ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์ เรื่อง
นุชชา ประพิณ ภาพ
“เป้าหมายของเราคือผลักดันนักเรียนสู่กระบวนการพัฒนาการดูแลตัวเอง… ฉันบอกพวกเขาว่าอะไรคือข้อจำกัด อะไรได้รับอนุญาต อะไรไม่ได้รับอนุญาต ขณะเดียวกันเราก็พูดเรื่องความรับผิดชอบกันตลอดเวลา… ฉันต้องการให้พวกเขารู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในสถานการณ์ และเสียงของพวกเขามีคนรับฟังเมื่อเราตกลงกันเรื่องกฎเกณฑ์” – อันนิ โลวโกเมียส์ (Anni Loukomies) ครูประถมโรงเรียนฝึกสอนครูวีกกิ
เหตุนี้เอง นักเรียนประถมฟินแลนด์จึงมีสิทธิ์เดินทั่วตึกโดยไม่ต้องมีคุณครูคอยคุม สามารถหยิบงานไปนั่งทำที่ระเบียงทางเดินได้โดยไม่ต้องอยู่ในสายตาครู ใส่หูฟังฟังเพลงไปด้วยระหว่างทำโครงงานสหวิชา รวมถึงตรวจการบ้านคณิตศาสตร์ด้วยตัวเองตั้งแต่ชั้นป.1
ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ข้อตกลงที่ครูกับนักเรียนประถมมีร่วมกันคือ นักเรียนจะได้รับความเชื่อใจและอิสรภาพยืนยาวก็ต่อเมื่อแสดงให้ครูเห็นว่าพวกเขากำกับดูแลตัวเองได้ ในทางกลับกัน พวกเขาจะถูกริบความเชื่อใจและอิสรภาพคืนเมื่อใช้มันในทางที่ผิด
– “ถ้าครูเชื่อใจพวกเธอไม่ได้ ถ้าพวกเธอใช้ความเชื่อใจของครูในทางที่ผิด เราก็จะกลับไปเป็นอย่างที่เคยเป็น” –
อาจฟังดูโหดร้ายสำหรับเด็กประถม แต่นี่เป็นบทเรียนแรกของกระบวนการสอนให้รู้จักรับผิดชอบ
กระนั้น อิสรภาพและการกำกับดูแลตัวเองของเด็กจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากครูไม่เป็นฝ่ายให้ “ความเชื่อใจ” ก่อน
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงพื้นที่ปลอดภัยบ่อยครั้ง “หลักการที่ 4: สร้างผู้เรียนที่รู้จักรับผิดชอบ” จะเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะเมื่อครูได้ลองมอบความเชื่อใจและเด็กได้ลองฝึกทักษะการกำกับดูแลตัวเองแล้ว ถ้าล้มเหลวก็ถอยหลังคนละก้าว… เท่านั้นเอง 😀
หลักการที่ 4: สร้างผู้เรียนที่รู้จักรับผิดชอบ
“เมื่อลูกศิษย์ของฉันเข้าเรียนชั้นเกรดหนึ่งครั้งแรก พวกเขาค่อนข้างจะต้องพึ่งพาฉันเพราะการดูแลตัวเองของพวกเขายังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเราคือการผลักดันพวกเขาสู่กระบวนการพัฒนาการดูแลตนเอง และแน่นอนว่าในช่วงแรก ฉันจำเป็นต้องปรากฏตัวอยู่ทุกที่ทุกเวลา และบอกพวกเขาว่าอะไรคือข้อจำกัดของสิ่งที่พวกเขาทำได้ อะไรได้รับอนุญาต อะไรไม่ได้รับอนุญาต ขณะเดียวกันเราก็พูดเรื่องความรับผิดชอบกันตลอดเวลา และคุยกันว่าฉันเชื่อใจให้พวกเขาทำตามสิ่งที่เราตกลงร่วมกัน แน่นอนว่าฉันต้องการให้พวกเขารู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในสถานการณ์ และเสียงของพวกเขามีคนรับฟังเมื่อเราตกลงกันเรื่องกฎเกณฑ์ แน่นอนละว่ายังมีกฎตายตัวบางอย่างที่ต่อรองไม่ได้” – อันนิ โลวโกเมียส์ (เชื่อใจในตัวครู, น.153)
ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก กับทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ ออกสำรวจดินแดนแห่งแสงเหนือและหาคำตอบเรื่องความเชื่อใจที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จทางการศึกษา พวกเขาเยี่ยมเยือนห้องเรียนและพูดคุยกับครูจำนวนมาก บรรดาครูต่างออกแบบห้องเรียนและวิธีสอนแตกต่างกันไป แต่หลักใหญ่ใจความที่หนีไม่พ้นคือ “ความเชื่อใจ”
กรณีของอันนิ โลวโกเมียส์ ครูประถมโรงเรียนฝึกสอนครูวีกกินี้ นอกจากเธอจะสอนเด็กประถมแล้ว เธอทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้นักศึกษาฝึกสอนด้วย กล่าวคือเธอเห็นภาพใหญ่ของระบบการศึกษาฟินแลนด์ และปรัชญาการเรียนการสอนของฟินแลนด์แทบทั้งหมด สะท้อนให้เห็นในคำสัมภาษณ์ข้างต้นของเธอ
ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันนักเรียนสู่กระบวนการพัฒนาการดูแลตัวเอง สื่อสารอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาถึงข้อจำกัด พูดเรื่องความรับผิดชอบกันตลอดเวลา ครูพูดคุยกับนักเรียนว่าฉันเชื่อใจพวกเธอ
และสำคัญที่สุดคือ การแสดงออกว่าเสียงของนักเรียนมีคนรับฟัง และกฎเกณฑ์ต้องเกิดขึ้นจากสองฝ่าย มิใช่ครูกำหนดเองอยู่ฝ่ายเดียว
สมุดบันทึก = ก้าวเล็กๆ ของการรับผิดชอบ
ครูทิม วอล์กเกอร์ หนึ่งในผู้เขียนของเราเดินทางมาจากบ้านเกิดเมืองนอนอย่างสหรัฐฯ ที่ซึ่งใช้ “ใบงาน” เป็นสื่อการเรียนการสอนหลัก เพราะสะดวกสบายสำหรับทั้งครูและเด็ก ครูไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชให้เด็กจดเนื้อหา ฝ่ายเด็กเองก็ไม่ต้องนั่งจดหรือคัดลอกโจทย์ปัญหาลงสมุด
แต่สิ่งที่ทิมพบคือ ตอนท้ายของทุกคาบ ใบงานปลิวเกลื่อนพื้นห้องเรียน
ในฟินแลนด์ ครูอเมริกันผู้นี้ได้เห็นสิ่งที่ต่างออกไปและทำเขาตาสว่าง ที่แท้แล้ว “สมุดบันทึก” นี่เองที่เป็นกุญแจสำคัญสู่การรู้จักรับผิดชอบตนเองของเด็ก การจดบันทึกช่วยให้นักเรียนรู้จักวางแผน คัดเลือกสิ่งสำคัญ หรือกรณีที่ครูแจกจำเป็นต้องแจกใบงาน เด็กก็สามารถนำมาทากาวติดลงสมุดบันทึกของตนได้ด้วย
และไม่มากก็น้อย มันบ่มเพาะให้เด็กรู้จักวิเคราะห์เนื้อหาที่ได้เรียนมา
นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของเส้นทางสู่ความรับผิดชอบตนเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่ว่าประเทศไหนก็ต่างหวังให้พลเมืองของตนมี
โอมาเอซิตีส เวทีเป็นของพวกเธอ
ความเชื่อใจและอิสรภาพไม่เพียงสร้างการรู้จักรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังสร้างพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สมาชิกในชุมชนไม่ต้องรังแต่จะกลัวว่าจะทำผิดทำพลาด เอื้อให้เกิดอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ
ในกรณีของครู ดังที่เรากล่าวไปแล้วในหลักการที่ 3 ครูที่มีพื้นที่ปลอดภัยและอิสระด้านเวลามากพอจะสร้างนวัตกรรม ทำงานวิจัย เตรียมสอน และร่วมมือกับเพื่อนครูเพื่อพัฒนาวิชาชีพ แต่ในกรณีของเด็ก เด็กอาจเป็น “ผู้ริเริ่มกระทำ” ได้โดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ นี่เป็นหนึ่งในวิธีค้นหาตัวเองของพวกเขาด้วย
อย่างในช่วงพัก 15 นาที ขณะที่เด็กบางคนเล่นสนุกกับเพื่อนๆ บางคนอาจมีแผนจะขึ้น “เวที”
เด็กหญิงคนหนึ่งซ้อมม้วนหน้าม้วนหลังอย่างขมีขมัน เพราะเธอมีแผนจะโชว์ยิมนาสติกให้เพื่อนร่วมชั้นดู ส่วนเด็กชายง่วนกับการเขียนบท แก้ไข และฝึกซ้อมมุกตลกของตัวเอง เพราะเขามีแผนจะเดี่ยวไมโครโฟนโชว์เพื่อนๆ และครู ครูจึงจัดเวทีประกวดความสามารถพิเศษให้เสียเลย เรียกว่า โอมาเอซิตีส (oma esitys) แปลว่าการแสดงของเรา
ข้อแม้เดียวที่ครูขอไว้คือ ระหว่างซ้อมอย่าส่งเสียงดังเกินไปและอย่าก่อเหตุโกลาหล
ผลพลอยได้ที่ทุกคนไม่คาดคิดคือ นักเรียนบางคนมีพฤติกรรมในชั้นเรียนดีขึ้น กล่าวคือ เมื่อมีช่วงเวลาเป็นของตัวเอง ความต้องการเป็นจุดสนใจในห้องเรียนก็ลดลง
ความรับผิดชอบของเด็ก กับความเชื่อใจสามระดับของครู!
“ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉันคือการยอมรับว่าพวกเขากำลังฝึกฝนทักษะเหล่านี้… ฉันต้องถ่ายทอดเป็นถ้อยคำให้พวกเขาฟัง ‘เอาละ คราวนี้พวกเราได้ลองทำแล้ว และดูเหมือนว่าเรายังต้องฝึกอีกมาก เพราะฉะนั้นเราอาจจำเป็นต้องถอยหลังไปสักก้าว’ นี่คือระบบของฉัน” – อันนิ โลวโกเมียส์ (Anni Loukomies) ครูประถมโรงเรียนฝึกสอนครูวีกกิ
จากระบบของครูอันนิ เราจะเห็นคำสำคัญคือ ฝึกฝน ทักษะ การสื่อสาร และการถอยหลังสักก้าว
นี่แสดงให้เห็นว่า “ความเชื่อใจ” เป็น “ทักษะ” ที่ทั้งเด็กนักเรียนและคุณครูต้องเรียนรู้ผ่านการ “ฝึกฝน” โดยใช้การ “สื่อสาร” (เป็นถ้อยคำ) อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน หากลองแล้วล้มเหลว ก็แค่ “ถอยหลังสักก้าว”
อันนิ-มาริ อันต์ติลา (Anni-Mari Anttila) เพื่อนร่วมงานของทิมที่โรงเรียนคริสเตียนเอสโป พัฒนากรอบการทำงานที่หลากหลายเพื่อบ่มเพาะอำนาจตัดสินใจของนักเรียนชั้นเกรด 3-6 เรียกว่า “ความเชื่อใจสามระดับ” (Three Levels of Trust) กล่าวคือ ระดับการกำกับดูแลตนเองเป็นตัวกำหนดว่าควรมอบอิสรภาพแก่เด็กๆ มากเพียงใด
เป็นต้นว่า ระดับหนึ่ง นั่งทำงานได้เฉพาะในห้องของครูอันนิ-มาริเท่านั้น ระดับสอง นั่งทำงานที่ไหนก็ได้ที่ครูอันนิ-มาริมองเห็น ระดับสามซึ่งคือระดับสูงสุด นักเรียนนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ แม้ว่าครูจะมองไม่เห็นก็ตาม
ครูในฟินแลนด์ต่างก็รู้ดีว่า การมอบความเชื่อใจให้นักเรียนนั้นเปิดโอกาสให้นักเรียนทำเรื่องผิดพลาด แต่นั่นแก้ไขได้ด้วยการถอยคนละก้าวไปเริ่มกันใหม่ ทว่าการไม่มอบความเชื่อใจและอิสรภาพเลยต่างหากที่น่ากลัวกว่า เพราะมันหมายถึงการไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ไม่ว่าครูหรือนักเรียน
เปิดโลกการศึกษาฟินแลนด์และหลักเจ็ดประการสู่ความเชื่อใจกับหนังสือ
เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์
Pasi Sahlberg & Timothy D. Walker เขียน
ทศพล ศรีพุ่ม แปล
256 หน้า
อ่านตัวอย่างเนื้อหาและสั่งซื้อได้ที่นี่