นอกจากความสับสนระหว่าง “ประชานิยม” กับ “ประชารัฐ” ที่มีผู้พยายามทำให้เห็นว่ามีความแตกต่างกันแล้ว เชื่อว่าหลายคนเป็นต้องปวดหัวเมื่อได้ยินข่าวระดับโลกเกี่ยวกับประชานิยม ดูเหมือนเกือบทุกฝ่ายไม่ว่าซ้ายขวาจะอ้างประชานิยมกันทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้วประชานิยมคือแนวคิดหรืออุดมการณ์อะไรกันแน่
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม กล่าวเปิดตัวดิเรกเสวนา “ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ซึ่งช่วยเปิดมุมมองประเด็นประชานิยมให้กว้างขวาง ทั้งยังต่อยอด และขยายข้อคิดเห็นไปสู่สาธารณะ
โดยมีผู้ร่วมเสวนาสามท่าน ได้แก่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการและผู้แปล ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด ในฐานะผู้สนใจเรื่องประชานิยมในเชิงเศรษฐศาสตร์ และ ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกา หนึ่งในดินแดนต้นแบบประชานิยม โดยเสวนาครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา (Populism: A Very Short Introduction) อย่างเป็นทางการครั้งแรก
ประชานิยมทางการเมือง VS ประชานิยมทางเศรษฐกิจ: ความเข้าใจผิดที่มีมานาน
นิยามประชานิยมแบบเศรษฐกิจสังคมตกยุคไปในวงสังคมศาสตร์เพราะนักประชานิยมลาตินอเมริกันรุ่นหลัง เช่น คาร์ลอส เมเนม แห่งอาร์เจนตินา อัลแบร์โต ฟูจิโมริ แห่งเปรู หันไปดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่แทน
แต่กระนั้นคำว่า “ประชานิยม” (ในความหมาย economic populism) ยังใช้กันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ รวมทั้งรัฐบาลทหารและชนชั้นนำรัฐราชการเมืองไทย ในความหมายของนโยบายที่กระจายความมั่งคั่งและใช้จ่ายงบประมาณมากเกินไปอย่างขาดความรับผิดชอบ
คำอภิปรายของเกษียรมุ่งเน้นไปที่ “ประชานิยมทางการเมือง” ซึ่งนิยามแบบมโนคติ (an ideational approach) โดย คาส มูด์เด และ คริสโตวัล โรวีรา คัลต์วัสเซอร์ สองผู้เขียน ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา เป็นหลัก
populism presentation by Kasian
เอกสารประกอบการเสวนาโดยเกษียร เตชะพีระ
กระบวนท่าทางการเมืองของประชานิยม
- มองโลกการเมืองแยกเป็นสองขั้ว คือ ชนชั้นนำ กับ ประชาชน
- การแบ่งแยกนี้เป็นการแบ่งเชิงศีลธรรม ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ไม่ใช่การแบ่งเชิงผลประโยชน์ ดังนั้นไม่มีการประนีประนอม รอมชอมกัน
- ในแต่ละขั้ว ถือว่าเป็นกลุ่มก้อนเดียว คือไม่มีความแตกต่างหลากหลายภายใน ไม่ยอมรับการเห็นต่างใดๆ ทั้งสิ้น
การเมืองประชานิยมจึงง่ายมาก นั่นคือ หาเจตจำนงประชาชนให้เจอแล้วทำตามนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้นำประชานิยมเป็นหลัก เพราะเขา/เธอมักอ้างตัวว่าเป็นเสียงของประชาชน
การปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายหรือพหุนิยม ตลอดจนมองการเมืองในเชิงศีลธรรมในแบบขาวจัดดำจัด ทำให้ประชานิยมทางการเมืองมีแนวโน้มไปสู่อำนาจนิยม
ในฐานะอุดมการณ์ที่มีเนื้อหาใจกลางบางเบา (thin-centered ideology) ประชานิยมทางการเมืองจึงมักถูกนำไปผนวกกับอุดมการณ์เหย้าอื่นๆ ที่มีเนื้อหาหนักแน่นกว่าไม่ว่าซ้าย (สังคมนิยม คอมมิวนิสต์) หรือขวา (เชื้อชาตินิยม ต่อต้านสิทธิสตรี)
ประชานิยมที่ดีมีไหม
ประชานิยมมักถูกใช้ในความหมายด้านลบโดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก เนื่องจากมองว่า “มวลชน” มักสายตาสั้น ชอบนโยบายที่ให้ประโยชน์ระยะสั้น โดยมองไม่เห็นว่ามันอาจสร้างโทษมากกว่าในระยะยาว ในทางที่อาจบั่นทอนทั้งประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน สฤณี อาชวานันทกุล ได้ยกตัวอย่างโครงการสวัสดิการสังคมของรัฐบาลบราซิลที่เรียกว่า Bolsa Família (Family Allowance) ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นประชานิยมที่ดี โดยเป็นการมอบเงินอุดหนุนโดยตรงให้แก่ครอบครัวยากจน (มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 140 เรียล) เดือนละ 22 เรียล (ประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อบุตรที่ไปโรงเรียนและฉีดวัคซีนแล้ว สูงสุดไม่เกินสามคน
- ครอบครัวที่ “ยากจนมาก” (มีรายได้ไม่ถึง 70 เรียลต่อเดือน) จะได้เงินอุดหนุนเพิ่มอีกเดือนละ 68 เรียลอย่างไม่มีเงื่อนไข
- ปัจจุบันมีชาวบราซิลได้รับเงินจากโครงการนี้กว่า 12 ล้านครัวเรือน มากกว่าหนึ่งในสี่ของประเทศ ถูกกล่าวถึงว่าเป็นโครงการลักษณะนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- เป็นนโยบายหลักในชุดนโยบายสังคมของประธานาธิบดีลูลา (Lula da Silva) และส่งผลสำคัญต่อชัยชนะสมัยที่สองในการเลือกตั้งปี 2006 อัตราความยากจนเรื้อรังลดลง 27 เปอร์เซ็นต์ในสมัยแรกของประธานาธิบดีลูลา
- ในปี 2006 ใช้เงินราว 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีบราซิล และ 2.5 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณภาครัฐ
- งานวิจัย UNDP พบว่าประโยชน์ 80 เปอร์เซ็นต์ไปถึงมือครัวเรือนยากจนจริงๆ และมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2001 ได้ราว 20 เปอร์เซ็นต์
สฤณีอ้างอิงข้อเสนอของดานี รอดริก (Dani Rodrik) นักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรกี ในบทความ “Is Populism Necessarily Bad Economics?” ว่า ประชานิยมทางเศรษฐกิจในความหมาย “ลดทอนข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ คืนความเป็นอิสระทางนโยบายกลับคืนสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” อาจเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ก็ได้ เนื่องจากมันจะช่วยควบคุมหายนะที่เกิดขึ้นจากประชานิยมทางการเมือง
ประชานิยมแบบไทยๆ
นิยามประชานิยมที่เราคุ้นเคย มักจะเป็นประชานิยมทางเศรษฐกิจ (economic populism) โดยเชาวฤทธิ์อธิบายว่านิยามดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1989 เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1930-1970 ที่มีนโยบายเน้นการกระจายรายได้เพื่อตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดด้านการคลัง ซึ่งมันได้ใจคนลาตินอเมริกันส่วนใหญ่เพราะปัญหาของประเทศแถบนั้นคือความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้
เมื่อข้ามโลกกลับมายังประเทศไทย นิยามดังกล่าวก็พลอยมาครอบความหมายทั้งหมดของประชานิยมไปด้วย เป็นที่มาของความเข้าใจผิดและมายาคติมากมายเกี่ยวกับประชานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรีแบรนด์นโยบายประชานิยมต่างๆ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “ประชารัฐ”
ลักษณะของการเมืองแบบไทยๆ ที่เชาวฤทธิ์นำเสนอ มีส่วนประกอบสำคัญสามประการด้วยกัน ได้แก่
- การเมืองเป็นเรื่องบุญพาวาสนาส่ง กรรมจากชาติที่แล้วส่งให้คุณเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในชาตินี้ ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็จงยอมรับมัน
- เชื่อมั่นว่าจะมีอัศวินขี่ม้าขาว หรือฮีโร่มากู้สถานการณ์ทางการเมือง
- กองทัพคือผู้บริสุทธิ์ที่จะรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามสถาบันหลักของประเทศ
จากลักษณะของการเมืองไทยมาสู่ประชานิยมแบบไทยๆ ที่ผูกโยงกับความเป็นชาติ ศาสน์ กษัตริย์จากบนลงล่าง ความเป็นไทยรวมทั้งประชานิยมจึงอาจถูกครอบงำโดยชนชั้นนำ
เมื่อเราพูดถึงประชานิยมในลาตินอเมริกา เรากำลังพูดถึงคนหมู่มาก แต่เชาวฤทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่าหากพูดถึงประชานิยมในไทย เรากำลังพูดถึงคนจำนวนหนึ่งในกรอบของความเป็นไทย ที่เป็นคนจำนวนน้อย และอาจไปเข้ากับนิยามของ elitism มากกว่า ซึ่งเชาวฤทธิ์ใช้คำว่า “ไพร่ฟ้า ข้านิยม” (royal populism)
ประชานิยมในวิกฤตเสรีประชาธิปไตย: อเมริกาและไทย
“เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข” (one man/woman, one vote) หากถอดเป็นคำทางรัฐศาสตร์ก็คือ มันนำไปสู่หลักต่อไปนี้ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักความเสมอภาค และหลักการปกครองด้วยเสียงข้างมาก
หลักการสำคัญของประชาธิปไตยที่เกษียรกล่าวถึงคือการกระจายอำนาจ หรือหลักประชาธิปไตยฉบับเข้าใจง่ายๆ โดยลินคอล์นก็คือ government of the people, by the people, for the people ซึ่งเกษียรสรุปว่าประชาธิปไตยต้องเน้นที่การปกครอง “โดย” ประชาชนเป็นสำคัญ
ส่วนเสรีนิยมในมุมเกษียร เป็นการปกครองที่มีอำนาจจำกัด ไม่ใช่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งต้องถูกจำกัดด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ดังนั้น ภายใต้เสรีนิยม ต้องยึดหลักเสรีภาพของบุคคลและเสียงข้างน้อย ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการวางกรอบในการใช้อำนาจ ยึดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล
เมื่อหัวใจของเสรีนิยมคือจำกัดอำนาจ (เน้นการปกครอง “เพื่อ” ประชาชน) ขณะที่หัวใจประชาธิปไตยคือกระจายอำนาจ (เน้นการปกครอง “โดย” ประชาชน) เวลาสองหลักการมาประกอบกัน มันจัดการตัวมันเองอย่างไร
เพื่อประกบกับเสรีนิยม ประชาธิปไตยต้อง edit ตัวเอง โดยตัด economic equality ออก เหลือแค่ความเสมอภาคในสิทธิเสรีภาพ ส่วนเสรีนิยม edit ตัวเอง ด้วยการปรับ limited suffrage หรือปรับการจำกัดสิทธิเลือกตั้งที่เดิมให้เฉพาะคนที่มีทรัพย์สิน หรือแนวคิดว่าคนไม่เท่ากัน เป็น universal suffrage
ภายใต้ระบบเสรีประชาธิปไตย ประชาธิปไตยช่วยค้ำจุนเสรีนิยมโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมในการออกกฎหมาย ขณะที่เสรีนิยมช่วยค้ำประกันประชาธิปไตยโดยประกันให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
แต่ถ้าทั้งสองหลักการขัดแย้งแยกทางกัน จะนำไปสู่ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและไทย โดยสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากภาวะเสรีนิยมสุดโต่งอันนำไปสู่ประชานิยมทางการเมืองหรือการครองอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่เมืองไทยเกิดภาวะประชาธิปไตยที่ไม่เสรี ซึ่งก็ไม่อาจหนีประชานิยมพ้นเช่นเดียวกัน
หากนิยามประชาธิปไตยแบบไทยๆ จะได้ว่า government of the king, for the people, by the select few เมื่อทักษิณได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ในช่วงแรกดำเนินนโยบายประชานิยมทางการเมือง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มขยายแนวนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย ทางเดียวที่ภูมิปัญญาแบบไทยจะหาทางตอบโต้ได้ก็ด้วยการก่อรัฐประหาร นำไปสู่การปกครองโดย คสช. และนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ แล้วพอใกล้เลือกตั้งก็หันไปใช้ประชานิยม แล้วเรียกว่า “ไทยนิยม” ซึ่งเกษียรตั้งคำถามสำคัญว่า จะแก้ไขประชานิยมรูปแบบนี้ได้ด้วยอะไร