“ค้นหาตัวเอง” ด้วย Design Thinking

 

เรื่อง: เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

 

จะจบมัธยมอยู่แล้ว … แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร?

เป็นประโยคที่คุณน้าของผู้เขียนพูดถึงลูกสาวที่อีกไม่นานต้องตัดสินใจเลือกคณะที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฟังแล้วก็อดคิดถึงตัวเองไม่ได้ …

ผู้เขียนอยากเป็นจิตแพทย์ตั้งแต่ประถม รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ฟังปัญหาของคนอื่นและช่วยให้คนอื่นมีความสุข เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงตั้งใจเรียนสายเตรียมแพทย์เฉพาะทางด้าน Bioengineering หรือวิศวกรรมชีวเวช เพื่อเรียนต่อปริญญาโทในโรงเรียนแพทย์ที่อเมริกา

บนเส้นทางสู่การเป็น “แพทย์” นั้น ผู้เขียนได้รู้จักเพื่อนๆ ที่มีความสนใจในหลากหลายอาชีพ และได้ “โอกาส” เห็นสายงานอาชีพอื่นๆ การเดินทางนี้ทำให้รู้ว่ายังมีอาชีพอื่นๆ อีกมากมายนอกจากอาชีพจิตแพทย์ ซึ่งทั้งน่าตื่นเต้นและช่วยให้คนอื่นมีความสุข จากที่คิดว่า “จิตแพทย์” คือเป้าหมายของชีวิต เมื่อได้เห็นโลกในมุมที่กว้างขึ้น ก็เริ่มสับสนว่าตัวเองมี “Passion” ในอาชีพอะไรกันแน่

 

ที่มา: https://www.theodysseyonline.com/philosophicalquestionwhoami

 

ด้วยความ “ไม่รู้” ว่าตัวเองอยากทำอะไร จึง “ลอง” ทำทุกอย่าง … อยากรู้ว่าชอบเป็นหมอจริงไหมก็ไปฝึกงานกับโรงพยาบาล เห็นเพื่อนทำงานสายการเงินน่าตื่นเต้น อยากรู้บ้างว่าเป็นอย่างไร ก็ไปฝึกงานกับธนาคารช่วงปิดเทอม ระหว่างเรียนมีอาจารย์ชวนไปช่วยงานกิจการเพื่อสังคมที่ดูน่าสนใจ ก็แบ่งเวลาหลังเลิกเรียนไปช่วยทำงานวิจัย

จากคนที่เคยอยากเป็นหมอ … ได้เรียนจบสาขา Bioengineering … ก้าวเข้ามาทำงาน Investment Banking … เรียนต่อโทด้านบริหารธุรกิจ … กระทั่งทุกวันนี้ได้มาทำธุรกิจสตาร์ตอัปด้านการศึกษาและพัฒนาบุคลากรของตัวเอง … เป็นเส้นทางที่เบี้ยวไปเบี้ยวมาพอสมควร แต่ก็รู้สึกว่าตนเองได้ “ผจญภัย”

อาจเป็นเพราะผู้เขียนไม่ได้มองว่าการลองสิ่งใหม่ๆ และเปลี่ยนงานเป็นการ “ไม่รู้จักตัวเอง” แต่มองว่าเป็นการ “ค้นหาตัวเอง” และเป็น “กำไรชีวิต”

ภารกิจ “ค้นหาตัวเอง” ไม่ใช่เพียงความท้าทายของนักเรียนและนักศึกษาเท่านั้น ยังมีคนวัยทำงานจำนวนมากที่พยายามค้นหาตัวเอง ต้องการหางานที่ “ใช่” และหงุดหงิดใจที่ “หาไม่เจอ”

ผู้เขียนจึงอยากชวนเพื่อนๆ ผู้อ่านมาร่วม ออกแบบ” ภารกิจ “ค้นหาตัวเอง” … และเปลี่ยนมุมมองว่า “การค้นหาตัวเอง” ไม่ใช่ “การเดินทาง” ที่มีปลายทางชัดเจน แต่เป็น “การผจญภัย” ซึ่งแม้ปลายทางอาจไม่ชัด แต่ความสนุกและการเรียนรู้เกิดจากสิ่งที่เราเจอ “ระหว่างทาง”

 

หากใช้หลักการ Design Thinking หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ มา “ค้นหาตัวเอง” เราอาจทำได้ดังนี้

 

  • ทำความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง: เราต้องตรงไปตรงมากับความรู้สึกและไม่หลอกตัวเอง เรามักฟังเสียงจากคนรอบข้างและนำเอาเสียงเหล่านั้นมาประเมินว่าเป็นเสียงของตัวเอง ตอนเรียนวิชา D. Leadership ที่ Stanford d.school มีคาบเรียนหนึ่งให้ทำกิจกรรมค้นหาตัวเอง อาจารย์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ต้องสนใจสามสิ่งต่อไปนี้ (1) รายได้ (2) ความสามารถที่ต้องใช้ และ (3) เสียงของคนรอบข้าง เราอยากทำงานอะไรมากที่สุด? การตั้งคำถามเช่นนี้เป็นการทลายกรอบที่เราสร้างขึ้นมาจากบริบทของสิ่งแวดล้อมและค่านิยมในสังคมที่บดบังความต้องการลึกๆ ของเรา

สิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งคือ จงหมั่นแบ่งเวลามาตั้งคำถามกับตัวเองอย่างเปิดใจ

 

  • ตั้งคำถามว่า เราจะ … ได้อย่างไร?”: หลายคนอยากทำงานที่ตัวเองสนใจ แต่จมอยู่กับปัญหาว่างานที่น่าสนใจอาจไม่ใช่งานที่ทำรายได้ดีและเกื้อหนุนครอบครัวได้เสมอไป แต่แม้ว่าจะมีงานประจำก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถ “ผจญภัย” ได้ การจัดสรรเวลาให้เราสามารถทำงานประจำควบคู่ไปกับงานอดิเรกในด้านที่ตัวเองสนใจ แม้จะเป็นงานเล็กๆ ที่ใช้เวลาไม่มาก ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ค้นพบความสนใจใหม่ๆ และได้คบเพื่อนนอกสังคมที่ทำงานของเราเอง อุปสรรคที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้คือกำแพงที่สร้างขึ้นจากมุมมองที่คิดว่าเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ทุกคนลองเปลี่ยนความท้าทายนั้นเป็น “คำถาม” ว่า “เราจะออกแบบชีวิตการทำงานให้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของรายได้และเรื่องของความสุขได้อย่างไร?”  

คำถามนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คงไม่ยากเกินไป หากเรามีทัศนคติที่เชื่อว่าเราสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ และ “ลงมือ” ทำตามแผนที่ออกแบบไว้อย่างมีวินัย

 

  • ใส่ ความกล้า”: เรามักมองความสำเร็จของการทำงานเป็นสิ่งที่กำหนด “ชะตาชีวิต” การเลือกงานที่ไม่ชอบเป็นความผิดพลาด การทำธุรกิจแล้วเจ๊งเป็นเรื่องน่าอาย มุมมองเช่นนี้ทำให้เราไม่กล้าลองและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลย หากเปลี่ยนมุมมองว่าโลกของการทำงานคือมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ เราจะเห็นว่าการทำงานและการลองทำงานใหม่ๆ คือการเรียนรู้ ยิ่งได้ลองลงมือทำงานก็จะยิ่งมีข้อมูลที่ชัดเจนว่างานนั้นๆ เหมาะกับเราหรือไม่ บรรดาคนมีชื่อเสียงมากมายที่ประสบความสำเร็จในอาชีพของตัวเอง ล้วนเคยผ่านการ “ลอง” อาชีพต่างๆ มาก่อน นักแสดงชื่อดังอย่างแฮร์ริสัน ฟอร์ด เคยเอาดีจากอาชีพช่างไม้ อัลเบิร์ต อาร์โนลด์ หรือ “อัล” กอร์ เป็นทั้งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้เขียนผลงานคุณภาพที่ได้รับรางวัล Grammy Award เรื่อง An Inconvenient Truth

แม้สุดท้ายเราจะต้องเปลี่ยนงาน หรือแม้ว่ารอยต่อของแต่ละอาชีพที่เราเลือกอาจจะไม่ได้เชื่อมกันพอดี แต่สิ่งที่ ต่อยอด” กันได้ลงตัวคือทักษะ (transferable skills) และมุมมองจากแต่ละงานที่ช่วยให้เราเป็นคน “กว้าง” ขึ้น

 

  • เลือกสิ่งที่ ใช่” และไม่ “สะเปะสะปะ”: การทำงานหรือลองงานใหม่ๆ เป็นการ “ต่อยอด” การเรียนรู้ ที่ควรมุ่งมั่นตั้งใจและลงมือทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย นอกจากจะลองทำงานมากมายแล้ว เราต้องมั่นใจด้วยว่าเราได้พัฒนาตัวเอง สร้างความเชี่ยวชาญใหม่ๆ (expertise) และได้ผลงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ผู้เขียนมองว่าการทำงานที่หลากหลายโดยมีการวางแผนที่ดีว่าเราจะได้ประสบการณ์อะไรและได้พัฒนาอะไร เป็น “การเพิ่มคุณค่า” ให้กับตัวเอง และหากจะทำแบบนั้นได้ จำเป็นต้องเริ่มจากการทำงานที่สนุก งานที่ทำแล้วมี “พลัง” เท่านั้นที่จะสร้าง commitment ของเราในระยะยาว

จำไว้ว่า อย่าทำงานเพียงเพื่อต้องการเพิ่มอีกหนึ่งบรรทัดสวยๆ ใน Resume ของคุณ

 

ในเมื่อแม้แต่คนที่ทำงานมานานหลายปีแล้วยัง “หาตัวเอง” ไม่เจอ คงไม่น่าแปลกใจที่น้องสาววัยมัธยมจะ “ไม่รู้” ว่าตัวเองอยากทำงานอะไร

มีคนเคยบอกว่า Life is an Endless Process of Self-Discovery (ชีวิตคือการค้นหาตัวตนอย่างไร้ที่สิ้นสุด)

หรือจริงๆ แล้ว เรา ไม่จำเป็น” ต้องหาตัวเองให้เจอ?

หากเพียงต้องคอยตื่นตัวที่จะหางานหรือประสบการณ์แปลกใหม่ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

 

เผยแพร่ครั้งแรก: หน้า HR & Management | หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ | วันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2558

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:

เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล จบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นนักเรียนนำสอนกระบวนการ Design Thinking (D.Leader) ที่ Stanford d.school และเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่แนะนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาสู่เมืองไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้แปลหนังสือ Designing Your Life: คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking

 

 

 

 

 

 

 

 

Designing Your Life

คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking

ผู้เขียน : Bill Burnett และ Dave Evans

ผู้แปล : เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2561

ราคา : 295 บาท