Brief: เสวนา “Designing Your Work Life: ออกแบบชีวิตที่ใช่-งานที่ชอบ ด้วย Design Thinking”

เรื่อง: พิชญา โคอินทรางกูร

ภาพ: Modular Consulting

 

เครียด เหนื่อย งานไม่ท้าทาย มีปัญหากับเจ้านาย บริหารเวลาไม่ได้ จบด้วยคำว่าอยากลาออก คำปรับทุกข์เหล่านี้ปรากฏขึ้นในวงสนทนาเสมอยามมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายรวมตัวกันในค่ำคืนวันศุกร์ กลายเป็นการเล่าเรื่องตลกแข่งขันกันถึงความย่ำแย่ของชีวิตการทำงาน แต่เมื่อเช้าวันจันทร์มาถึง พวกเขาทั้งหลายต่างก็แต่งตัวออกจากบ้านไปทำงานที่ตนไม่ชอบอยู่ดี

เพราะงานคือเงิน อยากมีเงินก็ต้องทำงาน

คำถามคือ เราจะใช้ชีวิตกันเช่นนี้จริงๆ หรือ ในเมื่องานเป็นส่วนประกอบที่สำคัญและกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เราจะก้มหน้าก้มตาทำงาน ไปพร้อมๆ กับมีคำว่าอยากลาออกอยู่ในหัวตลอดเวลาจริงหรือ

บิล เบอร์เนตต์ และเดฟ อีวานส์ (Bill Burnett & Dave Evans) สองผู้เขียนหนังสือ Designing Your Work Life: คู่มือออกแบบชีวิตที่ใช่งานที่ชอบ ด้วย Design Thinking (Designing Your Work Life: How to Thrive and Change and Find Happiness at Work) จะบอกคุณว่าการลาออกไม่ใช่คำตอบเดียวของชีวิต แต่เราทุกคนสามารถออกแบบชีวิตการทำงานของตัวเองได้ด้วย Design Thinking หรือวิธีคิดอย่างนักออกแบบ

bookscape ชวนคนทำงานมาร่วมออกแบบชีวิตที่ใช่-งานที่ชอบ พร้อมค้นหาวิธีพลิกกระบวนการคิดและรับมือกับความท้าทายในหน้าที่การงาน ผ่าน Design Thinking ในวงสนทนาจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ ร่วมสนทนากับสองผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking ดร.เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล นักจิตวิทยาที่ปรึกษา ผู้ก่อตั้ง  Modular Consulting – Human Center Approach for Better Results และ Designing Your Life Certified Facilitator เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการผู้จัดการของบริษัทลูกคิด (Lukkid) จำกัด หัวหน้าทีมคิดเชิงออกแบบที่ Stanford d.school และ Designing Your Life Certified Coach และหนึ่งวิทยากรผู้มากประสบการณ์การทำงานในหลากหลายวงการ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

 

Design Thinking คืออะไร

คำว่า Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบ เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในแวดวงการทำงาน แต่แท้จริงแล้วแนวคิดนี้คืออะไรกันแน่ เมษ์ได้ให้คำนิยามไว้ว่า Design Thinking เป็นทัศนคติ (mindset) ในการมองปัญหาอย่างนักออกแบบ เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจ คอยเตือนให้มองและแก้ปัญหาโดยไม่กระโดดไปที่คำตอบทันที แต่ถอยกลับมาตั้งหลักพิจารณาว่าเรากำลังยืนอยู่ตรงจุดไหนของปัญหา

“Design Thinking ไม่ใช่คทาวิเศษ แต่เป็นการเรียบเรียงกระบวนการคิด ซึ่งสิ่งที่มีประโยชน์มากของ Design Thinking คือ การตั้งคำถามที่ดี” เพิ่มสิทธิ์เสริม “นักจิตวิทยาเชื่อว่าสมองของมนุษย์เก่งในการแก้โจทย์ แต่สมองของคนเราตั้งโจทย์ไม่ค่อยเก่ง Design Thinking เป็นเครื่องมือที่ช่วยตั้งโจทย์ให้สมองเอาไปใช้งานต่อได้”

 

Design Thinking กับการทำงานขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานเพื่อสังคม

ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีประสบการณ์ทำงานในหลากหลายวงการ ทั้งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารบริษัทเอกชน ชัชชาติเปิดประเด็นเปรียบเทียบให้เห็นถึงความยาก-ง่ายในการประยุกต์ใช้ Design Thinking กับองค์กรประเภทต่างๆ

“โดยทั่วๆ ไป Design Thinking มันก็ใช้ได้ทุกที่แหละ ด้วยความที่แนวคิดมันกว้างๆ แต่ผมคิดว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับระบบราชการ เพราะคำว่าระบบราชการหมายความว่า ‘สาธารณะ’ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) จะมีจำนวนเยอะมาก เพราะฉะนั้นในขั้นตอนแรกที่จะทำความเข้าใจ (empathize) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนก็ยากแล้ว อีกข้อจำกัดของระบบราชการคือมันมีปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ (gravity problem) หรือในอีกทางหนึ่งคือมีเงื่อนไขเยอะมาก ทั้งกฏหมาย กฏระเบียบต่างๆ พอเงื่อนไขมันเยอะเข้ามันก็ทำให้เราเดินต่อลำบาก”

คำถามหนึ่งที่ตามมาจากผู้ร่วมฟังการเสวนาคือ แล้วเราจะจัดการกับปัญหาที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก หรือมีเงื่อนไขจำนวนมากได้อย่างไร

 

“หัวใจคือหลักการต้องแม่น” ชัชชาติตอบ “ต้องมีสิ่งที่เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญที่ว่าเราจะไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ทุกคนต้องได้รับการดูแล ผลลัพธ์อาจจะไม่ได้ดั่งใจทุกคน แต่ข้อบังคับพื้นฐานมันต้องได้ ซึ่งมาตรฐานตรงนี้ของประเทศไทยเรายังไม่ค่อยแม่นเท่าไรนัก”

สำหรับการนำ Design Thinking ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรภาคเอกชน เมษ์ได้แบ่งปันว่า แม้เงื่อนไขขององค์กรเอกชนจะน้อยและปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่า ตรงไปตรงมากว่าองค์กรภาครัฐ แต่ปัญหาที่พบเจอคือการทดลองลงมือทำไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง

“คนมักมองว่ามาเรียนสองชั่วโมงแล้วก็จบ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว Design Thinking คือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยมันจะคอยเตือนให้เราถอยหลังมาทำความเข้าใจบริบทให้ชัดเจนก่อน เริ่มต้นจากการใช้ ‘heart’ ทำความเข้าใจ แทนที่จะใช้ ‘head’ คิดทันที แล้วสุดท้ายคือกระบวนการเรียนรู้ที่จะต้องมี ‘hand’ หรือการลงมือทดลองทำจริงประกอบด้วย”

ในกรณีขององค์กรหรือหน่วยงานเพื่อสังคม เพิ่มสิทธิ์ได้ชี้ให้เห็นว่าการตั้งคำถามจะต่างออกไป คือไม่ได้ถามเพื่อหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ แต่ถามเพื่อหาวิธีสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมจากงานที่ทำมากกว่า

“อยากจะช่วยสังคม แต่จะ ‘ช่วย’ อะไร เป็นโจทย์ใหม่ที่แตกต่างออกไปจากการทำงานเพื่อสังคมในวิถีเดิมๆ ทำอย่างไรจึงจะเกิดการสั่นสะเทือนทางสังคม ทำอย่างไรจึงจะยั่งยืน”

“โจทย์เพื่อสังคมเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะข้อจำกัดเยอะ และการที่จะเข้าใจถึงแก่นจริงๆ ว่าควรตั้งโจทย์อย่างไรก็ยาก” เมษ์กล่าวเสริม “ถ้าเราลองถามโรงเรียนที่ตั้งเป้าอยากให้เด็กมีทักษะในเชิงเทคนิค (technical skill) ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร เขาจะตอบว่างั้นขอคอมพิวเตอร์ 20 เครื่อง เขาจะกระโดดไปที่คำตอบว่า ในสมมติฐานของฉัน คอมพิวเตอร์จะทำให้เด็กมีทักษะในเชิงเทคนิคได้ โดยที่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดว่าทักษะในเชิงเทคนิคสำหรับเด็กนั้นควรเป็นในรูปแบบไหน คอมพิวเตอร์คือคำตอบจริงหรือไม่ แล้วถ้าบริบทคือข้อจำกัดทางงบประมาณที่ยังไงเราก็ซื้อคอมพิวเตอร์ 20 เครื่องไม่ได้แน่ๆ ด้วยกระบวนการ Design Thinking คำถามก็จะถูกปรับเป็นว่า แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กได้ทักษะที่ควรมี โดยที่เรามีคอมพิวเตอร์อยู่แค่เครื่องเดียวในห้อง”

“เริ่มต้นจากการใช้ ‘heart’ ทำความเข้าใจ แทนที่จะใช้ ‘head’ คิดทันที แล้วสุดท้ายคือกระบวนการเรียนรู้ที่จะต้องมี ‘hand’ หรือการลงมือทดลองทำจริงประกอบด้วย”

 

Design Thinking กับชีวิตการทำงานในระดับบุคคล

จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนในภาพกว้าง คำถามถูกจำกัดวงลงมาที่การใช้ Design Thinking รับมือกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตการทำงาน อันเป็นสาระหลักของหนังสือ Designing Your Work Life และวงเสวนาในวันนี้ ซึ่งการหาวิธีแก้ไขปัญหาในที่ทำงานน่าจะเป็นคำถามในใจมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันเช่นกัน

“คุณต้องเข้าใจก่อนว่า คุณมีอำนาจในการตัดสินใจ คุณมีอำนาจในการออกแบบชีวิตการทำงานของตัวเอง”

“เรามักประเมินความสามารถในการเปลี่ยนบริบทชีวิตของเราเองต่ำเกินไป มีอะไรเยอะมากที่เราสามารถตั้งคำถามกับมันได้”

สองประโยคข้างต้นคือกุญแจสำคัญจากเพิ่มสิทธิ์และเมษ์ ซึ่งทัศนะดังกล่าวจะทำให้มนุษย์ผู้ติดอยู่กับข้อจำกัดในโลกแห่งการทำงานทั้งหลายกล้าที่จะลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่กำลังมองหาในชีวิตการทำงานจริงๆ คืออะไรกันแน่ และนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบชีวิตการทำงานให้เหมาะกับตน ซึ่งเพิ่มสิทธิ์ย้ำว่า “ไม่จำเป็นต้องลาออก มันมีหนทางมากกว่านั้น”

“คุณต้องเข้าใจก่อนว่า คุณมีอำนาจในการตัดสินใจ คุณมีอำนาจในการออกแบบชีวิตการทำงานของตัวเอง”

“ผมชอบประโยคหนึ่งในหนังสือที่ว่า ‘Your job is good enough for now.’ ณ ขณะนี้ งานที่คุณทำอยู่ตอนนี้ดีพอ” ชัชชาติกล่าวเสริม “ผมคิดว่าคนจำนวนมากไม่ได้มีความสุขกับงานที่ทำ แต่หนังสือเล่มนี้บอกให้คุณเชื่อก่อนว่างานที่คุณทำอยู่ตอนนี้ดีเพียงพอสำหรับเวลานี้ แล้วปรับกรอบความคิด (reframe) ของความคาดหวังที่คุณเคยมีต่องาน คุณอาจจะเคยคาดหวังว่าคุณมาทำงานเพื่อจะมีความสุขกับงานนี้ เพื่อจะได้รับการยอมรับจากเจ้านาย แต่สุดท้ายมันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น คุณก็ต้องปรับกรอบความคิดเป็นคุณมาทำงานเพื่อเอาชีวิตรอด เพื่อเลี้ยงครอบครัว”

และที่สำคัญ เมื่องานที่ทำไม่ตรงกับความหลงใหลใฝ่ฝันหรือแพสชั่น (passion) มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ระทมแล้วลาออกเพื่อไปตามหามัน

“ไลฟ์โค้ชจำนวนมากบอกว่าให้ไปตามหาแพสชั่นก่อน แต่ผมเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีงานมากพอที่จะตรงกับสำหรับทุกคน ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีขนาดนั้น งานคือสิ่งที่โลกนี้ต้องการจากคุณ ส่วนนอกเวลางานคือสิ่งที่คุณต้องการจากชีวิต อย่าไปกังวลมากกับคำว่าแพสชั่น ผมว่ามันต้องลองทำ ลองผิดลองถูกเยอะๆ แต่ถึงจะไม่รู้ว่าแพสชั่นของตัวเองคืออะไรก็ไม่เป็นไรนะ ชีวิตมันก็ดำเนินต่อไป”

“ผมชอบประโยคหนึ่งในหนังสือที่ว่า ‘Your job is good enough for now.’ ณ ขณะนี้ งานที่คุณทำอยู่ตอนนี้ดีพอ แล้วปรับกรอบความคิดของความคาดหวังที่คุณเคยมีต่องาน คุณมาทำงานเพื่อเอาชีวิตรอด เพื่อเลี้ยงครอบครัว”

 

Work-Life Balance อาจไม่มีอยู่จริง แต่เราออกแบบชีวิตให้ลงตัวในแบบของเราได้

การออกแบบและจัดการชีวิตของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับสองปัจจัย “ข้อที่หนึ่ง ช่วงนั้นคุณให้ความสำคัญกับอะไร” เพิ่มสิทธิ์กล่าว “และข้อที่สอง ช่วงนั้นชีวิตให้โจทย์อะไรกับคุณ”

ในประเด็นนี้ ชัชชาติได้แบ่งปันประสบการณ์ในการแก้โจทย์ข้อใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งที่ชีวิตเคยมอบให้ “ชีวิตช่วงแรกของผมเสียเวลากับลูกเยอะมาก เพราะเขาหูหนวก ต้องพาไปผ่าตัดเป็นสิบกว่าปีจนกระทั่งเขาพูดได้ ซึ่งเราก็ต้องให้ตรงนั้น ส่วนงานผมไม่สนใจเลยนะ ช่างมัน พอเอาหินก้อนใหญ่บรรจุลงไปเสร็จ <อ้างอิงจาก Big Rocks Theory ของ Stephen Covey ว่าด้วยการจัดสรรเวลากับเรื่องต่างๆ ตามลำดับความสำคัญ ผ่านการอุปมาด้วยหิน กรวด ทราย และโหลแก้ว> ผมก็มาลุยงานต่อโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องลูก คำว่าบาลานซ์มันคงไม่มีนะ เพราะทุกอย่างมีลำดับความสำคัญของมัน แต่ละคนต้องรู้ว่าอะไรคือหินก้อนใหญ่ในชีวิต”

“ข้อที่หนึ่ง ช่วงนั้นคุณให้ความสำคัญกับอะไร”

“และข้อที่สอง ช่วงนั้นชีวิตให้โจทย์อะไรกับคุณ”

เมษ์อ้างถึงคำอธิบายในหนังสือที่ว่า work-life balance ไม่มีอยู่จริง แต่ที่เราทำได้คือ work-life integration หรือการออกแบบที่ผสมผสานงานและชีวิตเข้าด้วยกัน พร้อมกับยกตัวอย่างประสบการณ์ที่มี “บทบาทของผู้บริหาร” และ “บทบาทของแม่” เป็นโจทย์ของชีวิต

“เคยตั้งใจว่าจะต้องไปร่วมทุกกิจกรรมและทุกงานแสดงของลูกที่โรงเรียน  แต่ด้วยบริบทของงานที่ทำอยู่บางครั้งมันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าลองถอดบทเรียนจากหนังสือก็คือเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ เราถึงอยากไปอยู่ตรงนั้น เราตอบตัวเองได้ว่าเพราะอยากมีประสบการณ์ร่วมกับลูกในช่วงเวลาที่เขารู้สึกภูมิใจที่โรงเรียน แต่บริบทมันบังคับมาแล้วว่าเราไปไม่ได้ โจทย์จึงปรับเป็นว่า ทำอย่างไรเราจึงจะยังมีประสบการณ์ร่วมกับลูกโดยที่ตัวเราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปอยู่ตรงนั้น สุดท้ายคำตอบเลยออกมาว่าเราจะเป็นคนทำชุดที่ใช้ในการแสดงต่างๆ ให้ลูก ซึ่งมันก็ได้ประสบการณ์ร่วมจากตรงนั้นแทน”

 

ทักษะแห่งการทำงานในอนาคต

มนุษย์ผู้อยู่รอดคือมนุษย์ผู้รู้ว่าทักษะอะไรจำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต และเราสามารถออกแบบชีวิตของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะนั้นๆ

“คนที่จะไปต่อได้คือคนที่รู้ว่าทักษะที่ตัวเองต้องมีเพิ่มเติมคืออะไร”

“ในอนาคต education จะหมดความหมาย learning จะสำคัญกว่า การศึกษาจะถูกแทนที่ด้วยการเรียนรู้” ชัชชาติอ้างถึงคำทำนายหนึ่งที่ยกมาจากหนังสือ Whiplash: How to Survive Our Faster Future ของ เจฟฟ์ ฮาวี และ โจอิ อิโตะ (Jeff Howe & Joi Ito, 2016) “ผมว่าไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับความอยากรู้อยากเห็น มันมีเรื่องใหม่ๆ มาเยอะแยะเต็มไปหมด ความอยากรู้อยากเห็นทำให้ความรู้ของเราขยายและทำให้เรารับมือกับอนาคตได้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะอยู่นิ่งๆ และปรับตัวกับโลกไม่ทัน” ซึ่งเมษ์ได้ขยายความต่อไปว่า “โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งที่สำคัญคือทักษะในการรู้ว่าเราจะตั้งคำถามอะไรกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เราปรับตัวได้ทันกับบริบท เพื่อให้เรารู้ว่าเราจะต้องไปหาคำตอบจากที่ไหน คนที่จะไปต่อได้คือคนที่รู้ว่าทักษะที่ตัวเองต้องมีเพิ่มเติมคืออะไร”

เพิ่มสิทธิ์ต่อยอดว่า นอกจากความอยากรู้อยากเห็นแล้ว อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเชื่อมโยง

“ในสมัยก่อนคนจะถูกสอนให้เชี่ยวชาญลงไปเฉพาะทาง แต่ในโลกอนาคต ผมมองว่ามันอาจจะต้องผสมผสานกัน ต้องเชื่อมโยงระหว่างความชำนาญในแต่ละด้าน ปัจจุบันโลกมันเปิดมาก ในอดีตคุณอาจจะรอดเพราะคุณเก่งเป็นหนึ่งในล้าน แต่ในอนาคตคุณอาจจะเก่งแค่หนึ่งในร้อย แต่ต้องเป็นหนึ่งในร้อยของสามทักษะแทน แล้วคุณมาออกแบบหาจุดที่ลงตัวของคุณ เกิดเป็นของสิ่งใหม่ว่าคุณจะเก่งอะไร”

อีกหนึ่งคำถามที่ถูกยกขึ้นมาจากผู้ร่วมฟังการเสวนาคือ แล้วเราจะเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ได้อย่างไร

“มันเป็นเรื่องของการลงมือทำ มันไม่ได้ซับซ้อน อ่านหนังสือ หาโอกาส คุยกับคน ลงมือทำ ให้ฟีดแบ็กกับตัวเอง มันเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพิ่มสิทธิ์ตอบ พร้อมกับยกตัวอย่างว่าตัวเขาเองในอดีตก็ไม่เคยวางแผนว่าจะเป็นนักจิตวิทยาที่มาร่วมจัดเสวนาเรื่อง Design Thinking ในวันนี้ หากแต่มันเป็นผลจากประสบการณ์ลองผิดลองถูกต่างๆ ในชีวิตที่เชื่อมโยงกันและหล่อหลอมออกมาเป็นตัวเขาในแบบฉบับปัจจุบัน

“มีอะไรบ้างในโลกนี้ที่เรารู้ว่าเรายังไม่รู้ ตอนนี้เรามีจุดข้อมูลอยู่ในหัวแค่ไหน ทำยังไงเราถึงจะมีเพิ่มได้” เมษ์อธิบายเพิ่มเติม “เราต้องมีจุดข้อมูลจำนวนมากก่อนที่เราจะไปเชื่อมมัน ลองเอาตัวเองเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับเนื้องาน ทำยังไงก็ได้ให้เราเก็บจุดข้อมูลมาได้เยอะๆ ”

และเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง องค์กรต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานที่กำลังเปลี่ยนไป ทั้งการทำงานกับคนรุ่นใหม่ และการปรับรูปแบบการทำงานให้รับกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพิ่มสิทธิ์อธิบายถึงความแตกต่างของมุมมองต่อ “งาน” ในสายตาของคนต่างรุ่นที่เขาพบเจอมา คือคนรุ่นก่อนถูกสอนให้อดทน ทำอะไรก็ได้แค่ขอให้เลี้ยงชีพได้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานที่เข้ากับตัวเอง และจะไม่ทำอะไรเลยถ้าไม่ตรงกับโจทย์ของชีวิต “ซึ่งองค์กรก็ต้องหาจุดเชื่อมที่ลงตัวระหว่างโลกทัศน์ที่ต่างกันสุดขั้วของคนสองรุ่นนี้ และหาวิธีที่จะทำให้กลไกองค์กรเคลื่อนที่ต่อไปได้”

“องค์กรที่จะไปรอดทุกวันนี้คือองค์กรที่เปิดรับให้คนที่มีความยืดหยุ่นเข้าทำงาน องค์กรที่พร้อมจะจ้างงานในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องตามขนบดั้งเดิม”

“ทุกวันนี้เราจะเจอรูปแบบหรือกระบวนท่าในการจ้างงานที่ต่างออกไปจากแต่ก่อน ด้วยความที่ทางเลือกอาชีพมันหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น นิยามของการจ้างงานจึงเริ่มถูกเปลี่ยนให้ตอบกับวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน” เมษ์เสริมถึงประเด็นการปรับตัวขององค์กร “องค์กรที่จะไปรอดทุกวันนี้คือองค์กรที่เปิดรับให้คนที่มีความยืดหยุ่นเข้าทำงาน องค์กรที่พร้อมจะจ้างงานในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องตามขนบดั้งเดิม”

 

Design Thinking กับปัญหาของชีวิต

Design Thinking ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของนวัตกรรมดังที่ผู้คนส่วนใหญ่ติดภาพจำ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน หากแต่เป็นกระบวนการคิดที่สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับทุกเรื่องของชีวิต เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนที่ต้องคิดและลงมือจัดการกับปัญหาต่างๆ ก็คือตัวเราเอง ดังที่เพิ่มสิทธิ์กล่าวเอาไว้ในช่วงต้นว่า “คุณมีอำนาจในการตัดสินใจ”

“ปัญหาที่หนักที่สุดในชีวิตคือตอนที่รู้ว่าลูกหูหนวกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว” ชัชชาติแบ่งปันประสบการณ์ปิดท้าย ก่อนจะหยอดว่าหากเทียบกัน ตอนที่ถูกจับเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย “ตอนนั้นยังไม่มีใครผ่าตัดสำเร็จในเมืองไทย แต่นี่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ไม่มีใครที่จะช่วยเราได้ เราต้องรู้ละเอียด ฟังและสังเคราะห์ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะออกแบบชีวิต สุดท้ายคนที่จะตัดสินใจก็คือเรา”

“เพราะเราคือเจ้านายของชะตาชีวิต เราคือกัปตันของจิตวิญญาณ ชีวิตของเรา เราต้องเป็นคนเคาะเองว่าจะเลือกเดินไปทางไหน และเราก็เป็นคนที่จะต้องรับผลที่ตามมา”

“สุดท้ายเราจะไม่เสียใจกับสิ่งที่ได้ตัดสินใจลงไป”

 

รับชมงานเสวนาฉบับเต็มได้ ที่นี่

 

Designing Your Work Life: คู่มือออกแบบชีวิตที่ใช่งานที่ชอบ ด้วย Design Thinking
Bill Burnett และ Dave Evans เขียน
นรา สุภัคโรจน์ แปล
336 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่