[su_note note_color=”#fcf5e2″] บทความ อ่าน ‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก’ กับนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นี้เขียนขยายความประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 (Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World) เขียนโดย Linda Darling-Hammond นักการศึกษาชั้นแนวหน้าจากสแตนฟอร์ด และหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ 21st Century Skills สกัดแก่นงานวิจัยที่สำรวจ 7 พื้นที่ศึกษาจาก 5 ประเทศ ทั้งฟินแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และจีน ซึ่งล้วนได้รับยกย่องว่ามีระบบการศึกษาที่ “ดีที่สุดในโลก” เพื่อค้นหาคำตอบเบื้องหลังนโยบายแห่งความสำเร็จทางการศึกษา พร้อมแนวปฏิบัติที่นำไปปรับใช้ได้จริง [/su_note]
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
Empowered Educators บทที่ 5-7
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ในสหรัฐอเมริกา ครูทำงานเดิมตลอดสามสิบปีโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ครูไทยส่วนใหญ่น่าจะคล้ายๆ กัน จึงว่าครูเป็นเรือจ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นเรือจ้างจนเกษียณจากงาน
ในสิงคโปร์และอีกสี่ประเทศที่หนังสือเล่มนี้ศึกษา ครูแต่ละคนมีเส้นทางอาชีพที่เปิดกว้าง จะเป็นผู้บริหาร เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เป็นผู้นำการเรียนรู้ หรือเป็นเรือจ้างไปเรื่อยๆ ได้ โดยที่ความสัมพันธ์ของพื้นที่หรือตำแหน่งต่างๆ เป็นแนวราบ มิใช่แนวดิ่ง ความข้อนี้เข้าใจได้ยาก เพราะบ้านเรามิได้อยู่ในสภาพนี้ก็จะนึกภาพออกยาก เรารู้จักแต่แนวดิ่ง ถ้าจะรู้จักแนวราบบ้างก็คือกรุงเทพฯ เป็นดวงอาทิตย์ที่ศูนย์กลางของสุริยจักรวาล
ที่เซี่ยงไฮ้ จากการสำรวจครู 11,000 คน ร้อยละ 75 เคยตีพิมพ์ผลงานวิชาการแล้ว ร้อยละ 30 ตีพิมพ์แล้วมากกว่า 4 ชิ้น และร้อยละ 8 ตีพิมพ์ผลงาน 9 ชิ้น นี่เป็นจำนวนที่มากเหนือจินตนาการสำหรับบ้านเรา เวลาพูดเรื่องนี้ในบ้านเราจะมีเสียงวิจารณ์ว่าครูมีหน้าที่สอน สอนให้ดีๆ ก็พอ ครูไม่ใช่นักวิชาการ ครั้นปล่อยให้สอนการสอนก็มิได้ดีมากมายดังคาดหวัง แต่ประเทศพัฒนาแล้วจะถือว่างานวิจัยเป็นรากฐานของการทำงานที่ดี
ปัญหาบ้านเรามีตั้งแต่ใครเป็นผู้ตรวจงานวิจัย ผู้ตรวจมีความสามารถมากเพียงไร อีกประการหนึ่งคือการทำงานวิจัยของทุกกระทรวงฯ มีลักษณะคล้ายๆ กันคือทำเพื่อเลื่อนตำแหน่ง มิได้มีความตั้งใจจะพัฒนางานวิชาการหรือพัฒนาตนเองจริงจัง หลายครั้งผู้ตรวจไปดูรายละเอียดของย่อหน้า ช่องไฟ การเคาะบรรทัด และรูปเล่ม
การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งหรือเปลี่ยนตำแหน่งของประเทศเหล่านี้ใช้วิธีดูแฟ้มผลงานเหมือนบ้านเรา เป็นไปตามที่เคยเขียนแล้วว่าอะไรที่ประเทศทั้งห้านี้ทำกับระบบการศึกษาเราทำหมดแล้ว ระยะหลังๆ ครูบ้านเราวุ่นกับการสะสมผลงานมาก สะสมใบประกาศฯ การผ่านอบรมต่างๆ นานา บางท่านถ่ายรูปกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต ใครจะตรวจและตรวจอะไร
ห้าประเทศนี้ ครูที่ต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจะได้รับการส่งเสริม หรือครูที่ขอการเพิ่มเติมความรู้พิเศษเป็นการเร่งด่วน เช่น ปีนี้จะได้เด็กออทิสติกมาเรียนร่วมสามคน ครูจะได้รับการส่งเสริมไม่เพียงเรื่องการจัดสรรเวลา แต่รวมถึงค่าตอบแทนและการชดเชยรายได้ ครูทำเช่นนี้ได้ต่อเมื่อเด็กออทิสติกสามคนนั้นเป็นศูนย์กลาง และหากระเบียบปฏิบัติอะไรขวางทางสามารถปรับเปลี่ยนได้
คำว่า “เด็กเป็นศูนย์กลาง” หมายถึงเช่นนี้ ถ้าเด็กๆ เป็นเป้าหมายจริง เราจะทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เขียนเช่นนี้มิได้หมายถึงเพียงกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพบปัญหาแบบเดียวกัน ถ้าประชาชนในพื้นที่หรือผู้ป่วยแวดล้อมโรงพยาบาลคือเป็นศูนย์กลางจริงหรือเป็นเป้าหมายที่แท้ เราจะทำทุกอย่างและขจัดอุปสรรคทุกประการเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่เป้าหมายของราชการคือการรับใช้ส่วนกลาง ปัญหาต่างๆ จึงถูกทิ้งเอาไว้เสียมาก ศูนย์กลางของงานหลายๆ กระทรวงอยู่ที่ศูนย์กลางของประเทศ
คำว่า “เด็กเป็นศูนย์กลาง” หมายถึงเช่นนี้ ถ้าเด็กๆ เป็นเป้าหมายจริง เราจะทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
ครูต้นแบบ คำนี้มีมานานแล้วในบ้านเรา ประเทศต่างๆ ที่หนังสือนี้เขียนถึงก็มีด้วยเช่นกัน แรงจูงใจของครูต้นแบบที่หนังสืออ้างถึงคือความภูมิใจในงาน ได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ครูคนอื่นๆ เช่น ครูต้นแบบทางคณิตศาสตร์ จะมีความสามารถถ่ายทอดวิธีจัดการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์อย่างน่าประทับใจ เจ้าตัวเองได้รับรางวัลทางใจและค่าตอบแทนพิเศษ บ้านเรามักได้ยินว่าครูเก่งๆ หลายคนพยายามหลบตำแหน่งครูต้นแบบ เพราะทำไปไม่ได้อะไรเลยนอกจากภาระงานที่มากขึ้น งานเก่าไม่น้อยลง ค่าตอบแทนไม่มากขึ้น มิหนำซ้ำยังอาจพบการค่อนขอดจากเพื่อนครูด้วยกัน มีบ้างบางคนตั้งใจเป็นครูต้นแบบแต่ด้วยระบบนั้นไม่เอื้อให้ครูต้นแบบทำงานประจำได้ด้วย ครูต้นแบบถูกดึงตัวไปเป็นวิทยากรทุกสารทิศจนกระทั่งหมดประสิทธิภาพไปในที่สุด
การคัดสรรผู้บริหารโรงเรียนก็คล้ายกัน เรามีเกณฑ์คุณสมบัติสำหรับผู้ที่เหมาะสมจะเป็นผู้บริหารเหมือนที่หนังสือเล่มนี้เขียนถึงประเทศต่างๆ ทุกประการ แต่เพราะอะไรเราจึงมิได้ผู้บริหารการศึกษาสมัยใหม่เสียที กี่คนๆ ที่ขึ้นมาทำได้เพียงตามคำสั่งส่วนกลาง น้อยมากที่จะสามารถลุกขึ้นจัดการศึกษาด้วยตนเองเพื่อนักเรียนและชุมชนแวดล้อมโรงเรียนได้อย่างแท้จริง บางครั้งเราพบว่าเกณฑ์เหล่านั้นมีไว้กรอกให้ครบหรือติ๊กถูกให้หมดเมื่อพบคนที่ใช่เท่านั้น
การศึกษาที่ดีจะไม่ทำให้เกิดความต่างของผลสัมฤทธิ์การศึกษาระหว่างนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดและนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำสุดมากนัก ไม่มีความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์การศึกษาระหว่างนักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดีกับครอบครัวที่มาฐานะยากจนมากนัก อีกทั้งไม่มีความต่างระหว่างนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศกับนักเรียนที่มาจากชนกลุ่มน้อยหรือผู้อพยพ ที่จริงแล้วประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลายประเทศในหนังสือเล่มนี้ทำได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย ต่างพบปัญหาชนพื้นเมืองและผู้อพยพทั้งนั้น เซี่ยงไฮ้และสิงคโปร์พบความต่างของชาติพันธุ์มากมาย
การจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าประเทศพัฒนาคนทุกคน คนทุกคนจะเป็นกำลังของประเทศต่อไป
การศึกษาที่ดีจะไม่ทำให้เกิดความต่างของผลสัมฤทธิ์การศึกษาระหว่างนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดและนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำสุดมากนัก ไม่มีความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์การศึกษาระหว่างนักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดีกับครอบครัวที่มาฐานะยากจนมากนัก
ประเทศที่เลือกจะไม่พัฒนา “คนอื่น” นอกจากคนอื่นจะไม่มีกำลังกลับมาช่วยพัฒนาประเทศแล้วยังกลายเป็นภาระของประเทศรุ่นต่อรุ่น ฐานคิดนี้ตั้งอยู่บนความหวาดระแวง และความหวาดระแวงนี้ตั้งอยู่บนฐานคลั่งชาติ
โรงเรียนต้องมีทรัพยากรพอเพียงเพื่อจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ว่ากันว่ากระทรวงศึกษาธิการบ้านเราได้งบประมาณสูงสุดมาโดยตลอดจึงแก้ตัวได้ยาก ห้าประเทศในหนังสือเล่มนี้ทรัพยากรส่วนหนึ่งและเป็นส่วนใหญ่มาจากท้องถิ่น บางประเทศมากถึงสองในสาม ถ้าไม่พอใช้เป็นหน้าที่ส่วนกลางจะให้เพิ่ม ที่สำคัญคือส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการจ่ายเงินเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการดึงครูมีฝีมือมาที่ท้องถิ่นทุรกันดารด้วยทั้งค่าตอบแทนที่สูงพร้อมที่พักและสวัสดิการพร้อมมูล นี่เป็นหลักการง่ายๆ ง่ายเสียจนน่าแปลกใจว่าบ้านเราก็ทำอยู่ แต่ทำไมผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนรวยและจนจึงแตกต่างกันมากนัก เชื่อว่าเราตีความโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารอีกแบบหนึ่ง
การศึกษาเป็นปลายทาง ก่อนหน้าการศึกษาเรามีบ้าน ฟินแลนด์เป็นตัวอย่างที่ยกมาในหนังสือเล่มนี้ รัฐบาลเตรียมเด็กๆ จากบ้านให้พร้อมโดยไม่เลือกยากดีมีจนหรือชาติพันธุ์ เด็กทุกคนได้กล่องแรกเกิด บรรจุเสื้อผ้า ผ้าอ้อม ที่นอน ของเล่น หนังสือ และของใช้อื่นๆ ตามด้วยการอนุญาตให้พ่อแม่ลางานเป็นเวลานานโดยมีรายได้เพื่อประกันว่าพ่อแม่จะอยู่บ้านดูแลเด็กด้วยตนเองหนึ่งปี เด็กทุกคนเข้าชั้นอนุบาลที่คุณภาพสูงด้วยค่าใช้จ่าย “มหาศาล” จากรัฐบาล เด็กอนุบาลถึงอายุหกขวบจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการที่ทำงานร่วมกับพ่อแม่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมที่ดีที่สุดก่อนขึ้นชั้นประถม ผู้เชี่ยวชาญจะทำงานร่วมกับครูดูเด็กประถมเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่องและไร้จุดชะงัก นักเรียนทุกคนได้รับอาหารประจำวันและการประกันสุขภาพเต็มจำนวน ด้วยวิธีนี้ เด็กทุกคนจึงพร้อม “เรียนรู้” ตั้งแต่แรก
เรื่องสุดท้ายคือการตรวจคุณภาพการศึกษา หนังสือเล่มนี้เขียนถึงระบบตรวจคุณภาพการศึกษาที่ดีงามและเลิศเลอในประเทศต่างๆจนอดแปลกใจมิได้ว่าการตรวจคุณภาพการศึกษาเป็นยาขมสำหรับบ้านเราและดูเหมือนจะทำตัวเป็นศัตรูกับครูด่านหน้าไปได้อย่างไร เรื่องนี้มีความหลากหลายและความซับซ้อนเขียนกันได้หลายร้อยหน้าเลยทีเดียว ครูด่านหน้าทุกคนรู้อยู่แก่ใจ
สรุป หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างวิธีพัฒนาการศึกษาในประเทศที่ประสบความสำเร็จ เมื่อเราอ่านหนังสือทั้งเล่มจะพบว่าประเทศไทยทำหมดแล้วทุกวิธี และทำมากด้วย แต่เพราะอะไรผลลัพธ์ต่างกัน
สมมติฐานคือระบบราชการ วัฒนธรรมไทยๆ และการรวมศูนย์บริหารที่ส่วนกลาง
เป็นปัญหาของทุกกระทรวง
ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21
Linda Darling-Hammond เขียน
ชลิดา หนูหล้า แปล
472 หน้า