Brief: ‘เพศศึกษาสนทนา’ ความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น

เรื่อง: ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์

 

สารพันคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ อาจดูเหมือนมีคำตอบที่เปิดกว้างขึ้นมากในสังคมไทย ทว่าเมื่อลองใคร่ครวญอย่างจริงจังและถามตัวเองว่า เราสามารถคุยเรื่องเพศกับลูกได้หรือไม่ เรากล้าพูดตรงๆ กับคู่รักไหมว่าต้องการหรือไม่ต้องการอะไร และอีกฝ่ายมีท่าทีอย่างไรเมื่อเราบอกว่า “ไม่” แล้วผู้หญิงที่ออกมาบอกว่าโดนล่วงละเมิดทางเพศ เหตุใดหลายครั้งกลับกลายเป็นผู้ถูกสังคมชี้นิ้วตราหน้าเสียเอง

สำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ dtac ชวนสนทนากันแบบตรงไปตรงมาในประเด็นเรื่องเพศอย่างรอบด้าน ทั้งแง่มุมจากวัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครอง และนักการศึกษา ที่ต้องสอน ต้องวางหลักสูตร และเป็นที่ปรึกษาสำคัญของช่วงวัยแห่งความสับสน

ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเพศและความสัมพันธ์ ผู้ผ่านประสบการณ์ทำงานกับวัยรุ่นมามากมาย ที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แง่มุมเชิงสังคม รวมถึงข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนแนะแนวทางการสื่อสารเรื่องเพศกับวัยรุ่น ได้แก่

  • ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
  • รองศาสตราจารย์ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของแฮชแท็ก #ทวีตรัก
  • พญ.ธันยนันท์ กังวาฬพรโรจน์ กลุ่มบางรักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาพัฒนาการประจำโรงเรียน
  • พิช – วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักแสดง นักร้อง และนักเขียน

ชวนสนทนาโดยธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ ผู้แปลหนังสือ “เพศศึกษากติกาใหม่”

 

 

ร่างกายฉัน ฉันเลือกเอง

จงฝังคำว่า “ความยินยอม” ไว้ในจิต (ใต้) สำนึกของเด็ก

ณัฐยา บุญภักดี แห่ง สสส. เปิดประเด็นในหัวข้อ “ร่างกายฉัน ฉันเลือกเอง: มิติใหม่เพศศึกษาสำหรับวัยรุ่น” ว่าความยินยอมหรือ “consent” นั้น ลึกลงไปแล้วเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับคำถามว่า “ร่างกายเราเป็นของเราหรือเปล่า” และ “การเคารพในร่างกายตัวเองนั้นเกี่ยวพันกับการเคารพในร่างกายและการตัดสินใจของคนอื่นด้วยหรือไม่” รากของมันต้องกลับไปที่ “my body, my choice”

ณัฐยาเสริมเกร็ดจากหนังสือ เพศศึกษากติกาใหม่ ว่าหนังสือเล่มบางๆ ของคุณหมอเจนนิเฟอร์ แลง นี้ ได้บีบอัดเรื่องเพศศึกษาให้สั้นกระชับที่สุด โดยหัวใจสำคัญคือ “ความยินยอม” และประเด็นสำคัญที่สุดของการพูดคุยเรื่องนี้คือ การให้ความยินยอมในเรื่องเพศต้องมาจากสำนึกที่ว่าร่างกายเราเป็นของเรา และสำนึกที่แรงชัดแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราปลูกฝังเข้าไปในตัวตนและจิตสำนึก กระทั่งจิตใต้สำนึกของเราได้หรือไม่ แล้วเราสอนเขาได้ตอนไหนอย่างไร นักสตรีนิยมหรือผู้ศึกษาเรื่องความเป็นเพศจะบอกว่า เด็กรู้ว่าตัวเองเป็นหญิงหรือชาย แล้วเติบโตขึ้นมาเป็นหญิงหรือชาย ไม่ได้เป็นเรื่องทางชีววิทยาเท่านั้น แต่มีกระบวนการประกอบสร้างทางสังคมที่ครอบมนุษย์ตัวน้อยๆ ด้วยความเป็นเพศ

“ขณะที่ฝั่งนักจิตวิทยาพัฒนาการหรือผู้ที่ศึกษาพัฒนาการของเด็กปฐมวัยจะมีองค์ความรู้อีกชุดหนึ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้มนุษย์เป็นอย่างที่เราเห็นนั้น จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ด้วยซ้ำไป ศาสตร์สองศาสตร์นี้มาเจอกันได้ไหม แล้วเวลามันมาเจอกันจะทำให้เราได้คำตอบหรือไม่ว่า กระบวนการสร้างจิตสำนึกในความรู้ว่านี่คือร่างกายเรา สิทธิของเรา เรา say yes หรือ say no ได้ แล้วเราก็ต้องเคารพคนอื่นเป็นด้วย” – ณัฐยา บุญภักดี

ที่สุดแล้ว สำนึกว่าร่างกายเราเป็นของเรา ความเคารพตัวเอง ความเคารพในการตัดสินใจของคนอื่น และเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์ทางเพศที่ยินยอม” นั้นอาจเริ่มสอนเริ่มสร้างกันได้เมื่อเด็กๆ เข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ทว่าไม่เสมอไป วัยรุ่นจำนวนมากต้องพบความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อโดยไม่มีข้อมูลมากพอ โดยไม่เคารพตัวเองมากพอ กระทั่งปล่อยเลยตามเลยมากเกินไป

 

 

เพศศึกษาในห้องเรียนไทย = เรียนให้ไม่รู้

ต่อคำถามที่ว่าเพศศึกษาในห้องเรียนเป็นอย่างไร รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ตอบว่า พูดกันตรงไปตรงมาคือไม่มีการเรียนการสอนเพศศึกษา บางโรงเรียนอาจมีเพศศึกษาแทรกในวิชาสุขศึกษาบ้าง แต่เนื้อหาก็เน้นไปที่เชิงสรีระเท่านั้น และที่น่าเศร้ากว่าคือเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ก็เรียนในหลักสูตรที่แทบไม่ต่างออกไปจากหลายสิบปีก่อนเลย นั่นคือเรียนให้ไม่รู้ เรียนให้กลัว ถูกสอนว่าเรื่องเพศและความต้องการทางเพศเป็นสิ่งสกปรก ต้องปฏิเสธ และต้องอดทนรอถึงเวลาอันควร ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่า “เวลาอันควร” คือเมื่อไหร่ นี่เป็นการสร้างปัญหาให้วัยรุ่นจนเขาไม่รู้ว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไร

และที่น่าปวดหัวไปกว่านั้นคือการจับความรักและเซ็กซ์มัดรวมเป็นเรื่องเดียวกัน

“ตำราบ้านเราปั้นเรื่องความรักความสัมพันธ์และเซ็กซ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน ลำพังเรื่องเพศก็จัดการไม่ได้แล้ว ยังเอาไปผูกกับความรักอีก เมื่อมัดรวมกันเข้าก็จะมาพร้อมความคาดหวังและวิธีนิยามมหัศจรรย์ เช่น ความเชื่อว่าถ้าหญิงชายเป็นคู่แท้กันจริงต้องร่วมเพศกันแล้วเริ่ด! พอคาดหวังอย่างนี้ก็จะยุ่งมาก ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่เลย ฉะนั้น ปัญหารออยู่ในอนาคตเยอะมาก คนจะจัดการกับตัวเองไม่ได้ ทั้งความต้องการทางเพศ อารมณ์ ความรักความสัมพันธ์ จัดการอะไรไม่ได้สักอย่าง” – รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

เกี่ยวกับเพศศึกษาในห้องเรียน วิทยากรแลกเปลี่ยนกันโดยมีประสบการณ์ไม่ต่างกันมากนัก

“เราไม่รู้อะไรเลย จนป.5 เริ่มมีการสอนว่าประจำเดือนคืออะไร ผ่านไปมัธยมปลายสอนเรื่องถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดสำหรับป้องกันตัว เราไม่ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับเพศชายเลย อาจเพราะเรียนจบจากโรงเรียนหญิงล้วน เพิ่งรู้ว่าผู้ชายมีอัณฑะตอนเรียนหมอ” พญ.ธันยนันท์ กังวาฬพรโรจน์ เล่าประสบการณ์การเรียนเพศศึกษา

เช่นเดียวกับ พิช-วิชญ์สิฐ หิรัญวงษ์กุล ที่เล่าว่ามีการเรียนเรื่องเพศในวิชาสุขศึกษา ซึ่งเป็นบทเล็กๆ ที่เรียนแล้วผ่านไป และส่วนใหญ่ก็เป็นการเรียนให้หวาดกลัวเซ็กซ์ และภาพจำของหนังสือเรียนสุขศึกษาบทที่พูดเรื่องเพศคือ มีร่างกายผู้ชายซีกหนึ่ง ร่างกายผู้หญิงอีกซีกหนึ่ง แล้วก็มีลูกศรชี้ว่าอวัยวะไหนคืออะไร และเนื่องจากเราเรียนโรงเรียนชายล้วนจึงเน้นไปที่ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ชายเป็นหลัก ดูเหมือนเป็นเรื่องที่คุยกันลำบาก การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความกระมิดกระเมี้ยน พูดไม่เต็มปาก

“เมื่อขึ้น ม.ปลาย ก็เริ่มเรียนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เหมือนคัมภีร์ที่เต็มไปด้วยความน่ากลัว เช่น ภาพหนองใน และข้อห้าม ‘อย่าทำอย่างนั้นนะไม่งั้นจะติดโรค’ มากกว่า ‘ถ้าเราเป็นขึ้นมาล่ะ จะจัดการกับตัวเองอย่างไร’ สอนว่าเราต้องไม่ไปอยู่ตรงจุดนั้น แต่เขาไม่ได้บอกว่าถ้าเราพลาดล่ะ เราต้องไปติดต่อใคร เราต้องทำอย่างไร ทำให้เรากลัวอย่างเดียว” – พิช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล

 

 

บทสนทนาเรื่องเพศในบ้าน

พิช-วิชญ์วิสิฐ เล่าว่า เนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ บทสนทนาเรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดกันยาก แม่มักจะทักเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น หนวดขึ้นแล้วนี่ เสียงเปลี่ยนแล้วนะ ไม่เคยลงลึกไปกว่านั้น

“เรียกว่าอารมณ์ทางเพศเป็นหัวข้อต้องห้าม พอเราจะช่วยตัวเอง แม่ก็จะพยายามเปิดประตูเข้ามา เขาคงเป็นห่วงแต่ไม่รู้จะสื่อสารกับเราอย่างไร และเนื่องจากมีแค่แม่ เราไม่ได้มีต้นแบบให้เดินตาม ไม่ได้มีคนมาบอกว่าเดี๋ยวเราจะโตขึ้นนะ จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและอารมณ์เราบ้าง มันก็นำไปสู่การคุยกันเองกับเพื่อน เป็นช่วงเวลาของการทดลองสิ่งต่างๆ กับร่างกายตัวเองโดยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ” พิชเล่าบรรยากาศช่วงวัยรุ่น

นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมากนัก แต่ก็ส่งกระทบบ้าง เช่น เมื่อศึกษาเองทั้งจากการคุยกับเพื่อนและจากการดูหนังโป๊ ก็เข้าใจไปเองว่านั่นคือการร่วมเพศในอุดมคติ ต้องทำอย่างในหนังจึงจะมีความสุขทางเพศ ทว่าพอมาใช้ชีวิตจริงๆ ถึงพบว่าเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบุคคลและเฉพาะตัวที่สุดเรื่องหนึ่ง ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีท่าไม้ตายอะไรทั้งสิ้น พิชมองว่า การคุยกับผู้ปกครองอาจดีกว่าการทดลองและหาความรู้เอาเอง แล้วไม่สามารถตรวจสอบความรู้ความเข้าใจนั้นกับผู้ใหญ่ได้ แน่นอนว่าอาจมีพื้นที่สีเทาที่ผู้ปกครองเองก็ให้คำตอบไม่ได้ แต่เพราะวุฒิภาวะของเขามากกว่าวัยรุ่น จึงน่าจะนำมาสู่การหาคำตอบร่วมกัน สำรวจร่วมกัน และเติบโตไปด้วยกัน

ส่วนเบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ออกตัวว่าเติบโตมาในครอบครัวอนุรักษนิยม ความเชื่อของที่บ้านคือ ผู้หญิงต้องรักษาพรหมจารีไว้จนถึงวันแต่งงาน เรื่องเพศเป็นสิ่งสกปรกและน่ารังเกียจ ผู้ปกครองเชื่อว่ามนุษย์ไม่ควรข้องเกี่ยวหมกมุ่นเรื่องเพศ แต่เราเป็นมนุษย์ และมนุษย์เราไม่ได้มีเซ็กซ์เพราะอยากอยู่ในกิเลส แต่มันเป็นธรรมชาติ พอโตขึ้นผู้หญิงก็เริ่มมีหน้าอก ผู้ชายก็เริ่มมีหนวดเครา วัยเจริญพันธุ์จะมีอารมณ์ทางเพศเป็นปกติ

“อย่างถ้าน้องชายเราช่วยตัวเอง ที่บ้านก็มีความคิดว่าสิ่งนี้ไม่ดี คุณต้องเลิก ให้ผู้ชายหยุดอารมณ์ทางเพศด้วยการเลิก ซึ่งเขาก็เลิก จากนั้นมีอาการตัวชา นอนไม่ได้ จนต้องพาไปพบแพทย์ คุณหมอซักไปซักมาก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หมอช่วยเคลียร์กับคุณพ่อคุณแม่ว่าการช่วยตัวเองเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องของฮอร์โมน” – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์

เบญจรัตน์ เสริมในมุมจิตวิทยาอีกว่า ผู้ปกครองและครูอาจารย์ต้องเข้าใจก่อนว่าอารมณ์ทางเพศเป็นคนละเรื่องกับศีลธรรม และการสอนเพศศึกษาไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก แต่คือการทำให้เรารู้จักสิ่งที่เราควรรู้จัก มิเช่นนั้นเด็กจะเข้าใจได้อย่างไร ความเข้าใจผิดๆ นี้อาจทำให้เด็กรู้สึกผิดทุกครั้งที่ช่วยตัวเอง รู้สึกว่ากำลังทำผิด ซึ่งเป็นการสร้างบาดแผลในใจให้เด็ก

ด้าน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เห็นต่างออกไปว่า พ่อแม่ไม่ควรบุ่มบ่ามคุยเรื่องเพศกับลูก เพราะต้องยอมรับว่าไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่พูดเรื่องเพศกับลูกได้ ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่มองเรื่องเพศอย่างไร คนจำนวนมากมองเรื่องเพศในทางลบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว ถ้าพ่อแม่สอนลูกแบบนี้จะทำให้ยิ่งวุ่นวายไปกันใหญ่

“ถ้าพ่อแม่พูดขึ้นมาจริงๆ อาจหายนะกว่าเดิม เพราะพ่อแม่เองก็ไม่ได้รู้เรื่องนี้มากมายอะไร แล้วจะเป็นการชวนให้ไม่รู้ไปกันใหญ่ ถ้าเราจะมอบหน้าที่คุยเรื่องเพศกับวัยรุ่นให้พ่อแม่จริงๆ ผู้ใหญ่ต้องมานั่งคุยกันใหม่ก่อน ไม่ว่าคุณจะผู้ใหญ่ขนาดไหน มิเช่นนั้นจะเป็นการส่งต่อความไม่รู้และความสับสนต่อไปอีก ปฏิรูปประเทศไทย ต้องปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย เพราะทุกคนต่างไม่รู้กันหมด” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ให้ความเห็น

 

 

ความสำคัญของพรหมจารี(?)

เริ่มกันด้วย “เยื่อพรหมจรรย์” ในทางการแพทย์ พญ.ธันยนันท์ แก้ความเข้าใจผิดที่หลายคนจำมาจากละครไทยหลายเรื่องว่า ที่พระเอกมีเซ็กซ์กับนางเอกแล้วมีรอยเลือดอยู่บนเตียง เป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ของฝ่ายหญิงว่าไม่เคยผ่านชายใดมาก่อนนั้นไม่เป็นความจริง พรหมจรรย์เป็นเยื่อบางๆ ซึ่งขาดง่ายมากจากกิจกรรมต่างๆ เช่น ขี่ม้า กระโดดบันจี้จัมป์ ออกกำลังกายหนักๆ และหลายครั้งเมื่อฉีกขาดก็ไม่ได้มีเลือดออก ในทางกลับกัน ผู้หญิงที่เป็นโรคหนองในเทียมมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์เหมือนกัน

ณัฐยา ก็ยืนยันด้วยเนื้อหาจากหนังสือ Our Body, Ourselves ของ Judy Norsigian ที่เล่าว่า เด็กผู้หญิงบางคนเกิดมาโดยไม่มีเยื่อพรหมจรรย์ด้วยซ้ำ เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เราจะยึดถือมันอยูไหมทั้งที่เราอาจจะเกิดมาโดยไม่มีมันมาแต่แรก

ส่วน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ตั้งคำถามว่า ผู้ชายที่ร่วมเพศกับผู้หญิงรู้หรือว่าเธอคนนั้นยังเป็นหญิงพรหมจารีอยู่ ถ้าคำตอบคือไม่รู้ คุณให้ค่าเรื่องที่คุณไม่รู้ทำไม คำว่าพรหมจรรย์ถูกให้ค่าและถูกเชื่อมโยงกับผู้หญิงเป็นหลัก ซึ่งมาจากระบบคิดที่ต้องการควบคุมเรื่องเพศและการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ลูกต้องเป็นสมบัติของผู้ชาย สังคมจึงยึดถือเรื่องนี้อย่างเข้มงวดมากเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กที่อยู่ในท้องภรรยาเป็นลูกของตัวเอง

“เรื่องพรหมจารีจะเป็นปัญหาเมื่อคุณกำลังจะตัดสินว่าคนคนหนึ่งเป็นหญิงพรมจารีหรือไม่ ถ้าเป็นผู้ชายคุณลองมองคนคนนั้นให้เต็มตาว่าคุณรักเขาตรงไหน รักเพราะเยื่อบางๆ ซึ่งไม่ได้มีกันแต่เกิดทุกคนนี่หรือ คุณค่าของมันอยู่ตรงเยื่อนั้นหรือ ต้องถามที่ตัวคุณ ณ เวลานั้นว่าคุณรักใครคนหนึ่งที่ตรงไหน” – รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

ส่วนเบญจรัตน์ แลกเปลี่ยนในมุมกลับกันว่า สำหรับบางครอบครัว พรหมจรรย์กินความมากกว่าในเชิงชีววิทยา แต่คือความบริสุทธิ์ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายให้ค่าเรื่องนี้ต่างกันไปตามวัฒนธรรมและความเชื่อของแต่ละบ้าน ผู้หญิงบางคนก็คิดว่าจะเก็บความบริสุทธิ์ไว้ให้พ่อของลูกเท่านั้น เช่นเดียวกับผู้ชายบางคนที่คิดว่าอยากแต่งงานกับหญิงที่ไม่เคยผ่านมือชายใดมา

 

 

อำนาจแห่งตน

อำนาจแห่งการให้ความยินยอมและปฏิเสธ

“ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่อุ้มไปโรงพยาบาล จับเราฉีดยา เราขัดขืนไม่ได้เพราะมีอำนาจแห่งตนน้อย เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ถ้าแม่บอกให้เรามานั่งกินข้าวกันก่อน เราบอก ไม่ ไม่กิน ยังไม่หิว เรามีอำนาจแห่งตนเพิ่มขึ้นแล้ว และอำนาจแห่งตนจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเรารู้ว่าตัวเองมีสิทธิพูดว่าไม่ ฉันไม่อยากทำ” ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ เปิดประเด็น

เบญจรัตน์ ให้ข้อมูลในเชิงจิตวิทยาว่า การกล้าที่จะบอกความปรารถนาของตัวเองนั้นควรปลูกฝังให้ทุกคนตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนพูดกันเรื่องความยินยอมหรือการปฏิเสธเรื่องเพศ เราฝึกเขาได้ด้วยเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ให้เขารู้จักพูด yes หรือ no อยากทำหรือไม่อยากทำ อยากเป็นหรือไม่อยากเป็น พ่อแม่สามารถมอบอำนาจตัดสินใจบางเรื่องให้เด็กวัย 5-6 ขวบได้ เช่น เลือกกินอาหาร การไปเที่ยว การแต่งตัว เพราะที่สุดแล้ว อำนาจแห่งตนไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรก็ได้ แต่คือการทำอะไรก็ได้ที่ยังอยู่ในกรอบของกฎระเบียบ

ถ้าเขาบอกว่า “วันนี้หนูอยากกิน KFC ค่ะ” พ่อแม่ต้องอนุญาต เพราะพ่อแม่ให้อำนาจแห่งตนเขาในการตัดสินใจแล้ว หากพ่อแม่ไม่ทำตามที่ลูกเลือก “เลือกอย่างอื่น ไม่เอาของทอด กินแล้วไอ” สรุปว่าการตัดสินใจของเขาไม่มีค่า ไม่ได้เป็นการฝึกให้ลูกมีอำนาจแห่งตน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องอย่าหยุดอำนาจแห่งตนของลูก และเมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขาสามารถนำไปประยุกต์กับเรื่องเพศได้อย่างเป็นธรรมชาติ

“แฟนเราบอกว่าเซ็กซ์เป็นตัวแทนของความรัก มีเซ็กซ์แปลว่าเธอรักฉัน ไม่มีแปลว่าไม่รัก แล้วเราก็ปล่อยให้ค่านิยมแบบนี้ดำเนินไปในหัวเรา เลยตามเลย มีเซ็กซ์ก็มี ไม่เห็นเป็นไร มันอาจนำมาสู่เรื่องที่แย่ลงก็ได้ แต่ถ้าเขาถูกฝึกให้มีอำนาจแห่งตนอย่างหนักแน่น ก็จะไม่ปล่อยให้อะไรเลยตามเลย ฉันถูกสอนมาว่าฉันมีอำนาจแห่งตน ถ้าฉันบอกว่า yes ก็คือ yes และเมื่อฉันพูดว่า no ก็ต้อง no ถ้าเขาโกรธที่เราไม่ยอมมีเซ็กซ์ด้วยก็เลิกค่ะ ไม่อย่างนั้นก็เท่ากับเราปล่อยให้เขาเอาเรื่องเลิกกันมาข่มขู่ตลอดเวลา โดนต่อรองตลอดเวลา” – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์

พิช-วิชญ์วิสิฐ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า เพื่อนๆ มารวมกันในปาร์ตี้ หนึ่งในนั้นเป็นแฟนกัน บรรยากาศพาไปให้เพื่อนๆ เชียร์ “จูบกันเลยๆ” ตอนเด็กก็ไม่ได้คิดอะไร สนุกสนานตามประสาวัยรุ่น แต่เมื่อคิดย้อนกลับไป ถ้าตนถูกเพื่อนกดดันให้ทำเช่นนั้นบ้าง ก็คงยอมทำเพื่อให้สถานการณ์น่าอึดอัดนั้นผ่านไป เรียกว่าไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นถูกบังคับให้มีเซ็กซ์ แต่ก็อาจเป็นคำถามติดตัวไปตลอดว่า มันใช่หรือ อยากทำหรือ

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ขยายความต่อจากพิชว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฝึกให้คิดถึงเรื่องเหล่านี้มาก่อน แล้วต้องเผชิญสถานการณ์ข้างต้นโดยไม่รู้ว่าต้องรับมือยังไง หลายคนก็พ่ายแพ้ต่อสัญชาตญาณฝูง เพื่อนเชียร์ให้จูบก็จูบ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ คนที่ถูกฝึกวิธีคิดเรื่องอำนาจแห่งตนก็จะยืนยันความต้องการของตัวเองได้ แต่หากไม่ได้ฝึกมาเลย อย่างน้อยให้ลองเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง หากฉันตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มีคนยุยงให้ฉันจูบกับคู่ หายใจเข้าลึกๆ สักเฮือก แล้วคิดว่าฉันอยากทำอะไร ถ้าไม่อยากทำ จงปฏิเสธแล้วรับผลของการปฏิเสธ เพราะถ้าไม่อยากทำแล้วไม่ปฏิเสธ คุณต้องรับผลของการไม่กล้าปฏิเสธซึ่งอาจร้ายแรงกว่า ชั่งน้ำหนักว่าผลแบบไหนที่ตัวคุณจะรับไหวมากกว่ากัน

“เอาเข้าจริงคำว่าความยินยอมเป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้างยุ่ง เพราะสังคมไทยทำกรอบคิดเรื่องเพศให้เป็นเรื่องคลุมเครือ กติกาสำหรับหญิงชายไม่เหมือนกัน มอบบทบาทว่าใครต้องทำอะไรในเรื่องเพศ ผู้ชายต้องบุก ผู้หญิงอยู่นิ่งๆ ในฐานที่ตั้ง และเราต่างเล่นตามบท ปัญหาคือระหว่างฝ่ายรุกกับฝ่ายตั้งรับนี้มีพื้นที่สีเทาตรงกลางกว้างมาก ยึกยักกัน จินตนาการว่าในการร่วมเพศ ผู้ชายถามได้ว่ายินยอมไหม เรื่องจะง่ายมาก แต่มันไม่มีจริง สมมติว่าผู้หญิงตอบ ยินยอมค่ะ มันก็ไม่น่ารักเหมือนในอุดมคติอีก” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ชวนให้คิดตาม พร้อมกับย้ำว่า เรื่องความยินยอมไม่ใช่แค่อำนาจแห่งตนของตัวคุณเท่านั้น แต่ต้องคิดถึงอีกฝ่ายด้วย

“และเรื่องความยินยอม ไม่ใช่แค่อำนาจแห่งตนของตัวคุณเท่านั้น แต่อีกฝ่ายก็มีอำนาจแห่งตนเช่นกัน หากเขาปฏิเสธ ไม่พร้อม หรือไม่สบายใจ คุณต้องเคารพอำนาจแห่งตนของเขา คู่ของคุณก็เป็นคน ไม่ใช่แค่ตุ๊กตายาง เขาจึงมีสิทธิเลือกได้เช่นกัน” – รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

ขณะที่หลายคนคิดว่ามีอวัจนภาษาหรือคำพูดอ้อมๆ มากมายที่เป็นการสื่อสารถึงความไม่ยินยอม พญ.ธันยนันท์ เห็นต่างไปว่า เมื่อไม่ยินยอมต้องเอ่ยด้วยวาจาเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับที่เจนนิเฟอร์ แลง เขียนไว้ในหนังสือ เพศศึกษากติกาใหม่ ว่าเราต้องปฏิเสธด้วยวาจา คำว่า “ไม่” ไม่ควรเป็นคำต้องห้ามและเพียงพอให้อีกฝ่ายหยุด

“เมื่อเราไม่ยินยอม ต้องเอ่ยด้วยวาจาเท่านั้น เพราะภาษากายอาจไม่สามารถสื่อสารได้เสมอไป หรืออาจคลาดเคลื่อน เราจึงต้องพูดเพื่อปฏิเสธให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเรา” – พญ.ธันยนันท์ กังวาลพรโรจน์

ส่วนประเด็นการข่มขืนในคู่สามีภรรยา แม้จะสามารถขอเข้ารับการตรวจได้ว่าอวัยวะเพศมีการฉีกขาดรุนแรงหรือไม่ ทว่าในการร่วมเพศด้วยความยินยอมก็เกิดบาดแผลที่อวัยวะเพศได้เช่นกัน ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ เพราะการข่มขืนหลายครั้งไม่มีร่อยรอยการทำร้ายร่างกายภายนอกเลย ทั้งนี้ หากคู่สามีภรรยามีปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับเซ็กซ์หรือความสัมพันธ์ แนะนำให้พบนักจิตวิทยาซึ่งสามารถให้คำแนะนำได้ และข้อดีอีกประการของไปพบนักจิตวิทยาก็คือเราสามารถพูดเรื่องลับๆ กับคนที่ไม่รู้จัก เพราะบางเรื่องก็ลับจนเราไม่สามารถพูดกับคนใกล้ชิดได้

ด้านณัฐยา บุญภักดี กล่าวถึงตัวอย่างการสอนเรื่องความยินยอมให้เด็กและวัยรุ่นอย่างง่ายๆ ด้วยวิดีโอแอนิเมชั่นสั้นๆ ว่า ความยินยอมพร้อมใจในเรื่องเพศสัมพันธ์ก็เหมือนการชวนคนมาดื่มชา ถ้าเขาไม่อยากดื่ม เราไม่ควรบังคับให้เขาดื่ม ถ้าเขาหลับอยู่ เราต้องไม่กรอกชาใส่ปากเขา และแม้ว่าเขาจะเคยดื่มชากับเราแล้วเกิดไม่อยากดื่มขึ้นมา ก็แปลว่าเขาไม่ต้องการดื่ม การเคยดื่มชาด้วยกันไม่ได้รับประกันว่าเขาจะต้องการดื่มชากับเราทุกครั้งไป ซึ่งนอกจากสอนเรื่องการฟังเสียงตัวเอง เราอยากดื่มชากับเขาไหม แล้ว ยังสอนเรื่องการฟังเสียงคนอื่น เขาอยากดื่มชากับเราไหม เราไปละเมิดเขาไม่ได้นะ คนเราต้องมีสองสิ่งนี้อยู่ในตัว

 

 

ท้องไม่ท้อง ป้องกันอย่างไร

เราจะท้องไหม ถ้านั่งชักโครกต่อจากผู้ชายหรือว่ายน้ำในสระเดียวกัน และการสวนล้างช่องคลอด นับหน้าเจ็ดหลังเจ็ด หรือหลั่งนอก จะป้องกันการท้องได้หรือไม่

พญ.ธันยนันท์ อธิบายว่า อสุจิว่ายน้ำเก่งมากก็จริง แต่ไม่เก่งขนาดที่สามารถกระโดดจากโถชักโครกขึ้นมาและเข้าไปในช่องคลอดได้ และเมื่ออสุจิอยู่ภายนอกร่างกายในที่แห้งก็ตายแล้ว รวมถึงในสระว่ายน้ำหรืออาบน้ำอ่างเดียวกัน อสุจิก็วิ่งเข้าไปในช่องคลอดไม่ได้เช่นกัน

ส่วนการนับหน้าเจ็ดหลังเจ็ดและการหลั่งนอกนั้น เป็นหนึ่งในหนทางป้องกันการท้องได้จริง แต่มีความเป็นไปได้มากที่จะพลาด 80 เปอร์เซ็นต์ของการหลั่งนอกไม่ท้อง แต่อีก 20 เปอร์เซ็นต์จะตั้งครรภ์ภายในหนึ่งปี เพราะน้ำหล่อลื่นที่ออกมาในช่วงแรกๆ ของการร่วมเพศมีอสุจิหลุดออกมาบ้างแล้ว ไม่ต้องรอหลั่ง ส่วนการนับหน้าเจ็ดหลังเจ็ด ต้องเข้าใจให้ถูกต้องก่อน นั่นคือ ประจำเดือนมาวันที่หนึ่ง นับไปเจ็ดวันตั้งแต่วันแรกและเจ็ดวันก่อนประจำเดือนมาวันแรก ทั้งหมด 14 วันนั้นมีโอกาสตั้งครรภ์น้อย เพราะเป็นช่วงที่ไข่ไม่ตก ไข่ตกเดือนละหนึ่งฟองเป็นปกติ แต่ก็มีโอกาสที่ไข่ตกสองฟองซึ่งทำให้ได้ลูกแฝด และไข่มีโอกาสตกได้สองรอบเช่นกัน อีกอย่างคือประจำเดือนมีความผันผวนค่อนข้างมาก เครียดนิดหน่อยประจำเดือนก็ไม่มีแล้ว ดังนั้น การนับหน้าเจ็ดหลังเจ็ดจึงป้องกันได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถามว่าเราปล่อยให้ตัวเองท้องเพื่อมัดใจชายได้หรือไม่ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ถามกลับว่า มัดใจหมายความว่าอย่างไร คือการทำให้เขายังอยู่ในความสัมพันธ์นี้และไม่เลิกกับเราไปหรือ ผู้หญิงที่มีลูกในสถานการณ์เช่นนี้มีประสบการณ์ไม่ดีนัก เพราะผู้ชายจำนวนหนึ่งไม่เลิกราไปจริง แต่อยู่เพื่อทำหน้าที่พ่อเท่านั้น ไม่ได้อยู่เพื่อทำหน้าที่สามีหรือคนรัก

“ความเป็นผัวเมียกับความเป็นพ่อแม่เป็นความสัมพันธ์สองชั้นที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา คุณทำใจได้ไหมที่เขาอยู่เพื่อทำหน้าที่พ่อ ไม่ได้ทำหน้าที่คู่รักเลย ลูกไม่ใช่หลักประกัน คนที่แต่งงานมีลูกกันก็ไม่ได้อยู่กันตลอดรอดฝั่งไปเสียหมด วิธีการแบบนี้เป็นการแบล็กเมลทางอารมณ์แบบหนึ่ง คุณไม่ได้ตกลงใจจะมีลูกด้วยกันแล้วเกิดมา กลายเป็นความไม่ยินยอมพร้อมใจแบบหนึ่งเช่นกัน” – รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ส่วนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น พญ.ธันยนันท์ อธิบายว่าถุงยางอนามัยคือคำตอบของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะป้องกันการตั้งครรภ์หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรค แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ การออรัลเซ็กซ์โดยไม่ป้องกันนำมาสู่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ทุกวันนี้มีนวัตกรรมที่เรียกว่า dental dam มีลักษณะเป็นยางเหมือนถุงยางอนามัยแต่คลี่ออกมาเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม วิธีใช้คือวางบนจุดที่ต้องการทำออรัลเซ็กซ์เท่านั้นเอง

ทั้งนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจติดโดยไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์เลยก็ได้

“มีข่าวคุณพ่อคนหนึ่งจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ตะโกนออกไมโครโฟนของนักข่าว ยืนยันว่าไม่ได้ข่มขืนลูกตัวเอง ต้นเรื่องคือเด็กในครอบครัวนี้มีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ตรวจพบเป็นเชื้อหนองใน จึงเข้าสู่ขั้นตอนการสืบสวนโรคในทางการแพทย์ ขั้นแรกคือแยกเด็กออกจากพ่อแม่ สัมภาษณ์ทีละคนว่าเกิดอะไรขึ้น เราได้รับการยืนยันจากคุณพ่อว่าไม่ได้ทำจริงๆ จนพบว่าเกิดจากการที่บ้านนี้ใช้ผ้าขนหนูผืนเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ในเรียวกังที่ใช้ผ้าขนหนูร่วมกันได้เช่นกัน” พญ.ธันยนันท์ ยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อแพทย์ตรวจเจอว่าคนไข้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พญ.ธันยนันท์ แนะนำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า ขั้นแรก พาคู่ของคุณมาตรวจโดยไม่ต้องกังวลว่าแพทย์จะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับคู่ของคุณ เพราะแพทย์ต้องรักษาความลับของคนไข้ โดยอาจบอกอาการแต่ไม่ระบุโรคชัดเจนว่าเป็นโรคใด เช่น ท่อปัสสาวะอักเสบ

“มีคู่ของคนไข้จำนวนมากมาปรึกษา หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ เพราะมันอาจหมายความว่าเขามีคู่นอนคนอื่นอีก เมื่อถึงขั้นนี้ หมอจะบอกว่าเขาเป็นโรคอะไรกันแน่ และโรคนี้อาจติดมาตั้งนานแล้ว เช่น ซิฟิลิส ไม่ได้แปลว่าติดจากคนที่เพิ่งมีเพศสัมพันธ์ อาจจะติดมาตั้งแต่สิบปีก่อนได้เหมือนกัน นอกจากนี้ มีหลายกรณีที่ติด ไม่ได้ติดจากการร่วมเพศ จากนั้นก็ไปคุยกันให้ชัดเจน แล้วค่อยกลับมาคุยกันหมอ” พญ.ธันยนันท์ให้คำแนะนำ

พญ.ธันยนันท์ทิ้งท้ายว่า ต้องเปิดเผยกับคู่ของเรา และหากมีหลายคนต้องเปิดเผยกับทุกคน โดยพูดคุยด้วยความจริงใจที่สุด

 

 

ภูเขาน้ำแข็งความรุนแรงทางเพศ

ณัฐยา จาก สสส. กล่าวถึงความรุนแรงทางเพศซึ่งเกิดขึ้นในหลายรูปแบบคือ ทางกาย ทางใจ และทางคำพูด ว่าแม้ไม่เคยมีการสำรวจว่ารูปแบบไหนเกิดขึ้นมากน้อยกว่ากัน ทว่าส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวคือทางกาย ซึ่งอาชญากรรมทางเพศที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นน้อยมาก เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำให้เราเห็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เหลือจมอยู่ใต้น้ำ ไม่มีใครพูดถึงเพราะมองไม่เห็น  มีนักวิจัยเคยสำรวจเรื่องทัศนคติเรื่องความรุนแรงทางเพศกับนักเรียนนักศึกษา เช่น date rape การเดตแล้วถูกบังคับให้ร่วมเพศถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่ รับได้หรือแค่ไหน ส่วนใหญ่ทั้งเพศหญิงและชายบอกว่ารับได้ เพราะเราตกลงใจไปเดตกับเขาแล้ว เพียงเท่านี้ก็คาดการณ์ได้ว่าความรุนแรงทางเพศที่เรามองไม่เห็นยังมีอีกมากมายมหาศาล หลายครั้งคนที่ถูกกระทำไม่ได้รับความเห็นใจ เข้าใจ ก็เลยไม่พูดเสียดีกว่า ปกป้องตัวเองให้ดีขึ้นแล้วกัน ซึ่งนี่เป็นการจำกัดเสรีภาพตัวเองให้ไม่กล้าออกไปเผชิญโลก

“ปรากฏการณ์ #metoo ที่ผู้หญิงทั่วโลกตื่นตัวกัน แต่กระแสในไทยเงียบมาก อาจเรียกได้ว่าสังคมเราเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับการข่มขืน หากภรรยาบอกว่าโดนสามีข่มขืน เธอคนนั้นจะถูกตำหนิไหม จะโดนตีตราหรือเปล่า การออกมาพูดเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คนที่ไม่ออกมาพูดจึงมีมาก ออกมาพูดก็เสียที่ตัวเอง โดนตั้งคำถามมากมาย” – ณัฐยา บุญภักดี

สำหรับสถานการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น อาจารย์ชลิดาภรณ์กล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศปรากฏในหลากหลายรูปแบบ ทั้งกรณีบังคับร่วมเพศและการร่วมเพศโดยไม่ยินยอม เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กโตขึ้นและมีอิสระจากครอบครัวอย่างที่ไม่เคยมี พวกเขาเข้าสู่บททดสอบสำคัญ ได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยได้สัมผัสเลยในโรงเรียนตลอด 12 ปี ปัญหาคือเมื่อเป็นเรื่องขึ้นมาแล้วก็เงียบไป ไม่มีใครคิดถึงและพูดคุยอย่างจริงจัง หรือกระทั่งคนเป็นแฟนกัน ในวัยไหนก็ตาม เพศสภาพหญิงหรือชายก็ตาม ถ้ามีการตะโกน ตะคอก หรือด่าทอกัน นับเป็นความรุนแรงหรือไม่ มีเรื่องต้องคิดต้องคุยอยู่มากมาย

ด้านพิช-วิชญ์วิสิฐ แลกเปลี่ยนในฐานะสื่อว่า ทุกวันนี้ยังมีสื่อจำนวนมากที่ทำให้การคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติ (normalize) ไม่ว่าจะในรายการวาไรตี้ หรือในละครที่มีการดึงไม้ดึงมือกัน ดึงตัวมาหอมแก้ม กลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้คนรู้สึกว่าเราทำแบบนี้กับคนอื่นได้

ความรุนแรงทางเพศหลายครั้งกลายเป็นบาดแผลในใจ ทำให้คนที่ถูกกระทำหวาดกลัวหลังจากผ่านเหตุการณ์ไปแล้ว เบญจรัตน์ อธิบายว่า ขั้นแรก เมื่อถูกคุกคามต้องตั้งสติ ถ้าหนีได้ให้หนี คิดเสียว่า ฉันจะไม่อยู่ในสถานการณ์นี้ ไม่ควรเผชิญหน้า ไม่ควรเข้าไปทำร้ายร่างกาย หรือด่าทอให้อับอาย เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มีอาการทางจิตหรือเปล่า ถ้าเราตะโกนประจานเขา อาจดีตรงที่เราได้ระเบิดอารมณ์ แต่ไม่มีอะไรรับประกันเลยว่าเขาจะไม่ทำอะไรรุนแรงไปกว่านั้น ส่วนการรักษาทางอารมณ์นั้นทำได้ ต้องมาคุยกัน ต้องปล่อยใจ ความหลอนเกิดจากความกลัว เกิดจากการไม่ได้จัดการกับสภาวะจิตใจในตอนนั้น และการจัดการต้องเป็นกระบวนการ อาจเริ่มจากบอกตัวเองว่า เกิดขึ้นแล้วปล่อยให้มันผ่านมา จากนั้นต้องเล่าให้ใครบางคนฟัง ให้เพื่อน พี่น้อง หรือพ่อแม่คอยปลอบ มันผ่านไปแล้วนะ ตอนนี้ลูกปลอดภัยแล้ว ต่อไปก็ระวังมากขึ้นนะ  เราต้องการคนมาประคับประคองเพื่อจัดการสภาวะและประสบการณ์เลวร้ายในใจ

 

 

ข่มขืน

ต่อคำถามว่าถ้าเราโดนข่มขืน หรือกระทั่ง คิดว่า ตัวเองโดนข่มขืนล่ะ ต้องทำอย่างไร จัดการอย่างไร เบญจรัตน์ พูดในมุมนักจิตวิทยาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือเป็นบาดแผลทางใจแผลใหญ่ และวิธีที่ดีที่สุดคือมาพบนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา จะช่วยให้จัดการกับบาดแผลที่อยู่ในใจเรา เราจะยอมรับมันได้อย่างไร ให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะถึงที่สุดแล้ว จะนำไปสู่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ เราจะก้าวต่อไปได้อย่างไรเพื่อมีชีวิตและอยู่ต่อไปได้

พญ.ธันยนันท์ บอกว่าต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายก่อน ทั้งเพื่อตรวจรักษาและเก็บหลักฐาน ไม่ว่าจะฟ้องร้องหรือไม่ก็ตาม และระหว่างนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่เหยื่อได้ตั้งสติและคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ โดยขั้นตอนทางการแพทย์คือ

หนึ่ง ตรวจบาดแผลภายนอกศีรษะจดปลายเท้าว่า มีร่องรอยการทำร้ายร่างกายหรือไม่

สอง ตรวจบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศทั้งภายนอกและภายใน เพื่อหาโอกาสการตั้งครรภ์ มีอสุจิในนั้นหรือเปล่า และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ได้แก่ หนองใน หนองในเทียม หรือโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย พยาธิ

สาม เจาะเลือดเพื่อตรวจหาเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบี

หลังจากนั้นแพทย์จะจ่ายยาต้านเอชไอวีที่เรียกว่า PEP (Post – Exposure Prophylaxis)  ซึ่งควรรับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ภายใน 72 ชั่วโมง และยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน และเมื่อครบหนึ่งเดือนจะกลับมาเจาะเลือดซ้ำ นอกจากนี้ มีขั้นตอนทางนิติเวชที่ตรวจอย่างละเอียดซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ถูกกระทำว่าจะดำเนินคดีหรือไม่

“ขอให้มั่นใจว่าฐานข้อมูลของโรงพยาบาลเข้าถึงได้เฉพาะแพทย์ผู้ตรวจเท่านั้น ไม่มีทางที่ข้อมูลคนไข้จะรั่วไหลได้ ทางโรงพยาบาลมีระบบป้องกันที่รัดกุมมาก” – พญ.ธันยนันท์ กังวาลพรโรจน์

ด้านณัฐยา ผู้เคยได้รับสายโทรศัพท์กลางดึกจากเหยื่อข่มขืนเล่าว่า ให้โทรศัพท์หาใครก็ได้ที่ไว้ใจที่สุด เพราะภาวะอารมณ์ของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาสดๆ ร้อนๆ จะไม่มีสติ ตกใจจนจับต้นชนปลายไม่ถูก เขาต้องการคนที่จะปลอบประโลมให้เขาได้สติ แล้วบอกว่าต้องทำอะไรต่อไปอย่างเป็นเป็นขั้นเป็นตอนให้เขาทำตาม อยู่ที่ไหน รอบตัวมีอะไรบ้าง ช่วยเหลือตัวเองได้ไหม ออกจากตรงนั้นได้ไหม กลับบ้านได้ไหม ไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ไหม ถ้าไม่ได้ เราจะไป

จากนั้น ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายและรักษาก่อน เพราะไม่รู้ว่ามันรุนแรงแค่ไหน โอกาสเสี่ยงติดเชื้อหรือตั้งครรภ์มีหรือไม่ ทุกโรงพยาบาลมีแผนกดูแลช่วยเหลือคนที่ถูกกระทำ ส่วนเรื่องแจ้งความดำเนินคดีนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ถูกกระทำ เนื่องจากบางกรณี การแจ้งความส่งผลกระทบทั้งเรื่องครอบครัว คนใกล้ชิด และที่ทำงาน สุดท้ายก็รับไม่ไหว ต้องเปลี่ยนชื่อสกุลแล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

“ต้องยอมรับว่าสังคมนี้ยังไม่พร้อมอยู่ข้างเราเมื่อเราเจอปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ สังคมนี้ยังบอกผู้หญิงว่าเธอทำตัวเอง ถ้าเธอไม่เปิดทางตั้งแต่แรกจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ มีเรื่องสารพัดที่ต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ด้วยตัวเอง” ณัฐยา บุญภักดี

ทั้งนี้ หากจะเลิกวัฒนธรรมโทษเหยื่อต้องเริ่มที่เราทุกคนในสังคมด้วย คนที่เราควรชี้นิ้วคือผู้กระทำ หลายเคสที่ผู้ถูกกระทำโดนกล่าวหาว่า มโน ให้ท่า เมา เริ่มที่ตัวเราก่อน หากเราเผลอคิดเมื่อเห็นข่าว เห็นคนใกล้ตัว เห็นเพื่อนถูกกระทำมา แล้วเราเผลอคิด ไปทำอะไรมาถึงโดนขนาดนี้ เราต้องรีบกำจัดมันออกไป ถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน

 

การปลูกฝังอำนาจแห่งตนลงในจิตสำนึกตั้งแต่วัยเยาว์ นำมาสู่ความตระหนักรู้ว่าร่างกายเราเป็นของเรา และเรามีสิทธิ 100 เปอร์เซ็นต์ในการตัดสินใจเลือก พร้อมกันนั้นก็รู้ว่าอีกฝ่ายหรือคู่ของเรานั้นเป็นมนุษย์ที่มีอำนาจแห่งตน ร่างกายเขาเป็นของเขา และเขามีสิทธิตัดสินใจเลือกเช่นเดียวกัน อย่าปล่อยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศเป็นดังที่ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ใช้คำว่า เพศศึกษาในห้องเรียนไทยจับเด็กไทยส่งให้ผู้ผลิตหนังโป๊ ปล่อยให้พวกเขาเข้าใจผิดๆ ไปเองและไปไกลจากความเป็นจริงมากขึ้นทุกที ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะยังเป็นวัยรุ่น เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นนักการศึกษา หรือครูอาจารย์ มาร่วมปฏิวัติการเรียนเพศศึกษาในสังคมไทยกันเถอะ

 

แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเพศที่น่าสนใจ