
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ อาวุธ ธีระเอก: เรื่อง
ตำราและหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์อเมริกาในสหรัฐฯ นับเป็นหนังสือที่มีการเขียนและเผยแพร่มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าพลเมืองอเมริกันส่วนมากเป็นผู้อพยพจากหลากหลายประเทศและดินแดนในขอบเขตทั่วโลก กระแสของผู้มาใหม่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานและคงไม่ยุติลงง่ายๆ เนื่องจากกำเนิดของประเทศสหรัฐอเมริกามาจากบรรดาผู้อพยพและคนพื้นเมืองเจ้าของดินแดนดั้งเดิมคืออินเดียน ทำให้ไม่มีกลุ่มเชื้อชาติหรือศาสนาใดสามารถอ้างความเป็นเจ้าของและผูกขาดความเป็นอเมริกันไว้ได้ฝ่ายเดียว
จากปัจจัยและมูลเหตุทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว เมื่อประสานเข้ากับพลังของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนดินแดนอันมหึมานี้ให้ก้าวรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง กระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกสมัยใหม่ ความจำเป็นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสหรัฐอเมริกาจึงไม่เคยเหือดแห้งหรือถูกสกัดกั้นจากการครอบงำของชนชั้นหนึ่งหรืออำนาจใดได้ ประกอบกับการค้นพบข้อมูลและหลักฐานในอดีตที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การตีความและอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
ถ้าจะเทียบการศึกษาและใช้ประวัติศาสตร์อเมริกากับระบบประชาธิปไตยในอเมริกา จะเห็นความคล้ายคลึงและหนทางที่สองเรื่องนี้ดำเนินมาเคียงคู่กันได้ กล่าวคือทั้งคู่กำเนิดขึ้นมาภายในสังคมที่คนส่วนมากยอมรับและมีความเชื่อในความเป็นคนเหมือนกัน ไม่มีใครหรือชนชั้นใดศักดิ์สิทธิ์และวิเศษไปกว่าใคร ตามที่คำประกาศอิสรภาพอเมริกาได้จารึกไว้ว่า “คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน” เกือบทุกคนต้องเรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อยกฐานะและความสามารถให้ดีกว่าเก่า ปรัชญาที่เป็นอเมริกันมากที่สุดคือลัทธิปฏิบัตินิยม (pragmatism) ส่วนจริยธรรมที่โด่งดังไปทั่วโลกคือจริยธรรมโปรเตสแตนต์ของพวกพิวริตันที่เน้นการทำงาน
ประวัติศาสตร์อเมริกานับแต่แรกเริ่มจึงมีความเป็นประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาและชุมชนต่างๆ มากกว่าประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครองและรัฐจากความเชื่อในตำนานหรือเทพปกรณัม
ด้วยสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมดังกล่าว ประวัติศาสตร์และประชาธิปไตยในอเมริกาจึงเป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญที่ผลักดันและสรุปบทเรียนจากชีวิตจริงเพื่อสร้างความรู้ที่เป็นของพวกตนขึ้นมาตลอดเวลา
ประวัติศาสตร์อเมริกาจึงตรงข้ามกับวิชาประวัติศาสตร์ไทยอย่างสิ้นเชิง การท่องจำและเทิดทูนผู้นำชาติทำได้น้อยมาก การอธิบายและตีความประวัติศาสตร์อเมริกาใหม่เป็นเสรีภาพทางวิชาการอันดับแรกๆ ที่นักประวัติศาสตร์ยึดถือ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเขียนตำราประวัติศาสตร์อเมริกาฉบับพกพาที่กะทัดรัดจึงเป็นความยากอย่างยิ่ง ความท้าทายคือผู้เขียนจะบรรจุการค้นคว้าใหม่ๆ และเนื้อหาที่ยังมีการถกเถียงกันอยู่เข้าไปด้วยอย่างไร
สำหรับ ประวัติศาสตร์อเมริกา: ความรู้ฉบับพกพา เล่มนี้ ผู้เขียนคือศาสตราจารย์พอล โบเยอร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สังคมอเมริกายุคศตวรรษที่ 17 โดยเฉพาะเรื่องการล่าแม่มดในเมืองเซเลม อาณานิคมแมสซาชูเซตส์ โบเยอร์ขยายมุมมองให้กว้างและครอบคลุมมาถึงยุคปัจจุบัน ทั้งยังรักษาโครงเรื่องหลักๆ ในประวัติศาสตร์อเมริกาที่บรรยายถึงพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเอาไว้ครบถ้วน
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการพรรณนาถึงบทบาทและผลกระทบของคนที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีฐานะและที่ทางในการเขียนประวัติศาสตร์ชาติฉบับทางการมากนัก คนเหล่านี้ ได้แก่ ผู้อพยพ คนผิวสีต่างๆ ศาสนาที่ไม่ใช่โปรเตสแตนต์ ผู้หญิงและเด็ก
ผู้เขียนถักทอคนเหล่านี้เข้าไปในการสร้างเมือง ในระบบทาส การขยายไปทางตะวันตก และการสร้างอเมริกาให้เป็นมหาอำนาจโลก
ประวัติศาสตร์ชาติของเขาจึงเน้นไปที่บทบาทสำคัญของศาสนาและสตรี ความหลากหลายทางเชื้อชาติ เขาฉายภาพให้เห็นประสบการณ์อันหลากหลายของอเมริกา ความสำคัญของผู้แสดงที่เป็นปัจเจกบุคคล บทบาทของเชื้อชาติ เพศสภาวะและชนชั้นทางสังคมต่อการสร้างความเป็นอเมริกัน ซึ่งไม่ได้มาจากหรือเป็นเรื่องของปัจจัยและอำนาจทางการเมืองเท่านั้น นั่นคือการตอกย้ำถึงหัวใจของประวัติศาสตร์อเมริกาว่าคือเรื่องราวการต่อสู้กับสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นของคนทุกคนเท่าที่จะทำได้
ประวัติศาสตร์อเมริกา: ความรู้ฉบับพกพา นี้จึงเหมาะจะเป็นตำราสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์อเมริกาทั่วไป และสำหรับผู้สนใจวิธีเขียนประวัติศาสตร์ชาติที่ครอบคลุมประเด็นและเรื่องราวเฉพาะของคนหลากหลายชาติพันธุ์และศาสนา รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ต่อเนื่องมาเป็นศตวรรษ
หมายเหตุ: คัดจาก “คำนำผู้แปล” ประวัติศาสตร์อเมริกา: ความรู้ฉบับพกพา