เรื่อง: เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล
Design Thinking คือกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่เน้นทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับปัญหาหลากหลายด้าน
ผู้เขียนและเพื่อนๆ ในกิจการเพื่อสังคม Asian Leadership Academy (ALA) ได้ทดลองนำกระบวนการ Design Thinking ไปใช้กับโจทย์ปัญหาสังคมในบริบทต่างๆ ผ่านโครงการ “REDESIGN” จึงขอนำประสบการณ์ในมุมเพื่อสังคมมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นข้อคิดให้ทุกคนนำไปทดลองกับบริบทการทำงานของตัวเอง
โครงการที่พวกเราไปทดลองทำมีด้วยกัน 3 โครงการ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันไป
“Redesign-EDU” – โครงการสร้างครูนักออกแบบ:
เรามักจะพูดเสมอว่าการศึกษาของประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง หนึ่งในกลุ่มคนที่จะเป็น “Changemaker” หรือ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่ดีที่สุดในเรื่องการศึกษาคือ “กลุ่มคุณครู” ที่ทำงานใกล้ชิดและเข้าใจการเรียนรู้ของนักเรียน
Design Thinking เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนอย่าง “นักออกแบบ” โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เน้นส่งเสริมให้กล้าทดลอง ออกแบบ และพัฒนาการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ
หนึ่งในตัวอย่างที่ประทับใจคือ “โรงเรียนบ้านขุนแปะ” จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความคิดก้าวหน้าอยากปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เป็นแบบบูรณาการ เน้นให้เรียนผ่าน “โปรเจกต์” ต่างๆ มากขึ้น ความท้าทายของแนวคิดนี้คือ ต้องสร้างความมั่นใจและทำให้นักเรียนรวมทั้งผู้ปกครองยอมรับ เพราะมีพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่แน่ใจว่าการเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นอย่างไร และจะทำให้ลูกๆ เรียนได้ดีพอที่จะไปแข่งขันกับเด็กคนอื่นที่เรียนแบบเดิมๆ ได้หรือไม่
เราเดินทางขึ้นดอยกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อไปพบกับคุณครูของโรงเรียนบ้านขุนแปะที่ปิดโรงเรียนในวันนั้นเพื่อมาเรียน Design Thinking กับเราที่อุโบสถของวัดใกล้โรงเรียน (เพราะโรงเรียนไม่มีพื้นที่พอจะจัดเวิร์กช็อป) เราแนะนำวิธีทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ชี้ให้คุณครูมองปัญหาต่างๆ ในมุมของนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น พร้อมทั้งระดมสมองแก้ปัญหาร่วมกัน
หลังจากเข้าใจถึงความกังวลของนักเรียนและผู้ปกครอง คุณครูหลายคนเสนอต้นแบบการเรียนการสอนที่ดึงผู้ปกครองและนักเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบหน่วยการสอน และเสนอให้นำกระบวนการ Design Thinking มาใช้ต่อเนื่องในกระบวนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ทำให้คุณครูในโรงเรียนหันมาแลกเปลี่ยนความเห็น และร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อเปลี่ยนการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้น
Redesign-Tourism:
ปลายปีที่แล้ว เราลองนำ Design Thinking มาส่งเสริมโครงการพัฒนาชุมชนร่วมกับกิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยว “Local Alike” โดยลองเข้าไปแนะนำกระบวนการนี้กับกลุ่มเด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนคลองเตย
เราทดลองพานักท่องเที่ยวที่มีความต้องการหลากหลายมาพบชาวบ้านในชุมชน ให้ชาวบ้านได้พูดคุยและซักถามถึงรสนิยมและความชอบในการท่องเที่ยว เพื่อออกแบบการท่องเที่ยวในชุมชนคลองเตย รวมไปถึงกิจกรรมในชุมชนที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากขึ้น
การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้พวกเรารู้ว่า Design Thinking มีประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนในหลากหลายมิติ
ในมุมหนึ่ง Design Thinking ส่งเสริมให้คนในชุมชนหันหน้ามาช่วยกันคิดและออกแบบชุมชนการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตร่วมกัน การรวมกลุ่มระดมสมองยังทำให้ได้รับความเห็นหลากหลายจากคนในชุมชน เช่น เด็กๆ หรือผู้สูงอายุ เป็นวิธีสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ หรือ “Sense of Ownership” ร่วมกันในการพัฒนาชุมชน
ในอีกมุมหนึ่ง Design Thinking สามารถนำไปใช้ได้โดยตรงกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอยู่แล้วให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
Redesign Healthcare:
หลังจากเข้าใจความต้องการของ “นักเรียน” และ “นักท่องเที่ยว” แล้ว เราจึงหันมาทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรมในวงการ “สุขภาพ” ร่วมกับธุรกิจ Health Tech Startup ที่มีชื่อว่า “iamdr” โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ “คนไข้”
อันที่จริงกระบวนการ Design Thinking เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างที่เพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางสาธารณสุขในระดับสากล ตัวอย่างเช่น ที่ Stanford d.school กระบวนการ Design Thinking มีส่วนช่วยออกแบบถุง “Embrace” ถุงยังชีพทารกในประเทศโลกที่สาม หรือกรณีของ Mayo Clinic ซึ่งใช้กระบวนการนี้ออกแบบตู้ตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ (“healthspot”)
นอกจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กระบวนการ Design Thinking ยังสามารถนำไปใช้ได้ในฝั่ง Healthcare หรือการดูแลสุขภาพ โดยออกแบบบริการ (Service Design) เช่น ลดเวลารอคิวในโรงพยาบาล หรือออกแบบประสบการณ์ (Experience Design) เช่น ออกแบบประสบการณ์การตรวจร่างกายให้ดูไม่น่ากลัวสำหรับเด็กๆ
เรากำลังทดลองหาช่องทางนำแนวคิด Design Thinking ไปแลกเปลี่ยนกับบุคลากรทางสาธารณสุขในแง่มุมต่างๆ โดยหวังว่ากระบวนการคิดที่เน้นทำความเข้าใจ “คนไข้” จะเป็นเครื่องมือที่ยกระดับคุณภาพของบริการสาธารณสุขให้ดีขึ้นได้
ทั้ง 3 โครงการที่ยกมาเป็นเพียง “ตัวอย่างเล็กๆ” ที่เล่าถึงการนำ Design Thinking ไปใช้เท่านั้น ที่จริงแล้วการแก้ปัญหาสังคมก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการแก้ปัญหาธุรกิจ ที่มักมีปัญหาซับซ้อนและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย
ในมุมของผู้ถ่ายทอดกระบวนการ เสน่ห์และประโยชน์ของกระบวนการนี้คือ การนำกลุ่มคนหลากหลายที่ล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหานั้นๆ มาแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนเกิดเป็น “นวัตกรรมหมู่” เป็น Collaborative Innovation ที่ทำให้เกิดทางออกที่ตอบโจทย์ตาม “ข้อจำกัด” ในระบบ
บ่อยครั้งเราพยายามแก้ปัญหาจาก “ด้านบน” โดยอาศัยความเข้าใจที่เรามีเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทว่าหากไม่ลองลงไปทำความเข้าใจปัญหาหรือกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการช่วยอย่างใกล้ชิด
เราก็คง “เกาไม่ถูกที่คัน”
เผยแพร่ครั้งแรก: หน้า HR & Management | หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ | วันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2559
เกี่ยวกับผู้เขียน:
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล จบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นนักเรียนนำสอนกระบวนการ Design Thinking (D.Leader) ที่ Stanford d.school และเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่แนะนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาสู่เมืองไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้แปลหนังสือ Designing Your Life: คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking
คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking
ผู้เขียน : Bill Burnett และ Dave Evans
ผู้แปล : เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล
พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2561
ราคา : 295 บาท