ขุมสมบัติในตัวอักษร: ชวนอ่านนัยแฝง “ระหว่างบรรทัด” ในวรรณกรรมชื่อดัง

 

เรื่อง: ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์

 

“วรรณกรรม” คือผลงานสร้างสรรค์อันเป็นอมตะเหนือกาลเวลาที่ผู้คนทั่วโลกรักและหลงใหล แต่เราเคยสงสัยหรือไม่ว่าเหตุใดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งถ่ายทอดผ่านเส้นอักษรสีดำเรียบง่าย ไร้ซึ่งแสงสีเสียงตระการตา กลับตรึงติดใจผู้อ่านได้ทุกยุคทุกสมัยจวบจนปัจจุบัน

แน่นอนว่าโครงเรื่องที่สนุกตื่นเต้นย่อมเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ “เสน่ห์” อีกประการที่ซุกซ่อนระหว่างตัวอักษร ซึ่งดึงดูดใจผู้คนให้คลั่งไคล้ใหลหลงมานักต่อนัก ก็คือนัยแฝงที่เร้นกายอยู่ “ระหว่างบรรทัด” ซึ่งชวนให้ผู้อ่านอย่างเราตีความได้ไม่รู้เบื่อนั่นเอง

 

ที่มา: https://www.shutterstock.com/image-photo/book-reading-glasses-303110087

 

จอห์น ซัตเทอร์แลนด์ (John Sutherland) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวรรณกรรมวิจารณ์มาแรมปี และเป็นผู้เขียนหนังสือ วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Little History of Literature) ได้วิเคราะห์แง่มุมระหว่างบรรทัดจากวรรณกรรมชื่อดังหลายเล่มที่เราคุ้นเคย แต่อาจไม่เคยนึกถึงนัยแฝงเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย

 

อลิซในแดนมหัศจรรย์

 

หนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนอันเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลกคือ อลิซในแดนมหัศจรรย์ หรือ Alice’s Adventures in Wonderland ผลงานชิ้นนี้กำเนิดจากปลายปากกาของลูว์อิส แคร์รอลล์ (Lewis Carroll) ซึ่งแต่งเรื่องนี้ขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิงแก่มิตรรุ่นเยาว์วัยแปดขวบ

หลายคนคงทราบดีว่า นี่เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งร่างกายหดเล็กลงจนตัวจิ๋วพอที่จะมุดตามกระต่ายสีขาวลงไปยังโพรงดิน ฟังเผินๆ อาจเหมือนเรื่องราวผจญภัยในโลกจินตนาการทั่วๆ ไป ทว่าภายใต้งานเลี้ยงน้ำชา ทหารไพ่ และเค้กที่กินแล้วตัวใหญ่ยักษ์ คือนิทานเกี่ยวกับประสบการณ์อันยากลำบากของ “การเติบโต” และ “การค้นพบตัวเอง” ซึ่งเหล่าผู้อ่านวัยเยาว์ต้องก้าวข้ามผ่าน

โลกใต้ดินนั้นเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ดูลึกลับ (และบางครั้งก็แสนโหดร้าย) อลิซต้องพบพานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า (ตัวหดบ้างขยายบ้าง) และเมื่อเจ้าหนอนผีเสื้อถามเธอว่าเธอคือใคร อลิซก็ได้แต่อ้ำอึ้ง ก่อนจะให้คำตอบที่แสดงถึงภาวะสับสนในตัวเอง

 

ที่มา: ALICE’S ADVENTURES IN WONDERLAND, by Lewis Carroll, with illustrations by John Tenniel. Macmillan and Co, London, 1898.

 

รอบินสัน ครูโซ

 

หันมาดูผลงานอีกเรื่องหนึ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกที่กรุยทางให้กับนวนิยายสมัยใหม่ นั่นคือวรรณกรรมเรื่อง Robinson Crusoe เรื่องราวการแสวงโชคของเด็กหนุ่มที่เดินทางออกทะเล และประสบพบเจอการผจญภัยน่าตื่นเต้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งถูกโจรสลัดจับ เรืออับปางติดเกาะ ต้องเอาตัวรอดท่ามกลางธรรมชาติ สัตว์ป่า และมนุษย์กินคน

ทว่าเหตุการณ์ลุ้นระทึกที่ชวนให้เราเอาใจช่วยตัวเอกนั้นเป็นเพียงเปลือกนอกของเรื่องเล่า แก่นที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดนั้นคือเรื่องราวของการก่อร่างสร้างตัว ทรัพย์สมบัติ และศาสตร์แห่งการเป็นผู้ประกอบการในยุคทุนนิยม

ตัวเอกอย่างรอบินสัน ครูโซ คือภาพแทนของ “มนุษย์เศรษฐศาสตร์” หรือ “homo economicus” ซึ่งเป็นมนุษย์แบบใหม่สำหรับเศรษฐกิจระบบใหม่ และในระบบนี้ ปัจเจกบุคคลต่างยืนบนลำแข้งตนเอง ทุกคนไม่ต่างอะไรกับเกาะที่แยกเป็นเอกเทศจากกัน หากเป็นโลกยุคกลาง ชาวไร่ชาวนาย่อมไม่อาจหวังว่าจะเลื่อนชั้นเป็นอัศวินได้

แต่การเปลี่ยนสถานะทางสังคมนั้นเป็นแกนหลักของโลกทุนนิยม ดังเช่นรอบินสัน ครูโซ ผู้สูญเสียทรัพย์สมบัติทุกอย่างเมื่อเรืออับปางติดเกาะ ทว่ากลับก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นพ่อค้าผู้ร่ำรวยได้ในที่สุด และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้คือ เขารู้จักสร้างเนื้อสร้างตัวโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะ เขาเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการในโลกใหม่แห่งนี้

 

The Metamorphosis

 

นอกจากแก่นที่แฝงอยู่ในวรรณกรรม บางครั้งสิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดอาจเป็นเศษเสี้ยวตัวตนของผู้เขียน ที่เจ้าตัวบรรจงสอดแทรกไว้ในเนื้อหาอย่างแนบเนียน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ The Metamorphosis ของฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) ซึ่งเปิดเรื่องด้วยฉากที่ตัวเอกอย่างเกรกอร์ ซัมซา ตื่นจากฝันและพบว่าตนกลายเป็นแมลงยักษ์ นักวิจารณ์บางคนอาจมองว่าการกลายร่างเป็นแมลงสาบของตัวเอกเป็นอุปมานิทัศน์ของลัทธิต่อต้านคนยิว ซึ่งถูกมองว่าเป็นดังหนอนพยาธิ หรืออาจมีนัยแฝงถึงผู้คนที่ถูกครอบงำอยู่ภายใต้จักรวรรดิ และพบว่าอัตลักษณ์ของตนได้สูญหายไป ทว่ายังมีการตีความอีกแบบหนึ่งที่หาได้เชื่อมโยงกับสภาพสังคมหรือประวัติศาสตร์ แต่เชื่อมโยงกับจิตใต้สำนึกของตัวผู้เขียนเอง

คาฟคานั้นมีความสัมพันธ์ระหองระแหงกับผู้เป็นพ่อมาตลอด ในบันทึกประจำวันของคาฟคามีข้อความที่บอกเป็นนัยว่าพ่อของเขาเป็นคนอารมณ์รุนแรง ชอบบังคับควบคุม และมองว่าลูกชายคือความล้มเหลว ความทรงจำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องราวของเกรกอร์ ซัมซา ซึ่งหลังจากกลายร่างเป็นแมลงแล้ว ปฏิกิริยาของนายซัมซาผู้พ่อคือ กระทืบเท้าและกวัดแกว่งหนังสือพิมพ์เพื่อขับไล่ จนเกรกอร์ต้องล่าถอยกลับไปซ่อนตัวในห้อง และเมื่อลูกชายที่ควรต้องหาเลี้ยงครอบครัวกลายสภาพเป็นเช่นนี้ ผู้พ่อจึงก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในบ้านอีกครั้ง เขาสั่งให้เกรกอร์เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ในฐานะความลับอันดำมืดและสกปรกของครอบครัว

จริงอยู่ที่วรรณกรรมนั้นสนุกและมีเสน่ห์ในตัวมันเอง แม้เราจะอ่านเพียง “เอาเรื่อง” ก็ตาม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมความลุ่มลึกให้แก่วรรณกรรม คือนัยแฝง “ระหว่างบรรทัด” ที่ผู้เขียนบรรจงหยอดไว้ภายใต้เรื่องราวอันเปี่ยมจินตนาการ เปรียบเสมือนอัญมณีที่ซุกซ่อนอยู่ รอคอยให้ผู้อ่านขุดค้น ตีความ และตกผลึกความคิดที่ได้จากวรรณกรรม

เรื่องราว “ระหว่างบรรทัด” ที่ยกมาในบทความนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในขุมทรัพย์แห่งโลกวรรณกรรม ยังมีนัยแฝงสนุกๆ และชวนขบคิดในวรรณกรรมอีกมากมายนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากสนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ บางทีหากอ่านจบแล้ว คุณอาจเปลี่ยนมุมมองเดิมๆ ที่เคยมีต่อวรรณกรรมไปตลอดกาล