Brief: เสวนา “The Art of Screen Time: หน้าจอ-โลกจริง สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล”

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

ในโลกยุคดิจิทัล หน้าจอกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนทั้งในที่ทำงานและพื้นที่ส่วนตัวและแทรกซึมอยู่ในแทบทุกแง่มุมชีวิตของคนยุคใหม่ แน่นอนว่าเทคโนโลยีทุกอย่างไม่ได้มีเพียงแง่มุมเดียว หน้าจอก็เช่นกัน จะให้โทษหรือประโยชน์นั้นก็ขึ้นอยู่กับ ‘ศิลปะการใช้หน้าจอ’ ของเรา

ร่วมไขประเด็นว่าเราจะใช้หน้าจออย่างไรให้เกิดสมดุลไปกับวงเสวนาที่ต่อยอดจากหนังสือ หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล เขียนโดยอันยา คาเมเนตซ์ คุณแม่ลูกสองผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยี ที่พยายามคลายปมปัญหาการใช้หน้าจอ ไปพร้อมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง นักการศึกษา รวมถึงนักวิจัยด้านสื่อ

ร่วมพูดคุยโดยผู้เกี่ยวข้องในหลากหลายวงการ ได้แก่ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO-Co-Founder ZTRUS บอร์ดบริหาร DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ชวนพูดคุยโดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

 

เจาะพฤติกรรมการใช้หน้าจอของเด็กยุคปัจจุบัน

 

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) แบ่งปันเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้หน้าจอของเด็กไทยในปัจจุบันว่าเด็กในวัยต่างๆ ใช้เวลากับอุปกรณ์ที่ต่างกัน เช่น เด็กเล็กช่วงอายุ 3-6 ขวบ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ หรือเด็กวัย 7-11 ขวบหันมาดูยูทูบมากขึ้น

ปัจจัยการเปลี่ยนจากหน้าจอโทรทัศน์ไปเป็นหน้าจอมือถือคือการเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟนหรือการเข้าถึงสื่อที่ง่ายขึ้น รวมถึงความต้องการเลือกเวลาดูสื่อที่ไม่ยึดตามผังเวลารายการโทรทัศน์ และการที่สื่อในโทรทัศน์ไม่สะท้อนตัวตนเด็กมากพอ

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เสริมว่าแม้เด็กจะมีแนวโน้มหันไปใช้หน้าจอมือถือมากขึ้น แต่เด็กเล็กจำนวนมากยังดูโทรทัศน์ รวมไปถึงตายายของเด็กๆ ก็ใช้เวลากับโทรทัศน์มากเช่นกัน เด็กเล็กได้ใกล้ชิดกับหน้าจอมือถือมากขึ้น เพราะมีการใช้สมาร์ตโฟนเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างพ่อแม่และเด็กที่อยู่กับตายาย เมื่อพ่อแม่ไปทำงานที่อื่น จึงทำให้เด็กอายุไม่ถึงหนึ่งขวบเข้าถึงการใช้หน้าจอได้แล้ว

“หากพูดถึงปรากฏการณ์การใช้หน้าจอในตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ไม่ใช่เฉพาะเด็ก เวลาพูดถึงเรื่องนี้เรามักจะแยกส่วนไปมองว่าเด็กมีปัญหา แต่พ่อแม่เอง ผู้ใหญ่ทุกวัย กำลังอยู่กับสื่อ และใช้เวลากับมันเพิ่มขึ้น”

“เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ของเด็ก จึงต้องมองปรากฏการณ์และปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กด้วยว่ากำลังเปลี่ยนไปอย่างไร และกำลังใช้สื่ออย่างไร ต้องมองว่านี่คือสิ่งที่มีความสำคัญต่อเด็ก ไม่อยากให้มองตัดตอนไปดูที่เด็กอย่างเดียว ต้องมองไปที่คนทุกวัย และเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทั้งสังคม เป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมการใช้สื่อแบบใหม่ของเรา”

นอกจากนี้ เข็มพรยังชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีผลต่อพฤติกรรมการใช้สื่อ

“โครงสร้างของเรายังไม่เท่าเทียมกันในสังคม เพราะฉะนั้นการใช้สื่อก็มีความแตกต่างในแต่ละกลุ่ม และอาจมีความยากลำบากในหลายที่ เพราะอินเทอร์เน็ตราคาแพงและไม่เสถียร ทำให้เด็กชาติพันธุ์หรือเด็กในชนบทห่างไกลมีปัญหาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงการเข้าไม่ถึงความรู้ข่าวสาร”

“โดยเฉพาะช่วงโควิด จะเห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความแตกต่างกันมาก เด็กในหลายพื้นที่ไม่สามารถเรียนผ่านหน้าจอ หรือเรียนออนไลน์แบบที่เด็กในเมืองทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงคือสมาร์ตโฟนเข้าถึงเกือบทุกพื้นที่”

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO-Co-Founder ZTRUS บอร์ดบริหาร DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association ให้ความเห็นในประเด็นนี้ด้วยความเป็นห่วง

“ภาพรวมของเด็กคือใช้หน้าจอเยอะขึ้น แต่ผมคงไม่ห่วงเรื่องเด็กใช้สื่อเยอะเท่ากับเด็กหรือสังคมไทยไม่มีค่านิยมในการวิเคราะห์ว่าเราจะไปไหนกันในภาพใหญ่ของประเทศ และเราจะพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศไปอย่างไร”

 

หน้าจอคือตัวปัญหาและสร้างผลเสียต่อเด็ก?

 

จากประสบการณ์การทำงาน ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ พบว่าแท้จริงแล้วปัญหาของการใช้หน้าจอไม่ได้อยู่ที่หน้าจอ แต่อยู่ที่การนำหน้าจอไปใช้ เช่น การใช้หน้าจอเป็นพี่เลี้ยงลูก

“หลายครั้งหน้าจอก็เป็นเหมือนผู้ช่วยในการแก้ปัญหาลูก พอร้อง ไม่กินข้าว เปิดหน้าจอ เด็กยอมกิน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่หลายคนอาจไม่ทันระมัดระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่สำคัญมากคือ เด็กขาดการเรียนรู้ที่จะทำ สิ่งที่ต้องทำ ก็คือการฝึก EF (Executive Functions) ซึ่งเกิดขึ้นในเด็กยุคใหม่ เมื่อเด็กร้องก็ใช้หน้าจอมาช่วย เด็กยังไม่มีวิธีการจัดการอารมณ์ของเขาเลยว่าเวลาโกรธ หงุดหงิด เขาต้องทำอย่างไร เวลาต้องนั่งนิ่งๆ เพื่อกินข้าว เด็กก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะเขาต้องการมีอะไรที่ทำให้เขาอยู่ตรงนั้น”

อีกปัญหาคือการไม่มีกติกาหรือข้อจำกัดในการใช้หน้าจอ รวมไปถึงการเลี้ยงดู ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่เพราะต้องทำงานจนค่ำ จึงใช้หน้าจอเป็นทางออกของการเลี้ยงลูก

ในขณะที่พ่อแม่จำนวนหนึ่งยอมปล่อยให้หน้าจอเป็นพี่เลี้ยงลูก ก็มีพ่อแม่อีกกลุ่มที่ไม่ยอมปล่อยให้ลูกได้ลองใช้หน้าจอเลยจนทำให้เกิดความคิดที่แตกต่างกันสองขั้ว ทั้งที่จริงแล้วการรักษาสมดุลการใช้หน้าจออาจนำมาสู่ประโยชน์มากมาย

“แทนที่เราจะอยู่กับหน้าจอแบบใช้ประโยชน์ ซึ่งประโยชน์มันมหาศาลมาก หน้าจอช่วยพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาได้หลายอย่าง แต่พอเราไปมองว่าหน้าจอเป็นผู้ร้ายมันก็ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ หรือหากมองว่ามันเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างมหาศาล ก็ทำให้เราไม่ได้ระมัดระวังถึงโทษที่จะเกิดขึ้น”

“ใช้ในปริมาณที่จำเป็น แต่ควรระมัดระวังที่จะไม่เปิดให้หน้าจอเป็นพี่เลี้ยงลูกตลอดเวลา”

เมื่อเราพิจารณาถึงระดับปัจเจก ข้อแนะนำแบบนี้สามารถนำมาใช้ได้กับครอบครัวที่มีทางเลือกที่สามารถเข้าไปเล่นกับลูกได้ทันทีที่ลูกไม่ต้องอยู่กับหน้าจอ แต่ปัจจุบันมีพ่อแม่จำนวนมากที่อยู่เลี้ยงลูกไม่ได้ ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ และต้องฝากลูกกับปู่ย่าตายาย ซึ่งก็ต้องทำงานเหมือนกัน

“หากมองว่าทำอย่างไรให้การใช้หน้าจอไม่เกิดโทษ อาจดีกว่าการห้ามไม่ให้ใช้หน้าจอเลย” จิราภรณ์กล่าว

พณชิตเสริมในประเด็นการห้ามใช้หน้าจอของลูกว่า “แทนที่เราจะห้ามอย่างนั้นห้ามอย่างนี้ เราอยากเห็นเขาเป็นอย่างไร นำเป้าหมายที่เราต้องการเห็นมาก่อน”

“ผมเชื่อว่า ไม่มีวิธีแก้ปัญหาใดที่เหมาะกับคนทุกคนในโลก เราต้องยอมรับความหลากหลายก่อน และเราคิดว่าความหลากหลายอาจจะสร้างเขาไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเขาต้องมีเครื่องมือที่ครบจึงจะอยู่ได้”

 

รับมือกับการใช้หน้าจอของเด็กอย่างไร

 

พณชิตแลกเปลี่ยนว่ารับมือกับการใช้หน้าจอของลูกด้วยการทำข้อตกลงที่ชัดเจนกับลูก และนอกจากการ์ตูนที่ลูกดู ก็เสริมเนื้อหาที่จะทำให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ด้วย โดยให้ฟังและเล่นดนตรี

จิราภรณ์แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้หน้าจอของลูกและการตัดสินใจอนุญาตให้ลูกเล่นเกมออนไลน์ในวัย 7 ขวบ โดยมีเงื่อนไขคือตนเองจะคอยดูลูกเล่นด้วย และอนุญาตให้ลูกเล่นตามเวลาที่ตกลงกันไว้

“หมอให้ลูกใช้หน้าจอตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ พอเมื่อโตขึ้นก็ให้กำหนดกติกาเอง โดยมีข้อกำหนดบางอย่าง เช่น เวลานอนต้องพอ มีเวลาไปออกกำลังกาย ทำการบ้านและงานบ้านเสร็จ”

เมื่อพบว่าการที่ลูกเล่นเกมนั้น เป็นเหมือนการเล่นสวมบทบาทที่เด็กทั่วไปทำ และได้เห็นว่าเรื่องราวในเกมช่วยทำให้เกิดความเข้าใจตัวละครในเกม และลูกได้ถ่ายทอดความรู้สึกนั้นผ่านการเขียนสะท้อนความคิดซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเล่นเกม ก็ทำให้จิราภรณ์มองการเล่นเกมของลูกในมุมที่ต่างไปจากเดิม

“การให้ลูกเล่นเกมออนไลน์เมื่อ 7 ขวบ ท้าทายความเชื่อพอสมควร เพราะไม่คิดว่าเราอยากให้ลูกเล่นเกมออนไลน์ตอน 7 ขวบ แต่ที่เราอนุญาต เพราะเห็นพลังงานบางอย่างเมื่อลูกเล่นเกม และพยายามรักษาสมดุล ให้ไม่มีข้อเสียจนเกินไป” จิราภรณ์กล่าว

อีกเรื่องที่ผู้ปกครองหลายคนกังวลก็คือผลกระทบจากการใช้หน้าจอนานเกินไป จิราภรณ์ให้ข้อแนะนำโดยให้ดูว่าการใช้หน้าจอนั้นเบียดบังเวลาที่เด็กจะได้เคลื่อนไหวหรือไม่ เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าสัมพันธ์กับโรคอ้วนและปัญหาเรื่องอารมณ์ ซึ่งพ่อแม่ควรสังเกตลูก

สำหรับสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดผลกระทบจากการใช้หน้าจอ จิราภรณ์แนะนำให้มองบริบทในการใช้หน้าจอมากกว่าการยึดโยงกับเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น หากลูกใช้หน้าจอนาน แต่ไม่กระทบกับชีวิต เช่น การเรียน ก็หมายความว่าหน้าจอไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบเสมอไปอย่างที่หลายคนคิด

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าหากใช้หน้าจอมากไป จะส่งผลให้เป็นออทิสติก จิราภรณ์ให้ข้อมูลที่อ้างอิงจากงานวิจัยว่าการใช้หน้าจออาจมีส่วนทำให้ทักษะทางภาษาล่าช้าและทักษะทางสังคมที่ล่าช้า แต่อาจไม่ใช่สาเหตุหลัก เพียงแต่มีส่วนที่เกี่ยวข้อง

จิราภรณ์แบ่งปันว่ามีคำที่เรียกว่า ‘ออทิสติกเทียม’ เพราะเด็กบางคนอาจไม่ได้เป็นออทิสติกจริงๆ แต่เพราะใช้หน้าจอมากไปจนทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงทำให้ผลที่ตามมาคือขาดทักษะทางภาษาและสังคมไปด้วย

 

จัดการการใช้สื่อ แทนการควบคุม: วิธีสร้างสมดุลหน้าจอในยุคดิจิทัล

 

เมื่อจำเป็นต้องใช้หน้าจอทั้งในชีวิตทำงานและเมื่ออยู่กับครอบครัว จะสร้างสมดุลอย่างไรนั้นอาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย

วิลาสินีแบ่งปันในประเด็นนี้ว่าหัวใจสำคัญคือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก หรือครูสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็ก กับสื่อและกับสังคมได้หรือไม่”

“ควรดูว่ามีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นไหม ให้เด็กได้คุ้นเคย เรียนรู้สังคม ได้ค้นหาตัวตนของเขาในกระบวนการเลี้ยงดู”

ประโยคจากหนังสือที่ว่า “การจำกัดเวลาไม่น่าจะมีความสำคัญเท่ากับการที่พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกและทางหน้าจอ” นั้นเป็นใจความสำคัญที่วิลาสินียกมาแลกเปลี่ยน

วิลาสินีกล่าวว่าอาจต้องกลับทบทวนว่าปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเป็นอย่างไร เพราะแต่ละครอบครัวนั้นมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรกลับมาดูว่าจะช่วยสร้างศักยภาพในการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ผลิตสื่อเพียงเท่านั้น

ประเด็นต่อมาที่วิลาสินีแบ่งปันจากหนังสือคือการที่เราควรกลับมาให้ความสำคัญกับความสร้างความสัมพันธ์ทางกายภาพและการสร้างความสัมพันธ์จริงในครอบครัว และกล่าวเพิ่มเติมอีกประเด็นว่า พ่อแม่จะต้องเป็นนักจัดการสื่อมากกว่าเป็นคนควบคุม

ผู้ผลิตสื่อก็มีส่วนสำคัญที่จะผลิตเนื้อหาให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกนำไปใช้ ควรเป็นสื่อแบบ transmedia ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะสนับสนุนการเป็นนักจัดการสื่อของพ่อแม่

นอกจากนี้ หน่วยงานด้านนโยบาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสื่อ อาจต้องกลับมาคิดว่าจะสร้างกลไกเพื่อสนับสนุนศักยภาพของผู้ปกครองให้เป็นนักจัดการสื่อได้อย่างไร

เข็มพรเห็นด้วยว่าปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนที่มาจากการใช้สื่อมีมาก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยน้อยลง เพราะผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ใช้สื่อและเด็กใช้สื่อต่างแพลตฟอร์ม เธอแลกเปลี่ยนว่าควรปรับทัศนคติที่ว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่รู้ดีกว่าเด็ก แล้วเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

 

เนื้อหาที่ควรมอบให้เด็กผ่านหน้าจอ

 

พณชิตแลกเปลี่ยนว่าให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ไม่ใช่ความรู้ โดยให้เหตุผลว่าความรู้เปลี่ยนทุกวัน แต่หลักคิดหรือหลักการจัดการจิตใจเป็นทักษะสำคัญ

“ความเข้าอกเข้าใจ (empathy) คือหัวใจสำคัญของโลกยุคใหม่ ทักษะใหม่ที่คนรุ่นใหม่จะสู้กับ AI ได้ เริ่มที่ความเข้าอกเข้าใจ”

“ความเข้าอกเข้าใจไม่ใช่การถามว่าอยากได้อะไร เราไม่เคยรู้ว่าเราอยากได้คลิกหรือไลก์ แต่พอมีแล้วเรารู้สึกใช่ เพราะเบื้องหลังของคลิกกับไลก์คือการยอมรับทางสังคม”

หากผู้ปกครองจะต้องแย่งชิงเวลาใช้หน้าจอจากโมเดลที่มีคนออกแบบมาเพื่อพยายามเข้าใจผู้ใช้หน้าจอ พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจคนคนนั้นลึกพอที่จะดึงเขาออกมาจากหน้าจอเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้คือความเข้าอกเข้าใจ

จิราภรณ์แบ่งปันในประเด็นของการเลือกเนื้อหาว่าเนื่องจากลูกยังเด็ก ความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) อาจยังไม่เข้มแข็งพอ พ่อแม่จึงเป็นทั้งโค้ชและต้นแบบว่าจะเลือกให้ลูกรับสื่ออะไรและเลือกให้ลูกใช้สื่อเหล่านี้อย่างไร พ่อแม่ต้องตกตะกอนก่อนว่าอยากให้ลูกเรียนรู้อะไรจากสื่อ ไม่ใช่แค่เรื่องความสนุกเท่านั้น เช่น การเกิดความเข้าอกเข้าใจอาจเกิดขึ้นผ่านเกมที่ทำให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย ได้เห็นเรื่องราวที่เป็นความจริง

การเล่นเกมถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะฝึกการควบคุมตัวเองกับสิ่งที่ช่างเย้ายวนและมีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจ จิราภรณ์เห็นว่า หากสามารถจัดการสิ่งเหล่านั้นได้ เด็กก็จะยับยั้งชั่งใจกับสิ่งที่ยั่วยวนในชีวิตได้ เพราะเด็กมีทักษะติดตัว จากการที่สามารถกลั้นใจปิดเกมได้ แม้ว่าจะกำลังสนุกอยู่ก็ตาม

“สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องความสนุกหรือเนื้อหา แต่เป็นการสร้างคุณลักษณะบางอย่างที่ติดตัวเขาไป ไม่ว่าเรื่องการคิดวิเคราะห์ ความคิดยืดหยุ่น หรือความคิดสร้างสรรค์ พ่อแม่ก็สามารถช่วยจัดการเลือกได้”

จิราภรณ์ยังแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการใช้สื่อ แอป หรือเกม เป็นกระบวนการเรียนรู้ว่า “อย่าให้หน้าจอปิดโอกาสเหล่านี้เพราะเด็กมีความคิดที่อยากสร้าง อยากเปลี่ยนแปลง อยากมอบอะไรสักอย่างให้กับผู้อื่น”

“ความรู้สึกแบ่งปันเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะสังคมข้างหน้า เราอยากได้เด็กที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อยากได้เด็กที่แบ่งปัน”

“คิดว่าควรอยู่กับจอแบบเป็นนักจัดการให้ลูกเห็น สำคัญกว่านั้นคือฝึกให้ลูกเป็นนักจัดการสื่อด้วยตัวเอง โดยเปิดพื้นที่ให้เขาร่วมคิดกับเรา ร่วมสร้างมันขึ้นมากับเรา” จิราภรณ์เสนอหนทางช่วยให้ลูกจัดการสื่อเป็น

 

ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ

 

เข็มพรแลกเปลี่ยนความเห็นว่า เพื่อให้เกิดทักษะรู้เท่าทันสื่อ จำเป็นต้องมองทั้งระบบสังคม คำนึงถึงปัจจัยการเรียนในห้องเรียน การพัฒนาครู การพัฒนาสื่อ ซึ่งไม่ใช่เพียงการวิเคราะห์สื่อ แต่เป็นการจัดการชีวิตตัวเอง คำนึงถึงนโยบายที่เน้นการเรียนรู้ของคน

“หลายเรื่องเราคิดว่าการเรียนรู้จบที่ห้องเรียน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่”

ในด้านสื่อหลัก เช่นสื่อโทรทัศน์ วิลาสินีแลกเปลี่ยนมุมมองว่าสื่อหลักต้องมีหลักการที่ชัดเจน เช่น การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน โดยทำให้คนรู้จักและเรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มคนชายขอบ หรือการทำให้เด็กมีความเข้าอกเข้าใจ วิลาสินีได้เสนอ 3 แรงขับเคลื่อนที่เป็นองค์ประกอบเพื่อให้พ่อแม่เป็นนักจัดการสื่อที่ดี ดังนี้

  • แรงขับเคลื่อนจากผู้บริโภค (consumer-driven approach) เสียงของผู้ใช้สื่อก็เป็นพลังสำคัญในการกำหนดทิศทางสื่อ
  • แรงขับเคลื่อนจากหลักการ (principle-driven approach) องค์กรสื่อต้องมีอุดมการณ์ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร
  • แรงขับเคลื่อนจากนโยบาย (policy-driven approach) ฝ่ายนโยบาย ภาครัฐ เอกชน ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และโครงสร้างที่เอื้อต่อการเรียนรู้

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรคำนึงก่อนโพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดีย

 

ในการเผยแพร่ภาพรูปลงในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น จิราภรณ์แลกเปลี่ยนว่าควรพิจารณาตามบริบทของแต่ละครอบครัว โดยหลักสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องความปลอดภัยของลูก เช่น การระบุชื่อโรงเรียน ที่อยู่ หรือโพสต์ภาพเปลือยของลูก

แม้การโพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่หลายคนนิยมทำ แต่พ่อแม่อาจต้องกลับมาพิจารณาว่าผลที่ตามมาจากการลงรูปเหล่านั้นคืออะไร จิราภรณ์มองว่าตราบใดที่เรายังสบายใจและแน่ใจว่าไม่ส่งผลกระทบกับลูก ก็ควรเป็นสิทธิการพิจารณาตามแต่ละครอบครัว

เด็กบางคนอาจชอบให้ลงรูป บางคนอาจไม่ชอบ แต่ละบ้านควรเคารพสิทธิและความตั้งใจของลูก จิราภรณ์ย้ำว่าต้องระวังไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับการเลี้ยงลูก

นอกจากนี้จิราภรณ์ยังแลกเปลี่ยนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการโพสต์ที่เน้นเฉพาะเรื่องเชิงบวกหรือความสามารถของลูก

“หลายครั้งก็เป็นการสร้างตัวตนอีกแบบหนึ่งให้ลูกเราในโลกเสมือน ซึ่งความจริงตัวตนของลูกอาจไม่เป็นแบบนั้น และทำให้พ่อแม่บางคนรู้สึกผิดหวังกับลูกตนเองได้”

พณชิตแนะนำว่าให้คิดก่อนโพสต์ว่าจะส่งผลต่อภาพรวมอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินใจของพ่อแม่ในการใช้เครื่องมือไอที เพราะหากโพสต์ลงโซเชียลมีเดียแล้ว สิ่งที่เราโพสต์จะอยู่ในนั้นไปอีกนาน และข้อมูลเหล่านั้นสามารถถูกคัดลอกได้ทั่วโลก

 

คุณลักษณะของเด็กสัมพันธ์กับการติดเกมอย่างไร

 

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการหาสาเหตุที่เด็กติดเกมที่รวมไปถึงการมองย้อนกลับไปดูที่วิธีเลี้ยงลูก การเอาใจใส่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว และการสร้างวินัยในเด็ก

นำชัยอธิบายว่าสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการติดเกม นั่นคือการที่เด็กขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ

“ประเด็นที่ว่าทำไมเด็กบางคนติดเกมแต่บางคนไม่ติดเกม มีคำอธิบายบางอย่างคือ เด็กมีคุณลักษณะ (character) ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนหนึ่งที่ช่วยได้คือการที่พ่อแม่มีความใกล้ชิด ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าปล่อยเด็กเล่นเกมคนเดียว ผลลัพธ์ก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเล่นกับเขาด้วย พ่อแม่จะได้รู้ธรรมชาติของเกม และเด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ยังอยู่ข้างตัวเอง และพ่อแม่ก็ควรมีข้อตกลง ซึ่งเป็นการสร้างวินัยอย่างหนึ่ง”

“ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหาการติดเกม ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือนิสัย เกมเป็นเพียงปัจจัยรอง นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึงระบบการศึกษา เช่น มีการจัดสอบเข้าอนุบาล ทั้งๆ ที่เป็นวัยที่เขาควรเล่น”

นอกจากพื้นที่ ‘บ้าน’ แล้ว “โรงเรียนควรเป็นที่ปลูกฝังคุณลักษณะ” เช่นกัน นำชัยเสริมว่าโรงเรียนควรป้อนวิธีให้ข้อมูลมากกว่าข้อมูล และเป็นพื้นที่ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูนักเรียนมากกว่าเนื้อหา และครูควรเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้สร้างคุณลักษณะให้กับเด็กเช่นกัน

“จริงๆ แล้ว เกมไม่ได้มีแต่ผลเสีย มีเกมจำนวนมากที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ถ้าได้เล่นเกมพวกนี้มันไปกระตุ้นการใช้ความคิด ทำให้เกิดทักษะบางอย่างที่เป็นผลดี”

ดังนั้นเกมจึงไม่ใช่ปัญหาหลักเพียงอย่างเดียว และไม่ได้มีเพียงแง่ลบ หากมองในมุมที่ต่างออกไป การเล่นเกมก็เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน และผู้เล่นยังสามารถต่อยอดการเล่นเกมไปเป็นการประกอบอาชีพได้ เช่น ผู้ผลิตเกมหรือเกมเมอร์

ใช่ว่าการติดเกมจะนำมาสู่ผลเสียเท่านั้น พณชิตชวนคิดในประเด็นนี้ว่า “อย่าแปลกใจที่เด็กติดเกม แต่คำถามคือ เด็กได้อะไรจากเกม แล้วเอามาใช้ในโลกจริงได้อย่างไร”

ในประเด็นที่หลายคนอาจกังวลว่าเกมจะนำมาสู่การใช้ความรุนแรง วิลาสินีมีความเห็นว่า

“หากพ่อแม่เป็นนักจัดการสื่อที่ดี สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกและสังคม จะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นคุณสมบัติหรือคุณลักษณะสำคัญมากที่ไม่ทำให้เด็กใช้ความรุนแรง เพราะเขารู้สึกเข้าอกเข้าใจ รู้สึกเจ็บปวดแทน”

 

มองหาประโยชน์จากเกม

 

มีคำถามน่าสนใจว่าเคยมีงานวิจัยค้นหาคำตอบว่าเกมมีประโยชน์ต่อผู้เล่นอย่างไรบ้างหรือไม่ วันชัยแลกเปลี่ยนว่าอาจใช้เวลานานในการศึกษา และได้กล่าวถึงตัวอย่างประเภทเกมที่มีประโยชน์ เช่น เกมสร้างเมืองที่ช่วยพัฒนาการคิดและการวางแผน หรือเกมแบบสวมบทบาท (role player) ที่ช่วยให้จัดความสำคัญกับคนรอบข้างได้ดีขึ้น เกิดสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น

จิราภรณ์เสริมว่าการสังเกตว่าเด็กสนใจอะไร จะสามารถตอบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคุณลักษณะของเด็กเสมอ เมื่อเด็กสนใจอะไร แปลว่าเขาอาจมีศักยภาพในด้านนั้น อย่างเด็กที่เล่นเกมเก่ง อาจหมายถึงการทำงานประสานกันของมือและตานั้นดีมาก

“การที่เขาอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้นานๆ เป็นพราะเกมทำให้เขาเห็นตัวตนบางอย่างที่เป็นศักยภาพของตัวเอง จริงๆ ไม่ใช่แค่เกม แต่เป็นอะไรบางอย่างที่เขาอยู่กับมันได้นานๆ รู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็ว สิ่งนั้นคือสิ่งที่อาจเป็นความหลงใหลของเขา อาจเป็นคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งหลักของเขา”

“ประเด็นคือเรามองมันด้วยมุมมองไหน ถ้าเรามองว่าเป็นการเล่นเกมไร้สาระ เราก็ไม่มีทางเห็นสิ่งที่เป็นจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เขาทำ แทนที่จะต้องไปรอผลวิจัยว่ามีผลอะไรดี ให้เชื่อเลยว่าสิ่งที่ลูกเราลงมือทำและอยู่กับมันนานนั้นมีอะไรดีกับลูกเราบางอย่าง” จิราภรณ์ทิ้งท้าย

 

เทปบันทึกภาพเสวนาสาธารณะ “The Art of Screen Time: หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล”