Brief – Workshop “The Self-Driven Child: อยู่เองได้ โตเองเป็น”

อธิกัญญ์ แดงปลาด เขียน

ตรัยภูมิ จงพิพัฒนสุข ภาพ

 

หากโจทย์คือการสร้างผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยที่ความสุขและความสำเร็จนั้นไม่ได้นิยามด้วยจำนวนเงินในกระเป๋าหรือสินทรัพย์ที่หาได้ แต่เป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่าอย่างการเห็นคุณค่าในตัวเอง การเป็นมนุษย์ที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่นและรู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน คำตอบของโจทย์นี้อาจซ่อนอยู่ในการเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มต้นขึ้นที่บ้าน

ปัจจัยเล็กๆ อย่างการเลือกใช้คำพูดของพ่อแม่ การปล่อยให้เด็กได้ลองลงมือทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่การให้ตัวเลือกทางออกแก่เด็กๆ เมื่อเจอปัญหา อาจฟังเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่ที่ซ่อนอยู่คือเหตุผลทางจิตวิทยาที่อธิบายว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ “อยู่เองได้” ในอนาคตได้อย่างไร การสร้างผู้ใหญ่ที่ดีคนหนึ่งจึงไม่ได้ต้องการเครื่องไม้เครื่องมือที่ซับซ้อน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือกรอบความคิดของพ่อแม่ และความรักซึ่งมีพลังยิ่งกว่าเครื่องมือใดๆ

ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของเวิร์กช็อป THE SELF-DRIVEN CHILD อยู่เองได้ โตเองเป็น” โดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสวนาต่อยอดความคิดจากหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง เพื่อสร้างผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ไม่ใช่เพียงร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจ พร้อมรับมือชีวิตแม้ในวันที่อยู่ห่างไกลจากพ่อแม่

เริ่มแรก กระบวนกร “ครูเม” หรือเมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา” และผู้ก่อตั้ง “ห้องเรียนครอบครัว” ชวนผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปวางสัมภาระ เตรียมตัวเข้าสู่กิจกรรมแรกคือ “Mindfulness Refreshing” หรือการเคลื่อนไหวร่างกายพร้อมกับเงี่ยหูฟัง เตรียมสมองส่วนหน้าให้พร้อมทำกิจกรรม โดยต้องไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ ไม่ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายคนอื่น ซึ่งเงื่อนไขที่ว่านี้เป็นเงื่อนไขที่ใช้ในการทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ได้เช่นกัน

 

 

ครูเมให้ทุกคนยืนเรียงกันเป็นวงรี ฟังเสียงกลองและเคลื่อนไหวตามจังหวะตี จากนั้นจึงทำความรู้จักกัน หลังจากยืดเส้นยืดสาย เธอก็นำทุกคนเข้าสู่หน่วยการเรียนรู้แรกอย่างรวดเร็ว

 

หน่วยที่ 1 อำนาจในตนเอง (Autonomy)

 

เพื่ออธิบายคำนี้ ครูเมยกทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Stages of Psychosocial Development) ของอีริก อีริกสัน (Erik Erikson) มาใช้ ทฤษฎีดังกล่าวแบ่งพัฒนาการทางจิตสังคมของมนุษย์เป็น 8 ขั้น ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงบั้นปลายชีวิต โดยอำนาจในตนเองนั้นอยู่บันไดขั้นที่สองหรือช่วงปฐมวัย โดยพัฒนาการด้านจิตสังคมของมนุษย์ต้องเติบโตไปทีละขั้น ไม่กระโดดข้าม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจส่งผลต่อเนื่องถึงอนาคต

 

 

พัฒนาการขั้นแรกคือความเชื่อใจหรือความไม่เชื่อใจ (Trust vs. Mistrust) ซึ่งจะพัฒนาขึ้นช่วงที่มนุษย์ยังเป็นทารกอายุ 0 – 23 เดือน การไว้วางใจของเด็กวัยนี้คือความเชื่อว่าโลกใบนี้ยังมีคนที่รักตน ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู โดยความรู้สึกดังกล่าวจะพัฒนาขึ้นในเวลาราวสองปีแรกของชีวิต

ครูเมบอกว่า “เมื่อลูกเกิดมา เขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หาอะไรกินเองไม่ได้ เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ จึงต้องร้องเรียกให้เราตอบสนองเขา การดูแลเด็กในวัยนี้จึงไม่ควรมีคำว่า ‘อุ้มมากเกินไป เดี๋ยวลูกติดเรา’ เพราะเมื่อเด็กได้รับการตอบสนองจากเรา เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น ฉันมีใครสักคนที่พึ่งพาได้นะ และถ้ามีอะไรเกิดขึ้น โลกนี้ก็ยังปลอดภัยเพราะมีพ่อแม่คอยดูแลฉันอยู่”

“ในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ให้การตอบสนอง ปล่อยให้เด็กอยู่กับตัวเอง เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้ว่าใครกันแน่นะที่ฉันสามารถเรียกหาแล้วได้รับการตอบสนอง เด็กก็อาจจะรู้สึกกังวล หวาดกลัว เด็กบางคนอาจพัฒนาความแข็งแกร่งอย่างที่ไม่ควรจะพัฒนาในวัยนี้ ความแข็งแกร่งนั้นมาพร้อมกับความเปราะบางภายใน ฉันต้องแข็งแกร่งเพราะร้องเท่าไรก็ไม่มีใครมาหา ฉันต้องคลานไปเปิดตู้เย็นเอง แต่ถามว่าเขาต้องการเราไหม เขาต้องการ และมากด้วย”

 

เมื่อลูกเกิดมา เขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หาอะไรกินเองไม่ได้ เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ จึงต้องร้องเรียกให้เราตอบสนองเขา การดูแลเด็กในวัยนี้จึงไม่ควรมีคำว่า ‘อุ้มมากเกินไป เดี๋ยวลูกติดเรา’ เพราะเมื่อเด็กได้รับการตอบสนองจากเรา เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น ฉันมีใครสักคนที่พึ่งพาได้นะ และถ้ามีอะไรเกิดขึ้น โลกนี้ก็ยังปลอดภัยเพราะมีพ่อแม่คอยดูแลฉันอยู่

 

พัฒนาการขั้นที่สองคืออำนาจในตนเองหรือความรู้สึกอับอายและคลางแคลงใจ (Autonomy vs. Shame and Doubt) นั้นผูกพันกับพัฒนาการขั้นแรกอย่างแยกไม่ออก เพราะเมื่อเด็กมีความไว้วางใจในขั้นแรก เด็กจึงจะกล้าทำในสิ่งที่ตนควรจะทำ ในวัย 2 – 4 ปี เด็กจะเริ่มต้องการสำรวจโลก เริ่มอยากรู้ว่าร่างกายของตัวเองประกอบด้วยอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง เรียนรู้วิธีขับถ่าย ช่วยเหลือตัวเอง รับประทานอาหารเอง อาบน้ำเอง แม้ยังทำได้ไม่ดี แต่ทั้งหมดนั้นคือการมีอำนาจในตนเอง หรือมีอำนาจเหนือร่างกายของตนเอง

“ยิ่งเด็กได้ลองทำเยอะ เรียนรู้ว่าร่างกายตัวเองทำอะไรได้บ้าง ยิ่งเกิดความรู้สึกว่า ฉันเป็นเจ้าของร่างกายตัวเองนะ แต่ถ้าเราเห็นลูกว่าทำได้ไม่ดี แล้วบอกเขาว่า ‘ทำไมทำเลอะเทอะ เดี๋ยวแม่ทำเอง’ ‘มานี่มา เดี๋ยวย่าอุ้มเดินไป ไม่ต้องเดินหรอก เหนื่อย’ เรากำลังขัดขวางอำนาจในตนเองของลูก” ครูเมขยายความ “เด็กจะรู้สึกว่าทำเองแล้วไม่ดีแน่ กลายเป็นความรู้สึกอับอายและคลางแคลงใจ เพียงแม่พูดว่า ‘มา เดี๋ยวเรามาช่วยกันเก็บ’ ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของร่างกายของตัวเองก็ต่างกันมากแล้ว”

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการหยุดยั้งหรือห้ามปรามลูกไม่ให้กระทำผิดนั้นไม่ถูกต้อง แต่พ่อแม่ต้องระวังวิธีพูดที่จะส่งผลต่อความคิดของเด็กต่อตัวเองต่างหาก เพราะความรู้สึกอับอายไม่ได้ทำให้เด็กรักพ่อแม่น้อยลง ผลลัพธ์ของมันเจ็บปวดกว่านั้น คือ “เขาจะรักตัวเองน้อยลง” เมื่อไรที่พ่อแม่รู้สึกว่าผลลัพธ์ของงานสำคัญกว่ากระบวนการเรียนรู้ เมื่อนั้นโอกาสในการพัฒนาอำนาจในตนเองของลูกจะมลายหายไป

 

ยิ่งเด็กได้ลองทำเยอะ เรียนรู้ว่าร่างกายตัวเองทำอะไรได้บ้าง ยิ่งเกิดความรู้สึกว่า ฉันเป็นเจ้าของร่างกายตัวเองนะ แต่ถ้าเราเห็นลูกว่าทำได้ไม่ดี แล้วบอกเขาว่า ‘ทำไมทำเลอะเทอะ เดี๋ยวแม่ทำเอง’ เด็กจะรู้สึกว่าทำเองแล้วไม่ดีแน่ กลายเป็นความรู้สึกอับอายและคลางแคลงใจ

 

ครูเมอธิบายว่า ขั้นตอนการสร้างอำนาจในตนเองนั้นแบ่งเป็น 5 ขั้น ได้แก่

  1. การทำให้ดู แทนที่จะบอกลูกให้ทำให้ดี พ่อแม่ควรให้ลูกทำตามตนเอง เด็กอาจยังเรียนรู้ภาษาไม่เต็มที่และอาจไม่เข้าใจคำอธิบาย การทำให้ดูจึงเป็นวิธีที่ดีสุดที่จะทำให้เด็กเข้าใจว่าควรทำอย่างไรจึงจะดี

  2. พาเด็กทำ ถ้าทำให้ดูแล้วยังทำตามไม่ได้ พ่อแม่ควรสอน โดยไม่ยืนประจันหน้าเด็ก แต่อ้อมไปด้านหลังแล้วจับมือเด็กให้ทำจากด้านหลัง เด็กจะได้เห็นร่างกายตัวเองว่าเคลื่อนไหวแบบไหน จดจำการเคลื่อนไหวนั้น และทำให้ดีขึ้นได้

  3. ทำด้วยกัน คือพ่อแม่นั่งข้าง ๆ ยืนข้าง ๆ ทำกิจกรรมด้วยกัน รับประทานอาหารด้วยกัน แปรงฟันด้วยกัน จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นธรรมชาติ ทุกคนทำได้

  4. เฝ้าดูขณะปล่อยให้ทำเอง โดยไม่ตัดสินหรือเปรียบเทียบฝีมือของเด็กกับตัวเอง คอยเป็นผู้เชี่ยวชาญให้ลูกรู้สึกว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ยังมีคนดูแลช่วยเหลือช่วยเหลือ

  5. เด็กทำได้เองจริง เป็นหลักฐานว่าอำนาจในตนเองเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าลูกจะอยู่ที่ไหน กับใคร ก็จะสามารถทำสิ่งนั้นได้เอง โดยที่ไม่ต้องมีพ่อแม่อยู่ตรงนั้น

“ความรับผิดชอบเล็ก ๆ อย่างการแปรงผมและอาบน้ำเองจะสร้างความสามารถในการรับมือความรับผิดชอบใหญ่ ๆ การปล่อยให้เด็กดูแลตัวเองเป็นการบอกพวกเขาว่าแม้จะไม่ชอบสิ่งเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำ มันคือ ‘วินัย’ และวินัยส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเขาด้วย”

จากนั้น ครูเมจึงให้พ่อแม่ได้ทดลองใช้คลิปหนีบผ้าหนีบลูกบอลไหมพรมหลากสีใส่ไว้ในจาน โดยเลือกลูกบอลไหมพรมสีที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวของเด็ก เธอกล่าวว่าสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ เพียงคลิปหนีบผ้าก็เป็นของเล่นวิเศษ การได้เล่นกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อรวมกับการมีกติกาชัดเจนในการเล่น เช่น คีบสีอะไรได้บ้าง ฯลฯ จะทำให้เด็กมีโอกาสสำรวจศักยภาพของตนและพัฒนาอำนาจในตนเองมากขึ้น การมีช่วงเวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัว แม้จะเรียบง่าย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

พัฒนาการขั้นนี้ของเด็กไม่ได้เพียงส่งผลดีต่อพวกเขาเองหรือเพียงลดภาระงานของผู้คนรอบข้าง แต่ทำให้ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขเติบโตด้วย เมื่อเด็กควบคุมร่างกายตัวเองได้แล้ว ต่อมาก็จะดูแลสิ่งของ (belonging) ได้ เมื่อเด็กดูแลของของตัวเองได้แล้ว เด็กก็จะเรียนรู้ว่าคนอื่นๆ รักและหวงแหนของของตัวเองแค่ไหน นำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจ (emphaty) ผู้อื่น ดังแผนภาพด้านล่างนี้

 

 

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าในแผนภาพนี้ลูกศรไม่ได้ชี้ออกจากตัวเด็กเท่านั้น แต่สะท้อนกลับมาผ่านปฏิกิริยาของคนรอบตัวด้วย หากเด็กเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ การบอกเด็กว่า “นี่ของของลูก ต้องเก็บที่ไหน” พัฒนาความสามารถในการดูแลของของพวกเขาได้มาก เช่นเดียวกับที่การถามว่า “หนูอยากเล่นของเล่นชิ้นนี้กับใคร” บ่มเพาะความเห็นอกเห็นใจได้มากเมื่อเด็กหวงของเล่น

วงกลมต่อมาในแผนภาพของครอบครัว อันเป็นสังคม “ส่วนรวม” สังคมแรกที่เด็กต้องใช้ชีวิต ซึ่งการมีโอกาสทำงานบ้านเพื่อดูแลสถานที่ที่ทุกคนใช้งานร่วมกัน อันจะทำได้ต่อเมื่อเด็กได้รับโอกาสให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองนั้น นับเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (self-worth) ความมั่นใจในตนเอง (self-confidence) และความเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ต่อไป

นอกจากนี้ ครูเมยังเสริมว่า แม้วงกลมสุดท้ายคือสังคม (social) จะเป็นแวดวงที่เด็กๆ และพ่อแม่เองควบคุมปฏิกิริยาได้น้อย  แต่ถ้าเด็กได้รับการเติมเต็มจากวงกลมชั้นในอย่างเต็มที่ แม้สังคมจะกัดเซาะเด็กจากภายนอก โลกภายในของเด็กก็ยังจะเต็ม และเด็กจะยังเห็นคุณค่าของตัวเองอยู่เสมอ

 

หากเด็กเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ การบอกเด็กว่า “นี่ของของลูก ต้องเก็บที่ไหน” พัฒนาความสามารถในการดูแลของของพวกเขาได้มาก เช่นเดียวกับที่การถามว่า “หนูอยากเล่นของเล่นชิ้นนี้กับใคร” บ่มเพาะความเห็นอกเห็นใจได้มากเมื่อเด็กหวงของเล่น

 

ครูเมส่งท้ายหน่วยการเรียนรู้แรกด้วยกิจกรรม “ลำเลียงอาหาร” ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปต้องหันหลังเข้าหากัน หรือหันอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งชนกันและมีลูกโป่งอยู่ตรงกลาง ก่อนจะประคองลูกโป่งไปถึงตะกร้าโดยห้ามใช้มือ โดยแต่ละคู่ต้องส่งเสียงบอกทิศทางให้อีกคนฟัง เพื่อสะท้อนผลลัพธ์ของการมีอำนาจในตนเองและความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างแหลมคม กล่าวคือ

“การสื่อสารทางเดียวไม่มีทางสำเร็จ เด็กที่กล้าสื่อสารคือเด็กที่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง อำนาจในตนเอง ไม่ได้ทำให้เด็กยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ทำให้เด็กรู้จักร่างกายทุกส่วน และรู้ว่าจะใช้งานมันอย่างไรเพื่อตัวเองและผู้อื่น”

 

หน่วยที่ 2 ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (sense of control)

 

หนึ่งในคุณสมบัติของเด็กที่จะอยู่เองได้ โตเองเป็น และขับเคลื่อนตัวเองได้ (self-driven) คือความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง ที่ครูเมอธิบายว่าประกอบด้วยความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ (inhibitory) หรือความสามารถในการปฏิเสธสิ่งที่ไม่เหมาะสม และการตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมได้ (control)

“สมมติว่ามีคนชวนลูกเข้าผับ บอกว่ามีบัตรประชาชนปลอมนะ ถ้าลูกยับยั้งตัวเองได้ ก็จะไม่เข้าไป และถ้ามี control ด้วย ก็อาจตัดสินใจกลับไปทำงานบ้านดีกว่า เด็กที่ยับยั้งตัวเองได้อย่างเดียวอาจเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ห้ามทุกอย่าง แต่ปฏิเสธแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ”

ครูเมบอกว่าความยับยั้งชั่งใจจะเกิดขึ้นในช่วงวัย 4-5 ปี โดยเด็กจะต้องควบคุมร่างกายของตัวเองให้ได้ก่อน จากนั้นความสามารถในการกำกับดูแลตัวเองก็จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กคิดริเริ่มว่าจะทำอะไรดี ทำแล้วจะถูกดุไหม เด็กวัยนี้มาพร้อมกับจินตนาการ และจะเริ่มถูกดุเพราะทำอะไรแผลง ๆ

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ไม่ต้องการควบคุมลูกมากเกินควรสามารถแทรกแซงการตัดสินใจของลูกได้หากลูกละเมิดกฎ 3 ข้อ คือทำให้ตัวเองบาดเจ็บ ทำร้ายผู้อื่น หรือทำข้าวของเสียหาย โดยไม่ตะโกนสั่งให้หยุด แต่เดินเข้าไปหาลูก บอกลูก จับมือ และอธิบายให้เด็กฟัง

 

พ่อแม่ที่ไม่ต้องการควบคุมลูกมากเกินควรสามารถแทรกแซงการตัดสินใจของลูกได้หากลูกละเมิดกฎ 3 ข้อ คือทำให้ตัวเองบาดเจ็บ ทำร้ายผู้อื่น หรือทำข้าวของเสียหาย โดยไม่ตะโกนสั่งให้หยุด แต่เดินเข้าไปหาลูก บอกลูก จับมือ และอธิบายให้เด็กฟัง

 

“การสั่งให้ลูกหยุด ผลเกิดขึ้นรวดเร็ว แต่ไม่ยั่งยืน การสั่งทำให้เด็กกลัว เขาอาจไม่ทำที่บ้าน แต่อาจไปทำที่อื่น เด็กจะเรียนรู้วิธีควบคุมตัวเองเมื่อเขารู้ว่าจะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองได้ไหม อย่างไร ไม่ใช่ทำผิดแล้วถูกลงโทษ จบ ซึ่งเป็นเพียงอารมณ์ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย”

ครูเมอธิบายต่อไปอีกด้วยว่า ช่วงอายุ 4 – 5 ปี เป็นวัยที่คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) เริ่มเติบโต สมองส่วนนี้รับผิดชอบการยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจ การวิเคราะห์ การใช้เหตุผล และจะพัฒนาต่อไปถึงอายุ 25 ปี โดยที่ความสามารถในการบริหารจัดการ หรือ EF (Executive Function) ซึ่งเกิดจากสมองส่วนหน้านั้น จู่ๆ จะเกิดขึ้นเองไม่ได้ แต่มาจากการค่อย ๆ ให้เด็กลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง

“ถ้าดูสมองของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ไร้บ้าน สมองส่วนหน้ามีเนื้อก็จริง แต่การทำงานแทบจะนิ่งสนิท เพราะเด็กอยู่กับสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดตลอดเวลา ต้องดิ้นรน ไม่รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย นำไปสู่การใช้อารมณ์นำชีวิต ใช้สารเสพติด หรือถูกชี้นำ” ครูเมบอก “การมีบ้านที่อบอุ่น มีคนที่รักจะทำให้สมองส่วนนี้ของเด็กเติบโต เด็กต้องการอยู่กับคนที่ยอมรับว่าเขาทำผิดได้ ไม่ใช่เอาแต่ลงโทษ ความกลัวเปลี่ยนชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้เลย”

 

 

เธอยกตัวอย่างผลลัพธ์ของความกลัวที่อาจใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด โดยมีงานวิจัยของนักประสาทวิทยาศาสตร์รองรับว่ามนุษย์จดจำเหตุการณ์เลวร้ายได้มากกว่าเหตุการณ์ที่ดี เพราะมนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เด็กที่ถูกลงโทษด้วยการขังในห้องน้ำจะกลายเป็นคนกลัวที่แคบ เด็กที่ถูกดุด่าตลอดเวลาก็จะพยายามทำให้ใครต่อใครพอใจ เพราะไม่อยากถูกตะคอก เป็นต้น

กิจกรรมสำหรับหน่วยการเรียนรู้นี้มีชื่อว่า “เลี้ยงน้อง” โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเลี้ยงลูกโป่งด้วยมือสองข้าง ตีเบา ๆ ให้ลูกโป่งลอยอยู่ระดับสายตาและห้ามออกจากแผ่นโฟมที่เหยียบอยู่ จากนั้นเลี้ยงลูกด้วยมือเดียวและตีออกไปไกลขึ้น โดยยังเหยียบแผ่นโฟมแผ่นเดิม กิจกรรมนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ จากการประคับประคองเต็มที่สู่การเฝ้าดูอยู่ห่างๆ และแสดงออกว่าหากพวกเขาต้องการ จะมีมือที่คอยโอบอุ้มและพื้นที่ปลอดภัยให้กลับมาหายามเหนื่อยล้าเสมอ

 

มนุษย์จดจำเหตุการณ์เลวร้ายได้มากกว่าเหตุการณ์ที่ดี เพราะมนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เด็กที่ถูกลงโทษด้วยการขังในห้องน้ำจะกลายเป็นคนกลัวที่แคบ เด็กที่ถูกดุด่าตลอดเวลาก็จะพยายามทำให้ใครต่อใครพอใจ เพราะไม่อยากถูกตะคอก เป็นต้น

 

หน่วยที่ 3 การเห็นคุณค่าในตัวเอง

 

หน่วยการเรียนรู้สุดท้ายคือการทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งจำเป็นต่อการรับมือความท้าทายและก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิต

“ความสำคัญของการเห็นคุณค่าในตัวเอง คือแม้สภาพแวดล้อมจะไม่เชื่อในตัวเรา แต่เรายังเชื่อในตัวเองได้ แม้วันนี้ยังทำบางสิ่งไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าฉันแย่ ฉันยังฝึกฝนได้ สิ่งนี้มีประโยชน์ที่สุดในช่วงเวลาที่สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นในชีวิต บางคนที่อยู่กับความสำเร็จมาตลอด เมื่อพบความล้มเหลวมักรู้สึกว่ามันหนักหนา เพราะความมั่นใจที่เขามีเป็นสิ่งที่คนอื่นมอบให้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวเอง ความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองคือการเชื่อว่าฉันเป็นตัวเองได้ และเชื่อว่าตัวเองทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ไม่มีใครจะมาพรากคุณค่านั้นไปได้”

การเห็นคุณค่าของตัวเองจะเกิดขึ้นในช่วงวัย 5 – 12 ปี เป็นวัยที่เด็กเรียนรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น และถึงแม้จะทำได้ไม่ดีเท่า ก็ไม่ได้ความว่าความพ่ายแพ้นั้นจะคงอยู่ตลอดไป

“เด็กวัยประมาณ ป.1 จะต้องเรียนรู้ความจริงบนโลกหนึ่งข้อ นั่นคือ ‘ฉันไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด’ การรับรู้ความล้มเหลวไม่ควรเกิดขึ้นก่อนวัย 5 ปี เพราะเป็นช่วงที่เด็กยังเรียนรู้อำนาจในตนเอง หลัง 5 ปี การยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (egocentric) ของเด็กจะลดลง เริ่มเห็นว่าเพื่อนทำอะไรได้และเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น”

 

“เด็กวัยประมาณ ป.1 จะต้องเรียนรู้ความจริงบนโลกหนึ่งข้อ นั่นคือ ‘ฉันไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด’ การรับรู้ความล้มเหลวไม่ควรเกิดขึ้นก่อนวัย 5 ปี เพราะเป็นช่วงที่เด็กยังเรียนรู้อำนาจในตนเอง หลัง 5 ปี การยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (egocentric) ของเด็กจะลดลง เริ่มเห็นว่าเพื่อนทำอะไรได้และเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น”

 

อย่างไรก็ตาม ครูเมย้ำว่าการเปรียบเทียบนั้นเป็นธรรมชาติ เพราะเด็กต้องรู้เรียนว่าตัวเองทำอะไรได้ และแม้ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เด็กจะเห็นคุณค่าในตัวเองมากหรือน้อยอยู่ที่ขั้นนี้ สิ่งที่ผู้ใหญ่พูดกับเด็กในเวลานี้จึงสำคัญมาก หากพูดว่า ‘ไม่เป็นไรนะ ลองใหม่ ทำใหม่’ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าตนไม่ใช่ผู้แพ้ตลอดกาล แต่หากพูดว่า ‘ทำไมสอนแล้วไม่รู้จักจำ สมควรแล้วละ’ เด็กก็จะลดความเคารพตัวเองลง

“ในวัยนี้ ถ้าพ่อแม่เลือกใช้อารมณ์กับลูก เขาจะได้พัฒนาการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุและผล แต่ถ้าพ่อแม่ใช้เหตุและผล เด็กจะได้พัฒนาความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น ปัจจัยสำคัญคือการตอบสนองของผู้ใหญ่ เวลาที่เด็กทำอะไรไม่ได้ ถ้าผู้ใหญ่บอกว่า ‘ลองใหม่ไหม ลองใช้วิธีอื่นไหม’ เด็กก็จะมีกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ไม่พบทางตัน”

ด้วยเหตุนี้ เด็กในวัยนี้จึงต้องการผู้ใหญ่ที่เปิดโอกาสและให้ทางเลือกแก่พวกเขา ครูเมผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กมากหน้าหลายตาพบว่า หลายครั้งที่มีปัญหา แล้วผู้ใหญ่ให้ทางเลือกกับเด็ก เด็กมักจะเลือกสิ่งที่เหมาะสม แต่ถ้าผู้ใหญ่สั่งว่าอย่า หรือหยุด โดยไม่บอกว่าควรทำอะไร เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตน้อยก็จะเห็นทางเลือกในชีวิตไม่กี่ทาง ไม่ได้เรียนรู้ว่าการที่พวกเขาทำบางสิ่งไม่ได้ในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าชีวิตล้มเหลวแล้ว ไม่ได้รับรู้ว่าตนเลือกใหม่ได้เสมอ

สำหรับแนวทางสร้างเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น ครูเมนำพีระมิดลำดับชั้นความต้องการ (Hierarchy of Needs) ของอับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) มาใช้ในการอธิบาย โดยพีระมิดนี้มีทั้งหมดห้าชั้น เป็นความต้องการที่ต้องเติมให้เต็มเสียก่อนจากฐานจึงจะขึ้นไปถึงยอดได้ ชั้นแรกเป็นความต้องการพื้นฐานอย่างอาหาร น้ำ ความอบอุ่น และการพักผ่อน ชั้นต่อมาเป็นความต้องการด้านความรู้สึก ความรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยและมั่นคง ชั้นที่สามคือความรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ต้องการ มีคุณค่า ซึ่งเด็กจะรับรู้ได้จากความรักที่พ่อแม่แสดงออก การชื่นชม การเป็นที่มองเห็น หรือการรับรู้ว่าตัวเองทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง

 

 

ขณะที่ชั้นที่สี่ของพีระมิดคือความต้องการมีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กได้เป็นเจ้าของร่างกาย ลงมือทำทุกอย่างในชีวิต ความต้องการที่ได้รับการเติมเต็มในชั้นนนี้ก็จะพาพวกเขาขึ้นไปถึงยอดพีระมิดคือความตระหนักว่าตัวเองมีศักยภาพมากเพียงใด (self-actualization) ผ่านการรับรู้ว่าตัวเองมีความสามารถ ทำสิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่าต่อโลกนี้ได้ เป็นคุณสมบัติที่ส่งผลห่างจากตัวเองออกไปสู่โลกภายนอก

กระนั้น ครูเมเตือนว่า “ถ้าข้างในไม่เต็ม ข้างนอกก็ไม่เกิด การเห็นคุณค่าของตัวเองต้องมาจากการลงมือทำแล้วสะท้อนความรู้สึกนั้นกลับสู่ภายใน การเติมเต็มเป็นประสบการณ์สองทาง ถ้าเด็กทำแล้วไม่ได้รับการมองเห็น เขาก็ไม่ได้รับการตอบสนอง การตอบสนองของผู้ใหญ่สำคัญมาก ว่าเด็กจะมีความรู้สึกเชิงบวกหรือลบต่อตัวเอง ถ้าเด็กทำผิด ให้เขารับผิดชอบ ไม่ใช่ทำให้หวาดกลัว”

อีกคำหนึ่งที่คนมักใช้คู่กันคือความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งครูเมบอกว่ามีความหมายแตกต่างจากการเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะความมั่นใจเกิดจากการได้รับการตอบสนอง แล้วรู้ว่าคนอื่นรู้สึกดีกับตัวเอง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ เด็กจะรับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าโดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำยืนยันจากผู้อื่น และกลายเป็นการเห็นคุณค่าในตัวเองในภายหลัง

การเห็นคุณค่าของตัวเองต้องมาจากการลงมือทำแล้วสะท้อนความรู้สึกนั้นกลับสู่ภายใน การเติมเต็มเป็นประสบการณ์สองทาง ถ้าเด็กทำแล้วไม่ได้รับการมองเห็น เขาก็ไม่ได้รับการตอบสนอง การตอบสนองของผู้ใหญ่สำคัญมาก ว่าเด็กจะมีความรู้สึกเชิงบวกหรือลบต่อตัวเอง ถ้าเด็กทำผิด ให้เขารับผิดชอบ ไม่ใช่ทำให้หวาดกลัว

 

องค์ความรู้ใหม่นี้นำมาสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง โดยครูเมชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลองทบทวนว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้จำเป็นต้องทำได้ดีหรือเก่งกว่าคนอื่นก็ได้ แต่รู้สึกชอบมัน หากใครยังคิดไม่ออก ไม่จำเป็นต้องคิดให้ออกในตอนนี้ แต่ให้กลับไปทบทวนโดยไม่บีบคั้นตัวเอง โดยสิ่งที่เธอต้องการให้ทุกคนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนี้ คือการไม่คาดหวังความสมบูรณ์แบบจากตัวเอง ท้ายที่สุด พ่อแม่เองก็โกรธหรือเสียใจกับลูกได้ เพราะพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ การปล่อยให้ตัวเองเติบโตไปพร้อมกับลูกจะเป็นผลดีต่อครอบครัวมากกว่า

เพราะ “เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดีจากการที่เราเป็นเรา แต่ต้องเป็นเราที่ควบคุมอารมณ์ได้นะ เป็นเราที่พร้อมแบ่งปันว่า ประสบการณ์แบบนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง เราไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ที่ดีพร้อม เป็นครูที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นคนธรรมดาที่เรียนรู้ เติบโตไปกับเด็กก็พอ”

การยอมรับข้อจำกัดของตัวเองจะนำไปสู่การยอมรับข้อจำกัดของผู้อื่น และการหยุดพยายามควบคุมหรือบังคับเด็ก “มันทำให้เราเป็นมนุษย์ที่เป็นมนุษย์จริง ๆ มองเห็นข้อดี ยอมรับข้อเสีย เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเด็กจะเห็นคุณค่าในตัวเองได้ ก็เกิดจากการที่ผู้ใหญ่ยอมรับในตัวเองด้วยว่า เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเพื่อสอนลูก แต่ต้องเติบโตเป็น เรียนรู้ไปกับเขาได้”

แล้วครูเมก็พาทุกคนมาถึงกิจกรรมสุดท้าย คือ “Trust Myself” ที่มีกติกาคือ ทุกคนจะต้องหลับตาเดินบนทางแผ่นโฟมที่วางไว้อย่างสะเปะสะปะไปยังจุดหมาย ก่อนจะเดิน ทุกคนสามารถกะเกณฑ์ทิศทางการเดินของตัวเองได้ ด้วยการสังเกตแผ่นโฟมและจดจำเส้นทางคร่าว ๆ

เธอบอกว่าในกิจกรรมนี้ ทุกคนต้องอาศัยทั้งอำนาจในตนเอง การควบคุมตนเอง และการเห็นคุณค่าในตนเองเพื่อไปถึงจุดหมาย

“ขั้นแรกต้องมองเห็นเส้นทาง การที่เด็กคนหนึ่งจะกล้าหรือไม่กล้าทำบางอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าเขาเข้าใจสิ่งที่เห็นตรงหน้าไหม รู้ไหมว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง นั่นคือการเห็นเส้นทาง หรือการรู้จักตัวเองเพียงพอ มีอำนาจในตนเอง เมื่อมีแล้วก็เดินได้ บางคนใช้เท้าหยั่งดูก่อน แสดงว่าเชื่อในร่างกายของตัวเองพอสมควร เมื่อจะทำงานใหญ่สักชิ้น เราจำเป็นต้องเชื่อว่าศักยภาพร่างกายของเราพาเราไปได้”

จากนั้น ความสามารถในการกำกับดูแลตนเองก็จะมีบทบาทเมื่อทุกคนตัดสินใจว่าจะเดินไปทางใดจึงจะไม่ตกจากแผ่นโฟม ครูเมบอกว่าเด็กก็ต้องการความเชื่อมั่นเดียวกันนี้เอง และต้องการคำแนะนำว่าจะเดินอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่การบอกว่าจะเดินไปอย่างไร การเลือก การรับผิดชอบต่อสิ่งที่เลือก และการลงมือทำ จึงจำเป็นต่อการสร้างความรู้สึกว่าตนหาเส้นทางไปต่อในชีวิตได้ ดูแลตัวเองได้ และเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้เสมอ

“สุดท้าย ด้วยการหลับตานั้น ทุกคนต้องใช้ความเชื่อมั่นในตัวเองในระดับหนึ่ง คนเราไม่มีทางรู้ว่าก้าวไปทางนี้แล้วจะสำเร็จไหม ไม่มีใครรับประกันได้ว่าทำบางสิ่งแล้วจะดีจริงๆ เด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้เหมือนกัน แต่ในที่สุด ความสำเร็จที่เกิดจากการเลือกนั้นก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเด็กคนนั้นหรือผู้ใหญ่คนหนึ่งเห็นคุณค่าในตัวเองหรือไม่ ตัวชี้วัดที่แท้จริงคือการไม่ยินยอมให้ใครมาลดทอนคุณค่าของตัวเอง หรือการเป็นตัวเองได้เสมอแม้เผชิญความล้มเหลว เป็นความมั่นใจในตัวเองที่ไม่ถูกบั่นทอนโดยสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ”

เธอบอกว่าการเห็นคุณค่าในตัวเองคือการเรียนรู้ว่าในการเดินทางไปถึงจุดหมายนั้น ทุกคนพักได้ จะไปช้าหรือไปเร็วก็ได้ เหนื่อยก็พักเสียก่อน โดยไม่มีความอับอายในความล้มเหลว การไปถึงปลายทางหรือไม่เป็นเพียงผลลัพธ์ เพราะความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะไปถึงปลายทางได้มีความหมายต่อชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งมากกว่า

บางครั้ง กิจกรรมที่บ่มเพาะเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นคนที่อยู่เองได้ โตเองเป็น ก็ขัดเกลาผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเรียนรู้ได้เช่นกัน การมีโอกาสเรียนรู้และมีหัวใจที่เปิดกว้างพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงสำคัญ เพราะด้วยการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น เราจึงจะเผื่อแผ่ความเข้าอกเข้าใจ และยื่นมือออกไปช่วยเหลือเด็กๆ ที่เพิ่งตั้งไข่บนเส้นทางสู่การหยัดยืนด้วยตัวเองสายนี้ได้จริง

 

อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

416 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่