เรื่อง: ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์
ภาพ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การปะทะและแยกตัวระหว่างจีนกับอเมริกาที่เดิมเคยเป็นมิตรพึ่งพากัน แต่วันนี้หันมาห้ำหั่นกันอย่างรอบด้าน เริ่มต้นจากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี และกำลังขยายผลเป็นสงครามเย็น 2.0 ซึ่งแตกต่างจากสงครามเย็นครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
ท่ามกลางเกมการต่อสู้ครั้งใหญ่เพื่อกำหนดอนาคตโลกกำลังเข้มข้น คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape ชวนหาคำตอบและเปิดมุมมอง ทำไมต้องจีน-เมริกา สองมหาอำนาจมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สงครามเย็น 2.0 หน้าตาเป็นแบบไหน แท้จริงแล้วเขาแข่งขันอะไรกันอยู่ ความขัดแย้งนี้จะมีจุดจบหรือไม่ แล้ว เรา ต้องทำตัวอย่างไรเมื่อพี่ใหญ่และพี่เบิ้มขยับ
เก็บความเสวนาทางวิชาการในชื่อเดียวกับหนังสือ “จีน-เมริกา: จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0” ผลงานเล่มใหม่ล่าสุดของอาร์ม ตั้งนิรันดร เจ้าของเดียวกับ China 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI งานนี้ได้วิทยากรจากหลากหลายสาขาวิชาที่มีความรู้และประสบการณ์ ทั้งมิติด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และเศรษฐกิจดิจิทัลมาร่วมแลกเปลี่ยน
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้ช่วยคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เขียน จีน-เมริกา
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานนักเศรษฐศาสตร์ และประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท sea group
ชวนสนทนาโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักจัดรายการเช้าทันโลก FM 96.5 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาคารเทพทวารวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จาก “จีนเมริกา” ถึง “จีน–เมริกา”
จาก “สงครามการค้า” ถึง “สงครามเย็น”
อาร์ม ตั้งนิรันดร เริ่มจากการอธิบายถึงที่มาชื่อ “จีน-เมริกา” ว่า ต้องการล้อกับคำว่า “Chimerica” ที่เนล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตใช้เป็นคนแรก ซึ่งถอดเป็นภาษาไทยได้ว่า “จีนเมริกา” เฟอร์กูสันต้องการเปรียบเปรยว่าเศรษฐกิจจีนและสหรัฐอเมริกาเชื่อมโยงกันมากจนเหมือนเป็นเศรษฐกิจเดียว โดยบรรยากาศดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปี 2000 ซึ่งสหรัฐฯ โอบรับจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก และทั้งโลกต่างคิดกันว่าโลกจะสงบสุข ไม่มีสงครามเย็นอีกต่อไป เป็นโลกของการค้าขายเพราะประเทศผู้นำของทั้งสองแนวคิดจับมือกันแล้ว
ทว่าทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่คิดเมื่อสหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยคุกคาม ความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันของ “จีนเมริกา” วันนี้จึงจำเป็นต้องมีขีดกลางเป็น “จีน-เมริกา”
เพื่อจะอธิบายสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น อาร์มเรียกว่า “3C” ได้แก่
Competition การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนครั้งนี้ อาจจะเริ่มมาจากการที่จีนโตเร็วมาก จีดีพีของจีนโตขึ้นทุกปี ปีละ 10 เปอร์เซ็นต์นั่นหมายถึง ในระยะเวลาทุก 7 ปี จีดีพีเพิ่มขึ้นเท่าตัว
สำคัญกว่านั้นคือ การแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเรื่องวิธีคิดและกลยุทธ์การต่อสู้ที่แตกต่างกัน สะท้อนถึงความแตกต่างที่อาจถึงกับเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ได้เหมือนเก่า อาร์มเล่าถึงเฮนรี คิสซิงเงอร์ (Henry Kissinger) และนิวต์ กิงกริช (Newt Gingrich) ที่เปรียบเทียบไว้ว่า
“สหรัฐฯ คิดแบบหมากรุก แต่จีนคิดแบบหมากล้อม ความหมายสำคัญหนึ่งของหมากรุกคือ มีโฟกัสการเล่นเพื่อรุกฆาตตัวคิง มีจุดเน้นที่ชัดเจน และเกมเดียวจบ ขณะที่หมากล้อมนั้น มีกระดานหลากหลายมาก แต่ละจุดเชื่อมโยงกัน และเป็นเกมระยะยาว ยอมเสียพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้ได้เปรียบในอีกจุดที่ใหญ่กว่า”
Connection คือความเกี่ยวพันระหว่างเลเยอร์ต่างๆ ของปัญหา หากมองลึกลงไปจะเห็นประเด็นที่แท้จริง ฉากหน้าของการต่อสู้ครั้งนี้คือสมรภูมิการค้า แต่อาร์มเรียกให้จำง่ายว่า “ทฤษฎีหมูสามชั้น” มอง ชั้นแรก เห็นสงครามการค้าที่ใช้มาตรการทางภาษีต่อสู้กันไปมา แล้วมองให้ลึกถึง ชั้นที่สอง เราเริ่มเห็นสงครามเทคโนโลยี ซึ่งคือหัวใจสำคัญจริงๆ ของสงครามครั้งนี้ ทว่าเมื่อเจาะเข้าไปถึง ชั้นในสุด จะพบกับประเด็นที่อ่อนไหวของทั้งสองยักษ์ใหญ่ นั่นคือ ความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯ กังวลเป็นพิเศษเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล การใช้เทคโนโลยีต่างๆ และปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจถูกนำมาปรับใช้ในเรื่องการทหาร
เห็นได้ว่าทั้งสามเรื่องเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องสงครามการค้าจึงไม่ใช่แค่สงครามการค้า และไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐศาสตร์
Complexity คือความซับซ้อนของสถานการณ์ทั้งหมด สหรัฐฯ อาจเคยทุบเศรษฐกิจสหภาพโซเวียดจนล่มสลาย เคยทุบค่าเงินเยนญี่ปุ่นจนแทบเจ๊งทั้งประเทศ แต่วิธีการเช่นนี้นำมาใช้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะอย่างที่กล่าวตอนต้นว่าเศรษฐกิจของทั้งสองแทบว่าได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้น การต่อสู้ครั้งนี้จึงซับซ้อนกว่าเดิมมาก หากสหรัฐฯ เดินหน้าทำลายเศรษฐกิจจีนแบบไม่คิดก็เท่ากับเป็นการประสานงา เจ็บทั้งสองฝ่ายแน่นอน
“ถ้าจะทุบจีน กระเทือนตัวเองแน่นอน ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องการและพยายามอย่างยิ่งที่จะแยกเศรษฐกิจจีนออกจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เรียกว่า The Great Decoupling ขณะนี้ขีดตรงกลางจึงสำคัญที่สุดสำหรับ ‘จีน-เมริกา’”
นี่เป็นการต่อสู้ช่วงชิงกันในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี การเงิน เศรษฐกิจ ระบอบการปกครอง ค่านิยม วัฒนธรรม และพื้นฐานความคิดทางกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน ทุกอย่างมันพอดีกับกรอบเงื่อนไขการเกิดสงครามเย็นในอดีต
ส่วน “จีน-เมริกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เขาอธิบายว่ามี 3 สาเหตุหลัก คือ
(1) เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องความมั่นคง สมัยก่อน ประเทศมหาอำนาจแข่งกันไปดวงจันทร์ ผลิตระเบิดทำลายล้าง ยิงขีปนาวุธ แต่ยุคใหม่ต้องมาแข่งกันเรื่องเทคโนโลยีซึ่งทุกคนใช้ มันจึงเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของทุกคน
นอกจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลแล้ว เทคโนโลยี 5G ยังผลักโลกเข้าสู่ยุค IoT (Internet of Things) ทำให้เราเชื่อมโยงทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ระดับคนทั่วไปอาจเชื่อมกับเครื่องซักผ้า ตู้เย็น ลำโพง แต่ในระดับชาติ สหรัฐฯ คงกังวลว่า หลังจากนี้หากทะเลาะกัน มีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหนที่จีนจะดับไฟ ปิดโรงไฟฟ้าสหรัฐฯ ทั้งประเทศ
ในยุคที่มีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ ผู้คนคิดว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของ (พรรคคอมมิวนิสต์) จีนเท่านั้น อย่างฮิลลารี คลินตัน ยังเคยพูดในงานเสวนาเรื่องอินเทอร์เน็ตว่า จีนจะกลายเป็นโลกเสรีเพราะมีสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต และการที่รัฐบาลจีนคิดจะควบคุมอินเทอร์เน็ตก็เหมือนการเอาตะปูตอกเยลลี (Like nailing the jelly to the wall) ในความหมายว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ทว่าขณะนี้ รัฐบาลจีนได้ฉายาว่าเป็น “รัฐบาลที่สามารถตอกตะปูบนเยลลีได้สำเร็จ” เป็นที่เรียบร้อย
การณ์กลับกลายเป็นสหรัฐอเมริกาเสียเองที่คิดว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต5G เป็นภัยความมั่นคง
(2) การเมืองภายในและระหว่างประเทศ ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะ “Make America Great Again” ประเทศจีนก็มี “Chinese Dream 2049” ความฝันจีนคือจีนจะกลับมาเป็นประเทศที่แข็งแกร่งหลังจากแพ้สงครามฝิ่น แม้จะไม่ได้แข่งกัน แต่อารมณ์ความรู้สึกว่ากำลังแข่งกันเป็นเบอร์หนึ่งมีอยู่
(3) เรื่องเล่าว่าเรานั้นต่างกัน แม้จะแน่ใจแล้วว่าปัจจุบัน (หรืออาจจะตลอดมา) จีนไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพราะมีระบบตลาดเข้ามาร่วมค้าขายและมีการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่ในด้านการเมือง อเมริกาคิดว่าจีนไม่ได้ขยับเข้าใกล้แนวคิดเสรีนิยมเลย นับวันยิ่งห่างออกไปด้วยซ้ำ ค่านิยมก็ต่างกันมาก เมื่อต่างกันมากเข้าก็ยิ่งเกิดเรื่องเล่าเรื่องการแข่งขัน เกิดความไม่ไว้วางใจ รู้สึกไม่มั่นคง ปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า “Self-fulfilling prophecy” คือพยากรณ์มากเข้าๆ มันจะกลายเป็นจริง
“ความไม่ไว้ใจกันก่อให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดทางเศรษฐกิจได้จริง และสิ่งนี้เองจะทำให้เกิดสงครามเย็นได้”
อาร์มยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้สหรัฐฯ กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2020 ซึ่งอาจทำให้การเมืองภายในประเทศเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นใครก็ตาม ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งยุติลงแน่นอน ตรงนี้น่าสนใจว่าโดยทั่วไปชนชั้นนำสหรัฐฯ ไม่ว่าฝ่ายไหน มีความเห็นสอดคล้องกันเรื่องจีน
ฉะนั้น นี่จะเป็นความขัดแย้งระยะยาวต่อไป สิ่งที่อาจแตกต่างไปคือรูปแบบเท่านั้น และต้องจับตาดูกันยาวๆ เพราะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกแน่นอน
มังกรใหญ่ทวงบัลลังก์
และที่ทางของ “เรา” ในเกมเขย่าโลก
“อะไรคือประวัติศาสตร์…ประวัติศาสตร์คือเสียงสะท้อนของอดีตสู่อนาคต และคือสิ่งที่เราจะทำในอนาคตซึ่งมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เราเคยทำในอดีต” – วิกเตอร์ ฮูโก นักเขียนชาวฝรั่งเศส
ปิติ ศรีแสงนาม ยกข้อความของนักเขียนเจ้าของผลงานอมตะ เหยื่ออธรรม ก่อนแจกแจงประวัติศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและพยากรณ์ว่าสงครามการค้าจะเดินไปอย่างไร
“สงครามการค้าคือการที่ประเทศหนึ่งพยายามทำลายการค้าของอีกประเทศหนึ่ง แล้วประเทศนั้นตอบโต้ ซึ่งผลของสงครามคือทำให้สองประเทศหรืออาจมากกว่านั้น สูญเสียด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งในภาคธุรกิจและผู้บริโภค เป็นผลข้างเคียงของการปกป้องคุ้มกันทางการค้าที่ผู้เข้าร่วมสงครามต้องจ่าย”
ปิติกล่าวถึงอมิตาฟ อาชาร์ยา (Amitav Acharya) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เสนอว่าโลกเราเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “The End of American World Order” นั่นคือความสามารถของอเมริกาในการจัดระเบียบโลกไม่ได้มีอยู่เหมือนในทศวรรษที่ 1990-2000 อีกต่อไปแล้ว โดยขยายความว่า เนื่องจากมีมหาอำนาจใหม่ขึ้นมาท้าทายและผู้นั้นคือจีน
“ฉะนั้นนี่ไม่ใช่แค่ complexity แต่เป็น multiplexity คือทั้ง multiple ทบเท่าทวีคูณ และยัง complex ซับซ้อนวุ่นวายด้วย เพราะสงครามนี้ไม่ได้มีผู้เล่นเพียงอเมริกาและจีนเท่านั้น แต่มีตามมาอีกคือบรรดาผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ได้แก่ อินเดีย สหภาพยุโรป แคนาดา เม็กซิโก และประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย”
ศาสตราจารย์อังกัส แมดิสัน (Angus Madison) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้ทำฐานข้อมูลประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกย้อนหลังไปได้กว่า 2,000 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1-2017
ที่มา: www.visualcapitalist.com
“ชาร์ตนี้ชี้ชัดว่ามหาอำนาจในโลกด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ตลอด 1,800 ปีแรก ประเทศที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี้คือจีนกับอินเดียเสมอมา ผลผลิตรวมกัน 50-70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อโลกตะวันตกปฏิวัติอุตสาหกรรม นั่นคือปฏิวัติ 1.0” ปิติให้ภาพ
เขาขยายความว่า หลังปฏิวัติอุตสากรรมก็เกิดสงครามแย่งชิงดินแดนในยุคล่าอาณานิคมของยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสให้สหรัฐอเมริกาเริ่มผงาดขึ้นระหว่างที่โลกกำลังป่วน หลังจากนั้นไม่นาน มีผู้ท้าชิงหน้าใหม่ขึ้นมาคือญี่ปุ่น เดาได้ไม่ยากว่าสหรัฐฯ เลือกใช้วิธีทุบเศรษฐกิจเหมือนเดิม และกล่าวได้ว่า ‘พลาซ่าแอกคอร์ด’ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นจมอยู่กับภาวะเศรษฐกิจซบเซาจนเป็นทศวรรษที่สูญหาย (The Lost Decades)
“แม้อเมริกาจะเป็นเจ้าแห่งยุค 3.0 ได้ก็จริง แต่ต้องย้ำว่าขณะนี้คือ 4.0 หรืออาจจะถึง 5.0 และที่สำคัญ คู่ต่อสู้ครั้งนี้คือจีนซึ่งไม่ได้เชื่อในทุนนิยมประชาธิปไตย
“ทุนนิยมมักจะมาพร้อมคำว่า กลไกตลาดและมือที่มองไม่เห็น แต่ในกรณีของจีน จีนใช้กลไกตลาดเข้ามาประยุกต์กับทฤษฎีชี้นำ อาจมาในชื่อ ‘ความคิดของเหมาเจ๋อตง’ ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ ‘สามตัวแทน’ หรือ ‘แนวคิดการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์’ กระทั่งปัจจุบันที่มาในชื่อ ‘สังคมนิยมอัตลักษณ์จีนสำหรับยุคใหม่’ ของสีจิ้นผิง ไม่ว่าจีนจะเรียกว่าอะไร
“เราเรียกว่า ‘กลไกตลาดแบบมีมือที่มองเห็น’ มือนั้นก็คือภาครัฐของจีน และมือนี้เองจะทำให้จีนผงาดขึ้นมาในโลกยุค 4.0”
ปิติไล่เรียงลำดับหมุดหมายสำคัญหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าปี 1978 จีนประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจ ปี 1992 เปิดประเทศ และเมื่อถึงปี 2001 จีนได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) จนมาถึงช่วงปี 2006-2007 จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นเศรษฐกิจเบอร์สองของโลก ในที่สุดเมื่อปี 2010 จีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งได้สำเร็จ
สิ่งนี้บอกว่า จีนไม่ได้หายไปไหน และเขากลับมาทวงตำแหน่งแล้ว
ส่วนภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เกี่ยวข้องเต็มๆ กับสงครามครั้งนี้ ในแง่ “ทางผ่าน” ของสินค้า การเงิน และอำนาจ ปิติกล่าวถึงเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล (Belt and Road Initiative) เมกะโปรเจ็กต์ของสีจิ้นผิงว่า ก่อนหน้านี้มีการประชุมสุดยอดผู้นำโอบอร์ (One Belt One Road – OBOR) เมื่อปี 2017 สิ่งที่จีนได้มาคือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่งเชื่อมจีนออกไปทุกทิศทาง เพื่อ (1) เข้าถึงตลาดเพื่อระบายกำลังการผลิตส่วนเกินจากในประเทศที่กำลังเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย (2) เข้าถึงทรัพยากรทั้งคนและของ รวมถึง (3) สร้าง “มิตร” ประเทศ
จนล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2019 ทางสายไหมใหม่ของจีนผุดขึ้นเป็น 36 ระเบียงเศรษฐกิจ และ 283 โครงการย่อยใน 4 รูปแบบ คือ (1) เชื่อมโครงสร้างพื้นฐาน (2) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (3) สร้างมิตรประเทศในโปรแกรม “คุณขอมา” คือประเทศไหนอยากได้อะไร ไม่ว่าท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ฯลฯ จีนจัดให้ และ (4) เชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเห็นว่าจีนขยายทุนและอิทธิพลไปมากมายเหลือเกิน
สหรัฐฯ ไม่นิ่งเฉยแน่นอน กระทรวงกลาโหมออกรายงานเกี่ยวอินโดแปซิฟิกโดยใช้ชื่อว่า “Open and Free Indo-Pacific” มีประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจคือ (1) การเคารพอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของทุกประเทศ (2) ระงับข้อพิพาทอย่างสันติ (3) กฏและปทัสถานที่ต้องยอมรับ และ (4) การค้าที่เสรีและเป็นธรรม โดยประเทศกลุ่มเป้าหมายที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอันดับแรกและจะจับตาดูอย่างใกล้ชิดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย
ปิติทิ้งท้ายว่า อาเซียนไม่อาจตกขบวนนี้เช่นกันจึงออกรายงานที่ว่าด้วยการเปิดน่านน้ำให้ทุกขั้วอำนาจเชื่อมต่อกันโดยมีเราเป็นจุดศูนย์กลางในทางภูมิศาสตร์
“หากลองขีดเส้นตรงกลางเชื่อมระหว่าง ‘จีน’ กับ ‘อเมริกา’ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ขีดกลางเส้นนั้นคือ ‘เรา’ ภูมิภาคอาเซียน และศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ ‘เรา’ ประเทศไทย ฉะนั้น อาเซียนต้องทำตัวเป็นคนสวย เล่นตัวให้เป็น ยิ่งเล่นเป็นยิ่งดี”
ถึงเวลาอเมริกา “เลียน” จากจีน
ท่ามกลางสงครามและสถานการณ์ซับซ้อนระหว่างจีนกับอเมริกา สันติธาร เสถียรไทย ชวนตั้งข้อสังเกต มองหาโอกาส และจับตาเทรนด์การเงิน เทคโนโลยี และเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายประเด็น ได้แก่
(1) วิธีคิดของบริษัทเทคจีน สันติธารเริ่มต้นจากการโยนคำถามว่า “เทคโนโลยีจีนเจ๋งจริงหรือ” คำตอบอาจน่าเหลือเชื่อ นั่นคือเขาเจ๋งจริง
“จากที่เมื่อก่อนใครๆ ในโลกพูดว่า อเมริกาคิดค้น จีนเลียนแบบ ยุโรปกำกับ ตอนนี้เปลี่ยนเป็น จีนคิดค้น อเมริกาเลียนแบบ ยุโรปกำกับ”
หลักฐานคือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ของโลกอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล และอเมซอน ก็ยังเริ่มหันไปมองจีนแล้วเลียนแบบ ทั้งฟีเจอร์ไลฟ์สตรีมมิ่งที่ให้ผู้ขายได้เจอกับผู้ซื้อโดยตรงแบบเรียลไทม์ ทั้งแอปพลิเคชั่นทำวิดีโอขนาดสั้น กระทั่งทำสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง แบบที่เฟซบุ๊กเป็นผู้นำสมาพันธ์ Libra ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลอันดับต้นๆ ของโลก
“ถ้าถามเฟซบุ๊กว่าคุณกลัวอะไรที่สุด เขากลัว ByteDance บริษัทเทคจากจีนที่เป็นเจ้าของ TikTok แอปพลิเคชั่นทำวิดีโอขนาดสั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือตอนนี้ไม่ว่าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมมีฟีเจอร์วิดีโอของตัวเองบ้างแล้ว เรื่องน่าสนใจที่เห็นได้จากปรากฎการณ์นี้คือ เทคโนโลยีของจีนไม่ได้มีแค่ที่เรามองเห็น ปกติโลกจะจับตากลุ่มบริษัท BAT คือ Baidu Alibaba และ Tencent ปรากฏว่าแอปเจ๋งๆ มาจากบริษัทอื่นมากมาย”
สันติธารยังชี้ให้เห็นถึงวิธีคิดที่แตกต่างของบริษัทเทคของจีนว่า บริษัทโซเชียลมีเดียทั้งหลายมีรายได้จากการเก็บข้อมูล (data) ของผู้ใช้ไปขายให้นักโฆษณา แต่บริษัทเทคของจีนจะตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเอาไปขายและทำไมไม่เอามาใช้เอง อย่าง Tencent มี WeChat ซึ่งเป็นซูเปอร์แอปคือ ทำได้ตั้งแต่ส่งข้อความคุยกัน จนถึงจองรถยนต์ สั่งอาหาร ซื้อประกัน ฯลฯ เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้นก็เพิ่มฟีเจอร์สำหรับการเงิน ฝาก ถอน โอน จ่าย ให้อั่งเปาออนไลน์ได้ผ่าน WeChat แอปเดียว
“คราวนี้ข้อมูลก็อยู่ในมือ Tencent มหาศาล เขานำไปวิเคราะห์ได้เลยว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมอย่างไร ตัดสินใจซื้ออย่างไร น่าจะมีรายได้เท่าไร เดินทางไปไหนบ้าง มีเพื่อนแบบไหน สามารถเชื่อมโยงจนหาความน่าเชื่อถือของคนนั้นๆ ได้ ปล่อยกู้ให้เขาได้ไหม ให้ได้แค่ไหน เขาน่าจะชอบลงทุนแบบไหน”
(2) การเดินทางเข้าสู่ครึ่งหลังของโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อปี 2018 มีคนใช้อินเทอร์เน็ตถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งโลกเราผ่านครึ่งแรกมาแล้วอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ที่น่ากังวลคือ ผลไม้ที่เก็บง่ายๆ ถูกเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว หรือก็คือ คนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตเป็นผลไม้ที่อยู่สูง เอื้อมถึงยากกว่า เก็บเกี่ยวยากกว่า เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดิจิทัลยังโตได้อีกในครึ่งหลังของโลกอินเทอร์เน็ต คำตอบคือคุณต้องไปหาในพื้นที่หรือประเทศที่ยังมีคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต โดย 53 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเอเชีย และเจาะจงมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ได้ เราคือภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 650 ล้านคน และ 50 เปอร์เซ็นต์อายุต่ำกว่า 30 ปี จึงเป็นไปได้มากว่าจีนและอเมริกาจะขยายอิทธิพลทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลมาทางอาเซียน
(3) สงครามการเงินระหว่างดอลลาร์สหรัฐกับหยวน เงินหยวนมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ล่าสุดได้เข้าไปเป็นหนึ่งสกุลเงินที่อยู่ในตะกร้าเงินของ IMF สะท้อนความเป็นสากลในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าจีนตามอเมริกาอยู่มาก 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินทุนสำรองแต่ละประเทศเป็นดอลลาร์ เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินบริโภคหมุนเวียนเป็นดอลลาร์ และ 40 เปอร์เซ็นต์ของพันธบัตรหนี้ทั่วโลกเป็นดอลลาร์ รวมถึงราคาน้ำมัน ทอง เหล็ก และสินค้าต่างๆ ยังตั้งเป็นดอลลาร์เช่นกัน เช่นเดียวกับตอนเศรษฐกิจสหรัฐฯ แซงหน้าอังกฤษ ก็ยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 50 ปี ในการทำให้ดอลลาร์สหรัฐแซงเงินปอนด์ได้ แต่ครั้งนี้ หากใส่เทคโนโลยีเข้าไป ให้กลายเป็นสกุลเงินดิจิทัล จีนอาจกลายเป็นผู้นำด้านบล็อกเชน เพราะจีนมีสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ (Digital Currency Electronic Payment – DCEP) เงินหยวนอาจมีอำนาจขึ้นมา และถึงตอนนั้นสมรภูมิจะเปลี่ยนจากสงครามการค้าเป็นสงครามการเงินก็ได้
สงครามครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระยะยาว และแน่นอนว่าหาข้อยุติไม่ได้ในเร็ววัน แต่กระนั้นก็ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดไม่ว่าโลกนี้จะเป็นสองแกนแบบทวิภพหรือหลายขั้วอำนาจอย่างพหุภพ หรือสงครามครั้งนี้จะจบลงอย่างไร แต่ข้อได้เปรียบในเชิงพื้นที่ที่เรามี จะทำให้สงครามครั้งนี้เป็นโอกาสของอาเซียนและไทย สิ่งหนึ่งที่ทั้งวิทยากรทั้งสามท่านเห็นร่วมกันคือ เราเคยเนื้อหอมอย่างไร เราจะเนื้อหอมมากขึ้นอีก ขอเพียงต้องเล่นตัวให้เป็นเท่านั้นเอง
เรา อันหมายถึงไทยและอาเซียน ต้องเข้าใจอำนาจต่อรอง เข้าใจการเจรจาให้ได้ประโยชน์ และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง