Brief: สนทนา ‘นานาประชาธิปไตย’ — หลากความหมาย หลายโมเดล ของ ประ-ชา-ธิป-ไตย

 

Brief: สนทนา ‘นานาประชาธิปไตย’ — หลากความหมาย หลายโมเดล ของ ประ-ชา-ธิป-ไตย

พณิชสรณ์ ชยันตธีระศิลป เรื่อง

ณัชชา ธัญญะสิทธิ์ ภาพ

 

“เราเรียกร้องประชาธิปไตยไปทำไม”

ระหว่างที่กล่าวถึงความประทับใจต่อหนังสือ นานาประชาธิปไตย รศ.ดร.สิริพรรณได้อธิบายปรากฏการณ์ในประเทศไทยที่สะท้อนเนื้อหาในหนังสือว่า ขอบเขตของประชาธิปไตยนั้นไม่ได้จำกัดแต่ในทฤษฎี แต่ธรรมชาติของมันยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของเราในหลายๆ ด้าน อย่างที่เห็นได้จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานที่ซอยปิ่นแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ต้องอพยพจากพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่รับการเยียวยาที่เหมาะสม สะท้อนว่าสิทธิของประชาชนที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประชาชนควรมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัญหานี้เหล่านี้จะแก้ได้หากมีประชาธิปไตยที่แท้จริง

ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเป้าหมายในตัวมันเอง แต่เป็นเครื่องมือเพื่อไปสู่เป้าประสงค์ที่ต้องการ คือการที่รัฐบาลถูกตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้โดยที่ประชาชนไม่ถูกฟ้องร้อง มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ พร้อมกับที่พลเมืองในประเทศมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ จากสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.ดร.พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง จากสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและประชาธิปไตยในการสนทนา ‘นานาประชาธิปไตย’ หลากความหมาย หลายโมเดลของประชาธิปไตย จากหนังสือ นานาประชาธิปไตย (Models of Democracy) ตำราประชาธิปไตยที่ใช้ในชั้นเรียนทั่วโลกของเดวิด เฮลด์ (David Held) นักวิชาการด้านปรัชญาการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคนสำคัญ โดยมีรศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ชวนสนทนาในครั้งนี้

 

“การเมือง” หมายความว่าอย่างไร

 

นิยามของคำว่า ‘การเมือง’ นั้นมีหลากหลาย ทั้งการจัดสรรและแบ่งปันผลประโยชน์รวมถึงทรัพยากรระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในสังคม การใช้อำนาจซึ่งมีที่มาแตกต่างกันในหลากหลายรูปแบบ โดยอาจจำแนกได้เป็นการเมืองใน ‘ความหมายแคบ’ อันจำกัดอยู่ในประเด็นการปกครองระหว่างรัฐกับประชาชน หรือ ‘ความหมายกว้าง’ ที่ครอบคลุมไปถึงการเมืองระหว่างบุคคล หรือตัวตนของปัจเจกบุคคลอย่างเรื่องเพศสภาพ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการถกเถียงถึงการให้ความหมายที่สมบูรณ์แบบของการเมืองอยู่

หลังจากวิทยากรได้แลกเปลี่ยนข้อถกเถียงเกี่ยวกับนิยามของการเมืองในบริบทต่าง ๆ อาจารย์ชยานิษฐ์จึงยกสถานการณ์การโต้แย้งถึงขอบเขตของการเมืองของประเทศไทยในเวลานี้ซึ่งวางอยู่บนฐานของความเข้าใจที่ต่างกัน มีฝ่ายหนึ่งที่ต้องการปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่มักได้ยินคนพูดว่า “อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย” “ใครจะเป็นนายกก็ต้องทำมาหากินอยู่ดี” หรือ “เชื่อหมออย่าเชื่อหมา” ท่ามกลางความดุเดือดของการโต้เถียงในประเด็นการจัดหาวัคซีน ซึ่งประจักษ์เรียกว่าเป็น “ความพยายามทำให้การเมืองปราศจากการเมือง”

“การเมืองในไทยปัจจุบันเป็นเรื่องของการปกป้องตัวเองโดยผลักการเมืองออกไป ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว” ประจักษ์กล่าว

 

“อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย” “ใครจะเป็นนายกก็ต้องทำมาหากินอยู่ดี” หรือ “เชื่อหมออย่าเชื่อหมา” เป็น “ความพยายามทำให้การเมืองปราศจากการเมือง การเมืองในไทยปัจจุบันเป็นเรื่องของการปกป้องตัวเองโดยผลักการเมืองออกไป ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว”

 

ในทางกลับกัน คนอีกกลุ่มหนึ่งได้ตั้งคำถามถึงแนวคิดที่ว่านี้ และพยายามจะท้าทายความเชื่อดังกล่าว เพื่อขยายเพดานของคำว่า ‘การเมือง’ ให้กว้างขึ้น ไม่จำกัดอยู่เพียงเรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน โดยประชาชนย่อมมีส่วนร่วมในการตัดสินในเรื่องที่จะมีผลกระทบกับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานพื้นที่สาธารณะ การสัญจรบนท้องถนน การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม หรือการเลือกวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในประเทศไทย

ส่วนในต่างประเทศโดยเฉพาะโลกตะวันตก พลอยใจได้ยกตัวอย่างการถกเถียงในประเด็นนิยามของการเมือง ระหว่างข้อคิดเห็นที่ว่าการเมืองเกี่ยวโยงไปถึงการเมืองในเชิงอัตลักษณ์ (Identity Politics) รวมถึงการปะทะและการกดทับทางวัฒนธรรม ทั้งอัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อนระหว่างคนแต่ละกลุ่ม กับข้อคิดเห็นที่มองว่าการมุ่งเน้นไปที่การเมืองในความหมายกว้างเช่นนั้นเป็นการเมืองของชนชั้นกลางขึ้นไปที่ทำให้เกิดการละเลยชนชั้นแรงงาน การเมืองจึงควรยึดความหมายแคบซึ่งเกี่ยวกับการจัดการกฎหมายหรือนโยบายของรัฐเป็นสำคัญ

 

 

แม้ว่าขอบเขตของคำว่า ‘การเมือง’ เป็นเรื่องที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ หรืออาจไม่มีวันมีข้อสรุปชัดเจน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ประเด็นที่โต้แย้งกันในประเทศไทยยังถือว่าล้าหลังอยู่

“ตราบใดที่เรายังคิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของทุกคน เราต้องนับตั้งแต่ศูนย์ ตั้งแต่หนึ่งใหม่ เรื่องของการถกเถียงประเด็นทางการเมือง เราควรเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร” สิริพรรณกล่าว

“ตราบใดที่เรายังคิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของทุกคน เราต้องนับตั้งแต่ศูนย์ ตั้งแต่หนึ่งใหม่ เรื่องของการถกเถียงประเด็นทางการเมือง เราควรเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร”

 

ประชาธิปไตยแบบไหนดี

 

เมื่อถามถึงรูปแบบของประชาธิปไตยที่วิทยากรสนใจ พลอยใจและสิริพรรณได้เลือก ‘ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ’ (Deliberative Democracy) ซึ่งมีจุดเด่นเป็นกลไกภายในรัฐที่ให้ความสำคัญแก่ ‘กระบวนการการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง’ ผ่านการมีช่องทางรับฟังข้อเสนอของประชาชนที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากกว่าเพียงแค่การใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยพวกเขามีสิทธิในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตัดสินคุณค่าทางการเมืองหรือนโยบายร่วมกันผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งผ่านประชามติออนไลน์ ผ่านตัวแทนของประชาชนในกลุ่มลูกขุนพลเมือง เป็นต้น แทนที่การดำเนินการทุกอย่างจะทำโดยผู้แทนทางการเมืองซึ่งเป็นรูปแบบที่หลายๆ ประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

 

ข้อดีของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในความเห็นของพลอยใจคือรูปแบบการตัดสินใจทางการเมืองที่มีความยืดหยุ่น คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งผู้แทนในรัฐสภาอาจไม่สมารถอุดช่องโหว่นี้ได้ครบถ้วน นอกจากนี้ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่เน้นการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างคึกคักของประชาชนทุกหมู่เหล่ายังมีส่วนช่วยสร้างพลเมืองที่มีอิสระ มีการตัดสินใจที่มีเหตุผล ตามที่สิริพรรณได้กล่าวเสริมไว้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองนั้นยังขาดเงื่อนไขพื้นฐานที่เอื้อต่อการนำประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พลเมืองที่มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองและบทบาทของตนผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขาดช่องทางในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน และที่สำคัญคืออำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน ตลอดจนผู้แทนทางการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นกระบอกเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

กระนั้นก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะสิริพรรณได้เสนอว่า หนทางสู่การมีประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นเริ่มต้นได้ด้วยการสร้าง ‘ประชาธิปไตยแบบคุ้มครอง’ (Protective Democracy) ซึ่งเป็นตัวแบบประชาธิปไตยที่เน้นคุ้มครองอำนาจอธิปไตยของมวลชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก คุ้มครองความเสมอภาพ รวมถึงคุ้มครองประชาชนจากการถูกรังแกกดขี่โดยรัฐและประชาชนด้วยกันเอง โดยอาจผสมกับ ‘ประชาธิปไตยสังคมนิยม’ (Social Democracy) หรือตัวแบบประชาธิปไตยในรัฐที่ให้สวัสดิการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง มีนโยบายกระจายรายได้ และมากไปกว่านั้นอาจเสริมด้วยภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘Civil Society’

อย่างไรก็ตาม “ตอนนี้เราต้องเป็นประชาธิปไตยให้ได้ก่อน” อาจารย์สิริพรรณกล่าวย้ำ

เพราะประชาธิปไตยมีหลากหลายรูปแบบ ย่อมปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมของประเทศหนึ่งๆ ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใด พื้นฐานของประชาธิปไตยคือการเป็นรูปแบบการปกครองที่ให้พลังกับประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่มี

 

เพราะประชาธิปไตยมีหลากหลายรูปแบบ ย่อมปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมของประเทศหนึ่งๆ ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใด พื้นฐานของประชาธิปไตยคือการเป็นรูปแบบการปกครองที่ให้พลังกับประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่มี

 

ทิศทางการเมืองไทยในเวลานี้

 

ในช่วงที่ผ่านมาภาคประชาชนในประเทศไทยเริ่มตื่นตัว ตระหนักถึงบทบาทของตนในการเมืองมากขึ้น ผู้คนจำนวนมากเห็นว่าการปล่อยให้การตัดสินใจทางการเมืองเป็นของผู้นำหรือชนชั้นปกครองเพียงกลุ่มเดียวนั้นไม่เพียงพอแล้ว มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองกันทั่วไป ทั้งระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยและสนับสนุนชนชั้นนำ รวมถึงในกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเองซึ่งมีการท้าทายหรือตั้งคำถามต่อกันและกันด้วย

ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้ชยานิษฐ์รู้สึกมีความหวัง และมองว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่อาจมีความสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475 เสียอีก เนื่องจากการเคลื่อนไหวไม่ได้กระจุกตัวแต่ในหมู่ชนชั้นนำเพียงอย่างเดียวแล้ว

“ประชาชนเริ่มเรียนรู้ว่า ถึงรัฐไม่ปกป้อง พวกเขาก็จะปกป้องสิทธิ์เสียงของตัวเอง”

 

 

กระนั้นในขณะเดียวกัน พลอยใจได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไปในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของไทยคือความเห็นร่วมกันที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบประชาธิปไตยที่ต้องการให้เกิดขึ้น หากมีการพูดคุยถึงเรื่องนี้มากขึ้นนอกเหนือไปจากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ ภาคประชาสังคมจะมีความเข้มแข็งขึ้นและสามารถตอบคำถามที่อาจพบเจอต่อไปในการต่อสู้ของพวกเขาได้

ประชาชนเริ่มเรียนรู้ว่า ถึงรัฐไม่ปกป้อง พวกเขาก็จะปกป้องสิทธิ์เสียงของตัวเอง

 

ปัจจุบัน แม้ว่าในหมู่ประชาชนจะมีความพยายามที่จะส่วนร่วมทางการเมืองเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา เช่น การชุมนุมประท้วง การแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย การรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเสนอข้อเรียกร้องทางกฎหมายต่างๆ แต่พวกเขากลับยังไม่ได้รับความสนใจหรือการตอบรับใดๆ จากรัฐบาลไทยเท่าที่ควร ทั้งยังถูกปิดกั้นไม่ให้แสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

พลอยใจแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่าความคิดเห็นและการสนับสนุนของประชาชนนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด “แม้แต่เผด็จการก็สร้างความชอบธรรมด้วยการกล่าวว่าตนนั้นทำเพื่อประชาชนหรือสังคม ในขณะที่รัฐไทยนั้นไม่มีการรับฟังประชาชนเลย ซึ่งเป็นสัญญานที่ไม่ดีกับเสถียรภาพทางการเมืองมากๆ”

 

แม้แต่เผด็จการก็สร้างความชอบธรรมด้วยการกล่าวว่าตนนั้นทำเพื่อประชาชนหรือสังคม ในขณะที่รัฐไทยนั้นไม่มีการรับฟังประชาชนเลย ซึ่งเป็นสัญญานที่ไม่ดีกับเสถียรภาพทางการเมืองมากๆ

 

ประเด็นดังกล่าวนำมาสู่คำถามที่ว่า เมื่อประชาชนตื่นตัวมากขึ้นและพยายามแสดงพลังของตนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รัฐบาลยังยืนกรานที่จะละเลยพวกเขาเช่นนี้ ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ท่าทีดังกล่าวอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงหรือไม่

หรือปริศนาที่ว่า “เราเรียกร้องประชาธิปไตยไปทำไม” จะมีคำตอบอยู่ในความกังวลข้างต้นนี้เอง

 

 

นานาประชาธิปไตย
(Models of Democracy: Third Edition)
David Held เขียน
สุทธิมาน ลิมปนุสรณ์ แปล

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่