Brief: Workshop “Teach like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์”

เรื่อง: วัชรพงษ์ แดงปลาด
ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

เดินทางมาจนถึงหมุดหมายที่ 2 แล้วสำหรับซีรีส์งานเสวนาและ workshop “Joyful Learning & Creative Education” ซึ่งจัดโดย สสส. สำนักพิมพ์ Bookscape และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากงานในครั้งแรกที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวและความน่าสนใจอันเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างฟินแลนด์สามารถพุ่งทะยานขึ้นมาอยู่แนวหน้าของโลกในด้านของคุณภาพการศึกษา

ในงานครั้งที่ 2 นี้คือ workshop “Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์” เจาะลึกแนวทางการสอนและห้องเรียนสไตล์ฟินแลนด์ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สนุกและมีคุณภาพ ความสร้างสรรค์ของการเรียนการสอนสไตล์ฟินแลนด์ถูกนำมาเล่าต่ออีกครั้งผ่านมุมมองของ Nina Nordman วิทยากรครูชาวฟินแลนด์มากประสบการณ์ ผู้อยู่ในแวดวงของการสอนและการเรียนรู้มานานกว่า 20 ปี ทั้งในประเทศฟินแลนด์เองและประเทศสิงคโปร์

กุญแจในการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพตามสไตล์ฟินแลนด์อาจไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด แต่มีอะไรซ่อนอยู่ในรายละเอียดมากมาย ซึ่งจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อเราสลัดภาพคิดเกี่ยวกับการศึกษาแบบเดิมๆ ออกไปเสียก่อน

 

ทำให้การเรียนเป็น “เรื่องสนุก”

 

Nina เริ่มต้น workshop ครั้งนี้ด้วยการเท้าความถึงประวัติการทำงานในแวดวงการศึกษาของเธอ หลังจากเรียนจบและได้ทำงานเป็นครูที่ฟินแลนด์ระยะหนึ่ง Nina ได้ตัดสินใจย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนนานาชาติ Overseas Family School ที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงแรก ความแตกต่างหลายอย่างทางด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศทำให้เธอเกิดอาการ culture shock โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนของนักเรียนและการทำงานของครู

“ที่ฟินแลนด์ ช่วงเวลาปิดเทอมคือช่วงเวลาปิดเทอมจริงๆ เพราะทั้งครูและนักเรียนจะไม่ต้องทำงานหรือทำการบ้าน โรงเรียนเองก็จะมีบรรยากาศสบายๆ ไม่มีเดรสโค้ด ครูสามารถใส่ชุดอะไรมาสอนก็ได้ นักเรียนสามารถเรียกชื่อครูได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องเรียกโดยใช้นามสกุล รวมไปถึงเนื้อหาในการสอนที่สามารถกำหนดได้เอง ในบางครั้งก็สามารถ work from home ได้ด้วย”

หลังจากที่ Nina แลกเปลี่ยนมุมมองทางการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของเธอแล้ว ผู้เข้าร่วมงานได้รับภารกิจแรกในการถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองรู้เกี่ยวกับประเทศฟินแลนด์ ไล่เรียงไปจนถึงสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้เรียนรู้ในงานครั้งนี้ หลายคำถามถูกหยิบยกขึ้นมาพูดได้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่า แม้คนที่มาส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าการศึกษาของฟินแลนด์นั้นมีข้อดีอย่างไรบ้าง แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ นั่นก็คือความสำเร็จเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำอย่างไรเด็กถึงจะสามารถเชื่อใจครูได้

รวมไปถึงคำถามสำคัญที่ว่า เราจะสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า lifelong learning ที่จะช่วยให้เด็กๆ สามารถพัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวทันโลกที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่สังคม Industry 4.0 ได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?

 

7 ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21

 

ก่อนจะเริ่มพูดถึงเรื่องเคล็ดลับในการสอนสไตล์ฟินแลนด์ Nina ได้เล่าถึงเป้าหมายของการศึกษาที่โจทย์กำลังถูกเปลี่ยนจาก เราจะเรียนอะไร? ไปสู่ เราจะเรียนอย่างไร? นี่คือคำถามตั้งต้นอันเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลฟินแลนด์ที่ต้องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของการศึกษาขั้นต้นของประเทศ เพื่อให้ตอบสนองต่อการมาถึงของศตวรรษที่ 21 พร้อมกับชี้ว่า สิ่งที่โรงเรียนควรจะต้องปลูกฝังให้เด็กๆ คือความสามารถ 7 อย่างที่จำเป็น ได้แก่

  • Thinking and learning-to-learn เข้าใจนิสัยในการเรียนของตัวเองช่วยในเรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ เป็นทักษะที่จะช่วยให้เด็กๆ สามารถกำหนดทิศทางการศึกษาของตัวเองได้ รวมไปถึงทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่างทางความคิด
  • Cultural competence, interaction and expression ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างโดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เพื่อสร้าง cultural identity ของตัวเอง
  • Taking care of oneself, managing daily life ความสามารถในการจัดการชีวิตของตัวเอง การแบ่งเวลาเพื่อการจัดการงานบ้าน การดูแลสุขภาพของตัวเอง อาหารการกิน รวมไปถึงความปลอดภัย
  • Multi literacy สามารถเข้าใจและตีความสื่อได้ในหลายๆ ตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อการแสดง visual arts ดนตรี ความเข้าใจว่าภาษาแต่ละภาษาก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไรผ่านการสังเกตเรื่องบริบททางสังคมและวัฒนธรรม
  • ICT literacy ความเข้าใจในเรื่อง computational thinking (การคิดเชิงคำนวณ) รวมไปถึงความสามารถในด้านที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่นการเรียนรู้เรื่อง coding
  • Working life competence and entrepreneurship เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่าในอนาคตอีก 20 ปี จะมีอาชีพอะไรเกิดขึ้นบ้าง เด็กๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การคิดนอกกรอบ การคิดอย่างสร้างสรรค์ และการมี collaborative mindset รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายที่จะช่วยในการทำงาน
  • Participation, involvement and building a sustainable future ทุกคนต้องระลึกรู้ได้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เด็กทุกคนมีความสามารถอยู่แล้ว ครูไม่ได้จำเป็นต้องเป็นฝ่ายมอบความรู้แต่เพียงอย่างเดียว เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบสภาวะแวดล้อมของการเรียนรู้ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็น active member ของสังคม

 

ความสุข = กุญแจสู่การเรียนรู้

 

เพื่อให้เด็กๆ สามารถพัฒนาตัวเองจนมีทักษะดังกล่าว Nina ได้ยกทฤษฎีด้านการศึกษา 3 ด้านขึ้นมา หนึ่งในนั้นที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างบรรยากาศสนุกๆ และความสุขขึ้นภายในห้องเรียน ก่อนจะลงรายละเอียด Nina เปิดโอกาสให้ผู้มาเข้าร่วมแต่ละคนได้แบ่งปันเรื่องราวของการสร้างความสุขในห้องเรียนให้กับเด็กๆ

เกือบทุกคนแสดงความเห็นตรงกันว่า การเรียนในสังคมไทยไม่ได้เน้นในเรื่องนี้มากเท่าที่ควร เพราะถูกจำกัดด้วยเรื่องของกฎเกณฑ์ จะมีก็แต่เพียงการเรียนทางเลือกอย่างเช่น home school เท่านั้นที่จะมีบรรยากาศในการเรียนที่แตกต่างออกไป

เหตุผลที่การสร้างความสุขในห้องเรียนเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด นั่นก็เพราะว่ามันส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างมีนัยสำคัญ Nina อธิบายต่อเพื่อให้เห็นภาพ

“ความสุขนั้นสำคัญเพราะมันสัมพันธ์กับเรื่องของอารมณ์ เวลาที่เด็กมีความสุข พวกเขาจะได้อะไรจากการเรียนมากกว่า”

“จากประสบการณ์ที่ได้เป็นครูมา ความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการสอนที่ดีได้เพียงอย่างเดียว เพราะเราสามารถสอนอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถทำให้เด็กรู้สึกมีความสุขในการเรียน ให้พวกเขารู้ว่าตัวเองมีพลังและความสามารถที่จะเรียนรู้ วิธีการสอนใดๆ ก็ไม่อาจใช้ได้ผล อีกทั้งเวลาสอน ครูจำเป็นต้องสอนโดยใช้จิตวิทยาด้านบวก พร้อมกับชื่นชมในทุกความสำเร็จของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหน”

 

สู่การสร้างความสุขในห้องเรียน

 

สิ่งสำคัญที่ทำให้การศึกษาของฟินแลนด์มีคุณภาพในระดับที่สามารถเป็นต้นแบบให้นานาประเทศสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพในการศึกษาไม่ใช่แค่เทคนิคการสอนที่เน้นตัวของนักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ยังมีเรื่องของการสร้างปัจจัยแวดล้อมด้านการเรียน หมายรวมถึงสุขภาวะทางใจและทางกายของตัวครูซึ่งเป็นผู้สอน เพื่อที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกและมีความสุขกับการได้มาเรียนในแต่ละวันซึ่งสัมพันธ์กันกับประสิทธิภาพในการเรียนรู้ จำเป็นต้องอาศัย 5 องค์ประกอบด้วยกัน  Nina ได้หยิบเอาปัจจัยทั้ง 5 ที่ว่าจากหนังสือ Teach Like Finland สอนฟินเรียนสนุกสไตล์ฟินแลนด์ ของผู้เขียน Timothy D. Walker มาขยายความต่อแบบคร่าวๆ

 

Wellbeing: สุขภาวะ

 

ศัตรูตัวร้ายที่สุดของการสร้างเสริมสุขภาวะนั่นก็คือความเครียด เด็กๆ จำเป็นจะต้องรู้สึกปลอดภัยและเชื่อมั่นว่าตัวพวกเขาเองมีความสามารถในการเรียนรู้ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาเรียนแต่ละวิชาของฟินแลนด์จึงจำกัดอยู่ที่ 45 นาที เพราะต้องแบ่งเวลาให้เด็กๆ ได้พัก 15 นาที

Nina เล่าว่า โรงเรียนที่ฟินแลนด์มักจะมีกิจกรรมที่เรียกว่า Brain Break ซึ่งจะเป็นกิจกรรมใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเล่น อ่านหรือเขียนที่เปิดให้มีการใช้ interaction แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้นักเรียนเป็นคนเลือกเอง

นอกจากเรื่องของเวลาพักและกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย การจัดวางของห้องเรียนเองก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้ฟินแลนด์จะไม่มีกฎตายตัวว่าจะต้องจัดห้องเรียนอย่างไร แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นในเรื่องของความเรียบง่าย ไม่มีการใช้สีสันที่ฉูดฉาด ทุกอย่างต้องวางอย่างเป็นระเบียบ

จากประสบการณ์ของ Nina สิ่งแรกๆ ที่เธอสัมผัสได้เมื่อเริ่มมาสอนที่เอเชียนั่นคือเรื่องการตกแต่งห้องเรียนซึ่งเน้นในเรื่องสีสัน ซึ่งเธอมองว่าจะทำให้เด็กเสียสมาธิ ยิ่งอยู่ในที่ที่มีของตกแต่งมากมายเท่าไร เด็กยิ่งเสียสมาธิได้ง่าย ทำให้เสียเวลาในการทำงานมากขึ้น

นอกจากนั้น ครูยังต้องทำให้เด็กๆ ที่มาเรียนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่การเรียนของตัวเอง ของตกแต่งทุกอย่างควรจะอยู่ในระดับสายตาของเด็กๆ และจะดีขึ้นไปอีกหากตกแต่งห้องด้วยผลงานของนักเรียนในชั้น

ในเชิงโครงสร้าง การสร้างเสริมสุขภาวะถือเป็นภารกิจหนึ่งที่ทางรัฐบาลฟินแลนด์พยายามผลักดันผ่านทางนโยบาย หนึ่งในนั้นคือ School on the move ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนออกแบบพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายในโรงเรียน เป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีช่วงพักสำหรับการขยับตัวและยืดเส้นยืดสายระหว่างการเรียน

Nina มองว่า เรื่องของสุขภาวะไม่ได้สำคัญแค่ต่อเด็กแต่เพียงอย่างเดียว แต่กับตัวครูเองก็สำคัญ ครูควรสอนให้พอดีคาบ อย่าเกินเวลา เพราะหากครูเครียดหรือเหนื่อยก็จะส่งผลต่อการสอน ใช้เวลาในวันหยุดเพื่อหยุดพักจริงๆ ไม่ใช่ทำงาน ที่มากไปกว่านั้น คนเป็นครูยังต้องมีสิ่งที่เรียกว่า World Knowledge นั่นคือมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากการเดินทางท่องเที่ยวหรือว่าดูโชว์ต่างๆ เพื่อที่จะแบ่งปันประสบการณ์เหล่านั้นต่อให้กับเด็กๆ และเพื่อการพัฒนาตัวเองอีกต่อหนึ่ง

 

Belonging: ความสัมพันธ์ที่ดี

 

การทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือแม้แต่โรงเรียนเป็นเรื่องจำเป็น จากประสบการณ์ของ Nina เธอมองว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ก้าวไปได้ไกลกว่า นั่นก็เพราะฟินแลนด์มีวัฒนธรรมเรื่อง inclusiveness ทุกโรงเรียนจะมีครูและคนที่คอยให้ความช่วยเหลือเด็กๆ เช่นว่า หากมีนักเรียนคนไหนที่เรียนไม่ทัน ครูจะต้องให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเสริมจากเวลาเรียน

อีกทั้งการศึกษาฟินแลนด์ยังเน้นในเรื่องของการเสริมจุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน ทุกโรงเรียนจะมีทีมของ student welfare ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ประเมินว่าเด็กต้องการอะไรเพิ่มไหม จากนั้นจึงทำแผนการเรียนสำหรับแต่ละเคส เพื่อทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโรงเรียน

การทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนถูกสอดแทรกในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นวิชาเลือกอย่างการฝึกทำงานไม้ งานผ้า หรือแม้แต่วิชาการทำครัวที่เด็กจะได้เรียนอาทิตย์ละ 2 ชั่วโมง สองวิชาแรกจะช่วยฝึกให้เด็กๆ ได้ลองเครื่องมือใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างสรรค์ ส่วนวิชาทำครัว หลังจากที่ได้ทดลองทำอาหาร เด็กๆ ชาวฟินแลนด์จะได้ใช้เวลานั่งทานอาหารร่วมกัน

Nina เล่าว่า สมัยที่ยังเป็นครูอยู่ที่ฟินแลนด์ ไม่ว่าเด็กนักเรียนของเธอจะประสบความสำเร็จในด้านใดก็ตาม ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เธอจะนำเค้กมาแบ่งปันเพื่อเฉลิมฉลองให้กับนักเรียนในชั้น ที่ทำเช่นนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนนักเรียนในแต่ละห้องที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับโรงเรียนในเอเชีย เธอแนะนำว่า หากมีจำนวนนักเรียนในชั้นมาก คนเป็นครูอาจจะใช้วิธีหยิบเอาผลงานของนักเรียนที่ทำได้ดีมาโชว์ที่หน้าชั้นเรียนแทนก็ได้เช่นกัน

 

Autonomy: อิสระ

 

การปล่อยให้เด็กได้ทำงานอย่างอิสระถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างให้เกิดความสุขในห้องเรียน อย่างที่ฟินแลนด์จะมีกิจกรรมที่เรียกว่า Independent week เป็นช่วงเวลาที่ปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้และทำงานด้วยตัวเอง ครูต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการจะศึกษาด้วยตัวเอง หรืออย่างน้อยหัวข้อที่ให้ควรเป็นหัวข้อปลายเปิด

อย่างไรก็ตาม อิสระย่อมต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ Nina เล่าว่า เด็กๆ ที่ฟินแลนด์มักถูกสอนให้ต้องรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่ยังเล็กอยู่แล้ว อย่างเช่นการปล่อยให้เด็กอนุบาลเดินทางไปโรงเรียนคนเดียว การเก็บจานอาหารทุกครั้งหลังจากที่กินข้าวเสร็จ ส่วนครูเองก็ต้องชี้ให้เด็กๆ เห็นอย่างชัดเจนว่า อะไรคือเป้าหมายของความสำเร็จทางการศึกษาและการเรียนรู้ ภารกิจดังกล่าว แม้จะดูเหมือนง่าย แต่ที่จริงแล้วคนเป็นครูต้องอาศัยความชำนาญหลายอย่าง

“ที่ฟินแลนด์ คนที่เป็นครูไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบที่สูงจนเกินไป แต่จำเป็นต้องมีความเป็นมืออาชีพ อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่ามากในสังคมฟินแลนด์ เพราะคนที่จะทำอาชีพนี้ได้จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนนาน 4-5 ปี ในการเรียนปริญญาโท อีกทั้งอัตราในการรับคนในสาขานี้ก็ค่อนข้างต่ำ เพราะระบุความสามารถที่ต้องการไว้สูง ต้องมีการสอบเข้าก่อน ด้วยมาตรฐานเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้ปกครองชาวฟินแลนด์เชื่อใจในอาชีพครูเป็นอย่างมาก”

อีกสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดกันคือ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีการให้การบ้านเด็ก ซึ่งอันที่จริงแล้ว Nina เล่าว่า ฟินแลนด์ก็เหมือนประเทศอื่นๆ ตรงที่มีการให้การบ้าน แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ เด็กนักเรียนจะได้การบ้านไปทำแค่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสเท่านั้น ครูที่ฟินแลนด์จะไม่ให้การบ้านกับเด็กๆ ในวันศุกร์ เพราะเชื่อว่าการพักผ่อนเป็นเรื่องจำเป็น

ที่มากไปกว่านั้น การให้การบ้านของครูฟินแลนด์จะยึดตามหลักการที่ว่า การบ้านทุกชิ้นจะต้องเป็นงานที่เด็กสามารถทำได้เองคนเดียวโดยที่ไม่มีพ่อแม่เข้ามาช่วย ถ้าเด็กทำไม่ได้ พวกเขาสามารถพักการบ้านชิ้นนั้นไว้ก่อนเพื่อรอขอคำอธิบายจากครูที่โรงเรียน

สำหรับระยะเวลาในการทำการบ้านแต่ละชิ้น ครูจะใช้สูตรในการคิดโดยเอาจำนวนเวลา 2 นาทีคูณด้วยอายุของเด็ก อย่างเช่น เด็กอายุ 8 ขวบ จะต้องใช้เวลาทำการบ้านชิ้นหนึ่งไม่ควรเกิน 16 นาที นี่คือโจทย์ในการให้การบ้านสำหรับครูชาวฟินแลนด์

 

Mastery: ความเชี่ยวชาญ

 

ครูที่ฟินแลนด์จะใช้วิธีสอนตามเนื้อหาในหนังสือเรียนซึ่งถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาการเรียนรู้ทั้งหมด ในห้องเรียนของฟินแลนด์จะไม่เน้นให้เด็กทำงานในกระดาษชีทที่เย็บเป็นแผ่นๆ แต่จะเน้นให้ใช้สมุดจดเป็นเล่มเพื่อช่วยในการเรียบเรียง รวมไปถึงจัดระเบียบข้อมูล แม้ในขั้นตอนการสอนในแต่ละคาบของที่ฟินแลนด์จะไม่ได้แตกต่างไปจากที่อื่น นั่นคือมีครูสอน จากนั้นให้เด็กได้ทดลองทำด้วยตัวเอง ก่อนจะสะท้อนเพื่อทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้

Nina มองว่า ขั้นตอนการสะท้อนเพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาเป็นขั้นตอนสำคัญที่บ่อยครั้งครูหลายคนมักจะไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่มันจำเป็น เพราะจะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าชิ้นงานที่ได้ทำไป อย่างไหนถึงจะเรียกว่าดีและมีคุณภาพ เพื่อที่จะสามารถวางแผนในการทำงานครั้งต่อๆ ไปได้

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่มีต่อการศึกษาฟินแลนด์นั่นก็คือความเชื่อที่ว่า ฟินแลนด์ไม่มีการสอบ แต่อันที่จริงแล้ว ที่ฟินแลนด์เองก็มีการสอบไม่ได้แตกต่างไปจากส่วนอื่นของโลก ช่วงอายุราว 15-16 ปี เด็กๆ จะสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนต่อในการศึกษาภาคปกติหรือจะเลือกไปเรียนทางสายอาชีพ โดยจะมีการทดสอบแบบไม่เป็นทางการมากนัก ส่วนการสอบใหญ่เข้ามหาวิทยาลัยตอนช่วงอายุ 18-19 ปี จะเรียกกันว่า  Matriculation examination เป็นการสอบเพื่อวัดความเป็นผู้ใหญ่และทัศนคติของเด็ก โดยเป็นการวัดความรู้ผ่านคำถามปลายเปิดที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

Mindset: กรอบคิด

 

ประเด็นเรื่องกรอบคิดเกี่ยวพันกับเรื่องทัศนคติในการทำงานของครูมากที่สุด อย่างที่ Nina ได้พูดถึงไปก่อนหน้า คนเป็นครูจำเป็นต้องมีความรู้ที่หลากหลาย มีชีวิตนอกเหนือไปจากห้องเรียน ในการทำงาน ครูจำเป็นต้องแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ภาวะลื่นไหล (Flow) นั่นคือการทำงานโดยที่ไม่ยึดหลักว่าตัวเองจะต้องเหนือหรือดีกว่าครูคนอื่น แต่จะต้องเน้นทำงานของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด รวมไปถึงการทำให้ห้องเรียนปราศจากภาวะของการแข่งขัน แต่เน้นในเรื่องของความเท่าเทียม และเด็กจะสามารถสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ก็จากการเฝ้ามองครูของพวกเขา

ในเรื่องการทำงานของครู Nina ได้ยกคำว่า Sisu ภาษาฟินแลนด์ที่แปลว่า ความเด็ดเดี่ยวเมื่อเจอความยากลำบาก (Resilience) การดึงเอาพลังออกมาใช้แม้ในยามที่ตัวเองคิดว่าไม่มีพลังเหลือ แน่นอนว่าการเป็นครูไม่ใช่เรื่องง่าย และบ่อยครั้งก็ต้องเจอกับภาวะที่ทำให้รู้สึกหมดไฟจากการทำงาน สิ่งที่จะช่วยให้รับมือกับปัญหานี้ได้ นั่นก็คือครูต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน พยายามสร้าง Sisu ในที่ทำงานควบคู่ไปกับกรอบคิดเชิงบวก พร้อมกับเรียนรู้ที่จะรับมือกับความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อพัฒนาตัวเอง

การจะสร้างการศึกษาที่ดี นอกเหนือไปจากหลักสูตรที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีเรื่องของสุขภาวะทางกายและทางใจของทั้งครูและนักเรียน การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ รวมไปถึงเรื่องปัจจัยภายนอกอย่างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นไปเพื่อการสร้างห้องเรียนที่ขับเคลื่อนด้วยความสุข – ใจความสำคัญที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป

ก่อนที่ workshop ครั้งนี้จะจบลง Nina ได้มอบการบ้านชิ้นหนึ่งให้กับผู้มาร่วมงานได้ขบคิดระหว่างเดินทางกลับบ้าน

“การบ้านชิ้นนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ฉันอยากให้ทุกคนเขียนสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุขออกมา 5 อย่าง ทั้งในที่ทำงานและในชีวิต เพราะมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับครูและผู้ที่รักในการถ่ายทอดความรู้ทุกคน”