Phenomenal Learning from Finland – สมรรถนะที่ 2 สมรรถนะทางวัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ และการแสดงตัวตน

เรื่อง : นันท์ชนก คามชิตานนท์

 

[su_note note_color=”#f7d843″]เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมความท้าทายใหม่ๆ ฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆ ที่โดดเด่นเรื่องการศึกษา ขานรับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยแนวคิดด้านการศึกษาที่ร้อยเรียงมาเป็นหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่

หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นทักษะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลและควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเอาตัวรอดและสร้างคุณค่าในตัวเองได้ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนเรามากขึ้นทุกที

สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมทักษะความเป็นมนุษย์ของเยาวชนแห่งอนาคต

สมรรถนะที่ 2 คือสมรรถนะทางวัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ และการแสดงตัวตน มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะทางสังคมและอารมณ์ อันเป็นทักษะความเป็นมนุษย์ที่จะผลักดันให้พวกเขาประสบความสำเร็จในโลกที่ถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยี[/su_note]

 

ศตวรรษที่ 21 เปิดทางให้ระบบอัตโนมัติ โลกาภิวัตน์ วิทยาการหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (หรือปัญญาเสริม) ดาหน้าเข้ายึดครองทุกฐานทัพของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน การเล่าเรียน หรือการทำงาน มนุษย์ผู้สูญเสียเอกราชจำต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงนานัปการ

อาชีพการงานและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และจะยิ่งเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต อาชีพบางอย่างอาจคงอยู่ ในขณะที่อีกหลายอาชีพอาจเลือนหายไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์ในการทำงาน คำถามคือมนุษย์เราจะต่อกรกับสมองกลแสนชาญฉลาดเหล่านี้ได้อย่างไร

ส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ในชีวิตการทำงานของคนเรามักเป็นงานประเภททำซ้ำๆ หรืองานรูทีน (routine) แน่นอนว่ามนุษย์ผู้มิอาจหลีกเลี่ยงความผิดพลาดย่อมไม่อาจทำงานที่อาศัยความแม่นยำและทักษะสู้จักรกลหรือหุ่นยนต์ได้ โจทย์ใหญ่ที่สุดในการทำงานของเราจึงไม่ใช่ทักษะการทำงานประเภทรูทีนอีกต่อไป แต่เป็นทักษะอันเติบโตเบ่งบานมาจากความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์หรือการทำงานเป็นทีม รวมถึงทักษะทางสังคมและอารมณ์ด้วย

เมื่อเยาวชนต้องการทักษะใหม่ๆ เพื่อเอาตัวรอดและก้าวหน้าในชีวิตการทำงานในอนาคต การศึกษาต้องตอบรับด้วยแนวคิดการเรียนรู้แบบใหม่เช่นกัน หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นสอนการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ให้แก่นักเรียน เพื่อให้พวกเขาคงคุณค่าและความสามารถในการทำงานไว้ได้ แม้เมื่อถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยี

ทักษะทางสังคมหาใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่สอนและเรียนรู้ได้เหมือนเช่นทักษะอื่นๆ แม้แต่คนขี้อายหรือคนชอบเก็บตัวก็เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างราบรื่นในวงสังคมคนแปลกหน้าได้ สำคัญที่เยาวชนจะต้องได้รับโอกาสในการทำความเข้าใจและฝึกฝน เพื่อลับคมอาวุธอันทรงพลังในโลกอนาคตนี้

 

สาระสำคัญที่ 1 : การเผชิญหน้าทางวัฒนธรรม

การอพยพย้ายถิ่นฐาน รวมถึงเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ทำให้เกิดการถ่ายเทวัฒนธรรมไปทั่วโลก เราจึงจำเป็นต้องมีทักษะทางสังคมและอารมณ์แบบข้ามวัฒนธรรมเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากหน้าหลายตารอบตัวอย่างมีประสิทธิภาพและเปี่ยมความหมาย แนวคิดพหุวัฒนธรรม (multiculturalism) อันหมายถึงการเคารพกันและตระหนักถึงวัฒนธรรมของอีกฝ่ายนั้นอาจไม่เพียงพอแล้ว เราจำต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยแนวคิดข้ามวัฒนธรรม (interculturalism) หรือการมองโลกจากมุมมองของอีกฝ่าย แล้วสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่มีจุดร่วม

นักเรียนจะใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางสังคม และใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนทางวัฒนธรรมได้ เมื่อเข้าใจว่าภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างไร และยังต้องมีทักษะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและอารมณ์ขั้นสูง พวกเขาจะทำได้เมื่อเริ่มทำความรู้จักรากเหง้าของตนเอง รู้จักสร้างสรรค์ตัวตนทางวัฒนธรรม และเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าความหลากหลายและการแสดงตัวตนในสังคม

ครูผู้สอนสามารถใช้กลวิธีมากมายเพื่อปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักแสดงตัวตน เข้าร่วม รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและวัฒนธรรมอื่นอย่างเคารพและมีมารยาท โดยรู้จักประนีประนอมทางวัฒนธรรม อดทน และเปิดรับความหลากหลาย นักเรียนจะได้เรียนรู้ความหมายของการเป็นพลเมืองโลกที่มีวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลาย และย่อมมีสารพันปัญหาให้เราต้องหาทางรับมือ

  • ขยายสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ อาจมีการเยี่ยมชมกิจกรรมและสถานที่ทางวัฒนธรรมบ้าง
  • ใช้การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เช่น การแสดงละครหรือบทบาทสมมติ โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน
  • จัดให้มีการเผชิญวัฒนธรรมอื่นด้วยกิจกรรมเสมือนจริง เช่น Skype Translator ซึ่งเป็นตัวช่วยให้นักเรียนข้ามผ่านกำแพงภาษาได้ด้วย เด็กๆ จะมีโอกาสพูดกับผู้ใช้ภาษาอื่นได้โดยไม่ต้องเรียนรู้ภาษานั้นๆ ก่อน
  • จัดกิจกรรมในชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับพื้นเพทางวัฒนธรรมของตนเอง มรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ปรัชญาการดำรงชีวิต เป้าหมายคือให้นักเรียนได้เรียนรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน
  • บรรจุประสบการณ์เชิงวัฒนธรรมไว้ในหลักสูตรการศึกษารายวิชา เช่น ชั้นเรียนภาษาไม่ได้สอนเพียงแค่ภาษา แต่สอนด้านวัฒนธรรมด้วย หรือชั้นเรียนภาษาฝรั่งเศสสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมฝรั่งเศส รวมถึงวัฒนธรรมของคนแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสและคนโกตดิวัวร์ที่พูดภาษาฝรั่งเศส
  • ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเขียนโค้ด และวิทยาการหุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการสื่อสารประเภทใหม่ๆ

 

สาระสำคัญที่ 2 : ทักษะด้านอารมณ์

การเรียนรู้ของนักเรียนเกิดจากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ คุณครู ตลอดจนกลุ่มก้อนหรือองค์กรต่างๆ ภายในโรงเรียน เด็กๆ ต้องได้คิด วางแผน เรียนรู้ สำรวจ ทั้งแบบคนเดียว ช่วยเหลือกัน หรือเป็นกลุ่ม รวมถึงต้องมีการประเมินทั้งกระบวนการและผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนรู้อย่างหลากหลายและซับซ้อน เพื่อตอบรับการเรียนรู้ที่มีมิติลึกซึ้งยิ่งขึ้น

การเรียนรู้ทักษะด้านอารมณ์ยังกินความไปถึงสังคมนอกโรงเรียน เด็กทุกคนในโรงเรียนฟินแลนด์ได้เรียนรู้ว่าการกระทำของตนนั้นสร้างผลลัพธ์อย่างไรต่อทั้งตนเองและสังคมรอบข้าง ในด้านสวัสดิภาพ สุขภาพ และความมั่นคง อีกทั้งยังเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองและคนอื่นๆ รวมทั้งฝึกฝนทักษะจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและความหมาย และพัฒนาสุขภาวะของสังคม การได้ฝึกฝนทักษะทางสังคมและอารมณ์ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจความสำคัญของความสัมพันธ์และชุมชนที่เอื้ออาทรต่อกัน

ทักษะด้านอารมณ์ที่สำคัญซึ่งนักเรียนควรได้เรียนรู้ในโรงเรียนมีดังนี้

การตระหนักรู้ในตนเอง

นักเรียนจะต้องฝึกสังเกตและเรียกขานอารมณ์ต่างๆ ตั้งแต่เยาว์วัย และตระหนักคุณค่า จุดแข็ง และจุดอ่อนของตนเอง เราต้องเข้าใจค่านิยม ความคิด ความหวัง และอารมณ์ความรู้สึกระหว่างปฏิสัมพันธ์และสถานการณ์ต่างๆ ของตนเองเสียก่อน เราจึงจะสามารถแยกแยะได้ว่า บางครั้งความคิด เป้าหมาย และอารมณ์ความรู้สึกของตัวเราก็ต่างจากของบุคคลอื่น

การตระหนักรู้ในตนเองยังทำให้เรามองสิ่งต่างๆ แบบอัตวิสัยได้ และช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เพราะเข้าใจกลไกเบื้องหลังการตัดสินใจนั้นๆ

บางครั้งเราก็ตระหนักถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของตนเองได้ยาก เราอาจไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกอย่างไรดีกับเรื่องบางอย่าง ความคิดเราอาจฟุ้งซ่าน หัวหมุน โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความคิดดั้งเดิมของเรา ในกรณีเช่นนี้ เราควรตั้งคำถามกับตัวเองตนเองก่อนจึงจะแสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างชัดเจน เช่น “ตอนนี้ฉันกำลังมีอารมณ์ประเภทไหนอยู่นะ” “สิ่งใดที่ขัดแย้งกันอยู่” “มีอะไรคุกคามฉันอยู่ไหม” “กรณีที่ดีที่สุดที่จะเกิดตามมาได้คืออะไร” “มีเหตุผลแท้จริงที่ทำให้เรารู้สึกถูกคุกคามอยู่ไหม” “ค่านิยมและความจำเป็นอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับความคิดเหล่านี้” คำถามจำพวกนี้ช่วยให้เราตระหนักถึงอารมณ์ความคิดของตนได้ดียิ่งขึ้น

นักเรียนควรได้เรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ระมัดระวังการแสดงพฤติกรรม เพื่อให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

การจัดการตนเอง

การจัดการตนเองคือการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ รวมทั้งควบคุมตนเองให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ บางครั้งเด็กๆ อาจตัดสินใจได้ยากว่าจะออกไปสังสรรค์กับเพื่อนหรือนั่งเรียนดี หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็จัดการระหว่างความจำเป็นกับความปรารถนาได้ยากเช่นกัน

นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะบังคับให้ตัวเองไม่ให้วอกแวกไปกับสิ่งกระตุ้น ซึ่งทำได้ยากขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทรกแซง เด็กๆ มีโทรศัพท์มือถือซึ่งแจ้งเตือนและเรียนร้องความสนใจของพวกเขาตลอดเวลา และการปิดการแจ้งเตือนหรือวางโทรศัพท์มือถือลงก็อาจเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องใช้โทรศัพท์ค้นหาข้อมูลด้วย เด็กๆ ต้องตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ควรเปิดโทรศัพท์มือถือให้คนอื่นติดต่อได้ทุกเมื่อ หรือเมื่อไหร่เราควรปิดโทรศัพท์เพื่อทำเรื่องจำเป็น

การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับเด็กๆ เมื่อเกิดการโต้แย้งดุเดือดเข้มข้น หากผู้ร่วมแสดงความเห็นมีทักษะการจัดการตนเองไม่ดีพอ สถานการณ์ก็อาจเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว เด็กๆ ควรรู้จักหาคำพูดที่เหมาะสมซึ่งช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การร่วมกันหาทางออก

เด็กๆ เรียนรู้การจัดการตนเองได้ในโรงเรียนผ่านการพูดคุยเรื่องอารมณ์ประเภทต่างๆ รวมทั้งขอบเขตและระดับของอารมณ์เหล่านั้น ครูอาจให้นักเรียนซักซ้อมเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ว่าพวกเขาจะแสดงอารมณ์เหล่านี้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง

เพื่อให้เด็กๆ รับมือกับอารมณ์และความคิดทั้งเชิงบวกและลบได้ เมื่ออยู่ในห้องเรียนหรือระหว่างสถานการณ์สมมติ ครูควรยอมรับการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ว่าอารมณ์ทุกแบบเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ใช่ว่าจะแสดงออกได้ทุกรูปแบบ สถานที่ หรือเวลา นอกจากนั้น เด็กๆ ยังต้องเรียนรู้ว่าควรประพฤติตนในแต่ละสถานการณ์แตกต่างกัน เช่น บางอย่างควรทำที่บ้านหรือในงานสังสรรค์ส่วนตัว แต่ไม่ควรทำที่โรงเรียน

การตระหนักรู้ทางสังคม

การตระหนักรู้ทางสังคมคือการเห็นคุณค่าของการสร้างและทะนุบำรุงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนที่ตระหนักรู้ทางสังคมจะเข้าใจความสำคัญและคุณค่าของการมีคนรับฟังและได้ยินเสียงของเรา เราจะสนใจว่าผู้อื่นคิด รู้สึก หรือผ่านประสบการณ์อะไรและอย่างไรมา ทำให้มองเห็นช่องทางเกื้อหนุนบุคคลอื่นยามทุกข์ยาก และร่วมสัมผัสความรู้สึกยินดีปรีดาไปกับพวกเขาด้วยเช่นกัน

การตระหนักรู้ทางสังคมต้องเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดี การรับฟังอาจจะเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็เป็นทักษะสังคมที่สำคัญยิ่ง คนเรามักหลงลืมที่จะรับฟังเวลาอยู่ท่ามกลางการปะทะอารมณ์อย่างดุเดือด หรืออาจผลีผลามรีบให้คำแนะนำผู้อื่นเร็วเกินไป การให้พื้นที่แก่บุคคลอื่นแสดงความคิดโดยไม่ขัดจังหวะนับเป็นการให้เกียรติ เมื่อคนเราพูดแล้วมีผู้รับฟัง เราจะรู้สึกว่ามีคนให้ความสำคัญและเห็นคุณค่า

การตั้งใจฟังจะช่วยให้เราทำความรู้จักกับความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมด้วยท่าทีที่สนใจใคร่รู้ทว่าสุภาพ การฟังเชิงรุก (active listening) คือทักษะการฟังโดยสะท้อนความคิดของผู้พูดกลับไป ซึ่งเป็นประโยชน์มากเพราะเอื้อให้ผู้พูด

ได้อธิบายความคิดของตัวเอง เช่น “คุณคิดว่าผู้ปกครองชาวฟินแลนด์ให้อิสระกับเด็กมากเกินไป เล่าให้ฟังเพิ่มเติมหน่อยได้ไหมว่าคุณมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้” ประโยคแนวนี้แสดงให้เห็นว่าเรารับฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดและยินดีจะเรียนรู้เพิ่มเติม การฟังเชิงรุกจะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเมื่อผู้พูดไม่แสดงออกด้วยคำพูด แต่อาจใช้ภาษากายแทน “คุณผิดหวังเรื่องที่คุณไปคุยกับหัวหน้าสินะ”

หากเราไปตีตราทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาว่าพฤติกรรมคนอื่นนั้นหยาบคาย ขี้เกียจ น่าเบื่อ หรือจงใจ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อทัศนคติเชิงบวกหรือแม้กระทั่งทัศนคติที่เป็นกลางต่อคนอื่น การตั้งใจฟังคนอื่นจะช่วยให้เราแยกแยะความรู้สึก ความหวัง และความต้องการของเราเองออกจากของอีกฝ่ายได้ หรือกล่าวได้ว่ารู้จักแยกแยะการตีความส่วนบุคคลออกจากการสังเกตนั่นเอง

เมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราก็ยิ่งมีโอกาสเอาความคิดหรือวัฒนธรรมตนเองไปตัดสินผู้อื่น การตระหนักรู้ทางสังคมก็ยิ่งเกิดขึ้นได้ยาก หากเรารู้จักแยกแยะสิ่งที่ได้จากการสังเกตออกจากการตีความ เราก็จะหลีกเลี่ยงอคติหรือการพูดอย่างเหมารวมได้

การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ

การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบหมายถึง การตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคมและยั่งยืนทางจริยธรรม แม้ในบางสถานการณ์เราอาจจำเป็นต้องชี้แจงเหตุผลของการตัดสินใจเรา หรือยินยอมทำตามคนอื่น แต่เราก็ตัดสินใจอย่างดีได้เมื่อผู้มีส่วนร่วมตระหนักถึงความต้องการของตนเองและสื่อสารความต้องการนั้นได้ ก่อนจะระดมความคิดกันเพื่อหาทางออก เมื่อพวกเขารู้สึกว่าความต้องการของตนเป็นไปตามที่ปรารถนา พวกเขาก็พร้อมยอมรับการตัดสินใจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับเด็กนักเรียนหลายๆ คน และหากพวกเขาไม่สามารถตัดสินใจเสียทีก็อาจกลายเป็นสิ่งกีดขวางไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นบางครั้งครูก็ควรเป็นผู้ตัดสินใจไปก่อนในยามที่เด็กๆ ลังเลไม่แน่ใจ แต่ในกรณีเช่นนี้ก็จำเป็นต้องมีเหตุผลสมควรด้วย เช่น ครูได้วางแผนกิจกรรมที่ทั้งน่าประหลาดใจและดึงดูดใจเด็กๆ ไว้แล้ว งานวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่าเด็กนักเรียนมักชื่นชอบครูที่ช่วยวางเค้าโครงแนวทาง ทำหน้าที่ของครูได้ดี รวมทั้งช่วยวางแผนและจัดการเรียนการสอน แทนที่จะถอนตัวจากบทบาทผู้นำไปเลย กระนั้นครูก็ต้องสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร และส่งเสริมสำหรับนักเรียนด้วย

ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือเรามักจะรีบเร่งด่วนสรุปทางออกหรือพยายามนำเสนอความเห็นของเราให้คนอื่นเห็นพ้อง แทนที่จะหาทางออกที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องใดๆ เกี่ยวกับห้องเรียนหรือสถานที่ทำงาน เราควรใช้เวลาสักนิดคิดพิจารณาถึงค่านิยมของตนเองและค่านิยมของคนรอบข้างก่อน การให้นักเรียนหรือเพื่อนร่วมงานเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจะช่วยลดทอนความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน และยังส่งเสริมการริเริ่ม การมีส่วนร่วม ตลอดจนอำนาจในตนเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเพิ่มแรงจูงใจและความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

การสอนทักษะด้านอารมณ์ในห้องเรียน

ครูที่มีความรู้น้อยหรือไม่มีความรู้เลยว่าควรจะดำเนินการสอนอย่างไรในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะด้านอารมณ์ จะไม่สามารถช่วยหรือผลักดันให้เด็กได้ซักซ้อมทักษะด้านอารมณ์ หากครูเชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์มากขึ้น ครูก็จะสามารถออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตระหนักและเรียกขานอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ตลอดจนซักซ้อมฝึกหัดแสดงออกด้วยวิธีต่างๆ ในสถานการณ์หลากหลายอย่างเหมาะสม

นักเรียนควรได้ซักซ้อมวิธีแยกแยะระหว่างอารมณ์ การกระทำ และบุคคล บางครั้งการทำเรื่องไร้สาระก็ไม่ได้ทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้สาระ เช่นเดียวกัน หากพวกเขารู้สึกขายหน้าหรือกระอักกระอ่วนใจก็ไม่จำเป็นจะต้องมีสาเหตุอะไรอยู่เบื้องหลัง

นักเรียนสามารถเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้แบบต่างๆ และสถานการณ์สมมติเพื่อการเรียนรู้ในชั้นเรียน ครูจะสอนให้เด็กหัดรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นและเรียนรู้ที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งอาจสอนให้พวกเขารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราและมองโลกใบนี้ผ่านมุมมองของบุคคลอื่นบ้าง ครูต้องชวนพูดคุยเรื่องความแตกต่างระหว่างความหวัง ความฝัน ความตั้งใจ และการกระทำ ทักษะเหล่านี้บรรจุอยู่ตลอดหลักสูตร สอดแทรกในวิชาเรียนปกติ แม้ว่าบางครั้งอาจจำเป็นต้องมีบทเรียนพิเศษเพิ่มเติมบ้าง

เด็กๆ ควรเห็นความแตกต่างระหว่างการสังเกตกับการตีความในสถานการณ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน ทักษะนี้มีค่ามาก เพราะช่วยป้องกันการกลั่นแกล้งได้ ครูควรเน้นความสำคัญของสิ่งที่สังเกต (สิ่งที่เห็นหรือได้ยิน) มากกว่าสิ่งที่ตีความ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมรุกราน เช่น หากมีคนเพ่งมองมาที่เรา เราไม่จำเป็นต้องคิดว่า “เขาเกลียดฉัน” เขาอาจจะแค่ทุกข์ใจเพราะอะไรบางอย่าง เราควรเรียนรู้ที่จะถามเขากลับแทนว่า “คุณดูอารมณ์เสียจัง ฉันได้ไปทำอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกแบบนี้หรือเปล่า”

เป้าหมายของการเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์ในชั้นเรียนคือให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะพูดคุยเรื่องอารมณ์ได้อย่างอิสระ และจัดการอารมณ์หลากหลายรูปแบบได้อย่างเปิดกว้าง ครูอาจให้ข้อคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับการรับมืออารมณ์ต่างๆ และผลพวงอันเป็นรูปธรรมจากอารมณ์และการกระทำที่ถูกกระตุ้นโดยอารมณ์ เพื่อให้เด็กซึมซาบความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นอกจากนั้น ครูต้องทำหน้าที่เป็นต้นแบบด้วย นักเรียนต้องได้เห็นผู้ใหญ่ที่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในชีวิตประจำวัน พวกเขาจึงจะเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจได้

 

สาระสำคัญที่ 3 : การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม

การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมเป็นการสร้างผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ต่อไปนี้คือตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมที่เด็กๆ ควรได้เรียนรู้ในห้องเรียนด้วย

ทักษะการแสดงฝีมือและนำเสนอผลงาน

หลายคนคิดว่าทักษะการนำเสนอผลงานนั้นเป็นความสามารถติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่ เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ทักษะนี้ได้หากผ่านการฝึกฝนและเตรียมพร้อมมากพอ ในทางกลับกัน หากไม่ได้เตรียมพร้อม เด็กจะยิ่งสร้างผลงานได้ไม่ดี และพาลเกลียดการนำเสนอผลงานไปเสีย

เด็กต้องคิดวางแผนหลายสิ่งหลายอย่างเมื่อนำเสนอผลงาน ควรพูดอะไรบ้าง จะเตรียมวัสดุอุปกรณ์อย่างไร ใช้เทคนิคอุปกรณ์เข้าช่วยอย่างไรบ้าง และผู้ฟังจะเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปได้อย่างไร คำถามมากมายประกอบกับความประหม่าอาจทำให้เด็กจดจำไม่ไหว และเลือกอ่านออกเสียงหน้าชั้นเรียนแทนที่จะเตรียมตัวมานำเสนอผลงาน ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางการฝึกฝนทักษะการนำเสนอผลงาน

  • ละครเพื่อการศึกษา (drama education) หรือละครในห้องเรียน เป็นทั้งวิชาศิลปะแขนงหนึ่งและวิธีการสอน โดยใช้องค์ประกอบต่างๆ ของละครเวทีเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนทุกระดับอายุ ละครเพื่อการศึกษาใช้วิธีแบบการละครเพื่อสร้างผลงานเรื่องสั้นๆ ที่มีทั้งเด็กๆ และผู้สอนร่วมมือกันในบรรยากาศการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ เด็กๆ จะได้รับประสบการณ์อันเต็มเปี่ยม ได้มีบทบาทเชิงรุกในการเรียนรู้ และได้สร้างปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเปลี่ยนให้การเรียนรู้กลายเป็นกิจกรรมทางสังคมอีกอย่างหนึ่งด้วย
  • การสอนแบบห้องสตูดิโอ (studio model) คือรูปแบบการสอนที่เปลี่ยนห้องเรียนสำหรับนั่งฟังครูสอน มาเป็นห้องสตูดิโอสำหรับทำกิจกรรมด้วย ซึ่งโดยมากมักใช้กับการเรียนรู้ผ่านปัญหาหรือโครงงาน ครูจะนำเด็กๆ เข้าสู่กระบวนการเพื่อหาทางออกสำหรับโครงงานออกแบบปลายเปิด โดยมีข้อจำกัดด้านการออกแบบบางประการและต้องใช้เวลาทำงานหลายสัปดาห์ วิธีการนี้นอกจากจะส่งเสริมการแสดงตัวตนแล้ว ยังส่งเสริมนวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบด้วย
  • การถ่ายวิดีโอ ก็ถือเป็นวิธีการสมัยใหม่สำหรับการแสดงผลงานและแสดงตัวตน หนุ่มสาวหลายคนสร้างชื่อเสียงได้จากยูทูบ คนรุ่นใหม่มักไม่รู้สึกเคอะเขินหน้ากล้อง เพราะคุ้นเคยกับการที่บิดามารดาถ่ายวิดีโอพวกเขาตั้งแต่ยังเยาว์วัย หลายๆ คนก็ใช้กล้องโทรศัพท์มือถือถ่ายวิดีโอกับเพื่อนๆ อย่างไรก็ดี การนำเสนอต่อหน้าผู้ชมนั้นไม่เหมือนการอยู่หน้ากล้อง และยังต้องมีการฝึกฝนด้วย

สิ่งสำคัญคือเด็กควรได้มีโอกาสฝึกการแสดงตัวตนและทักษะการนำเสนอในสถานการณ์หลากหลายรูปแบบ ทักษะเหล่านี้พัฒนาได้ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ การเขียนเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง หรือผลงานศิลปะ ปัจจุบันการนำเสนอผลงานมักทำเป็นรูปแบบดิจิทัล นักเรียนอาจจะทำเป็นคลิปวิดีโอ บล็อก วล็อก (คือบล็อกในรูปแบบวิดีโอ) แอนิเมชั่น หรือแม้กระทั่งการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์และสร้างวิดีโอเกม

 

นอกจากการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ในโรงเรียนและสถาบันต่างๆ จะสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชนให้พร้อมสำหรับชีวิตการทำงานในศตวรรษที่ 21 การเรียนการสอนทักษะนี้ยังจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคม หากโรงเรียนหรือสถาบันไม่ละเลยการสอนทักษะทางสังคมและอารมณ์ให้กับนักเรียนทุกคน ก็อาจมีเพียงเด็กจากครอบครัวเพียบพร้อมเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนทักษะเหล่านี้ที่บ้าน ส่วนเด็กคนอื่นต้องประสบกับความบกพร่องทางวัฒนธรรมเพราะขาดการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ และแน่นอนว่าพวกเขาจะต้องประสบกับช่องว่างทางความสามารถเมื่อก้าวสู่โลกทำงานในอนาคต