เรื่อง: พิชญา โคอินทรางกูร
ช่วงเวลาที่ได้อ่านหนังสือร่วมกัน เป็นของขวัญล้ำค่าที่สุดชิ้นหนึ่งที่พ่อแม่สามารถมอบให้แก่ลูก
ช่วงเวลาอันเรียบง่ายของการได้อิงแอบกันก่อนนอน ฟังน้ำเสียงของพ่อแม่ แบ่งปันและติดตามเรื่องราวไปทีละหน้าหนังสือ แท้จริงแล้วเป็นช่วงเวลาอันทรงพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้ทั้งชีวิต
ทำไมกิจกรรมอันแสนธรรมดาอย่าง “การอ่านนิทานก่อนนอน” จึงมหัศจรรย์ถึงเพียงนั้น bookscape ชวนคุณพ่อคุณแม่มาร่วมค้นหาคำตอบต่อยอดจากหนังสือ ครอบครัวอ่านออกเสียง (The Read-Aloud Family: Making Meaningful and Lasting Connections with Your Kids) ของ ซาราห์ แมคเคนซี (Sarah Mackenzie) พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนกลเม็ดในการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน เคล็ดลับช่วยให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับนิทาน ตลอดจนประสบการณ์การสานสัมพันธ์ผ่านการอ่านของแต่ละครอบครัว นำการสนทนาโดย พ.ญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี และน้องพรีม เจ้าของเพจ “หมอแพมชวนอ่าน” ชนิดา สุวีรานนท์ และน้องต้นหลิว เจ้าของเพจ “เรไรรายวัน” ชัชนันท์ ประสพวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์กลุ่มเด็กในเครืออมรินทร์ และดำเนินรายการโดย พนิตชนก ดำเนินธรรม เจ้าของเพจ “NidNok”
ร่วมพลิกหน้าหนังสือ และติดตามพลังของการอ่านออกเสียงไปด้วยกัน
อ่านเพื่อสานสัมพันธ์
การอ่านออกเสียงเป็นกิจกรรมที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของครอบครัววิทยากรทุกท่าน ชนิดาเปิดประเด็นว่าตนเองเป็นนักสื่อสารมวลชน คุณพ่อเป็นนักเขียน น้องต้นหลิวในวัยเด็กจึงได้ฟังนิทานและเรื่องเล่ามาโดยตลอด
“ที่บ้านเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟัง แต่ทั้งสองคนอ่านไม่เหมือนกันนะคะ เวลาคุณพ่ออ่าน เขาจะดัดเสียงเป็นตัวละคร มีลูกเล่นที่ทำให้ฟังสนุกขึ้น ชอบอธิบาย เอาตัวอย่างอื่นมาแทรก ส่วนคุณแม่จะคอยถามคำถาม เช่นเคยเจออะไรแบบนี้ไหม รู้จักคำนี้หรือเปล่า” น้องต้นหลิวเล่าถึงประสบการณ์การอ่านหนังสือร่วมกันในครอบครัว “พอโตขึ้นก็อยากลองอ่านเอง อยากค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ เข้าใจเอง แต่หนูก็ยังชอบให้คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟังก่อนนอน”
“หนังสือหนึ่งเล่มช่วยกันอ่านสามคน” ชนิดากล่าวเสริม ก่อนเล่าต่อว่าเดี๋ยวนี้ ‘พี่ต้นหลิว’ ก็เป็นคนอ่านหนังสือให้น้องๆ ฟังเช่นกัน
“เราจะรู้ว่าน้องชอบให้เล่าแบบตลกๆ เราก็จะใช้น้ำเสียง แล้วน้องก็จะชอบใจ”
ส่วนปุษยบรรพ์อธิบายว่าการอ่านหนังสือนั้นแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของตนอยู่แล้ว และเมื่อมีลูกสาวคือน้องพรีม กิจกรรมดังกล่าวจึงถูกประยุกต์ใช้เข้ากับการเลี้ยงลูกเช่นกัน
“สำหรับหมอ การอ่านเป็นเสมือนการพักผ่อนของเราไปในตัว เพราะเราเป็นคนชอบอ่าน แล้วก็รู้สึกว่าการอ่านหนังสือกับลูกเป็นงานที่ใช้พลังน้อยสุด คือเรามองว่ามันเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงดูลูกที่ดีมากอย่างหนึ่ง การอ่านหนังสือกับลูกเป็นช่วงเวลาที่เราได้พัก ได้ทำสิ่งที่ชอบ และลูกก็ได้สานสัมพันธ์กับเราด้วย”
อ่านเพื่อเรียนรู้โลก
การอ่านหนังสือเป็นเสมือนการเรียนรู้โลกใบใหม่ผ่านตัวอักษร เราอ่านและเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น แล้วนำมาจินตนาการในสมองของตน ปุษยบรรพ์กล่าวว่า การที่เราสามารถคิดถึงสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเราเลยได้ คือความสามารถของมนุษย์ในการดึงเอาความรู้ของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ดังนั้นเวลาที่เราอ่านหนังสือกับลูก เป้าหมายหลักคือเราอยากให้ลูกรู้จักจับใจความและถอดบทเรียนจากสิ่งที่ได้เรียนรู้
“มนุษย์ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการคิด เด็กวัยแรกเกิดถึงหนึ่งขวบจะกระหายที่จะเรียนรู้โลกภายนอกมาก และการเรียนรู้ภาษาเป็นหนทางที่จะเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นๆ เพราะเราเป็นสัตว์สังคม” เสียงน้องพรีมแว่วเข้ามาข้างหลังว่า เราไม่ใช่สัตว์นะ! ปุษยบรรพ์หัวเราะก่อนอธิบายต่อว่า “ดังนั้นเด็กๆ จะเรียนรู้ภาษาไปตามขั้นตอน ฟัง พูด อ่าน เขียน ผู้ใหญ่มักเข้าใจว่าเด็กๆ ยังอ่านไม่ออก เพราะพวกเขายังสะกดคำไม่ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ของการอ่านคือเราอยากให้ลูกเข้าใจเนื้อหา เข้าใจว่าตัวละครคิดอะไร เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร และแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เราอยากให้ลูกเรียนรู้ เราไม่ได้อยากให้ลูกสะกดคำได้โดยที่ไม่รู้ความหมาย เวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง สมองของเขาจะเชื่อมต่อคำที่แม่พูดเข้ากับภาพที่เห็น ทำให้เกิดการเรียนรู้ เด็กจะเรียนรู้ว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีผ่านน้ำเสียงของแม่ การอ่านนิทานแค่เรื่องเดียวไม่ใช่แค่การเรียนรู้ภาษา แต่คือการเรียนรู้โลกผ่านทางเรื่องราวจากหนังสือด้วย”
ชัชนันท์แลกเปลี่ยนในมุมมองของคนทำหนังสือสำหรับเด็กว่า ทีมบรรณาธิการก็ตั้งใจจะสื่อสารประเด็นหลักต่างๆ ถึงเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อมลงในเรื่องราวของหนังสือแต่ละเล่มอยู่แล้ว ก่อนยกตัวอย่างประสบการณ์จากการทำหนังสือเรื่อง จิ๋วหลิวผจญภัย
“เด็กๆ จะวางตัวละครในเรื่องเป็นเพื่อนหรือฮีโร่ของเขา” ชัชนันท์กล่าว “จิ๋วหลิวคือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เด็กๆ ไม่สังเกตเห็น จิ๋วหลิวจะกินแค่ดอกไม้และใบไม้ แต่จะเอาเมล็ดไปปลูกตามที่ต่างๆ เรื่องนี้เราเล่าไปนานสักพักแล้วค่ะ จนวันหนึ่งเราได้เจอน้องที่เขาบอกกับเราว่า เดินแล้วระวังด้วยนะ เดี๋ยวจะเหยียบจิ๋วหลิว”
และนั่นเป็นเสมือนของขวัญสำหรับคนทำหนังสือเด็กเลยทีเดียว เมื่อได้รู้ว่าประเด็นเหล่านั้นสามารถสื่อสารไปถึงเด็กๆ ได้สำเร็จ
“เด็กๆ จำเรื่องที่หนังสือสื่อสารกับเขาได้ แม้ว่าในวัยแค่นั้นเขาอาจจะจำได้แค่ต้องเดินระวังเพราะเดี๋ยวจะเหยียบจิ๋วหลิว แต่พอโตขึ้นเขาจะเข้าใจประเด็นต่างๆ มากขึ้น เช่น เราต้องค่อยๆ ดูสิ่งรอบตัว ค่อยๆ ระมัดระวังสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ”
“เด็กๆ จะเรียนรู้ภาษาไปตามขั้นตอน ฟัง พูด อ่าน เขียน ผู้ใหญ่มักเข้าใจว่าเด็กๆ ยังอ่านไม่ออก เพราะพวกเขายังสะกดคำไม่ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ของการอ่านคือเราอยากให้ลูกเข้าใจเนื้อหา เข้าใจว่าตัวละครคิดอะไร เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร และแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เราอยากให้ลูกเรียนรู้”
อ่านเพื่อพัฒนาภาษา
เมื่อเด็กมีประสบการณ์กับการอ่านมากเพียงพอ เขาจะสามารถบรรยายความคิดผ่านภาษาที่ได้เรียนรู้ เด็กๆ จะรู้จักกับความงดงามของภาษาและสะสมคลังคำศัพท์จากการอ่านหนังสือ การอ่านออกเสียงดังๆ เป็นหนึ่งในกลวิธีคลี่ตัวอักษรที่เรียงกันบนหน้ากระดาษออกมาเป็นเสียงของภาษาที่มีจังหวะจะโคนแจ่มชัด
ชนิดาแบ่งปันว่าการอ่านออกเสียงช่วยพัฒนาภาษาเขียนของน้องต้นหลิวใน “เรไรรายวัน” อย่างไร
“เราเคยทำคลิปชื่อ ‘เรไรอ่านรายวัน’ เพราะแม่สังเกตเห็นว่าวรรคตอนเวลาเขียนของต้นหลิวค่อนข้างกระท่อนกระแท่น คำยังดูประหลาดและน่าจะลื่นไหลได้มากกว่านี้ แม่เลยคิดว่าถ้าให้เขาได้ลองอ่านออกเสียงเองก็น่าจะดี” ชนิดาอธิบาย ก่อนเสริมว่าครอบครัวของตนใช้แอปพลิเคชั่น ‘read for the blind’ อ่านออกเสียงให้คนตาบอด เพื่อแบ่งปัน “เสียง” จากการอ่านไปสู่คนที่อาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสหนังสือนัก “พออ่านไปเรื่อยๆ เขาก็จะเริ่มอ่านได้คล่องขึ้น และสามารถเอาประสบการณ์จากการอ่านออกเสียงมาแก้ไขงานเขียน เช่น การเว้นวรรค หรือการเปลี่ยนคำที่อ่านแล้วลิ้นพันกัน ต้นหลิวเขาได้ยินเสียงของตัวเองว่าพออ่านออกมาจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร การอ่านออกเสียงช่วยเรื่องภาษาและการเขียนของต้นหลิวได้อย่างดีเลย”
และการอ่านออกเสียงก็ยังจำเป็นสำหรับคนทำหนังสือเช่นกัน
“แม้กระทั่งบรรณาธิการเองก็ต้องลองงึมงำๆ อ่านออกเสียงเหมือนกัน” ชัชนันท์อธิบาย “เพราะเรื่องของจังหวะหรือการเลือกใช้คำต่างๆ ถ้าไม่อ่านออกเสียง เราไม่มีทางรู้จริงๆ เลยว่าประโยคเป็นอย่างไร”
“ต้นหลิวเขาได้ยินเสียงของตัวเองว่าพออ่านออกมาจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร การอ่านออกเสียงช่วยเรื่องภาษาและการเขียนของต้นหลิวได้อย่างดีเลย”
เรา “อ่าน” เพื่อพัฒนาภาษา และแน่นอนว่าหลักการนี้ก็ใช้กับภาษาต่างประเทศได้เช่นกัน
“เรามีหน้าที่แนะนำให้ลูกรู้จักว่าโลกใบนี้มีหลากหลายภาษา และภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล” ปุษยบรรพ์กล่าว ก่อนจะอธิบายต่อว่าการที่เด็กปฏิเสธหนังสือภาษาต่างประเทศไม่ได้แปลว่าเขาไม่ชอบภาษานั้นๆ “การที่เด็กคนหนึ่งจะฟังภาษาไทยได้ เขาต้องมีคลังศัพท์พอสมควร อยู่ดีๆ แม่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้ฟัง เขาก็ย่อมตกใจเหมือนกันนะ ถ้าเราจะแนะนำให้เขารู้จักภาษาที่สอง เราก็ต้องเข้าใจว่าเขาเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนกัน”
“อย่างน้อยเขาก็ได้เห็นไวยากรณ์หรือโครงสร้างประโยค” พนิตชนกแบ่งปันประสบการณ์จากการอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศกับลูก “เราจะใช้วิธีอ่านไปเลย ไม่หยุดแปลระหว่างทาง อย่างน้อยตอนนี้เขาก็เริ่มเห็นโครงสร้างทางภาษาบางอย่างที่เกิดจากการอ่านซ้ำไปซ้ำมา การจับใจความหรือรูปแบบประโยคได้คือพื้นฐานมากๆ ของการรู้จักภาษา แล้วในอนาคต เราก็หวังว่าการเรียนภาษาพวกนี้ต่ออาจจะง่ายขึ้นสำหรับเขา”
และถึงคุณพ่อคุณแม่จะไม่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ราวกับเจ้าของภาษา แต่ก็สามารถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้ลูกฟังเพื่อแนะนำให้พวกเขารู้จักกับภาษาใหม่ๆ เป็นการปูพื้นฐานก่อนที่พวกเขาจะศึกษาภาษาเหล่านี้ต่อไปในอนาคต
“เด็กสมัยนี้เขาได้เรียนกับครูต่างชาติ เขาพูดชัดกว่าเราเยอะเลย แต่ถามว่าหมออายไหม หมอก็ไม่อายนะ เราก็อ่านภาษาอังกฤษสำเนียงไทยของเราไป” ปุษยบรรพ์กล่าว “เราอยากให้ลูกพูดเป็นเพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล แต่หลักๆ คือภาษามีไว้เพื่อสื่อสาร ไม่จำเป็นต้องขำคนที่เขาพูดไม่ชัด เราแค่แนะนำให้ลูกรู้จักกับอีกภาษาเท่านั้น”
อ่านกับเด็กแต่ละช่วงวัย
ในฐานะบรรณาธิการหนังสือสำหรับเด็ก ชัชนันท์รับหน้าที่แจกแจงว่าหนังสือชนิดใดที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละวัย และออกแบบมาให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร
“จริงๆ เราสามารถอ่านให้เขาฟังได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง ฟังให้คุ้นกับเสียงของคุณพ่อคุณแม่ สำหรับเด็กในวัยทารก เขาจะยังแยกไม่ออกว่านี่คือหนังสือ และคิดว่าเป็นสิ่งของหรือของเล่นชิ้นหนึ่ง หนังสือของเราเลยจะไม่เน้นเรื่องราว เน้นภาพชัดๆ แทน เช่น หนังสือผ้านุ่มนิ่มไม่อันตราย หรือหนังสือฟองน้ำที่โยนได้ กันน้ำได้” ชัชนันท์อธิบาย พร้อมหยิบหนังสือที่มีหน้าตาเหมือนของเล่นขึ้นมาให้ดูเป็นตัวอย่าง “พอเด็กโตขึ้นมาหน่อย หนังสือก็จะมีเรื่องราวมากขึ้น แต่ไม่ซับซ้อน พอเด็กอายุประมาณ 3-6 ขวบ ก็จะเริ่มเป็นเรื่องราวการผจญภัย มีเรื่องตลกขบขัน ภาพมีรายละเอียดยิบๆ ย่อยๆ ให้จับสังเกต เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ด้วยภาพ ส่วนเด็กที่อายุ 7 ขวบขึ้นไป เราสามารถเริ่มให้เขาอ่านหนังสือเสริมความรู้ หนังสือพวกนี้อาจจะมีเทคนิคพิเศษต่างๆ ที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มรู้จักรักษาของแล้ว”
ส่วนในกรณีที่หนังสือมีเพียงภาพ แต่ไม่มีคำบรรยายเลยสักตัวเดียว เราก็ยังสามารถสนุกกับการอ่านออกเสียงได้เช่นกัน
“อย่างเล่มนี้เล่าเรื่องการแข่งขันวิ่งมาราธอนของแมว 21 ตัว” ชัชนันท์พลิกหนังสือภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียดต่างๆ มากมาย ชี้ชวนให้สังเกตว่า เรื่องราวเริ่มต้นที่จุดออกตัวของแมวทั้งหมดก่อนจะเปิดหน้าต่อไป “พอเล่าด้วยภาพไปเรื่อยๆ เด็กๆ ก็จะสังเกตเห็นว่า เอ๊ะ แมวหายไปไหน ทำไมบางตัวไปตกปลาเสียแล้ว รายละเอียดมันจะซ่อนอยู่เยอะมาก นี่คือการอ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่ออกเสียงจากจินตนาการ จากเรื่องราวของเราเอง และเสน่ห์ของหนังสือประเภทนี้คือ ด้วยเส้นเรื่องเดียวกัน รายละเอียดที่เล่าให้เด็กๆ ฟังในแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกันเลย”
อ่านอย่างมีเทคนิค
เทคนิคหนึ่งเดียวของการสร้างครอบครัวนักอ่านก็คือ เราต้องทำจนเป็นกิจวัตร
“ถ้าเรารอจนกว่าจะพร้อม เราอาจจะไม่มีวันอ่านให้ลูกฟังเลย เราต้องดูจังหวะ” ชนิดากล่าว “เราไม่ได้มีสูตรตายตัว บางครั้งถ้าเหนื่อย เราก็จะบอกให้ลูกอ่านให้ฟังแทน เป็นการกระตุ้นเขาว่าบทบาทการอ่านออกเสียงไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงของพ่อหรือของแม่ ลูกๆ ก็อ่านได้เช่นกัน ให้เขาได้ใช้เวลากับหนังสือเยอะที่สุด”
“เราต้องยืนกรานและยืนยันที่จะอ่านต่อไป” ปุษยบรรพ์แบ่งปันบ้าง “พ่อแม่มักจะคาดหวังว่าลูกจะต้องนั่งตั้งใจฟังนิทาน แต่ความจริงเด็กเขาอาจจะไม่ได้นั่งฟังนิ่งๆ และนั่นไม่ใช่ปัญหาของเด็กเลย เราจงมีความสุขจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ส่วนลูกจะได้รับมากน้อยแค่ไหน เราบังคับเขาไม่ได้จริงๆ สมาธิของเด็กนับเป็นหลักวินาที เท่าที่ทำได้ก็คือลองเปลี่ยนเทคนิคดึงดูดความสนใจเขาไปเรื่อยๆ เท่านั้น อ่านให้สนุก เดี๋ยวลูกก็กลับมาหาเราเอง เพราะจุดอ่อนของเด็กก็คือไม่ว่ายังไงเขาก็อยากอยู่กับพ่อแม่เสมอ”
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ แม้ว่าในยุคปัจจุบันเด็กๆ จะถูกรายล้อมไปด้วยสื่อเทคโนโลยีและของเล่นอันล่อตาล่อใจต่างๆ มากมาย การอ่านนิทานกับคุณพ่อคุณแม่ก็ยังเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัย และหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ “อ่านออกเสียง” เพื่อทำให้หนังสือเล่มนั้นสนุกและน่าดึงดูดขึ้น
“ผลการทดลอง ‘Goldilocks Effects’ (ภาวะที่สมองทำงานไม่หนักหรือเบาเกินไป) แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างที่เด็กปฐมวัยดูหน้าจออนิเมชั่น ซึ่งมีทั้งภาพเคลื่อนไหว ทั้งเสียง สมองของพวกเขาจะอยู่ในภาวะที่ร้อนเกินไป (too hot) คือแค่รับโหลดข้อมูลอย่างเดียวก็แย่แล้ว เด็กไม่มีเวลาคิดเชื่อมโยง ส่วนถ้าเด็กฟังคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือ แต่ไม่มีภาพประกอบ คลังคำในหัวเขายังไม่มากพอ เขาจะจับได้แค่บางคำ ได้แค่บางช่วง สุดท้ายก็จะเบื่อและไม่สนใจสิ่งนั้น สมองจึงอยู่ในภาวะที่เย็นเกินไป (too cold) แทน” ปุษยบรรพ์อธิบาย “การอ่านนิทานให้เด็กฟัง มีภาพ มีคำบรรยายประกอบ และมีเสียงของพ่อแม่คลอไปด้วย จะทำให้สมองของเขาสามารถเชื่อมโยงและสร้างภาพเคลื่อนไหวขึ้นในหัว ซึ่งเรียกว่าภาวะพอดี (just right)”
“เราต้องยืนกรานและยืนยันที่จะอ่านต่อไป เด็กเขาอาจจะไม่ได้นั่งฟังนิ่งๆ และนั่นไม่ใช่ปัญหาของเด็กเลย เราจงมีความสุขจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ส่วนลูกจะได้รับมากน้อยแค่ไหน เราบังคับเขาไม่ได้จริงๆ “
อ่านภายใต้ข้อจำกัด
แม้การอ่านจะมีประโยชน์มากมายดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ใช่ทุกๆ ครอบครัวที่จะสามารถสรรหาหนังสือดีๆ มีคุณภาพมาอ่านกับลูกเสมอไป และหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนในจุดนี้เท่าไรนัก
คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราจะหาทางอ่านออกเสียงกับลูกได้ภายใต้บริบทที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ได้อย่างไร
“พอพูดเรื่องข้อจำกัดก็จุกเนอะ มันก็จริงแหละ” ปุษยบรรพ์ยอมรับ “จากประสบการณ์ของหมอ หนังสือที่ประเทศอังกฤษสวยและราคาถูกมาก ถูกเท่ากับเบอร์เกอร์ที่ถูกที่สุดของแมค ที่นั่นมีกระบวนการส่งเสริม ลดภาษี หรือกระบวนการที่รัฐบาลช่วยเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงหนังสือได้ และสินค้าเด็กก็ปลอดภาษีทั้งหมด ซึ่งประเทศของเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น”
แต่ถ้าความสำคัญของการอ่านไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ หากประชาชนเห็นความสำคัญของหนังสือและช่วยกันสร้างแรงสั่นสะเทือนก็อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในวันใดวันหนึ่ง
“แต่หมอก็เชื่อว่ามนุษย์จะให้เวลากับสิ่งที่เราเชื่อว่าสำคัญ เราต้องเชื่อจริงๆ เลยว่าการอ่านหนังสือมันดี การอ่านหนังสือมันจำเป็น” ปุษยบรรพ์กล่าว “และถ้าสำคัญ เราก็ต้องไปขวนขวายมา หนังสือเด็กราคาไม่ถูก แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องมีมาก และไม่จำเป็นต้องแพง”
“เราอาจจะมีน้อย แต่ใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด” ชัชนันท์กล่าว ก่อนอธิบายว่าคนทำหนังสือเองก็ยอมรับว่าหนังสือเด็กราคาค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพิถีพิถันที่จำเป็นระหว่างกระบวนการผลิต และอีกส่วนเป็นเพราะภาครัฐยังมองไม่เห็นว่าหนังสือเด็กเป็นสินค้าจำเป็น “เราเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ เป็นหลักหลายปี ซึ่งเราก็ต้องพยายามกันต่อไปเพื่อให้กลุ่มการอ่านเยอะขึ้น เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้”
“มนุษย์จะให้เวลากับสิ่งที่เราเชื่อว่าสำคัญ เราต้องเชื่อจริงๆ เลยว่าการอ่านหนังสือมันดี การอ่านหนังสือมันจำเป็น หนังสือเด็กราคาไม่ถูก แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องมีมาก และไม่จำเป็นต้องแพง”
อ่านจนกว่า …
คำถามสุดท้ายคือ แล้วเราควรจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังไปจนถึงเมื่อไร
“แม่คงอ่านไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกจะไม่เอาแล้ว” ชนิดาให้ความเห็น “คุณพ่อเคยบอกว่าเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ต้องคิดว่าตัวเองเป็นเครื่องจักร อ่านไปจนกว่าจะแน่ใจว่าลูกหลับแล้วจริงๆ ไม่ตัดจบก่อน ไม่ให้ขาดตอน พ่อเป็นตัวอย่างให้แม่เห็นว่า ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะอ่านหนังสือกับลูก เราจะต้องทำไปโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ จนกว่าเขาจะเป็นฝ่ายบอกเราเองว่าไม่ต้องแล้ว”
“ข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งที่นอกเหนือจากการเริ่มต้นอ่าน ช้า เกินไป คือการเลิกอ่าน เร็ว เกินไป” ปุษยบรรพ์อ้างอิงถึงข้อความตอนหนึ่งจาก Read-Aloud Handbook ของ Jim Trelease “ถ้าการอ่านคือการสานสัมพันธ์กับลูก การเลิกอ่านอาจจะทำให้เด็กคิดไปไกลว่าเขาทำอะไรผิดหรือ ทำไมถึงไม่อ่านหนังสือให้เขาฟังแล้ว ถ้าฉันเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องเจอเรื่องแบบนี้ ฉันกลับไปเป็นเด็กก็ได้”
จุดนี้น้องพรีมเข้ามายืนยันว่าให้แม่อ่านให้ฟังสนุกกว่ากันเยอะ เพราะ “หนูชอบเวลาที่ได้อยู่กับแม่”
“ถ้าเราเห็นว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟังคือเวลาแห่งการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี ก็จงอ่านไปเรื่อยๆ อ่านไปจนกว่าลูกจะออกไปจากชีวิตเรา” ปุษยบรรพ์กล่าว “ยังไงก็ต้องมีสักวันที่ลูกจะไปจากเรา แต่ในเมื่อตอนนี้เรายังได้อยู่ด้วยกัน ทำไมอยู่ดีๆ แม่จะไปยุติสายสัมพันธ์นั้นด้วยตัวเองล่ะ”
การสร้างวัฒนธรรมการอ่านออกเสียงในครอบครัวจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของหนังสือ ทว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนยิ่งกว่านั้น
“ดังนั้น” พนิตชนกกล่าวปิดท้าย “อ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังกันค่ะ”
ครอบครัวอ่านออกเสียง
เขียน: Sarah Mackenzie
แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล