หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ “หลักการที่ 6: แบ่งปันความเป็นผู้นำ”

ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ

 

 

“ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องวางเท้าอย่างน้อยข้างหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ” – เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์, น. 193

ผู้อำนวยการโรงเรียนในประเทศต่างๆ มักขาดประสบการณ์การสอน อันเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึก “พวกเรา” ปะทะ “พวกเขา”

ขณะที่ในฟินแลนด์นั้น ผู้อำนวยการมีเส้นทางอาชีพที่เติบโตมาจากครูที่ผ่านการฝึกฝนและใช้เวลาหลายปีในชั้นเรียนก่อนจะไปเป็นผู้บริหาร และแม้จะรับงานบริหารแล้ว ผู้อำนวยการจำนวนมากยังคงมีชั่วโมงสอนในแต่ละสัปดาห์ แม้อาจเป็นการสอนคู่ไม่กี่คาบก็ตามที

ศาสตราจารย์เมแกน แชนเนน-โมแรน (Megan Tschannen-Moran) นักวิชาการชั้นนำที่สนใจเรื่องความเชื่อใจกับการศึกษา เสนอว่าความเชื่อใจนั้นเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบและความสัมพันธ์

กล่าวคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องไม่เพียงมอบภาระรับผิดชอบที่มีความหมายให้แก่ครูเท่านั้น แต่ต้องสนใจเรื่องการสร้างสัมพันธ์อย่างจริงจังด้วย เมื่อผู้อำนวยการมีความรับผิดชอบต่อโรงเรียนและความสัมพันธ์กับเหล่าครูสูง บรรยากาศแห่งความเชื่อใจในโรงเรียนนั้นๆ ก็จะสูงขึ้นด้วย

ใน “หลักการที่ 6: แบ่งปันความเป็นผู้นำ” ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) และทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ สองผู้เขียน เชื่อใจในตัวครู ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนทั่วฟินแลนด์ สนทนากับผู้อำนวยการและเหล่าครูเรื่องบทบาทของผู้อำนวยการในการสร้างความเชื่อใจ และเสนอวิธีการที่ผู้บริหารใช้สร้างความเชื่อใจในโรงเรียน

 

หลักการที่ 6: บ่มเพาะความเป็นผู้นำ

ทิม วอล์กเกอร์ ไปเยือนโรงเรียนประถมนิตตือกุมปุ (Niittykumpu elementary school) ในเมืองเอสโป เมื่อได้พูดคุยกับบรรดาครู เขาก็เข้าใจทันทีว่าทำไมผู้อำนวยการอย่างไมยา ซินิซาโล (Maija Sinisalo) จึงเป็นที่รักนัก

“…ไมยาเป็นผู้อำนวยการที่เก่งเรื่องการแบ่งปันความเป็นผู้นำ ในฐานะครู คุณจะรู้สึกได้ว่าเธอเชื่อใจคุณและมอบความรับผิดชอบให้คุณ เมื่อคุณมีความคิดสักอย่าง คุณจะได้รับแรงสนับสนุนเสมอ…” – เปาลา ฮาวุ (Paula Havu) ครูโรงเรียนประถมนิตตือกุมปุ

จะเห็นว่าคำสำคัญในที่นี้คือ “แบ่งปันความเป็นผู้นำ” ซึ่งอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่กลับเป็นปัญหาที่เหล่าผู้บริหารก้าวไม่ข้าม หรือก็คือไม่เชื่อใจคุณครูในโรงเรียนมากพอจะมอบหน้าที่รับผิดชอบที่เปี่ยมความหมายได้

ไมยา ซินิซาโล ให้เหตุผลเรื่องการแบ่งปันความผู้นำว่า ในโรงเรียนหนึ่งๆ นั้นมีเรื่องต้องทำมากมาย ซึ่งเธอทำทุกอย่างคนเดียวไม่ได้ นี่จึงเป็นเหตุให้เธอต้องแบ่งปันและเน้นความสำคัญของแนวทางการร่วมมือระหว่างครูกับผู้อำนวยการ

ไมยาเปลี่ยนโรงเรียนแห่งนี้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เธอเริ่มด้วยการทำสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนทำได้ โรงเรียนไทยเองก็ทำได้ นั่นคือ “เปิดประตู” และสื่อสารไปยังบุคลากรว่า “เลิกทำทุกอย่างคนเดียว”

 

โยรือ กาวใจของโรงเรียน
ที่ช่วยลดวิธีคิดแบบพวกเรา VS พวกเขา

ความรู้สึกที่เป็นพิษที่สุดซึ่งอาจคืบคลานเข้าสู่โรงเรียนคือวิธีคิดแบบพวกเราปะทะพวกเขา ตอนที่ทิมทำงานในโรงเรียนสหรัฐฯ เขาได้ยินเสียงบ่นเกี่ยวกับผู้บริหารโรงเรียน เขาเห็นครูที่ไม่มีความสุขต้องลาออกไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะผู้บริหารโรงเรียนโดดเดี่ยวตัวเองและยึดกุมความเป็นผู้นำไว้แน่นเกินไป

วิธีหนึ่งที่ผู้อำนวยการโรงเรียนฟินแลนด์ใช้ เรียกว่า โยรือ [Jory ย่อมาจากโยโตรืห์มา (johtoryhmä) แปลว่า “กลุ่มบริหารจัดการ”] หมายถึงทีมผู้นำที่ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าครู ซึ่งต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้อำนวยการ ระบบนี้ช่วยลดวิธีคิดแบบพวกเราปะทะพวกเขาได้มาก

อย่างที่โรงเรียนนิตตือกุมปุ ทีมโยรือจะประชุมกันทุกบ่ายวันจันทร์ ทีมนี้ประกอบด้วยสมาชิกหกคน ได้แก่ ผู้อำนวยการ ครูที่สอนประจำอยู่ที่โรงเรียนอีก 4 คน และนักการศึกษากึ่งวิชาชีพ 1 คน นอกจากนี้ บุคลากรทั้งหมดในโรงเรียนต้องสุ่มแบ่งกลุ่มกันออกเป็น 4 กลุ่มโดยแต่ละกลุ่มนำโดยสมาชิกของโยรือ

สมาชิกห้าคนของโยรือเป็นเสมือนโค้ช ซึ่งจะแบ่งปันผลตอบรับให้แก่หัวหน้าโค้ช (ผู้อำนวยการ) และสื่อสารข้อมูลสำคัญแก่ผู้เล่นคนอื่นๆ (บุคลากรที่เหลือ) หากครูไม่สะดวกใจจะพูดกับผู้อำนวยการโดยตรงหรือไม่มีเวลา พวกเขาอาจแบ่งปันความคิดกับสมาชิกโยรือคนอื่นได้ ด้านผู้อำนวยการก็พึ่งพาการสื่อสารและความโปร่งใสของทีมโยรือด้วย

ระบบโยรือเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมเชิงระบบที่ช่วยผู้อำนวยการแบ่งปันความเป็นผู้นำได้ในหนังสือ เชื่อใจในตัวครู

 

ลองสลับบทบาท เพื่อความเข้าอกเข้าใจ

ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องวางเท้าอย่างน้อยข้างหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ

ผู้อำนวยการโรงเรียนในประเทศต่างๆ มักขาดประสบการณ์การสอน อันเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึก “พวกเรา” ปะทะ “พวกเขา”  ขณะที่ในฟินแลนด์นั้น ผู้อำนวยการมีเส้นทางอาชีพที่เติบโตมาจากครูที่ผ่านการฝึกฝนและใช้เวลาหลายปีในชั้นเรียนก่อนจะไปเป็นผู้บริหาร และแม้จะรับงานบริหารแล้ว ผู้อำนวยการจำนวนมากยังคงมีชั่วโมงสอนในแต่ละสัปดาห์ แม้อาจเป็นการสอนคู่ไม่กี่คาบก็ตามที

ตอมมิ อาลโต (Tommi Aalto) อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแบบประสมลูเวีย (Luvia Comprehensive) เล่าว่าประสบการณ์การสอนในห้องเรียนช่วยเขาทำงานในฐานะผู้บริหารอย่างไร เขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าใจครูหากไม่มีขาดประสบการณ์ในห้องเรียน การเข้าใจความรู้สึกของครูนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นพลังเสริมสร้างความเชื่อใจในหมู่ครู

ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ควรทำตัวเป็นตำรวจที่คอยออกลาดตระเวนและเที่ยวมองหาปัญหา ตอมมิเชื่อใจครูของเขาว่าจะเป็นฝ่ายเข้ามาหาเขาเองเมื่อเกิดปัญหา และจากนั้นก็จัดการทุกอย่างด้วยการพูดคุยถกเถียง ดังนั้น หากผู้อำนวยการไม่ “แสดงให้เห็น” ว่าเชื่อใจครู บรรดาครูก็จะปิดปากเงียบและถอยห่างจากผู้อำนวยการ

ในกรณีที่ผู้อำนวยการขาดประสบการณ์การสอน ตอมมิแนะว่าให้ลองคิดถึงความคิดสุดโต่งคือ ให้ผู้อำนวยการลองสลับหน้าที่กับครูคนหนึ่งสักสองสามสัปดาห์เป็นครั้งคราว แม้วิธีนี้อาจจัดการได้ยาก แต่ก็ช่วยเปลี่ยนแปลงมุมมองของทั้งผู้อำนวยการและครูได้

โดยเนื้อแท้แล้ว การสลับบทบาทจะสร้างความเห็นอกเห็นใจและกระตุ้นให้เกิดจิตวิญญาณความเชื่อในโรงเรียนได้

 

บ่มเพาะความเป็นผู้นำในตัวนักเรียน

ต้นแบบความเป็นผู้นำถักทอเป็นเนื้อหนังของโรงเรียนฟินแลนด์ เมื่อครูมีอิสระในการนำ พวกเขาสามารถส่งต่อความเป็นผู้นำแก่นักเรียน

กฎหมายฟินแลนด์กำหนดให้โรงเรียนทั้งหมดต้องจัดให้มีสภานักเรียน แม้กระทั่งในโรงเรียนประถม นักเรียนจะได้เป็นผู้มีบทบาทต่อประเด็นที่กระทบต่อตัวพวกเขาเอง

นอกจากนี้ บรรดาครูในโรงเรียนในฟินแลนด์ยังถูกจำกัดว่า พวกเขาจะช่วยเหลือนักเรียนได้มากน้อยเพียงใด ในสนามเด็กเล่น ในห้องเรียน และในโถงทางเดิน เป็นที่ที่เด็กๆ จะได้พบเจอความเป็นจริง เด็กๆ จะถูกทดสอบให้แสดงออกอย่างรับผิดชอบโดยไม่มีความช่วยเหลือจากครู

การฝึกให้นักเรียนดูแลกันและกันเป็นวิถีทางที่จะสร้างวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย เชื่อใจ และรับผิดชอบ ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความเป็นผู้นำของนักเรียน

ในโรงเรียนประถมบางโรงเรียน ครูก็แต่งตั้งหัวหน้าโต๊ะที่จะเวียนกันรับหน้าที่ที่เรียกอย่างน่าเอ็นดูว่า “บอส” ซึ่งจะทำงานกับครูประจำชั้นอย่างใกล้ชิดเพื่อตัดสินใจร่วมกับครูและสื่อสารข้อมูลสำคัญแก่เพื่อนร่วมโต๊ะ

ในโรงเรียนมัธยม อาจมีระบบที่ให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง เช่น ให้นักเรียนเกรดเก้าซึ่งอายุ 14-15 ปี เป็นผู้แนะนำหรือช่วยเหลือนักเรียนเกรดเจ็ดที่กำลังจะเข้าเรียน ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อและอาจเผชิญความสับสนจากการเปลี่ยนผ่านจากวัยประถมปลายเข้าสู่มัธยมต้น

ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นช่วงสำคัญยิ่งสำหรับวัยรุ่นในฟินแลนด์และประเทศอื่นๆ เพราะมีทั้งแรงกดดันทางวิชาการ ความคาดหวังว่าต้องพึ่งตนเองมากขึ้น และกระทั่งต้องเผชิญทางแพร่งสำคัญของชีวิตว่าจะไปต่อกับโรงเรียนทั่วไปหรือเปลี่ยนไปสายวิชาชีพ

 

เปิดโลกการศึกษาฟินแลนด์และหลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจกับหนังสือ

เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

Pasi Sahlberg & Timothy D. Walker เขียน

ทศพล ศรีพุ่ม แปล

256 หน้า

อ่านตัวอย่างเนื้อหาและสั่งซื้อได้ที่นี่