เร่ร่อนไปในโลก “สถาปัตยกรรม” พร้อมคำเตือนว่า อย่าเพิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตาเห็น

เรื่อง: อนุสรณ์ ติปยานนท์

 

ทุกเท้าก้าวของเราที่เดินไปในเมืองใหญ่ปัจจุบันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เราจะได้เห็นบางสิ่งที่ชวนให้พิศวงงงงวย สายตาของเรานำพาเราไปสู่คำถามบางประการ แน่นอนสิ่งที่เราเห็นนั้นคืออาคารบางหลัง แต่แน่นอนอีกเช่นกันที่เราไม่อาจทำความเข้าใจมันได้เลยว่ามันคืออาคารประเภทใด

ในอดีต รูปทรงของอาคารสร้างความมั่นใจให้กับสายตาของเรามากกว่านี้ เมื่อเห็นยอดแหลม หลังคาสีส้มแสด เรารับรู้ได้ในทันทีว่านั่นคืออารามในพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นเสาธงสูงและห้องเล็กห้องน้อยบนอาคาร เรามีความแน่แก่ใจได้เลยว่านั่นคือโรงเรียนแห่งหนึ่ง เราเติบโตมากับการรับรู้และก่อร่างจิตสำนึกเกี่ยวกับรูปทรงอาคารอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิตเรา

แต่มิช้านาน เมื่อเราเติบโตขึ้น เดินทางมากขึ้น ออกไปนอกพ้นวัฒนธรรมแต่กำเนิดของเรา จิตสำนึกที่เกี่ยวข้องกับรูปทรงอาคารของเราก็สั่นคลอน ห้างสรรพสินค้าบางแห่งในทวีปยุโรปมีลักษณะหน้าตา ทรวดทรง สัดส่วน แทบไม่ต่างจากอารามในคริสต์ศาสนา ในขณะที่สนามกีฬาของสโมสรฟุตบอลชั้นนำเมื่อมองจากภายนอกกลับทำให้เรานึกถึงห้างสรรพสินค้าแทน ผนังกระจก ทางเดินแคบที่นำไปสู่ความลี้ลับ เราคาดหวังว่าจะได้พบกับสินค้านานาชนิดเบื้องหลังทางเดินนั้น แต่สิ่งที่เราพบเมื่อออกเดินไปจนสุดทางกลับเป็นสนามหญ้าอันเขียวขจีแทน

สถาปัตยกรรมในปัจจุบันได้ละทิ้งรูปทรงที่เราคุ้นเคยและแฝงอยู่ในจิตสำนึกแต่เดิมมาของเราไปเสียแล้ว เรากลายเป็นตัวละครหนึ่งของชนเผ่าเร่ร่อนที่ต้องทำความเข้าใจโลกรอบๆ ตัวอย่างสม่ำเสมอ คอนกรีต เหล็ก ไม้ ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นวัสดุหลักถูกแทนที่ด้วยไททาเนียม พลาสติก ไฟเบอร์กลาส อย่างไม่หยุดหย่อน

ลองนึกภาพว่าเรากำลังมองไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเมืองบิลเบา ประเทศสเปน เรารับรู้มาก่อนว่ามันคือพิพิธภัณฑ์ แต่อะไรเล่าที่อวดแสดงอยู่ภายใน เราจินตนาการสิ่งนั้นไม่ได้ สถาปัตยกรรมในปัจจุบันละทิ้งรูปทรงอันคาดเดาได้ทิ้งไป และเรียกร้องการเข้าไปในมัน ลึกลงไปในมัน เพื่อที่เราจะได้มีประสบการณ์เฉพาะตัวที่เกี่ยวข้องกับมัน

สถาปัตยกรรม: ความรู้ฉบับพกพา เล่มนี้จึงทำหน้าที่แทบไม่ต่างจากคู่มือของคนในชนเผ่าเร่ร่อนที่กำลังออกเดินทางพ้นจากพื้นที่อันคุ้นเคย ในแต่ละบท เราจะเข้าใจถึงวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรม ในแต่ละบทเรียกร้องเราให้ละทิ้งความเชื่อเกี่ยวกับรูปทรงที่แน่นอนและบอกให้เห็นถึงเหตุผลว่าความแปลกแหวกแนวนั้นมีที่มาอย่างไร น่าสนใจยิ่งว่าภายใต้จำนวนหน้าไม่กี่มากน้อยนี้ สถาปัตยกรรมฉบับพกพากลับทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยม

สำหรับผู้อ่าน นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ การได้อ่านหนังสือสักเล่มที่เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับเราคือสิ่งที่นักเขียนจำนวนมากใฝ่ฝันถึง และแม้ว่ามันจะแลดูไม่ต่างจากหนังสือเชิงวิชาการอื่นๆ ในชุดนี้ สถาปัตยกรรมฉบับพกพากลับแฝงไปด้วยอารมณ์ขันจำนวนมากซึ่งหมายถึงความเพลิดเพลินที่เราจะเก็บเกี่ยวได้นอกจากสาระของมัน ดังนั้นขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินและโปรดดูแลหนังสือในมือของท่านไว้ให้มั่น เปิดมันอ่านบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่ท่านจะกระทำได้ในการเร่ร่อนไปในโลกสถาปัตยกรรมครั้งนี้

 

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “คำนำผู้แปล” หนังสือ สถาปัตยกรรม: ความรู้ฉบับพกพา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์ bookscape