนต่ำสุด 25 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ) โรงเรียนเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างไรเล่า นักเรียนต่างมาจากภูมิหลังที่มีความยากจนสูง ทว่าทีมงานในโรงเรียนที่มีผลการเรียนสูงเสริมสร้างชุดความคิดแบบเติบโตที่ดีกว่า สร้างสรรค์วัฒนธรรมในโรงเรียนอันแข็งแกร่ง และสร้างความสามารถด้านการรู้คิดขึ้นมา

 

นักเรียนฐานะยากจนมีความแตกต่างด้านการรู้คิดอย่างไร?

 

นักเรียนฐานะยากจนมักมาโรงเรียนพร้อมบุคลิกลักษณะเชิงบวกอันน่าทึ่ง แต่บ่อยครั้งที่ไม่มีใครมองเห็นหรือเห็นค่า ตัวอย่างเช่น ทักษะทางภาษาของนักเรียนมักค่อนข้างซับซ้อน เพียงแต่อาจไม่สอดคล้องกับศัพท์ทางวิชาการที่โรงเรียนต้องการเท่าไร เพราะเหตุนี้ ความเข้าอกเข้าใจและการค้นพบจึงเป็นทักษะสำคัญยิ่งของครูที่จะดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวนักเรียนแต่ละคนออกมา

นักวิจัยมักเชื่อมโยงสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่ำเข้ากับความแตกต่างของผลการศึกษาในความพยายามเชิงวิชาการอันหลากหลาย ตามปกติ ความแตกต่างเหล่านี้เกี่ยวข้องกับระบบประสาทด้านการรู้คิดหลักๆ สามระบบ ได้แก่ (1) ภาษา (2) ความจำ และ (3) การควบคุมการรู้คิด ความแตกต่างเหล่านี้ปรากฏในนักเรียนยากจนมากกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนชนชั้นกลาง และส่งผลให้ผลการเรียนลดลงได้ ปัจจัยอันหลากหลายที่บ้าน ละแวกบ้าน และโรงเรียนมีส่วนสร้างความแตกต่างเหล่านี้ขึ้นมา

ข่าวดีคือการสอนที่มีประสิทธิภาพสามารถบรรเทาความแตกต่างทั้งหมดได้ และตัวแปรในที่นี้คือความสัมพันธ์นั่นเอง

งานศึกษาวิจัยที่อ้างอิงกันบ่อยๆ ชิ้นหนึ่งเมื่อปี 1995 แสดงให้เห็นว่า นักเรียนยากจนทั่วไปที่เริ่มเข้าโรงเรียนรู้จักคำน้อยกว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ร่ำรวยกว่า 20-30 ล้านคำ เป็นเรื่องจริงที่นักเรียนยากจนมักเรียนรู้ทักษะภาษาช้ากว่า และแสดงให้เห็นความล่าช้าในการจดจำตัวอักษรและการตระหนักรู้ด้านสัทวิทยา ทั้งสองปัจจัยนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาด้านการอ่าน

อย่างไรก็ดี การศึกษาเมื่อปี 2018 กลับไม่พบช่องว่างทางภาษาที่เข้าใจกันว่าประกอบไปด้วยคำ 20-30 ล้านคำ และแน่นอนว่ามีความเสี่ยงที่จะมีอคติในหมู่ครูและผู้กำหนดนโยบายซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า “การคิดที่บกพร่อง” สิ่งที่เป็นความจริงคือ นักเรียนยากจนมักขาดคำศัพท์ทางวิชาการและเครื่องมือช่วยจำซึ่งจำเป็นต่อข้อกำหนดในการทดสอบส่วนใหญ่ของโรงเรียน

ประเด็นเรื่องความจำนั้นครอบคลุมทั้งความจำระยะยาวและความจำใช้งาน นักเรียนจากครอบครัวยากจนมีแนวโน้มที่จะมีความจำใช้งานบกพร่องมากกว่านักเรียนไม่ยากจน ความจำใช้งานเป็นทักษะการรู้คิดหลักซึ่งจำเป็นสำหรับวิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน และทักษะการคิด เด็กๆ วัยเรียนจากครัวเรือนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำยังพัฒนาทักษะทางวิชาการขั้นพื้นฐานด้านความจำใช้งานได้ช้ากว่าเด็กๆ จากกลุ่มเศรษฐกิจสังคมระดับสูงกว่าอย่างมากอีกด้วย คุณสามารถเข้าถึงเครื่องมือสำหรับเรียนรู้การสอนเพื่อให้เกิดความจำใช้งานได้ฟรีที่เว็บไซต์ jensenlearning.com/workingmemory

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการควบคุมการรู้คิด นี่คือความสามารถเปลี่ยนวิธีคิดและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในห้องเรียน ความสามารถนี้หมายถึงการที่นักเรียนเปลี่ยนกลยุทธ์การแก้ปัญหาหากกลยุทธ์หนึ่งใช้ไม่ได้ผล ในระดับใหญ่กว่านั้น นี่คือเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ทั้งยังช่วยให้เราเอาตัวรอดได้เมื่อมีกฎที่แตกต่างกันไปในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน นักเรียนสามารถพูดอย่างนั้นอย่างนี้กับเพื่อนร่วมชั้นได้ แต่ไม่ใช่กับครู เราเรียนรู้ว่า ถ้าเพื่อนถามว่าเราชอบยีนตัวใหม่ของเธอหรือไม่ และถ้าเราไม่ชอบก็สามารถเปลี่ยนไปใช้กฎความสมานฉันท์ทางสังคมและหลีกเลี่ยงการทำร้ายความรู้สึกของเธอได้ ทั้งหมดนี้คือทักษะการใช้ชีวิตหลักๆ หากปราศจากทักษะเหล่านี้ ชีวิตจะยากขึ้นหลายเท่า นักเรียนยากจนประสบปัญหาด้านการควบคุมการรู้คิดมากกว่านักเรียนไม่ยากจน

การช่วยนักเรียนพัฒนาทักษะทางอภิปัญญา (metacognition คือการวิเคราะห์กระบวนการคิดและการเรียนรู้ของตน) ขึ้นมาจะยกระดับแรงจูงใจ การเรียนรู้ ตลอดจนการเรียนรู้ในอนาคตให้สูงขึ้น นักวิจัยจัดการฝึกอบรมเป็นเวลาหกชั่วโมงให้นักเรียนชั้นมัธยมต้น โดยสอนทักษะกระบวนการด้านการวางแผน การตรวจสอบ และการประเมินให้พวกเขา เมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบผลลัพธ์ของพวกเขากับของกลุ่มควบคุมในเวลาต่อมา นักเรียนที่ได้เรียนรู้กลยุทธ์ทางอภิปัญญาทำแบบทดสอบได้ดีกว่าและมีระดับแรงจูงใจสูงกว่า

 

3 กลยุทธ์ส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน

 

นี่คือโอกาสแสดงความสามารถของคุณที่จะเติบโตและช่วยให้นักเรียนสำเร็จการศึกษา มาร่วมกันพัฒนาชุดความคิดที่พวกเขาจำเป็นต้องมีเพื่อการค้นพบตนเองและความสำเร็จกันเถอะ

ได้เวลาสร้างชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพขึ้นในตัวคุณเองและนักเรียนของคุณแล้ว เราขอเสนอ 3 กลยุทธ์เพื่อช่วยคุณส่งเสริมศักยภาพให้นักเรียน ดังต่อไปนี้

 

-1-

จัดการภาระทางปัญญา

 

ก่อนจะเริ่มส่งเสริมศักยภาพของสมองนักเรียน คุณควรรู้ว่ากำลังรับมือกับอะไรอยู่ นักเรียนที่มีชีวิตลำบากแสนสาหัสที่บ้าน มักใจลอยเมื่อครุ่นคิดถึงคำถามอย่าง “เวลากลับบ้านหลังเลิกเรียนจะเป็นอย่างไรนะ” ความคิดเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคลนั้นทรงพลังและวนเวียนกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า และจะแข่งกับหรือขัดขวางความคิดเกี่ยวกับเนื้อหาในชั้นเรียน พวกเขาอาจหิวโหยและไม่สามารถรวบรวมสมาธิได้ หรืออาจกำลังคิดว่าจะซุกหัวนอนที่ไหนในคืนนี้ นักเรียนที่มีความเครียดมากถึงเพียงนี้มี ภาระทางปัญญา (cognitive load) อันหนักหนาสาหัส

ภาระทางปัญญาคือปริมาณความคิดในสมองของคนเรา ณ เวลาใดก็ตาม เป็นเรื่องยากสำหรับนักเรียนยากจนที่จะมีสมาธิจดจ่อกับการบ้านในเมื่อพวกเขาต้องคิดถึงความอยู่รอดในแต่ละวัน โดยทั่วไป นักเรียนยากจนประสบกับภาระทางปัญญาในสภาพแวดล้อมด้านการเรียนรู้มากกว่านักเรียนจากครอบครัวชนชั้นกลางเสียอีก จะว่าไปก็คล้ายกับมีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ช้ามากนั่นเอง ถ้าคุณไม่แก้ปัญหานี้ คุณจะรู้สึกว่านักเรียนเหล่านี้เรียนรู้ได้ช้าเพราะพวกเขามักดูใจลอยและขี้ลืม และถามคำถามที่คุณเพิ่งตอบไปได้แค่อึดใจเดียว ดูภาพประกอบทางด้านล่าง

 

 

ความสามารถด้านการรู้คิดของนักเรียนมีขนาดผลกระทบต่อความสำเร็จของนักเรียนในระดับสูงลิ่ว ทว่านักเรียนที่แบกรับภาระทางปัญญาอันหนักหนาไม่สามารถประสบความสำเร็จครั้งใหญ่เมื่อจิตใจของพวกเขาพะวงอยู่กับความอยู่รอด

เพื่อค้นหาข้อจำกัดจากภาระทางปัญญาที่เกิดขึ้นกับสมอง นักวิจัยอาศัยการจำลองสถานการณ์สร้างความกังวลด้านการเงินคล้ายกับความยากจนขึ้นในผู้เข้าร่วมชนชั้นกลาง เมื่อทดสอบก่อนและหลัง ผู้เข้าร่วมการจำลองสถานการณ์สูญเสียคะแนนไอคิวไปคิดเป็น 13 คะแนนจากความตึงเครียดด้านการรู้คิด นั่นเป็นเพราะเมื่อคุณต้องการให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับเรื่องทางวิชาการ สมองของพวกเขากำลังง่วนกับการประมวลผลสถานการณ์การเอาชีวิตรอดชั่วโมงต่อชั่วโมงเสียแล้ว นักเรียนของคุณไม่ได้หัวช้าหรือเรียนอ่อน สมองของพวกเขาเพียงพะวงกับเรื่องอื่นเท่านั้นเอง

ขั้นแรกที่จะแก้ปัญหาสำคัญยิ่งนี้คือการดูให้แน่ใจว่าคุณได้อ้าแขนรับชุดความคิดว่าด้วยความคิดเชิงบวกและสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนแบบบริบูรณ์มาใช้แล้ว จงกระตุ้นความรู้สึกมองโลกแง่ดีและความหวังของนักเรียน และจัดการให้แน่ใจว่าห้องเรียนของคุณมีความปลอดภัยทางร่างกายและอารมณ์ ขั้นต่อไป กระตุ้นให้พวกเขามีความกระตือรือร้นทางร่างกายอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยเรื่องทักษะด้านการรู้คิด เช่น ความเร็วในการประมวลผลและความจำ ในการนี้ให้ใช้กลยุทธ์คงสภาพความพร้อมและจัดการความเครียดจากชุดความคิดการมีส่วนร่วม (ที่จะนำเสนอในลำดับถัดไป)

ส่วนนี้ ขอเสนอเครื่องมือเพิ่มเติมที่คุณสามารถใช้เพื่อลดผลกระทบของภาระทางปัญญาต่อสมอง และเครื่องมืออีกชุดหนึ่งสำหรับเสริมสร้างทักษะการเรียกใช้ความรู้ของนักเรียน

 

เครื่องมือลดปัญหาภาระทางปัญญา

 

ภาระทางปัญญาครอบงำนักเรียนที่กังวลว่าครูหรือเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร กุญแจสำคัญที่จะหักล้างผลกระทบจากภาระทางปัญญาคือการทำให้แน่ใจได้ว่า นักเรียนรู้ว่าความรู้สึกของพวกเขาสำคัญกับคุณและคุณใส่ใจพวกเขา หลายครั้งที่นักเรียนจะเลิกสนใจเพราะเนื้อหาใหม่หนักเกินไปสำหรับพวกเขา ต่อไปนี้คือเครื่องมืออันเรียบง่ายและทรงพลังที่จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในห้องเรียนที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหา ซึ่งต้องอาศัยความพยายามและบางครั้งก็ตึงเครียด

นอกเหนือจากกลยุทธ์เหล่านี้แล้ว การมีห้องเรียนที่ปลอดภัยทางร่างกายและอารมณ์ก็มีความสำคัญเหนืออื่นใดในการลดภาระด้านการรู้คิดของนักเรียนเช่นกัน คุณจะสังเกตว่าเครื่องมือเรียบง่ายเหล่านี้แต่ละอย่างช่วยให้นักเรียนใส่ใจมากขึ้น ทำความเข้าใจได้ดีขึ้น หรือจดจำได้นานขึ้น

 

จัดข้อมูลเป็นกลุ่มๆ

เหตุใดการจัดข้อมูลเป็นกลุ่มๆ จึงสำคัญต่อนักเรียนยากจนมากกว่านักเรียนไม่ยากจน เพราะความเครียดเรื้อรังทำลายความจำใช้งาน ความจำใช้งานคือทักษะการจัดเก็บภาพหรือเสียงไว้ในสมองของคุณและนำมาใช้ประโยชน์เพื่อหาคำตอบหรือแสดงความคิดเห็น

สำหรับนักเรียนของคุณ ข้อมูลกลุ่มใหญ่ๆ อาจดูน่าหวาดหวั่นหากปราศจากภูมิหลังของเนื้อหาหรือความจำใช้งานที่แข็งแกร่ง เมื่อครูกล่าวถึงเนื้อหาอย่างรวดเร็ว นักเรียนมักจับต้นชนปลายไม่ถูก พวกเขาอาจไม่มีภูมิหลังหรือความจำใช้งานที่จะประมวลผลได้เร็วเท่าๆ กัน พวกเขาจึงเลิกสนใจ

จงแบ่งเนื้อหาออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-6 นาทีเพื่อให้ได้ผลดีเยี่ยม และทุ่มเทเวลาให้กับการทบทวนเนื้อหาก่อนหน้านั้นมากขึ้น ไม่ใช่เพิ่มเนื้อหาใหม่ๆ เข้ามา การแบ่งเนื้อหาออกเป็นกลุ่มย่อยขนาดกำลังดีช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงข้อมูลกลุ่มใหญ่ๆ ที่พวกเขามีแต่จะลืม

 

เว้นระยะ

ในระดับย่อยๆ การเว้นระยะระหว่างเนื้อหาให้มากขึ้นนั้นมีประโยชน์ เกริ่นเนื้อหาที่คุณจะกล่าวถึงทั้งหมดในวันนั้นให้นักเรียนในชั้นฟังแล้วเว้นระยะ หลังจากเริ่มชั้น สรุปเนื้อหาเป็นประโยคหนึ่งถึงสองประโยคแล้วเว้นระยะ เว้นระยะหลังข้อความที่ทรงพลัง

ตอนต้นปี (หรือปีการศึกษา) ให้พูดตรงๆ แค่บอกนักเรียนว่า “จดไว้ นี่เป็นเรื่องสำคัญ” ชวนให้นักเรียนโน้มตัวฟังอย่างตั้งใจ เว้นระยะก่อนและหลังความคิดสำคัญ ไม่ช้านักเรียนของคุณจะตระหนักว่าการเว้นระยะคือสัญญาณว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญ จดไว้!

ถ้าคุณไม่ได้สร้างความจำใช้งานเป็นประจำทุกวัน คุณจำเป็นต้องปรับการสอนของคุณเพื่อนักเรียนที่ไม่สามารถจัดการภาระทางปัญญาของตนเองได้ ให้เวลาสำหรับจดโน้ตมากขึ้นและบอกให้รู้ว่าเมื่อไรต้องจด พูดกับนักเรียนทำนอง “หยิบปากกามาจดไว้ นักเรียนจำเป็นต้องรู้เรื่องนี้ไว้ใช้ในวันหน้า”

 

ยืดเวลาออกไป

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อครูเว้นช่วงการเรียนรู้ให้กินเวลานานขึ้น นักเรียนจะเข้าใจและการเรียกใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น สมมติคุณมีเนื้อหาที่ใช้เวลาสอน 10 ชั่วโมงจึงครบถ้วน คุณสามารถสอนเนื้อหานี้ในเวลาสองวันในระดับประถมหรือสองสัปดาห์ในระดับมัธยม แต่ประสิทธิภาพจะสูงขึ้นถ้าคุณขยายเวลาออกไปให้นานกว่านั้น

นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บและการเรียกใช้เนื้อหาหรือทักษะได้รับผลกระทบจากเวลาเรียนอย่างลึกซึ้งเพียงไร เวลาเรียนของนักเรียนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเมื่อขยายออกไปให้กินเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ไม่ใช่อัดไว้ในวันเดียว

การเรียนรู้แบบเว้นช่วง หรือที่เรียกว่าการฝึกแบบช่วงสั้นคือกระบวนการที่อาศัยประสบการณ์การเรียนรู้ซ้ำๆ กัน โดยมีการเว้นช่วงหรือช่องว่างที่กำหนดเวลาไว้สำหรับการประมวลผลและการประยุกต์ใช้ แนวคิดนี้เรียบง่าย กล่าวคือ “มากเกินไป เร็วเกินไป ย่อมไม่ยั่งยืน” ปัจจัยนี้มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ การเรียนรู้จะเป็นแบบช่วงยาวเมื่อแทบไม่มีหรือไม่มีช่องว่างในเนื้อหาที่หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง การบรรยายต่อเนื่องกัน 45 นาทีในระดับมัธยมศึกษาคือตัวอย่างของการเรียนรู้แบบช่วงยาว หลักฐานสนับสนุนการเว้นช่วงการเรียนรู้นั้นน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ คุณยังส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้มากกว่านั้นหลายเท่าเมื่อสอนเนื้อหาเดียวกันนี้โดยแบ่งออกเป็นห้าส่วน ส่วนละเก้านาทีในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ ทั้งหมดนี้เมื่อนำมาใช้ในห้องเรียนก็หมายความว่า คุณสามารถกระจายหน่วยหรือโมดูลเนื้อหาเป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งผนวกการทบทวนโดยการเรียกใช้ข้อมูลของนักเรียนหรือการวัดผลระหว่างเรียนไว้ในตารางเรียนของคุณด้วย

เตรียมความพร้อมของนักเรียนสำหรับการเรียนรู้ในอนาคตด้วยการแนะนำแนวคิดยากๆ ล่วงหน้าหลายวันหรือหลายสัปดาห์โดยอาศัยการเกริ่นนำร่วมกับเครื่องมือจัดระเบียบระดับสูง จากนั้นหลังจากสอนหน่วยดังกล่าวจบแล้ว ให้อ้างอิงถึงการเรียนรู้ก่อนหน้านั้นโดยอาศัยการทบทวนในหนึ่งสัปดาห์ให้หลังและผนวกมันเข้ากับหน่วยต่อไป การเรียนรู้แบบเว้นช่วงขยายเวลาการเรียนรู้ออกไป ถ้าคิดว่าเนื้อหาหน่วยหนึ่งจะใช้เวลาสองสัปดาห์ก็ปล่อยให้กินเวลา 3-4 สัปดาห์แทน และจัดให้เหลื่อมซ้อนกับหน่วยก่อนหน้าและที่กำลังจะมาถึง แน่นอนว่าไม่ใช่ครูทุกคนจะมีอิสรเสรีในการวางแผนเช่นนี้

แม้ว่านี่อาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่ขอให้ตั้งเป้าที่จะสอนเนื้อหา 85 เปอร์เซ็นต์ในสองสัปดาห์ตรงกลาง อีก 15 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสัปดาห์แรก และสัปดาห์สุดท้ายที่ขยายออกไป (ใช้เวลาที่เหลือสอนเนื้อหาหน่วยก่อนหน้าหรือถัดไป) ผู้เขียนแลกเปลี่ยนว่า ผลลัพธ์นั้นคุ้มค่าต่อความพยายามอย่างยิ่ง

 

สอนเนื้อหาที่เกี่ยวโยงกันแบบเว้นช่วง

ในที่นี้ เรานำคำสองคำมาประกอบกัน ได้แก่ การเว้นช่วงการเรียนรู้ กับ ความเกี่ยวโยง การสอนเนื้อหาที่เกี่ยวโยงกันแบบเว้นช่วงมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อครูใช้วิธีนี้วันเว้นวันหรือกลางคาบเรียนระหว่างการแนะนำเนื้อหากับการทดสอบเพื่อยกระดับการเรียกใช้ข้อมูล การเรียนรู้แบบช่วงสั้น (กระจายออกไป) เหนือกว่าการเรียนรู้แบบช่วงยาว (รวบรวมไว้ในระยะสั้นๆ) นักเรียนนึกสิ่งที่เคยเรียนรู้ออกมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเพิ่มความเกี่ยวโยงของเนื้อหาเข้าไป ดูภาพด้านล่างประกอบ

 

 

ในกรณีหนึ่ง (ทางซ้าย) มีการสอนเนื้อหาในครั้งเดียว ขณะที่ทางขวา เนื้อหาแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม (การเกริ่นนำ เนื้อหาหลัก และการสังเคราะห์ทบทวนหลังการสอน) การทบทวนที่ดีที่สุดคือการเรียกใช้ข้อมูลจากความจำ ไม่ใช่แค่พินิจดูเนื้อหาที่คุ้นเคย ให้เวลานักเรียนคิดให้ออกว่าพวกเขารู้อะไรแทนที่จะค้นคว้ามา พูดสั้นๆ ก็คือ แค่การเรียนเพียงอย่างเดียวเป็นการเรียนรู้ที่ด้อยคุณภาพ และการเพิ่มการเรียกใช้ข้อมูลเข้ามาทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ

 

เครื่องมือส่งเสริมการเรียกใช้ข้อมูลจากความจำ

 

เมื่อเราสอนดีก็เหมือนกับพานักเรียนเข้าไปในเนื้อหาและพวกเขาจะเข้าใจได้ดี ทว่ายังมีปริศนาทางวิชาการที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การนึกสิ่งที่เคยเรียนรู้ออกในเวลาสอบ สำหรับคนจำนวนมาก การเรียนรู้และการนึกออกเป็นสิ่งเดียวกัน หลายคนเชื่อว่าถ้าเราเรียนรู้สิ่งนั้นแล้ว เราก็ควรจะนึกออก ทว่าเนื้อหาจำนวนมากที่เราเรียนรู้เป็นการแฝงนัย (ไม่ได้สอนตรงๆ) เราจึงเรียกใช้ได้เมื่อมีสัญญาณเท่านั้น

นี่อาจเป็นความจริงเป็นพิเศษสำหรับนักเรียนที่มีภาระทางปัญญาอันหนักหนา “สี่แยกแถวบ้านเธอชื่ออะไร” สัญญาณง่ายๆ นี้แสดงให้เห็นความแตกต่างสำคัญ กล่าวคือ ความจำคือสิ่งที่สมองจัดเก็บไว้ ขณะที่การนึกออกคือสิ่งที่คุณเรียกใช้ได้ยามต้องการ

ช่องว่างระหว่างสองอย่างนี้ลดได้ด้วยความถี่ของการใช้งาน ความเกี่ยวโยง และความเข้มข้นของความจำ คุณนึกสิ่งที่เคยเรียนรู้ออกมากเมื่อมีความเครียดต่ำและมีคำพูดที่เป็นมิตรซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งเร้าและสัญญาณให้นึกถึงความจำก่อนหน้านั้น การรวมญาติหรือการระดมสมองในห้องเรียนเป็นสื่อกลางทางสังคมที่กระตุ้นให้เรานึกสิ่งที่เคยเรียนรู้ออก แต่การเรียกใช้ข้อมูลนั้นแตกต่างออกไป

การเรียกใช้คือความสามารถที่จะสร้างข้อมูลโดยไม่ต้องอาศัยตัวกระตุ้น เช่น สัญญาณทางสังคม ข้อสอบแบบปรนัย หรือตัวกระตุ้นทางวาจา การฝึกเรียกใช้ข้อมูลที่โรงเรียนเสริมสร้างความจำได้ดีที่สุด

การฝึกเรียกใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมให้นึกสิ่งที่เคยเรียนรู้ออกมากขึ้น แต่กลับใช้กันน้อยเกินไปอย่างมาก การฝึกนี้หมายถึงการให้เวลานักเรียนเรียกใช้สิ่งที่เรียนรู้ก่อนหน้านั้นด้วยการเขียนลงไปเท่านั้น โดยไม่ต้องอ่านหนังสือหรือดูโน้ตที่จดไว้ ครูส่วนใหญ่ใช้วิธีตั้งคำถามหรือทดสอบย่อย แต่นักเรียนบางส่วนจะอยากค้นหาคำตอบเท่านั้น นั่นไม่เป็นผลดีต่อสมอง เพราะการขาดการทำงานหนักมักหมายถึงขาดการเรียนรู้

ในงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนักเรียน ป.6 ที่เรียนสังคมศึกษาและนักเรียน ม.2 ที่เรียนวิทยาศาสตร์ มีนักเรียนสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มควบคุมเรียนรู้เนื้อหา ตามด้วยการทบทวนและอ่านคำตอบบนสไลด์ จากนั้นจึงทำแบบทดสอบ นักเรียนในกลุ่มทดลองได้รับเนื้อหาอย่างเดียวกัน (เป็นระยะเวลาเท่ากันในเวลาเดียวกัน) หลังจากนั้นพวกเขาได้รับโจทย์ให้เรียกใช้ข้อมูลในเอกสารผ่านการอ่าน ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เรียนด้วยการอ่านเนื้อหาซ้ำอย่างเดียวทำข้อสอบถูกโดยเฉลี่ย 79 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่ฝึกเรียกใช้ข้อมูลเป็นระยะสั้นๆ (จากการดึงเนื้อหามาจากความจำ) ทำคะแนนได้โดยเฉลี่ย 92 เปอร์เซ็นต์

นั่นแสดงให้เห็นทางเลือกที่ชัดเจน กล่าวคือ สอนเนื้อหาแล้วให้นักเรียนฝึกเรียกใช้ข้อมูลเพื่อนึกข้อมูลที่ได้เรียนให้ออก สำหรับงานศึกษาชิ้นนี้ คะแนนที่ได้คือความแตกต่างระหว่าง C+ กับ A- ทีเดียว ดูภาพประกอบด้านล่าง

 

 

การทดสอบสะกดคำเป็นตัวอย่างที่ดีของความคุ้นเคยซึ่งแตกต่างไปจากการเรียกใช้ข้อมูล นักเรียนอาจคิดว่าพวกเขารู้จักคำต่างๆ หลังจากอ่านซ้ำหลายครั้ง แต่เมื่อทำแบบทดสอบ พวกเขาอาจไม่รู้ งานหนักอย่างการเรียกใช้ข้อมูลต่างหากที่ช่วยผนึกความจำอันแม่นยำ ถ้านักเรียนค้นคำตอบที่ถูกต้องไว้ล่วงหน้า เขาหรือเธอก็ทำลายจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้เสียแล้ว

ในห้องเรียนของคุณ การฝึกเรียกใช้ข้อมูลอาจเป็นไปในรูปแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

  • ให้เวลานักเรียนทดสอบย่อยด้วยตัวเอง
  • ให้นักเรียนทำงานยากอย่างเลือกจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ก่อนหน้านั้น หรือวันก่อนหน้านั้นโดยเฉพาะ
  • ให้นักเรียนฝึกทบทวนบทเรียนหลายครั้งโดยใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ใช้ฟลิปชาร์ตวันหนึ่ง และพูดปากเปล่าในวันถัดไป
  • ใช้โจทย์ที่แตกต่างกันหลายแบบ เช่น สำหรับโจทย์เกี่ยวกับคำและจำนวน ใช้รายการ เรื่องเล่าและตัวละคร ข้อเท็จจริง การอนุมาน รวมทั้งการบอกเหตุและผล
  • ปรับเปลี่ยนกระบวนการโดยทำให้การเรียกใช้ข้อมูลเป็นกระบวนการทางสังคมในวันหนึ่ง (ทำงานเป็นคู่หรือกลุ่ม) และเป็นกระบวนการอิสระในวันต่อไป (เขียนจากความจำ)

 

การใช้กลยุทธ์แบบวัจนภาษาและอวัจนภาษาสลับกันนั้นได้ผลดี การใช้กลยุทธ์แบบอวัจนภาษามากขึ้นช่วยให้สามารถแสดงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป (การใช้ร่างกายแสดงสิ่งที่เรียนรู้ แสดงท่าทาง หรือสร้างมันขึ้นมา) เพียงแค่การสร้างแผนภาพ (ผังกราฟิก) ก็กระตุ้นความจำได้สูงพอจะเสริมสร้างความสำเร็จของนักเรียนให้มีผลการเรียนดีขึ้นตั้งแต่ 1-2 ปีเลยทีเดียว

มีวิธีแสดงสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้นักเรียนเลือกใช้หลากหลายวิธี เช่น วาดเป็นการ์ตูน แผนผังต้นไม้ ผังงานแบบสวิมเลน (swim-lane chart) แผนผังความคิด แผนภาพเวนน์ แผนผังบับเบิล (bubble map) สตอรีบอร์ด แผนภูมิแสดงเหตุและผล ผังงาน (flowchart) ตาราง หรือกราฟ

ต่อไปนี้คือวิธีแบบอวัจนภาษาสองวิธีที่จะทำให้นักเรียนนึกเนื้อหาที่สอนออกมากขึ้น นั่นคือ การใช้แผนภาพและการแสดงท่าทางสื่อเนื้อหา

 

ใช้แผนภาพ

ใช้แผนภาพ เช่น แผนผังความคิด ลำดับเวลา แผนภาพรูปแบบแนวคิด แผนภาพเป้าหมาย การ์ตูน แผนภาพเวนน์ แผนผังต้นไม้ ผังงาน แผนผังกลุ่ม แผนภาพใยแมงมุม แผนภาพต่อเนื่อง แผนผังแนวคิด หรือแผนภาพรูปแบบบรรยาย นอกจากนี้ คุณยังใช้เครื่องมือดังกล่าวสำหรับการประเมินผลระหว่างเรียนและการวัดผลสรุปได้อีกด้วย

 

แสดงท่าทางสื่อเนื้อหา

เมื่อครูแสดงท่าทางสื่อแนวคิดหลักๆ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ยินสิ่งที่ครูกำลังพูดโดยไม่ต้องแสดงให้เห็นเป็นภาพ นั่นอาจหมายถึงการแสดงท่าทางหรือสื่อถึงอะไรบางอย่างโดยใช้สีหน้าหรือมือประกอบเท่านั้น หลักการคือหลีกเลี่ยงการพูดหรือการแสดงภาพ

นอกจากนี้ การแสดงท่าทางยังเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่ช่วยให้สิ่งที่เรียนรู้คงอยู่เป็นเวลานานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น (1) เพื่อสื่อถึงความคิดสำคัญ ให้นักเรียนกางแขนออกทั้งสองข้าง (2) ถ้าอย่างหนึ่งดีกว่าอีกอย่างหนึ่งมาก ให้ยืนบนเก้าอี้ ชี้ไปที่เพดาน และทรงตัวด้วยการแตะเก้าอี้หรือไหล่นักเรียนคนหนึ่ง การแสดงท่าทางลดภาระทางปัญญาของนักเรียนและช่วยให้พวกเขาเรียนรู้

อีกกิจกรรมหนึ่งคือให้นักเรียนระบุแนวคิดหลัก 2-3 ประการของบทเรียน พวกเขาอาจระดมสมองจัดทำรายการแนวคิดที่เป็นไปได้ก่อน จากนั้นจึงลงคะแนนเลือกภายในทีม ขั้นต่อไป ให้นักเรียนเลือกแนวคิดสองประการที่ได้คะแนนสูงสุดแล้วสร้างสรรค์ท่าทางที่จะแสดงแนวคิดเหล่านั้น

ท่าทางที่นักเรียนใช้โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้าเมื่ออธิบายบทเรียนมักบ่งบอกว่าพวกเขาจะเรียนรู้บทเรียนนั้นหรือไม่ในภายหลัง การแสดงท่าทางสะท้อนถึงความพร้อมของนักเรียนที่จะเรียนรู้และแสดงบทบาทในการเรียนรู้บทเรียนนั้น ตลอดจนความสัมพันธ์ของเนื้อหาด้านต่างๆ นักเรียนที่ใช้ท่าทางในการเรียนรู้คณิตศาสตร์จำได้ 90 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 30 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มที่ไม่ใช้ท่าทาง อันเป็นการยืนยันว่าวิธีนี้ช่วยด้านความจำ (ดูแนวคิดต่างๆ ได้ที่ www.mathandmovement.com) ความจริงแล้ว คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่นักเรียนชื่นชอบได้เลยถ้าสอนดีๆ

 

-2-

เสริมสร้างทักษะการคิด

 

การทำทุกอย่างที่คุณทำได้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสมองของนักเรียนหมายถึงทบทวนผลกระทบของความยากจนและทำความเข้าใจความเชื่อมโยงอยู่เสมอ ความยากจนมักส่งผลกระทบต่อพื้นฐานทักษะการรู้คิดของนักเรียน รวมถึงทักษะในการตั้งใจ ความเร็วในการประมวลผล และความจำ ทว่าทักษะการคิดคืออะไรและเราจะสอนทักษะเหล่านี้ได้หรือไม่

ทักษะการคิดเป็นการจัดประเภทแบบกว้างๆ เวลาพูดว่านักเรียนคนหนึ่งมีทักษะการคิดที่ดี เรามักรวมถึงความสามารถในการตั้งใจ การแสดงให้เห็นว่าควบคุมชีวิตตนเองได้ การประเมิน ประมวลผล จัดลำดับความสำคัญ และเรียงลำดับเนื้อหา การจัดเก็บข้อมูลไว้ในความจำระยะสั้น การเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง การคาดการณ์และใช้ความจำใช้งานขณะจัดการเนื้อหา และท้ายที่สุดคือการอดใจรอจนกว่าจะจำเป็นต้องตอบ ทั้งหมดนี้คือทักษะย่อยๆ เกินห้าอย่างและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การสอนทักษะการคิดเป็นความท้าทาย

เนื่องจากแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะประกาศสูตรการคิดอันเป็นสากล กระบวนการสอนนักเรียนให้คิดเชิงวิพากษ์จึงได้ผลมากขึ้นหลายเท่าหากคุณส่งเสริมนักเรียนให้คิดถูกทางและถูกเวลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้คิดนามแดเนียล วิลลิงแฮม ให้คำจำกัดความ การคิดเชิงวิพากษ์ ว่าหมายถึงกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ ความแปลกใหม่ และกำหนดทิศทางได้ด้วยตนเอง การคิดเชิงวิพากษ์จะได้ผลต่อเมื่อนักเรียนหลีกเลี่ยงอคติผิดๆ ทั่วไป (มองเห็นเพียงด้านเดียวของประเด็นนั้นๆ ตัดหลักฐานใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับความคิดของตนทิ้ง ไม่ใช้หลักเหตุผลพื้นฐาน หรือไม่มองหาหลักฐาน) วิลลิงแฮมยืนยันว่าการคิดนั้นต้องแปลกใหม่ ไม่ใช่สูตรที่จำมาจากสถานการณ์อันคุ้นเคย นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่าการคิดเชิงวิพากษ์กำหนดทิศทางด้วยตนเอง ผู้คิดต้องเป็นคนคิด ไม่ใช่ทำตามการกระตุ้นของครูหรือครูฝึก การเสริมสร้างศักยภาพที่แท้จริงเป็นเรื่องของความเข้าใจดังกล่าวมานี้ทั้งสิ้น

มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าทักษะการคิดนั้นสอนกันได้ ถ้าคุณรู้ว่าจะสอนให้ถูกทางได้อย่างไร และถ้าคุณเชื่อในชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพซึ่งกล่าวว่าคุณเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ ชวนพิจารณากลยุทธ์ส่งเสริมการสอนทักษะการคิดอย่างละเอียด พร้อมทั้งศึกษากลยุทธ์เพื่อช่วยส่งเสริมการคิดอันยอดเยี่ยมให้กับนักเรียนกันต่อ

 

กลยุทธ์สำหรับสอนทักษะการคิด

 

ทักษะการคิดเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำนักเรียนไปบนหนทางอันปลอดโปร่งสู่การสำเร็จการศึกษา การใช้เหตุผลเป็นทักษะการคิดสำคัญที่สอนได้และควรสอน โดยมีหลักการที่เฉพาะเจาะจงสองข้อ ได้แก่ (1) ต้องมีครูที่มีประสิทธิภาพสูง และ (2) การถ่ายโอนทักษะนี้ไปใช้ต่างบริบททำให้ได้ผลน้อยลง เครื่องมือสำหรับการใช้เหตุผลอย่างดีที่สุดรวมถึงเครื่องมือต่อไปนี้

 

  • มองหา อ่าน ฟัง และเข้าไปมีประสบการณ์
  • ประยุกต์ใช้มาตรฐานต่างๆ แยกแยะข้อมูลที่ได้รับ
  • ตีความและให้คำจำกัดความปัญหาที่แท้จริง
  • วิเคราะห์ ทั้งโดยรวมและแยกเป็นส่วนๆ
  • เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของจุดยืน
  • ตรวจสอบคำกล่าวอ้าง หลักฐาน และอคติ
  • อาศัยการใช้เหตุผลแบบอุปนัยและแบบนิรนัย
  • คาดการณ์และอนุมาน
  • แปล อธิบาย และลงมือทำ

 

รายการข้างต้นเป็นขั้นตอนทั่วไปในการสอนและเรียนรู้ทักษะการใช้เหตุผล นี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นชุดเครื่องเตือนใจมากกว่า จำไว้ว่า ให้สอนกลยุทธ์การคิดด้วยบริบทของเนื้อหาที่คุณมี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทักษะเหล่านี้มีการถ่ายโอนระดับปานกลางถึงต่ำ ใช้หัวข้อของคุณเองและเสริมสร้างทักษะที่เข้ากับชั้นเรียนของคุณ นักเรียนอาจมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นเล็กๆ น้อยๆ โดยพลาดประเด็นสำคัญกว่านั้นไป สอนให้นักเรียนใช้เครื่องมือทุกอย่างในรายการนี้เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือที่เหมาะสมแก้ปัญหาได้ถูกจุด นั่นหมายถึงการสอนทักษะการคิดครบหลักสูตรแล้ว

การสร้างทักษะการใช้เหตุผลต้องอาศัยความเต็มใจที่จะทดลองกระบวนการและความเชื่อเชิงบวกในตัวนักเรียนของคุณ ผลการศึกษาเหล่านี้สนับสนุนให้ใช้แนวทางการฝึกอย่างมีเป้าหมาย (มีการวางแผนโดยให้เวลาอย่างเพียงพอและให้ความเห็นอย่างมีคุณภาพ) เพื่อเรียนรู้การใช้เหตุผลแบบไม่เป็นทางการ มีกลยุทธ์อันเรียบง่ายที่คุณสามารถนำไปใช้ในห้องเรียนอยู่มากมาย ต่อไปนี้คือตัวอย่างหนทางแก้ปัญหาที่ผู้เขียนแนะนำ

 

สอนภาษาการคิด

เริ่มต้นด้วยรากฐานการคิด นั่นคือภาษา เพราะนักเรียนบางส่วนจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานที่ว่านี้ นักเรียนของคุณต้องการการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้เรียนรู้และใช้ภาษาวิชาการของโรงเรียน นี่คือพื้นฐานสำหรับการใช้เหตุผล คำที่เราเลือกใช้แสดงถึงแนวคิดและรายละเอียดของการใช้เหตุผลใดๆ ของเรา หากปราศจากคำ (หรือท่าทาง วัตถุ หรือการสื่อถึงในรูปแบบอื่นๆ) ที่ถูกต้องที่จะแสดงความคิดของเรา การคิดของเราจะไม่แม่นยำหรือสมบูรณ์ อธิบายประโยคต่อไปนี้แล้วตรวจสอบความเข้าใจ

 

  • “นี่คือความหมายของทัศนะที่ว่านี้”
  • “คำที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า หมายถึง คืออะไร”
  • “ถ้าครูตัดของหวานออกเป็นชิ้นเล็กๆ แสดงว่าครูกำลังทำอะไร” (ถามนักเรียนตามคำที่พวกเขาใช้ “ตัด หมายถึง แบ่ง หรือไม่ แบ่งปัน หมายถึง แบ่ง หรือไม่ แยกเป็นส่วนๆ หมายถึง แบ่ง หรือไม่”)

 

ค้นหาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหา

ขั้นแรก ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นนักเรียนรู้ผู้ใฝ่รู้และค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คุณอาจเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมสำหรับกระบวนการนี้ ในชั้นเรียนทุกสัปดาห์ เล่าอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณหลงใหล ถ้าต้นแบบของพวกเขาตื่นเต้นกับการเรียนรู้ มันจะติดต่อถึงกัน ขั้นที่สอง ช่วยแยกแยะความแตกต่างระหว่างข้อมูลหลากหลายประเภท แสดงให้พวกเขาเห็นว่าแหล่งข้อมูลคือกุญแจสู่ความเข้าใจประเภทของการใช้เหตุผลที่ต้องใช้ แหล่งข้อมูลนั้นอาจเป็นเพื่อนหรือวารสารทางวิชาการ ขั้นต่อไป แสดงให้นักเรียนเห็นว่าจะเลือกปัญหาที่จะแก้ไขหรืออภิปรายให้ถูกจุดได้อย่างไร ต่อไปนี้คือกรอบแนวคิดพื้นฐานเจ็ดขั้นตอนสำหรับระบุปัญหาที่แท้จริง และพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลของนักเรียน

 

  1. ระบุปัญหาที่แท้จริง
  2. ทำรายการอคติส่วนบุคคลและวิธีการเอาชนะอคติเหล่านั้น
  3. คิดหาหนทางแก้ไขที่เป็นไปได้ 2-5 หนทาง
  4. ประเมินและคัดเลือกหนทางแก้ไข
  5. นำหนทางแก้ไขมาใช้
  6. วิเคราะห์ผลลัพธ์และลองหนทางอื่นหากจำเป็น
  7. สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้

 

คุณช่วยพวกเขาระบุอคติในอดีตของพวกเขาเองเพื่อให้มีเส้นทางการคิดที่ชัดเจน สอนหลายๆ วิธีสำหรับแก้ปัญหา ทำรายการประเภทของปัญหาที่จะแก้ไข และเล่าว่าคุณจะใช้แนวทางที่แตกต่างกันแก้ปัญหาแต่ละประเภทอย่างไร แก้ปัญหาอย่างหนึ่งให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้พวกเขาแก้ปัญหาคล้ายๆ กัน

 

ตั้งคำถามที่ถูกต้อง

เมื่อเวลาผ่านไป ครูส่วนใหญ่จะตระหนักว่า นักเรียนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดมักตั้งคำถามที่ผ่านการใคร่ครวญมามากที่สุดในชั้น สอนนักเรียนตั้งคำถามที่ถูกต้องเพื่อให้พวกเขาทุ่มเทเวลาไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งโจทย์เรื่องคำให้นักเรียนแก้ จากนั้นให้นักเรียนแต่ละคนจับคู่กันแล้วอภิปรายคำถามที่ว่า “ข้อใดคือปัญหาที่แท้จริงที่ต้องแก้ไข” ถามคำถามของคุณจากหลายแง่มุมก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหานั้น “เธอจะบอกว่าปัญหาคืออะไร แล้วเขาล่ะ” จากนั้นให้นักเรียนหาหลักฐานมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตน (พิสูจน์) ให้นักเรียนหาหนทางที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหานั้น บางครั้งพวกเขาอาจหลงประเด็นและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง (แต่เป็นคนละเรื่องกัน)

 

แสดงทัศนะอย่างมีประสิทธิภาพ

สอนนักเรียนว่าการใช้เหตุผลมักต้องอาศัยการสวมบทบาทที่แตกต่างกันไปเพื่อจะได้เห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองที่แตกต่างกัน เอดเวิร์ด เดอ โบโน เสนอ การคิดแบบหมวกหกใบ (บทสรุป ข้อมูล ข้อดี ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึก และข้อควรระวัง) เพื่อให้เกิดการคิดอันหลากหลาย คุณอาจแนะนำการใช้มุมมองของผู้อื่นดูด้วย (“ฉันจะพิจารณาปัญหานี้ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ นักนิเวศวิทยา นักธุรกิจ นักคณิตศาสตร์ นักการเมือง ผู้นำศาสนา หรือนักเรียน”) มีวิธีแก้ปัญหามากมายไร้ที่สิ้นสุด บทบาทของคุณคือช่วยให้นักเรียนคุ้นเคยกับการทำความเข้าใจปัญหาใดๆ จากมากกว่าจุดยืนเดียว

เพื่อเป็นเครื่องมือในการคิด สอนให้นักเรียนทำตามแต่ละขั้นตอนในจำนวนห้าขั้นตอนต่อไปนี้ และเมื่อนักเรียนดูผ่อนคลายกับกระบวนการนี้แล้ว ให้พวกเขาจับคู่และแสดงทัศนะที่ขัดแย้งกัน

 

  1. คาดเดาประเด็นหลักของการแสดงทัศนะสนับสนุนหรือแย้ง และให้เหตุผลทางเลือกที่โดดเด่นใดๆ ก็ตาม
  2. สรุปหลักฐานสนับสนุนที่รองรับทัศนะแต่ละข้อ
  3. วิเคราะห์มุมมองที่ตรงข้ามกันและข้อดีของทัศนะอื่นๆ
  4. อธิบายเหตุผลว่าทำไมความคิดหนึ่งหรือหลักฐานอย่างหนึ่งจึงดีกว่าอีกอย่าง
  5. สร้างบทสรุปชั่วคราวและระบุสิ่งที่จะทำให้เปลี่ยนใจ

 

ตัวอย่างเช่น ให้นักเรียนคนหนึ่งใช้มุมมองของคนที่เพิ่งมาถึงอเมริกาและนักเรียนอีกคนพูดในฐานะผู้พำนักมาหลายชั่วคน หรือให้คนหนึ่งแสดงทัศนะแบบหัวก้าวหน้าและอีกคนแสดงทัศนะแบบอนุรักษนิยม บางทีอาจให้นักเรียนแสดงมุมมองของฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋นในกองทัพ

 

ถอดรื้อภาพสร้าง

สอนนักเรียนว่าจะใช้ วิพากษ์วิจารณ์ และถอดรื้อภาพสร้างได้อย่างไร ภาพสร้าง คือความคิดเชิงนามธรรม (ความคิดหรือทฤษฎี) ที่ผู้คนมีร่วมกัน โดยอาจรวมถึงวลีอย่าง ครอบครัวทั่วไป หรือ นักเรียนทุกวันนี้ การเข้าใจทักษะการใช้เหตุผลหมายความว่าเราต้องเข้าใจสาระของหัวข้อ สาระส่วนหนึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติหรือลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของแนวคิด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อะไรทำให้คำ ความคิด สิ่งของ หรือบุคคลดังกล่าวมีเอกลักษณ์? นักเรียนต้องใช้ความคิดอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ และพวกเขาต้องอาศัยแนวทางจากคุณ ลักษณะใดบ้างที่เราเห็นตรงกันว่าพบในนักเรียนฐานะยากจนของคุณ?

สำหรับตัวอย่างในห้องเรียน สมมติว่าแนวคิดที่ว่านี้คือ ความยุติธรรม ให้นักเรียนจับคู่กันและทำรายการสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนี้ นักเรียน (ขึ้นอยู่กับระดับชั้นของพวกเขา) อาจนึกถึงคำต่างๆ เช่น ความเป็นธรรม ถูกกฎหมาย ตำรวจ บทลงโทษ ศาล สิทธิพลเมือง และ กฎหมาย พวกเขาอาจแบ่งประเด็นเรื่องความยุติธรรมเป็นกลุ่มๆ เช่น สังคม ย่าน และ บ้าน

ไม่ช้านักเรียนจะเริ่มเห็นว่าคำบางคำจำกัดความบางอย่างได้ดีมาก ความยุติธรรมมีความหมายใหม่โดยสิ้นเชิงสำหรับนักเรียนเมื่อพวกเขามองเห็นทุกแง่มุมที่จะเข้าใจคำนี้ (หรือขาดความเข้าใจคำนี้) ตัวอย่างเช่น ความยุติธรรมในศาลแตกต่างจากความยุติธรรมแบบศาลเตี้ย นักเรียนไม่สามารถใช้เหตุผลได้หากไม่รู้ว่าจะหาความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง และถอดรื้อภาพสร้างแต่ละอย่างได้อย่างไร

จากนั้นถามพวกเขาว่าจะกล่าวอ้างถึงคำคำหนึ่งในแบบใด นักเรียนอาจมีประสบการณ์หรือเรื่องเล่าส่วนตัวที่ทำให้แนวคิดบางอย่างน่าสนใจยิ่งขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของงานเขียนอันยอดเยี่ยมที่ทำให้ความคิดเห็นของนักเรียนน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ประสบการณ์ส่วนตัวเป็นคำกล่าวอ้างอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับวารสารที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญในสาขา ให้พวกเขาเริ่มต้นด้วยการแสดงความคิดเห็นของพวกเขาเอง จากนั้นจึงให้พวกเขาจัดระเบียบความคิด ผนวกคำกล่าวอ้างเข้ามา และเขียนบทสรุป

 

ใช้การทำแผนผังทัศนะ

ขั้นต่อไปก็ได้เวลาแสดงภาพประกอบและใช้เครื่องมือประกอบการคิดที่เห็นภาพ ให้นักเรียนดูแผนผังทัศนะ (เช่น แผนภาพกรอบสี่เหลี่ยมกับลูกศร หรือจุดเชื่อมต่อกับการเชื่อมต่อ) ที่แสดงความสัมพันธ์ ลำดับชั้น และความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยข้อมูลทั้งหมด (เว็บไซต์ rationaleonline.com มีแผนผังทัศนะที่ส่งเสริมทักษะการใช้เหตุผลให้ดู) แผนผังทัศนะเป็นการนำเสนอแบบกึ่งทางการ โดยผสมผสานโครงสร้างกราฟแบบทางการเข้ากับภาษาที่เป็นธรรมชาติ คุณอาจมองว่าเทคนิคนี้เป็นการรับมือกับความท้าทายด้านการออกแบบก็ได้ กล่าวคือ การคิดหาวิธีให้เหตุผลสนับสนุนและพิสูจน์ด้วยหลักฐาน นักวิจัยแสดงให้เห็นว่าสามารถเร่งทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ให้เพิ่มพูนขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง แผนผังทัศนะยังเสริมสร้างการคิดระดับเตรียมอุดมศึกษาให้กับนักเรียนชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย

คุณอาจให้นักเรียนแสดงความคิดเป็นแผนผังบับเบิล โดยที่พวกเขาอาจวางแนวคิดหลักไว้ตรงจุดศูนย์กลาง ให้พวกเขาจัดกลุ่มโดยใช้วิธีการใหม่ๆ ในการแบ่งแยกคำ เมื่อนักเรียนเพิ่มแนวคิดเข้าไปอีกจะช่วยให้เห็นภาพกว้างและความลึกของประเด็นต่างๆ แผนผังบับเบิลช่วยให้พวกเขาเริ่มระบุประเด็นได้ดีขึ้นโดยอาศัยความเกี่ยวโยงเป็นเกณฑ์

สิ่งสำคัญคือการให้ต้นแบบ คุณมีจักรวาลการเรียนรู้อยู่ในความคิด คุณไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ทั้งหมดในคราวเดียว ดังนั้นสิ่งที่นักเรียนต้องการไม่ใช่สิ่งที่คุณรู้ (พวกเขาพบสิ่งเหล่านั้นได้ในตำราหรือบนอินเทอร์เน็ต) แต่เป็นเรื่องที่ว่า คุณรู้สิ่งที่รู้ได้ อย่างไร ต่างหาก นั่นทำให้คุณต้องคิดอย่างผู้เริ่มต้น และเขียนขั้นตอนที่ใครๆ สามารถทำตามได้เพื่อจะคิดเหมือนคุณออกมาจริงๆ ครูมักติดต้นแบบกระบวนการเขียนหรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับคำไว้บนผนัง การใช้ต้นแบบเป็นความคิดอันยอดเยี่ยมหากคุณอธิบาย อ้างถึง และใช้มันบ่อยๆ ต้นแบบพื้นฐานของการคิดแก้ปัญหาสำหรับแสดงทัศนะนั้นคุ้มที่จะติดไว้ ดูภาพประกอบด้านล่าง

 

 

คุณคงจำได้ว่า ต้นแบบคือเค้าโครงของกระบวนการ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้เรียนรู้ซึ่งมีพัฒนาการมากขึ้นอาจเพิ่มเติมรายละเอียดหรือค้นพบทางลัด แต่ในขั้นแรก ต้นแบบอาจเป็นหน้าต่างอันประมาณค่ามิได้ที่จะเปิดสู่โลกของทักษะการคิดในจิตใจ การใช้ต้นแบบเป็นหนึ่งในวิธีสร้างทักษะการรู้คิดอันชาญฉลาดห้าอันดับแรกของผู้เขียนทีเดียว

 

ให้นักเรียนแสดงความเห็นเป็นคำพูด

ให้นักเรียนพูดคุยถึงกระบวนการแก้ปัญหา วิธีนี้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใคร่ครวญให้ดีขึ้น และรับฟังคำวิจารณ์กระบวนการคิดของตนเพื่อปรับปรุงคุณภาพต่อไป กระบวนการนี้เป็นอันดับต้นๆ ที่มีส่วนช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จ จัดอยู่ใน 25 เปอร์เซ็นต์แรกของปัจจัยทั้งหมด ต่อไปนี้คือวิธีใช้กลยุทธ์ดังกล่าว

 

  1. นักเรียนเลือกปัญหาขณะนั่งประจำที่และจับคู่พูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการแก้ปัญหา ทั้งก่อนทดลองใช้กระบวนการนั้นและระหว่างที่แก้ปัญหาจริงๆ
  2. นักเรียนยืนแสดงความคิดเห็นระหว่างการอภิปรายของทั้งชั้น โดยคุณช่วยชี้แนะให้พวกเขาคิดได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หรือหาวิธีที่มีประโยชน์กว่านั้นในการทำความเข้าใจหัวข้อ

 

ใช้คำถามอันทรงพลัง

ครูที่นักเรียนมีปัญหากับการใช้เหตุผลมักตั้งคำถามหนึ่งหรือสองข้อ ซึ่งมักเป็นถามที่ต้องการคำตอบทำนอง “อะไรคือ…” หรือ “ข้อใดคือ…” ขณะที่ครูผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนการใช้เหตุผลจะใช้ชุดคำถามเพื่อพัฒนาการคิด คุณอาจได้ยินคำถามต่อไปนี้

 

  • “บอกครูอีกทีได้ไหม ว่าสิ่งที่เธออ้างถึงคืออะไร”
  • “ครูขอหลักฐานสนับสนุนสิ่งที่เธอพูดมาหน่อย”
  • “เธอเชื่อมโยงสิ่งที่ (นักเรียนอีกคน) เพิ่งพูดกับข้อคิดเห็นของเธอได้ไหม เธอรู้สึกแตกต่างออกไปหรือเหมือนเดิม เธอเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย”
  • “ถ้าเรื่องนั้นเกิดขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”
  • “อะไรคือสาเหตุที่เป็นไปได้ของเรื่องนั้น”
  • “ทำไมพวกเขาทำแบบนี้ และเธอพอจะนึกวิธีอื่นออกไหม”

 

คุณน่าจะอยากมีกระบวนการของคุณเองที่จะใช้คำถามอันทรงพลัง นี่คือตัวอย่างกระบวนการของผู้เขียน

 

  • ให้เวลารออย่างเพียงพอ (5-10 นาที)
  • ให้ต้นแบบสำหรับการตอบ เป็นต้นว่า “นั่นเป็นความจริงเพราะ…”
  • อย่ายอมรับคำตอบง่ายๆ เด็ดขาด เช่น “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” หรือ “ผมไม่รู้” ท้าทายให้นักเรียนทำมากกว่านั้น ให้พวกเขาฟังนักเรียนสองคนถัดไปแล้วลองเดาดูใหม่
  • ติดคำถามที่อาศัยการใช้เหตุผลระดับสูงไว้ในห้องเรียนเสมอแล้วอ้างถึงบ่อยๆ ดูให้แน่ใจว่าทุกคนมีส่วนร่วม และขอบคุณนักเรียนแต่ละคนที่ร่วมแสดงความคิดเห็น (“เธอจะตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ว่า…อย่างไร” “เธอจะอธิบายเรื่องนั้นกับนักเรียนใหม่อย่างไร” “จะอธิบายบทสรุปของเธออีกแบบหนึ่งได้อย่างไร” “คนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อาจคิดเห็นอย่างไร” เธอจะให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือที่สุดว่าเรื่องนี้เป็นความจริงอย่างไร” “ถ้ามันไม่จริง เหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุดคืออะไร”)

 

คุณอาจพูดว่า “ขอบคุณที่เข้ามาร่วมวง” หรือ “ครูชอบความคิดเธอมาก” ความเข้าใจหลักในเรื่องนี้เรียบง่าย กล่าวคือ ทักษะการใช้เหตุผลอันเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการคิดระดับสูงขึ้นไป และการทำหน้าที่ด้านการบริหารเป็นกระบวนการที่สอนกันได้ ถ้าคุณไม่สอนพวกเขา นักเรียนอาจพลาดทักษะที่คุณมองข้ามไปตลอดชีวิต คราวนี้มาพานักเรียนไปสู่ระดับการรู้คิดที่สูงกว่านั้นกัน

 

ส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงสุด

 

เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะตั้งคำถามด้านการคิดที่จะพัฒนาสมองของนักเรียนได้ดีขึ้น แต่การจะบรรลุขั้นสูงสุดได้ นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามให้ดีขึ้นเช่นกัน ใน Making Thinking Visible: How to Promote Engagement, Understanding, and Independence for All Learners รอน ริตช์ฮาร์ต และทีมศึกษา ร่วมกันอภิปรายโครงสร้างที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างความสามารถด้านการรู้คิด

Making Thinking Visible ให้รูปแบบง่ายๆ สำหรับสอนการคิดแก่ครู ทีมผู้เขียนเสนอแนะและสนับสนุนให้ใช้กิจวัตรด้านการคิดที่เฉพาะเจาะจงทุกๆ วันเพื่อพัฒนาทักษะเหล่านี้

กิจวัตรสามประเภท ได้แก่ (1) การเสนอแนะและสำรวจความคิด (2) การสังเคราะห์และจัดระเบียบ และ (3) การเจาะลึก ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดด้านการเขียนและตั้งคำถามเพื่อนนักเรียน ไม่มีอะไรใหม่ในที่นี้ แต่ความเคารพที่คุณแสดงออกต่อนักเรียนอันนำมาซึ่งวัฒนธรรมการคิดต่างหากที่เกิดขึ้น ย้ำเตือนนักเรียนว่าคำถามที่พวกเขาคิดขึ้นมาจะนำคำตอบที่พวกเขาต้องการมาให้

สอนเครื่องมือการคิดและตั้งคำถามให้นักเรียนของคุณ เช่น

 

  • ระบุสิ่งที่พวกเขารู้และสิ่งที่จำเป็นต้องถามเพิ่มเติม
  • ล้อมวงแสดงข้อคิดเห็นจากหลายมุมมองและตั้งคำถามอันหลากหลาย
  • ใช้คำพูดทำนอง “ฉันเคยคิดว่า… และตอนนี้ฉันคิดว่า…”
  • ส่งเสริมให้มีการแสดงทัศนะจากมุมมองที่ตรงข้ามกันและการต่อสู้ด้วยถ้อยคำโดยการตั้งคำถาม
  • แสดงความหมายและคำถามใหม่โดยใช้ประโยค วลี และคำ (ให้นักเรียนอธิบายการคิดของพวกเขาในหนึ่งประโยค แล้วย่อให้เหลือหนึ่งวลี จากนั้นจึงย่อให้เหลือหนึ่งคำ)

 

ในการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงสุด ให้เริ่มด้วยรูปแบบง่ายๆ เช่น ต้นแบบสามขั้นตอน ได้แก่ (1) กล่าวอ้าง (2) สนับสนุน และ (3) ตั้งคำถาม (ถ้าเช่นนั้น “มีอะไรอีกที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง”) เมื่อนักเรียนรู้จักต้นแบบนี้แล้ว คุณสามารถขยายไปใช้หรือเพิ่มต้นแบบอื่นๆ เข้ามาได้

แท้จริงแล้ว การใช้เหตุผลเป็นกลุ่มทักษะหลัก ไม่เพียงเพื่อความอยู่รอดในโรงเรียนเท่านั้น แต่เพื่อการดำรงชีวิตเลยทีเดียว นักเรียนจะไม่ใช้เหตุผลเมื่อพวกเขาเลียนแบบ นึกถึงสิ่งที่เคยเรียนรู้ หรือทำงานง่ายๆ ให้แล้วเสร็จ ในการใช้เหตุผลนั้น นักเรียนจะต้องเรียนรู้ข้อมูลตามขั้นตอนต่างๆ อันจะเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าใจข้อมูลนั้นในลักษณะที่ต่างออกไป ค้นพบความเกี่ยวโยง และเปลี่ยนการแสดงข้อมูลนั้นเป็นเป้าหมายที่มีความหมาย

 

-3-

เพิ่มพูนทักษะการเรียนและคลังคำ

 

ในการพัฒนาชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพ ข้อมูลสำคัญที่ควรจำคือ ผลกระทบของความยากจนเริ่มต้นแต่เนิ่นๆ นับจากชั้นอนุบาลเป็นต้นมา ช่องว่างของความสำเร็จระหว่างนักเรียนยากจนกับนักเรียนชนชั้นกลางกว้างขึ้น เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาตามทันอย่างรวดเร็ว กล่าวคือภายในระดับอนุบาลถึง ป.2 ประสบการณ์การเรียนรู้ระดับอนุบาลถึง ป.5 ของนักเรียนยากจนส่วนใหญ่จบลงที่จุดเริ่มต้น ซึ่งหมายถึงมีผลการเรียนรู้ต่ำกว่าระดับชั้นเรียน

พูดอีกนัยหนึ่งคือ การสอนทักษะการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ (ขั้นตอนและทักษะจากระดับมือใหม่สู่ระดับผู้เชี่ยวชาญ) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรก็ตามที่สร้างความสามารถด้านการรู้คิดนั้นมีความสำคัญยิ่ง หากไม่ได้รับการส่งเสริมจากคุณ นักเรียนอาจเรียนไม่จบ หลักคิดง่ายๆ ก็คือ คุณต้องบอกตัวเองว่า “ถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมให้นักเรียนดีกว่านี้ พวกเขาอาจเรียนไม่จบ”

เรามีเครื่องมือพัฒนาสมองสามอย่างมาแนะนำ ได้แก่ ทักษะการเรียนเฉพาะบริบท เครื่องมือช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยง และการสร้างทักษะด้านคลังคำ อันเป็นหัวใจการเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียน

อาการที่คุณพบเห็นในชั้นเรียนเมื่อนักเรียนขาดทักษะเหล่านี้ ได้แก่ ความเฉยเมย ความท้อใจ และแรงจูงใจที่ต่ำ อาการเหล่านั้นอาจทำให้ครูที่ไม่รู้เชื่อว่านักเรียนมีปัญหาด้านทัศนคติหรือความพยายาม อย่างไรก็ดี อาการเหล่านั้นพบได้ทั่วไป แต่บ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนยากจนที่คุณมีแนวโน้มพอๆ กันที่จะพบเห็นปัญหาการขาดทักษะหรือประเด็นที่นักเรียนมองไม่เห็นความเกี่ยวโยงระหว่างการเรียนกับชีวิตของตน ก่อนที่คุณจะตัดสินนักเรียน  อาจลองถามตัวเองว่าคุณได้ใช้ทางเลือกทั้งหมดนี้แล้วหรือยัง

 

ทักษะการเรียนเฉพาะบริบท

 

การใช้เครื่องมือช่วยส่งเสริมการเรียนบางอย่าง เช่น คู่มือการศึกษา กระบวนการศึกษา และเครื่องมือจัดระเบียบระดับสูงอย่างโครงสร้างเนื้อหา ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง โดยมีขนาดผลกระทบระดับสูง ทว่าก็มีการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าแทบไม่มีผลกระทบหรือไม่มีเลยเช่นกัน

ถ้าเช่นนั้น เหตุใดจึงมีความแตกต่างในแง่ผลกระทบถึงเพียงนี้กันเล่า คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับว่าวิชานั้นเฉพาะเจาะจงเพียงไร เมื่อกระบวนการเรียนค่อนข้างกว้าง ดังเช่นในศิลปะการใช้ภาษา และมีลักษณะเป็นนามธรรมมากกว่า งานวิจัยให้ผลตรงกันว่า การสอนทักษะการเรียนทั่วไปสำหรับทุกวัตถุประสงค์โดยตรงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก ทักษะการเรียนทั่วไปสามารถสร้างความมั่นใจและปรับปรุงทัศนคติให้ดีขึ้น แต่ขนาดผลกระทบนั้นไม่โดดเด่น

 

งานวิจัยด้านทักษะการเรียนมีความซับซ้อนอันเนื่องมาจากสาเหตุต่อไปนี้

 

  • งานวิจัยต่างๆ ไม่มีความสอดคล้องกันในด้านกลยุทธ์หรือกลวิธีที่ประกอบกันเป็นขั้นตอนหลักๆ กระบวนการ หรือองค์รวมของกลวิธีเสริมสร้างทักษะการเรียน นั่นทำให้การเปรียบเทียบเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง
  • การแทรกแซงทางอภิปัญญาที่มุ่งเน้นเรื่องการตรวจสอบตนเองสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือส่งเสริมการเรียนได้
  • การใช้ทักษะการรู้คิดยังมีแง่มุมด้านอารมณ์ซึ่งกระตุ้นแนวคิดที่พวกเขามีต่อตนเอง ตลอดจนแรงจูงใจและความมุมานะที่จะใช้กลยุทธ์ด้วย
  • ความหลากหลายในการทดสอบ คุณใช้ผลทดสอบย่อยในอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลัง หรือใช้ผลทดสอบแบบมาตรฐานในอีกหนึ่งเดือนให้หลังกันแน่

 

เนื้อหาส่วนนี้มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่เรารู้จริงๆ ว่าได้ผลดีเยี่ยม ประการแรก แม้มีกลวิธีแต่ละอย่างที่มีขนาดผลกระทบระดับสูง แต่ก็น่าสนใจที่มีระบบอันเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งช่วยเพิ่มแนวโน้มของความสำเร็จได้ ภาพประกอบด้านล่างแสดงตัวกระตุ้นความสำเร็จของกระบวนการเรียนที่ดีที่สุด ตัวกระตุ้นเหล่านี้ควรมีอยู่ในกระบวนการเสริมสร้างทักษะเฉพาะวิชาสำหรับนักเรียนทุกกระบวนการที่คุณจะพัฒนาขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน

 

 

ทักษะการเรียนที่มีผลกระทบระดับสูงแต่ละอย่างนั้นทรงพลังในตัวเอง แต่เมื่อประกอบเข้ากับทักษะอื่นๆ คุณจะได้วิธีพัฒนานักเรียนรู้ที่น่าทึ่ง อธิบายขั้นตอนการเรียนแต่ละขั้นให้นักเรียนทั้งชั้นฟังอย่างละเอียด จากนั้นให้พวกเขาจับคู่กันทำตามขั้นตอนนั้นๆ สุดท้าย เมื่อพวกเขามีความมั่นใจแล้วจึงปล่อยให้พวกเขาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

 

เครื่องมือช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยง

 

นอกจากการสร้างทักษะการเรียนอันทรงประสิทธิภาพแล้ว การให้นักเรียนใช้เครื่องมือช่วยในการเรียนอย่างการสรุปและจดโน้ตยังสามารถเพิ่มขีดความก้าวหน้าได้อีกด้วย เครื่องมือช่วยเชิงโครงสร้างเป็นกลยุทธ์ที่แสดงให้เห็นกรอบความคิดของสิ่งที่นักเรียนกำลังเรียนรู้ เครื่องมือช่วยเหล่านี้ซึ่งอาจเป็นโครงร่างหรือเครื่องมือช่วยเชิงภาพอื่นๆ มีขนาดผลกระทบระดับสูง

เครื่องมือช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยง (แผนผังบับเบิล แผนผังความคิด แผนภาพเวนน์ ฯลฯ) ช่วยให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหากับวิธีการเรียนรู้เนื้อหานั้นๆ นอกจากนี้ เครื่องมือเหล่านี้ยังใช้กันน้อยเกินไปและมีค่ามากอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ภาพประกอบทางด้านล่างคือเครื่องมือช่วยในการเรียนสำหรับชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นประถม

 

 

ตัวอย่างเครื่องมือช่วยในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

[su_note note_color=”#fdfde5″]การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์

  1. เริ่มต้นด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง “ฉันทำได้!”
  2. ระบุประเภทของปัญหา ปัญหานั้นเป็นเรื่องคำ ปัญหาปลายเปิด ปัญหาปลายปิด ปัญหาเชิงตรรกะ หรืออื่นๆ
  3. วิเคราะห์ปัญหา อะไรที่รู้แล้ว อะไรที่ยังไม่รู้ มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ประเมินอะไรได้บ้าง
  4. เลือกกลยุทธ์ ใช้อัลกอริธึม (กฎ กระบวนการ หรือวิธีการที่เฉพาะเจาะจง) ใช้สูตร การแสดงในรูปแบบกราฟิก หรือการคำนวณเลขคณิต หรือแปลงเป็นเรื่องราวโดยใช้ตัวละครที่เป็นตัวเลขหรือตัวละครที่แต่งขึ้นมา
  5. ตรวจสอบผลงานของคุณ ทบทวนและประเมินด้วยการแก้ปัญหาแบบย้อนกลับ (ใช้คำตอบแก้ปัญหาจากหลังไปหน้า) ใช้เครื่องคิดเลข เปรียบเทียบคำตอบกับที่คาดการณ์ไว้ และตรวจหาความผิดพลาดที่พบบ่อย
  6. ตัดสินใจ ถ้าคำตอบของคุณไม่ถูกต้อง ย้อนกลับไปตามขั้นตอนเดิมแล้วทำขั้นที่ 2, 3 และ 4 อีกครั้งโดยใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป ลองใช้ทางแก้ที่แตกต่างจากเดิมและตัดทางแก้ที่ไม่ได้ผลทิ้ง หรือแบ่งปัญหาออกเป็นปัญหาย่อยๆ เพื่อแก้ไข หรือถามเพื่อนดู
  7. เป็นเจ้าของคำตอบ ถ้าคำตอบนั้นถูกต้อง ให้ฉลองและทบทวนขั้นตอนของคุณให้เข้าใจ แล้วจำไว้ใช้ในโอกาสต่อไป[/su_note]

 

เมื่อเทียบกันแล้ว ผังงานระดับประถมนั้นนักเรียนทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่ทั้งสองรูปแบบต่างมีประโยชน์ เมื่อเทียบกับการไม่ใช้เลยแม้แต่รูปแบบเดียว

แม้กลยุทธ์อื่นอาจใช้ได้ผลดี แต่กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการสอนทักษะการเรียนในบริบทเฉพาะวิชา ใช้เครื่องมือช่วยในการเรียนที่เฉพาะเจาะจงซึ่งแสดงถึงโครงสร้างเนื้อหาของคุณและความสัมพันธ์หลักของเนื้อหานั้น

ร่วมกับทีมงานที่โรงเรียนจัดทำคู่มือประกอบการเรียนง่ายๆ ซึ่งมี 5-7 ขั้นตอนของแต่ละระดับชั้นสำหรับเนื้อหาสาขาหลักๆ แล้วผนวกไว้ในกระบวนการสอนการเรียกใช้ข้อมูลในหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง คู่มือนี้ควรรวมเนื้อหาว่าด้วยการอ่านทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คณิตศาสตร์ระดับต่ำกว่า (การบวก การลบ การคูณ และการหาร) และวิทยาศาสตร์ไว้ด้วย การจัดทำโปสเตอร์แสดงคู่มือนี้และอ้างถึงในชั้นเรียนมีประโยชน์เช่นกัน

กลยุทธ์สร้างทักษะการเรียนเฉพาะบริบทเป็นหนทางอันทรงพลังในการสร้างสมองที่มีพัฒนาการสูงขึ้น น้อยครั้งที่นักเรียนจะมีครูอย่างคุณที่ลงมือวางแผน พัฒนา และสานต่อจนแล้วเสร็จในความพยายามเชิงปฏิบัติที่จะช่วยให้นักเรียนฉลาดขึ้น

ทักษะการรู้คิดทั้งหลายต้องทำงานควบคู่ไปกับกระบวนการอื่น เนื่องจากนักเรียนมักประสบปัญหากับการสร้างคลังคำทางวิชาการ เราจึงอยากรวมทักษะนี้ไว้ในการเรียนการสอนด้วย

 

การสร้างทักษะด้านคลังคำ

 

คลังคำของนักเรียนที่เติบโตมาในครอบครัวยากจนมักน้อยกว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จในเชิงวิชาการ เด็กๆ ฐานะยากจนมักได้รับการกระตุ้นด้านการรู้คิดน้อยกว่า อันเป็นสาเหตุที่เริ่มขัดขวางความก้าวหน้าทางวิชาการ เด็กๆ จากสภาพแวดล้อมในบ้านที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมระดับต่ำมักเข้าโรงเรียนโดยมีช่องว่างทางภาษาหลายปี เมื่อเทียบกับเด็กๆ ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

เมื่อทดสอบขณะอายุเจ็ดขวบ นักเรียนที่เรียนดีรู้จักและใช้รากศัพท์โดยเฉลี่ย 7,100 คำ แต่นักเรียนจากควอร์ไทล์ต่ำกว่านั้นรู้จักและใช้รากศัพท์ 3,000 คำ เราปิดช่องว่างนี้ (4,000 คำขึ้นไป) ได้เมื่อนักเรียนเรียนรู้คำเพิ่มขึ้นวันละห้าคำ (นอกเหนือจากที่มักเรียนตามระดับชั้นอยู่แล้ว) เป็นเวลา 4-5 ปี

คุณควรมีหลักคิดง่ายๆ โดยบอกตัวเองว่า “ถ้าเราไม่เพิ่มคลังคำให้นักเรียน พวกเขาอาจไม่ประสบความสำเร็จ” นั่นทำให้การจัดการให้แน่ใจว่านักเรียนจะมีผลการเรียนและความมั่นใจสูงขึ้นอย่างมากด้วยการสร้างคลังคำเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของคุณ เมื่อคุณช่วยให้นักเรียนเรียนรู้คำใหม่ๆ (ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ใช้สอบ) 10-12 คำต่อสัปดาห์ ผลการเรียนที่เพิ่มขึ้นในหนึ่งปีมีค่าเฉลี่ยเท่ากับเปอร์เซ็นไทล์ตำแหน่งที่ 33 และมีขนาดผลกระทบระดับสูง นอกจากนี้ ครูยังจำเป็นต้องช่วยให้นักเรียนตามทันและสอนคำที่ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในเนื้อหาที่ใช้สอบเท่านั้น แต่เป็นคำทั่วไปในเชิงวิชาการ เช่น คำว่า เข้มงวด ครุ่นคิด หรือ ประเมิน

มีหลักฐานชัดเจนว่าการสร้างคลังคำต้องเป็นส่วนประกอบหลักของประสบการณ์เสริมสร้างศักยภาพสำหรับนักเรียน เริ่มจากการตั้งเป้าให้นักเรียนเรียนรู้คำศัพท์ 300 คำต่อปีหรือ 10 คำต่อสัปดาห์ เมื่อเวลาผ่านไป 12 ปี โดยที่นักเรียนเรียนรู้คำศัพท์ปีละ 300 คำ จะทำให้ได้ฐานข้อมูลคลังคำที่มีความเกี่ยวโยงเชิงวิชาการ 3,600 คำ ต่อไปนี้ขอเสนอกลยุทธ์สามอย่างสำหรับเริ่มสร้างทักษะนี้

 

แบบอย่าง

ใช้คำให้นักเรียนดูเป็นแบบอย่าง ใช้คำในประโยคแล้วให้นักเรียนเดาความหมาย ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจ ให้ใช้คำนั้นต่อไปในประโยคใหม่ๆ แล้วให้นักเรียนกับเพื่อนๆ ร่วมกันค้นอรรถาภิธานและพจนานุกรมกระทั่งได้คำตอบ เมื่อคิดว่าพวกเขามีแนวคิดกว้างๆ เกี่ยวกับคำจำกัดความของคำนั้นแล้ว ให้นักเรียนเขียนหรือพูดถึงความหมายเดียวกันนั้นในอีกแบบหนึ่งกับเพื่อนโดยใช้คำของพวกเขาเอง จากนั้นให้พวกเขาแต่งประโยคที่น่าสนใจและถูกต้องของตนเองโดยใช้คำนั้น สุดท้าย ให้พวกเขาวาดความหมายของคำนั้นแล้วให้เพื่อนๆ ดู

 

ใช้คำยากๆ

จำไว้ว่าจงใช้คำยากๆ เข้าไว้! งานวิจัยเปรียบเทียบความก้าวหน้าในการอ่านจับใจความในกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้คะแนนตอนต้นปีและปลายปีในห้องเรียนหลากหลายรูปแบบ นักวิจัยบันทึกและวิเคราะห์คำพูดของครูในห้องเรียนเดียวกันเหล่านั้น ปรากฏว่านักเรียนที่ครูใช้คำศัพท์ที่ซับซ้อนกว่าในชั้นเรียนอ่านจับใจความได้ดีขึ้นอย่างมากในช่วงปีนั้น

 

  • แทนที่จะพูดว่า “ไม่ดี” ให้พูดว่า “บาดหู”
  • แทนที่จะพูดว่า “ดีมาก” ให้พูดว่า “ดีเลิศ”
  • แทนที่จะพูดว่า “ยาก” ให้พูดว่า “น่าครั่นคร้าม”

 

ใช้การสอนคำศัพท์โดยตรง

มาร์ซาโนและซิมม์สแนะนำให้ใช้วิธีสอนคำศัพท์โดยตรง โดยอาศัยกระบวนการห้าขั้นตอนซึ่งมีพื้นฐานมาจากงานวิจัยดังต่อไปนี้

 

  1. การสาธิต บรรยาย อธิบาย หรือให้ตัวอย่างคำศัพท์ใหม่
  2. การใช้วัจนภาษา ให้นักเรียนพูดถึงคำบรรยาย คำอธิบาย หรือตัวอย่างคำนั้นในอีกแบบหนึ่งโดยใช้คำของพวกเขาเอง
  3. การใช้อวัจนภาษา ให้นักเรียนสร้างภาพ สัญลักษณ์ หรือกราฟิกแสดงคำหรือวลีนั้น แล้วติดไว้บนผนังหรือบอร์ดรวบรวมคำพร้อมด้วยคำคุณศัพท์อันหลากหลายสำหรับใช้เขียนและคำที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่นักเรียนในชั้นกำลังมุ่งทำความเข้าใจ
  4. การมีส่วนร่วม ให้นักเรียนทำกิจกรรมหรือเล่นเกมที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ด้านคลังคำ
  5. ให้นักเรียนสอนกันเอง ให้นักเรียนอภิปรายคำต่างๆ กับเพื่อนเป็นระยะๆ

 

นอกจากนี้ การใช้ท่าทางและกลยุทธ์อวัจนภาษาอื่นๆ เช่น แผนผังความคิด แบบอย่าง ฯลฯ สำหรับการเรียนรู้และการสอนคลังคำยังมีขนาดผลกระทบสูงมาก เทียบเท่ากับผลการเรียนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสี่ปีทีเดียว ให้นักเรียนจับคู่กันสาธิตคำศัพท์ใหม่ๆ แต่ละคำ โดยใช้คำและท่าทางช่วยในการจดจำ

เปิดโอกาสให้นักเรียนใช้คำทั้งหมดที่เรียนรู้ในสัปดาห์นั้น ครูอาจใช้การฉลองสนุกๆ ทุกครั้งที่นักเรียนคนหนึ่งใช้คำที่เรียนรู้กันในสัปดาห์นั้น ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่มีนักเรียนทำเช่นนั้น ทั้งชั้นจะลุกขึ้นแล้วกล่าวว่า “โอ้ ต้องอย่างนี้สิ! ถูกใจจริงๆ!” หรือให้คู่หรือทีมส่งเสียงเชียร์เป็นการฉลอง ในสัปดาห์ต่อๆ มา ให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มหรือจัดทีมทบทวนศัพท์ในคลังคำ โดยสุ่มจากรายการที่รวบรวมไว้อย่างครบถ้วน

 

เพราะคุณมีทางเลือกเสมอ เลือกชุดความคิดของตัวคุณเองได้เลย

“ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน”

 

ครูจำนวนมากพูดถึงความผิดปกติของนักเรียนและเรื่องการเลี้ยงดูอันด้อยคุณภาพทำให้พวกเขา “ด้อยกว่า” ไปตลอดชีวิต ทว่าดีเอ็นเอไม่ใช่ชะตากรรม กุญแจสำคัญคือการพัฒนาชุดความคิดเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมองของทุกคนเจริญเติบโตและพัฒนาได้

การรับมือความสำเร็จนั้นอาจง่ายดายสำหรับหลายคน แต่ความล้มเหลวคือเรื่องสำคัญกว่าที่ต้องรับมือ เพราะมันจะชี้นำชีวิตส่วนใหญ่ของคุณ เวลานักเรียนล้มเหลว คุณสนองตอบอย่างไร คุณผิดหวังและพบว่าตัวเองกำลังมองหาความรับผิดชอบหรือไม่ เวลานักเรียนล้มเหลว คุณใช้มันเป็นของขวัญและโอกาสที่จะเติบโตทันทีหรือไม่ คุณเป็นแบบอย่างในการรับมือกับความผิดพลาดในชั้นเรียนของคุณหรือคุณหลีกเลี่ยงมันไม่ว่าอย่างไรก็ตามหรือเปล่า

การตัดสินใจที่จะปลูกฝังชุดความคิดเสริมสร้างศักยภาพให้นักเรียนของคุณนั้นรวมถึง

 

  1. เลือกเรื่องเล่าใหม่เกี่ยวกับนักเรียนของคุณและตัวคุณเองที่มีชุดความคิดเสริมสร้างศักยภาพรวมอยู่ด้วย
  2. ใช้หนึ่งในกลยุทธ์ที่แนะนำเพื่อพัฒนาทักษะการรู้คิดอย่างเร่งด่วน
  3. สร้างกระบวนการสนับสนุนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะนำมาใช้ได้สำเร็จ

 

กระบวนการสนับสนุนดังกล่าวอาจมีปัจจัยใดๆ ดังต่อไปนี้รวมอยู่ด้วย ได้แก่ ผู้ร่วมงานที่มีส่วนร่วม การส่งโน้ตถึงตัวคุณเอง และการสร้างแผนการสอนรวมถึงกลยุทธ์และเรื่องเล่าใหม่ๆ

พลังของการนำชุดความคิดแบบเติบโตมาใช้นั้นมหาศาล เมื่อคุณเริ่มพูดว่า “ฉันเสริมสร้างศักยภาพด้านใดได้อีก” โลกใบใหม่ของการสอนก็เปิดต้อนรับคุณอยู่ ดังนั้น เริ่มคิดหาเป้าหมายที่สูงขึ้นที่นักเรียนของคุณจะต้องทำให้ได้ในปีนี้หรือเทอมนี้กันดีกว่า

 

อ่านซีรีส์ ‘7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน’ ย้อนหลังได้ที่นี่

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่