อ่าน ‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

[su_note note_color=”#fcf5e2″] บทความ อ่าน ‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก’ กับนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นี้เขียนขยายความประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 (Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World) เขียนโดย Linda Darling-Hammond นักการศึกษาชั้นแนวหน้าจากสแตนฟอร์ด และหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ 21st Century Skills สกัดแก่นงานวิจัยที่สำรวจ 7 พื้นที่ศึกษาจาก 5 ประเทศ ทั้งฟินแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และจีน ซึ่งล้วนได้รับยกย่องว่ามีระบบการศึกษาที่ “ดีที่สุดในโลก” เพื่อค้นหาคำตอบเบื้องหลังนโยบายแห่งความสำเร็จทางการศึกษา พร้อมแนวปฏิบัติที่นำไปปรับใช้ได้จริง [/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

หนังสือเล่มนี้เหมาะที่จะอ่านด้วยการทาบไม้บรรทัดแล้วอ่านทีละบรรทัดอย่างตั้งใจ เพราะนี่มิใช่หนังสือที่เอาแต่พูดทฤษฎีพัฒนาการศึกษา แต่ได้เล่าเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้ว 5 ประเทศทำไปแล้วจริงๆ  อย่างละเอียด

หากใช้ไม้บรรทัดทาบอ่านอย่างตั้งใจจะพบว่าทุกเรื่องประเทศไทยทำหมดแล้ว แต่ทำไมผลลัพธ์ที่ได้ไม่เหมือนกัน คำตอบคือเพราะลำพังวิธีการที่ดียังไม่พอ ประเทศไทยขาดโครงสร้างและกลไกที่จะช่วยให้วิธีการที่ดีขับเคลื่อนได้

ในทางตรงข้าม หากอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างไม่ตั้งใจ เราจะพบคำศัพท์ทางการศึกษามากมายวนไปเวียนมาเหมือนหนังสือราชการของกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือทุกเรื่องที่ว่ามาเราทำหมดแล้ว

อะไรที่ออสเตรเลีย แคนาดา ฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ทำเราทำหมดแล้ว และมีหลักฐานเป็นเอกสารจำนวนมากเก็บไว้ในตู้สักใบที่กระทรวงศึกษาธิการด้วย ถ้าค้นไม่พบแปลว่าหายไปแล้ว ถ้าไม่มีร่องรอยในไฟล์ใดๆ แปลว่าดีลีตไปแล้ว หรือไม่ก็เพราะบริหารจัดการกระดาษทุกแผ่นหรือไฟล์ทุกไฟล์มิได้

ยกตัวอย่างบทที่ 3 การสรรหาและฝึกหัดครู จะพูดถึงเรื่องคุณสมบัติของครูที่ดีหรือครูที่พึงประสงค์ เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวบ้านเราประชุมไปหลายสิบครั้ง ผมเองก็อยู่ในบางที่ประชุมด้วย

เราประชุมเรื่องนี้ตั้งแต่ให้นักวิชาการมาฉายแผ่นใสให้ทฤษฎี แบ่งสี่กลุ่มระดมสมอง  แล้วมีตัวแทนกลุ่มมานำเสนอด้วยแผ่นใสตอนบ่ายสามโมง จากนั้นวิทยากรรวบรวมประเด็น ปิดประชุมด้วยเอกสารคุณสมบัติครูที่พึงประสงค์

บางที่ประชุมใช้โพสต์อิตแปะข้างฝาโรงแรม แล้วรวบรวมโพสต์อิตหลากสีสันนั้นเป็นกลุ่มก้อน จากนั้นสรุปเป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของครูไทย 10-20 ข้อ หากนับกันจริงๆ ทั่วประเทศ กิจกรรมเหล่านี้เราทำมาหลายร้อยครั้งแล้ว ทำทั้งระดับกระทรวง ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับกลุ่มโรงเรียน

เรามีเอกสารคุณสมบัติของครูทั้งแบบ “เป็นคนดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์” มาจนถึง “เป็นนักเรียนรู้ เป็นคุณเอื้อ มีทักษะศตวรรษที่ 21” ไปเลือกเอกสารเก่าๆ มาใช้ได้เลยครับ ไม่ต้องประชุมใหม่ แต่อีกสักพักเราจะประชุมใหม่

ยกตัวอย่างบทที่ 4 เรื่องการพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ระดับสูง จะพูดถึงเรื่องการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้มืออาชีพที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะในหลายประเทศ เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวเราก็ทำหมดแล้วทุกจังหวัดและทุกอำเภอ เรามีศูนย์การเรียนรู้มากมายตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงระดับหมู่บ้านและโรงเรียน เรามีสำนักงานศูนย์การเรียนรู้แบบที่หนังสือเล่มนี้เขียนถึงครบทุกพื้นที่แล้ว

บางศูนย์มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูเท่านั้น บางศูนย์มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวบ้านและคนทั่วไป หลายแห่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยว หลายที่มีคำว่า “ครบวงจร” ต่อท้ายชื่อศูนย์การเรียนรู้บนป้ายหน้าสำนักงานด้วย แล้วเราเรียกการกระทำทั้งหมดนี้ว่า “บูรณาการ” และ “เป็นองค์รวม”

จะเห็นว่าคำศัพท์ดีๆ เลิศๆ มากมายเรานำมาทำหมดเรียบร้อยแล้ว ถ้าจำไม่ผิด ทำก่อนประเทศพัฒนา 5 ประเทศเหล่านั้นบางแห่งด้วยซ้ำไป

จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมข้าราชการและวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ ก่อปัญหามาก การรวมศูนย์การปกครองและการบริหาร ไปจนถึงกระบวนทัศน์รับใช้ส่วนกลางมากกว่ารับใช้นักเรียนหรือประชาชนที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคืออุปสรรคใหญ่ของทุกกระทรวง

กลับมายังบทที่ 3-4 อีกครั้ง มีหลายเรื่องเลยที่นอกจากจะทาบไม้บรรทัดอ่านแล้วยังต้องนั่งคิดใคร่ครวญอย่างจริงจังว่าบ้านเราจะทำได้อย่างไร เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นจริง

มีบางเรื่องที่โดดเด่นอย่างชัดเจนและบ้านเราไม่เคยมี

บทที่ 3 ยังเขียนถึงเรื่องการมุ่งเน้นให้ครูทำวิจัย อ่านงานวิจัย และสามารถวิเคราะห์งานวิจัยอย่างแตกฉาน บางประเทศใช้ความสามารถด้านการวิจัยนี้ในการคัดเลือกผู้ที่ต้องการเข้าเรียนเป็นครูด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะไม่มีงานวิจัยด้านการศึกษาที่ดีและมีจำนวนมากพอให้อ่านก็ตาม

นั่นแปลว่าเกณฑ์คัดสรรครูไทยในอนาคตอันใกล้นี้ต้องเพิ่มความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษได้ดีมากพอที่จะอ่านงานวิจัยภาษาอังกฤษจากทั่วโลก และสามารถวิพากษ์ได้อย่างแตกฉาน

อะไรที่เขียนในย่อหน้าที่แล้วเขียนจริงๆ มิใช่พูดเล่นๆ

บทที่ 4 เขียนถึงเรื่องการทำงานร่วมกันของครู หมายถึงการทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาระบบการศึกษา ไปจนถึงการทำงานวิจัยร่วมกัน และถ้าครูไม่มีเวลาสำหรับทำการนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนหรือหน่วยเหนือที่จะบริหารจัดการให้ครูมีเวลาสำหรับกิจกรรมดังกล่าว (นั่นแปลว่ามิใช่เพียงแค่ลดงานไร้สาระลงแต่ยังลดงานสอนลงด้วย)

และถ้าโรงเรียนหรือครูไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบายที่จะจัดสรรเงินลงทุนให้แก่โรงเรียนหรือครู เพิ่มเติมด้วยว่าศูนย์การเรียนรู้ที่จัดตั้งขึ้นนั้นโฟกัสที่ครูจริงๆ สิ่งเหล่านี้คือแผนการทำงานที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาให้ครูมีความสามารถระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และถ้าประเทศไทยอยากจะไปพ้นกับดักการศึกษาวันนี้ นี่คือเรื่องที่ต้องทำ

อะไรที่เขียนในย่อหน้าที่แล้วเขียนจริงๆ มิใช่พูดเล่นๆ

วิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาครูเป็นบุคลากรระดับสูงเป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องทำ ซึ่งแปลว่าจำเป็นต้องพัฒนาครูไทยให้ทำวิจัยได้ อ่านงานวิจัยต่างประเทศได้ และวิพากษ์ได้ด้วย หากบทที่ 3-4 จะมีอะไรที่เรียกว่าโดดเด่นก็คือสองประการนี้ เราจึงจะได้ครูที่ควรค่าแก่การให้คำยกย่อง และมอบค่าตอบแทนระดับสูงให้ดังที่ประเทศพัฒนาแล้วทำกัน

ที่เหลือนอกจากนี้เป็นเรื่องที่บ้านเราทำหมดแล้ว ไปค้นบันทึกการประชุมอบรมดูได้ ครูหลายคนน่าจะเก็บประกาศนียบัตรอบรมนั่นอบรมนี่จำนวนมากเอาไว้ด้วย

ผมเป็นคนหนึ่งที่ลงนามในประกาศนียบัตรเหล่านี้ไปแล้วจำนวนมาก

“ไม่ลงนามในใบประกาศไม่ได้หรือ เพิ่งอบรมเสร็จ ยังไม่มีผลลัพธ์ของงานเลย” ผมถามเจ้าหน้าที่

“ไม่ได้ค่ะคุณหมอ คุณครูมาประชุมเพื่อให้ได้ประกาศใบนี้ค่ะ” เจ้าหน้าที่ตอบ

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า