รวบรวมประโยคประทับใจจากเสวนาสาธารณะ “อยู่เองได้ โตเองเป็น: เพราะเด็กทุกคนเขียนชีวิตได้ด้วยมือตัวเอง” เพื่อทบทวนแนวทางเลี้ยงดูและบ่มเพาะเด็กต่างกลุ่ม ต่างวัย ผ่านแว่นตาการศึกษา จิตวิทยา และการสร้างสรรค์นโยบาย พร้อมตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนมีกรอบความคิดแบบเติบโต มีวิจารณญาณ และก้าวผ่านอุปสรรคในชีวิตได้ด้วยตนเอง
จาก รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง
คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
“สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการทำงานกับเด็กคือเราต้องให้เกียรติเด็ก เราต้องโน้มตัวลงไปหาเด็ก นี่เป็นการตอบกลับของผู้ใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราอยู่กับเด็ก และที่เราจะได้กลับมาคือความเคารพ ความอาวุโสไม่ได้มีปัญหาด้วยตัวของมันเอง ปัญหาคือเราใช้มันมากเกินไป ทั้งที่ไม่ควรจะมีอะไรอยู่เหนือเหตุผล เราแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องถ่อมตน (humble) ให้เป็น ต้องมีสมดุล ต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้และโน้มเข้าหากันทุกช่วงวัย”
“ลองจินตนาการว่าทุกคนในออฟฟิศรู้จักตัดสินใจและใช้เหตุผล ทุกการพูดคุยก็จะจบด้วยดี ต้นทุนต่ำลง เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หลายคนถูกระบบหล่อหลอมตั้งแต่เล็กจนโตให้ไม่พูด จนไม่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในประเทศเรา เพราะไม่มีบรรยากาศที่ทำให้คนรู้สึกว่าเสนอความคิดเห็นได้”
จาก พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ
ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
“บางสังคมขาดโอกาส บางสังคมก็มีโอกาสจนล้น ไม่ชอบอย่างหนึ่งก็หนีไปทำอีกอย่างหนึ่งได้ ไม่เคยต้องทำอะไรจนสุดทาง ทั้งหมดนี้หล่อหลอมเด็กแตกต่างกัน ทำให้เด็กอยู่เองได้ โตเองเป็นมากน้อยแตกต่างกัน ที่น่าเป็นห่วงคือสองสังคมนี้ถอยห่างจากกันไปเรื่อยๆ คนที่มีก็มีมากเหลือเกิน คนไม่มีก็แสนจะไม่มี ห่างกันเหลือเกินระหว่างเด็กที่พร้อมจะอยู่เองกับเด็กที่ต้องอาศัยเฉพาะปัจจัยทางชีวภาพอย่างตามมีตามเกิด”
“ความดีของลูกมีหลายจุด แต่บางทีเรากลับมองจุดอื่น ลูกหัวเราะได้ก็ดีนี่ ระหว่างหัวเราะกับร้องไห้จะเอาอะไร ความดีของลูกมีตั้งมากมาย เล่นเกมเก่ง ช่วยเหลือคนอื่นเก่ง เข้าสังคมเก่ง ถ้าเราปรับทัศนคติเกี่ยวกับความดีของลูกแล้วชื่นชมมันให้ได้ทั้งที่มันไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวัง ลูกก็จะรู้ว่าฉันมีข้อดีนะ ฉันอยากพัฒนาตัวเองต่อไป ตรงกันข้าม ถ้าได้ยินแต่คำว่าไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ ไม่รู้จักคิด โตมาจะให้จู่ๆ คิดได้เองก็คงมีแต่ในละคร”
“บางคนก็เข้าใจว่าการเลี้ยงลูกให้อยู่ได้เองคือการไม่ขัดใจลูก แต่มันมีเส้นบางๆ ค่ะระหว่างเด็กที่ถูกตามใจจนเคยกับเด็กที่มีระเบียบพอสมควร ความแตกต่างคือการตามใจหมายถึงผิดก็ให้ทำ ลูกขโมยดินสอเพื่อนก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวซื้อคืนเพื่อนก็ได้ แต่ไม่สอนว่าไม่ควรทำ ลูกต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นด้วย หมอจะชัดเจนกับตัวเองเสมอว่าลูกละเมิดสิทธิของคนอื่นไม่ได้ และละเมิดสิทธิของตัวเองไม่ได้ อย่างกรีดข้อมือนี่ไม่ได้”
จาก ประทิน เลี่ยนจำรูญ
หัวหน้าโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา
“เด็กหลายคนกลัวโรงเรียนหรือไม่อยากมาโรงเรียน เพราะผู้ใหญ่นำระเบียบมาควบคุมเขาไปเสียทั้งหมด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นจะต้องโดนอย่างนี้ ขู่กันหลายรูปแบบ วัยรุ่นที่ไม่ชอบการบังคับควบคุมก็ยิ่งไม่อยากมาโรงเรียน แล้วการต่อต้านโรงเรียนนี่ละที่จะทำให้เด็กไปไม่ถูกทาง”
.
“อีกกรณีหนึ่งที่เคยพบเห็นคือ นักเรียนคนหนึ่งเข้าห้องเรียนสายเล็กน้อย แล้วถูกครูต่อว่าหยาบคาย ขึ้นมึงขึ้นกู ถามเด็ก เด็กก็บอกว่าไม่อยากเรียนแล้ว เด็กคนนี้เป็นคนสุภาพมาก ไม่เคยพูดจาไม่สุภาพกับใคร เขาโตเองได้แน่ๆ แต่ผู้หลักผู้ใหญ่นี่ละที่แสดงพฤติกรรมให้เด็กสับสนว่าอะไรกันแน่ที่ถูกต้อง”
“บางครั้งเมื่อเด็กทำผิดพลาด บางคนก็ถามว่าทำไมไม่ลงโทษ ทำไมไม่ให้ออก แต่เราต้องคิดเสียก่อนว่าเด็กคือเด็ก วุฒิภาวะย่อมไม่เท่ากัน ยิ่งซ้ำเติมก็ยิ่งยากที่เด็กจะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ครูเลือกที่จะให้โอกาส ด้วยการให้ทำความดีชดเชย แต่ก็ต้องฟังเด็กด้วยว่าเห็นด้วยไหม แล้วค่อยตกลงกันว่าจะให้โอกาสอย่างไร จะต้องรดน้ำต้นไม้หนึ่งเดือน ทำความสะอาดห้องน้ำหนึ่งเดือน หรือตัดคะแนน เขาจะจัดการตัวเองอย่างไรดี และจะให้คนอื่นจัดการเขาอย่างไร”
จาก รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา
หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ที่ผ่านมาพ่อแม่ยังใช้วิธีที่เป็นลบเพื่อให้ลูกเก่ง ดี มีสุขเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกของคนอื่น การหลอกให้กลัว อย่าออกไปข้างนอกตอนกลางคืนนะ เดี๋ยวจะถูกจับไป เดี๋ยวตุ๊กแกจะกินตับ หรือการใช้ความรุนแรงที่พ่อแม่หลายคนคิดว่าได้ผล แต่จริงๆ ไม่ได้ผลเท่าไรหรอกครับ นอกจากทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่ตอนนี้ก็ตอนหน้า แถมลูกยังไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง อีกอย่างหนึ่งคือระบบสังคมที่บีบให้ต้องเก่งจึงจะประสบความสำเร็จ เป็นระบบแพ้คัดออก มือใครยาวสาวได้สาวเอา เราจึงพบคนเก่งหลายคนที่ขาดคุณธรรม เพราะเราพยายามดึงคนข้างบนลงมาแล้วถีบคนข้างล่างลงไปพร้อมๆ กัน”
“เด็กหลุดจากระบบด้วยหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะโรงเรียนไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของพวกเขา ถูกตีตรา ถูกรังแกบ้าง หรือเกิดจากการกระทำความผิดของเด็กเอง จุดนี้หลายหน่วยงานต้องให้ความช่วยเหลือ ต้องกระตุ้นให้เด็กเห็นว่าพวกเขามีข้อดีอะไรบ้างในตัว ซึ่งไม่ใช่แค่ผลการเรียน”
.
“เราต้องทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้กลายเป็นว่าเด็กหนีจากระบบหนึ่งมาเจออีกระบบหนึ่ง เขาหนีจากระบบโรงเรียนมาแล้ว จะให้เรียนในศูนย์เหมือนที่เรียนในระบบก็ไม่ได้ ต้องมีทางเลือกอื่นให้เด็กจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ มีโครงการหนึ่งที่พยายามเชื่อมโยงการศึกษาทางเลือกกับการจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการเชื่อมต่อเด็กกับศูนย์การเรียนในสังคม เช่น องค์กร สถานประกอบการต่างๆ ฯลฯ ที่ให้การศึกษาขั้นพื้นฐานได้”
.
“ศูนย์การเรียนเหล่านี้จะใช้กลุ่มประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ คือองค์ความรู้ที่เด็กพึงมี 4-5 อย่าง ไม่ใช่กลุ่มสาระการเรียนรู้และตัวชี้วัด โดยจะใช้ความสนใจของเด็กเป็นฐาน แล้วจัดการเรียนรู้จากจุดนั้นไปเหมือนโปรเจกต์ ประเทศเรามีกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างนี้อยู่ แต่โรงเรียนไม่ค่อยทำ นอกจากนี้ แต่ละท้องที่ก็ต้องมีศูนย์พักคอย ให้เด็กที่หลุดจากระบบรู้ว่าจะไปทางไหนต่อ”
“การสะท้อนคิดจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนมีอิสระแต่ไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย ได้รับโอกาสทำสิ่งที่สนใจโดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือในบางมิติ การได้เล่น ได้ทำ แล้วมานั่งพูดคุยกัน ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กไตร่ตรองระบบความคิด เพื่อดูว่าสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้คืออะไร ในที่สุดจะทำให้เด็กเห็นว่าอะไรทำให้ตัวเองเรียนรู้ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง”
สำรวจแนวทางเลี้ยงลูกให้ “อยู่เองได้ โตเองเป็น”
ใน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง
(The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control over Their Lives)
William Stixrud และ Ned Johnson เขียน
ศิริกมล ตาน้อย แปล
อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่