ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ
กระทรวงศึกษาฯ ครู และผู้ปกครองทั่วโลกอาจได้แต่ขมวดคิ้วสงสัยเมื่อได้ยินว่านักเรียนฟินแลนด์ไม่ต้องสอบ! นักเรียนไม่ต้องสอบ แล้วฟินแลนด์วัดผลเด็กอย่างไร
คำตอบคือ “ครู” ไงล่ะ
ใครกันจะประเมินการเรียนรู้ของเด็กได้ดีกว่าผู้สอน ในฟินแลนด์ การประเมินนักเรียนเป็นส่วนสำคัญในความเชี่ยวชาญของครู สิ่งนี้คือหัวใจของการเป็นครูมืออาชีพที่ต้องตัดสินใจว่าจะสอนอะไรและสอนอย่างไร
ครูและผู้ปกครองในฟินแลนด์ต่างเข้าใจว่าการประเมินนักเรียนโดยอิงครูเป็นหลักนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับการตัดสินอื่นๆ ของมนุษย์ต่อมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ย่อมดีกว่าการทดสอบเพื่อวัดระดับมาตรฐานจากภายนอกที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ
เนื่องจากฟินแลนด์เห็นปัญหา (อย่างที่พวกเราเองก็เห็น) ว่าการสอบวัดระดับมาตรฐานก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การเปรียบเทียบแต่ละโรงเรียนโดยใช้คะแนนสอบของนักเรียน ครูสอนเพียงเพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการสอบเท่านั้น วิชาที่ไม่มีสอบถูกลดความสำคัญ และความปรารถนาในการเรียนรู้ของเด็กๆ ถูกทำลาย
นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งที่โดดเด่นของการศึกษาฟินแลนด์ นั่นคือ การจัดการศึกษาพิเศษ… ที่เป็นของทุกคน
“มีความเชื่อใจอย่างกว้างขวางในอาชีพครูว่า เด็กทุกคนเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนได้หากมีเงื่อนไขที่เหมาะสมปรากฏในโรงเรียนและสังคม ดังนั้นครูทั้งหมดในฟินแลนด์จึงต้องเรียนวิชาการศึกษาพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร” เชื่อใจในตัวครู, น. 204
Bookscape ร่วมกับ กสศ. ได้นำเสนอ “หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ” ที่ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก และทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ สกัดออกมาจากการเดินทางเยือนโรงเรียนทั่วฟินแลนด์ ตั้งแต่สอนครูให้คิด บ่มเพาะคนรุ่นต่อไป อิสระภายในกรอบ สร้างผู้เรียนที่รู้จักรับผิดชอบ เล่นเป็นทีม แบ่งปันความเป็นผู้นำ และวันนี้ เราเดินทางมาถึงหลักการสุดท้าย นั่นคือ “เชื่อใจกระบวนการ”
ผู้เขียนทั้งสองจะพาไปดูการจัดการศึกษาพิเศษ การวัดผลนักเรียน และการประเมินครูในฟินแลนด์ พร้อมสำรวจว่าความเชื่อใจงอกเงยขึ้นในมิติเหล่านี้อย่างไร ไปกันเลย!
หลักการที่ 7: เชื่อใจกระบวนการ
การจัดการศึกษาพิเศษในฟินแลนด์มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ระบบโรงเรียนซึ่งสามารถค้นพบและช่วยเหลือเด็กผู้มีความต้องการพิเศษได้ กล่าวคือครูและนักการศึกษาในโรงเรียนทำงานทั้งเชิงป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือมีแนวโน้มจะต้องการความช่วยเหลือ
แล้วฟินแลนด์จัดการศึกษาพิเศษแบบไหน แตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร?
ประการแรก มีความเชื่อใจอย่างกว้างขวางในอาชีพครูว่า เด็กทุกคนเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนได้หากมีเงื่อนไขที่เหมาะสมปรากฏในโรงเรียนและสังคม ดังนั้นครูทั้งหมดในฟินแลนด์จึงต้องเรียนวิชาการศึกษาพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
ประการที่สอง นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะทำงานกันเป็นทีมในโรงเรียน เพื่อเข้าช่วยเหลือเด็กๆ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และยังให้การสนับสนุนเชิงป้องกันแก่เด็กๆ ที่อาจเสี่ยงจะมีปัญหาในโรงเรียน นอกจากนี้ ทุกโรงเรียนมีทีมสวัสดิการนักเรียน ซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูการศึกษาพิเศษ นักจิตวิทยา พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มาประชุมร่วมกันรายสัปดาห์หรือรายปักษ์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
ประการที่สาม ระบบสาธารณสุขของรัฐทำงานร่วมกับนักการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กที่ต้องการความเอาใจใส่และการดูแลในโรงเรียนมากกว่าคนอื่นอันเนื่องมาจากความต้องการพิเศษของพวกเขา
การศึกษาพิเศษ… สำหรับทุกคน
ลักษณะโดดเด่นอีกประการของฟินแลนด์ที่ทำให้พวกเขาสร้างระบบโรงเรียนเท่าเทียมได้ คือการนิยามคำว่า “การศึกษาพิเศษ” ความต้องการพิเศษเกือบทั้งหมดของฟินแลนด์มีนิยามที่เกี่ยวข้องกับการเรียน เช่น การพูด อ่าน เขียน หรือกระทั่งอุปสรรคในการเรียนเลขและภาษาต่างประเทศ ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มักนิยามว่าเป็นผู้มีลักษณะพิการบางประการ เช่น ความบกพร่องด้านประสาทสัมผัส การพูด สติปัญญา จิตวิทยา หรือพฤติกรรม
ระบบการศึกษาพิเศษในปัจจุบันของฟินแลนด์เรียกว่า “การสนับสนุนการเรียนรู้และการเรียนการสอน” (Learning and Schooling Support) ซึ่งแบ่งเป็นสามระดับ ได้แก่
- ความช่วยเหลือทั่วไปที่ยังคงจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนทั่วไป
- ความช่วยเหลือแบบเข้มข้นที่เพิ่มความช่วยเหลือเชิงเยียวยาแก้ไขจากครูกับครูการศึกษาพิเศษ
- ความช่วยเหลือแบบพิเศษซึ่งมีทั้งการเรียนปกติเต็มเวลาจนถึงการเข้าเรียนในสถาบันพิเศษ โดยนักเรียนในกลุ่มสุดท้ายนี้จะไดรับ “แผนการเรียนเฉพาะบุคคล” ซึ่งสร้างจากลักษณะเฉพาะของผู้เรียนแต่ละคนและออกแบบการเรียนรู้ตามความสามารถ
เนื่องจากการศึกษาพิเศษถือเป็นเรื่องปกติ ครูทุกคนต้องผ่านวิชาการศึกษาพิเศษ ทุกโรงเรียนต้องมีครูการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะ เหตุนี้เอง การตอบสนองความต้องการพิเศษจึงมีให้เห็นทั่วไปในฟินแลนด์ “ทั่วไป” จนถึงระดับที่ในโรงเรียนมัธยมแบบประสมของฟินแลนด์ (เทียบเท่า ป.1-ม.3) เกือบในหนึ่งสามของนักเรียนได้รับการศึกษาพิเศษรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทุกปี และเกือบครึ่งของเด็กอายุ 16 เคยได้รับความช่วยเหลือด้านการศึกษาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง
“หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำให้เด็กๆ ได้ คือให้เวลาแก่พวกเขา” – ครูการศึกษาพิเศษในโรงเรียนที่เฮลซิงกิพูดกับทิม
นั่นหมายความว่า ด้วยระยะเวลาและการช่วยเหลือที่เหมาะสม เด็ก “ทุกคน” จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้
ประเมินนักเรียนโดยครูผู้สอน
ทว่าฟินแลนด์ก็แหกคอกอีกครั้ง ที่นั่นไม่มีการประเมินมาตรฐานนักเรียนตลอดการเรียนประถมและมัธยมศึกษา การสอบครั้งเดียวในชีวิตที่เด็กฟินแลนด์ต้องเจอคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (Matriculation Examination) ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับทุกคนที่ต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัย และเป็นมาตรวัดคุณวุฒิพื้นฐานของนักเรียนในสาขาความรู้ที่หลากหลาย
เมื่อไม่มีสอบ แล้วฟินแลนด์ประเมินนักเรียนอย่างไร? การประเมินการศึกษาประกอบด้วยสองส่วน
ส่วนแรก ระบบโรงเรียนจะประเมินโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย การประเมินเนื้อหาการสอน การประเมินตนเอง และรายงานจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตลอดจนโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ เช่น PISA, TALIS, TIMSS, PIRLS
ส่วนที่สอง นักเรียนจะได้รับการประเมินจากครูผู้สอนเป็นหลัก นี่เป็นเหตุให้วิธีประเมินของแต่ละโรงเรียน แต่ละชั้นเรียนแตกต่างกันมาก ครูมีอิสระในการออกแบบการทดสอบตามที่พวกเขาเห็นสมควร แม้ในบางเขตการศึกษาอาจเสนอให้โรงเรียนใช้แบบทดสอบของพวกเขาเพื่อให้เห็นภาพรวมความสำเร็จของนักเรียนทั้งเขตได้ดียิ่งขึ้น แต่ครูก็ยังมีอิสระในการตัดสินใจอยู่ดี โดยส่วนใหญ่แล้ว ครูจะเขียนรายงานแบบบรรบาย ประกอบกับการประชุมพบปะภาคบังคับร่วมกับผู้ปกครองเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการเรียนในโรงเรียนของเด็ก
ในฟินแลนด์ การประเมินนักเรียนเป็นส่วนสำคัญในความเชี่ยวชาญของครู สิ่งนี้เป็นหัวใจของการเป็นครูมืออาชีพที่ต้องตัดสินใจว่าจะสอนอะไรและสอนอย่างไร ครูและผู้ปกครองในฟินแลนด์ต่างเข้าใจว่าการประเมินนักเรียนโดยอิงครูเป็นหลักนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับการตัดสินอื่นๆ ของมนุษย์ต่อมนุษย์ แต่ก็ยอมรับว่าวิธีนี้ดีกว่าการทดสอบเพื่อวัดระดับมาตรฐานจากภายนอกที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ
ฟินแลนด์เห็นปัญหา (อย่างที่พวกเราเองก็เห็น) ว่าการสอบวัดระดับมาตรฐานก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การเปรียบเทียบแต่ละโรงเรียนโดยใช้คะแนนสอบของนักเรียน ครูสอนเพียงเพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการสอบเท่านั้น วิชาที่ไม่มีสอบถูกลดความสำคัญ และความปรารถนาในการเรียนรู้ของเด็กๆ ถูกทำลาย
จะเห็นว่าในการสอบวัดผลนั้น เราได้ไม่คุ้มเสียเลยแม้แต่น้อย
ประเมินครูบนพื้นฐานของความเชื่อใจ
จุดเน้นของฟินแลนด์อยู่ที่การสนับสนุนครูในการทำงานแต่ละวัน และให้พวกครูได้รับผลตอบรับเชิงประเมินค่าด้วยวิธีที่ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างเป็นกันเองและไม่สร้างผลกระทบนัก ซึ่งโดยทั่วไป บทสนทนาแบบเป็นกันเองเกี่ยวกับการสอนนี้เกิดขึ้นตลอดทั้งปี บ้างก็เกิดขึ้นในห้องผู้อำนวยการ บ้างก็เกิดขึ้นในห้องพักครูระหว่างช่วงพัก และที่แน่ๆ คือไม่ใช่วิจารณ์แบบสรุปรวบยอด เป็นทางการ และสร้างผลกระทบกระเทือนสูง
กระนั้น ก็มีวิธีที่จริงจังขึ้นมาอีกระดับที่เรียกว่า “เกหิตืสเกสกิตตือ” (kehityskeskitty) คือการพูดคุยแบบเจาะจง ซึ่งจะแตกต่างไปจากบทสนทนาเป็นกันเอง เนื่องจากวิธีนี้จะนักประชุมเป็นรายปีและมักแจ้งหัวข้อที่เขตการศึกษากำหนดมาให้ เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนจะใช้แบบฟอร์มพิจารณาองค์ประกอบสี่ด้านของครูในการพูดคุยกับเหล่าครู ได้แก่ ทักษะในการร่วมมือ การริเริ่ม การปรับตัว และศักยภาพเฉพาะตัว
ผู้อำนวยการหลายคนที่ทิมและปาสิพบ ไปไกลกว่าแบบฟอร์มที่เขตการศึกษาให้มามาก พวกเขาสร้างบทสนทนาที่มีคุณค่ากับเหล่าครู เปิดโอกาสให้ครูส่วนใหญ่ได้พูดคุยเพื่อประเมินตัวเอง เรียนรู้จากผู้อำนวยการ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและความเป็นอยู่ ในกรณีนี้ หากผู้อำนวยการเห็นว่าครูบางคนเหนื่อยล้ากับการทำงานจนเหมือนกระเสือกกระสนทนทำอยู่ตลอดเวลา อาจแปลว่าครูเหล่านี้ต้องการพัก ผอ.ก็อาจเสนอการลาพักการสอนสักหนึ่งปี
ดังนั้น ถามว่าจะประเมินครูได้อย่างไรโดยไม่ดูจากเอกสาร
คำตอบง่ายๆ คือประเมินบนความเชื่อใจและเชื่อมั่นในตัวครู
เพราะดูเหมือนฟินแลนด์จะใช้หลักคิดที่ว่า “ด้วยเวลาที่เพียงพอและการช่วยเหลือที่เหมาะสม เด็กทุกคนจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้” มาใช้กับครูด้วย – “ด้วยเวลาที่เพียงพอและการสนับสนุนที่เหมาะสม ครูจะพัฒนาขึ้นเอง”
เปิดโลกการศึกษาฟินแลนด์และหลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจกับหนังสือ
เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์
Pasi Sahlberg & Timothy D. Walker เขียน
ทศพล ศรีพุ่ม แปล
256 หน้า
อ่านตัวอย่างเนื้อหาและสั่งซื้อได้ที่นี่