Jason Stanley (เกิด ค.ศ. 1969) เป็นศาสตราจารย์ปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เชี่ยวชาญด้านปรัชญาภาษาและญาณวิทยา (หรือทฤษฎีว่าด้วยความรู้)
ความที่พ่อ-แม่ของเขาเป็นชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเยอรมันในยุโรปแล้วอพยพมาอยู่อเมริกา อีกทั้งแม่ของเขาได้ทำงานในศาลอาญาแมนฮัตตันอยู่ถึง 33 ปี จึงกระตุ้นให้เขาสนใจแนวโน้มลัทธิเผด็จการฟาสซิสม์และชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยผิวดำในสังคมอเมริกัน
ซึ่งเขาเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังลอกแบบผลิตซ้ำลักษณะต่างๆ ของนาซีเยอรมันและยุโรปตะวันออกมากระทำต่อชาวอเมริกันผิวดำในประเทศตน
เจสัน สแตนลีย์ ผู้เขียน How Fascism Works
ท่ามกลางกระแสการเมืองขวาจัดแพร่สะพัดในยุโรป ลาตินอเมริกาและอเมริกาเองช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สแตนลีย์จึงหันมาศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่งานเกี่ยวกับการเมืองผ่านสื่อสาธารณะทั้งที่เป็นบทความ การบรรยาย สัมภาษณ์และหนังสือ โดยเฉพาะ How Propaganda Works (โฆษณาชวนเชื่อทำงานอย่างไร, ค.ศ. 2015) และ How Fascism Works: The Politics of Us and Them (ลัทธิฟาสซิสม์ทำงานอย่างไร: การเมืองเรื่องเรากับเขา, ค.ศ. 2018)
How Fascism Works ฉบับภาษาอังกฤษ ปัจจุบันเตรียมแปลไปกว่า 20 ภาษา
แนวโน้มการเมืองอเมริกันภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บ่งชี้ภยันตรายของการทำให้การเมืองแบบฟาสซิสต์กลายเป็นธรรมเนียมปกติ (normalizing fascist politics) จนสหรัฐอเมริกากำลังสูญเสียสถานภาพประชาธิปไตยไปมากขึ้นทุกที
สแตนลีย์เขียนว่า:
“การทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปกติ (normalization) คือการเปลี่ยนโฉมเรื่องที่ผิดปกติวิสัยทางศีลธรรมให้กลายเป็นเรื่องปกติวิสัยไปเสีย มันทำให้เราสามารถทนรับได้ต่อสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยรับไม่ได้โดยทำให้ดูราวกับว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นแหละ”
(อะหา, ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบโผล่ขึ้นมาหลอนตรงจุดนี้ให้คิดถึง normalization ของ กปปส. และ คสช. ในการเมืองไทย!)
สแตนลีย์ยังเตือนชาวอเมริกันว่าอย่าเห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวประหลาด/ผิดปกติ (anomaly) ในประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างที่มักวิเคราะห์วิจารณ์กัน เขาชี้ว่า:
“ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เองนั้น เราสามารถพบมรดกของระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดเช่นเดียวกับรากเหง้าของความคิดฟาสซิสต์ (อันที่จริงฮิตเลอร์ได้แรงบันดาลใจจากสหพันธ์มลรัฐฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมืองอเมริกาและกฎหมายจิม โครว์ ที่แบ่งแยกชนต่างเชื้อชาติออกจากกัน)”
(ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบรำพึงว่ากรณีไทยอาจจะกลับตาลปัตรกับอเมริกา ในประวัติศาสตร์ไทย เราสามารถพบมรดกของระบอบเผด็จการอย่างเลวร้ายที่สุดเช่นเดียวกับรากเหง้าของความคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตย … อันที่จริงเยาวชนปลดแอกก็ได้แรงบันดาลใจจากปัญญาชนนักสู้ตั้งแต่ยุคเตียง ศิริขันธ์ ขุนพลภูพานเสรีไทยและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสหชีพ -> 14 ตุลาฯ 2516 -> 6 ตุลาฯ 2519 -> ปัจจุบัน ดูมุกดา สุวรรณชาติ www.matichonweekly.com/column/article_343856)
คํานิยาม “ลัทธิฟาสซิสม์” ของเจสัน สแตนลีย์ ล้อกันไปกับคำนิยาม “ระบอบเสรีประชาธิปไตย” ของเขาในฐานะสิ่งตรงข้ามเป็นปฏิปักษ์กัน กล่าวคือ:
ระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ตั้งอยู่บนพื้นฐานเสรีภาพกับความเสมอภาค ก็แลเสรีภาพกับความเสมอภาคนั้นเรียกร้องต้องการสัจธรรม (truth) เพราะประชาชนต้องมีสัจธรรมเพื่อเอาไปกล่าวยันกับอำนาจ (speak truth to power)
ในทางตรงข้ามกัน ลัทธิฟาสซิสม์ (fascism) ตั้งอยู่บนพื้นฐานอำนาจกับความจงรักภักดี เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจกับความจงรักภักดี อำนาจจำต้องโกหกมดเท็จ (lies) ต่อประชาชน และประชาชนผู้ถูกล่อลวงด้วยคำโป้ปดย่อมไม่เสรี นอกจากนั้น ลัทธิฟาสซิสม์ยังตั้งอยู่บนลัทธิชาตินิยมล้นเกิน ความเป็นชายชาตรีล้นเกินและลัทธิปิตาธิปไตยล้นเกินด้วย (hypernationalism, hypermasculine, hyperpatriarchy)
เสาหลักสิบต้นอันเป็นกลุ่มอาการแสดงออกของลัทธิฟาสซิสม์ (The ten pillars of fascism) ในทรรศนะของเจสัน สแตนลีย์ นั้น ประกอบด้วย :
1) อดีตในตำนาน (A Mythic Past): การปั้นแต่งอดีตในตำนานอันยิ่งใหญ่ของชาติขึ้นมา เพื่อให้ผู้นำได้หวนรำลึกอ้างอิงถึง
2) โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda): ทุกอย่างถูกกลับตาลปัตรขาวเป็นดำ/ดำเป็นขาวในโฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสม์ ข่าวสารกลายเป็นเฟกนิวส์ การต่อต้านคอร์รัปชั่นกลายเป็นคอร์รัปชั่นไปเสียฉิบ
3) ต่อต้านปัญญาความรู้ (Anti-Intellectualism): ละเลยข้อเท็จจริงหลักฐานเหตุผล เน้นปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกอคติโกรธเกลียด เช่นกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามดื้อๆ ว่า “ชังชาติ” หรือ “หนักแผ่นดิน” หนังสือของฮิตเลอร์เรื่อง Mein kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า, ค.ศ. 1925) บอกว่าโฆษณาชวนเชื่อควรจูงใจผู้มีการศึกษาน้อยที่สุดให้ได้มากที่สุด
4) ความไม่เป็นจริง (Unreality): ต้องทำลายสัจธรรมให้แหลกเป็นเสี่ยง ฉะนั้น จึงแทนที่เหตุผลด้วยทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theories) ตัวสแตนลีย์เองเริ่มลงจากหอคอยงาช้างมาเขียนบทความการเมืองเมื่อปี ค.ศ. 2011 เพราะอดรนทนไม่ได้ที่โดนัลด์ ทรัมป์ และพวกขวาเหยียดผิวเที่ยวป่าวร้องทฤษฎีสมคบคิดเรื่อง birtherism ว่าบารัก โอบามา ซึ่งเป็นชาวผิวดำคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐไม่ได้เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เกิดต่างแดน และฉะนั้นจึงไม่มีสิทธิ์เป็นประธานาธิบดี เมื่อทุบทำลายสัจธรรมลงไปด้วยทฤษฎีสมคบคิดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความจงรักภักดีต่อผู้นำ เชื่อตามกันและตามผู้นำ
5) ลำดับชั้นเหลื่อมล้ำ (Hierarchy): ในการเมืองฟาสซิสต์ กลุ่มครอบงำย่อมดีวิเศษเหนือกว่าชนอื่นทุกกลุ่ม ความที่พวกเขาแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำ จึงคู่ควรมีฐานะเหนือคนอื่นทั้งหมด และพึงเป็นที่เคารพรับนับถือด้วยเหตุนั้น
6) อ้างตัวว่าตกเป็นเหยื่อ (Victimhood): กลุ่มครอบงำในการเมืองฟาสซิสต์กลับโอละพ่ออ้างตัวเป็นเหยื่อที่รับเคราะห์กรรมโดนรังแกหนักที่สุดไปเสียฉิบ เช่น โดนป้ายสีโจมตีทางโซเชียลมีเดีย, โดนบอยคอตตกงาน, โดนกล่าวหาให้ร้ายว่าห้อยโหนเบื้องสูง เป็นต้น
7) ความสงบราบคาบของบ้านเมือง (Law and order): กลุ่มครอบงำผู้อ้างตัวว่าเป็นเหยื่อก็จะหาว่าตนโดนเล่นงานรังแกจากคนร้าย/อาชญากรผู้ก่อกวนความสงบราบคาบของบ้านเมือง
8) ความวิตกกังวลทางเพศ (Sexual anxiety): กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าลวนลามรังแกทางเพศ เป็นพวกนักข่มขืน เป็นต้น
9) เมืองคนบาป (Sodom and Gomorrah): เน้นว่าคุณค่าอันดีงามมาจากภูมิลำเนา/ดินแดนใจกลางทางวัฒนธรรมแห่งชาติของพวกตน ส่วนฝ่ายตรงข้ามมาจากท้องถิ่น/ภูมิภาคชายขอบที่ใจบาปหยาบหนาล้าหลังป่าเถื่อนเสื่อมทราม
10) ค่าของคนเกิดจากผลของงาน (Arbeit macht frei): ฝ่ายตรงข้ามขี้เกียจสันหลังยาว ไม่ใช่แค่เป็นคนชั่วร้ายเท่านั้นแต่ขี้คร้านทำงานด้วย ฉะนั้น คนแข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นจึงควรอยู่รอด พวกอ่อนแอก็ควรไปตายซะ ตามหลักลัทธิดาร์วินทางสังคม (social Darwinism)
(คุ้นหูยังไงไม่ทราบนะครับ อิๆ)
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในชื่อ “เสาหลักสิบต้นของลัทธิฟาสซิสต์,” มติชนสุดสัปดาห์, 25 กันยายน – 1 ตุลาคม 2563 และเผยแพร่ซ้ำในเว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์, 2 ตุลาคม 2563, https://www.matichonweekly.com/column/article_352950
นี่แหละฟาสซิสม์
Jason Stanley เขียน
ธนเชษฐ วิสัยจร แปล
กิตติพล สรัคคานนท์ ออกแบบปก