
บ.ก. ฝน ชลิดา หนูหล้า
ไถหน้าจอโทรศัพท์อยู่ดีๆ ก็รู้สึกผิดต่อตัวเองขึ้นมา
ไม่ใช่เพราะรู้สึกผิดที่ลืมจำกัดเวลาใช้หน้าจอหรอก (ถึงนั่นจะเป็นเหตุผลหนึ่ง) แต่รู้สึกผิดหรือรู้สึกว่า “พลาดแล้ว” ที่ไม่ได้ทำบางอย่าง ซื้อบางอย่าง หรือใช้บางอย่างต่างหาก และท่ามกลางความรู้สึกเหล่านั้นก็มีความรู้สึกผิดต่อผิวอยู่ด้วย
จริงๆ แล้วฉันควรพึ่งหัตถการบางอย่างก่อนจะ “สายเกินไป” หรือเปล่านะ หรือควรลงทุนซื้อครีมบำรุงผิวสักยี่ห้อ (ก็ยี่ห้อที่ต้องใช้คำว่าลงทุนน่ะนะ) ถึงจะมีผลิตภัณฑ์ที่ชาวเน็ตแซ่ซ้องว่า “ถูกและดี” อยู่มากมาย แต่การต้องซื้อทุกอย่างเพื่อถม “รูทีน” สิบขั้นตอนให้เต็มก็สาหัสอยู่ดี (รวมค่าสำลี มีทั้งสำลี “ดีๆ” และสำลีซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง) หรือว่าฉันไม่ได้ใช้ชีวิตให้ดี เป็นแม่กระเชอก้นรั่วที่ไม่รู้จักศึกษาการลงทุน แถมยังหูตาไม่ไวพอจะติดตามโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเหมือนชาวบ้านชาวช่อง อา ใช่ … ฉันมันขี้แพ้
โอ๊ย! ผิวมีอะไรให้ปวดเศียรเวียนเกล้ามากกว่าปวดผิวมากมาย (แน่ละสิ)
แล้วหนังสือเล่มนี้ก็ทอแสงมาต้องร่างเหมือนนางฟ้าแม่ทูนหัวที่ปรากฏตัวขึ้นหลังซินเดอเรลลาถูกสองพี่สาวบุญธรรมทึ้งชุดขาด เปล่านะ ฉันไม่ได้เลิกอาบน้ำห้าปีเหมือนผู้เขียน แต่หนังสือของเขาทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมฉันรู้สึกอย่างนั้น และฉันไม่ใช่คนแรกหรือคนเดียวที่รู้สึกด้วย ผ่านการย้อนเวลากลับไปยังวันวานเมื่อสบู่ยังเป็นก้อนโซดาไฟระคายผิว จนกลายเป็นสินค้าที่ต้องมีทุกบ้าน (คำใบ้: ฝีมือซันไลต์น่ะสิ) แล้วผ่าเปิดบรรดาคำโฆษณาผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ตั้งแต่ยุคสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียจนถึงไฮยาลูโรนิกเซรั่ม เพื่อดูว่าอะไรที่มีหลักฐานรองรับ อะไรที่เป็นคำโฆษณาล้วนๆ และอะไรที่คลุมเครือจนไม่อาจตัดสินได้ว่าจริงหรือไม่
เพราะบรรดารีวิวและความคิดเห็นที่กระจัดกระจายในโลกออนไลน์ก็เหมือนฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เอง คือแม้จะมีคำแนะนำอย่างจริงใจอยู่ด้วยก็มีโฆษณาแฝงอยู่จนได้ และการจะจำแนกสองอย่างนี้จากกันก็ต้องอาศัยภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่แค่ภูมิคุ้นกันทางอารมณ์ แต่อาจรวมถึงภูมิคุ้มกันที่เราไม่เคยใส่ใจ อย่างจุลชีวินบนผิว (และในร่างกาย และในทุกๆ สิ่ง) ที่เป็นเสมือนหอจดหมายเหตุทางชีวภาพ เป็นหลักฐานว่าเราเคยสัมผัสสิ่งใดบ้าง และจะมีปฏิกิริยากับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตต่อไปอย่างไร ทั้งยังมีจุดสมดุลเฉพาะตัว ดูเหมือนกายและใจของเราไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร
หากจะมีอะไรที่ชอบเหลือเกินในหนังสือเล่มนี้ คือถึงที่สุดแล้ว ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องอะไรมากกว่าเพียงให้ผู้อ่านทำความรู้จักตัวเอง ทำความรู้จักตัวเองในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเดียวกับที่ใช้กันบนเวทีเท็ดทอล์ก แต่หมายถึงการพยายามทำความเข้าใจร่างกายและความต้องการของมันในระดับที่ตระหนักว่าร่างกายของเราเป็น “ระบบนิเวศแห่งชีวิต” (superorganism) เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า และประกอบด้วยระบบนิเวศนับร้อยพัน เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว การแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุดก็อาจไม่ตอบโจทย์เท่ากับการหล่อเลี้ยงสมดุลระหว่างระบบนิเวศเหล่านี้ ทั้งในระดับบุคคลอย่างการดูแลสุขภาพกายและใจ และในระดับสังคมอย่างการสร้างพื้นที่ที่มอบโอกาสให้คนรักษาสมดุลของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงน้ำสะอาด อาหารปลอดภัย อากาศบริสุทธิ์ และพื้นที่เคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงพบปะผู้คนที่แตกต่างจากตัวเอง อย่างสวนสาธารณะ …
ทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในความยาว 276 หน้า เป็นหนึ่งในการอ่านที่คุ้มค่าและเปิดโลกที่สุด
และใช่ค่ะ นี่คือการโฆษณา ภูมิคุ้มกันของคุณคิดว่าอย่างไรละ