Brief – Workshop “สอนให้รุ่ง: ปั้นห้องเรียนแห่งอนาคตเพื่อเด็กทุกคน”

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

หลายคนอาจไม่ตระหนักว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสำคัญต่อระบบการศึกษาอย่างไร

ปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้ว การระบาดของโรคติดเชื้อ-19 เริ่มทวีความรุนแรงในไทย โรคระบาดนี้ไม่เพียงเขย่าความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมอย่างรุนแรง ทว่ายังซ้ำเติมทุกมิติของความเหลื่อมล้ำที่กัดกินสังคมไทยมาช้านาน เมื่อโรงเรียนและสถานประกอบการหลายแห่งถูกปิด ครู ผู้ปกครอง และเด็กต้องอพยพจากสภาพแวดล้อมปกติสู่แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ ก่อนถูกโบยตีซ้ำด้วยรายได้ที่หดหาย นำไปสู่การหลุดจากระบบการศึกษาและปัญหาสุขภาพจิตของเด็กจำนวนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะเด็กๆ ยากจนที่เป็นเสมือน ‘ด่านหน้า’ ต้องเผชิญหายนะก่อนใครเพื่อน

หนึ่งปีผ่านไป เดือนมีนาคมก็ยังเป็นเดือนแห่งความหวาดผวาเมื่อการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเริ่มก่อตัว แผลเก่ายังรักษาไม่หาย แผลใหม่ก็ร่ำๆ จะลุกลามเป็นเนื้อร้ายยากต่อกร ครูและผู้ปรารถนาดีทั้งหลายจะทำอย่างไรได้ นอกจากลับเขี้ยวเล็บ พัฒนาตนเองอย่างสุดความสามารถเพื่อโอบอุ้มเด็กๆ ในวันนี้ให้ปลอดภัย

จึงเป็นที่มาของเวิร์กช็อป “สอนให้รุ่ง: ปั้นห้องเรียนแห่งอนาคตเพื่อเด็กทุกคน” ซึ่งต่อยอดจากเนื้อหาหนังสือชั้นนำว่าด้วยการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางทางสังคมให้เติบโตได้อย่างมั่นใจและประสบความสำเร็จทัดเทียมกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน และ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน

 

ก่อนจะ ‘สอนให้รุ่ง’ ต้องเคย ‘สอนแล้วร่วง’

‘ก๋วย พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และเลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตา เพราะเป็นทั้งกระบวนกรและวิทยากรเจ้าประจำผู้ต่อสู้เพื่อยกระดับการจัดการเรียนรู้มายาวนาน เริ่มการเวิร์กช็อปด้วยการให้ผู้เข้าร่วมแนะนำตัวสั้นๆ พร้อมบอกประสบการณ์การทำงานร่วมกับเด็ก

“หลากหลายมากเลยนะนี่” คือความคิดเห็นแรกของเขาเมื่อการแนะนำตัวสิ้นสุด เพราะผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปนั้นมาจากหลากหลายจังหวัด เป็นทั้งครู อาจารย์มหาวิทยาลัย แม่ และผู้พัฒนาแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กทั่วประเทศ พวกเขาล้วนมีประสบการณ์ตรงในการพัฒนาเด็กๆ กลุ่มเปราะบางทางสังคม และต่างพบ ‘ทางตัน’ ที่ไม่อาจฝ่าไปได้โดยปราศจากพลังใจ และการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายนักการศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจน ‘ความเข้าใจ’ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้

ก่อนจะรู้ว่า ‘สอนให้รุ่ง เป็นอย่างไร ก๋วยจึงชักชวนทุกคนให้แบ่งปันประสบการณ์ถึง ‘ทางตัน’ ที่ว่านั้นก่อน ในกิจกรรม ‘สอนแล้วร่วง ที่ครูทุกคนต้องเผชิญอย่างน้อยครั้งหนึ่งตลอดการประกอบอาชีพ และแน่นอนว่ามีผู้พร้อมแบ่งปันความทรงจำนั้นทันที

“ดิฉันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ก่อนก็เคยแลกเปลี่ยนกับเพื่อร่วมอาชีพว่า ‘เด็กสมัยนี้’ มีความคาดหวังสูงเหลือเกิน แต่ไม่ทุ่มเทเพื่ออะไรเอาเสียเลย สั่งงานไปก็เอาแต่ต่อรอง แต่ลืมคิดไปว่า นั่นเป็นเพียงความรู้สึกของเรา ไม่ใช่ข้อเท็จจริง” ผู้ร่วมเวิร์กช็อปอธิบาย “ดิฉันเริ่มฉุกคิดได้ก็เมื่อปล่อยให้พวกเขาทำงานที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ปรากฏว่าเด็กๆ ทำได้ดีมาก และก็ฉุกคิดได้อีกครั้งเมื่อสอนนักศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบและแง่มุมต่างๆ ของการมีเพศสัมพันธ์ ปรากฏว่าเด็กๆ ขำกัน ผู้หญิงก็หัวเราะคิกๆ คักๆ เพราะพวกเขาเข้าใจเนื้อหาที่เรากำลังพูดดีอยู่แล้ว เข้าใจลึกซึ้งกว่าที่เราคิดด้วย”

 

เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ก่อนเคยแลกเปลี่ยนกับเพื่อร่วมอาชีพว่า ‘เด็กสมัยนี้’ มีความคาดหวังสูงเหลือเกิน แต่ไม่ทุ่มเทเพื่ออะไรเอาเสียเลย สั่งงานไปก็เอาแต่ต่อรอง แต่ลืมคิดไปว่า นั่นเป็นเพียงความรู้สึกของเรา ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

 

เป็นการฉุกคิดที่น่าสนใจทีเดียว “แต่พวกเขาไม่ได้ต่อต้านอะไรเราหรอก ที่ขำเพราะรู้ว่าเราทำไปด้วยความรัก แต่มันเป็นความรักที่เชยเหลือเกิน” เธอขยายความ “นั่นเป็นสัญญาณว่าเราไม่เคยรู้จักเขา ไม่เคยแลกเปลี่ยนความเข้าใจอะไรกับเขา และความไม่เข้าใจกันในปัจจุบันก็นำไปสู่การปะทะที่รุนแรงได้มากกว่าแต่ก่อน เพราะเด็กๆ รุ่นนี้ไม่ใช่เด็กประเภทที่จะยอมผู้ใหญ่ท่าเดียวแล้ว”

ครูอีกคนหนึ่งก็มีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน “แรกๆ ก็คิดว่าที่ลูกศิษย์บางคนหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือเรียนได้ไม่ดีเพราะทำตัวเอง แต่ไม่ช้าก็พบว่าที่พวกเขาหลุดออกไป หลายครั้งไม่ใช่เพราะเด็กๆ เลย แต่เพราะสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กต่างหาก จนเสียใจที่ตัวเองไม่เคยพยายามทำความเข้าใจลูกศิษย์หรือแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดเลย”

ขณะที่ความทรงจำของครูอีกคนเจ็บปวดกว่านั้น “ทราบจากป้ามล (ทิชา ณ นคร) ว่าไทยมีคุกสำหรับเด็กถึงยี่สิบแห่ง และเด็กที่เข้าไปในวงจรนั้นแล้วก็จะวนเวียนเข้า-ออกอยู่อย่างนั้นทั้งคุกเด็กและคุกผู้ใหญ่” เธอบอก “ที่โรงเรียนก็มีเด็กที่ประสบปัญหาด้านการเรียนและต้องเข้าคุกหรือออกจากโรงเรียนกลางคัน และก็เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออกคุกอยู่อย่างนั้นจริงๆ ครูก็ได้แต่จนใจไม่รู้จะทำอย่างไร บางคนเข้าคุกแล้ว ออกมาแล้ว วันหนึ่งก็กลับมางัดบ้านพักครู แล้วครูก็ต้องเซ็นเอกสารส่งอดีตลูกศิษย์กลับเข้าคุกอีกครั้ง เจ็บปวดมากนะ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นครูที่ล้มเหลวเหลือเกินมาตลอดชีวิต และก็เพิ่งรู้เร็วๆ นี้ด้วยว่า งบประมาณสำหรับดูแลผู้ต้องขังอยู่ที่วันละ 20 ล้านบาท ตกใจนะ ควรแก้ไขปัญหาคุกล้นจริงๆ จังๆ ได้แล้ว”

 

ที่โรงเรียนจะมีเด็กที่ประสบปัญหาด้านการเรียนและต้องเข้าคุกหรือออกจากโรงเรียนกลางคัน และก็เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออกคุกอยู่อย่างนั้นจริงๆ บางคนเข้าคุกแล้ว ออกมาแล้ว วันหนึ่งก็กลับมางัดบ้านพักครู แล้วครูก็ต้องเซ็นเอกสารส่งอดีตลูกศิษย์กลับเข้าคุกอีกครั้ง เจ็บปวดมากนะ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นครูที่ล้มเหลวเหลือเกินมาตลอดชีวิต

 

หากนำสามประสบการณ์สอนแล้วร่วงนี้มาเปรียบเทียบกัน อาจเห็นได้ชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของการสอนแล้วร่วง ไม่อาจพาเด็กๆ ไปสู่ฝั่งฝันได้จริงกลับไม่ใช่อื่นไกล ทว่าเป็นความไม่เข้าใจ การไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็ก ไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร มีทักษะอะไร ต้องการการส่งเสริมแบบใด และกำลังเผชิญปัญหาใดในชีวิตนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นคือการทึกทักเองว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไรและจะลงเอยเป็นเช่นไรในอนาคต นำไปสู่การตีตรา การแก้ไขปัญหาที่ชะงักงัน และความเจ็บปวดของทั้งสองฝ่าย

 

‘การตีตรา’ อุปสรรคของการพัฒนาเด็ก

เพียงระหว่างการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ร่วมเวิร์กช็อป ก็อาจเห็นเค้าลางของการตีตราและผลกระทบของการตีตราเด็กได้รางๆ

‘เด็กสมัยนี้ก็เป็นอย่างนี้’ ‘เด็กจำพวกนี้ไม่มีวันประสบความสำเร็จ’ ‘กลับออกจากคุกแล้ว เดี๋ยวก็คงต้องกลับเข้าไปอีก’ การด่วนสรุปว่าเด็กคนหนึ่ง ‘เข็นไม่ขึ้น’ แล้วไม่เคยเป็นประโยชน์ต่อใคร เพราะนอกจากเป็นสาเหตุหลักของการสอนแล้วร่วง ยังนำไปสู่ความท้อถอยของครูและผู้ปกครอง ยิ่งตอกลิ่มในปัญหาการศึกษาจนร้าวลึก

ก๋วยอธิบายว่าการร่วงหล่นของเด็กประกอบด้วยสี่ปัจจัยหนุน ได้แก่ ครูที่ขาดความเข้าใจ มีอคติต่อเด็ก ไม่ว่าจะด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ทักษะ หรือบุคลิกภาพ นักเรียนผู้ประสบปัญหาอยู่เดิมจากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมพวกเขาขณะเติบโต แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์ อันต่อยอดมาจากความไม่เข้าใจและอคตินั้น ตลอดจนสภาพแวดล้อม หรือต้นตอแห่งปัญหาที่กีดกันเด็กคนหนึ่งจากความเชื่อมั่นในตนเองและความใฝ่เรียนรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน

 

 

ปัจจัยเหล่านี้ถูกซ้ำเติมด้วยมายาคติในระบบการศึกษาที่บอกว่า “คนเก่งเท่านั้นที่ได้ไปต่อ” “คนทุ่มเทเท่านั้นที่ควรได้รับโอกาส” และผูกตาผู้ใหญ่ไม่ให้เห็นองค์ประกอบผุพังอื่นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยที่มาของมายาคติดังกล่าวคือ ความกลัว ในระบบการศึกษา กลัวว่าจะไม่เหมือนกัน ไม่ทันใคร ทั้งที่ทุกคนมีทักษะและกระบวนการเรียนรู้แตกต่างกัน อันเนื่องมาจาก การแข่งขัน ที่ถูกยัดเยียดให้เด็กๆ ผ่านแบบทดสอบมาตรฐานและการกะเกณฑ์ความสามารถที่สังคมให้คุณค่า

นอกจากนี้ อำนาจนิยม ในระบบการศึกษา ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า ควบคุม การจัดการศึกษาและปิดประตูสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

“มีใครเคยถูกตีตราบ้างไหม เคยได้ยินคำตำหนิจากเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่ทำให้รู้สึกแย่จนฝังใจบ้างหรือเปล่า” ทันที่กระบวนกรถามก็มีผู้ตอบทันที และคงไม่ใช่เธอเท่านั้นที่เคยเผชิญสถานการณ์ดังกล่าว

 

อำนาจนิยม ในระบบการศึกษา ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า ควบคุม การจัดการศึกษาและปิดประตูสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

 

“แต่ก่อนเป็นนักเรียนหญิงที่ไม่เรียบร้อยนัก เคยตัดสินใจผิดพลาดจนเกือบต้องเข้าคุกเด็ก ถูกควบคุมความประพฤติ และต้องตรวจปัสสาวะประจำ” เธอบอก “พ่อแม่ไม่เคยมีเวลาให้เรา แต่ก็ไม่มีใครใส่ใจจะถามว่าทำไมเรากลายเป็นแบบนี้ ครูมีแต่จะตัดสินว่าเราไปไม่รอดแน่ จนเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วก็ยังถูกตัดสินด้วยคำเดิม ว่าไปไม่รอดหรอก เด็กคนนี้คงไปได้ไม่ไกล”

ความเชื่อว่าใครเป็นอย่างไรแล้วต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไปเป็นผลพวงของกรอบความคิดแบบตายตัว (fixed mindset) อันเป็นเครื่องฉุดรั้งการพัฒนา กรอบความคิดแบบตายตัวเป็นเสมือนปราการด่านแรกที่ผลักเด็กๆ กลุ่มเปราะบางทางสังคมออกจากระบบการศึกษา และอาวุธเดียวที่จะต้านทานกรอบความคิดเช่นนี้ได้ ก็มีแต่กรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเด็กในหนังสือสองเล่มนี้เท่านั้น

กรอบความคิดแบบเติบโตคือกรอบความคิดที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาตนเองได้ ความบกพร่องใดๆ ในวันนี้ เป็นเพียงความบกพร่องชั่วคราว ไม่ใช่ความล้มเหลวตลอดชีวิต โดย ‘ปั้นให้รุ่ง’ เน้นสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ขณะที่ ‘สอนเปลี่ยนชีวิต’ ให้แนวทางสร้างกรอบความคิดดังกล่าวผ่านจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน

ดูเหมือนระบบการศึกษาไทยจะมีความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว

 

จุดเริ่มต้นของ ‘กรอบความคิดแบบเติบโต’

ก่อนจะเริ่มเรียนรู้แนวทางสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปจะได้ตรวจสอบตนเองเป็นครั้งแรกว่า พวกเขาเองมีกรอบความคิดแบบเติบโตหรือไม่ เพียงตอบว่า ‘ไม่’ หรือ ‘ใช่’ ต่อคำถามต่อไปนี้

 

ฉันมักจะให้นักเรียนทำงานที่ฉันรู้ดีว่าพวกเขาทำได้แน่ๆ

ฉันไม่ชอบบอกเล่าข้อมูลส่วนตัวให้นักเรียนฟัง

ฉันถูกจ้างให้มาสอนหนังสือเป็นหลัก

ชีวิตของนักเรียนไม่ใช่เรื่องที่ฉันจะต้องเข้าไปยุ่ง

ถ้าไม่มีปัญหาอะไรฉันไม่เข้าหาผู้ปกครองเด็กแน่ๆ

ฉันรู้สึกว่าฉันทนพ่อแม่ที่เฝ้าตามลูกแจไม่ไหวจริงๆ

ที่มาเป็นครู ฉันไม่ได้มาหาเพื่อน ฉันมาเพื่อสอน

ครูคนอื่นจะปฏิบัติอย่างไรในชั้นเรียนของเขาไม่เกี่ยวกับฉัน

พ่อแม่ผู้ปกครองที่มาประชุมไม่ได้คงเป็นพวกไม่ใส่ใจการเรียนของลูกสักเท่าไหร่

ฝ่ายบริหารมาสังเกตการสอนแค่ปีละสองสามครั้ง ฉันเลยไม่สนใจเท่าไหร่ว่าพวกเขาจะฟีดแบ็กอย่างไร

 

ถ้าตอบว่า ไม่ เกือบทุกข้อ ก็นับว่ามีกรอบความคิดแบบเติบโตที่เข้มแข็ง! พร้อมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ผู้ปกครอง และเพื่อนร่วมอาชีพ ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ การสร้างความร่วมมือและสายสัมพันธ์เพื่อเกื้อกูลเด็กๆ นั้นสำคัญมาก เพราะลำพังครูคนเดียวย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กได้แน่ และในที่สุดความล้มเหลวดังกล่วก็จะนำไปสู่อคติและกรอบความคิดแบบตายตัวซึ่งปิดตายเส้นทางสู่ความสำเร็จของเยาวชน

 

 

‘ปั้นให้รุ่ง’ อธิบายว่าเครื่องมือสำคัญยิ่งในการพัฒนาเด็กยากจนและด้อยโอกาสคือการพัฒนา “ทักษะด้านพฤติกรรม” (noncognitive skills) ของพวกเขา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าทักษะทางอารมณ์และสังคม (soft skills) ซึ่งประกอบด้วย “อุปนิสัยที่เป็นจุดแข็ง” ผลักดันเด็กเหล่านี้ให้ก้าวข้ามความยากเข็ญในชีวิตไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อว่าตนเองเติบโตได้ ประสบความสำเร็จได้ จึงไม่ลังเลที่จะประสานความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือ และทุ่มเทกำลังเพื่อพัฒนาตนเอง หรือความอดทนอดกลั้น การควบคุมตนเอง และการมองโลกในแง่ดี

อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิดและเครื่องบ่มเพาะทักษะดังกล่าวคือปฏิสัมพันธ์และความผูกพันกับผู้ใหญ่ผู้ให้ความช่วยเหลือ ขณะที่เด็กกลุ่มยากจนมีแนวโน้มถูกปล่อยปละละเลยจากสมาชิกครอบครัว จึงขาดกระทั่งปฏิสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างผู้ใหญ่และเด็กหรือ “ปฏิสัมพันธ์แบบส่งและสนองกลับ” (serve and return interactions) อันเป็นประสบการณ์สำคัญที่สุดในวัยทารก เกิดจากการให้ความสนใจและตอบสนองต่อเสียงร้องของเด็กด้วยสีหน้า คำพูด และท่าทางต่างๆ ของผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้เซลล์ประสาทของเด็กส่วนที่เชื่อมต่อกับส่วนควบคุมความรู้สึก ความรับรู้ ภาษา และความจำแข็งแกร่ง มีพัฒนาการสมวัย

ด้วยเหตุนี้ เด็กยากจนจึงมีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติเชิงลบต่อตนเองอยู่เดิม เมื่อรวมกับอคติและการตีตราของสังคม กรอบความคิดแบบตายตัวของพวกเขายิ่งแข็งแรง ลุกลามเป็นวงจรแห่งความล้มเหลวและยากจนที่ไม่สิ้นสุด การรู้จักและทำความเข้าใจเด็กทุกคนอย่างลึกซึ้งผ่านการสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองและหน่วยงานต่างๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดแผนพัฒนาและให้การสนับสนุนพวกเขาอย่างตรงจุด ตลอดจนมีประสิทธิภาพต่อไป

เด็กยากจนจึงมีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติเชิงลบต่อตนเองอยู่เดิม เมื่อรวมกับอคติและการตีตราของสังคม กรอบความคิดแบบตายตัวของพวกเขายิ่งแข็งแรง การรู้จักและทำความเข้าใจเด็กทุกคนอย่างลึกซึ้งจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดแผนพัฒนาและให้การสนับสนุนพวกเขาอย่างตรงจุด

 

‘ฮาวทู’ สร้างกรอบความคิดแบบเติบโตในชั้นเรียน

เมื่อเข้าใจสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเด็กยากจน และได้ประสานความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว ก็ถึงเวลาเรียนรู้ว่าในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง ครูทำอะไรในชั้นเรียนเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้บ้าง

ได้เวลาฉายแสงของ ‘สอนเปลี่ยนชีวิต’ หนังสือที่จำแนกชุดความคิดซึ่งสนับสนุนกรอบความคิดแบบเติบโตเป็นเจ็ดประเภท และชี้แนะแนวทางพัฒนากรอบความคิดดังกล่าวสำหรับครู ตลอดจนกลเม็ดสร้างชุดความคิดเดียวกันในชั้นเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กๆ ใช้เวลาด้วยมากที่สุดในวัยแห่งการเติบใหญ่และเปลี่ยนแปลง

และชุดความคิดที่ว่านั้น ก็คือ 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน นั่นเอง

 

ชุดความคิดสานสัมพันธ์

ชุดความคิดนี้เน้นการพัฒนาสายสัมพันธ์และความเอาใจใส่ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นรายบุคคล เพราะความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองฝ่ายจะส่งผลต่อการสำเร็จการศึกษา ตลอดจนระดับการศึกษาของนักเรียน และลดอิทธิพลของภูมิหลังทางเศรษฐกิจที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของพวกเขาด้วย

ข่าวดีคือความสัมพันธ์อันดีนั้นเริ่มต้นได้ง่าย เพียงจำชื่อนักเรียนให้ขึ้นใจ ทำให้พวกเขามีตัวตนในชั้นเรียน และรับรู้ว่าครูห่วงใยพวกเขาเช่นกัน นอกจากนี้ครูยังสามารถแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกับนักเรียนโดยไม่ตัดสินพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย

 

 

ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ

อย่าด่วนตัดสินว่าเด็กที่มีบุคลิกภาพหรือคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ หลีกเลี่ยงถ้อยคำสร้างความท้อถอยเมื่อพวกเขาล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำบั่นทอนกำลังใจ หรือประโยคที่หลายคนไม่เคยรู้ว่าบั่นทอนกำลังใจอย่าง “เธอทำดีที่สุดแล้วละ” “ช่างเถอะ เธอยังมีดีอีกหลายด้าน” เพราะจะทำให้นักเรียนลดระดับความคาดหวังในตนเอง และนำไปสู่ผลลัพธ์อันตกต่ำซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาว

 

ชุดความคิดเชิงบวก

ชุดความคิดเชิงบวกพัฒนาได้ด้วยการบ่มเพาะอารมณ์เชิงบวกในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยแนวทางบ่มเพาะอารมณ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่อะไรที่เหลือบ่ากว่าแรงครูเริ่มต้นได้ง่ายๆ เพียงลองให้เด็กๆ ร่วมกันเขียนข้อความเชิงบวกต่อผลงานของตนเองและเพื่อน หรือตั้งคำถามเพื่อปรับมุมมองของพวกเขาต่อความล้มเหลวต่างๆ อาทิ ถามพวกเขาว่า “นักเรียนไม่ได้รับการตอบรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เลือกเป็นอันดับแรก เหตุการณ์นี้จะเห็นเป็นเรื่องดีได้อย่างไร”

 

ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์

บรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์คือบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพียงสร้างห้องเรียนที่มีความปลอดภัยทางร่างกายและอารมณ์ โดยนักเรียนต้องมั่นใจว่าพวกเขาสามารถบอกเล่าความต้องการของตนได้โดยไม่ถูกครูหรือเพื่อนร่วมชั้นตัดสิน และจะได้รับความยุติธรรมเสมอหากมีข้อขัดแย้ง อันจะนำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของชั้นเรียน ความใฝ่เรียนรู้ และการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

อย่าด่วนตัดสินว่าเด็กที่มีบุคลิกภาพหรือคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ หลีกเลี่ยงถ้อยคำสร้างความท้อถอยเมื่อพวกเขาล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำบั่นทอนกำลังใจ หรือประโยคที่หลายคนไม่เคยรู้ว่าบั่นทอนกำลังใจอย่าง “เธอทำดีที่สุดแล้วละ”

 

ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพ

ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพจะส่งผลต่อวิธีอธิบายว่าตนเองหรือผู้อื่นประสบความล้มเหลวได้อย่างไร อย่าปล่อยให้นักเรียนคิดว่าสาเหตุของความล้มเหลวคือบางสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้เช่นพันธุกรรมหรือความฉลาดเฉลียวของพวกเขา ถึงเวลาแล้วที่ครูจะงัดทุกกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียรู้ของพวกเขา การปรับเปลี่ยนคำถาม หรือกระทั่งยืดระยะเวลาการจัดการเรียนรู้ ให้เด็กๆ เข้าใจว่าด้วยวิธีที่เหมาะสม พวกเขาย่อมประสบความสำเร็จได้เหมือนเพื่อนๆ ไม่ใช่ไม่มีวันประสบความสำเร็จเลย

 

ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม

ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วมเป็นส่วนเติมเต็มของสองชุดความคิดก่อนหน้า ครูต้องหยุดสาละวนกับการบรรจุเนื้อหารายวิชาในชั้นเรียนจนแน่น และเลือกการจัดการเรียนรู้แบบบรยายเพียงเพราะคิดว่าเป็นแนวทางที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ได้รวดเร็วที่สุด จงเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้นำการเรียนรู้ของเพื่อนบ้าง เช่น ให้พวกเขาแสดงบทบาทเป็นผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ให้นักเรียนจับคู่กันออกแบบทดสอบสำหรับทดสอบเพื่อน ตลอดจนจัดการเรียนรู้และให้ความช่วยเหลือกันละกัน ฯลฯ

 

ชุดความคิดสำเร็จการศึกษา

ชุดความคิดสำเร็จการศึกษาเป็นชุดความคิดที่อาศัยการกำหนดเป้าหมายระยะยาวอย่างแน่วแน่ของทั้งครูและเด็ก เพื่อการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา การประกอบอาชีพ และการมีชีวิตที่ผาสุกในอนาคต เป็นต้น จุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ชุดความคิดนี้คือการสร้างความร่วมมือกับสถานศึกษาและสถานประกอบการในท้องถิ่น เพื่อร่วมกันใช้ทรัพยากรทางการศึกษาในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า ตลอดจนเรียนรู้ความต้องการของกันและกัน ความร่วมมือนี้จะนำนักเรียนในชุมชนไปสู่จุดหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งนอกจากจะเพิ่มแนวโน้มที่เด็กคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จแล้ว ยังเพิ่มแนวโน้มที่พวกเขาจะรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่น และกลับมาพัฒนาชุมชนเช่นกัน อันจะนำไปสู่การส่งต่อความฝันเพื่อยุติวงจรความยากจนและความเปราะบางทางสังคมที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเผชิญในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นๆ ด้วย

 

 

กิจกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังนี้สิ้นสุดลงด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกครั้งของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปว่าพวกเขามีแนวทางการจัดการเรียนรู้หรือประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ใดที่ ‘เข้าข่าย’ ส่งเสริมชุดความคิดเหล่านี้บ้าง และต่างฝ่ายต่างนำไปปรับใช้ชั้นเรียนของตนได้อย่างไร

ความหลัง ความฝัน กำลังใจ และความมุ่งมั่น กำลังเดินทางจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในสองวันนี้ เพื่อถักทอเครือข่ายแห่งความหวังที่ครอบคลุมกว่าในอนาคต เพียงอดใจรอสักหน่อย ให้พวกเขาส่งต่อบทเรียนแห่งกำลังใจถึงผู้มีความฝันเดียวกัน เพื่อพัฒนากันและกันเป็นกลุ่มผู้มีความปรารถนาดีที่เข้มแข็ง…

และร่วมกันพัฒนาเยาวชนทุกกลุ่มอย่างเปี่ยมหวัง และมีประสิทธิภาพกว่าครั้งใด

 

 

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อ ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน ได้ที่นี่

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน ได้ที่นี่