อ่าน ‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

[su_note note_color=”#fcf5e2″] บทความ อ่าน ‘ปั้นครู เปลี่ยนโลก’ กับนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นี้เขียนขยายความประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21 (Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World) เขียนโดย Linda Darling-Hammond นักการศึกษาชั้นแนวหน้าจากสแตนฟอร์ด และหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ 21st Century Skills สกัดแก่นงานวิจัยที่สำรวจ 7 พื้นที่ศึกษาจาก 5 ประเทศ ทั้งฟินแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และจีน ซึ่งล้วนได้รับยกย่องว่ามีระบบการศึกษาที่ “ดีที่สุดในโลก” เพื่อค้นหาคำตอบเบื้องหลังนโยบายแห่งความสำเร็จทางการศึกษา พร้อมแนวปฏิบัติที่นำไปปรับใช้ได้จริง [/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องนโยบายการศึกษาแห่งชาติและโครงสร้างการจัดการศึกษาของประเทศพัฒนาแล้วกลุ่มหนึ่ง

เป็นหนังสือที่น่าจะเหมาะสำหรับนักบริหารเพราะจะอ่านเข้าใจได้ แต่สำหรับนักปฏิบัติน่าจะอ่านเข้าใจยาก คล้ายๆ ย่อหน้าแรกที่เขียนนั่นคืออ่านไปแล้วจะรู้สึกเบลอๆ นโยบายอะไรนะ โครงสร้างอะไรนะ

บ้านเรามีการประชุมเพื่อปฏิรูปการศึกษาหลายครั้ง ไม่สิ ควรจะพูดว่าหลายร้อยครั้ง (สำนวนหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่สิ เคยสงสัยเหมือนกันว่าต้นฉบับมังงะญี่ปุ่นใช้คำว่า ไม่สิ บ่อยๆ จริงหรือเปล่า) ในแต่ละครั้งที่ประชุมจะมีคำศัพท์หมุนเวียน ได้แก่ นโยบาย กระบวนทัศน์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ ตัวชี้วัด ปรัชญา โครงสร้าง บริบท การจัดการศึกษา พัฒนาครู เห็นเด็กเป็นศูนย์กลาง ชุมชนมีส่วนร่วม เศรษฐกิจพอเพียง PBL BBL AAR PLC  บลาๆ ๆ ๆ ซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้หลายร้อยครั้ง

อย่างน้อยก็ตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษา ปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ผมเข้าประชุมเรื่องนี้เป็นครั้งแรกๆ

ไม่เพียงเราจะเอียนกับคำเหล่านี้เพราะประชุมแล้วไม่เคยเกิดผลทางปฏิบัติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงข้อหนึ่งคือเราเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ไม่ตรงกันเท่าไรนัก องค์ประชุม 20 คน เข้าใจไป 20 อย่าง  ผู้บริหารระดับสูงมาให้โอวาทในที่ประชุม 200 คน หลับ 100 คน แล้วเข้าใจไปอีก 100 อย่างสำหรับคนที่ไม่หลับ จากนั้นทุกคนกลับไปทำงานเหมือนเดิม

อันนี้พูดในแง่ดีว่าเราเข้าใจไปคนละทาง แต่ถ้าพูดในแง่ร้ายคือเราซึ่งเป็นคนทำงานหน้างานเป็นนักประชุมแล้วก็กลับไปทำงานเหมือนเดิมอยู่ก่อนแล้ว หน่วยเหนือสั่งมาเถิดเรารับปากได้ทุกเรื่องและทำตัวชี้วัดส่งให้ได้ทุกอย่าง แต่ภาพรวมของสถานการณ์การศึกษาเหมือนเดิม

เราจะตีฝ่าวงล้อมนี้ออกไปอย่างไรดี?

ความรู้สึกเมื่อแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้คือดีใจ ด้วยได้เห็นรูปธรรมของการวางนโยบายการจัดการศึกษาของหลายประเทศตามที่เป็นจริง ที่ว่าเป็นจริงคือให้เครดิตผู้เขียนว่าเห็นมากับตาและจะไม่โม้ ถ้าเราแคลงใจเราก็ควรไปไล่เอกสารอ้างอิงตามที่ให้ไว้เพื่อให้หายสงสัย แต่ก็ยังมีปัญหาอีกข้อคือแล้วผลลัพธ์ (outcome) ดีจริงหรือเปล่า คนทำงานหน้างานของประเทศเหล่านั้นปลูกผักชีเป็นไหม และปลูกกันเก่งเพียงใด เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็หดหู่ใจ

แต่ก็ระลึกได้ว่าเพราะเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่พัฒนามานานเกินไปจึงรู้สึกในแง่ลบได้เพียงนั้น ความท้าทายเดิมยังคงมีอยู่ นั่นคือ

เราจะตีฝ่าวงล้อมนี้ออกไปอย่างไรดี?

ผมจึงตั้งใจเขียนเนื้อหาที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ให้อ่านง่าย  สั้น และชัด ดังต่อไปนี้ (จบอารัมภบท หลับครึ่งห้องหรือยัง)

บทที่ 1 และ 2 เล่าเรื่องนโยบายและรายละเอียดของการจัดการศึกษาในห้าประเทศ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา ฟินแลนด์ จีน และสิงคโปร์ สำหรับประเทศขนาดใหญ่ยักษ์ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และจีน หนังสือตัดเพียงบางเขตมาเล่า ไม่นับว่าออสเตรเลียมีประชากร 23.5 ล้านคน แคนาดามี 36 ล้านคน เซี่ยงไฮ้มี 24 ล้านคน ประเทศและเขตเหล่านี้มีประชากรไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ฟินแลนด์มี 5.49 ล้านคนเท่าๆ กับสิงคโปร์คือ 5.5 ล้านคน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของของประชากรกรุงเทพมหานคร

ท่านที่ใส่ใจอ่านมาถึงตรงนี้ควรเป็นบุคคลที่สามารถตัดคำว่า “ประเทศไทยทำไม่ได้หรอก” ออกไปแล้วอ่านต่อ

ห้าประเทศที่หนังสือเขียนถึงมีส่วนแตกต่างที่หลากหลาย แต่มีจุดที่เหมือนกันแน่ๆ 3 เรื่อง คือ

1. มีนโยบายพัฒนาครูที่โดดเด่นและชัดเจน ประเทศเหล่านี้ชูครูขึ้นเป็นวิชาชีพระดับสูง คัดเลือกอย่างพิถีพิถันและเข้าเรียนได้ยาก เรียนหนักและต้องทำวิจัยสม่ำเสมอ ได้รับความไว้วางใจและเกียรติจากสังคม มีเส้นทางอาชีพที่พัฒนาต่อเนื่องและเห็นได้อย่างแจ่มชัด และมีเงินเดือนสูงถึงสูงมาก แม้กระทั่งเซี่ยงไฮ้ก็จ่ายเงินเดือนครูสูงกว่าที่อื่นๆ ของประเทศจีน

วิธีการของแต่ละประเทศต่างกัน นักบริหารการศึกษาที่ใส่ใจสามารถไปหาอ่านเองต่อได้แต่ก็ต้องพยายามแกะประโยคทีละประโยคอย่างตั้งใจว่าเขาทำอะไร และอย่างไรกันแน่ อย่าเผลออ่านอย่างเบลอๆ แล้วไม่รู้ว่าตกลงเขาทำอะไรและทำได้อย่างไร

กลับมาที่ประเทศไทย ผมเข้าใจว่าเราจะพบอุปสรรคใหญ่มากคือ แล้วจะเอาครูหลายแสนคนในวันนี้ไปไว้ที่ไหน รวมทั้งจะเอากระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นอุปสรรคขวากหนามใหญ่สุดของการพัฒนาไปไว้ที่ใด

2. มีนโยบายและวิธีปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างชัดเจน ทุกประเทศที่คัดสรรมามีสัดส่วนนักเรียนซึ่งเป็นคนต่างถิ่นหรือคนท้องถิ่นดั้งเดิมมากๆ ทั้งนั้น บางแห่งมีถึงร้อยละ 20 และทุกประเทศมีสิ่งที่เรียกว่าครอบครัวยากจนแฝงอยู่ ไม่เว้นกระทั่งออสเตรเลียและแคนาดา  แต่เด็กๆเหล่านี้กลับเป็นเป้าหมายของนโยบายทางการศึกษาที่ชัดเจนมากว่า“ทุกคนต้องได้และได้ของดีด้วย”

วิธีของแต่ละประเทศคล้ายคลึงกัน นั่นคือกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ส่วนท้องถิ่น พร้อมออกเป็นนโยบายที่ชัดเจนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือส่วนท้องถิ่นใช้ภาษีของตัวเองเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ และถ้าภาษีส่วนท้องถิ่นไม่พอใช้ รัฐบาลกลางจะจ่ายเพิ่มให้ด้วย โดยที่รัฐบาลกลางก็มีนโยบายเรื่องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากเช่นกัน

ผลลัพธ์ที่ได้คือฐานะและสถานะทางบ้านมีผลน้อยหรือไม่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์การศึกษาของเด็ก!

ทำไมต้องทำ? ประเทศเหล่านี้เข้าใจดีว่าการปล่อยปละละเลยเด็กชายขอบนำมาซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่ด้อยคุณภาพและฉุดกำลังของทั้งประเทศลงปีต่อปี  ทศวรรษต่อทศวรรษ ในทางตรงข้ามการปฏิบัติต่อเด็กชายขอบทุกๆ คนไม่ว่าจะยากดีมีจน มีเชื้อชาติอะไร หรือแม้กระทั่งเป็นผู้อพยพ ก็เพื่อยกระดับพวกเขาให้เป็นพลเมืองหรือ citizen ที่มีคุณภาพ  หลังจากนั้นอะไรที่พวกเขาทำจะกลายเป็นประโยชน์ของชาติตลอดเวลา

เรื่องเช่นนี้บ้านเราไม่ยอมเข้าใจ

สองข้อแรกนี้คือจุดต่างและจุดเด่นที่ชัดเจนมากของห้าประเทศที่ยกมา หากเราเชื่อว่านี่เป็นจุดคานงัดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา สองเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าทำมากและทำได้แน่นอนถ้านโยบายกับวิสัยทัศน์ชัดเจน  นั่นแปลว่าอุปสรรคขวากหนามใดๆ ต้องเอาออกไปให้สิ้นซาก

3. แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีกระทรวงศึกษาธิการ แต่บางแห่งไม่มีกระทรวงศึกษาธิการระดับชาติ งานการศึกษาได้กระจายเข้าส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ที่ที่มีกระทรวงศึกษาธิการก็มักทำหน้าที่เพียงแค่วางนโยบาย และจัดการทดสอบระดับชาติเท่านั้น ส่วนที่ที่ไม่มีกระทรวงศึกษาธิการก็จะมีคณะทำงานระดับชาติชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยคนจากทุกภาคส่วนและทุกชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งประชุมกันปีละ 1-2 ครั้งเพื่อถกเถียงแนวคิดแล้วออกนโยบายไว้กว้างๆ

ที่เหลือเป็นหน้าที่ของส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนจะทำกันเอง

ผมไม่เคยพูดว่าให้ยุบกระทรวงศึกษาธิการ แต่หลายปีมานี้มีอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่พูดหลายคน ทั้งที่พูดในห้องประชุมและบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ผมเคยพูดว่ากระทรวงศึกษาธิการใช้คน 30 คนก็เพียงพอและใช้ออฟฟิศเป็นตึกแถวสักห้องหนึ่ง ตอนที่พูดมิได้พูดเล่น วันนี้ก็ยังมิได้พูดเล่น

มีเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ บางประเทศหรือบางเขตมีการประกาศผลงานของโรงเรียนบนเว็บไซต์สาธารณะเพื่อให้ประชาชนเห็น  พูดง่ายๆ ว่าเด็กๆ ของคุณได้เรื่องหรือเปล่า การประกาศนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้คุณหรือให้โทษแก่โรงเรียนแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และน่าทำมาก  เพราะเมื่อไรที่ประชาชนรอบโรงเรียนเป็นเจ้าของโรงเรียนผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่น  ผลงานของโรงเรียนในที่สาธารณะจะเป็นตัวกำกับงานชั้นดีในตัว

ใครกันจะยอมตกขบวนพัฒนา

ปั้นครู เปลี่ยนโลก: ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21

Linda Darling-Hammond เขียน

ชลิดา หนูหล้า แปล

472 หน้า