เรื่อง: กิตติพล สรัคคานนท์
งานชุดนี้เป็นการรวบรวมข้อเขียนและ “จดหมาย” ของเลนินที่มีนัยทางการเมือง และเป็นหลักฐานทางความคิดชิ้นสำคัญในช่วงอรุณรุ่งของการปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองในเวลานั้นเป็นการเฉพาะ
หากมองอย่างผิวเผิน เราอาจคิดว่าเหตุการณ์ทั้งหมดน่าจะเป็นผลพวงจากความเป็นจริงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการสงคราม ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในชั้นของความเป็นจริงทางสังคม เราจะพบว่ารัสเซียนั้นมีขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าและแปลกล้ำมาพร้อมๆ หรืออาจเรียกได้ว่า “ก่อน” การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ
โดยหนึ่งในแนวคิดศิลปะที่มีนัยสำคัญในเวลานั้นก็เช่น Suprematism ของคาซีมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) ที่นำเสนอผลงานในรูปทรงเรขาคณิต ที่เขาเชื่อว่ามันคือ “รูปทรงสัมบูรณ์” ที่สามารถดึงเอาสำนึกและความรู้สึกภายในตัวของผู้ชมออกมา
เมื่อพิจารณาลึกลงไปในชั้นของความเป็นจริงทางสังคม เราจะพบว่ารัสเซียนั้นมีขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าและแปลกล้ำมาพร้อมๆ หรืออาจเรียกได้ว่า “ก่อน” การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ
จุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของ Suprematism เป็นดังเช่นที่บอริส กรอยส์ (Boris Groys) นักปรัชญาศิลปะชาวเยอรมัน-รัสเซียชื่อดังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป หรือพูดอีกทางหนึ่งก็คือเป็นศิลปะแห่งการปฏิวัติถาวรนั่นเอง
ตัวอย่างผลงานของคาซีมีร์ มาเลวิช
จากข้อเท็จจริงพื้นฐานและข้อมูลในเชิงวัฒนธรรม นำมาสู่แนวคิดในงานออกแบบปกที่ประยุกต์ใช้รูปแบบและแนวทางของศิลปะในแนวอาว็อง-การ์ด (Avant-Garde) ของรัสเซีย ซึ่งทั้งหมดมิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่เพราะเอล ลิสซิสสกี (El Lissitzky) ศิลปิน-นักออกแบบชาวรัสเซียในช่วงการปฏิวัติก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่นำเอาแนวคิดแบบ Suprematism มาปรับแปลงเป็นงานเรขศิลป์ได้อย่างมีพลัง
ดังนี้เอง ปก 1917 ปฏิวัติรัสเซีย ของเลนินจึงได้อาศัยแนวทางความคิดที่อยู่ในความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การทับซ้อนระหว่างภาพ (image) กับงานออกแบบจัดวางตัวอักษร (typography) ซึ่งปกด้านในจะใช้รูปทรงเรขาคณิตนี้ดัดแปลงเป็นตัวอักษร VIL อันเป็นชื่อย่อของ วี.ไอ. เลนิน (Vladimir Ilyich Ulyanov “Lenin”)
ส่วนที่อาจแปลกจากทุกปกที่เคยออกแบบมาคือการใช้เทคนิค Photomontage <ภาพเชิงซ้อนทับภาพถ่าย> ภาพอนุสาวรีย์เลนินมาสื่อสาร โดยอาศัยชุดตัวอักษรที่มีลักษณะเฉพาะของรัสเซียในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาประกอบ ขณะที่ภาษาไทยได้เลือกใช้แบบอักษรที่ต่างสมัยไป โดยเป็นแบบอักษรที่ผลิตในช่วงสงครามเย็นเพื่อให้ประสานสอดคล้องไปกับชุดอักษรจากโซเวียต-รัสเซีย