อภิรดา มีเดช เรื่อง
ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (adverse childhood experience – ACE) คือหนึ่งในภัยเงียบสำคัญที่อยู่เบื้องหลังอาการต่างๆ ที่รบกวนพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่อาการสมาธิสั้น ฮอร์โมนปั่นป่วน ภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ไปจนถึงตัวเร่งความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจ หรือมะเร็งในวัยผู้ใหญ่
นาดีน เบิร์ก แฮร์ริส กุมารแพทย์และผู้ก่อตั้งศูนย์สุขภาพเยาวชน (Center for Youth Wellness) ประมวลผลงานวิจัย ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เพื่อปรับใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่ศูนย์สุขภาพเยาวชนให้คำปรึกษาและคอยดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยประสบการณ์ตรงเหล่านี้พัฒนาจนกลายเป็นแผนการตรวจคัดกรองประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก และกลายเป็นแบบคัดกรองมาตรฐานควบคู่ไปกับการตรวจร่างกายผู้ป่วยตามปกติที่กุมารแพทย์ใช้กันในสหรัฐอเมริกา
หมายเหตุ: เรื่องราวความเจ็บป่วยเป็นข้อมูลจริง มีการเปลี่ยนชื่อและข้อมูลระบุตัวตนของบุคคลในบางกรณีเพื่อรักษาความลับ
1. “ดีเอโก” เด็ก 7 ขวบที่มีพัฒนาการเท่าเด็ก 4 ขวบ
เมื่อผู้เป็นแม่พาดีเอโก ลูกชายวัย 7 ขวบมาพบแพทย์ เขามีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้และสงสัยว่าอาจเป็นโรคสมาธิสั้นหรือเอดีเอชดี (attention deficit hyperactivity disorder – ADHD) แพทย์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าดีเอโกมีประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่ออายุ 4 ขวบ และเขาหยุดเจริญเติบโตนับแต่นั้น
ผลการวินิจฉัยเบื้องต้นของเขาอาจสอดคล้องกับโรคหืด โรคผิวหนัง อักเสบออกผื่น และภาวะเจริญเติบโตช้า
– ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการไม่แสดงภาวะขาดสมดุลฮอร์โมน
– ไม่พบภาวะขาดสารอาหาร
– การศึกษาอายุกระดูก มีอายุกระดูกเทียบเท่ากับเด็ก 4 ขวบ
นอกเหนือจากทารุณกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับดีเอโกแล้ว แพทย์วินิจฉัยว่าดีเอโกประสบกับการตอบสนองต่อความเครียดที่เป็นพิษ เนื่องจากเขาและครอบครัวต้องผจญกับความยากลำบากอื่นๆ ซึ่งทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดเช่นกัน
พ่อของดีเอโกมีปัญหาติดสุราและแม่ของเขามีภาวะซึมเศร้า ทั้งพ่อและแม่ไม่สามารถเป็นตัวลดแรงกระแทกจากความเครียดให้เขาได้อย่างเพียงพอ ทีมแพทย์เห็นว่า การรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับดีเอโกคือ “การบำบัดด้วยการพูดคุย”
การรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับดีเอโกคือ “การบำบัดด้วยการพูดคุย”
ดีเอโกและแม่จึงได้รับคำแนะนำให้เข้าพูดคุยกับนักบำบัดที่มีประสบการณ์ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมแบบมุ่งเน้นบาดแผลทางใจ หรือทีเอฟ-ซีบีที (trauma-focused cognitive behavioral therapy – TF-CBT) นี่เป็นแนวทางการบำบัดซึ่งออกแบบมาเพื่อแก้ไขผลกระทบจากบาดแผลทางใจที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก โดยดำเนินการกับทั้งผู้ปกครองและตัวเด็ก
แม่ของดีเอโกยังเข้ารับการบำบัดอยู่เรื่อยๆ ขณะที่ดีเอโก แม้การบำบัดจะช่วยคลี่คลายปัญหาช่วงวัยเด็กส่วนใหญ่ของเขาไปได้ ทว่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขาห่างหายจากการบำบัดไปเพราะประสบเหตุการณ์พลิกชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอสำหรับเด็กหนุ่มในย่านเปราะบางที่มีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างเบย์วิวฮันเตอร์สพอยต์
2. “ทรินิตี” เด็ก 11 ปีกับภาวะเครียดเป็นพิษ
ทรินิตีเป็นเด็กหญิงรูปร่างผอมบาง อาศัยอยู่กับป้า แม่มาเยี่ยมนานๆ ครั้งและมักพาทรินิตีไปช็อปปิ้ง แต่คือการใช้ลูกสาวเป็นตัวล่อขณะแอบขโมยของ กระทั่งป้าพบว่าลูกสาวเลียนแบบพฤติกรรมจนไม่อนุญาตให้แม่มาเยี่ยมอีก
นอกจากประเด็นเรื่องการเรียนรู้ เธอยังมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ด้วย เธอจะใช้อารมณ์และมีเรื่องกับเด็กที่นั่งข้างๆ แถมนั่งนิ่งๆ ได้ไม่เกินห้านาที บางครั้งเธอถึงกับวิ่งออกจากห้องเรียนเลยด้วย
ปกติแล้วถ้าผู้ป่วยมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กอย่างน้อยสี่ประเภท ก็มีแนวโน้มประสบปัญหาด้านการเรียนรู้หรือพฤติกรรมสูงขึ้น 32 เท่า ขณะที่ทรินิตีมีคะแนนประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กหกคะแนน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่แฝงอยู่อาจไม่ใช่โรคสมาธิสั้นธรรมดาๆ
แพทย์เชื่อว่าปัญหาคือการทำงานผิดปกติที่เรื้อรังของระบบการตอบสนองต่อความเครียด ทำให้ตัวควบคุมอุณหภูมิความเครียดลัดวงจร พูดอีกอย่างก็คือภาวะความเครียดเป็นพิษนั่นเอง
ทรินิตีมีผลตรวจอื่นๆ ค่อนข้างปกติ ยกเว้นเส้นผมที่แตกปลาย ซึ่งเป็นปกติของเด็กสาวแอฟริกันอเมริกัน ทว่าความผิดปกติที่แพทย์พบก็คือหัวใจของเด็กสาวเต้นดังและแรงกว่าปกติ จึงส่งเธอไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ผลตรวจยืนยันว่าหัวใจเธอมีความผิดปกติ โดยระบุว่า หัวใจเธอเต้นเร็วกว่าและกล้ามเนื้อทำงานหนักกว่าปกติ แพทย์โรคหัวใจเขียนหมายเหตุกำกับไว้ด้วยว่าอาจเป็นโรคเกรฟส์ ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ถูกกระตุ้นมากเกินไป
ในกรณีของโรคเกรฟส์ ผู้ป่วยจะมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) หมายถึงต่อมไทรอยด์ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป นั่นทำให้ผู้ป่วยโรคเกรฟส์มักอยู่ไม่นิ่งและดูจะเพิ่มน้ำหนักอย่างต่อเนื่องไม่ได้
นักวิทยาต่อมไร้ท่อยืนยันว่าทรินิตีเป็นโรคเกรฟส์จริง เธอจึงได้รับการรักษาด้วยยา ปัญหาด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ของเธอก็บรรเทาลงมาก จากนั้นแพทย์ได้กำหนดการรักษาด้วยครอบครัวบำบัด (family therapy) เพื่อแก้ไขเรื่องราวที่สองที่อาการของเธอบ่งชี้ นั่นคือภาวะความเครียดเป็นพิษซึ่งแฝงอยู่เบื้องหลัง
การทำงานผิดปกติที่เรื้อรังของระบบการตอบสนองต่อความเครียด ทำให้ตัวควบคุมอุณหภูมิความเครียดลัดวงจร พูดอีกอย่างก็คือภาวะความเครียดเป็นพิษนั่นเอง
เป้าหมายของครอบครัวบำบัดคือ เพื่อให้เธอและป้ามีเครื่องมือป้องกันสถานการณ์น่าสะพรึงกลัวหรือตึงเครียด และจัดการรับมือสถานการณ์เหล่านั้นได้ดีขึ้น
แพทย์ตัดสินใจไม่ใช้ยาในการรักษาภาวะความเครียดเป็นพิษของทรินิตี ในเวลานั้นยังไม่มีชุดเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจนหรือการตรวจเลือดเพื่อหาคำตอบว่า ผู้ป่วยมีภาวะความเครียดเป็นพิษหรือไม่ และยังไม่มีจนถึงทุกวันนี้
แนวทางสำคัญที่สุดของแพทย์ในการวิเคราะห์ว่าอาการใดอาจเกี่ยวข้องกับภาวะความเครียดเป็นพิษคืองานศึกษาประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กนั่นเอง
3. “ชาร์ลีนและเนีย” ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและภาวะเจริญเติบโตช้า
เนียเป็นทารกหญิงวัย 5 เดือนที่คลอดก่อนกำหนด หลังจากพักอยู่ในโรงพยาบาลหลายสัปดาห์ เนียมีพัฒนาการในทางที่ดีและได้ออกจากโรงพยาบาลเช่นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง
แต่หลายสัปดาห์ต่อจากนั้นขณะพักอยู่บ้าน เธอกลับประสบปัญหาการเพิ่มน้ำหนักตัวจนต้องกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง
ส่วนชาร์ลีน แม่วัยต้น 20 ที่อาศัยอยู่กับป้าเนื่องจากแม่เสียชีวิต มักฉุนเฉียวและควบคุมตัวเองไม่อยู่ทันทีที่ลูกสาวร้องไห้หรือโยเย เธอจะสั่งให้ลูกเงียบหรือเลิกสนใจลูกโดยสิ้นเชิง เห็นได้ชัดว่า เธอมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่ไม่ว่าแพทย์เกลี้ยกล่อมเพียงใด ชาร์ลีนก็ไม่ยอมเข้ารับการช่วยเหลือ
หลังเนียออกจากโรงพยาบาลครั้งที่สอง เธอมีภาวะเจริญเติบโตช้าเมื่ออยู่บ้านเช่นเคย ทำให้แพทย์จำเป็นต้องส่งรายงานไปยังศูนย์คุ้มครองเด็ก (Child Protective Services – CPS)
แพทย์ไม่รู้แน่ชัดว่าชาร์ลีนปล่อยปละละเลยลูกอย่างเปิดเผย ไม่ป้อนอาหาร หรือทำร้ายลูก แต่รู้ว่าเนียมีน้ำหนักต่ำกว่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 3 อยู่มาก (หากเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน 100 คน มีเด็กที่น้ำหนักมากกว่าเนียอย่างน้อย 97 คน) แม้จะคำนึงถึงเรื่องที่เธอคลอดก่อนกำหนดแล้วก็ตาม
เรารู้ว่าทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะถูกปล่อยปละละเลยเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับที่ไม่สม่ำเสมอหรือต้องป้อนอาหารถี่กว่า และความต้องการเหล่านั้นก็ส่งผลให้พ่อหรือแม่มือใหม่ผู้อ่อนล้ามีความเครียดสูงเกินไป
หากผู้ปกครองไม่ให้ความใกล้ชิดแก่ทารกอย่างเพียงพอ ก็อาจเกิดความเสียหายด้านฮอร์โมนและทางระบบประสาท ซึ่งอาจขัดขวางการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติของเด็กได้ เมื่อขาดการดูแลเอาใจใส่ ทารกจะเจริญเติบโตได้ไม่ดีแม้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอก็ตาม
ปัญหาของเนียคือ การไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอหรือการที่ชาร์ลีนประสบภาวะซึมเศร้าเสียจนไม่คอยเล่นยั่วเย้าเนียกันแน่ ความจริงอาจเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง
ในวัยเพียงห้าเดือน เมื่อมีแม่ที่มีภาวะซึมเศร้า และพ่อที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลี้ยงดู เนียก็มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กสองประเภทแล้ว แพทย์ยังสงสัยว่าชาร์ลีนก็อาจมีคะแนนประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กเช่นกัน สำหรับครอบครัวจำนวนมาก ดูเหมือนภาวะความเครียดเป็นพิษจะถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกอย่างคงเส้นคงวายิ่งกว่าโรคทางพันธุกรรมใดๆ
สำหรับครอบครัวจำนวนมาก ดูเหมือนภาวะความเครียดเป็นพิษจะถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกอย่างคงเส้นคงวายิ่งกว่าโรคทางพันธุกรรมใดๆ
ชาร์ลีนและเนียได้รับคำแนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาแนวทางจิตบำบัดสำหรับเด็กและพ่อแม่ (child-parent psychotherapy – CPP) ช่วงแรก ดร.ทอดด์ เรนช์เลอร์ (Todd Renschler) ต้องใช้เวลาสร้างความไว้ใจ และยังให้อำนาจชาร์ลีนกำหนดทิศทางการบำบัดแต่ละครั้ง
เขาเริ่มต้นจัดการสิ่งที่ชาร์ลีนบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด นั่นคือการอดนอนอย่างหนัก เมื่อปรับกิจวัตรและสภาพแวดล้อม หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นร่างกายก่อนนอนไม่นาน ทั้งแม่และลูกน้อยก็เริ่มนอนหลับได้อย่างที่ต้องการ
4. “คาร์ล” ภาวะสมาธิสั้นและประสบการณ์เลวร้ายวัยเด็กที่เกิดขึ้นได้กับ ทุกคน
แคโรไลน์เป็นหญิงสาวในวัย 20 กว่าๆ ผู้ประสบความสำเร็จด้านอาชีพ เธอทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์และเป็นเจ้าของบริษัทที่ไปได้สวย อีกทั้งกำลังเริ่มต้นชีวิตครอบครัวกับนิก ชายหนุ่มที่เธอประทับใจความคิดทางการเมืองและมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ของเขา
ทว่าหลังจากแต่งงานได้ไม่กี่ปี แคโรไลน์กลับรู้สึกว่าบางอย่างผิดปกติ และยิ่งรู้สึกมากขึ้นเมื่อพบว่าตนตั้งครรภ์ นิกดื่มหนักขึ้นมากหลังจากเธอคลอดลูกชาย ไม่นานเขาก็มีปัญหาในที่ทำงานและถูกไล่ออกครั้งแล้วครั้งเล่า
ผ่านไปหลายเดือน แคโรไลน์รู้สึกว่าเธอต้องใช้เวลาคิดหาทางไม่ให้มีปากเสียงกับนิก เพราะทุกอย่างทำให้เขาหัวเสียได้ เขาไม่ช่วยดูแลคาร์ลเลย ดังนั้นเมื่อแคโรไลน์กลับไปทำงาน จึงจำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็กแบบเต็มเวลาหนึ่งคน
ค่ำวันหนึ่งเมื่อคาร์ลอายุได้หกเดือน แคโรไลน์ทะเลาะกับนิกในครัวแล้วจู่ๆ เขาก็ระเบิดอารมณ์ด้วยการตะโกนสุดเสียงพร้อมกับทุบประตูตู้ไปด้วย แคโรไลน์ตกตะลึง คาร์ลที่นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารใบหน้ากลายเป็นสีแดงและแผดเสียงร้องไห้จ้าจนเหนื่อยหอบ ดีที่พี่เลี้ยงโฉบมาอุ้มเขาแล้วพาไปอีกห้อง
หลังจากคาร์ลอายุครบสามขวบได้ไม่นาน ครอบครัวก็ย้ายจากใจกลางเมืองไปอยู่บ้านใหม่ พี่เลี้ยงเด็กซึ่งดูแลคาร์ลมาตั้งแต่เกิดย้ายมาด้วยไม่ได้ ก่อนหน้านั้นคาร์ลเป็นเด็กมั่นใจและมีความสุข ทว่าหลังจากย้ายบ้าน แคโรไลน์สังเกตเห็นว่าคาร์ลเริ่มเก็บตัวและขี้อาย ทั้งยังป่วยบ่อยขึ้นด้วย
ไม่นานพวกเธอก็ได้รับโทรศัพท์จากโรงเรียนเตรียมอนุบาลของคาร์ล ครูแจ้งว่าเขาเริ่มทุบตีเด็กคนอื่นๆ ในชั้นเรียน พอเขาอายุได้สี่ขวบ ทางโรงเรียนก็ยืนยันว่าแคโรไลน์กับนิกต้องพาคาร์ลไปประเมินโรคสมาธิสั้น
แพทย์วินิจฉัยว่าคาร์ลมีบาดแผลทางใจ และแนะนำว่าเขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบกว่านี้ ตึงเครียดน้อยกว่านี้ เพราะมีส่วนให้เขาเป็นโรคสมาธิสั้น
นั่นทำให้คาร์ลต้องเริ่มกินยา และปรับเปลี่ยนยาอีกหลายชนิด ซึ่งมีส่วนให้เขาสงบลงได้จริง แต่เธอกลัวว่าเขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
เมื่อแคโรไลน์เริ่มมีอาการตื่นตระหนกกลางดึก เธอเริ่มสงสัยว่าบางทีเธออาจเป็นตัวปัญหาเสียเอง เธอจึงตัดสินใจเข้ารับการบำบัดเพื่อหาทางออก แพทย์สั่งให้ออกกำลังกายและใช้เวลาตามลำพัง แต่เวลาส่วนตัวของเธอทำให้นิกไม่พอใจ
ไม่ว่าเธอจะพูดหรือทำอย่างไรก็เปลี่ยนพฤติกรรมของนิกไม่ได้ เธอรู้ว่าความโกรธเกรี้ยวของเขาส่งผลร้ายต่อคาร์ลอย่างใหญ่หลวง แต่เธอบอกตัวเองว่า ไม่ว่าอย่างไรนิกก็ไม่เคยทุบตีคาร์ลหรือเธอ
นั่นเพราะเธอยังไม่ทราบว่า การทารุณกรรมทางวาจาและทางอารมณ์ส่งผลร้ายต่อเด็กพอๆ กัน และในบางแง่มุมก็เลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ
ในที่สุด จุดสิ้นสุดของความอดทนก็มาถึง แคโรไลน์พาคาร์ลแยกมาอยู่อีกที่ แรกทีเดียว เมื่อคาร์ลหยุดรักษาด้วยยา พฤติกรรมที่เป็นปัญหาบางอย่างของเขาก็กลับมาอีก เขามีปฏิกิริยาโต้ตอบสูงและหงุดหงิดง่าย
การทารุณกรรมทางวาจาและทางอารมณ์ส่งผลร้ายต่อเด็กพอๆ กัน และในบางแง่มุมก็เลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ
คาร์ลพลาดการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานต่างๆ ไปบ้างเพราะฤทธิ์ยา หลังจากนั้น เมื่อพฤติกรรมดังกล่าวของคาร์ลกลับมาปรากฏอีกครั้ง แคโรไลน์ ครู และนักบำบัดก็ร่วมมือกันจัดการได้สำเร็จ
อ่านรายละเอียดการวินิจฉัย การบำบัดรักษา และแนวทางป้องกันประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กเพิ่มเติมได้ในหนังสือ
ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษ และแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์
The Deepest Well: Healing the Long-Term Effects of Childhood Adversity
Nadine Burke Harris, M.D. เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล