ได้เวลาคืนความสุขด้วย “ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก”

 

 

bookscape และ TK Park ชวนคุณมาร่วมแกะรอยลายแทงแห่งความสุข กับงานเสวนาว่าด้วย “ความสุข” ในหลากหลายมิติ พบตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับการสร้างความสุข และแนวทางที่พอจะเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย

ร่วมไขเคล็ดลับความสุขในหลากแง่มุมโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ลลิตา ผลผลา ผู้แปลหนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก

ชวนสนทนาโดย ไศลทิพย์ จารุภูมิ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2561 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 Central World

“ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก” คือเสวนาว่าด้วยความสุข ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมต้องกลับไปขบคิดกับคำถามที่วิทยากรทุกท่านฝากเอาไว้ ทำไมความสุขจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสร้างขึ้น และประเทศไทยจะมีความสุขยิ่งขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร

 

ลุกกะ VS ฮุกกะ

 

หลายคนอาจยังสับสนอยู่บ้างระหว่าง “ฮุกกะ” กับ “ลุกกะ” เล่าสั้นๆ ว่า ฮุกกะ คือการสร้างความสุขในระดับปัจเจกและคนรอบข้าง อาทิ จุดเทียนในห้อง ทำอาหารรับประทานร่วมกัน ส่วน ลุกกะ หรือความสุขในภาษาเดนมาร์ก คือการออกไปตามหาความสุขในที่ต่างๆ แล้วนำมาประมวลผลว่าปัจจัยร่วมของความสุขรอบโลกคืออะไรกันแน่

“ใครเคยอ่านเล่ม ฮุกกะ จะเข้าใจว่า มันเป็นการหาเทคนิคสร้างความสุขให้กับตัวเราเอง แล้วมุ่งเน้นไปที่เดนมาร์ก ส่วน ลุกกะ เป็นการพาเราไปหาเคล็ดลับความสุขจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะที่เดนมาร์ก แล้วมาหาจุดร่วมว่า คนที่มีความสุขที่สุดในโลก มีอะไรเป็นปัจจัยร่วมกันบ้าง” ลลิตากล่าว

สำหรับศิวะภาคมองว่าลุกกะน่าสนใจเพราะมันคือการออกไปคุยกับคนเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความสุข

“ถ้าฮุกกะคือการเล่าเรื่องตัวเอง ลุกกะก็คือการไปถามคนอื่นว่า คุณคิดเหมือนฉันหรือเปล่า เพราะลุกกะเป็นการสำรวจความสุขจากทั่วโลกว่า ในเมืองแต่ละที่ที่ปัจจัยไม่เหมือนกันเลย ความสุขของเขาคืออะไร”

“การที่บอกว่า ประเทศนี้มีความสุขอันดับเท่านี้ๆๆ ผมว่ามันต้องการคุยในรายละเอียดเยอะว่า ไอ้เท่านี้มันแปลว่าอะไร ผมไปสแกนดิเนเวียไม่ได้นานมาก ก็รู้สึกว่า มันมีทั้งความสุขและความทุกข์นั่นแหละ เพียงแต่ว่าความทุกข์ของเขา เราอาจจะเฉยๆ ก็ได้ หรือความสุขของเขาอาจเป็นความสุขแบบที่เราก็เคยมีแต่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับมัน คือจะเป็นเรื่องบริบทที่แตกต่างกันไป” ศิวะภาคกล่าว

จริงๆ แล้วเนื้อหามันเป็นตำราได้เลย แต่มันพยายามเป็นตำราที่วางไว้เพื่อให้คนอ่านหยิบชาขึ้นมาจิบไปด้วย

ด้วยเนื้อหาที่ถูกซอยย่อยเป็นบทสั้นๆ ทำให้เราสามารถอ่านแล้ววาง แล้วหยิบมาอ่านต่อบทใหม่ได้เรื่อยๆ นี่คือความน่าสนใจของลุกกะในมุมของศิวะภาค

 

สุขจากความไว้เนื้อเชื่อใจ

 

ไศลทิพย์ไล่ปัจจัยแห่งความสุขทั้งหกให้ฟังว่า ปัจจัยแรกสุดคือความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือความเป็นชุมชน สอง เรื่องเงิน สาม สุขภาพ สี่ เสรีภาพ ห้า ความไว้เนื้อเชื่อใจ และหก น้ำใจ

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างชุมชนหรือคนบางคนที่ทำได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหนังสือลุกกะในมุมมองไศลทิพย์

“เหมือนเป็นการทำแผนที่ให้เรา แต่เราจะตามหรือไม่ก็ได้ อันนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนุกมาก”

ปัจจัยที่สร้างความทึ่งให้กับไศลทิพย์คือความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งในเล่มพูดถึงตัวอย่างถึงขั้นที่ว่า ถ้าคุณแม่พาลูกเล็กๆ มากับรถเข็น ก็สามารถจอดรถเข็นไว้หน้าร้าน แล้วตัวเองเข้าไปกินกาแฟในร้านได้เลย เด็กๆ ก็จะอยู่กันอย่างปลอดภัย ไม่มีใครมาเข็นรถของลูกๆ ไปไหนแน่

 

 

เดชรัตเสริมว่า การที่ให้ลูกนอนข้างนอกของคนเดนมาร์กไม่ใช่เป็นแค่ความไว้วางใจเฉยๆ แต่เป็นวิถีชีวิตด้วย

“คนเดนมาร์กบอกว่า เวลาลูกหลับ เขาจะต้องใส่รถเข็น แล้วจอดไว้นอกบ้าน ให้ได้รับลม รับแสงแดดบ้าง ฉะนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องจอดไว้ ถ้าเป็นเมืองไทย เราคงรู้สึกแปลกๆ แต่ของเขาสบายมากเลย ก็แค่จอดไว้ตรงนี้ แล้วเราก็ไปไหนๆ ได้ คือไม่จำเป็นต้องเฝ้าอยู่ตรงจุดนั้นก็สบายใจได้”

การแบ่งส่วนระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวในเดนมาร์กก็เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ว่าแบ่งกันอย่างไร และที่นั่นมีพื้นที่สาธารณะเยอะมาก

ตอนเรียนที่เดนมาร์ก เดชรัตก็อยู่ในหอพักที่ย่อมเยาที่สุด แต่กลับรู้สึกสบายมากเมื่อเทียบกับเมืองไทย

“ไม่ใช่สบายด้วยห้องนะ คือห้องก็ 40 กว่าตารางเมตร ธรรมดาของเมืองไทย แต่ที่มันสบายก็ด้วย space กึ่งส่วนตัวกึ่งสาธารณะ บ้านอื่นก็วางของเล่นของลูก แต่ก็ไม่มีวางอย่างอื่นนะ ไม่มีโต๊ะ ไม่มีขายของ แต่จะมีของเล่นพวกนี้ที่เด็กเข้าไปใช้ได้”

“เวลาเราพูดถึงความสุข อาจจะต้องไปไกลกว่าการสัมผัสเฉยๆ” เดชรัตกล่าว

หลายครั้งเวลาคนไทยพูดถึงความสุข จะมองจากมุมของการสัมผัส อย่างเจอสิ่งนี้ เราเรียกว่าความสุข เจอสิ่งนั้น ไม่เรียกว่าความสุข แต่ว่าที่ลึกกว่านั้น มันมีการออกแบบ มีระบบ มีความคิด

“ระบบที่ว่าก็คือเขาไม่ได้บอกผมนะว่าควรวางหรือไม่ควรวางอะไร แต่ว่ามันมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งผมว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น”

 

เสรีภาพการใช้เงิน VS เสรีภาพการใช้ชีวิต

 

หากถามว่าการออกแบบเรื่องรัฐสวัสดิการ มีส่วนช่วยเรื่องความสุขมากน้อยแค่ไหน คำตอบของเดชรัตคือรัฐสวัสดิการช่วยได้มากๆ

“ตอนนี้ผมอายุ 50 ก็มีคนมาสะกิดเราว่าจะต้องมีเงินเท่าไหร่ก่อนเกษียณ เครียดไหมครับถ้าเจอคำถามนี้ ตัวเลขที่เขาคำนวณมาให้คือ 4 ล้านครับ”

ถ้าอยู่ที่เดนมาร์ก การต้องมีเงินเก็บ 4 ล้านก็ไม่มีความจำเป็น เพราะมันคือระบบที่ทุกอย่างมีการดูแล หมายความว่าระหว่างทางคุณก็ต้องเสียภาษีเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้นั่นแหละ

เมื่อกลับจากเดนมาร์ก สิ่งแรกที่เดชรัตต้องซื้อคือรถยนต์ เพราะต้องส่งลูกไปเรียน ต้องไปทำงาน ตอนนั้นเขาซื้อรถด้วยราคาห้าแสนบาท แต่ถ้าอยู่เดนมาร์กต่อไป เขาก็ไม่ต้องซื้อรถ แต่เสียภาษีแทน แล้วก็ขึ้นรถเมล์เอา

ตอนที่แนวคิดฮุกกะดัง คนจะชอบพูดกันว่า ฮุกกะและความสุขแบบสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นได้เฉพาะในรัฐสวัสดิการเท่านั้น เดชรัตไม่ปฏิเสธว่ารัฐสวัสดิการสำคัญ แต่สิ่งที่กระทบใจเขามากกว่า นั่นคือความรู้สึกที่เรามีต่อคนด้วยกัน

ลลิตาแลกเปลี่ยนว่าเคยคุยกับคนฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการเช่นกัน แต่รู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้มีความสุขกับการเป็นรัฐสวัสดิการเท่าไหร่ เขาบอกว่าเขาอยากได้เสรีภาพที่จะใช้เงินคืนมามากกว่า เดชรัตมองว่า

“ถ้าพูดว่าเสรีภาพในการใช้เงิน ตัวแปรก็ต้องอยู่ที่เงิน เงินก็ต้องอยู่ที่เราก่อน เรื่องอะไรจะไปเสียห้าแสนให้ภาษี ผมก็เลือกรถสิครับ ผมจะเอารถอะไร โปรโมชันแบบไหน สีไหน อันนี้คือเสรีภาพในการใช้เงินของผม” แต่ถ้าเลือกจ่ายเงินให้รัฐ เสรีภาพในการใช้เงินก็ลดลงแน่ สิ่งที่ทำได้คือไปรอขึ้นรถเมล์ตามตารางเวลา

“คนเดนมาร์กอาจจะรู้สึกว่าเสรีภาพในการใช้เงินเป็นเรื่องรอง เขาจะพูดถึงเสรีภาพในการใช้ชีวิตมากกว่า”

ปกติคนเดนมาร์กมีวันหยุดแบบได้เงินเดือน 5 สัปดาห์ต่อปี ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องไปเที่ยวที่นู่นที่นี่ ส่วนคนเดนมาร์กจะมีหนึ่งสัปดาห์เอาไว้ทาสีบ้าน

“คนเดนมาร์กบอกว่า ดีใจมากเลย สัปดาห์นี้เราไม่ไปเที่ยวแล้ว เรามาทาสีบ้านกัน แล้วอาจารย์ผมที่เป็นศาสตราจารย์ก็ไปช่วยเขาขูดแล้วทาสีบ้าน ปีนี้หยุดทาสีบ้านหนึ่งสัปดาห์ ทาได้เฉพาะฟากนี้ เดี๋ยวปีหน้าค่อยทาฟากนู้นต่อ”

คือตราบใดที่เสรีภาพของเราไม่ได้ถูกกำหนดด้วยเรื่องเงินมากนัก ความเป็นรัฐสวัสดิการจะไม่ใช่สิ่งกวนใจเรา เราอาจจะรู้สึกว่า ก็ดีแล้วไง มีวันหยุดไม่ต้องไปเที่ยวไหน อยู่ทาสีบ้านก็ได้

 

ชุมชนเดนมาร์กเข้มแข็ง

 

อีกหนึ่งความเชื่อว่าด้วยชุมชนเข้มแข็ง เราอาจคิดว่าของไทยเข้มแข็งมากแล้ว แต่เทียบกันจริงๆ เดนมาร์กอาจชนะขาด

คนไทยชอบคิดว่าสังคมไทยมีชุมชนเข้มแข็ง อันนี้ต้องตอบเลยว่า ถ้าเทียบกับเดนมาร์กนี่ไม่จริงเลย

เดชรัตยืนยันว่าเดนมาร์กมีชุมชนเข้มแข็งกว่าบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการวางรถเข็นลูกไว้ข้างนอกได้อย่างสบายใจ หรือแค่ออกไปนอกบ้านก็มีกิจกรรมให้เข้าร่วมตลอด จริงๆ คนจัดกิจกรรมเหล่านั้นก็คือคนในชุมชนนั่นเอง

“เราก็ไปที่สิ่งที่เมืองไทยเรียกว่า co-working space ส่วนเดนมาร์กเรียกว่าฮูส hus (house ในภาษาอังกฤษ) ทุกชุมชนจะมี ‘บ้าน’ ของชุมชน บรรยากาศจะดูเป็นกันเอง แล้วก็สลับกันเข้ามาใช้ได้ แล้วแต่ว่าใครจะเข้ามาช่วงไหน เวลาไหน อาจจะมาจัดดนตรี จัดศิลปะ แล้วพ่อแม่ก็พาลูกๆ มา เพราะฉะนั้นความเป็นชุมชนยังมีอยู่แน่นอน”

อย่างไรก็ดี ในเดนมาร์กจะมีความเป็นห่วงว่า แล้วกิจกรรมเหล่านี้ผู้สูงอายุเข้าร่วมได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็จะมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยเสริมจุดนี้

อาสาสมัครในเดนมาร์กเป็นระบบที่ค่อนข้างสะดวก เดชรัตเล่าว่า มีเพื่อนคนหนึ่งที่มีบางอย่างทางร่างกายไม่พร้อม เขาก็ยังไปเป็นอาสาสมัครช่วยซักผ้าให้ผู้สูงอายุ แต่มือเขาเจ็บ ทำงานบางอย่างไม่สะดวก เช่น ถูบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ก็มีคนมาอาสาสมัครช่วยเขาอีกที แบบนี้เป็นต้น

เราอาจจะเรียกว่าความเป็นชุมชนที่ออกแบบใหม่ คือทุกอย่างที่เรารู้สึกว่าสังคมไทยมันดี ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องเก่าในบริบทเก่า แต่ว่าในเดนมาร์ก พลวัตแบบนี้มันมีการปรับตัว และยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

ในเดนมาร์กมีจิตอาสาหรืออาสาสมัครเยอะมาก เดชรัตกับลูกพยายามสังเกตกัน แล้วเขาถามลูกว่า ลูกรู้สึกไหมว่า เวลาใครๆ ไปทำอาสาสมัคร เขารู้สึกไหมว่าตัวเองทำดี

“ลูกตอบว่าไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น และไม่ใช่เฉพาะในเดนมาร์ก อีกหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ คนทำก็ไม่ได้รู้สึกว่าการอาสาสมัครคือการทำดี หรือเป็นการทำบุญแต่อย่างใด”

พูดง่ายๆ คือไม่จำเป็นต้องสรุปว่าการอาสาสมัครคือการทำความดีก็ได้ แค่เป็นอะไรที่ทำแล้วมีคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่นบ้างก็น่าจะเพียงพอแล้ว

 

คำถามคืนความสุข

 

ก่อนไปถึงความสุข เดชรัตชวนตั้งคำถาม “กวนใจ” คนอยู่เฉยอย่างน้อยสักสามข้อ

ข้อแรกคือ บำนาญข้าราชการหลังเกษียณ (ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน) เทียบกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน

“คนได้รับบำนาญทั้งประเทศมี 700,000 คน เราใช้เงินเพื่อคน 700,000 คนไป 200,000 ล้านบาท แต่คนที่ได้รับ 600 บาททั้งประเทศประมาณ 8 ล้านคนใช้เงินของประเทศแค่ 60,000 กว่าล้าน

“ถามว่าคน 8 ล้านคนได้ส่วนแบ่ง 60,000 กว่าล้าน แต่คน 700,000 คนเอาส่วนแบ่งไป 200,000 ล้าน แล้วเราเฉยอยู่อย่างนี้ได้ยังไงครับ ตัวผมเองก็เฉยอยู่เหมือนกันครับ”

นี่เป็นตัวอย่างที่เราอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเราเองว่า แล้วเราจะยอมแก้กันใหม่ไหม

“สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่การไขว่คว้าหาความสุขโดยไม่ถามตัวเราเอง สุดท้ายมันต้องย้อนกลับมาถามตัวเราเองอยู่ดี”

คำถามข้อสอง เกี่ยวกับค่าเล่าเรียนลูก เดชรัตเล่าว่าโรงเรียนในไทยที่ลูกเขาเรียนจนจบนั้นรับเด็กพิเศษเข้าเรียนด้วย แต่เก็บค่าเล่าเรียนในอัตราพิเศษเช่นเดียวกัน

“โรงเรียนที่ลูกผมเรียนที่เมืองไทย เขาคิดเงินในอัตราพิเศษกับพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้น แล้วลูกผมก็อยู่มาจนจบ ผมก็ลืมไปเลยว่าผมควรจะช่วยแชร์กับเขา

ทำไมครับ น้องเขาเลือกหรือว่าเขาต้องการความช่วยเหลือพิเศษ พ่อแม่เขาเลือกหรือว่าต้องการความช่วยเหลือพิเศษ แล้วพ่อแม่เขาก็เป็นเพื่อนเรานะ คุยกันอย่างดิบดี แต่ตอนจ่ายเงินแยกย้ายกันจ่าย จนถึงวันนี้ผมยังไม่รู้นะว่าทำไมวันนั้นผมถึงนั่งอยู่เฉยๆ มันไม่ใช่สองนาที แต่มันหลายปีนะครับ

และข้อสุดท้าย เกี่ยวกับรางวัลสำหรับเด็กเรียนเก่ง

ตอนลูกสาวของเดชรัตเรียนมัธยมปลาย เขากลัวว่าลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็เลยให้ลูกไปเข้าโปรแกรม EP (English Program) จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็เคยมีห้อง Gifted ที่แปลว่าพรสวรรค์ แต่พรสวรรค์อย่างเดียวไม่พอต้องมีเงินหลักหมื่นจากผู้ปกครองสมทบด้วย

“ตกลงเรามีห้องแบบนี้ไว้เพื่ออะไร ไว้เพื่อให้ลูกเรามีคู่แข่งน้อยลงหรือ อาจจะมีคนเก่งกว่าลูกผมก็ได้ แต่เขาไม่มีเงินจ่าย ลูกผมก็เลยได้เข้าห้องเรียนพิเศษ แล้วเราจะเฉยไหมครับ ผมว่าเราเฉยอยู่นะ ตัวผมด้วยนะ ผมไม่โทษคนอื่นเลยครับ”

สมมติเราบอกว่า จากนี้ไปทุกโรงเรียนเท่ากัน และตอนนี้ไม่มีการสอบเข้าแล้ว ทั้ง ป. 1 ม. 1 ใกล้โรงเรียนไหนก็เข้าโรงเรียนนั้น คนไทยจะรู้สึกอย่างไร

“คนไทยไม่เอาครับ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ไม่เอา จริงๆ เรามีสิทธิจะไม่เอา แต่ปัญหาอยู่ที่การไม่เอาของเรา ไม่เอาเพราะไม่ไว้ใจโรงเรียน เพราะรู้สึกว่าลูกเราอุตส่าเรียนเก่ง ทำไมเรามาจับสลากกัน แล้วถ้าจับสลากก็เข้าได้ ใครจะตั้งใจเรียน”

คำถามสามข้อนี้ไม่มีคำตอบให้คุณ แต่รับรองว่ามันจะกวนใจคุณทุกครั้งเมื่อนึกถึงความสุขสำหรับประเทศไทย

 

ชัยชนะของความสุข

 

คนเดนมาร์กนิยมเล่นแบดมินตันไม่แพ้คนไทย เวลาเล่นก็จริงจังมาก เดชรัตบอกว่าเขาเป็นฝ่ายแพ้ ขณะที่กำลังจะก้าวเท้าออกจากสนาม เพื่อนที่ชนะก็ถามว่าเขาเดินออกทำไม

“ผมก็บอกว่า อ้าว ก็แพ้ไง แพ้ต้องคัดออกสิ เขาบอกว่าไม่ใช่ คุณไม่ได้ฝึกแล้วคุณจะชนะได้ไง คุณน่ะเล่นต่อ” ส่วนคนชนะเป็นฝ่ายเดินออกแทน

“แล้วเขาอยากชนะผมไหม เขาอยากชนะครับ แต่มันเป็นความอยากชนะที่เขาไม่ได้รู้สึกว่า การชนะนั้นจะต้องได้รางวัลด้วยการได้เปรียบเหนือคนอื่น”

เดชรัตบอกว่าถ้าเรานึกถึงชัยชนะแบบนี้ไม่ออก ก็ยากอยู่เหมือนกันที่จะนึกถึงความสุขที่อาจเป็นไปได้สำหรับเราทุกคน

 

__________________

 

ชมคลิปเสวนาทั้งสองตอนได้ที่นี่

อ่านรายละเอียดและตัวอย่างหนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก

ติดตามเพจเฟซบุ๊ก Bookscape เพื่อรับข่าวสารล่าสุดจากเรา