Brief – Workshop “เยียวยาประสบการณ์พิษ ถอนพิษบาดแผลทางใจในวัยเด็กที่มีผลต่อชีวิตและพฤติกรรม”

อภิรดา มีเดช เรื่อง
ตรัยภูมิ จงพิพัฒนสุข ภาพ

 

ปกติแล้ว เรามักประหลาดใจเสมอๆ กับสิ่งที่คนนำกิจกรรมจะทำในวันงาน เพราะส่วนใหญ่ผู้จัดมักเปิดเผยรายละเอียดกิจกรรมให้ทราบก่อนวันงานไม่นานนัก และครั้งนี้ นอกจากอ่านหนังสือจบหนึ่งรอบแล้ว เราแทบไม่ทราบอะไรอย่างอื่นเลย

อย่างแรกที่ไม่เหมือนขนบเวิร์กช็อปอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยก็คือ กิจกรรมนี้ไม่เน้นภาคทฤษฎี เน้นปฏิบัติล้วนๆ ซึ่งนั่นทำให้เวลาสามชั่วโมงในเช้าวันอาทิตย์ของเราผ่านไปไวมากจริงๆ

อีกทั้งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่คนทำงานด้านเด็กและเยาวชน นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด ครู แพทย์ ไปจนถึงนักศึกษาและพ่อแม่ผู้สนใจ ในช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่ราว 20-50 ปี จึงแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกันได้อย่างน่าสนใจ

กิจกรรมนี้คือเวิร์กช็อป “เยียวยาประสบการณ์พิษ ถอนพิษบาดแผลทางใจในวัยเด็กที่มีผลต่อชีวิตและพฤติกรรม” นำกิจกรรมโดย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีฐานความรู้จากหนังสือ ลบบาดแผลลึกสุดใจ (The Deepest Well) จัดโดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง Grassroom  Naplap Co-working Space

ผศ.นพ.พนม เกตุมาน

 

การบันทึกเวิร์กช็อปนี้พิเศษกว่าปกติมากๆ เพราะแทบทุกครั้งที่มีโอกาสสังเกตการณ์กิจกรรมจะไม่เคยเข้า “คลุกวงใน” หรือเข้าไปรวมกลุ่มกับผู้เข้าร่วมแบบนี้มาก่อน ขอขอบคุณ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ที่ชวนให้เข้าร่วมมา ณ โอกาสนี้

นอกจากบรรยากาศในวันงาน ข้อคิด ความรู้สึกที่ผู้เข้าร่วมได้รับระหว่างกิจกรรมแล้ว ช่วงท้าย นพ.พนมยังเฉลยหรือถอดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งผู้สนใจและผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

 

ถอดกระบวนการเรียนรู้ “เยียวยาประสบการณ์พิษ”

หลังจากแนะนำตัวเบื้องต้นจนครบทุกคนแล้ว นพ.พนมก็นำเราเข้าสู่กิจกรรมแรกคือชวนให้เข้าไปหาเพื่อนใหม่ที่อยากทำความรู้จักแล้วแนะนำตัวสั้นๆ คนละไม่เกิน 1 นาที

กิจกรรมที่ 1 แนะนำตัว

“ถ้าให้แนะนำตัวเอง จะแนะนำอะไรบ้างกับเพื่อนใหม่เพื่อให้รู้จักเราได้ดี เท่าที่เราจะสบายใจ เวลาเพื่อนพูดก็ขอให้ฟังอย่างตั้งใจ ฟังแล้วเก็บความให้ได้ด้วย” นพ.พนมอธิบายกิจกรรม

 

กิจกรรมที่ 2 อวัยวะที่ภูมิใจ

“ลองสำรวจตัวเองว่า ในร่างกายเรามีอวัยวะส่วนไหนที่รู้สึกภูมิใจมากเป็นพิเศษ ขอให้เล่าให้เพื่อนฟังว่าภูมิใจอะไร และเพราะอะไร ใช้เวลาคนละ 1 นาที ยกตัวอย่างเช่น ผมชอบหูผมมากเลย เพราะผมรู้สึกว่าหูของผมใช้ในการฟังได้ดี เพราะเป็นจิตแพทย์ต้องฟังเยอะ” นพ.พนมกล่าว

 

กิจกรรมที่ 3 ความสามารถพิเศษที่น่าทึ่ง

กิจกรรมนี้ให้ไปกันเป็นคู่ แล้วไปจับกับอีกคู่หนึ่งรวมเป็นสี่คน “คราวนี้ขอให้ลองสำรวจใจตัวเองอีกที คราวนี้คิดว่าเรามีความสามารถพิเศษอะไรบางอย่างที่โดดเด่นที่ทำให้รู้สึกดีหรือภูมิใจอะไรก็ได้ อย่างเดียว มันคืออะไร และทำไมถึงภูมิใจ” นพ.พนมกล่าว

 

หลังจบกิจกรรม นพ.พนมชวนคุยว่า เพื่อนเราภูมิใจกับอวัยวะใด ก็มีผู้แลกเปลี่ยน เช่น กระดิกหูได้เหมือนตัวอย่างที่ นพ.พนมเล่าเรื่องของตนเอง ดีดนิ้ว เล่นดนตรีไทยและสากล ไปจนถึงขี่มอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ได้คล่องแคล่ว

ระหว่างทำกิจกรรม นพ.พนมถามผู้เข้าร่วมว่า รู้สึกอย่างไร และได้ข้อคิดหรือคิดอย่างไร มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนว่า

“พอมาเห็นจิตแพทย์ นักให้คำปรึกษาทั้งหลาย ทุกคนมีลักษณะหนึ่งที่น่ารักมากเลยคือเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งตัวเองเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีมาก พูดตลอดเวลา พอเห็นแล้วก็รู้สึกว่า ดีจังเลย ฉันต้องไปพัฒนาตัวเอง ก็อยากพัฒนาตัวเองมากขึ้น”

หรืออีกคนที่มองว่าเป็นการกลับมาให้คุณค่ากับตัวเองอีกแบบหนึ่ง

“อย่างเรื่องกระดิกหู บางทีก็เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราอาจจะไม่ได้เห็นคุณค่าของมันด้วยซ้ำ แล้วบางเรื่องถ้าไม่ได้บอก เราก็ไม่รู้เลยว่าคนคนนี้มีความสามารถพิเศษนี้ ฉะนั้น โอกาสในการแบ่งปันการพูดแบบนี้ เชื่อว่าคุณค่าในตัวเองอาจเป็นผลยิ่งใหญ่สำหรับคนตรงหน้าเราก็ได้”

 

กิจกรรมที่ 4 รูปถ่ายแห่งความสำเร็จ

“ขอให้เลือกรูปถ่ายจากคลังรูปภาพในมือถือเรามาสักรูปหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเราทำแล้วประสบความสำเร็จ อาจเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องงาน เรื่องเพื่อน เรื่องอะไรก็ได้ ให้เลือกเพียงเรื่องเดียว อธิบายว่ารูปนี้คือรูปอะไร ทำให้เรารู้สึกทำสำเร็จอย่างไรบ้าง” นพ.พนมอธิบายกิจกรรม

โดยตัวอย่างความสำเร็จที่แบ่งปันในห้องคือกล้วยที่ประกวดชนะรางวัลที่สอง

“พี่เขาเอารูปกล้วยให้ดู เป็นรูปกล้วยจากสวนของพี่เขา ซึ่งเอาไปประกวดแล้วได้ที่สอง ก็เป็นความภาคภูมิใจของเขา กล้วยสวยมาก”

 

กิจกรรมที่ 5 เล่าเหตุการณ์ “จี๊ด” ที่สุดในชีวิต*

หมายเหตุ: * หากนำไปปรับใช้ นี่จะเริ่มกระบวนการเปิดแผลใจซึ่งถ้าดำเนินจนจบกระบวนการจะค่อยๆ ปิดลงอย่างสงบ

“เราจะลงลึกมากขึ้นนะครับ หัวข้อต่อไปต้องขอความร่วมมือของเรานิดหนึ่ง เพราะว่าจะลงไปแตะบางเรื่องที่ค่อนข้างจะส่วนตัวนิดหน่อย อยากจะเปิดเผยเปิดใจแค่ไหนก็ได้ ยังอยู่กับกลุ่มสี่คนของเรา ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกจี๊ดที่สุดในชีวิตสักเรื่อง” นพ.พนมกล่าวนำ

เมื่อเห็นว่าหลายคนยังเข้าใจไม่ชัดเจนว่า “จี๊ด” หมายความว่าอย่างไร นพ.พนมจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า “จี๊ดคงแปลว่าเจ็บปวด และคงเป็นอารมณ์ด้านลบ รู้สึกโกรธ เสียใจ หรืออะไรก็ได้ และอยากให้เราลองทบทวนตัวเองว่า ตอนนั้นเราผ่านมันมาได้อย่างไร”

นพ.พนมยกตัวอย่างเรื่องที่จี๊ดที่สุดของตนเองว่า เกิดขึ้นตอนไปช่วยพ่อทำสวนแล้วพลาดเอาจอบฟันไปโดนนิ้วหัวแม่เท้าตัวเอง

“ผ่านมาได้อย่างไร ก็นอนร้องไห้ นอนไม่หลับเลยทั้งคืน แต่วันรุ่งขึ้นก็ดีขึ้น พอผมบอกแม่ แม่ก็มาช่วยทำแผล ก่อนหน้านั้นแม่ไม่รู้ว่าผมปวดมาก เพราะตอนแรกไม่ได้บอกแม่ ก็ผ่านมาได้ด้วยความอดทนแบบเด็กๆ มาคิดอีกที ถ้าบอกแม่เร็วกว่านี้ก็อาจจะได้ยาแก้ปวด”

หลังจบกิจกรรมรอบนี้ นพ.พนม ชวนแบ่งปันข้อคิด ข้อสังเกต หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเล่าและฟังเพื่อนๆ เล่าเรื่องอ่อนไหวภายในกลุ่ม นี่คือบางส่วนที่ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน:

01 “คนทุกคนมีความสามารถที่จะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาได้ทุกคนเลย แล้วทุกคนก็มีช่วงเวลาเลวร้ายเป็นของตัวเอง และก็ผ่านมันมาได้ แสดงว่าเราต้องมีดีอะไรบางอย่าง”

02 “เวลาฟังเรื่องของคนอื่นทำให้รู้สึกว่า เราไม่มีทางรู้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าต้องผ่านอะไรมาบ้าง เขาจึงมีพฤติกรรมแบบนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเห็นพฤติกรรมบางอย่างของเขาที่อาจไม่ถูกใจเรา จะทำให้เราค่อยๆ ฝึกเผื่อใจว่า อาจมีบางเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับตัวเขา และทำให้เราเปิดรับความเป็นไปได้บางอย่าง ทำให้เราไม่ด่วนตัดสินเขา รู้สึกว่าอยากรักษาความรู้สึกนี้ไว้”

03 “ตอนนี้ที่มองเห็นทุกคนก็ดูปกติมีความสุขมากเลย แต่หลังจากที่คุยกันก็รู้สึกว่า ทุกคนมีแผลที่มองไม่เห็นเต็มเลย แต่ว่าทุกคนก็ยังใช้ชีวิตปกติได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปลบแผลนั้น มันเหมือนแผลทุกอย่างที่เห็นอยู่ ทำให้ทุกคนเป็นแบบนี้”

ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตปกติได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปลบแผลนั้น มันเหมือนแผลทุกอย่างที่เห็นอยู่ ทำให้ทุกคนเป็นแบบนี้

 

กิจกรรมที่ 6 เขียนกราฟชีวิต

ก่อนเริ่มกิจกรรม นพ.พนมชวนทุกคนกลับมาอยู่ในท่าที่ผ่อนคลายและสบายที่สุด หลับตาลงและจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก พร้อมฟังคำอธิบายกิจกรรมไปด้วย

“กิจกรรมต่อไปนี้เราจะอาศัยความสามารถของสมองของเราขั้นสูงในการทบทวนตัวเอง เราจะใช้ความคิดความรู้สึกของเราลองไปทบทวนอดีต ลองถอยเวลาไปจนถึงตอนเด็กว่าเราผ่านชีวิตมาได้อย่างไรบ้าง

“ตั้งแต่ภาพแรกที่จำความได้ เราอยู่กับใคร ทำอะไร รู้สึกอย่างไรบ้าง เป็นความรู้สึกด้านบวกหรือลบก็ได้ ค่อยๆ ติดตามชีวิตของเราตั้งแต่เด็กขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่ออยู่ในครอบครัว มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่แวบขึ้นมาแล้วทำให้ยังจำได้ฝังใจมาจนถึงปัจจุบัน

“จนกระทั่งเราเข้าโรงเรียน จำวันแรกที่ไปโรงเรียนได้ไหม เราเจอครู เพื่อนใหม่ เหตุการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต มีอะไรที่ทำให้เรานึกถึงมัน ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบที่ผุดขึ้นมาในความทรงจำของเรา จนกระทั่งเราเรียนสูงขึ้นมา เรียนจบ มาทำงาน ชีวิตเราผ่านอะไรมา เหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ประสบการณ์นั้นคืออะไรบ้าง”

กิจกรรมนี้ต้องการอุปกรณ์สองอย่างคือ กระดาษ A4 หนึ่งแผ่น และปากกาเมจิก สีชอล์ก หรือสีชนิดอื่นๆ ที่หาได้

นำกระดาษมาพับครึ่ง แล้วคลี่ออกมา จะได้กระดาษที่มีเส้นตรงกลาง จากนั้นใช้ปากกาเมจิก หรือสีชอล์กขีดผ่ากลาง

“กระดาษคือชีวิตเรา เส้นตรงกลาง (แนวแกน X) คือเส้นที่ใช้เป็นมาตรวัดระดับอารมณ์ ถ้าอารมณ์สงบดี เฉยๆ ก็ตกอยู่ในระดับนี้ เดี๋ยวเราจะลองถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของเรา สะท้อนอารมณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ทางด้านซ้าย มาจนถึงปัจจุบัน” นพ.พนมอธิบาย

หากอารมณ์เป็นด้านลบก็อยู่ใต้เส้นแกน Y ถ้าอารมณ์ดีมากก็ขึ้นไปอยู่ด้านบน ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จำได้ หรือที่แวบขึ้นมา ใส่เหตุการณ์สำคัญๆ ลงไปในกราฟเท่าที่จำเป็น เพราะถ้าใส่ลงไปทั้งหมดเวลาเล่าอาจจะไม่พอ กิจกรรมนี้ นพ.พนมให้เวลาเล่าให้เพื่อนฟังคนละ 2 นาที

 

กิจกรรมที่ 6.1 ทบทวนตนเอง สรุปปัจจัยที่ช่วยให้ก้าวผ่านมาได้

เมื่อเล่าจบแล้ว ให้แต่ละคนเลือกเพียงเหตุการณ์เดียว มาคิดต่อว่าเหตุการณ์นั้นทำให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง และยังมีผลมาถึงเราอย่างไรในปัจจุบัน

และสุดท้าย เราผ่านมาได้อย่างไร หรือมีใครช่วยเรา หรือมีตัวช่วยอะไรบ้างไหม มีปัจจัยภายในตัวเองที่ทำให้เราก้าวผ่านมันมาได้ หรือมีใครช่วยเรา เป็นปัจจัยภายนอก เขียนใส่โพสต์อิทที่แจกให้

  • ตัวอย่างปัจจัยภายใน – ฉันสามารถ (I can): แก้ปัญหาได้ สื่อสารได้ บอกความต้องการได้ อดทนได้ ทักษะต่างๆ
  • ตัวอย่างปัจจัยภายนอก – ฉันมี (I have): เพื่อน ครู ครอบครัว

นอกจากทบทวนตัวเองแล้ว นพ.พนมยังชวนเพื่อนในกลุ่มสี่คนช่วยกันเติมทักษะหรืออะไรดีๆ ในตัวเองที่เพื่อนอาจจะยังมองไม่เห็นอีกคนละเรื่อง

“หลังจากเราได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนไปแล้ว ช่วยเติมให้เพื่อนอีกนิดว่า ในมุมมองของเรา เราเห็นเพื่อนสามารถทำอะไรที่เด่นๆ สักเรื่องหนึ่ง หรือเห็นเพื่อนมีอะไรที่ดีๆ สักอย่างหนึ่ง คราวนี้เป็นมุมมองของเราที่อยู่ข้างนอก ลองเติมให้กับเพื่อนในวง” นพ.พนมกล่าว และบอกว่าก่อนที่กลุ่มสี่คนจะแยกจากกัน ให้ขอบคุณและให้กำลังใจกันนิดหน่อย

 

กิจกรรมที่ 7 การสะท้อน

จับคู่เพื่อนใหม่อีกคนและสะท้อนซึ่งกันและกันว่า สามชั่วโมงนี้เราทำอะไรบ้าง เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง และรู้สึกอย่างไรบ้าง

จากนั้นมาถึงช่วงสุดท้าย ทุกคนแยกจากคู่ กลับมาฟังการแลกเปลี่ยนจากกลุ่มใหญ่ ขอยกความคิดเห็นบางส่วนจากผู้เข้าร่วมมาแบ่งปัน:

01 “ปกติไม่ค่อยมีโอกาสเข้ามาในวงประมาณนี้ในฐานะผู้เข้าร่วมสักเท่าไร วันนี้ทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้วเราโหยหาการฟังมากๆ เลยในสังคมนี้ แล้วเป็นการฟังที่ไม่มีการตัดสิน ไม่มีการบอกว่าถูกหรือผิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ

“และการที่เราได้รับการเติมเต็มบางทีอาจไม่ใช่การใส่อะไรเข้าไป แต่คือการเทอะไรออกมา คือการที่เรามีพื้นที่ว่างที่จะออกไปใช้ชีวิตต่อ หรือมีพลังที่จะต้องออกไปเผชิญหรือไปรับสิ่งใหม่ๆ

“การที่เราได้รับการฟังคือพลังที่มหัศจรรย์มากๆ เลย เพราะไม่ว่าเราจะอายุเท่าไร หรือจะเป็นใคร มาจากไหน ถ้าได้รับการฟังที่ดี มันทำให้เรารู้สึกมีชีวิตและมีคุณค่า และมีตัวตนในสายตาใครสักคน ก็คงเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ก็คงเหมือนการยอมรับ ขอบคุณพื้นที่ตรงนี้มากๆ”

การที่เราได้รับการเติมเต็มบางทีอาจไม่ใช่การใส่อะไรเข้าไป แต่คือการเทอะไรออกมา คือการที่เรามีพื้นที่ว่างที่จะออกไปใช้ชีวิตต่อ หรือมีพลังที่จะต้องออกไปเผชิญหรือไปรับสิ่งใหม่ๆ

02 “สิ่งที่อยากแชร์และบอกก็คือ คีย์เวิร์ดที่ว่า ‘โอบกอดทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิต’ เพราะเราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ภายนอกได้ เราไม่สามารถควบคุมผู้ใหญ่บางคนที่ทำดีหรือไม่ดีกับเราได้ ตอนที่เรายังไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้ ก็แค่โอบกอด รับรู้ และจัดการกับมัน แต่อย่าถึงขนาดปฏิเสธไม่รับว่ามันเกิดขึ้นจริง การยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริงในชีวิตคือก้าวแรกที่จะเริ่มเยียวยาทุกอย่าง”

03“เหมือนได้ค้นพบความเข้มแข็งทางใจ (resilience) ของตัวเองเพิ่มขึ้น จากที่อาจารย์เขียนว่า ฉันสามารถ… หรือฉันมี… เพราะว่าด้วยลักษณะงานของเราเป็นการสะท้อนสิ่งดีๆ ของผู้ที่มาปรึกษา ถามเขาว่ารู้สึกอย่างไร คิดอะไร แต่เรามักไม่ได้เป็นคนที่ถูกถาม

“จนกระทั่งวันนี้เราได้รับการสะท้อน การชื่นชม หรือการถามจากอาจารย์ว่า รู้สึกอย่างไร เลยทำให้รู้สึกว่า เราได้เจอความเข้มแข็งทางใจของเราจากการสะท้อนของคนในกลุ่ม และของคนอื่นๆ ด้วย แล้วก็เชื่อว่า ทุกคนในที่นี้ที่นั่งอยู่ตรงนี้มีความเข้มแข็งทางจิตใจด้วยกันทุกคน ก็ต้องชื่นชมทุกคน ทุกคนมีความเข้มแข็งทางใจมากๆ”

04“คิดว่ากระบวนการที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยและทำให้เราได้เข้าใจตัวเองอย่างมากนั้นสำคัญมาก ถ้าเปรียบเทียบคือตั้งแต่ต้นจนจบ คืออาจารย์เปิดแผลตอนแรก สุดท้ายมันจบที่การปิดแผลได้ กระบวนการก็สมบูรณ์จนสิ้นสุดตรงนี้ ก็คิดว่าทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี”

“ที่อยากบอกก็คือ ชอบกิจกรรมตั้งแต่ต้นเลย ตั้งแต่การละลายพฤติกรรม ทำให้เราเปิดใจ มีการเล่าเรื่อง ชอบมากที่ให้เราบอกเล่าเรื่องราว ให้เรากลับเข้าไปค้นใจตัวเองแล้วเอามาพูด ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเราอาจมีความคิดแง่ลบ เพราะต้องเอาเรื่องราวมาเล่าซ้ำๆ แต่พอเล่าแล้วทำให้รู้สึกว่า มันมีมุมมองใหม่กับเรื่องนี้

“สิ่งที่รู้สึกอีกอย่างคือการให้อภัย ในอดีตเราอาจจะทำไม่ดี แต่ตอนนี้เราให้อภัยตัวเอง และให้อภัยคุณพ่อคุณแม่ ที่เขาไม่ได้ผิดอะไร แต่เขาก็ได้รับการเลี้ยงดูแบบนั้นมาก่อน ตอนนี้เราก็เปิดใจมากขึ้น ก็ขอบคุณกิจกรรมนี้

“รู้สึกว่าหลังจากทำกิจกรรมเสร็จ สิ่งที่อยากพูดกับตัวเองคือ ขอบคุณที่โตมาได้อย่างดีเลยนะ แล้วอยากบอกกับทุกคนด้วยว่า ขอบคุณที่โตมาได้อย่างดีเลย”

 

“การเรียนรู้ผ่านตัวเอง” คือจุดเริ่มต้นของการเดินทาง

นพ.พนมบอกเล่ากระบวนการก่อนจะพัฒนามาเป็นเวิร์กช็อป “เยียวยาประสบการณ์พิษ” ครั้งนี้ว่า

“เริ่มจากการทำให้พวกเรารู้จักกันก่อน จากนั้นค่อยเข้าสู่กิจกรรมที่เรียกว่าการเปิดเผยตนเอง (self-disclosure) ที่ทำให้เราเล่าเรื่องส่วนตัวของตนเอง เช่น อวัยวะของร่างกาย หรือความสามารถพิเศษ แล้วค่อยๆ ลงลึกไปเรื่อยๆ ลงไปถึงเรื่องที่คิดว่า อาจเป็นแผลใจของหลายๆ คน อยู่ๆ จะมาเล่าเรื่องนี้ได้ยังไง เรายังไม่รู้จักกันเลย

“พอเรารู้จักกัน รู้สึกปลอดภัยที่จะเล่า เรื่องต่างๆ ก็จะค่อยๆ ออกมา ในบรรยากาศที่รู้สึกว่าไว้วางใจได้ หรือบางคนใช้คำว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’

“นี่ก็เป็นจุดสำคัญ เพราะเวลาสามชั่วโมง บางทีการลงไปเรื่องลึกๆ บางอย่างอาจจะยาก แต่คิดว่า ด้วยความที่เราไว้ใจกัน อาจเพราะเรามีเป้าหมายเดียวกันว่าจะเอาไปทำอะไร ก็เลยทำให้รู้สึกว่าเข้ากันได้ง่ายขึ้น” นพ.พนมอธิบาย โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นคือ “การเรียนรู้ผ่านตัวเอง”

“ถ้าเราจะเอาไปแบ่งปัน หรือใช้กับเด็กๆ ก็ลองไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของเรา” นพ.พนมกล่าว

นอกจากเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมแล้ว นพ.พนมร่วมสะท้อนว่ากิจกรรมในวันนี้ทำให้ได้เห็นพลังของผู้เข้าร่วมที่มีอย่างเต็มเปี่ยม แต่อาจเป็นเพียงการนับหนึ่งที่จุดเริ่มต้นเท่านั้นและชวนทุกคนเดินทางกันต่อ

“ผมว่าหนังสือ ‘ลบบาดแผลลึกสุดใจ’ เล่มนี้จะเป็นปฐมบท ถ้าได้อ่านจะรู้สึกว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก มีบาดแผลทางใจ (trauma) เยอะ เราน่าจะรีบช่วยเหลือ” นพ.พนมกล่าว

“สำหรับกิจกรรมวันนี้ ผมมองว่าเป็นตัวเติม เป็นบทที่ 1 ว่า ถ้าเราจะเล่นประเด็นนี้ จะทำอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กมีแผลทางใจ เพราะอยู่ดีๆ เขาคงไม่เล่า ก็ต้องหาเวที หากิจกรรมที่จะสร้างบรรยากาศปลอดภัยที่เด็กๆ จะกล้าเล่าและแบ่งปันกัน” ซึ่งเมื่อเกิดการแบ่งปันกันในบรรยากาศที่ปลอดภัยก็จะเกิดการเยียวยาและคลี่คลายปัญหาได้

“เพราะฉะนั้น นอกจากจะมาแบ่งปันวิธีการแล้ว ผมอยากเชิญชวนพวกเราให้ทำงานกับเด็กๆ กลุ่มนี้ต่อ เพราะผมเป็นจิตแพทย์เด็ก ก็จะเจอเด็กๆ ที่ประสบปัญหาค่อนข้างมาก” นพ.พนมยกตัวอย่างว่ามีโอกาสเข้าไปในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ได้เจอเด็กที่ประสบภัย ไม่ว่าภัยในครอบครัวหรือภัยความรุนแรง

“เราก็ไปชวนครู นักจิตวิทยา เอ็นจีโอ ชวนมูลนิธิในพื้นที่มาช่วยกัน เขาก็อยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เราก็ไปแลกเปลี่ยนกัน” นพ.พนมกล่าว

“ผมคิดว่า ถ้าเราทำงานแบบนี้ด้วยกัน เราจะช่วยเหลือเด็กๆ ได้อีกมาก เพราะเราจะรู้เลยว่า เด็กคนไหนที่มีปัญหาหรือมีอุปสรรค แล้วเราจะช่วยเหลือเด็กๆ ในชุมชนได้อย่างไรบ้าง” นพ.พนมทิ้งท้าย

 

อ่านรายละเอียดหนังสือ ‘ลบบาดแผลลึกสุดใจ’ ได้ที่

ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษ และแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์
The Deepest Well: Healing the Long-Term Effects of Childhood Adversity
Nadine Burke Harris, M.D. เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล