3 มายาคติทางการเรียนรู้ที่ ‘ปั้นให้รุ่ง’ ชวนคิดหาทางออกใหม่ เพื่อให้เด็กทุกคนโตไปได้ดี

เรื่อง: พชร สูงเด่น

 

วิธีไหนดีก็ก็อปปี้แล้วทำซ้ำ พักการเรียนเด็กป่วนเพื่อสร้างวินัยในห้องเรียน พฤติกรรมสอนได้ไม่ต่างจากทักษะ การวัดผลที่ดีต้องเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ฯลฯ ตัวอย่างมายาคติทางการเรียนการสอนที่เราคุ้นชิน ปฏิบัติกันเรื่อยมาจนเกือบลืมตั้งคำถามถึงผลลัพธ์ของมัน มายาคติที่พอล ทัฟ (Paul Tough) ผู้เขียน เลี้ยงให้รุ่ง (How Children Succeed) และเล่มล่าสุด ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน (Helping Children Succeed) ชวนผู้อ่านคิดใหม่ หาทางใหม่ๆ ในการบ่มเพาะเด็กๆ ให้เติบโตไปได้ดี – อย่างที่เด็กๆ ทุกคนสมควรได้รับ

สำนักพิมพ์ bookscape ชวนอ่านมายาคติทางการเรียนการสอนที่อยากให้ครู ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กๆ ทั้งหลายได้ทบทวนวิธีการเดิมๆ ด้วยมุมมอง และหนทางใหม่ๆ ที่พอล ทัฟ ได้เสนอไว้ในหนังสือ ปั้นให้รุ่ง หนังสือที่มุ่งหาทางสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

 

1. จากสอนทักษะ วัดผลสัมฤทธิ์ระยะสั้น เป็นบ่มเพาะคุณสมบัติระยะยาว

 

ทักษะการคำนวณ ทักษะการอ่าน ทักษะการพูดในที่สาธารณะ ฯลฯ สารพัดทักษะที่การศึกษามุ่งสร้าง ตั้งใจวัด “ผลสัมฤทธิ์” จากเด็กจนส่งผลต่อวิธีการ เนื้อหา และเป้าหมายของการเรียนการสอน

แต่ทักษะเชิงพฤติกรรมอย่างการตัดสินใจ การควบคุมตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง ฯลฯ ทัศนคติ พฤติกรรมเหล่านี้สามารถสอนได้ด้วยวิธีเดียวกับการสอนทฤษฎีพิธาโกรัสจริงหรือ

ทัฟไม่ได้ปฏิเสธว่าผลสัมฤทธิ์นั้นไม่จำเป็น หากย้ำเตือนว่าบางสิ่งที่ไม่อาจเห็นผลได้ชัดเจน ไม่อาจเห็นได้ทันทีนั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือการบ่มเพาะคุณสมบัติเชิงพฤติกรรม ทัศนคติ ชุดความคิดที่จะเอื้อต่อการรับมือกับชีวิตต่อไปในระยะยาว

การกำหนดให้ “ผลสัมฤทธิ์” เป็นเป้านิ่งที่ทั้งครูและนักเรียนต้องบรรลุให้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้วิธีการสอนทุ่มพลังงานไปกับเป้าหมายระยะสั้น จนอาจลืมพันธกิจระยะยาวของการเรียนรู้นั่นคือการบ่มเพาะทัศนคติ คุณสมบัติต่างๆ ที่ล้วนต้องอาศัยเวลาในการสร้างให้เกิดขึ้น หากยังทำให้ครูที่มุ่งสร้างคุณสมบัติเหล่านั้นผ่านกระบวนการช้าๆ สม่ำเสมออย่างการสร้างสภาพแวดล้อมรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับในระบบที่ให้คุณค่ากับครูที่ประเมินผลงานได้ชัดเจนจากคะแนนนักเรียน จนอาจรู้สึกบั่นทอนกำลังใจ ไขว้เขวจากสิ่งที่พวกเขากำลังมุ่งบ่มสร้าง และอาจเปลี่ยนทางไปให้ความสำคัญกับคะแนนนักเรียนที่เห็นผลได้ง่าย เห็นผลได้ไวกว่าการสร้างคุณสมบัติเชิงพฤติกรรมที่ต้องใช้เวลา

ทัฟยกตัวอย่างอลิซาเบธ สปีเกล ครูประจำโรงเรียนรัฐย่านยากจน นอกไปจากการเรียนการสอนประจำ อีกสิ่งที่สปีเกลทำร่วมกับนักเรียนคือจัดกิจกรรมแข่งขันหมากรุก กิจกรรมที่ไม่ยากเกินไป แต่มีความท้าทายมากเพียงพอ กิจกรรมที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากกันและกัน ฝึกการทำงานเป็นทีม ได้เผชิญหน้ากับการแพ้ ยอมรับ และรับรู้ว่าพวกเขาเริ่มใหม่ได้ ทำให้ดีขึ้นได้เสมอ

สปีเกลทำทั้งหมดนี้โดยไม่เคยใช้คำว่ากำลังสอนทักษะให้นักเรียน หรือไม่เคยพร่ำบอกให้นักเรียนต้องมีความอดทนอดกลั้นนะ ล้มแล้วลุกนะเลย สปีเกลไม่ได้สอน เธอเพียงสร้างสภาพแวดล้อมบางอย่างที่เอื้อต่อการบ่มเพาะคุณสมบัติเชิงพฤติกรรม ทัศนคติเหล่านั้นขึ้นมา – และนั่นก็เป็นสิ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นกับนักเรียนของเธอ

ทัฟย้ำบ่อยครั้งในหนังสือเล่มนี้ว่า การที่เขาวิจารณ์กับกระบวนทัศน์หลักที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะนั้นไม่ได้แปลว่าทักษะไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะมีทักษะพื้นฐานที่เด็กๆ ควรจะฝึกฝนเพื่อต่อยอดในการเติบโตอยู่จริง แต่ใจความสำคัญที่เขาต้องการสื่อสารคือยังมีคุณสมบัติเชิงพฤติกรรม เชิงทัศนคติที่วัดผลไม่ได้ชัด เช่น การมีความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกับผู้อื่น การเป็นตัวของตัวเอง หรือความรู้สึกมีความสามารถ นั้นเป็นความมั่นคงทางจิตใจขั้นพื้นฐาน เป็นข้อความที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อมุมมองที่เด็กๆ จะมีต่อตัวเขาเอง และโลกภายนอกว่าพวกเขานั้นสมบูรณ์ในตัวของพวกเขาเอง พวกเขาสามารถเติบโตไปเรื่อยๆ ได้ และพวกเขาปลอดภัยเพียงพอในโลกใบนี้ไม่ว่าจะเจอโจทย์ยากเพียงใด – และข้อความเหล่านี้ล้วนสำคัญที่ผู้ข้องเกี่ยวกับเด็กควรมุ่งสร้าง ไม่ว่ามันจะต้องใช้เวลาเท่าไร จะเห็นผลประจักษ์ชัดเจนในวันนี้หรือไม่ก็ตาม

 

2. จากคัด ‘ตัวป่วน’ ออกเพื่อสร้างวินัย เป็นสร้างสภาพแวดล้อมที่ใช่ให้อยู่ร่วมกันได้

 

“มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย…”

หนึ่งในค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลเพียรบอกให้เด็กหมั่นท่องจำ ราวกับว่าการเอ่ยคำเหล่านั้นให้ขึ้นใจจะทำให้วินัยนั้นเกิดขึ้นได้อัตโนมัติ

ไม่เพียงแต่ค่านิยม 12 ประการเท่านั้น อันที่จริงแล้ว การเอ่ยถึงวินัย การท่องอาขยานคำขวัญ การคาดโทษหากประพฤติออกนอกกรอบนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เราต่างเผชิญมาในโรงเรียนจากชุดความคิดที่ให้ความสำคัญกับวินัย และความเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นเป็นเพราะนักเรียน “ตัวป่วน” ที่ไม่สามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบที่กำหนดไว้ได้ ดังนั้นพวกเขาควรถูกจับแยกออกไป เพื่อไม่สร้างปัญหา

ในขณะที่เรามักทึกทักกันว่าเมื่อเด็กทำตัว “ไม่น่ารัก” นั้นเป็นเพราะพวกเขาได้คิดตรึกตรองถี่ถ้วนดีแล้วว่าเขาจะทำเช่นนั้น หากทัฟได้เผยใต้ภูเขาน้ำแข็งของการกระทำเช่นนี้ว่ามีเหตุปัจจัยมาจากสภาวะอารมณ์และจิตใจ เป็นผลสืบเนื่องจากประสบการณ์ความทุกข์ยากที่พวกเขาเคยเผชิญมาก่อน ไม่ใช่การกระทำที่ฉับพลันด้วยหลักตรรกะและเหตุผล ดังเช่นสถิติที่ระบุว่ามากกว่าร้อยละ 30 ของนักเรียนที่เคยถูกพักการเรียนนั้นมีประวัติเคยถูกทำร้าย และมีวัยเด็กที่ผู้ปกครองเพิกเฉยต่อพวกเขา

เมื่อมองในแง่นี้แล้ว การจัดการที่ปลายเหตุด้วยการลงโทษ หรือสั่งพักการเรียนต่อนักเรียนที่ขาดวินัย ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบที่โรงเรียนกำหนดไว้จึงไม่ได้แก้ปัญหาอะไร และยิ่งไปกว่านั้นคือแทนที่จะทำให้ห้องเรียน “สงบขึ้น” อย่างที่ผู้ออกกฎคาดหวังไว้ กลับทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยรวมลดลงด้วยซ้ำไป ด้วยความที่ระบอบที่เคร่งระเบียบนั้นสร้างสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด จนส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล ความสนใจในการเรียนลดน้อยลง

ดังนั้นแทนที่จะส่งเสริมสภาพแวดล้อมเชิงลบที่มีแต่จะทำให้ทั้งครูและผู้เรียนเคร่งเครียดกันโดยไม่จำเป็นแล้ว ทัฟมองว่ามีประโยชน์มากกว่าถ้าเราจะส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี สร้างสรรค์ ส่งเสริมการอยู่อย่างเคารพซึ่งกันและกัน

 

3. จากคัดลอกวิธีการ เป็นถอดรหัสหัวใจสำคัญ

 

วิธีสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ วิธีพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ฯลฯ สารพัดวิธีที่เราต่างเคยได้ยินกันมาว่าเป็น “วิธีที่ดี” (บ่อยครั้งมีคำว่า “ที่สุด” พ่วงท้าย) ในการเรียนการสอน จนกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของระบบการศึกษาที่ใช้กันแพร่หลาย นั่นคือการแสวงหาวิธีการ โมเดลที่ว่ากันว่าดีเหล่านั้น แล้วนำมาขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

กลยุทธ์ดังกล่าวที่ได้รับอิทธิพลมาจากวงการเทคโนโลยี ที่กระตุ้นให้เกิดการทดลอง สร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาให้เจอว่าสิ่งใดดีที่สุด แล้วทำการขยายผลมันออกไปให้มาก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เตะตาต้องใจเหล่าเศรษฐีใจบุญ องค์กรการกุศลต่างๆ ด้วยความที่วิธีการนั้นเคยมีผลสำเร็จให้เห็นเป็นประจักษ์มาก่อน อีกทั้งยังเป็นจุดสนใจกับสื่อต่างๆ ที่ย่อมชอบการเล่าถึงกลยุทธ์ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและตัวอย่างที่สำเร็จมาก่อน มากกว่างานวิจัย สถิติ ตัวเลขแห้งๆ ที่เป็นการคาดคะเนอยู่แล้ว

แต่คำถามของทัฟก็คือ วิธีการที่ใช้ได้ผลในที่หนึ่งนั้นสามารถยืนยันว่าจะใช้ได้ผลในพื้นที่อื่นๆ ด้วยจริงหรือ การคัดลอก ตัดแปะกับบุคคลนั้นจะได้ผลที่เหมือนกันกับเวลาเราคัดลอก ตัดแปะเครื่องยนต์ไร้ชีวิตจริงหรือ

ทัฟไม่ได้ค้านว่าเราไม่ควรใส่ใจวิธีการที่ได้ผลมาก่อน เขาทำให้เราฉุกคิดและมุ่งหาแก่นใจความสำคัญที่ซ่อนอยู่ในวิธีการเหล่านั้นต่างหาก ด้วยการถอดรหัสหาตัวแปรให้เจอว่าปัจจัยอะไรทำให้วิธีการต่างๆ ประสบผลสำเร็จ และหาจุดร่วมของวิธีการต่างๆ ที่ดูจะใช้ได้ผลดีให้เจอ

การหาจุดร่วมนี้ไม่ได้รวมถึงวิธีการเรียน การสอนต่างๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงมุมมองของเราในการแบ่ง จัดหมวดหมู่เด็กในช่วงวัยต่างๆ ด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาเรามักมองเด็กๆ ราวกับเป็น “บทต่างๆ ที่แยกขาดจากกัน” และกระจายความรับผิดชอบให้แต่ละหน่วยงานตามระดับช่วงวัยเด็กไป (เช่น ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น ฯลฯ) การมองเช่นนี้ทำให้เราพลาดที่จะเห็นชีวิตอย่างที่มันเป็นจริงๆ นั่นคือเป็นเหมือนหนังสือที่ “แต่ละบทนั้นต่อเนื่องกันไม่ขาดตอนเลย ตั้งแต่เกิดจวบจนจบมัธยมปลาย” และการมองเช่นนั้นจะทำให้เราหันมาหาตัวแปรร่วมที่ส่งผลต่อชีวิต มากกว่าจะหาตัวแปรที่ส่งผลในแต่ละช่วงวัยอยากแยกส่วนกัน

คำถามของทัฟ และการฉุกคิดให้มองชีวิตเด็กคนหนึ่งใหม่ว่าเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไม่จบสิ้นตลอดชีวิตนั้นจึงเป็นจุดตั้งต้นในการหาตัวแปรร่วม เพื่อ “ปั้นให้รุ่ง” ใส่ใจและทุ่มเทแก่เด็กๆ แต่ละคน – อย่างที่เด็กๆ ทุกคนสมควรได้รับ