
วรเชษฐ แซ่เจีย เรื่อง
“growth mindset” หรือ “ชุดความคิดแบบเติบโต” เป็นหลักคิดที่เชื่อว่าทุกคนสามารถเติบโตได้ด้วยความพยายามและการเรียนรู้ คำนี้อาจไม่ใช่คำใหม่นักสำหรับวงการการศึกษา และเป็นคำที่รับรู้กันทั่วไปว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่นำพาเด็กให้โตไปได้ไกล สู่จุดมุ่งหมายที่หวังของแต่ละคน แต่ครูประจำการหลายคนรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองอาจยังไม่ได้รับรู้ถึงความสำคัญ หรือแม้แต่การมีอยู่ของแนวคิดนี้
bookscape ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนมาจุดประกายการศึกษาไทยด้วย growth mindset หรือชุดความคิดที่เชื่อว่าทุกคนเติบโตได้ด้วยความพยายามและการเรียนรู้ ผ่านการร่วมเรียนรู้จากหนังสือ The Growth Mindset Coach: คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset และ The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานจริงเพื่อสร้าง growth mindset ในเด็กและผู้ใหญ่รอบตัว ท่ามกลางบริบทหลากหลาย
ร่วมสนทนาโดย สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation) อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักจิตวิทยาเชิงบวกและผู้ก่อตั้งไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) ชลนภา เหลืองรังษี คุณครูจากกลุ่ม Teach For Thailand ชวนสนทนาโดย ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ Content Creator จาก Inskru
ความประทับใจจากการอ่าน
ในช่วงต้น ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ ได้เกริ่นนำและเล่าถึงจุดเด่นของหนังสือ The Growth Mindset Coach และ The Growth Mindset Playbook ว่า growth mindset เป็นแนวคิดที่นำไปปรับใช้ได้ทั้งกับในห้องเรียน และสำหรับผู้ปกครองเพื่อสอนบุตรหลาน และหนังสือได้ยกตัวอย่างรูปธรรมเพื่อให้นำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น จากนั้นวิทยากรทั้งสามได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความประทับใจที่ได้จากการอ่านหนังสือทั้งสองเล่ม
สำหรับ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ มองว่า growth mindset คือชุดคำหนึ่งที่ใช้อธิบายเรื่องราวของโลกใบนี้ เป็นการสร้าง “ชุดคำหรือคำพูด” เพื่ออธิบายและสื่อสารบนฐานคิดแบบ growth mindset แต่ไทยนั้นมีข้อจำกัดในเรื่องชุดคำที่จะพูดถึง growth mindset ยังมีคำที่เกี่ยวเนื่องกับ growth mindset ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หนังสือทั้งสองเล่มนี้ทำให้เรามองเห็นคำศัพท์ที่กว้างออกไป และถึงแม้หนังสือจะนำเสนอบริบทวัฒนธรรมแบบต่างประเทศ แต่ชุดคำเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้แบบข้ามวัฒนธรรมได้
ต่อมา ชลนภา เหลืองรังษี กล่าวว่าตนประทับใจที่ผู้เขียนหนังสือออกแบบหนังสือให้ผู้อ่านได้ตรวจสอบตัวเองก่อนว่ามี growth mindset มากน้อยแค่ไหน ทำให้รู้ว่ายังมีอะไรที่ตัวเราต้องปรับปรุงอีก และพบว่าในตัวของชลนภาก็ยังมีหลายอย่างที่เป็น fixed mindset หรือกรอบคิดที่เชื่อว่าคนเราเกิดมามีความสามารถชุดหนึ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแม้จะเติบโตขึ้น นอกจากนั้นหนังสือยังให้คลังข้อมูลและแหล่งอ้างอิงจำนวนมากที่ครูนำไปใช้ได้ในห้องเรียน พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้อ่านไปตลอดเล่ม
ขณะที่ สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร มีข้อสังเกตว่า หนังสือสองเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึงแต่ประเด็นกว้างๆ ในภาพรวมเท่านั้น แต่ยังให้ตัวอย่างสถานการณ์ที่สามารถเป็นบทเรียนหรือจุดเตือนใจให้คุณครูได้ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันระหว่างนักเรียนกับครู ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง growth mindset ในห้องเรียน
นอกจากนี้หนังสือยังกล่าวถึงพ่อแม่ผู้ปกครองผู้อยู่ใกล้ชิดนักเรียนด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สร้าง growth mindset ให้นักเรียน ซึ่งหนังสือที่เกี่ยวกับ growth mindset ส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก ขณะที่หนังสือสองเล่มนี้ให้น้ำหนักกับตัวเด็กเป็นสำคัญ การเรียนรู้ส่วนบุคคล (personalized learning) และเหมาะกับครูที่จะพัฒนาการสอนของตนเอง
ชวนมองภาพใหญ่ การศึกษาไทยเอื้อให้เกิดการสร้าง growth mindset แค่ไหน
สรวิศและชลนภาชี้ชวนให้เห็นว่า การสร้าง growth mindset มีข้อจำกัดท่ามกลางบริบทเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนและการทำงานของครู สรวิศกล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาที่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่ต้องสอน จึงกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ครูต้องทำตาม ทั้งที่ข้อมูลหลายส่วนสามารถสืบค้นและเรียนรู้จากนอกห้องเรียนได้ หากผู้พัฒนาหลักสูตรและผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาหันมาใส่ใจการสร้าง growth mindset ให้มากขึ้น ก็อาจนำการศึกษาและอนาคตของเด็กไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้
ในส่วนของชลนภาชี้ให้เห็นมุมของครูผู้สอนว่า ครูรุ่นใหม่นั้นยังมี growth mindset แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยภาระงานต่างๆ และด้วยการเผชิญกับพฤติกรรมของนักเรียน ประกอบกับบรรยากาศการทำงานรายรอบก็ทำให้ growth mindset ค่อยๆ ลดลง ยิ่งกับครูที่อยู่ในระบบมานาน ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะรักษา growth mindset ไว้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงการที่ภาครัฐโครงสร้างส่วนบนที่ไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องนี้
จากนั้นอรุณฉัตรชี้ให้เห็นป้ายบอกทางสำคัญ (milestone) ของ growth mindset โดยป้ายบอกทางแรกนั้นอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่าครูทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ และหากครูทำเรื่องนี้ได้ก็จะเป็นก้าวแรกในการสร้าง growth mindset ให้กับนักเรียน นักเรียนจะสัมผัสประสบการณ์การเติบโตจากครูได้
ป้ายถัดมาได้แก่การประเมินต่างๆ ในระบบการศึกษา เช่น ในการประเมินครูนั้น ผู้ที่เข้ารับการประเมินและกรรมการผู้ประเมินไม่มีการมาแลกเปลี่ยนอภิปรายกัน ทำให้ตัวครูรู้สึกไร้ซึ่งพลัง ส่วนการประเมินเด็กนักเรียน ในปัจจุบันเรื่องที่เราพูดถึงกันบ่อยสุดคือคะแนนการทดสอบระดับชาติต่างๆ แต่เราเคยพูดถึงบ้างหรือไม่ว่าทักษะที่เด็กๆ ได้ฝึกฝนหรือได้รับจากระบบการศึกษานั้นเป็นอย่างไร เราเคยพูดหรือไม่ว่าเรามีพื้นที่การเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายให้เด็กได้เลือกแล้วหรือยัง
ป้ายถัดมาคือระบบการสร้างครู ปัจจุบันเราสอนให้ครูเชื่อหรือไม่ว่าครูต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และป้ายถัดมาคือการจัดประสบการณ์ร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว เพราะการพัฒนา growth mindset ต้องพิจารณาให้กว้างขึ้นไปถึงคนรอบตัวโดยเฉพาะครอบครัว ซึ่งนักเรียนจะเรียนรู้มุมมองที่มีต่อโลกจากคนที่เขาไว้วางใจ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้พ่อแม่ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการสร้าง growth mindset ไปด้วยกัน
สองป้ายสุดท้ายในการสร้าง growth mindset ได้แก่การสร้างแรงบันดาลใจและสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็ก อรุณฉัตรชวนคิดว่า การศึกษาก็คือวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ดังนั้นแน่นอนว่าการศึกษาจะต้องผูกโยงกับบรรยากาศบ้านเมืองเสมอ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจึงต้องมี growth mindset ให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น เวลาพูดออกสื่อต่างๆ ก็ควรต้องมี growth mindset ให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน เด็กที่ได้เห็นและฟังก็จะสามารถนำไปเป็นแบบอย่างหรือตัวแบบวิธีคิดได้
ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ในที่นี้หมายถึงหนังสือนิทานสำหรับเด็ก รวมทั้งวรรณคดีซึ่งจะสะท้อนคุณค่าบางอย่างออกมาและเป็นวิธีสื่อสารแบบทางเดียว ไม่ได้ชวนให้ได้คิดทบทวนหรือเปิดพื้นที่ให้สำรวจสถานการณ์นั้นๆ อรุณฉัตรทิ้งท้ายว่าการเคลื่อนไหวในระดับนโยบายของระบบการศึกษาไทยนั้นก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่ต่อเนื่องและขาดความเชื่อมโยงมากพอเพื่อให้เกิดเป็นเส้นทางการสร้าง growth mindset ที่ยั่งยืน
มโนทัศน์แบบ growth mindset นั้นสามารถสร้างได้ตั้งแต่ระดับก่อนปฐมวัย และต้องปรับวิธีการกันตั้งแต่การดูแลเด็กเมื่ออยู่ในบ้าน อรุณฉัตรยกตัวอย่างเรื่องช่วงเวลาหรือความผิดพลาดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เด็กๆ เติบโต ซึ่งผู้ใหญ่รอบตัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายสามารถช่วยเหลือให้เด็กๆ ก้าวข้ามอุปสรรคผ่านการสื่อสารแบบที่มี growth mindset มากกว่าการสั่งให้ทำหรือสั่งให้หยุดทำโดยใช้อารมณ์มากกว่า
การสร้าง growth mindset ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในสังคม
อย่างที่ทราบกันตามหน้าข่าวและวงเสวนาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอว่าความเหลื่อมล้ำในวงการการศึกษานั้นแทรกอยู่ในทุกซอกทุกมุม ในประเด็นนี้ชลนภาชี้ให้เห็นว่าบริบทสังคมที่แตกต่างกันโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็ส่งผลต่อแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรก growth mindset ลงไปในบทเรียน ทั้งนี้การจะบ่มเพาะ growth mindset ต้องอาศัยความร่วมมือกับครูทั้งโรงเรียนด้วย
สรวิศได้นำเสนอเพิ่มเติมในมุมของงานอาสาของมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ว่า เมื่อโรงเรียนได้รับครูอาสาสมัครเข้ามา ต้องมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับ growth mindset ให้กับครูอาสาก่อนด้วย ทั้งเพื่อตรวจสอบและพัฒนาตนเอง รวมไปถึงกระบวนการสร้างและการสังเกตเด็ก ทั้งนี้ สรวิศมองว่าครูไทยในปัจจุบันยังไม่ได้เข้าใจเรื่อง growth mindset มากนัก รวมทั้งคนทั่วไปที่อาจไม่เคยได้ยินหรือเข้าใจในเรื่องนี้มาก่อน และผู้วางนโยบายหรือผู้ฝึกสอนด้าน growth mindset ก็อาจไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงกระบวนการสร้างและส่งเสริมที่ถูกต้อง
เมื่อกล่าวถึงนโยบายจากส่วนกลาง อรุณฉัตรเสริมด้วยว่านโยบายการศึกษาในปัจจุบันมักมาจากฐานของภาพลักษณ์หรือ performance เพื่อกวดขันให้นักเรียนสอบได้คะแนนดีขึ้น มากกว่าจะอิงจากข้อมูลเชิงกระบวนการและหลักฐานเชิงประจักษ์จากห้องเรียนจริง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า growth mindset ไม่ใช่เป้าหมายอันดับหนึ่งในการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรและนโยบาย ทั้งที่มีหนังสือและงานวิจัยออกมาแล้วว่า
growth mindset สามารถช่วยให้นักเรียนสำรวจและค้นพบความฝันของตน เข้าใจตนเองมากขึ้น และเป็นพลังในการดำเนินชีวิตต่อไปเพื่อก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำและอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาได้ด้วยตัวเอง
วัฒนธรรมแบบไทยๆ กับการสร้าง growth mindset
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าวัฒนธรรมและมุมคิดบางอย่างในสังคมไทยมักสะท้อนออกมาเป็นกรอบคิดแบบ fixed mindset อรุณฉัตรช่วยย้ำในประเด็นนี้และได้แบ่งปันประสบการณ์การทำวิจัยกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก ร่วมกันกับ ธิชา ณ นคร ผู้อำนวยการฯ เมื่อ พ.ศ. 2560 โดยอรุณฉัตรกล่าวถึง “ความเชื่อ” ที่แฝงอยู่ในกระบวนการต่างๆ ภายในบ้านกาญจนาฯ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่ก้าวพลาดเพื่อให้พวกเขาพร้อมไปต่อ
กล่าวคือเมื่อเด็กเข้าสู่บ้านกาญจนาฯ ธิชาจะกล่าวย้ำกับเด็กๆ ว่าเธอเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างในตัวเองและกอดพวกเขา ทำให้เด็กๆ เชื่อว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงได้ พร้อมกันกับการเตรียมพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กให้เชื่อมั่นและมีความหวังต่อไป
อรุณฉัตรเล่าเชื่อมโยงกลับไปยังเรื่องนโยบายการจัดการปัญหาต่างๆ ในประเทศ ที่มักมองแต่ปัญหา จนเกิดเป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ทำให้เรามีกฎเกณฑ์และกฎหมายมากมายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาทีละจุด แต่ไม่เคยเชื่อมถึงกัน แต่ถ้าปรับจุดเน้นไปยังสิ่งที่ทำแล้วก่อให้เกิดผล จะช่วยให้เห็นหนทางการแก้ปัญหาและการพัฒนาที่ชัดเจนและยั่งยืนกว่า เช่น ปัญหาโรคเครียดหรือซึมเศร้าที่ทุกคนในวงการการศึกษากำลังให้ความสนใจ ต้องการลดปัญหา แต่ยังไม่เจอวิธีการแก้ปัญหา เพราะให้ความสำคัญแต่กับการอธิบายปัญหา หาสาเหตุ และแก้เป็นรายกรณีไป แต่หากมองในภาพใหญ่จะมองเห็นแนวทางการปรับสภาวะแวดล้อมของตัวเด็กให้เหมาะสม เตรียมครูให้ช่วยเหลือนักเรียนให้เป็น และให้เวลากับคุณครูอยู่กับนักเรียนมากขึ้น
ก้าวแรกของ growth mindset เริ่มต้นที่เชื่อในทุกความเป็นไปได้
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่กล่าวถึงในหนังสือ The Growth Mindset Coach และ The Growth Mindset Playbook และปรากฏบ่อยครั้งในวงเสวนาครั้งนี้ คือ การสานความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นครูกับนักเรียน ครูกับครูด้วยกัน ครูกับผู้ปกครอง หรือครูกับบุคลากรทางการศึกษาภายนอกอย่างศึกษานิเทศก์ เรื่องเหล่านี้สำคัญเพราะจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” เพื่อเรียนรู้ร่วมกันต่อไปได้ นอกจากนั้นผู้เสวนาและผู้นำสนทนาทั้งสี่ต่างเห็นตรงกันว่ายังมีชุดความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งกว่าหลักชัยหรือสมรรถนะการสอนใดๆ นั่นคือความเชื่อว่าทุกสิ่งนั้นเป็นไปได้ (sense of possibility)
แล้วอะไรทำให้โครงสร้างหรือระบบการศึกษาไทยยังไม่เชื่อในความเป็นไปได้ อรุณฉัตรเสนอว่าเราอาจแบ่งขั้วเหมารวมออกเป็นในโรงเรียนและนอกโรงเรียนไม่ได้ แต่อยากให้มองว่ามันเป็นการปะทะกันระหว่างชุดความคิดแบบเดิมที่คนกลุ่มหนึ่งได้รับมาตั้งแต่การฝึกหัดครู ซึ่งเป็นมรดกตกค้างมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลง (transform) ไปสู่ระบบแบบใหม่จึงต้องใช้พลังและความพยายาม ซึ่งคงไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีแบบใดจะดีที่สุด เช่นเดียวกับวิธีการที่หนังสือทั้งสองเล่มกล่าวถึงซึ่งเมื่อนำไปทดลองใช้จริงแล้วอาจจะไม่เหมาะกับบริบทของผู้อ่าน จึงต้องการการปรับประยุกต์ให้เหมาะสมของครูผู้อ่านเอง
เราไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับทุกโรงเรียนได้ เราควรต้องเชื่อว่ามีหลากหลายวิธีการที่จะพาเราไปถึง และต้องใส่ความพยายามเข้าไปให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สิ่งที่เราเชื่อกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนยอมรับ
แล้วผู้ใหญ่จะจับมือเด็กให้โตไปด้วยกันได้อย่างไร
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและอุปสรรคในการพัฒนาที่มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเตรียมบุคลากรและพลเมืองที่มีคุณภาพ เพียบพร้อมไปด้วย growth mindset อย่างเพียงพอสำหรับรับมือกับเรื่องดังกล่าวนั้นสำคัญมาก แต่การจะให้ระบบการศึกษาทั้งองคาพยพเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือแบบทันทีคงทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สรวิศได้ชี้ประเด็นให้เห็นว่า เราอาจเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน เมื่อทำได้จริงในระดับบุคคลแล้วก็ต่อยอดไปยังทุกส่วนในองคาพยพ เพราะทุกหน่วยทั้งในและนอกวงการการศึกษาก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กๆ ทั้งสิ้น
อีกประเด็นที่ครูมักกลัวก็คือเรื่องช่องว่างระหว่างวัย (generation gap) ของครูกับนักเรียน ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามท่านเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญนัก เพราะอันที่จริงคนเราล้วนแตกต่างกันอยู่แล้วซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องอายุเท่านั้น ชลนภาชวนกลับไปนึกถึงเรื่องพื้นฐานที่สุด นั่นคือ การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน แม้ว่าแต่ละคนจะมีอคติอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับฟังและทำความเข้าใจบริบทของเด็กๆ ให้มากขึ้น ก็จะเกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจและลดช่องว่างไปได้บ้าง โดยอรุณฉัตรเสริมว่าถ้าผู้ใหญ่สามารถปลดล็อกและได้เรียนรู้เรื่อง growth mindset มากขึ้น ก็จะเชื่อและมองเห็นว่าความแตกต่างทั้งหลายล้วนเป็นการเรียนรู้ ครูไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันกับเด็กไปทุกเรื่อง แต่มุ่งให้เห็นว่าต้องมีความพยายามร่วมในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน
ดูคลิปเสวนาฉบับเต็มได้ ที่นี่
อ่านรายละเอียดหนังสือประกอบการเสวนาได้ที่
The Growth Mindset Coach: คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve
The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success
Annie Brock และ Heather Hundley เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล
นุชชา ประพิณ ออกแบบปก