ชลิดา หนูหล้า เรื่อง
ลูกจะเป็นเด็กเล็กๆ คนหนึ่งเสมอสำหรับพ่อแม่ แต่ลูกจะไม่มีวันเป็นเด็กเล็กๆ ได้ตลอดไปในโลก และนั่นคือเหตุผลที่พ่อแม่ต้องทำให้ลูก “อยู่เองได้ โตเองเป็น”
แต่พูดง่ายกว่าทำเสมอ
“เราปล่อยมือจากลูกเมื่อไรกันบ้าง” เป็นคำถามที่ทุกครอบครัวมีคำตอบแตกต่างกัน บางคนปล่อยมือจากลูกทันทีที่สัมผัสได้ว่าเด็กเริ่ม “ปีกกล้าขาแข็ง” บ้างปล่อยให้ลูกเป็นอิสระเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย หรือยังยึดมือของลูกไว้แน่นแม้เมื่อลูก “เป็นฝั่งเป็นฝา” แล้ว ที่น่าสนใจคือความสามารถในการดูแลตนเองของเด็กอาจไม่ใช่สาเหตุของการปล่อยหรือไม่ปล่อยมือของผู้ใหญ่ แต่เป็นความรู้สึกว่าพวกเขาดูแลตัวเองได้หรือไม่ต่างหาก
Bookscape ร่วมกับ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนทบทวนแนวทางเลี้ยงดูและบ่มเพาะเด็กต่างกลุ่ม ต่างวัย ผ่านแว่นตาการศึกษา จิตวิทยา และการสร้างสรรค์นโยบาย เพื่อตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนมีกรอบความคิดแบบเติบโต มีวิจารณญาณ พร้อมก้าวผ่านอุปสรรคในชีวิต “อยู่เองได้ โตเองเป็น” ในศตวรรษใหม่ พร้อมแนวทางวางตัว-วางใจ ให้เป็นผู้สนับสนุนพัฒนาการที่ดี
“อยู่เองได้ โตเองเป็น” หมายความว่าอย่างไร
เพราะความกังวลของผู้ใหญ่ส่งผลต่อโอกาสเติบโตและเรียนรู้ของเด็ก ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ จาก mappa media จึงหยิบยกชื่อหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจของเสวนาสาธารณะครั้งนี้ขึ้นตั้งคำถามว่า “อยู่เองได้ โตเองเป็น” ของสี่วิทยากรหมายความว่าอย่างไรบ้าง
สำหรับ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ คำตอบคือ “การดูแลตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยใครอื่นเป็นหลักยึดให้พึ่งพา”
“แค่เห็นชื่อหนังสือก็ชอบเลย ผู้ป่วยบางคนมาพบหมอจนอายุ 20-30 ปีแล้วก็ยังปล่อยไปไม่ได้ การดูแลตัวเองได้แม้ไม่มีใครให้พึ่งพาจึงสำคัญ ไม่ใช่ถึงเวลาต้องตัดสินใจเองเป็นต้องรู้สึกว่าจะทำไม่ไหวไปเสียทุกครั้ง การทำอะไรได้ด้วยตัวเองจะทำให้มั่นอกมั่นใจ ภาคภูมิใจ ใช้ชีวิตต่อไปได้ และพัฒนาตัวเองเพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย เพราะตัวเองเต็มสมบูรณ์แล้ว”
ขณะที่ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยบอกว่า “ผมสนใจงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะผมอยากเห็นเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาเป็น การอยู่เองได้ โตเองเป็น จึงหมายถึงการที่เด็กเป็นคนที่ผมพูดถึงนี้ได้ กล้าตัดสินใจ รู้จักรับผิดชอบการตัดสินใจเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นได้ต่อเมื่อเด็กรู้สึกว่าตัวเองควบคุมสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของตัวเอง”
การทำอะไรได้ด้วยตัวเองจะทำให้มั่นอกมั่นใจ ภาคภูมิใจ ใช้ชีวิตต่อไปได้ และพัฒนาตัวเองเพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย เพราะตัวเองเต็มสมบูรณ์แล้ว
อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่าทั้งหมดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เอง แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมและการตัดสินใจของผู้ปกครอง รวมถึงโรงเรียน
เช่นเดียวกับครูประทิน เลี่ยนจำรูญ จากวิทยาลัยเทคนิคพังงา ที่พยายามปลูกฝังศิษย์ให้เชื่อว่า “เราลิขิตชีวิตของตัวเองได้ด้วยสมองและสองมือ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพที่ดีในวันข้างหน้า เมื่อช่วยเหลือตัวเองได้ก็จะกลับไปช่วยเหลือครอบครัวได้”
ส่วน รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ที่คลุกคลีกับการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษานอกระบบโรงเรียน ให้ความสำคัญกับการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิตของเด็กๆ “การอยู่เองได้ โตเองเป็น หมายถึงพวกเขาค้นพบบางอย่างในตัวเอง โดยมีพ่อแม่เกื้อกูล ไม่ใช่บังคับให้ค้นพบ แต่เกื้อกูลให้ค้นหาและพบเจอ จนได้พัฒนาศักยภาพอย่างที่ตัวเองเป็น กลายเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”
การอยู่เองได้ โตเองเป็น หมายถึงพวกเขาค้นพบบางอย่างในตัวเอง โดยมีพ่อแม่เกื้อกูล ไม่ใช่บังคับให้ค้นพบ แต่เกื้อกูลให้ค้นหาและพบเจอ จนได้พัฒนาศักยภาพอย่างที่ตัวเองเป็น กลายเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
เด็กไทย “อยู่เองได้ โตเองเป็น” หรือยัง
เห็นได้ชัดว่านิยามอยู่เองได้ โตเองเป็นของสี่วิทยากรนั้นคล้ายคลึงกัน คือความสามารถในการจัดการตนเองและจัดการอุปสรรคที่ต้องพบพานในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง คำถามต่อไปคือ แล้วเด็กไทยในปัจจุบัน “อยู่เองได้ โตเองเป็น” มากน้อยเพียงใด
วีระชาติเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยพึ่งพาตนเองได้ “แต่ยังไม่มากพอสำหรับสังคมไทย” โดยเฉพาะหลังถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่สั่นคลอนระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ
“เด็กจำนวนมากขาดทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองหรือไม่มีแรงจูงใจให้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเพราะเลี้ยงดูไม่เหมาะสมหรือโรงเรียนไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้ ผู้ปกครองหลายคนขาดความเข้าใจ หรือขาดเครื่องมือ หรือไม่ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ทุกวันนี้ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกำลังพยายามหาความรู้ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นความรู้หนึ่ง แต่สภาพปากท้องทำให้แก้ไขปัญหานี้ได้ยาก การซื้อหนังสืออาจไม่ยากด้วยซ้ำ ที่ยากจริงๆ คือมีเวลาอ่านไหม อ่านแล้วแปลงเป็นแนวปฏิบัติได้ไหม”
ทุกวันนี้ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกำลังพยายามหาความรู้ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นความรู้หนึ่ง แต่สภาพปากท้องทำให้แก้ไขปัญหานี้ได้ยาก การซื้อหนังสืออาจไม่ยากด้วยซ้ำ ที่ยากจริงๆ คือมีเวลาอ่านไหม อ่านแล้วแปลงเป็นแนวปฏิบัติได้ไหม
ขณะที่วิมลรัตน์ซึ่งพิจารณาปัญหาดังกล่าวผ่านแว่นตาจิตแพทย์อธิบายว่า “เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นอย่างไร ปัจจัยแรกที่กำหนดคือปัจจัยทางชีวภาพ เด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับความพร้อม เหมือนนางเอกละครที่ชีวิตยากลำบากแต่ใฝ่ดี บางคนมีพร้อมแต่ปัจจัยทางชีวภาพทำให้เป็นคนอารมณ์ร้อน จะเรียกว่าเป็นบุญเป็นกรรมก็ได้”
“ปัจจัยที่สองคือการเลี้ยงดู เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยเด็กจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่การเลี้ยงดูจะพลิกบางอย่างได้ ซึ่งบางทีก็เป็นอย่างที่อาจารย์วีระชาติว่า คือพ่อแม่มีความรู้ในประเด็นนี้ แต่ไม่มีทักษะ อ่านหนังสือจบแล้วก็ใช่ว่าจะทำได้ อีกข้อหนึ่งคือไม่มีทัศนคติที่ใช้ได้ แม้จะใช้ทุกอย่างที่ร่ำเรียนมาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกแล้ว แต่ก็ทำไปด้วยความรู้สึกว่าลูกไม่ดีพอ ทำไปโดยมีความขัดแย้งในตัวเอง ลูกก็จะรู้สึกได้ว่าไม่จริงใจ”
โดยปัจจัยสุดท้ายคือปัจจัยทางสังคมซึ่งซับซ้อนที่สุด “บางสังคมขาดโอกาส บางสังคมก็มีโอกาสจนล้น ไม่ชอบอย่างหนึ่งก็หนีไปทำอีกอย่างหนึ่งได้ ไม่เคยต้องทำอะไรจนสุดทาง ทั้งหมดนี้หล่อหลอมเด็กแตกต่างกัน ทำให้เด็กอยู่เองได้ โตเองเป็นมากน้อยแตกต่างกัน ที่น่าเป็นห่วงคือสองสังคมนี้ถอยห่างจากกันไปเรื่อยๆ คนที่มีก็มีมากเหลือเกิน คนไม่มีก็แสนจะไม่มี ห่างกันเหลือเกินระหว่างเด็กที่พร้อมจะอยู่เองกับเด็กที่ต้องอาศัยเฉพาะปัจจัยทางชีวภาพอย่างตามมีตามเกิด”
บางสังคมขาดโอกาส บางสังคมก็มีโอกาสจนล้น ไม่ชอบอย่างหนึ่งก็หนีไปทำอีกอย่างหนึ่งได้ ไม่เคยต้องทำอะไรจนสุดทาง ทั้งหมดนี้หล่อหลอมเด็กแตกต่างกัน ที่น่าเป็นห่วงคือสองสังคมนี้ถอยห่างจากกันไปเรื่อยๆ คนที่มีก็มีมากเหลือเกิน คนไม่มีก็แสนจะไม่มี ห่างกันเหลือเกินระหว่างเด็กที่พร้อมจะอยู่เองกับเด็กที่ต้องอาศัยเฉพาะปัจจัยทางชีวภาพอย่างตามมีตามเกิด
วงเสวนาหันไปหาครูประทินที่ต้องรับมือวัยรุ่น หรือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องอยู่เองให้ได้ ไม่ว่าภูมิหลังจะเอื้อให้อยู่เองได้หรือไม่ก็ตาม “ที่หมอพูดมาตรงกับปัญหาของเด็กๆ ที่เคยพบเจอจริงๆ” เธอยอมรับ ก่อนเผยเทคนิคส่งเสริมพัฒนาการวัยรุ่น คือบังคับพวกเขาให้น้อยลง “เด็กหลายคนกลัวโรงเรียนหรือไม่อยากมาโรงเรียน เพราะผู้ใหญ่นำระเบียบมาควบคุมเขาไปเสียทั้งหมด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นจะต้องโดนอย่างนี้ ขู่กันหลายรูปแบบ วัยรุ่นที่ไม่ชอบการบังคับควบคุมก็ยิ่งไม่อยากมาโรงเรียน แล้วการต่อต้านโรงเรียนนี่ละที่จะทำให้เด็กไปไม่ถูกทาง”
นอกจากนี้ เธอยังเล่าเรื่องราวของนักเรียนคนหนึ่งที่ครูพูดหยาบคายด้วยเพราะเข้าเรียนช้าเล็กน้อย ผลคือเด็กขอหยุดเรียนวิชาดังกล่าวอย่างน่าเสียดาย “เด็กคนนี้เป็นคนสุภาพมาก ไม่เคยพูดจาไม่สุภาพกับใคร เขาโตเองได้แน่ๆ แต่ผู้หลักผู้ใหญ่นี่ละที่แสดงพฤติกรรมให้เด็กสับสนว่าอะไรกันแน่ที่ถูกต้อง”
วีระเทพที่เป็นทั้งพ่อและอาจารย์มหาวิทยาลัยเสริมว่าวัฒนธรรมไทยมีส่วนกำหนดความสามารถในการดูแลตนเองของเด็กเช่นกัน “เรามักจะพูดว่าโลกในอนาคตน่ากลัว เพราะยุคของเราไม่ได้มีสิ่งเร้าอะไรมากมาย พ่อแม่จึงมักจะเป็นห่วงเป็นใย บอกว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์มากกว่า จึงต้องดูแลลูกๆ เพื่อป้องกันการตัดสินใจผิดพลาด แต่สุดท้ายโลกอนาคตก็เป็นโลกของเด็ก พวกเขาควรมีสิทธิ์ออกแบบมันเอง การคิดอย่างนี้ทำให้พ่อแม่ตัดสินใจแทนลูก เมื่อเป็นอย่างนี้ลูกก็ไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรถูกหรือผิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จำได้แต่ว่าพ่อแม่บอกว่ามันถูก โดยไม่ได้ค้นคว้าหรือถกเถียง”
“ที่ผ่านมาพ่อแม่ยังใช้วิธีที่เป็นลบเพื่อให้ลูกเก่ง ดี มีสุขเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกของคนอื่น การหลอกให้กลัว อย่าออกไปข้างนอกตอนกลางคืนนะ เดี๋ยวจะถูกจับไป เดี๋ยวตุ๊กแกจะกินตับ หรือการใช้ความรุนแรงที่พ่อแม่หลายคนคิดว่าได้ผล แต่จริงๆ ไม่ได้ผลเท่าไรหรอกครับ นอกจากทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่ตอนนี้ก็ตอนหน้า แถมลูกยังไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง อีกอย่างหนึ่งคือระบบสังคมที่บีบให้ต้องเก่งจึงจะประสบความสำเร็จ เป็นระบบแพ้คัดออก มือใครยาวสาวได้สาวเอา เราจึงพบคนเก่งหลายคนที่ขาดคุณธรรม เพราะเราพยายามดึงคนข้างบนลงมาแล้วถีบคนข้างล่างลงไปพร้อมๆ กัน”
ที่ผ่านมาพ่อแม่ยังใช้วิธีที่เป็นลบเพื่อให้ลูกเก่ง ดี มีสุข ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกของคนอื่น การหลอกให้กลัว หรือการใช้ความรุนแรงที่พ่อแม่หลายคนคิดว่าได้ผล แต่จริงๆ ไม่ได้ผลเท่าไรหรอกครับ นอกจากทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่ตอนนี้ก็ตอนหน้า แถมลูกยังไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง
แล้วพ่อแม่จะวางตัว-วางใจของตนเองอย่างไร
“เด็กบ้านโน้นกับเด็กบ้านเรามีดีเอ็นเอแตกต่างกันค่ะ และมี ‘ดี’ แตกต่างกันด้วย” วิมลรัตน์บอก “เมื่อไรก็ตามที่พ่อแม่รู้สึกว่าลูกมีดี เราจะไว้ใจว่าลูกไปต่อได้ ถ้าไม่ใช่ เราจะคิดว่าลูกทำอะไรก็ไม่ดี ทำนั่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ จะหวังให้เกิดอะไรขึ้นต่อไปก็ยาก พ่อแม่บางคนเถียงว่า ‘โอ๊ย ไม่นะ ไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย ลูกดีแล้ว แต่ถ้า… ก็คงจะดีกว่านี้’”
“มีแต่ถ้าเต็มไปหมด ลูกที่ไหนจะรู้สึกดีได้ ถ้าสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารทั้งชีวิตคือลูกไม่เคยดีพอสำหรับพ่อแม่ เด็กไม่มีทางจะรู้สึกได้ว่าตัวเองมีความสามารถมากพอที่จะอยู่เอง”
เธอแนะนำให้พ่อแม่ทบทวนว่าตนหวังอะไรจากลูก หวังให้ลูกเรียนได้ดีและเชื่อฟังหรือไม่ แล้วถ้าไม่ได้อย่างที่หวังจะจัดการตัวเองอย่างไร “ความดีของลูกมีหลายจุด แต่บางทีเรากลับมองจุดอื่น ลูกหัวเราะได้ก็ดีนี่ ระหว่างหัวเราะกับร้องไห้จะเอาอะไร ความดีของลูกมีตั้งมากมาย เล่นเกมเก่ง ช่วยเหลือคนอื่นเก่ง เข้าสังคมเก่ง ถ้าเราปรับทัศนคติเกี่ยวกับความดีของลูกแล้วชื่นชมมันให้ได้ทั้งที่มันไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวัง ลูกก็จะรู้ว่าฉันมีข้อดีนะ ฉันอยากพัฒนาตัวเองต่อไป ตรงกันข้าม ถ้าได้ยินแต่คำว่าไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ ไม่รู้จักคิด โตมาจะให้จู่ๆ คิดได้เองก็คงมีแต่ในละคร”
ความดีของลูกมีหลายจุด แต่บางทีเรากลับมองจุดอื่น ลูกหัวเราะได้ก็ดีนี่ ระหว่างหัวเราะกับร้องไห้จะเอาอะไร ความดีของลูกมีตั้งมากมาย เล่นเกมเก่ง ช่วยเหลือคนอื่นเก่ง เข้าสังคมเก่ง ถ้าเราปรับทัศนคติเกี่ยวกับความดีของลูกแล้วชื่นชมมันให้ได้ทั้งที่มันไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวัง ลูกก็จะรู้ว่าฉันมีข้อดีนะ ฉันอยากพัฒนาตัวเองต่อไป
“จริงๆ การอยู่เองได้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยซ้ำ เด็กอายุสองขวบก็อยากกินข้าวเองแล้ว แต่เราไม่มองตรงนั้น เรามองแต่ว่ามันไม่พอ กินข้าวก็หก เขียนหนังสือก็ไม่สวย มีแต่ความไม่ดีพอในชีวิต มันบั่นทอนปัจจัยอื่นๆ เสียหมดจนเหลือแต่ปัจจัยทางชีวภาพ”
นอกจากนี้ ยังมีความสุดโต่งอีกทางหนึ่งที่ทำให้เธอหนักใจ “บางคนก็เข้าใจว่าการเลี้ยงลูกให้อยู่ได้เองคือการไม่ขัดใจลูก แต่มันมีเส้นบางๆ ค่ะระหว่างเด็กที่ถูกตามใจจนเคยกับเด็กที่มีระเบียบพอสมควร ความแตกต่างคือการตามใจหมายถึงผิดก็ให้ทำ ลูกขโมยดินสอเพื่อนก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวซื้อคืนเพื่อนก็ได้ แต่ไม่สอนว่าไม่ควรทำ ลูกต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นด้วย หมอจะชัดเจนกับตัวเองเสมอว่าลูกละเมิดสิทธิของคนอื่นไม่ได้ และละเมิดสิทธิของตัวเองไม่ได้ อย่างกรีดข้อมือนี่ไม่ได้”
บางคนก็เข้าใจว่าการเลี้ยงลูกให้อยู่ได้เองคือการไม่ขัดใจลูก แต่มันมีเส้นบางๆ ระหว่างเด็กที่ถูกตามใจจนเคยกับเด็กที่มีระเบียบพอสมควร ความแตกต่างคือการตามใจหมายถึงผิดก็ให้ทำ ลูกขโมยดินสอเพื่อนก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวซื้อคืนเพื่อนก็ได้ แต่ไม่สอนว่าไม่ควรทำ
ขณะที่วีระชาติถอยออกมาพิจารณาสภาพสังคมที่หล่อหลอมพ่อแม่อีกทอดหนึ่ง “นี่เป็นปัญหาใหญ่นะครับ นักเศรษฐศาสตร์สนใจมาก ทำไมลูกคนรวยโตไปก็รวย ลูกคนจนโตไปก็จน เหตุผลหนึ่งคือทรัพยากรของครอบครัว อันดับหนึ่งคือเวลา พอไม่มีเวลาเลี้ยงดูอย่างที่หมอพูด ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ยาก หน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของสังคมคือการตัดวงจรนี้ และความหวังหนึ่งคือการศึกษา เราทุ่มเงินมหาศาลให้การศึกษาก็เพราะหวังว่าจะตัดวงจรนี้ได้”
แนวทางที่เขาแนะนำในการจัดการเรียนรู้คือการ “แบ่งปันอำนาจตัดสินใจ” ผ่านการกำหนดข้อตกลงร่วมกันระหว่างเด็กและครูว่าพวกเขาทำอะไรได้บ้าง โรงเรียนจึงจะน่าอยู่ และเด็กจึงจะกล้าแสดงความคิดเห็น โดยวีระชาติเชื่อว่า หากประชากรมีความรู้สึกว่าตนเปลี่ยนแปลงโลกรอบๆ ตัวได้ “งานทั้งหลายจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองจินตนาการว่าทุกคนในอฟฟิศรู้จักตัดสินใจและใช้เหตุผล ทุกการพูดคุยก็จะจบด้วยดี ต้นทุนต่ำลง เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หลายคนถูกระบบหล่อหลอมตั้งแต่เล็กจนโตให้ไม่พูด จนไม่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในประเทศเรา เพราะไม่มีบรรยากาศที่ทำให้คนรู้สึกว่าเสนอความคิดเห็นได้”
เมื่อถามว่าจะก้าวข้ามแนวคิดอาวุโสนิยมที่เป็นเสมือนอุปสรรคสำคัญของการบ่มเพาะอุปนิสัยกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำในเยาวชนอย่างไร เขาตอบว่า “สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการทำงานกับเด็กคือเราต้องให้เกียรติเด็ก เราต้องโน้มตัวลงไปหาเด็ก นี่เป็นการตอบกลับของผู้ใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราอยู่กับเด็ก และที่เราจะได้กลับมาคือความเคารพ ความอาวุโสไม่ได้มีปัญหาด้วยตัวของมันเอง ปัญหาคือเราใช้มันมากเกินไป ทั้งที่ไม่ควรจะมีอะไรอยู่เหนือเหตุผล เราแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องถ่อมตน (humble) ให้เป็น ต้องมีสมดุล ต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้และโน้มเข้าหากันทุกช่วงวัย”
สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการทำงานกับเด็กคือเราต้องให้เกียรติเด็ก เราต้องโน้มตัวลงไปหาเด็ก นี่เป็นการตอบกลับของผู้ใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราอยู่กับเด็ก และที่เราจะได้กลับมาคือความเคารพ ความอาวุโสไม่ได้มีปัญหาด้วยตัวของมันเอง ปัญหาคือเราใช้มันมากเกินไป
“แบ่งปันอำนาจตัดสินใจ” พูดง่ายแต่ทำยาก
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญคือ “วิธีที่ดีสำหรับเด็กคนหนึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงสำหรับเด็กอีกคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้นต้องหาจุดที่พอดีเสมอ”
ประทินย้ำอีกด้วยว่า “ต้องพยายามสร้างแรงขับเคลื่อนภายในให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง”
เธอยกตัวอย่างกรณีที่เด็กคนหนึ่งในวิทยาลัยเป็นโรคซึมเศร้าเพราะถูกพ่อแม่ทำร้ายตั้งแต่ยังเล้ก และเมื่อใช้ยาก็จะง่วงจนเข้าเรียนไม่ได้ โชคยังดีที่เรียนได้ดีโดยธรรมชาติ แต่การขาดเรียนบ่อยทำให้เพื่อนหลายคนที่ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นโรคซึมเศร้าไม่เข้าใจและต่อต้าน
วิธีที่ดีสำหรับเด็กคนหนึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงสำหรับเด็กอีกคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้นต้องหาจุดที่พอดีเสมอ
“ครูได้ฟังเรื่องราวของเขาก็สะท้อนใจ เข้าไปโอบกอด เขาอยากได้อะไรครูให้เขาหมดเลย เขาว่าไม่อยากเรียนกับเพื่อนเพราะเพื่อนแกล้งเขา ครูก็ตกลง ให้เขาเรียนคนเดียว แต่ปรากฏว่าผลการเรียนแย่ลงกว่าเดิม เราต้องพาเขาไปหาจิตแพทย์ ถามไปถามมาได้ความว่าเด็กไม่อยากหายป่วย เพราะป่วยแล้วได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ทำให้เขายิ่งมีปัญหา ครูก็ต้องมาหาจุดที่พอดีร่วมกันกับเขาใหม่ ไม่ใช่คอยต้มข้าวจัดยาให้ อยากนอนก็ให้เข้ามานอนในห้องพักครู จนกลายเป็นว่าเด็กดูแลตัวเองไม่ได้ ทุกวันนี้เด็กคนนี้มีผลการเรียนดีเหมือนเดิมแล้ว และทำงานร่วมกับเพื่อนได้”
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือส่งเสริมแรงจูงใจในตัวเอง “เด็กคนหนึ่งมีภาวะซึมเศร้าเหมือนกัน จนกลายเป็นเด็กที่ทำร้ายตัวเอง กรีดข้อมือเพราะอยากรู้สึกเจ็บปวด จนวันหนึ่งเด็กคนอื่นๆ ได้ไปฝึกงานที่จีนโดยไร้ค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ครูบอกว่าเขาไปไม่ได้เพราะยังไม่หาย เขาก็บอกว่าเขาจะหายให้ได้และเริ่มออกกำลังกาย วันหนึ่งขณะที่เพื่อนบางกลุ่มได้เดินทางไปก่อนแล้ว เขาก็เอาใบรับรองแพทย์มาหาครู บอกว่าหายแล้ว หมอไม่นัดแล้ว แล้วเขาก็ได้ไปจีนจริงๆ ดังนั้นเด็กทุกคนมีวิธีแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน จึงควรมีผู้เชี่ยวชาญคอยแก้ไขปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคลในโรงเรียนด้วย”
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาร่วมกับเด็กโดยหาข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างพอใจตลอดจนบรรเทาปัญหาได้จริงยังให้ผลดีในกรณีอื่นๆ ที่ไม่รุนแรงเท่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ในชั้นเรียน หรือกระทั่งการกำหนดบทลงโทษเมื่อนักเรียนทำผิดกฎของโรงเรียน “บางครั้งเมื่อเด็กทำผิดพลาด บางคนก็ถามว่าทำไมไม่ลงโทษ ทำไมไม่ให้ออก แต่เราต้องคิดเสียก่อนว่าเด็กคือเด็ก วุฒิภาวะย่อมไม่เท่ากัน ยิ่งซ้ำเติมก็ยิ่งยากที่เด็กจะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ครูเลือกที่จะให้โอกาส ด้วยการให้ทำความดีชดเชย แต่ก็ต้องฟังเด็กด้วยว่าเห็นด้วยไหม แล้วค่อยตกลงกันว่าจะให้โอกาสอย่างไร จะต้องรดน้ำต้นไม้หนึ่งเดือน ทำความสะอาดห้องน้ำหนึ่งเดือน หรือตัดคะแนน เขาจะจัดการตัวเองอย่างไรดี และจะให้คนอื่นจัดการเขาอย่างไร”
บางครั้งเมื่อเด็กทำผิดพลาด บางคนก็ถามว่าทำไมไม่ลงโทษ ทำไมไม่ให้ออก แต่เราต้องคิดเสียก่อนว่าเด็กคือเด็ก วุฒิภาวะย่อมไม่เท่ากัน ยิ่งซ้ำเติมก็ยิ่งยากที่เด็กจะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ครูเลือกที่จะให้โอกาส ด้วยการให้ทำความดีชดเชย แต่ก็ต้องฟังเด็กด้วยว่าเห็นด้วยไหม แล้วค่อยตกลงกันว่าจะให้โอกาสอย่างไร
สำหรับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กในบ้านเรียนหรือศูนย์การเรียนต่างๆ นั้น แม้ลักษณะการจัดการเรียนรู้จะเอื้อต่อการค้นพบตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กนำการเรียนรู้ของตนเอง ตลอดจนอนุญาตให้เด็กจัดการตนเองอยู่แล้ว แต่การหลุดจากระบบการศึกษาที่เป็นกระแสหลัก ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือเป็นทางเลือกของเด็กเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวเองของพวกเขา และเป็นประเด็นที่ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจ ก่อนความรู้สึกนั้นจะลุกลามไปทำลายความสามารถในการจัดการตนเอง
“เด็กหลุดจากระบบด้วยหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะโรงเรียนไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของพวกเขา ถูกตีตรา ถูกรังแกบ้าง หรือเกิดจากการกระทำความผิดของเด็กเอง จุดนี้หลายหน่วยงานต้องให้ความช่วยเหลือ ต้องกระตุ้นให้เด็กเห็นว่าพวกเขามีข้อดีอะไรบ้างในตัว ซึ่งไม่ใช่แค่ผลการเรียน” วีระเทพอธิบาย
“เราต้องทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้กลายเป็นว่าเด็กหนีจากระบบหนึ่งมาเจออีกระบบหนึ่ง เขาหนีจากระบบโรงเรียนมาแล้ว จะให้เรียนในศูนย์เหมือนที่เรียนในระบบก็ไม่ได้ ต้องมีทางเลือกอื่นให้เด็กจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ มีโครงการหนึ่งที่พยายามเชื่อมโยงการศึกษาทางเลือกกับการจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการเชื่อมต่อเด็กกับศูนย์การเรียนในสังคม เช่น องค์กร สถานประกอบการต่างๆ ฯลฯ ที่ให้การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งศูนย์การเรียนเหล่านี้จะใช้กลุ่มประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ คือองค์ความรู้ที่เด็กพึงมี 4-5 อย่าง ไม่ใช่กลุ่มสาระการเรียนรู้และตัวชี้วัด โดยจะใช้ความสนใจของเด็กเป็นฐาน แล้วจัดการเรียนรู้จากจุดนั้นไปเหมือนโปรเจกต์ ประเทศเรามีกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างนี้อยู่ แต่โรงเรียนไม่ค่อยทำ นอกจากนี้ แต่ละท้องที่ก็ต้องมีศูนย์พักคอย ให้เด็กที่หลุดจากระบบรู้ว่าจะไปทางไหนต่อ”
เด็กหลุดจากระบบด้วยหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะโรงเรียนไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของพวกเขา ถูกตีตรา ถูกรังแกบ้าง หรือเกิดจากการกระทำความผิดของเด็กเอง จุดนี้หลายหน่วยงานต้องให้ความช่วยเหลือ ต้องกระตุ้นให้เด็กเห็นว่าพวกเขามีข้อดีอะไรบ้างในตัว ซึ่งไม่ใช่แค่ผลการเรียน
“พื้นที่ปลอดภัย” อยู่ที่ไหนกัน
จากบทสนทนาว่าด้วยการแบ่งปันอำนาจตัดสินใจ ประเด็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นคือเด็กต้องรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็นและเผยความต้องการของตนเสียก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่า การสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” คือจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะเด็กให้ “อยู่เองได้ โตเองเป็น”
แต่เราจะสร้างพื้นที่นั้นได้อย่างไร
“ใครๆ ก็อยากทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งนั้น แต่ไม่มีใครมีเวลา” คือคำตอบของจิตแพทย์
“หมอขอแค่พ่อแม่ใช้เวลาเท่าที่ตัวเองมี อยู่ด้วยกันโดยไม่ทะเลาะกัน ไม่ใช่มีเวลาอยู่กับลูกน้อยนิดแล้วยังทะเลาะกันได้ เรามักพูดกันว่าวัยรุ่นติดเพื่อน แต่เด็กทุกคนพูดว่า ถ้าพูดกับพ่อแม่ได้เวลามีปัญหา พวกเขาก็อยากพูด แต่นี่พูดแล้วโดนด่า พูดกับเพื่อนแล้วเพื่อนไม่ด่า”
หมอขอแค่พ่อแม่ใช้เวลาเท่าที่ตัวเองมี อยู่ด้วยกันโดยไม่ทะเลาะกัน ไม่ใช่มีเวลาอยู่กับลูกน้อยนิดแล้วยังทะเลาะกันได้ เรามักพูดกันว่าวัยรุ่นติดเพื่อน แต่เด็กทุกคนพูดว่า ถ้าพูดกับพ่อแม่ได้เวลามีปัญหา พวกเขาก็อยากพูด แต่นี่พูดแล้วโดนด่า
“แล้วจะใช้เวลาที่ได้อยู่ด้วยกันนั้นทำอะไร คำตอบคือใช้ในการฟัง” เธอเฉลย “เหมือนที่ครูประทินพูดคุยกับเด็ก ไม่ใช่สั่งให้ทำโน่นนี่ เหมือนที่อาจารย์วีระเทพจะไม่เข้าไปในชุมชนแล้วพูดว่า ‘เรามาด้วยความหวังดี ดังนั้นทำตามที่เราบอกนะ’ ถ้าไม่รู้ว่าจะพูดอะไรให้เงียบค่ะ กัดปากไว้แล้วฟัง ฟังอย่างเข้าใจด้วย ถ้าอยากตอบกลับ ถามตัวเองก่อนว่าการพูดนั้นจำเป็นไหม ปัญหาในบ้านมักมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนั้น บอกให้ล้างจาน ลูกบอกเดี๋ยวก่อน บอกให้หยุดเล่นเกม ลูกบอกขออีกหน่อย อย่างนี้เป็นต้น แต่เราต้องถามตัวเองนะว่า การไม่ล้างจานเดี๋ยวนี้จะทำให้ลูกไม่มีความรับผิดชอบ เรียนไม่จบ ไม่มีการมีงานทำหรือเปล่า ทำไมต้องทะเลาะกันเพราะไม่ล้างจานในเวลาน้อยนิดเดี๋ยวนี้ด้วย”
“บางทีลูกอาจไม่ใช่พระเอกนางเอกละคร แต่ก็ไม่ใช่ตัวร้ายเสียหน่อย เป็นเพื่อนพระเอกนางเอกสบายๆ ก็ได้นี่ เด็กไม่เคยมีความคิดว่าฉันจะทำตัวไม่ดี ฉันจะเลวหรอก แต่มีบางอย่างที่ทำให้เด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเราต้องเห็นคุณค่าของความตั้งใจดีนี้บ้าง แล้วค่อยๆ ช่วยเหลือให้พวกเขาดูแลตัวเองได้”
หากในเวลาอันน้อยนิดที่มีค่านั้น เด็กถูกตอกย้ำว่าเธอยืนเองไม่ได้หรอก เพราะพับผ้าไม่เป็น พูดไม่เพราะ ไม่ล้างจาน บ้านก็จะไม่ใช่ที่ที่เด็กทิ้งตัวหลังเผชิญเหตุการณ์ทั้งหลายนอกบ้านได้
ทั้งนี้ เพราะ “หากในเวลาอันน้อยนิดที่มีค่านั้น เด็กถูกตอกย้ำว่าเธอยืนเองไม่ได้หรอก เพราะพับผ้าไม่เป็น พูดไม่เพราะ ไม่ล้างจาน บ้านก็จะไม่ใช่ที่ที่เด็กทิ้งตัวหลังเผชิญเหตุการณ์ทั้งหลายนอกบ้านได้ เราเองยังควบคุมตัวเองให้เป็นอย่างที่ควรจะเป็นได้ยาก ยังจะไปหวังให้คนในบ้านทำได้อย่างใจได้อย่างไร มันผิดหวังตั้งแต่คิดแล้ว ดังนั้นฟังให้เข้าใจ เราเปลี่ยนโลกทั้งใบไม่ได้ ทำได้แค่เปลี่ยนตัวเอง”
โดยหนึ่งในเทคนิคการพูดคุยที่น่าสนใจคือ “ไอเมสเสจ” (I message) หรือประโยคบอกเล่าที่เน้นบอกความรู้สึกและความต้องการของผู้พูด ไม่ใช่ตำหนิคู่สนทนา
“บอกพฤติกรรมที่เรารับไม่ได้ ตามด้วยทำไมเราต้องพูดถึงพฤติกรรมนั้น เราเป็นห่วงอย่างไรบ้าง และต้องการให้เกิดอะไรขึ้น ลูกเล่นเกม ก็บอกไปว่าลูกเล่นเกม ไม่อ่านหนังสือ แม่เป็นห่วง กลัวว่าจะได้คะแนนไม่ดี หยุดเล่นเกมแล้วมาอ่านหนังสือด้วยกันไหม พฤติกรรมคือสิ่งที่ไม่ต้องแปล แต่โดยทั่วไปเรามักแปลมัน เช่น เป็นเด็กไม่ดีเลย ไม่รับผิดชอบเลย ไม่อ่านหนังสือ ฯลฯ ถามว่าพูดอย่างนี้ลูกจะฟังไหม บางทีก็ไม่ แต่การพูดดีๆ จะทำให้ไม่ต้องทะเลาะกัน ทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนสำหรับอนาคต”
กระนั้น ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลว่าด้วยการเลี้ยงดูจำนวนมหาศาลซัดกระหน่ำ พ่วงด้วยความคิดเห็นของปู่ย่าตายายในครอบครัวขยาย พ่อแม่จะรักษาทิศทางการเลี้ยงดูที่รู้ทั้งรู้ว่าถูกต้องโดยไม่หวั่นไหวก็เป็นไปได้ยาก ซึ่งวิมลรัตน์แนะนำให้ “ทำตัวเองให้แข็งแรง ยึดหลักว่าทำอะไรแล้วมีความสุข ทำสิ่งนั้น”
“ถ้าเราไปทำงาน หลานไปอยู่กับปู่ย่า เราทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปทะเลาะกัน ช่วงที่ลูกกลับมาอยู่กับเรา ลูกจะรู้เองว่าอยู่กับเราต้องทำตัวอย่างไร ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของปู่ย่าก็ต้องพูดคุยกัน ไม่ใช่ทะเลาะกัน เพราะทะเลาะแล้วอีกฝ่ายอาจจะแอบทำ ใช้ไอเมสเสจเหมือนเดิมก็ได้ ไม่ใช่ตำหนิก่อน สำหรับข้อมูลในโซเชียลมีเดียนั้น ถ้าทำแล้วไม่มีความสุข ไม่ใช่สำหรับลูก มันก็จบเท่านั้น สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกคือความสุข”
ขณะที่พ่อคนหนึ่งในวงเสวนาอย่างวีระเทพเชื่อว่า การกระทำเล็กๆ น้อยๆ อย่างการยิ้มและโอบกอดนั้นสำคัญกว่าที่หลายคนคิด
“คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องยิ้มให้ลูกเป็น ถ้าจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูก ต้องสบตาลูกเมื่อลูกพูดคุยด้วย เพราะตาสื่อได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร อีกอย่างหนึ่งคือต้องพูดเชิงบวก คือการชม คำพูดมีสามประเภท ยอ ชม ตำหนิ ยอคือชมเชยสิ่งที่เกินจริง ชมคือชมเชยสิ่งที่เป็นจริง ตำหนิคือว่าติสิ่งที่ไม่ดีทั้งที่จริงและไม่จริง ชมจึงดีที่สุด”
คำพูดมีสามประเภท ยอ ชม ตำหนิ ยอคือชมเชยสิ่งที่เกินจริง ชมคือชมเชยสิ่งที่เป็นจริง ตำหนิคือว่าติสิ่งที่ไม่ดีทั้งที่จริงและไม่จริง ชมจึงดีที่สุด
“ชมทุกอย่างที่เป็นจริงละครับ เขาเป็นอะไรก็ชมไปเถอะ แล้วไม่ต้องบังคับตัวเองว่าต้องชมเมื่อไร มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่จะให้ลอดห่วงไฟก็เอาเนื้อไปล่อ เอาแส้ไปฟาดกัน การสัมผัสก็สำคัญ ลูกจะเป็นวัยรุ่นแค่ไหนก็อยากให้เรากอด การให้อิสระลูกเล่นหรือจดจ่อกับอะไรบางอย่างอย่างเต็มที่ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นตัวต่อเลโก้หรืออะไรก็ตาม ถ้าลูกเล่นไม่ได้ เดี๋ยวลูกจะมาถามเราเองว่าจะเล่นอย่างไรต่อไปดี นี่คือการเรียนรู้ของลูก ถ้าเราเข้าไปก็จะขวางพัฒนาการบางอย่าง ยกเว้นเมื่อเราต้องเล่นเพื่อสานความสัมพันธ์”
สำหรับเด็กๆ ทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษานั้น เขาเชื่อว่าการสะท้อนคิด (reflection) หลังนำการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่ถูกตัดสินว่าการตกผลึกนั้นถูกหรือผิด เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเช่นกัน
“การสะท้อนคิดจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนมีอิสระแต่ไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย ได้รับโอกาสทำสิ่งที่สนใจโดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือในบางมิติ การได้เล่น ได้ทำ แล้วมานั่งพูดคุยกัน ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กไตร่ตรองระบบความคิด เพื่อดูว่าสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้คืออะไร ในที่สุดจะทำให้เด็กเห็นว่าอะไรทำให้ตัวเองเรียนรู้ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง”
การสะท้อนคิดจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนมีอิสระแต่ไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย ได้รับโอกาสทำสิ่งที่สนใจโดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือในบางมิติ การได้เล่น ได้ทำ แล้วมานั่งพูดคุยกัน ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กไตร่ตรองระบบความคิด เพื่อดูว่าสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้คืออะไร ในที่สุดจะทำให้เด็กเห็นว่าอะไรทำให้ตัวเองเรียนรู้ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง
การลงทุนที่คุ้มค่า
คำถามสุดท้ายสำหรับนักเศรษฐศาสตร์อย่างวีระชาติ คือการทำให้เด็ก “อยู่เองได้ โตเองเป็น” ผ่านการลองผิดลองถูกและรับผิดชอบตนเองนั้น ท้ายที่สุดแล้วสังคมจะ “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ ซึ่งเขายืนยันว่า เป็นคำตอบที่ตอบได้ยาก แต่ก็ไม่อาจถอยหลังได้
“ขึ้นอยู่กับว่าลองผิดลองถูกเรื่องอะไร และต้องไม่ลืมว่ามีหลายอย่างที่เราเองก็ไม่รู้ แต่เราก็เรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกกันทั้งนั้น ความเจริญทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคเกิดจากการลองผิดลองถูกของบุคคล คำถามคือแค่ไหนจึงจะเหมาะสมต่างหาก ผมเห็นด้วยว่าการฟังนั้นยากมาก และมีต้นทุนทางจิตใจที่ต้องฝึกฝน”
ต้องไม่ลืมว่ามีหลายอย่างที่เราเองก็ไม่รู้ แต่เราก็เรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกกันทั้งนั้น ความเจริญทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคเกิดจากการลองผิดลองถูกของบุคคล คำถามคือแค่ไหนจึงจะเหมาะสมต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยความสุขเช่นกัน “ผมคิดว่าผู้ปกครองต้องใส่ใจรายละเอียดเหล่านี้ให้มากขึ้น ดูให้แน่ว่าอะไรที่เรารู้ เรามั่นใจ แล้วนำมาสร้างข้อตกลงกับลูก แต่อะไรที่ก็ไม่รู้หรือไม่มั่นใจก็ไม่ต้องบีบคั้นกัน ตอนนี้หลายคนเหมือนกำลังประกันความเสี่ยง อะไรก็ต้องทำ กลายเป็นคาดหวังกับเด็กอีกแบบหนึ่ง เราทุกคนอยากให้ลูกอยู่เองได้โตเองเป็น แต่ถ้ามากเกินไปก็จะกลายเป็นความเครียดที่เด็กรู้สึกได้ไม่ยาก”
ส่งท้ายด้วยประโยคที่พ่อแม่หลายคนน่าจะเห็นตรงกันคือ “การเลี้ยงลูกยากมาก แต่ถ้าจะให้ผมถอยกลับไปไม่มีลูก ผมไม่ทำ”
“การมีลูกเติมเต็มความเป็นมนุษย์ของเรา ทำให้เราต้องปรับตัวเข้ากับลูก ทำให้เราได้เรียนรู้เหมือนกัน”
สำรวจแนวทางเลี้ยงลูกให้ “อยู่เองได้ โตเองเป็น”
ใน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง
(The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control over Their Lives)
William Stixrud และ Ned Johnson เขียน
ศิริกมล ตาน้อย แปล
อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่