เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต: วัยรุ่นเอย จงซับซ้อนยิ่งขึ้น!

 

ภาพ: กิตติ พันธภาค

 

bookscape x dtac Book Talk ชวนสำรวจและทำความเข้าใจโลกโซเชียลมีเดียอันซับซ้อนของวัยรุ่น ในงานเสวนาที่บอกได้คำเดียวว่า สนุกมาก!

งานนี้ยังเป็นการเปิดตัวหนังสือ It’s Complicated: the social lives of networked teens ผลงานของ danah boyd นักวิจัยของไมโครซอฟต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมวัยรุ่น ที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจวาทกรรม “สังคมก้มหน้า” รวมถึงความเข้าใจผิดอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กๆ ยุคนี้ได้อย่างถึงแก่น

โดยผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายแวดวง ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้พัฒนาหลักสูตรการสอน คนทำงานสร้างสรรค์ที่คลุกคลีและคุ้นเคยกับวัยรุ่น และตัวแทนคนรุ่นใหม่

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย

เกรียงไกร วชิรธรรมพร นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษา MIT Media Lab

ชวนสนทนาโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ bookscape หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2561 เวลา 14.00-16.00 น. ห้อง Library ชั้น 32 ดีแทคเฮาส์ จามจุรีสแควร์

 

สะท้อนความจริงจากสายตาวัยรุ่น

 

4 ข้อที่โดดเด่นของ It’s Complicated ในฐานะของผู้เลือกเล่มนี้มาจัดพิมพ์ วรพจน์ กล่าวว่า หนึ่ง

 

นี่เป็นหนังสือที่สะท้อนโลกการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กและวัยรุ่นผ่านสายตา ‘ของเขา’ จริงๆ

 

คนเขียนคือดานาห์ บอยด์ เป็นหัวหน้านักวิจัยอยู่ที่ไมโครซอฟต์ และนักมานุษยวิทยาที่ลงภาคสนามศึกษาเด็กๆ เกือบสิบปี ในเล่มจะเห็นพวกแอปพลิเคชันที่ทุกวันนี้แทบไม่ใช้กันแล้ว เช่น Hi5 MySpace แต่ผู้เขียนมองว่าโดยพื้นฐานแล้วก็เหมือนๆ กัน

เล่มนี้นับเป็นการกลั่นกรองประสบการณ์ภาคสนามของผู้ที่พยายามเข้าใจโซเชียลมีเดียผ่านสายตาของเด็ก และผ่านเสียงของพวกเขาจริงๆ

สอง หนังสือเล่มนี้มองเด็กในฐานะผู้กระทำการทางสังคม (social agency) ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีเท่านั้น เหมือนที่สังคมมักเหมาเอาเองว่า เด็กพยายามจะใช้เทคโนโลยีแล้วถูกเทคโนโลยีกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้เขียนพยายามจะดูว่าเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอย่างไร และจริงๆ แล้วมันสร้างความหมายต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร

สาม ผู้เขียนเสนอว่า สิ่งสำคัญที่สังคมต้องช่วยกันคิดหาคำตอบเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็คือการหาว่า อะไรเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีจริงๆ และอะไรเป็นปัญหาทางสังคมที่มีอยู่เดิม

มีคำพูดหนึ่งที่วินต์ เซิร์ฟ หนึ่งในบิดาของอินเทอร์เน็ตพูดว่า “อินเทอร์เน็ตคือภาพสะท้อนสังคมของเรา และกระจกเงาบานนี้จะสะท้อนสิ่งที่เราเห็น ถ้าไม่ชอบสิ่งที่เห็นในกระจก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การซ่อมแซมกระจก แต่เราต้องซ่อมแซมสังคมต่างหาก”

เพราะฉะนั้น ถ้าเราโทษเทคโนโลยีอย่างเดียว โดยไม่ได้มองว่ามันมีปัจจัยทางสังคมหรืออย่างอื่น จะทำให้เราเข้าใจผิด แล้วก็ทำให้แก้ปัญหาผิดจุดตามไปด้วย

สี่ เราเข้าใจว่า ความพยายามที่จะเอาเด็กออกจากความเสี่ยง หรือกีดกันการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก มาพร้อมกับการลดโอกาสของเขาในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่งการเรียนรู้เรื่องความเสี่ยงก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโต หรือกระบวนการทางสังคมของวัยรุ่นด้วย

วรพจน์ตั้งคำถามต่อไปว่า เราควรออกแบบสังคมอย่างไรที่ทำให้พวกเขาหลุดจากความเสี่ยงพวกนี้ได้ ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเต็มที่ด้วย

 

อินเทอร์เน็ต: กระจกนูนสะท้อนปัญหา

 

เวลาเห็นเด็กใช้อินเทอร์เน็ตแล้วเกิดปัญหา เรามักติดกรอบว่าต้องปกป้องควบคุมเด็ก แล้วก็คิดเอาเองว่าจะต้องควบคุมอย่างไร โดยที่แทบไม่รู้เลยว่าตกลงแล้วปัญหาจริงๆ คืออะไร พูดง่ายๆ ว่าผู้ใหญ่มองและเห็นปัญหาจากมุมของตัวเองเป็นหลัก

ประวิทย์ เห็นว่าหนังสือเล่มนี้คือส่วนเติมเต็มของปรากฏการณ์ที่ผู้ใหญ่เห็น ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นมากขึ้น ส่วนจะเชื่อหรือไม่นั้น คงต้องอยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละคน

 

อินเทอร์เน็ตอาจไม่ใช่กระจกที่สะท้อนตรงๆ แต่เป็นกระจกนูนที่ขยายภาพขึ้น

 

ปัญหาในโลกจริง เวลาผ่านกระจกนูนอย่างอินเทอร์เน็ตไปก็จะขยายใหญ่ขึ้น กระจายได้มากขึ้น และเปิดเผยมากขึ้น พูดง่ายๆ ประวิทย์มองว่าอินเทอร์เน็ตคือตัวเร่งให้เห็นปัญหา

“แน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา แต่มันเร่งให้ปัญหานั้นปรากฏขึ้น ถูกเห็น และทำให้คนตระหนกกับมันมากขึ้น ฉะนั้น ความเป็นกระจกนูนของอินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องที่เราอาจจะต้องรับรู้เข้าใจ และพยายามมองกลับไปว่า แล้วตัวจริงของปัญหา ก่อนที่จะถูกขยาย มันมีลักษณะอย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหากันอย่างไร”

เพื่อกันความสับสน ควรเข้าใจชัดๆ ก่อนว่าเด็กๆ ที่ปรากฏในเล่มคือวัยรุ่น ต่างจากเด็กเล็กที่ผู้ปกครองควรดูแลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและหน้าจอต่างๆ อย่างจริงจัง

ประวิทย์ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้ เครือข่ายกุมารแพทย์ในไทย 4 สถาบัน พยายามรณรงค์เรื่อง “อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก” โดยเน้นว่าทักษะการบริหารจัดการชีวิตประจำวันของเด็กๆ จะหายไป ไม่สามารถเชื่อมโยงหรือจินตนาการอย่างเป็นระบบ

ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ประวิทย์มองว่าการแก้ปัญหามีความเป็นการเมืองอยู่

“สิ่งที่นำมาใช้คือตัวปัญหา เรามองหาว่า ในสังคมมีปัญหาเด็กใช้คอมพิวเตอร์จากอะไรบ้าง เมื่อได้คำตอบหลักๆ มา เช่น ติดการพนัน เข้าถึงเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ เราก็จะหาทางจัดการ อย่างเช่น ไปปิดเว็บไซต์ ดังนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งต่างกับหนังสือเล่มนี้ที่พยายามเสนอการจัดการจากมุมมองของเด็ก แต่เวลาผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ใหญ่ไทยจะจัดการจากมุมมองของผู้ใหญ่”

คำถามน่าสนใจจากประวิทย์คือ วิธีจัดการด้วยรูปแบบเดิมๆ จะทันต่อการเปลี่ยนแปลงจริงหรือ

 

การเรียนรู้ที่ไม่ตกยุค

 

สำหรับประเด็นที่กำลังถกเถียงกันและเห็นความชัดเจนมากขึ้น นั่นคือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองเด็ก ซึ่ง อรรถพล ต้องการมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้มแข็งแก่เด็กๆ

 

ตอนนี้กระบวนทัศน์เกี่ยวกับโลกออนไลน์มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว โจทย์ใหญ่ไม่ใช่แค่ปกป้องไม่ให้เด็กเข้าถึง หรือการช่วยเหลือเยียวยา แต่เป็นเรื่องการเสริมพลังให้เขาสามารถใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าทัน ผมว่านี่คือโจทย์สำคัญของสังคมไทย

 

“สิ่งดีมากๆ ของหนังสือเล่มนี้คือทำให้ได้คำตอบในหลายเรื่องที่อยากรู้ เพราะตอนทำงานวิจัยก็มีความพยายามจัดวงคุยที่มีเด็กเยาวชนหลายๆ กลุ่มเข้าร่วม ตั้งแต่เด็กในระบบโรงเรียน เด็กที่ออกจากโรงเรียนไปแล้ว เด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กที่มาจากบริบทชายขอบของสังคม ซึ่งพอเวลาเราฟังเสียงจากเขา เราก็ได้มุมที่ต่างจากที่เคยเข้าใจเยอะมาก”

อรรถพลเห็นว่า It’s Complicated เป็นงานวิจัยด้านชาติพันธุ์วรรณาที่น่าสนใจมาก คือเกาะติดอยู่กับเด็กหลายๆ เมือง หลายๆ รัฐเป็นเวลา 6-7 ปี แล้วเล่ามันออกมาโดยรักษาน้ำเสียงของเด็กๆ ไว้

เมื่ออ่านแล้ว ทำให้เขานึกถึงบทสนทนากับเด็กๆ ในหลายชุมชนที่หลุดจากระบบโรงเรียนที่เคยพูดคุยด้วย เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องอันตราย กลับรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่จะบอกว่าเขาเป็นใคร ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการทำงานของเขาด้วย

“แม้แต่เด็กในวัยเดียวกันก็มีความพร้อมในการอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตไม่เหมือนกัน คิดว่าประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในหนังสือเล่มนี้เป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่งในสังคม เวลาคุยเรื่องการอยู่ร่วมกันในโลกดิจิทัล”

นอกจากนี้ ในประเด็นการเรียนรู้และใช้งานอินเทอร์เน็ต อรรถพลมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

“หมดยุคของการเป็นกูรูให้ทุกอย่างแก่เด็ก หรือคิดแบบหนึ่งขึ้นมาแล้วให้ครูทุกคนสอนตามแบบนี้แล้ว เราควรเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ แล้วทำให้ห้องเรียนเป็นการเรียนรู้ร่วมกันจริงๆ ระหว่างทั้งเด็กกับเด็ก และครูกับเด็ก” อรรถพลกล่าว

 

วัยรุ่นล่ะคิดยังไง

 

ทำไมครูที่จะมาสอนนักเรียนถึงเข้าเฟซบุ๊กไม่เป็นเลย แบบนี้จะเรียนกันยังไง พัทน์ มองว่าปัญหานี้จะค่อยๆ หมดไป เพราะในอนาคตอาจไม่มีคำว่าโซเชียลมีเดียหรือแอปพลิเคชันกระแสหลัก

“ด้วยเครื่องมือจะเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาล เหมือนที่ตอนนี้ App Store มีแอปเป็นล้านแอป อีกหน่อยเด็กคงถามเพื่อนว่ารู้จักแอปนี้ไหม แล้วเขาอาจจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำเพราะความหลากหลายของเครื่องมือมันมากขึ้นๆ”

นำไปสู่การที่ทุกคนมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มือถือของแต่ละคนมีแอปไม่เหมือนกัน จากเมื่อก่อนทุกคนเล่นเกมงูเหมือนๆ กัน เดี๋ยวนี้บางคนก็มีเกมนี้ บางคนมีเกมนั้น ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ ถ้ามองง่ายๆ คือ จะทำให้เรารู้สึกเคารพในความแตกต่างระหว่างกันมากขึ้น

 

อย่าลืมว่าดิจิทัลมันไม่ได้อยู่ในอวกาศ แต่มันซ้อนอยู่บนโลกจริง ฉะนั้น ก่อนที่เขาจะเป็นมนุษย์ digital native เขาต้องเป็นมนุษย์ก่อน

 

แม้ในยุคที่มีการทดลองอ่านความคิดจากคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือศึกษาพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของหุ่นยนต์ พัทน์ก็มองว่าทักษะการเป็นมนุษย์ยังสำคัญอยู่ดี

“กับทางบ้านผมจะต้องแชร์พาสเวิร์ดกันในทุกแพลตฟอร์ม ทุกอีเมล ทุกแอคเคาน์ แล้วพ่อแม่ก็จะบอกว่า ขอไว้อย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรหรอก แต่ตื่นเช้าขึ้นมา ทำไมมันขึ้นมาว่า read แล้วแต่เรายังไม่ได้อ่าน ก็จะรู้ว่าพ่อแม่แอบส่องอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ”

พอเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็ทำให้พัทน์ตั้งคำถามว่า เมื่อก่อนตอนมีคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ก็เข้าถึงคอมของเขาได้ โดยที่ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะในคอมมีไฟล์เยอะแยะไปหมด พ่อแม่คงไม่รู้ว่าเขาเปิดอะไรบ้าง

“พอเป็นอีเมล ก็อาจจะเห็นเราคุยเรื่องโรงเรียน ก็ยังไม่รู้สึกอะไรอีก แต่พอเป็นโซเชียลมีเดีย เฮ้ย เรารู้สึกว่าบางทีเราเผลอพูดอะไรไปหรือเปล่า หรือเผลอแชตกับใครที่ไม่ควรหรือเปล่า พื้นที่ของเทคโนโลยีที่ไม่เหมือนกันมันสร้างวิธีการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ไม่เหมือนกันด้วย”

พัทน์เล่าว่าที่อเมริกาก็เป็นประเด็น ถ้าเกิดรัฐบาลจะส่องโซเชียลมีเดียคุณเพื่อความปลอดภัยของประเทศได้ไหม เพราะถ้าคุณเป็นคนดีก็ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล

“คำถามก็คือ ต่อให้ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เราก็อยากให้เนื้อหานั้นมันอยู่กับเรา ก็มีคนถามว่า อ้าว ถ้าอยากให้อยู่กับคุณเฉยๆ ก็อย่าไปแชร์สิ แล้วสุดท้าย เราไม่มีสิทธิจะแชร์เลยเหรอ ถึงเราจะต้องการแชร์แล้วไม่ต้องมีคนเห็นก็เถอะ”

 

เป็นวัยรุ่นมันซับซ้อน

 

“จริงๆ แล้ววัยรุ่นคืออะไร แล้ววัยรุ่นยุคนี้ต่างยังไงกับตอนเราเป็นวัยรุ่นเหรอ” ปิง-เกรียงไกร ในวัย 33 ตั้งคำถามชวนคิด เพราะเขายังเรียกตัวเองว่าวัยรุ่นได้อย่างสนิทปาก มีเพียงตัวเลขขวบปีที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นที่ทำให้ต้องหลุดจากนิยาม “วัยรุ่น” ไป

 

ผมชอบชื่อหนังสือ It’s Complicated มาก พออ่านแล้วเหมือนกับเราได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาวัยรุ่นในแต่ละยุคสมัยแทบจะเหมือนกันหมดเลย ต่างกันแค่เครื่องมือต่างๆ นานาที่อยู่รอบตัวเท่านั้นเอง

 

ปิงมองว่าปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและสาธารณะมีมาตั้งแต่สมัยเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว

“เรารู้สึกว่ามีห้องนอนส่วนตัวแล้วไม่อยากให้พ่อแม่เข้า นั่นคือปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งทุกวันนี้มันคือเฟซบุ๊ก คือการที่เราแชร์อะไรต่างๆ นานาเต็มไปหมด แล้วไม่อยากให้พ่อแม่เห็น จริงๆ มันคือตรรกะเดียวกันมาตลอด เพียงแต่ว่าทุกวันนี้มันเข้มข้นขึ้น เพราะเครื่องมือมันเยอะมาก”

สำหรับปัญหาที่ใครหลายคนเคยหนักใจว่าตกลงแล้ว “สังคมก้มหน้า” มีจริงไหม ปิงเล่าเรื่องน้องผู้หญิงที่ชอบการคอสเพลย์เป็นชีวิตจิตใจให้ฟังแทนคำตอบ

“เขาเจอปัญหาเพราะการคอสเพลย์สำหรับเพื่อนที่โรงเรียนดูเป็นเรื่องตลก เขาถูกล้อว่าเป็นเด็กบ๊อง ยังดูการ์ตูนอยู่ ไม่โตสักที แล้วเขาไม่ได้รับการยอมรับ”

ปิงเข้าใจว่าการที่เด็กบางคนติดอินเทอร์เน็ตเป็นเพราะว่าเพื่อนของเขาอยู่ในนั้น เพื่อนของน้องคนนี้ก็อยู่ในกรุ๊ปไลน์ ซึ่งต่างก็สนใจการคอสเพลย์ด้วยกัน และจะนัดกินข้าวหรือนัดเจอกันช่วงเสาร์อาทิตย์

“พฤติกรรมของน้องเวลาอยู่โรงเรียนก็จะเงียบๆ ไม่ค่อยคุยกับใคร จะนั่งเล่นอินเทอร์เน็ต เล่นไลน์ไป เขาไม่จำเป็นต้องคุยกับใครก็ได้ และเขาไม่ได้ทุกข์ด้วยนะ เพียงแต่เราชอบไปคิดว่าเขาทุกข์เพราะเอาตัวเองไปแทน”

ภาพที่ผู้ใหญ่เห็นก็คือ วันๆ เอาแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับโทรศัพท์ ก็ถูกแล้ว เพราะนั่นคือสังคมของเขา และปิงบอกได้เลยว่าน้องเขามีความสุขดี

 

ปัญหาไม่ได้เป็นอย่างที่เราเคยคิดว่า อินเทอร์เน็ตทำให้เกิด ‘สังคมก้มหน้า’ ทำให้เด็กๆ เป็นคนมีปัญหา แต่กลายเป็นว่าสังคมต่างหากที่มีปัญหากับเขา ถ้าถามว่า ‘ทำไมไม่เงยหน้ามาคุยกับคนอื่น’ ก็ความสุขของเขาอยู่ตรงนั้น คุณคุยสิ่งเดียวกับเขาได้ไหมล่ะ คุณฟังเขาไหมล่ะ คุณพร้อมจะฟังเรื่องของเขาไหม พร้อมจะอินไปกับสิ่งที่เขาสนใจไหม ถ้าคุณพร้อมที่จะอินไปกับเขา เขาจะเงยหน้าขึ้นมาคุยกับคุณ

 

หนังสือเล่มนี้ยืนยันกับเราว่า จริงๆ วัยรุ่นไม่ว่ายุคไหนก็ยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมก็แค่โลกรอบตัวมันซับซ้อนขึ้นมากๆ

“ในความซับซ้อนเหล่านั้น ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจเขา ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจว่าแก่นแท้ของมันไม่เคยเปลี่ยน จริงๆ มันคือวัยรุ่น แต่ในโลกที่มันเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้น เราต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร คือการที่มีช่องทางเยอะขึ้นในการที่พวกเขาจะเป็นอะไรก็ได้ เรียนรู้อะไรก็ได้ เจออะไรก็ได้ สามารถมีทางไปได้มากมาย แล้วเราจะให้อาวุธเด็กไปต่อสู้กับโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนซับซ้อนขนาดนั้นกันยังไง

 

“คำว่า complicated คือ keyword ของวัยรุ่นยุคนี้จริงๆ”