หลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจ “หลักการที่ 5: เล่นเป็นทีม”

ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ

 

คุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในอุดมการณ์ “ครูยอดมนุษย์” หรือเปล่า?

ทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ (Timothy D. Walker) ผู้ร่วมเขียนหนังสือ #เชื่อใจในตัวครู ซึ่งเคยทำงานเป็นครูในสหรัฐฯ ให้ภาพว่าสหรัฐฯ ปลูกฝังอุดมการณ์ครูยอดมนุษย์อย่างเอาจริงเอาจังมาก กล่าวคือ ด้อยค่าสหภาพครูและครูที่ขาดประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าในเวทีเสวนาไหน ครูที่สอนไม่เก่งหรือน่าเบื่อต้องถูกตำหนิว่าเป็นเหตุแห่งความล้มเหลวทางการศึกษา และระบบโรงเรียนนั้นเกิดและตายบนบ่าของครูในโรงเรียน หรือพูดให้ตรงไปตรงมากว่านั้นคือ โรงเรียนในสหรัฐฯ ล้มเหลวเพราะไม่อาจขับไล่ครูที่อ่อนแอออกไปได้

สำหรับผู้อ่านชาวไทยอาจพบว่าภาพข้างต้นที่ทิม วอล์กเกอร์ สะท้อนให้เห็น สามารถทาบทับลงบนบริบทของการศึกษาไทยได้แทบสนิท เราเคยเชื่อว่าหากแม่พิมพ์เก่ง อนาคตของชาติก็จะมีคุณภาพโดยปริยาย เคยเชื่อว่าหากจูงใจให้คนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมมาเป็นครูได้ ก็จะสร้างความสำเร็จทางวิชาการแก่เด็กได้ เคยเชื่อกระทั่งว่าหากครูไม่มัวสุมหัวกันในห้องพักครูและเอาแต่แลกเปลี่ยนความเหนื่อยหน่ายของหน้าที่การงาน แล้วเอาเวลาไปสอน นักเรียนจะเรียนเก่งขึ้น

ความจริงแล้วไม่ใช่เลย การศึกษาไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ด้วยครูยอดมนุษย์เพียงคนเดียว เพราะ “การสอนเป็นกีฬาประเภททีม” ที่ต้องอาศัยความร่วมมืออันแข็งแกร่งและการร่วมใจกันอย่างเหนียวแน่น

ดังที่ยอร์มา โอลลิลา (Jorma Ollila) อดีตซีอีโอของโนเกียกล่าวไว้ว่า “ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ประสบความสำเร็จได้เพราะหลักปรัชญาของที่นี่ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของครูคนใดคนหนึ่งหรือการเปรียบเทียบกันระหว่างโรงเรียน แต่เป็นปรัชญาของความเท่าเทียม ชุมชน และความสำเร็จร่วมกัน”

เมื่อการสอนเป็นกีฬาประเภททีม ไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐฯ แพ้กราวรูดในเกมนี้ และไม่น่าแปลกใจที่ไทยเองก็ตกรอบแรก

อย่างไรก็ดี การเล่นเป็นทีมนี้สร้างขึ้นได้ด้วยการเพิ่มทุนทางสังคมซึ่งมีวัตถุดิบ 3 ประการคือ ตารางสอนที่ยืดหยุ่น ศูนย์ความร่วมมือประจำโรงเรียน และวิธีคิดแบบอิงกลุ่ม ถ้าพร้อมจะทำให้การสอนเป็นกีฬาประเภททีมแล้ว ก็ลุยกันเลย

 

หลักการที่ 5: เล่นเป็นทีม

การโยนบาปทั้งหมดให้ครูและใช้คำว่า “คุณภาพครู” ในการวัดศักยภาพครูแต่ละคนบนพื้นฐานคะแนนของนักเรียนอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจนั้นมีปัญหาตามมา ผลพวงจากการโฟกัสปัญหาผิดจุดมีผลให้พลังของประเด็นอื่นถูดลดทอนความสำคัญไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการปฏิรูปโรงเรียน ปัญหาเชิงโครงสร้าง การตระเตรียมระบบผลิตครูให้ดีขึ้น การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ หรือการร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างผู้เชี่ยวชาญ

การตระหนักว่า “การสอนเป็นกีฬาประเภททีม” ทำให้ครูไม่ต้องแข่งขันกัน ไม่ถูกยุยงให้จับผิดและเผชิญหน้ากันตลอดเวลา ไม่เพียงในฟินแลนด์เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จจากปรัชญานี้ แต่ประเทศอื่นๆ ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดดเด่นอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นก็สนับสนุนความร่วมมือร่วมใจของครูเช่นกัน

แอนดี ฮาร์กรีฟส์ (Andy Hargreaves)  นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะทางการศึกษา เสนอว่า การร่วมมือด้านวิชาชีพอย่างเป็นระบบคือหนทางพื้นฐานในการสร้างความเชื่อใจและความมั่นใจแบบกลุ่มระหว่างครูในโรงเรียน

หรือพูดง่ายๆ คือ การเชื่อมั่นในครูยอดมนุษย์เพียงคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทุกโรงเรียนจำเป็นต้องบ่มเพาะทุนทางสังคมเพื่อเป็นระบบนิเวศที่จะสร้างการศึกษาที่ดี

แล้วทุนทางสังคมคืออะไร?

ทุนทางสังคมคือเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ปัจเจก กลุ่ม หรือหน่วยงานสร้างขึ้นและใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ทุนทางสังคมคือปัจจัยพื้นฐานของอาชีพการสอน ในโรงเรียนที่มีทุนทางสังคมสูง ครูจะมองว่างานของตนเป็นวิถีปฏิบัติแบบร่วมมือ ครูสามารถเข้าไปในชั้นเรียนของครูคนอื่นได้เป็นปกติ ครูมีการประชุมและวางแผนร่วมกันเป็นประจำ ความเชื่อใจและทุนทางสังคมนั้นเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เมื่อทุนทางสังคมสูง ความเชื่อใจในตัวครูก็สูงขึ้นตามมา

แล้วโรงเรียนจะเพิ่มทุนทางสังคม การร่วมมือกัน และความเชื่อใจกันในหมู่คุณครูได้อย่างไร? คำตอบคือด้วยวัตถุดิบสามประการ ได้แก่ ตารางสอนที่ยืดหยุ่น ศูนย์ความร่วมมือประจำโรงเรียน และวิธีคิดแบบอิงกลุ่ม

 

สร้างทุนทางสังคมด้วยตารางสอนที่ยืดหยุ่น

ตารางสอนที่ยืดหยุ่นเป็นอะไรที่ทิม วอล์กเกอร์ ได้แต่ฝันเมื่อสอนอยู่ในสหรัฐฯ เขาคิดว่าคงดีถ้ามีชั่วโมงสอนลดลง แล้วได้ทุ่มเวลาในการทำงานไปกับอย่างอื่นบ้าง อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่าครูในสหรัฐฯ ต้องสอน 26.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศกลุ่ม OECD

เมื่อทิมย้ายมาสอนที่เฮลซิงกิ ผู้อำนวยการก็มอบตารางสอนที่ทำเอาทิมเหวอ เขาได้สอนสัปดาห์ละ 24 คาบ คาบละ 1 ชั่วโมง และมีช่วงพักเบรก 15 นาทีต่อคาบ กล่าวคือเขาใช้เวลาในการยืนอยู่ต่อหน้านักเรียนเพียงสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง ตอนนี้เองที่เขาได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการสอนเสียที

ไม่เพียงในฟินแลนด์เท่านั้น แต่ประเทศสิงคโปร์ที่อยู่ในระดับต้นๆ ของ PISA มา 15 ปีก็เช่นกัน ครูระดับมัธยมต้นของสิงคโปร์ใช้เวลาประมาณ 17.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในชั้นเรียน ขณะที่ชั่วโมงทำงานทั้งหมดอยู่ที่ 47.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นแปลว่าเหล่าคุณครูใช้เวลาส่วนใหญ่นอกห้องเรียน!

ทิมแปลกใจเป็นที่สุดว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ครูสหรัฐฯ ใช้เวลาในการสอนมากกว่าฟินแลนด์และสิงคโปร์ ถึงตอนนี้ ผู้อ่านและครูไทยคงแปลกใจไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ ผู้ศึกษาวิธีการจัดตารางสอนในโรงเรียนสิงคโปร์เขียนไว้ว่า สิงคโปร์ตระหนักว่า “ความคาดหวังต่อการสอนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเวลาในการเตรียมสอน ทบทวน และขัดเกลาบทเรียน รวมถึงการให้คะแนนและผลตอบรับแก่นักเรียน ตลอดจนการร่วมมือกันเรียนรู้ในทางวิชาชีพและงานวิจัย”

 

สร้างทุนทางสังคมด้วยห้องพักครู

 

“ถ้าผมไม่ได้เป็นประธานาธิบดีแต่เป็นกษัตริย์แห่งอเมริกา ผมจะสั่งทำลายห้องพักครูทั้งหมดที่พวกเขาไปนั่งสุมหัวกันแล้วมัวแต่กังวลว่า โอ เราทุกข์ทรมานกันขนาดไหน” – จอห์น เคซิก (John Kasich) ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 กล่าว

วาทะข้างต้นสะท้อนมุมมองที่สาธารณชนและชนชั้นนำมีต่อการใช้เวลาของครูและห้องพักครู พวกเขาคิดว่าครูขี้เกียจ ครูขี้บ่น ครูมองโลกในแง่ร้าย พวกเขาไม่เคยเห็นประโยชน์ของบทสนทนาเลย

เมื่อทิม วอล์กเกอร์ เริ่มเป็นครูในเฮลซิงกิ เขาจึงประหลาดใจมากที่เพื่อนครูใช้เวลาว่างในห้องพักครูค่อนข้างนาน ที่เฮลซิงกิ เขาพบว่าวัฒนธรรมห้องพักครูนั้นประกอบด้วยกาแฟ ความสงบ และการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะตารางสอนอันเป็นเอกลักษณ์ของฟินแลนด์ ซึ่งกฎหมายกำกับว่าครูอาจสอนเต็มคาบ 60 นาทีได้ เพียงขอให้ใช้เวลาสอนอย่างน้อย 45 นาที อีก 15 นาทีที่เหลือเป็นช่วงพักของครูและนักเรียน

สามสัปดาห์แรกของการทำงาน ทิมหลีกเลี่ยงห้องพักครู เขาใช้เวลาพักส่วนใหญ่ในห้องเรียน เพื่อเตรียมสอนคาบถัดไปหรือตอบอีเมล จะเข้าห้องพักก็เมื่อต้องหยิบเอกสารหรือเก็บของเท่านั้น ปรากฏว่าเพื่อนร่วมงานเป็นห่วงที่เขาไม่แวะไปพักในห้องพักครูเลย เพื่อนครูบอกทิมว่าหากยังเลี่ยงห้องพักครูต่อไป ทิมอาจถึงขีดจำกัดและหมดไฟในการทำงาน

ที่ห้องพักครูนี่เองที่ทิมได้พบวัฒนธรรมความร่วมมือ ได้รู้จักการพึ่งพาคนอื่นและปล่อยให้คนอื่นพึ่งพาเขาบ้าง ได้รู้ว่าบทสนทนาและกาแฟสร้างสิ่งมหัศจรรย์อย่างเป็นธรรมชาติได้อย่างไร

ทิม “ตาสว่าง” เมื่อพบว่าความจริงแล้ว ครูทั่วโลกต้องการตารางสอนที่ยืดหยุ่นและห้องพักครูที่พวกเขาจะขอความร่วมมือระหว่างกันได้ง่าย ได้ดึงจุดแข็งและทรัพยากรของอีกฝ่ายออกมา และสำคัญที่สุดคือได้รู้ว่า ภาวะหมดไฟในการทำงานที่เกิดกับตนตอนอยู่ในสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และแก้ไขได้ด้วยห้องพักครูอันเป็นศูนย์ความร่วมมือประจำโรงเรียน

 

สร้างทุนทางสังคมด้วยวิธีคิดแบบอิงกลุ่ม

 

เมื่อเรามีตารางสอนที่ยืดหยุ่นและศูนย์ความร่วมมือก็นับว่ามีวัตถุดิบสำหรับสร้างทุนทางสังคมแล้ว เสริมด้วย “วิธีคิดแบบอิงกลุ่ม” เข้าไปก็เป็นอันพร้อมพรัก

ถัดจากวัฒนธรรมห้องพักครู ทิมต้องพยายามเข้าให้ถึงวัฒนธรรมในโรงเรียนแบบฟินแลนด์อย่างแท้จริงด้วยการทลายกรอบคิดเรื่องการสอน เขาเคยเชื่อว่าการสอนเป็นงานเดี่ยว พูดง่ายๆ คือเขาคิดว่าเขาดีด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น และไม่รู้เลยว่าตัวเองพลาดอะไรไปจนกระทั่งเพื่อนร่วมงานมาพูดคุยด้วย

“การเข้าห้องพักครูทุกวันเป็นเรื่องจำเป็น ที่นั่นเธอจะได้พักผ่อนและดึงพลังมาจากเพื่อนร่วมงาน นี่คือพลังชีวิตในฐานะครูของเธอ” ครูพี่เลี้ยงกล่าวกับทิม

ทิมหลีกเลี่ยงห้องพักครูจนเพื่อนครูชาวฟินแลนด์ถามด้วยความเป็นห่วง เพราะบรรดาครูไม่อาจปล่อยให้ครูคนหนึ่งไม่ใส่ใจสุขภาวะของตน ไม่อาจปล่อยให้ครูคนหนึ่งทำงานอยู่คนเดียวในห้องเรียนตอนช่วงพัก เนื่องจากพวกเขายึดมั่นและให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะทุนทางสังคมเพื่อประโยชน์สุขของบุคลากร และถึงที่สุดคือเพื่อประโยชน์ของโรงเรียน

เมื่อทิมเข้าห้องพักครูเขาก็พบว่าที่นั่นเพื่อนครูต่างก็ย้ำเตือนครูคนอื่นๆ เกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็น วางแผนบทเรียน ร่วมแก้ปัญหา ประเมินงานของนักเรียน และให้คำแนะนำหรือขอคำแนะนำจากคนอื่นเป็นปกติ สิ่งนี้เกิดขึ้นในห้องพักครูทั่วฟินแลนด์ อันที่จริง นักวิจัยยังพบพื้นที่พบปะส่วนกลางขนาดใหญ่เช่นนี้ในกรุงเซี่ยงไฮ้ด้วย

“การพัฒนาทางวิชาชีพครูไม่ได้เกิดขึ้นกับครูในช่วงเวลาพิเศษ แต่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การสอนและการเรียนรู้โดยทั่วไปในแต่ละวันและแต่ละสัปดาห์ ซึ่งประสานเกี่ยวโยงกันอย่างไม่อาจแยกขาด” – ดาร์ลิง แฮมมอนด์ (Darling Hammond) ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับตารางสอนและห้องพักครู

หลังจากเยี่ยมเยียนโรงเรียนทั่วฟินแลนด์ ทิมประจักษ์จิตวิญญาณของการทำงานเป็นทีม เขาไม่พบแนวคิดการสอนล้ำโลกหรือการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่สังเกตเห็นความร่วมมืออันแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของครู เสริมด้วยการวางตารางสอน บรรยากาศในที่ทำงาน และวิธีคิดแบบอิงกลุ่มเช่นนี้เอง

 

 

เปิดโลกการศึกษาฟินแลนด์และหลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจกับหนังสือ

เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

Pasi Sahlberg & Timothy D. Walker เขียน

ทศพล ศรีพุ่ม แปล

256 หน้า

อ่านตัวอย่างเนื้อหาและสั่งซื้อได้ที่นี่