การศึกษาแบบไหน สร้างเด็กที่ ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น’

ชลิดา หนูหล้า เขียน

 

“หากคุณสงสัยว่าเด็กและเยาวชนมีความสามารถในการกำกับดูแลชีวิตต่ำเตี้ยเพียงใด ให้ลองจินตนาการว่าเด็กๆ ต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน พวกเขาต้องนั่งนิ่งๆ ในชั้นเรียนที่ไม่ได้เลือกเอง ฟังครูที่ถูกสุ่มมาให้ร่วมกับเพื่อนที่จัดสรรมาด้วยวิธีใดก็ไม่รู้ ต้องเข้าแถวเป็นระเบียบ กินอาหารตามตารางเวลา และต้องลุ้นว่าครูจะอนุญาตให้ไปห้องน้ำหรือเปล่า แล้วนึกดูสิว่าเราประเมินพวกเขาอย่างไร เราไม่ได้ใส่ใจความทุ่มเทหรือดูว่าเด็กๆ พัฒนาจากเดิมมากน้อยเพียงใด แต่กลับสนใจว่าเด็กคนใดวิ่งหรือว่ายน้ำได้เร็วกว่ากันในงานแข่งขันกีฬาวันเสาร์ เราไม่วัดความเข้าใจในตารางธาตุ แต่วัดคะแนนจากการสุ่มข้อเท็จจริงไม่กี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับตารางธาตุมาถามเด็ก”

ความสามารถในการกำกับดูแลตัวเอง (sense of control) คือความเชื่อมั่นในศักยภาพของตน เชื่อว่าตนจะก้าวข้ามสถานการณ์เลวร้ายและความผันผวนโดยทั่วไปในชีวิตได้ คือความสงบนิ่งยามเผชิญสิ่งไม่คาดฝันเพราะรู้ว่าจะหาทางออกได้ในที่สุด ความสามารถนี้จึงเป็นหัวใจของการ “อยู่เองได้ โตเองเป็น” ที่บ่มเพาะได้ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเอง แสดงความรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจของตัวเอง มอบความเชื่อใจให้พวกเขา และอยู่เคียงข้างระหว่างการลองผิดลองถูก ไม่ให้ถูกกดดันจน “หมดไฟ” จะทดลอง เพราะย่อมไม่มีอะไรเป็นครูที่ดีได้มากกว่าประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) หรือบิล และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) สองผู้เขียน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง ระบุว่าแม้ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้น การมุ่งบ่มเพาะความสามารถในการกำกับดูแลตนเองก็ “ไม่ใช่แนวทางที่โรงเรียนใดมุ่งหน้าไปเลย”

แล้วการศึกษาแบบใดเล่าที่ขัดเกลาทักษะที่ว่านั้นได้

 

การศึกษาที่เป็นอยู่นี้

 

ปี 2012 ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) นักการศึกษาชื่อดังชาวฟินแลนด์กล่าวในเท็ดทอล์กว่าเขามีโอกาสเดินทางสำรวจระบบการศึกษาทั่วโลก และพบว่าเกือบทุกระบบมีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือมีความพยายามในการ “ปฏิรูป” ระบบการศึกษาคล้ายคลึงกัน ปาสิเรียกความพยายามนี้ว่า “การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการศึกษาโลก” (Global Educational Reform Movement) ซึ่งเมื่อย่อวลีด้วยอักษรตัวแรกของแต่ละคำแล้ว จะได้ “เชื้อโรค” (GERM) ที่กัดกินประสิทธิภาพการจัดการศึกษา

“มันเป็นเชื้อโรค เป็นไวรัสที่เดินทางพร้อมนักการเมือง รัฐมนตรี และบรรดาที่ปรึกษา จากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง ทำให้ระบบโรงเรียนเป็นพิษ ครูออกจากวิชาชีพ และกีดกันเด็กๆ จากการเรียนรู้” ปาสิกล่าว

เขากล่าวต่อไปว่าอาการจากการติดเชื้อดังกล่าวประกอบด้วยการแข่งขันระหว่างโรงเรียน การทำให้ครูและโรงเรียนมีภาระรับผิดชอบ (accountability) ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และการกำหนดมาตรฐานของทุกกิจการในระบบการศึกษา

“การแข่งขันระหว่างโรงเรียนก็เหมือนสถานการณ์ที่คนสองคนไปปีนเขาด้วยกันและเห็นป้ายเตือนว่ามีหมีป่า ชายคนหนึ่งถอดรองเท้าปีนเขาออกแล้วสวมรองเท้าผ้าใบ อีกคนหนึ่งท้วงว่านายไม่มีวันวิ่งเร็วกว่าหมีป่าหรอก ชายคนนั้นจึงตอกกลับว่า ไม่เป็นไร ฉันแค่ต้องการวิ่งได้เร็วกว่านาย”

 

“การแข่งขันระหว่างโรงเรียนก็เหมือนสถานการณ์ที่คนสองคนไปปีนเขาด้วยกันและเห็นป้ายเตือนว่ามีหมีป่า ชายคนหนึ่งถอดรองเท้าปีนเขาออกแล้วสวมรองเท้าผ้าใบ อีกคนหนึ่งท้วงว่านายไม่มีวันวิ่งเร็วกว่าหมีป่าหรอก ชายคนนั้นจึงตอกกลับว่า ไม่เป็นไร ฉันแค่ต้องการวิ่งได้เร็วกว่านาย”

 

หากเป็นการศึกษา ก็คงเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนรู้แต่ว่าต้องหนี ต้องทำได้ดีกว่าผู้อื่น และไม่ได้คิดถึงทางเลือกอันสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาการศึกษา หรือพัฒนาระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

อาการที่สองคือการทำให้ครูและโรงเรียนมีภาระรับผิดชอบต่อคะแนนสอบหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กล่าวคือครูและโรงเรียนต้องยอมรับผลกระทบจากคะแนนสอบของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดหรือรับชอบ ครูและโรงเรียนจึงพยายามเพิ่มคะแนนสอบของนักเรียนอย่างสุดกำลัง และพัฒนาตนเองเพื่อผลิตผู้เรียนที่ทำคะแนนสอบได้ดี มากกว่าผู้เรียนที่รักการเรียนรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต ปาสิคิดว่าภาระรับผิดชอบนั้นคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่หลังสกัดความรับผิดชอบออกไป ในระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพเช่นฟินแลนด์จึงให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบ (responsibility) หรือหน้าที่ของบุคคลต่องานหนึ่งๆ มากกว่าภาระรับผิดชอบ

เท็ดทอล์กของปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (มีคำบรรยายภาษาไทย)

 

อาการสุดท้ายคือผลพวงจากสองอาการข้างต้น คือการกำหนดมาตรฐานอย่างเข้มงวดในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังอย่างตายตัว หรือแบบทดสอบมาตรฐาน ซึ่งไม่เลวร้ายเสียทีเดียวหากปรับใช้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรฐานอย่างเข้มงวดมักปลิดทอนรายละเอียดอันหลากหลายระหว่างบุคคล และลิดรอนโอกาสในการจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน

แนวทางเช่นนี้ไม่เพียงทำลายระบบการศึกษาทั้งระบบเท่านั้น แต่ยังทำลายความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเด็กด้วย ดังที่บิลและเน็ดกล่าวว่ายิ่งอยู่ในโรงเรียนนานเท่าใด ยิ่งเผชิญระเบียบและมาตรฐานรัดรึงมากเท่านั้น เด็กๆ จึงมีความสามารถในการกำกับดูแลตนเองน้อยลงเมื่อเวลาผันผ่าน ความรู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเปลี่ยนแปรเป็นการ “ไหลตามน้ำ” โดยไม่เห็นปลายทาง

ยิ่งกว่านั้น แนวทางเช่นนี้ยังทำให้ครูพลอยหมดโอกาสตัดสินใจ เพราะครูต้องจัดการเรียนรู้โดยยึดหลักสูตรแกนกลางอันกวดขันซึ่งผลักครูออกจากสมการการศึกษา (teacher-proof curriculum) ไม่มีกลไกใดอนุญาตให้ครูได้ใช้ศักยภาพของตนเพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล เมื่อผสมโรงกับการต้องรับผิดหรือรับชอบจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ทำให้ครูทั้งหลายต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้และมอบการบ้านที่ยิ่งรึงรัดนักเรียนแน่นหนา

“เป็นเวลามากกว่าสองทศวรรษที่การปฏิรูปโรงเรียนถูกขับเคลื่อนด้วยแผนงานที่ขาดความเข้าใจในงานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของสมองหรือพัฒนาการเด็ก” บิลและเน็ดกล่าว “ผู้ชี้นำการศึกษาและผู้กำหนดโยบายจะไม่ตั้งคำถามว่า ‘เด็กต้องการอะไรเพื่อให้มีพัฒนาการสมองที่ดี’ ‘ทำอย่างไรเด็กจึงจะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด’ … ในทางตรงกันข้าม พวกเขาจะถามว่า ‘เราต้องบังคับให้เด็กๆ ทำอะไรจึงจะสอดคล้องกับมาตรฐานระดับโรงเรียน ระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ’ การปฏิรูปส่วนมากเน้นตั้งคำถามว่าจะยัดองค์ความรู้อะไรใส่หัวเด็ก และให้ความสำคัญแก่การทดสอบซ้ำซากเพื่อวัดว่าอะไรบ้างที่ยังอยู่ในหัวเด็ก … การปฏิรูปการศึกษาล้มเหลวเพราะติดกับนโยบายที่ลดความสามารถในการกำกับดูแลตนเองของเด็ก ครู และผู้บริหาร นำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มพูน การมีส่วนร่วมของนักเรียนที่ลดลง ตลอดจนความไม่พอใจและหมดไฟของครู”

 

ยิ่งกว่านั้น แนวทางเช่นนี้ยังทำให้ครูพลอยหมดโอกาสตัดสินใจ เพราะครูต้องจัดการเรียนรู้โดยยึดหลักสูตรแกนกลางอันกวดขันซึ่งผลักครูออกจากสมการการศึกษา (teacher-proof curriculum) ไม่มีกลไกใดอนุญาตให้ครูได้ใช้ศักยภาพของตนเพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล เมื่อผสมโรงกับการต้องรับผิดหรือรับชอบจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ทำให้ครูทั้งหลายต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้และมอบการบ้านที่ยิ่งรึงรัดนักเรียนแน่นหนา

 

บ่อยครั้ง ผลกระทบจากการไม่เปิดโอกาสให้เด็กตัดสินใจและรับผิดชอบการตัดสินใจของตนปรากฏให้เห็นในมหาวิทยาลัย หรือในวัยที่หลายคน “คาดหวัง” อย่างไม่สมเหตุสมผลว่าเด็กต้องดูแลตัวเองได้ราวปาฏิหาริย์ ทั้งที่ไม่เคยอนุญาตให้พวกเขากำกับตัวเองจริงๆ ดังเรื่องราวหนึ่งที่บิลและเน็ดกล่าวถึงในเล่มว่า

“ท็อดด์เป็นเด็กเก่ง … ทว่าความสำเร็จทั้งหมดของเขาสมัยมัธยมเกิดขึ้นได้เพราะกฎระเบียบที่พ่อแม่วางไว้ ทั้งคู่ต้อนให้เขาเข้านอน ลากออกจากเตียงในตอนเช้า จำกัดการใช้โทรทัศน์กับการเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ และพยายามจับตาดูการทำการบ้านของเขา เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ระเบียบวินัยเหล่านั้นก็หายไป พลันทุกอย่างก็พังทลาย เราไม่ตกใจแม้แต่น้อยที่ท็อดด์ถูกภาคทัณฑ์ในภาคเรียนแรก … ท็อดด์ก้าวพลาดถึงสองครั้งสองครา ทั้งพ่อกับแม่ยังสูญเงินและเสียความรู้สึกมหาศาลกว่าเขาจะเรียนจบ”

 

การศึกษาที่ควรจะเป็น

 

 

 

นอกจากชี้ให้เห็นปัญหาของการศึกษาและแนวทางการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันแล้ว บิลและเน็ดยังเสนอทางออกที่เป็นไปได้สำหรับการเสริมสร้างทักษะชีวิต ให้เด็ก “อยู่เองได้ โตเองเป็น” ในโรงเรียนด้วย

ทั้งสองเสนอว่า โรงเรียนต้องเสริมสร้าง “แรงจูงใจให้เด็กใส่ใจการเรียนรู้ของตนเอง” เพราะในปัจจุบัน กระทั่งนักเรียนหัวกะทิก็เป็นเด็กที่เพียงหมกมุ่นกับคะแนนสอบ ไม่ได้รักการเรียนรู้แต่อย่างใด โดยกลวิธีแรกในการเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ คือการเสริมสร้างอิสระในตนเอง นอกโรงเรียน นั่นเอง

โดยพ่อแม่ที่สนับสนุนความเป็นอิสระในตนเองของลูกจะมีลูกๆ ที่ “จัดการตนเองในการทำการบ้านได้ดีกว่า ตระหนักถึงความสามารถของตนเองมากกว่า และได้รับการประเมินจากครูว่ามีแรงจูงใจในตนเอง มีความสามารถ และปรับตัวในชั้นเรียนได้ดีกว่า” นอกจากนั้น ผลการเรียนและคะแนนสอบยังสูงกว่าเด็กทั่วไปด้วย

 

พ่อแม่ที่สนับสนุนความเป็นอิสระในตนเองของลูกจะมีลูกๆ ที่ “จัดการตนเองในการทำการบ้านได้ดีกว่า ตระหนักถึงความสามารถของตนเองมากกว่า และได้รับการประเมินจากครูว่ามีแรงจูงใจในตนเอง มีความสามารถ และปรับตัวในชั้นเรียนได้ดีกว่า” นอกจากนั้น ผลการเรียนและคะแนนสอบยังสูงกว่าเด็กทั่วไปด้วย

 

การสนับสนุนความเป็นอิสระในตนเองของเด็กที่ง่ายที่สุดที่บ้าน คือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ตัดสินใจในประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำการบ้าน หรือแนวทางการทำการบ้าน อาทิ ตัดสินใจว่าจะมีเวลาหนึ่งชั่วโมงในแต่ละวันที่พ่อและแม่จะทำหน้าที่ที่ปรึกษาในการทำการบ้านหรือไม่ ผู้ปกครองอาจถามเด็กๆ ว่างานบ้านที่พวกเขาต้องการรับผิดชอบคืออะไร กวาดบ้านหรือนำขยะไปทิ้ง และจะทำเมื่อไรดี เด็กๆ ต้องการเรียนพิเศษหรือไม่ และหากไม่ต้องการเรียนพิเศษเลยแต่ผลการเรียนไม่สู้ดีนักจะทำอย่างไร การได้ร่วมตัดสินใจโดยไม่รู้สึกว่าการกระทำหรือการตัดสินใจของผู้ใหญ่ถูก “จับวาง” บนชีวิตของพวกเขาจะส่งเสริมความรู้สึกว่าตนเองเป็นอิสระ และสนับสนุนความมั่นใจในตัวเองได้ดียิ่ง

แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและปฏิบัติตามได้ง่ายคือการซื้อปฏิทินเป็นของขวัญให้ลูก บิลและเน็ดแนะนำว่า

“เมื่อลูกๆ อายุยังน้อย เราควรแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเองก็กำกับดูแลตนเองได้ สหายผู้หนึ่งซึ่งให้คำปรึกษาเพื่อวางแผนครอบครัวมากว่า 20 ปี แนะนำว่าควรให้ปฏิทินกับเด็กก่อนวัยเรียน แล้วเขียนเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของลูกลงไป เพื่อให้เด็กเข้าใจกลไกการไหลของเวลาและรู้ว่าแต่ละวันจะผันผ่านไปอย่างไร ปฏิทินสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความรับรู้ว่าตนสามารถกำกับวันนั้นๆ ได้ ฝึกเด็กๆ ให้ขีดฆ่าวันในปฏิทิน ให้เวลาพิจารณาตารางงานในแต่ละวัน และให้โอกาสปรับเปลี่ยนกิจกรรมเท่าที่ทำได้ การสื่อสารเช่นนี้เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพ เด็กจะเห็นว่าพวกเขาไม่ได้เพียงวิ่งตามแผนของคุณต้อยๆ และจะเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเกิดขึ้นที่ใด เมื่อไร”

 

 

แน่นอนว่าเมื่อส่งเสริมความเป็นอิสระในตนเองที่บ้านแล้ว การส่งเสริมความเป็นอิสระในตนเองที่โรงเรียนย่อมต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไป

การสนับสนุนอิสระในตนเองของเด็กระหว่างเรียนรู้อาจไม่ยากอย่างที่หลายคนคิด ไม่ว่าจะด้วยการส่งเสริมให้ครูให้ตัวเลือกแก่นักเรียน (“อยากจัดงานเลี้ยงชุดนอนหรือการแสดงในวันเด็ก” “อยากเขียนเรียงความในห้องเรียนหรือกลับไปทำที่บ้าน” “อยากให้เป็นงานเดี่ยวหรืองานคู่”) ยิ่งกว่านั้น จะดีมากหากเสนอมากกว่าหนึ่งแนวทางในการประเมินความเข้าใจเนื้อหา รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน สนับสนุนให้พวกเขาหากลยุทธ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัดของตัวเอง พร้อมอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งหนึ่งๆ เสมอ รวมถึงอะไรบ้างที่ครูคาดหวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

 

การสนับสนุนอิสระในตนเองของเด็กระหว่างเรียนรู้อาจไม่ยากอย่างที่หลายคนคิด ไม่ว่าจะด้วยการส่งเสริมให้ครูให้ตัวเลือกแก่นักเรียน (“อยากจัดงานเลี้ยงชุดนอนหรือการแสดงในวันเด็ก” “อยากเขียนเรียงความในห้องเรียนหรือกลับไปทำที่บ้าน” “อยากให้เป็นงานเดี่ยวหรืองานคู่”) ยิ่งกว่านั้น จะดีมากหากเสนอมากกว่าหนึ่งแนวทางในการประเมินความเข้าใจเนื้อหา รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน สนับสนุนให้พวกเขาหากลยุทธ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัดของตัวเอง พร้อมอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งหนึ่งๆ เสมอ รวมถึงอะไรบ้างที่ครูคาดหวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว

 

การเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กเป็นผู้นำการเรียนรู้ของตัวเองอย่างแท้จริงก็มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงาน (project-based learning) หรือการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ (phenomenon-based learning) กล่าวคือการเรียนรู้ที่บูรณาการองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชา โดยให้เด็กเป็นผู้เลือกปรากฏการณ์หรือหัวข้อที่พวกเขาสนใจศึกษา ขณะที่ครูเป็นผู้ดูแลและให้คำปรึกษาว่าหัวข้อนั้นๆ มีความยากง่ายและซับซ้อนเหมาะสมกับระดับอายุหรือไม่ จากนั้นครูหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันจึงเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านการให้ความคิดเห็นเพื่อสืบค้นข้อมูลต่อไปหรือช่องทางศึกษา เพื่อให้เด็กๆ ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์หรือหัวข้อศึกษาดังกล่าว ตลอดจนขัดเกลาองค์ความรู้นั้นและสังเคราะห์ข้อสรุปด้วยตนเอง ครูอาจแนะนำให้เด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องนอกโรงเรียนระหว่างจัดทำโครงงานได้ ทั้งนี้เพื่อต่อยอดการเรียนรู้และสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง

นอกจากการส่งเสริมความเป็นอิสระของเด็กทั้งในและนอกห้องเรียนแล้ว อีกกลวิธีสำคัญที่จะกระตุ้นให้เด็ก “อยู่เองได้ โตเองเป็น” ผ่านการจัดการศึกษาคือการลดความเครียดที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะลดทอนความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของเด็ก เพราะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างต่อสู้หรือเอาชีวิตรอดตลอดไป ยิ่งกว่านั้น มันยังลดทอนเวลาที่พวกเขาจะได้ใช้เพื่อแสวงหาตนเองและพัฒนาพรสวรรค์

แน่นอนว่าหนึ่งในความเครียดที่ไม่จำเป็นในสายตาของบิลและเน็ดคือหนึ่งในอาการของโรคร้ายซึ่งกัดกินระบบการศึกษาที่ปาสิกล่าวถึง คือการกำหนดมาตรฐานให้ทุกกิจการในการศึกษา โดยไม่คำนึงถึงพัฒนาการและความหลากหลายของเด็กนั่นเอง

 

ความเครียด: ภัยเงียบที่คุกคามความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

 

สองนักจิตวิทยา โรเบิร์ต เยิร์กส์ (Robert Yerkes) และจอห์น ด็อดสัน (John Dodson) เสนอแนวคิดว่าสมรรถนะในทำงานจะเพิ่มขึ้นโดยผันแปรตามแรงกระตุ้นทางกายและทางใจจนถึงจุดสูงสุด จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง กล่าวคือเด็กทุกคนต้องการแรงกระตุ้นในระดับหนึ่ง จากความสงสัย ความตื่นเต้น หรือความเครียดเล็กน้อย เพื่อไปถึงระดับที่ความคิดเฉียบแหลมที่สุด หากเด็กๆ เครียดเกินไป พวกเขาจะสูญเสียสมาธิ และสมองจะไร้ประสิทธิภาพ

หลายปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่สนับสนุนกฎของเยิร์กส์-ด็อดสันมากมาย ล้วนชี้ว่านักเรียนจะเรียนรู้และทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทายสูงแต่มีภัยคุกคามต่ำ กล่าวคือได้รับบทเรียนที่ยากในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้ซึ่งพวกเขาสามารถสำรวจแง่มุมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย ตัดสินใจผิดพลาดได้ และใช้เวลาได้เท่าที่ต้องการในการเรียนรู้และรังสรรค์ผลงาน เพราะเมื่อนักเรียนรู้ว่าผิดพลาดได้ก็จะยินดีรับความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างแท้จริง สร้างสมองที่ทำงานเต็มศักยภาพและเป็นสุข

 

 

อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมที่เด็กๆ ถูกกดดันผ่านการต้องทำแบบทดสอบชุดเดียวกับเพื่อนๆ ที่มักเป็นแบบทดสอบที่มีคำตอบเดียวให้ดีกว่าใครๆ ไม่ว่าการทดสอบด้วยวิธีดังกล่าวจะสอดคล้องกับแนวทางการเรียนรู้ของพวกเขาหรือไม่ก็ตามไม่ใช่สถานการณ์ที่กระตุ้นความสงสัยหรือความกระตือรือร้นจะสำรวจโลกกว้างเลย ดังนั้น นอกจากการเสริมสร้างความตระหนักรู้และผลักดันความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ทำได้คือการรู้เท่าทันกับดักความต้องการได้คะแนนสูงๆ ของตน และไม่กดดันลูกมากจนเกินไป เตือนให้ลูกตระหนักเสมอว่าความสำคัญของการเรียนรู้คือการได้พัฒนาตัวเอง ไม่ใช่การมีผลการเรียนดีแต่อย่างใด

ในหนังสือ บิลและเน็ดได้ยกตัวอย่างจดหมายของแม่คนหนึ่งที่เผลอกดดันลูก จึงขอโทษลูกอย่างจริงใจไว้ด้วย

 

 

คืนนี้แม่ทำให้ลูกผิดหวัง และแม่อยากขอให้ลูกให้อภัย แม่รู้ว่าแม่แก้ไขความผิดพลาดไม่ได้ แต่แม่ขออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น

บ่ายวันนี้แม่พบแม่ของเพื่อนร่วมชั้นของลูก เธอถามถึงคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์เมื่อวานนี้ แม่ยักไหล่แล้วตอบว่าแม่ไม่รู้ว่ามีการสอบ พอเธอส่ายหน้าอย่างผิดหวัง แม่ก็รู้สึกละอายที่ละเลยลูก ทิฐิของแม่พันกันยุ่งเหยิง พอกลับถึงบ้านแม่จึงคาดคั้นลูกเกี่ยวกับการเตรียมสอบและคะแนนสอบ แม่บอกลูกว่าต้องการตรวจการบ้านของลูกและขอดูผลการเรียน แม่ไม่อยากเชื่อเลยว่าลูกจะจ้องกลับมาด้วยน้ำตานองหน้า

แต่ไหนแต่ไรมาลูกเป็นเด็กช่างสงสัยและมีความคิดสร้างสรรค์ ลูกชอบช่วยเหลือผู้คน นึกถึงผู้อื่นเสมอ ขยันแต่ไม่ชอบแข่งขัน แม่ปล่อยให้แม่คนนั้นที่ใช้ผลการเรียนของลูกข่มใครๆ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรา

แม่สัญญาว่าจะไม่ถามคะแนนสอบ ไม่ตรวจการบ้านหรือดูผลการเรียนออนไลน์ ไม่ดูกระทั่งใบรายงานผลการเรียน เว้นแต่ลูกเลือกจะให้แม่ดู

ลูกไม่ใช่ตัวเลขหรืออักษรตัวหนึ่งสำหรับแม่ แต่เป็นของขวัญอันล้ำค่าซึ่งแม่ควรให้เกียรติ แม่หวังว่าจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและความเคารพจากลูกอีกครั้งหนึ่ง

รักลูกนะ

แม่

 

 

ทั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ เครียดจนเกินไปจนบั่นทอนศักยภาพที่แท้จริงในการพึ่งพาตนเองได้ของพวกเขา คือการไม่ยัดเยียดองค์ความรู้ก่อนวัยอันควรให้เด็ก ปัจจุบันเด็กจำนวนไม่น้อยถูกยัดเยียดให้ “เรียน” และให้ “รู้” ทั้งที่ยังไม่พร้อม และโรงเรียนหลายแห่งก็มักโฆษณาว่าตนทำให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอ่านออกเขียนได้หรือท่องสูตรคูณได้เหยียดยาวก่อนใคร ทั้งที่จริงๆ แล้ววัยดังกล่าวคือวัยแห่งการเล่นและพัฒนาทักษะที่จำเป็นด้านอื่นๆ และแท้จริงแล้ว เด็กๆ ควรหัดอ่านเมื่อมีอายุเจ็ดปีจึงจะได้ผลดีที่สุด

ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ต้องอาศัยแรงใจมากเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงพ่อแม่ต้องต่อสู้กับอารมณ์ของตนเองเท่านั้น แต่ต้องต่อสู้กับแรงกดดันทางสังคมจากผู้อื่นด้วย ภาระงานที่เคยเป็นภาระงานขั้นสูงสำหรับเด็กเมื่อราว 50 ปีที่แล้วกลับกลายเป็นภาระงานพื้นฐานของเด็กเล็กวัยเดียวกันในวันนี้เสียแล้ว ไม่แปลกที่เด็กๆ จะรู้สึกกดดัน หัวเสีย หรืออับอายหากทำไม่ได้ทัดเทียมคนอื่นๆ เป็นการบั่นทอนกำลังใจและความเชื่อมั่นของพวกเขาตั้งแต่เล็ก ไม่ได้นำไปสู่ความพอใจในตนเองและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตแต่อย่างใด

 

ภาระงานที่เคยเป็นภาระงานขั้นสูงสำหรับเด็กเมื่อราว 50 ปีที่แล้วกลับกลายเป็นภาระงานพื้นฐานของเด็กเล็กวัยเดียวกันในวันนี้เสียแล้ว ไม่แปลกที่เด็กๆ จะรู้สึกกดดัน หัวเสีย หรืออับอายหากทำไม่ได้ทัดเทียมคนอื่นๆ เป็นการบั่นทอนกำลังใจและความเชื่อมั่นของพวกเขาตั้งแต่เล็ก ไม่ได้นำไปสู่ความพอใจในตนเองและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตแต่อย่างใด

 

เร็วกว่าจึงไม่ได้หมายถึงดีกว่า และมากกว่าก็ไม่ได้หมายถึงล้ำหน้าเสมอไป บิลกล่าวว่าหนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการเร่งเรียน คือปัญหาการจับดินสอไม่ถูกต้องในเด็กเล็ก การจับดินสอนั้นยากกว่าที่หลายคนคิดสำหรับเด็ก เพราะต้องอาศัยกล้ามเนื้อมัดเล็กที่พัฒนาสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถจับดินสอระหว่างนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วหัวแม่มือให้มั่น พร้อมขยับทั้งในแนวตั้งและแนวนอนโดยขยับเพียงปลายนิ้วได้ ปัจจุบัน เด็กเล็กกว่าร้อยละ 85 จำเป็นต้องได้รับการบำบัดการจับดินสอ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเลย

เพียงความเครียดในเด็กเล็กก็ส่งผลกระทบที่หลายคนคาดไม่ถึงแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเครียดในเด็กโตจะส่งผลกระทบร้ายแรงเพียงใด ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อปัญหาสุขภาพจิตก่อตัวและลุกลามก่อความทรมาน ไม่ว่าจะเป็นจดหมายตอบรับเข้าเรียนจากมหาวิทยาลัยใดหรือการได้ทำงานในบริษัทชั้นนำข้ามชาติก็ไม่มีความหมายเลย

 

เพียงความเครียดในเด็กเล็กก็ส่งผลกระทบที่หลายคนคาดไม่ถึงแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเครียดในเด็กโตจะส่งผลกระทบร้ายแรงเพียงใด ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อปัญหาสุขภาพจิตก่อตัวและลุกลามก่อความทรมาน ไม่ว่าจะเป็นจดหมายตอบรับเข้าเรียนจากมหาวิทยาลัยใดหรือการได้ทำงานในบริษัทชั้นนำข้ามชาติก็ไม่มีความหมายเลย

 

 

การศึกษาเพื่อสร้างเด็กที่ “อยู่เองได้ โตเองเป็น” นั้นสร้างได้ เพียงแต่อาจไม่ใช่การศึกษาที่มีรูปโฉมอย่างที่หลายคนเคยจินตนาการ และอาจต้องการการลงทุนลงแรงทั้งของพ่อแม่และโรงเรียนอย่างมหาศาล ร่วมกับการอาศัยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และประสาทวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพียงพลวัตแห่งการแข่งขันและสัญชาตญาณ

การศึกษาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เด็กต้องใช้เวลาด้วยมากที่สุดในชีวิต ด้วยเหตุนี้ สำหรับเด็กๆ แล้ว จึงอาจไม่มีของขวัญใดล้ำค่าสำหรับพวกเขามากกว่าพ่อแม่ที่เข้าอกเข้าใจ และการศึกษาที่ทำให้พวกเขาพัฒนาตัวเองพร้อมกับมีความสุขได้อย่างแท้จริง

 

 

อ่านเองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

416 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่