หนังโป๊ – การบอกเลิก – ความยินยอม: รวมเกร็ดชวนอ่านจาก “เพศศึกษากติกาใหม่”


ชวนอ่านหลากเรื่องน่ารู้จาก “เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น”

 

การเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์จากหนังโป๊

วิชาเพศศึกษาในโรงเรียนมักเน้นความกลัว สอนให้เด็กรักนวลสงวนตัว แทนที่จะให้ข้อมูลเด็กๆ อย่างรอบด้านและถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เป้าหมายของคุณครูมักเป็นการขู่ให้เด็กๆ กลัวเซ็กซ์ และโน้มน้าวให้พวกเขาไม่มีเซ็กซ์ แต่ในความเป็นจริง เพศศึกษาแนวคิดเก่าแบบนี้ไม่อาจกีดกันวัยรุ่นจากเซ็กซ์ และกลับทำให้พวกเขามีเซ็กซ์โดยไม่พร้อม อันที่จริง ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2561 มีจำนวนคุณแม่วัยรุ่นช่วงอายุ 10-14 ปี ถึง 2,385 คน และช่วงอายุ 15-19 ปี ถึง 70,181คน โดยเฉลี่ยแล้ว จำนวนคุณแม่วัยรุ่นเพิ่มขึ้นในแต่ละวันถึง 199 คน!*

เมื่อขาดการศึกษาเรื่องเซ็กซ์ เด็กๆ จึงรับรู้ภาพแรกๆ ของเซ็กซ์ผ่านหนังโป๊ออนไลน์ ซึ่งหาดูได้ฟรีๆ บนโทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง แค่พิมพ์คำว่า “เซ็กซ์” ในแถบคำค้นหาเป็นก็ดูได้แล้ว

แต่เซ็กซ์ที่แท้จริงมักจะไม่เหมือนกับที่เห็นในหนังโป๊เลยสักนิด เซ็กซ์ในหนังโป๊เป็นเพียงการแสดงซึ่งเกิดจากนักแสดง ผู้กำกับ และคนตัดต่อ

การเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์จากการดูหนังโป๊จึงไม่ต่างกับการเรียนรู้วิธีผ่าตัดหัวใจจากการดูซีรีส์ Grey’s Anatomy นั่นละ

เซ็กซ์ที่แท้จริงมีมากมายหลายรูปแบบ เราไม่ควรไปคาดหวังหรือยึดติดกับภาพปลอมๆ ที่เราเคยเห็นจากหนังโป๊ แต่ควรคอยตรวจสอบทั้งตัวเราและอีกฝ่ายว่าต้องการสิ่งใด ต่างฝ่ายต่างรู้สึกดีอยู่หรือไม่ และควรใช้การป้องกันอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันทั้งการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

ที่สำคัญที่สุด เซ็กซ์ที่ดีต้องเสมอภาค สุภาพ และได้รับความยินยอมจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในหนังโป๊เท่าไหร่

แทนที่จะปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้เซ็กซ์ (แบบปลอมๆ) จากหนังโป๊ และไปเผชิญหน้ากับเซ็กซ์อย่างไม่มีความรู้ เรามาติดอาวุธให้เด็กๆ ด้วยเพศศึกษาแบบใหม่กันดีกว่า!

 

การบอกเลิกอย่างถูกวิธี

เมื่อสุดท้ายแล้วเราตัดสินใจว่าอยากจะเลิกกับคนที่คบด้วย ก็มีทั้งวิธีบอกเลิกที่รับผิดชอบและไม่รับผิดชอบ ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความไว้วางใจ เคารพ และซื่อสัตย์ บางทีเราอาจอยากจบความสัมพันธ์เพราะรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ได้ยึดหลักการเหล่านี้ แต่ เรายังยึดหลักการเหล่านี้ได้ อยู่ เราไม่อาจควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกที่อีกฝ่ายต้องประสบเมื่อเราจากไป แต่เราควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ อีกฝ่ายน่าจะต้องรู้สึกเศร้า เจ็บปวด และโกรธแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเลิกกับเขาด้วยความซื่อตรงและเห็นอกเห็นใจ เราจะรู้สึกว่าทำดีที่สุดแล้ว แทนที่จะรู้สึกเป็นคนเลว

สิ่งที่ควรทำ:

นั่งคุยกับอีกฝ่ายต่อหน้า บอกเขาไปอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่าไม่อยากคบกับเขาแล้ว แต่จำไว้ว่าเราไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรทั้งสิ้น ที่จริงถ้าพยายามยกเหตุผลมาอธิบาย เขาอาจหาทางโต้แย้ง หรือรู้สึกว่าเรากำลังโจมตีนิสัยหรือพฤติกรรมของเขา แค่อยากเลิกก็เป็นเหตุผลในการบอกเลิกใครสักคนได้แล้ว เขาอาจเจ็บปวดที่ได้ยินคำนี้ แต่โดยรวมก็เป็นวิธีที่นุ่มนวลที่สุด

 

สิ่งที่ไม่ควรทำ:

ถ้าหากเราออกไปไหนมาไหนกับอีกฝ่ายมากกว่าสองสามครั้ง ทางที่ดีเราไม่ควรส่งข้อความไปบอกเลิกเขา ห้ามแจกแจงรายการสิ่งที่เขาทำผิดหรือสิ่งที่เราไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเขา ห้ามเก็บงำความไม่พอใจไว้แล้วนอกใจเขาเพื่อจะได้มีข้ออ้างในการเลิกกันเป็นอันขาด เพราะเขาจะรู้สึกเหมือนถูกหลอกลวงและทรยศอย่างรุนแรง แล้วเราก็จะรู้สึกผิดที่ตัวเองเป็นคนใจร้าย จำไว้ว่าอย่าให้ความรู้สึกเจ็บปวดของอีกฝ่ายทำให้เราละทิ้งความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง หากเราใคร่ครวญดีแล้วก่อนตัดสินใจว่าควรจะยุติความสัมพันธ์นี้เสีย เราก็มีสิทธิที่จะจบความสัมพันธ์แค่พยายามทำอย่างหนักแน่นชัดเจนก็พอ

 

การสอนเรื่องความยินยอมให้เด็กๆ

ไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กๆ โตก่อน เราจึงจะสอนให้พวกเขารู้จัก “ความยินยอม”

ความยินยอมเป็นแก่นแกนของความสัมพันธ์ที่ดี เราต้องให้และรับความยินยอมทางเพศกับอีกฝ่ายเสมอ เราไม่มีวันมีสิทธิเข้าถึงร่างกายคนอื่นอย่างไร้ข้อจำกัด ไม่ว่าเราจะสนิทกับเขาหรือคบกันมานานแค่ไหนก็ตาม และเราก็ไม่จำเป็นต้องเพิกเฉยต่อความรู้สึกหรือความปรารถนาของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นของอีกฝ่ายด้วย

อาจดูเหมือนเป็นสามัญสำนึกง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่อันที่จริงเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ มันขัดกับข้อกำหนดทางวัฒนธรรมที่พวกเราหลายคนถูกปลูกฝังมา เรื่องสิทธิที่เรามีหรือไม่มีเหนือร่างกายของเราและของคนอื่น ข้อกำหนดแบบเดียวกันนี้เองได้นำไปสู่การประทุษร้ายทางเพศ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมของเรา

เราควรเริ่มสายสัมพันธ์กับความยินยอมตั้งแต่ยังเด็ก ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เราสามารถช่วยลูกๆ พัฒนาความรู้สึกว่ามีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องร่างกายของตัวเอง

เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องให้ใคร ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก กอดหรือจูบ หากไม่ต้องการ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องไม่บังคับให้คนอื่นมากอดหรือจูบเช่นกัน หากคนเหล่านั้นไม่ต้องการ

เราไม่สามารถควบคุมการแสดงความรักใคร่ทางกายของคนอื่นได้ เด็กๆ จึงจำเป็นต้องรู้ว่าพวกเขามีสิทธิเลือก จะมีคนรับฟังสิ่งที่พวกเขาพูด และคนอื่นจะเคารพการตัดสินใจของพวกเขาเรื่องร่างกายของพวกเขาเอง

เมื่อเด็กๆ โตขึ้น เราจะเริ่มคุยถึงเรื่องเซ็กซ์อย่างเหมาะสมกับอายุ เช่นเดียวกับการกอดและจูบ ไม่มีใครมีสิทธิสัมผัสร่างกายพวกเขา หากพวกเขาไม่ต้องการ และพวกเขาก็ไม่มีสิทธิสัมผัสร่างกายใคร หากคนนั้นไม่ต้องการเช่นกัน

เพื่อให้เหล่าวัยรุ่นเรียนรู้ว่าพวกเขามีอำนาจที่จะตัดสินใจเรื่องร่างกายและการแสดงตัวตนของของพวกเขาเอง พวกเขามีอำนาจที่จะตอบตกลงหรือปฏิเสธพฤติกรรมทางเพศและการมีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่มีใครตัดสินเรื่องเหล่านี้แทนพวกเขาได้ และพวกเขาก็ตัดสินใจแทนคนอื่นไม่ได้เช่นกัน

 

 

เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น

(Consent: The New Rules of Sex Education: Every Teen’s Guide to Healthy Sexual Relationships)

Jennifer Lang เขียน

ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล

176 หน้า

ราคา 215 บาท (ลด 10% เมื่อสั่งซื้อทางเว็บไซต์ bookscape.co เหลือ 183 บาท)

ดูข้อมูลหนังสือเพิ่มเติมได้ที่ https://bookscape.co/books/intelligent-lifestyle/consent