Brief: เรียนอย่างไรให้สนุก ปลุกการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต

เรื่อง: นันท์ชนก คามชิตานนท์
ภาพ: สสส. / ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

การเรียนรู้ที่สนุกสนานนั้นส่งผลดีสำหรับผู้เรียน เป้าหมายสำคัญของครูผู้สอนหรือผู้ปกครองคือการออกแบบและสร้างการเรียนรู้ที่สนุกสนานให้ผู้เรียนหรือลูกหลาน แต่ดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนมากจะยังสับสนว่าการเรียนการสอนที่สนุกสนานเป็นแบบไหนกันแน่ และเราจะสร้างบรรยากาศเช่นนั้นขึ้นมาได้อย่างไร

สสส. ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักพิมพ์ Bookscape ร่วมจัดงานเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “Joyful Learning and Creative Education: เรียนอย่างไรให้สนุก: ปลุกการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต” เพื่อค้นหาความหมายและแนวทางของการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และเสาะหาความเป็นไปได้ที่จะยกระดับระบบการศึกษาไทย ผ่านมุมมองของวิทยากรหลากบทบาทหลายมุมมองจากแวดวงการศึกษาไทย ได้แก่

เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาชิกกลุ่ม Deschooling Game by เถื่อนเกม

ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (อักษรเจริญทัศน์ อจท.)

อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ ก่อการครู

ปราศรัย เจตสันต์ ครูโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม สมาชิกกลุ่ม Critizen และเครือข่าย Thai Civic Education

ธัญชนก คชพัชรินทร์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

ชวนสนทนาโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ร่วมด้วย อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่าย Thai Civic Education ทำหน้าที่สรุปและสังเคราะห์ประเด็นเสวนา

วงสนทนาเริ่มต้นด้วยการรื้อความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนให้สนุก (joyful learning) และทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าแท้จริงแล้วห้องเรียนที่สนุกสนานเป็นอย่างไรกันแน่ ทั้งจากแนวคิดของผู้เรียนและผู้สอน

 

ความสนุกไม่จำเป็นต้องมีเสียงหัวเราะ

 

หลายคนเข้าใจว่าการเรียนการสอนที่สนุกต้องเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเฮฮาหรือใช้การเล่นเป็นกระบวนการ แต่แท้จริงแล้วเป็นได้มากกว่านั้น และมีเงื่อนไขมากกว่านั้นด้วย

ธัญชนกเริ่มด้วยการเสนอมุมมองในฐานะผู้เรียน เธอมองว่าเนื้อหาบทเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของความสนุกสนานก็จริง แต่การเรียนที่สนุกยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ อีก หนึ่งคือผู้เรียนต้องนำบทเรียนไปใช้ในชีวิตจริงได้ สองคือผู้เรียนต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครูและเพื่อนๆ ครูต้องพูดคุยกับนักเรียนอย่างเป็นกันเอง ใส่ใจ และเห็นนักเรียนเป็นมนุษย์ที่มีตัวตน สุดท้ายคือต้องมีกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ สนุก ทำให้ผู้เรียนได้เห็นมุมมองใหม่ๆ

 

 

อธิษฐาน์มองว่าการเรียนที่สนุกจะทำให้ผู้เรียนอยากเรียนอีก และเรียนได้นาน อธิษฐาน์นำเสนอแง่มุมจากประสบการณ์ที่เธอเคยเป็นผู้เรียนการละครกับกลุ่มละครมะขามป้อม เธอต้องใช้ทั้งสมอง ใจ และร่างกายในกระบวนการเรียน เมื่อได้เคลื่อนไหวร่างกาย สมองและใจก็ทำงานได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือระหว่างการเรียนผู้สอนต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน

“ก่อนที่เราจะถึงขึ้นที่กล้ากระโจนลงไปแสดงละครต่อหน้าผู้คนได้ มันเกิดการสร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่คุณสามารถลองผิดก็ได้ ลองถูกก็ได้ ทำอะไรก็ได้ที่ปกติไม่เคยทำ ได้ลองทำแล้วไม่ถูกตัดสิน พื้นที่ลองผิดลองถูกนี้สำคัญมาก”

นอกจากมุมมองของผู้เรียน ครูผู้สอนเองก็มีมุมมองที่น่าสนใจถึงการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน ปราศรัยมองว่าก่อนจะตั้งคำถามถึงการเรียนให้สนุก คงต้องถามก่อนว่า “เรียนรู้อย่างไรให้ได้เรียนรู้” หลายครั้งการเรียนการสอนไม่ได้ช่วยเพิ่มพูนทักษะและความรู้ให้ผู้เรียนเท่าที่ควร ปราศรัยเชื่อว่าการเรียนรู้จะประสบผลสำเร็จก็ต่อเมื่อ “เรียนให้สนุก เพื่อซึมซับประสบการณ์และความรู้ได้ง่ายขึ้น” อย่างไรก็ตาม เด็กๆ นั้นแตกต่างหลากหลาย แต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการต่างกัน ทำให้ความสนใจและสิ่งกระตุ้นความสนุกต่างกัน

“นิยามความสนุกของเราต่างกัน เมื่ออายุมากขึ้น ความสนุกของเราก็เปลี่ยนไป เมื่อนิยามความสนุกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องตั้งคำถามว่าเด็กๆ เขาสนุกกันเมื่อไหร่ อะไรที่ท้าทายความสนุกในช่วงวัยของเขา อะไรที่ทำให้เด็กๆ สนุกกันทั้งห้องได้”

ขณะที่เดชรัตเล่าถึงตัวชี้วัดความสำเร็จของการเรียนการสอนที่น่าสนใจ คือหลังคาบเรียน ครูผู้สอนต้องรู้สึกว่าตัวเองได้ความรู้เพิ่ม เพราะหากการเรียนการสอนในห้องเรียนเข้มข้นมากพอ ผู้เรียนจะสร้างองค์ความรู้มาโต้แย้งกับผู้สอน ทำให้ผู้สอนเกิดการเรียนรู้ในที่สุด

ส่วนตะวันซึ่งมีโอกาสดูแลบริษัทออกแบบการเรียนรู้ (learning design) มองว่าการเรียนรู้ที่สนุกไม่จำเป็นต้องสนุกสนานเฮฮา แต่เป็นการเรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีวัตถุประสงค์อย่างแรงกล้าในการเรียนรู้ บทบาทของครู ผู้เรียน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเหมาะสมจะช่วยสร้างความกระหายใคร่รู้ของผู้เรียนได้

ภาคินสรุปว่าการเรียนที่สนุกไม่ได้หมายถึงการเล่นเสมอไป แต่เป็นการเรียนรู้ที่มีความขี้เล่น และมีกระบวนการที่กระตุ้นให้ผู้เรียนกระหายอยากเรียนรู้

 

สอนอย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนห้องเรียนน่าเบื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

 

เมื่อเข้าใจแล้วว่าการเรียนที่สนุกเป็นอย่างไร คำถามต่อมาก็คือผู้สอนหรือผู้ปกครองจะสร้างการเรียนรู้ที่สนุกให้แก่ผู้เรียนได้อย่างไร ทำอย่างไรเราจึงจะเปลี่ยนห้องเรียนแบบเดิมๆ ที่น่าเบื่อ ให้กลายเป็นห้องเรียนที่สร้างสรรค์ และทำให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนได้

การออกแบบการเรียนรู้ช่วยสร้างกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ได้ ตะวันเสนอว่าการออกแบบการเรียนรู้ที่ดีจะช่วยแนะแนวทางให้ผู้สอนว่าควรต้องทำอย่างไรเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้เรียน ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของคนในห้องเรียนเปลี่ยนไป ตัวอย่างคือการตั้งคำถาม ครูผู้สอนควรตั้งคำถามว่าทำไมและอย่างไร เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจและความกระหายใครรู้ ทำให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้

ตำราเรียนก็มีส่วนสร้างการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ได้เช่นกัน บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น เปลี่ยนแปลงตำราแบบเดิมๆ หันมาเน้นกระบวนการเรียนการสอนมากขึ้น โดยสรุปส่วนเนื้อหาให้สั้นลง เพื่อเปิดโอกาสให้ครูมีเวลาปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนมากขึ้น และเพิ่มกิจกรรมในตำราเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน

 

 

เดชรัตเลือกใช้เกมเป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียน เขาอธิบายว่าการเรียนรู้จากประสาทสัมผัสจะทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์และส่วนร่วมในการเรียนรู้โดยตรง นับเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ในกรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถมีประสบการณ์ตรง จึงต้องใช้การจำลองประสบการณ์ นั่นคือเกม สิ่งที่ต้องคำนึงในการออกแบบเกมหรือออกแบบห้องเรียน คือเราต้องการให้อารมณ์ (mood) ในห้องเรียนเป็นอย่างไร เพราะอารมณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนการสอนที่คนมักมองข้าม แต่แท้จริงแล้วมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเรียนรู้

เดชรัตเสริมว่าการสร้างห้องเรียนที่สนุกมีปัจจัยสามประการ

“ความสนุกต้องมีสามอย่าง คือประสบการณ์ตรง ผู้เรียนต้องได้ตัดสินใจเอง ได้ลองดูว่าผลของการตัดสินใจนั้นคืออะไร สองคือผลนั้นต้องเป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน ข้อสุดท้ายคือพื้นที่ปลอดภัย เพื่อจะได้กล้าทำสิ่งที่ไม่คาดฝันนั้น”

เนื่องจากเด็กๆ แต่ละคนต่างกันและมีการเรียนรู้ที่ต่างกัน ปราศรัยจึงเสนอว่ากิจกรรมการเรียนรู้ต้องมีหลายรูปแบบ ครอบคลุมสำหรับเด็กๆ ทุกกลุ่ม ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเด็กเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงพื้นฐานเดิมของเด็กแต่ละคน รวมถึงอนาคตว่าพวกเขาจะนำความรู้ในห้องเรียนไปต่อยอดอะไรอย่างไรได้บ้าง

นอกจากนั้น ครูผู้สอนยังสร้างกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ โดยให้เด็กออกไปเจอประสบการณ์ภายนอก  ครูผู้สอนมีหน้าที่ออกแบบคำถามเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงการเรียนรู้ อาจเป็นกิจกรรมภายในโรงเรียนอย่างงานกีฬาสี ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ชื่นชอบอยู่แล้ว

 

 

อธิษฐาน์มองว่าเด็กๆ ไม่ใช่ผ้าขาว พวกเขาล้วนมีพื้นฐานการเรียนรู้หลากหลายแตกต่างกัน ครูผู้สอนต้องเชื่อมโยงความรู้เหล่านั้นเข้าด้วยกันให้ได้ เพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้สำหรับเด็ก ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศนี้ อธิษฐาน์ยกตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการที่รวมผู้ปกครองเข้าไปในกระบวนการด้วย คือกิจกรรม “ครอบครัวสาธิต” โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดโอกาสให้เด็กๆ และผู้ปกครองได้มาเรียนรู้ร่วมกันก่อนเริ่มชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง อธิษฐาน์ยังพบว่าเด็กจะเรียนรู้และจดจำได้มากกว่าหากได้ลงมือทำสิ่งและไปอยู่ในพื้นที่เอง

หน้าที่ประการหนึ่งของครูผู้สอนคือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งสำคัญมาก หากไม่มีพื้นที่ปลอดภัย เด็กๆ จะไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ และท้าทาย อีกประการคือการตั้งคำถาม

“ทักษะอย่างหนึ่งที่สำคัญมากที่ครูต้องมีคือการตั้งคำถามที่ดี คำถามดีๆ จะขุดความรู้ออกมาจากตัวเด็กได้มหาศาล และความรู้จากเด็กหนึ่งคนจะไปเชื่อมโยงกับเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ด้วยกัน เกิดเป็นความเข้าใจใหม่ ขยายมุมมองของพวกเขาได้”

อธิษฐาน์ทิ้งท้ายว่าการประเมินก็สำคัญมากเช่นกัน เด็กต้องประเมินตัวเองได้ เปิดโอกาสเพื่อนประเมินกันได้ และผู้ประเมินคนสุดท้ายก็คือครู โดยที่ครูต้องประเมินอย่างสร้างเสริมกำลังใจให้เด็กด้วย

 

เปลี่ยนการศึกษาภายใต้ ‘เบื้องบน’ ให้เป็นการศึกษาของทุกคน

 

แนวทางสร้างการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ดูเหมือนจะยังไม่พอ เมื่อพูดถึงปัญหาการศึกษาไทย หลายคนกล่าวหาว่าเป็นเพราะครูไทยไร้คุณภาพ แต่ภาคินตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาของครูไทยอาจมาจากการควบคุมของหน่วยงานระดับบน เมื่อเป็นเช่นนั้น การแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลอาจไม่เพียงพอ เราอาจต้องรื้อถอนระบบที่กดทับ ซึ่งเหยื่อไม่ได้มีเพียงครูผู้สอน แต่รวมถึงผู้เรียนด้วย

ธัญชนกเล่าว่าเคยรู้สึกว่าได้เรียนรู้มากที่สุดตอนที่หนีเรียน เมื่อรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เมื่อนั้นจึงเกิดการเรียนรู้ ต่อมาธัญชนกเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ของนักเรียนในสังคมไทย เธอทำกิจกรรมโดยสมัครใจ ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง และเชื่อมั่นว่าต่อให้เจอเรื่องยากเธอก็จะผ่านมันไปได้ แม้จะทำผิดพลาด เธอก็ยังได้เรียนรู้ โดยมีพ่อแม่เป็นผู้สนับสนุน สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เธอกล้าทดลองลงมือทำและพร้อมรับความผิดพลาด

 

 

ปราศรัยเสริมว่าโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาล จำกัดความสนใจของนักเรียนมากเกิน

“โรงเรียนมีพื้นที่น้อยสำหรับความสนใจที่หลากหลายในโรงเรียน โรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ครอบความสนใจของเด็กว่าต้องมุ่งทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยที่ไม่เปิดพื้นที่มากพอสำหรับเรื่องอื่นๆ”

ดังนั้นอำนาจในสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องใหญ่ หากจะพูดถึงการเรียนรู้ก็ไม่อาจเลี่ยงการพูดถึงระบบในสถานศึกษาได้เลย

เดชรัตเห็นด้วยและเสนอว่าประเทศเรายังขาด “การแชร์อำนาจ” คือการแบ่งให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำหนดการเรียนรู้ เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับทุกคน  หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ระดับบนไม่ยอมแชร์อำนาจเพราะเป็นห่วงว่าเมื่อกระจายอำนาจออกไปอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี

การเขย่าระบบอาจเป็นงานใหญ่เกินไป ธัญชนกได้นำเสนอวิธีการง่ายๆ ที่ครูทำได้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยการมอบอำนาจบางอย่างให้แก่ผู้เรียน เช่นครูผู้สอนอาจกำหนดโจทย์ไว้หลายข้อ ให้ผู้เรียนแต่ละคนได้เลือกโจทย์ที่ต้องการ แทนที่จะกำหนดโจทย์เพียงข้อเดียวให้ผู้เรียนทุกคนเหมือนๆ กัน หรืออาจให้นักเรียนได้เลือกรูปแบบการนำเสนอโครงงานเองอย่างอิสระ

นอกจากจะแก้ปัญหาเชิงอำนาจในระบบการศึกษา สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการกระตุ้นครูผู้สอนที่เคยหมดแรงกายแรงใจเพราะรู้สึกว่าถูกระบบบั่นทอน โครงการ “ก่อการครู” ที่อธิษฐาน์มีส่วนร่วมในบทบาทหัวหน้าโครงการ ตั้งขึ้นเพราะเห็นปัญหาของครูในประเทศไทย และต้องการจุดไฟของครูอีกครั้ง ช่วยให้ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างชุมชนการเรียนรู้ของครู และพัฒนาครูอย่างสร้างสรรค์

อธิษฐาน์มองว่าต้องปลดล็อกครูไทยจากความหวาดกลัว เช่นกลัวการถูกประเมิน และส่งเสริมให้ครูกลับมามีไฟ เธอเชื่อว่าครูมีเนื้อหาเพื่อการสอนอยู่แล้ว แต่ยังขาดการออกแบบการสอนที่ดี และนอกจากนั้น ครูยังต้องการพื้นที่กลางเพื่อการแลกเปลี่ยนทักษะความรู้ระหว่างกันด้วย ครูที่พร้อมและกระตือรือร้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการเรียนรู้ที่สนุกและสร้างสรรค์

 

ขับเคลื่อนระบบการศึกษาด้วยมือเราทุกคน

 

นอกจากบุคลากรในแวดวงการศึกษา เช่น ครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เราทุกคน ไม่ว่าจะอยูในบทบาทหน้าที่ไหนก็ร่วมสร้างระบบการศึกษาที่ดีได้เช่นกัน

ตะวันเชื่อว่าไม่มีใครที่อยู่นอกแวดวงการศึกษาอย่างแท้จริง ความเจริญของประเทศขึ้นอยู่กับทุนมนุษย์ (human capital) เราพัฒนาทุนมนุษย์ได้ด้วยการศึกษา เราจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและร่วมผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดีและถูกต้อง แม้ไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ก็ต้องช่วยกันส่งเสียงแสดงความคิดเห็น

ทุกวันนี้เราเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ง่ายดายผ่านสื่อบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคลิปวิดีโอให้ความรู้ เดชรัตตั้งข้อสังเกตว่าต่างประเทศผลิตคลิปเหล่านี้ขึ้นมามากมาย แต่คนไทยกลับไม่ผลิตคลิปเหล่านี้มากสักเท่าไร ผู้เรียนที่มีข้อจำกัดด้านภาษาจึงขาดโอกาสการเรียนรู้  ผู้ที่อยู่นอกวงการศึกษาสามารถเติมเต็มในส่วนนี้ได้ ถือเป็นการแบ่งปันความรู้ความถนัดสู่สังคม เพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของคนไทย

ปราศรัยมองว่าการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นตามอัธยาศัย ตามวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือชุมชน อย่างไรก็ตาม ปราศรัยยังให้ความสำคัญกับการศึกษาในระบบ เขามองว่าการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะชีวิตเด็กส่วนใหญ่ยังอยู่ในโรงเรียน เราจะทิ้งระบบการศึกษาไม่ได้ เราต้องพัฒนาระบบและโครงสร้างการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาวิชาชีพครู

 

การเรียนรู้ทั้งสนุกและสร้างสรรค์เป็นไปได้!

 

เมื่อสิ้นสุดการเสวนา ภาคินสรุปว่าการเรียนรู้อย่างสนุกและสร้างสรรค์มีลักษณะสำคัญสามประการ

  1. การเรียนให้สนุกไม่จำเป็นต้องเฮฮา
  2. การเรียนรู้ที่สนุกเกิดจากการตั้งคำถามที่ดีทั้งกับผู้เรียนและตัวผู้สอนเอง
  3. ต้องมีบรรยากาศที่เหมาะกับการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เอื้อให้เกิดการทดลองและความกล้าออกนอกกรอบ อันจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในที่สุด

จากนั้น อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งท้ายการเสวนาด้วยการนำเสนอแนวทางสร้างการเรียนรู้ที่สนุกและสร้างสรรค์ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญสามข้อคือ

  1. Meaning Learning – การเรียนรู้ที่มีความหมาย
  2. Caring Teacher – ผู้สอนที่ใส่ใจ
  3. Engaging Education – การเรียนการสอนที่เปิดให้มีส่วนร่วม

 

 

การเรียนรู้ที่มีความหมายต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง ตอบโจทย์ชีวิตและความสนใจ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองและเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น ได้ค้นพบความชอบความถนัดของตัวเอง กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน

สำหรับครู อรรถพลมองว่าครูต้องคำนึงถึงนักเรียนเป็นอันดับแรก ต้องหมั่นสังเกตใส่ใจ เพื่อทำความรู้จักผู้เรียน ทำความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งนี้ ครูที่ใส่ใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบการศึกษาที่สนับสนุนและเอื้ออำนวย

บรรยากาศชั้นเรียนที่ดีจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกและมีความหมายได้ ต้องมีปัจจัยห้าประการคือ ท้าทาย (challenging) ไม่ทอดทิ้งกัน (inclusive) ปลอดภัย (safe) สนับสนุน (supportive) และมีส่วนร่วม (engaging)

ก่อนสิ้นสุดการเสวนา อรรถพลทิ้งท้ายว่าไม่มีบทเรียนสำเร็จรูปใดที่เหมาะกับเด็กทุกคน

“บทเรียนที่ดีรอคุณเขียนขึ้น ไม่มีบทเรียนสำเร็จรูปที่ไปช็อปปิ้งมาจากที่อื่นได้ นักเรียนของเรา ห้องเรียนของเรา ลูกหลานของเรา เราต้องดูแลเขา และให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบบทเรียนร่วมกันกับเรา”