7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน: 2. ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

“เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยอดทนกันเลย” อาจเป็นคำบ่นจากครูหลายๆ คน อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือเด็กที่ไม่อดทนทุ่มเทและดูเหมือนขี้เกียจในวิชาของครูบางคน มักจะตั้งใจและขยันเรียนในวิชาของครูอีกคน ข้อมูลนี้แสดงว่านักเรียนมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปต่อครูแต่ละคน นั่นเป็นเพราะวิธีสอนที่ทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน และชุดความคิดแห่งความสำเร็จเป็นตัวแปรสำคัญ

ลองนึกถึงวิธีที่คุณมักใช้เมื่อนักเรียนประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวดูก็ได้ หากนักเรียนประสบความสำเร็จ สิ่งที่ควรทำคือผลักดันอย่างต่อเนื่องให้นักเรียนหมั่นเตรียมความพร้อม ทุ่มเท วางแผน จดจ่อมีสมาธิ มีชุดความคิดเชิงบวก และไม่ท้อถอย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่นักเรียนควบคุมได้ แต่หากพวกเขาล้มเหลว ให้หลีกเลี่ยงคำพูดปลอบ อาทิ “เธอพยายามเต็มที่แล้วละ” หรือ “เธอยังมีความสามารถอีกตั้งหลายด้าน” เหล่านี้ล้วนส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะจะทำให้นักเรียนลดระดับความคาดหวังในตัวเองลง เมื่อความมุ่งมั่นลดลง ผลลัพธ์ย่อมตกต่ำตามไปด้วย

ชุดความคิดแห่งความสำเร็จเป็นอาวุธต่อกรกับสภาวะท้อแท้ของนักเรียน โดยเกิดจากส่วนผสมอันลงตัวตามหลักคิดของชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) โดยแครอล ดเวก ชุดความคิดแห่งแรงผลักดัน โดยแดเนียล พิงก์ และชุดความคิดแห่งความมุ่งมั่น โดยแองเจลา ดักเวิร์ธ และพอล ทัฟ รวมถึงแนวคิดของผู้เขียนเองด้วย และเมื่อนำแต่ละหลักคิดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกลวิธีการสอนประสิทธิภาพสูงก็แทบจะการันตีความสำเร็จได้เลย

หมายเหตุ: สรุปความจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน

 

ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ: พิจารณาผลวิจัยโดยสังเขป

 

ชุดความคิดแห่งความสำเร็จตั้งคำถามง่ายๆ หนึ่งคำถามให้คุณตอบ “สมองของนักเรียนจะหยุดพัฒนาทักษะการรู้คิดไว้ที่ระดับปัจจุบันไปตลอดชีวิตเลยหรือไม่” ถ้าคำตอบคือไม่หยุด ก็เท่ากับว่าคุณได้รับเชิญ หรือถึงขั้นถูกกดดันให้ช่วยเหลือนักเรียนแต่ละคนสร้างแรงผลักดัน ความพยายาม และความมุ่งมั่น เริ่มต้นจากชุดความคิดที่เด็กทุกคนต้องการและสามารถเรียนรู้ได้ โดยปลูกฝังให้พวกเขาได้เรียนรู้ นี่คือหนทางที่จะนำแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมไปสู่การปฏิบัติจริง

หากสรุปง่ายๆ คงต้องบอกว่าชุดความคิดแห่งความสำเร็จสอนกันได้ ลิซา แบล็กเวลล์ และทีมวิจัย ร่วมกันศึกษานักเรียนสองกลุ่มต่อเนื่องนานสองปี โดยกลุ่มแรกได้รับการปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโต (สอนให้เด็กๆ เชื่อว่าสติปัญญานั้นเติบโตได้และไม่ตายตัว) ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับการปลูกฝังชุดความคิดแบบยึดติด (เด็กๆ ได้รับข้อมูลว่างานวิจัยยืนยันแล้วว่าระดับสติปัญญาของมนุษย์เป็นสิ่งตายตัว) จากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบ

ผลปรากฏว่าเด็กที่มีชุดความคิดแบบเติบโตทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กอีกกลุ่ม ทั้งยังมีความพยายามและใส่ใจมากกว่า 3 เท่า กราฟด้านล่างแสดงผลลัพธ์ที่แตกต่างของเด็กทั้งสองกลุ่ม โดยชี้ว่าการมีชุดความคิดแบบเติบโตส่งผลให้นักเรียนทำคะแนนได้ดีกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ตลอดช่วงเวลาทั้งสองปีในการศึกษาวิจัย

 

 

ผลการศึกษาอีกชิ้นชี้ว่านักเรียนด้อยโอกาสที่ได้รับการพัฒนาทักษะตั้งแต่เนิ่นๆ มีแนวโน้มที่จะมีความมุ่งมั่นสูงกว่าเด็กทั่วไป และนักเรียนกลุ่มดังกล่าวจำนวนมากยังประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อพิจารณาจากความสำเร็จด้านวิชาการ การจ้างงาน การศึกษาต่อ และการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย

ปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อความสามารถทางวิชาการกลับเป็นปัญหาด้านอคติ กล่าวคือเมื่อนักเรียนรู้สึกว่าตนเองถูกเหมารวมด้วยอคติทางศาสนา ชาติพันธุ์ และเพศ อคติเช่นนี้จะคอยขัดขวางความสำเร็จทางวิชาการของนักเรียน

 

เลิกตีตรา

ถ้าเป็นไปได้ขอให้ลบคำพูดตีตราที่ยกตัวอย่างมานี้ออกจากพจนานุกรมของคุณ

  • เด็กเรียนอ่อนหรือเด็กไม่เก่ง คำเรียกนี้ฟังดูไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไร เพราะความจริงแล้ว เด็กกลุ่มนี้อาจเจอแต่ครูที่ขาดศักยภาพในการสอนมาตลอดหลายปีก็เป็นได้ และเด็กบางคนอาจดู “ไม่โดดเด่นด้านวิชาการ” กับครูบางคน เมื่อถูกเปรียบเทียบด้วยค่าเฉลี่ยระดับผลการเรียนของนักเรียนในท้องที่
  • เด็กด้อยโอกาสหรือเด็กด้อยศักยภาพ เด็กนักเรียนฐานะยากจนมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาโรงเรียนในการพัฒนาด้านต่างๆ มากกว่าเด็กทั่วไป แต่หลายคนกลับถูกตีตราว่าเป็นเด็กด้อยศักยภาพ ทั้งที่ความจริงแล้ว เด็กกลุ่มนี้ต้องประสบปัญหาต่างๆ อันเนื่องมาจากความยากจน อาทิ ปัญหาความเครียด หรือครูไม่ใส่ใจ

 

3 กลยุทธ์เพื่อความสำเร็จ

 

เจาะลึก 3 กลยุทธ์กระตุ้นความสำเร็จที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผู้เขียนย้ำว่าไม่ได้เรียงลำดับเนื้อหาตามลำดับความสำคัญ จะว่าไปแล้ว กลยุทธ์และปัจจัยกระตุ้นทั้งสามต่างส่งเสริมและเชื่อมโยงกันอย่างลงตัว ดังต่อไปนี้

 

-1-

ตั้งเป้าหมายสุดท้าทาย

 

ในงานวิจัยที่เชื่อถือได้ชี้ให้เห็นว่าการประเมินให้เกรดตนเองและการตั้งเป้าหมายความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว) ในชั้นเรียนสร้างผลกระทบด้านการเรียนรู้ได้อย่างดีเลิศ ส่งผลให้วิธีการดังกล่าวขึ้นแท่นปัจจัยที่ก่อประโยชน์สูงสุดอันดับต้นๆ ต่อความสำเร็จทางวิชาการของนักเรียน นอกจากนี้ การกำหนดและดำเนินการตามแผนระยะยาวสู่เป้าหมายที่นักเรียนตั้งไว้ด้วยตนเองก็มีขนาดผลกระทบด้านการเรียนรู้ที่สูงไม่แพ้กัน

การตั้งเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก จำเป็นต้องตั้งไว้ที่ระดับสูงหรือเชี่ยวชาญ (mastery) เท่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงระดับพื้นฐาน ครูผู้สอนที่ดีจะให้นักเรียนกำหนดเป้าหมายระยะยาวของตนเองในระดับสูงสุดตั้งแต่เปิดเทอมวันแรก

คุณอาจสงสัยว่า “แล้วถ้านักเรียนไม่ขยันเรียนล่ะ” จะทำอย่างไร ต้องบอกว่าความขยันนั้นเป็นการตัดสินใจเลือกของนักเรียน ทั้งยังมีปัจจัยมากมายมาเกี่ยวข้อง แต่ 4 ปัจจัยต่อไปนี้จะส่งผลเป็นอันดับต้นๆ

 

  1. ระดับความเป็นไปได้และแนวโน้มความสำเร็จส่วนบุคคลอันเป็นผลลัพธ์ในอดีตของนักเรียน
  2. ชุดความคิดความเชื่อมั่นในความสามารถของครูผู้สอนเพื่อผลักดันนักเรียนสู่ความสำเร็จ
  3. การประเมินตนเองของนักเรียน
  4. ความเชื่อมั่นในตนเองโดยรวมของนักเรียน

 

ข่าวดีคือครูมีอิทธิพลเหนือทุกปัจจัยที่ยกมาเบื้องต้นได้!

เรามาเรียนรู้เครื่องมือและวิธีการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการกำหนดเป้าหมายซึ่งจะนำไปสู่ความเชี่ยวชาญ เคล็ดลับในการกำหนดเป้าหมาย ตลอดจนวิธีสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียน และการใช้ประโยชน์จากเป้าหมายย่อยเพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางกันเลย

 

กำหนดเป้าหมายสุดท้าทายสู่ความเชี่ยวชาญ

 

ด้วยกระบวนการสู่ความเชี่ยวชาญ ครูจะเชื่อว่า “ฉันไม่ได้แค่ต้องการให้นักเรียนเข้าใจถูกต้อง แต่อยากให้เด็กๆ เก่งถึงขั้นที่พวกเขาจะไม่มีทางเข้าใจผิด ต้องให้สำเร็จถึงขั้นนั้น เราถึงจะไปต่อ”

การตั้งเป้าหมายสุดท้าทายที่ดีคือการตั้งเป้าหมายแบบ SMART ฉบับปรับใหม่ ดังนี้

 

  • S มีกลยุทธ์และเจาะจง (Strategic and specific)
  • M วัดและประเมินผลได้ (Measurable)
  • A เหนือความคาดหมาย (Amazing) ไม่ใช่แค่เพียงมี โอกาสสำเร็จได้ (Attainable)
  • R มีความเกี่ยวโยง (Relevant) ไม่ใช่เน้นเฉพาะ ผลลัพธ์ (Results Oriented)
  • T มีกรอบเวลาชัดเจน (Time bound)

 

ระลึกไว้เสมอว่ากระบวนการสู่ความเชี่ยวชาญไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเนื้อหาวิชาการเท่านั้น แต่คือการพัฒนาทักษะระยะยาว ไม่ว่าความมุ่งมั่นตั้งใจ ทักษะทางสังคม ทักษะการรู้คิด และพฤติกรรมในชั้นเรียนที่ทำให้การเรียนอันซับซ้อนและท้าทายเป็นสิ่งคุ้มค่า เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะล้มเหลว จงปลุกความกล้าในตัวคุณที่จะทำให้นักเรียนตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงในตัวเองขึ้นมากันเถอะ

 

ตั้งเป้าหมายสุดท้าทาย

 

นักเรียนที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคดิจิทัล มักคิดว่าสามารถค้นหาความรู้ทุกเรื่องที่ต้องการได้ด้วยการกดค้นหากูเกิล แต่ความจริงแล้ว การเป็นผู้เรียนที่ดีต้องอาศัยทักษะการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นต่างๆ ซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่น การคิดพิจารณา ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และสร้างความเข้าใจในประเด็นซับซ้อนให้กระจ่างแจ้ง นี่คือเรื่องยากและนักเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร โรงเรียนที่มีประสิทธิภาพด้านการสอนสูงจะใช้การเรียนรู้ระดับเชี่ยวชาญนี้เป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ไขปัญหา การจะปลูกฝังชุดความคิดแห่งความสำเร็จได้อย่างมั่นคง คุณจำต้องมีเป้าหมายพิเศษที่คุ้มค่าต่อการฝ่าฟัน

 

เคล็ดลับการตั้งเป้าหมาย

 

  1. ควรเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่า เกี่ยวโยงกับนักเรียนทั้งชีวิตส่วนตัวและด้านวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเป้าหมายส่วนบุคคล
  2. เป้าหมายต้องตั้งขึ้นเพื่อสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่พอ จากนั้นคุณต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนมุ่งสู่เป้าหมายนั้นอย่างเต็มความสามารถ
  3. จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายย่อย เพื่อให้นักเรียนได้เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนว่าเป้าหมายสุดท้ายของพวกเขากำลังจะบรรลุผลตามมา

ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายสุดท้าทาย เช่น “นักเรียน ป.1 ต้องอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และมีพฤติกรรมพึงประสงค์ และเมื่อสิ้นปีการศึกษา เด็กๆ จะพร้อมขึ้นไปเรียนชั้น ป.3 ไม่ใช่ ป.2” เป้าหมายเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลการเรียนรู้เทียบกับได้กับการเรียนในระยะเวลา 2 ปี ทั้งยังเป็นเป้าหมายที่เกิดขึ้นได้จริง

หากคุณสอนในโรงเรียนที่มีเด็กยากจนจำนวนมาก ความก้าวหน้าด้านผลการเรียนที่เทียบได้กับการเรียนระยะเวลา 1.5-3 ปี ในหนึ่งปีการศึกษานั้นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ตั้งเป้าหมายของคุณเองได้เลย ตั้งเป้าหมายอันน่าทึ่ง เหนือความคาดหมาย และเป็นไปได้ยาก แต่เป็นไปได้ที่จะประสบผลสำเร็จ หากคุณสอนในระดับมัธยมต้น ก็ชี้แจงเป้าหมายสุดท้าทายให้นักเรียนทราบและเข้าใจว่าพวกเขาต้องบรรลุเป้าหมายในระดับใด ในทำนองเดียวกัน ช่วยนักเรียนของคุณกำหนดเป้าหมายสุดท้าทายของตนเองด้วย

ข้อควรระวังคือการตั้งเป้าหมายไว้ต่ำ เช่น “จะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอนครั้งต่อๆ ไป” รังแต่จะฉุดรั้งศักยภาพของนักเรียน ทำให้ทุกคนรวมถึงตัวคุณเองถดถอย เราไปให้ถึงดวงดาวด้วยการยกระดับความคาดหวังสู่เป้าหมายสูงสุด เพื่อส่งนักเรียนให้ถึงฝั่งฝันแห่งความมุ่งมั่นอันต่อเนื่องกันดีกว่า

 

ให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือ

 

เมื่อบอกเล่าเป้าหมายสุดท้าทายของคุณออกไป เป็นไปได้สูงว่าคนรอบข้างคงได้แต่กลอกตา เพราะไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะกับนักเรียนที่น่าจะมีปัญหาในการยอมรับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ให้ จึงสำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะต้องให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือกับนักเรียน เป้าหมายใหญ่ ฟังดูดี เสมอ แต่หากคุณไม่มีเหตุผลสนับสนุน ก็จะไม่มีใครคล้อยตาม วิธีการถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ

แค่ 20 วินาทีก็เพียงพอที่จะให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือกับนักเรียน สิ่งที่คุณต้องทำมีอย่างเดียวคือการพูดสาระสำคัญที่ว่า

“ครูใส่ใจพวกเราทุกคน ครูเชี่ยวชาญเรื่องที่สอน และครูจะทำอย่างเต็มที่ มุ่งมั่น และเรียนรู้จากความผิดพลาด ขอแค่ทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ของตน ครูสัญญาว่าจะทำหน้าที่ครูเต็มที่ และจะไม่ยอมให้ใครล้มเหลว เรามาร่วมมือแล้วไปให้ถึงเป้าหมายกันเถอะ!”

โดยปรับเปลี่ยนวิธีพูดและรูปแบบประโยคให้เหมาะสมตามสถานการณ์

หมั่นกระตุ้นเป้าหมายสุดท้าทายนี้ทุกสัปดาห์ นักเรียนจะได้เห็นภาพเป้าหมาย ได้ยินเสียงแห่งความสำเร็จก้องในหู และรับรู้ได้จากภายใน คุณอาจติดป้ายเตือนใจหรือกระตุ้นให้นักเรียนคุยกันถึงเป้าหมายดังกล่าว ครูหลายคน ทั้งระดับประถมและมัธยม จะติดป้ายมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วห้องเรียน การกระตุ้นเช่นนี้สร้างแรงบันดาลใจได้เช่นกัน

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือครูต้องสอนให้นักเรียนรู้จักรับมือกับความล้มเหลว บอกพวกเขาให้เข้าใจว่าความล้มเหลวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความก้าวหน้า คอยกระตุ้นให้คิดว่าความล้มเหลวเป็นเพียงเสียงสะท้อนของวิธีการที่ยังไม่ดีพอเท่านั้น ความผิดพลาดเป็นบทเรียนที่คอยสอนเรา และจะก่อประโยชน์หากเรารับมือกับมันอย่างสร้างสรรค์และถือเอาเป็นบทเรียน

วิธีการรับมือกับความล้มเหลวคือหนทางพิสูจน์ตัวเรา การล้มแล้วลุกคือสิ่งสำคัญมาก นักเรียนจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่แท้จริง และลุกขึ้นสู้อีกครั้งหากความต้องการจะไขว่คว้าเป้าหมายแรงกล้าพอ และได้รับการประคับประคองสนับสนุนระหว่างเส้นทาง จุดนี้เองที่เป้าหมายย่อยเข้ามามีบทบาทสำคัญ

 

ใช้เป้าหมายย่อยคอยประคับประคอง

 

เราทุกคนล้วนต้องการแรงผลักดันเพื่อให้มีแรงใจก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่ช่วยให้เรายังคงเดินต่อไปได้คือกำลังใจที่ดี ไม่ใช่เป้าหมายประจำปีที่ตั้งไว้

นี่คือสาเหตุที่แนะนำให้คุณตั้งเป้าหมายย่อยที่เด็กนักเรียนสามารถบรรลุได้ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือสั้นกว่านั้น เป้าหมายที่เจาะจงและชัดเจนนั้นจะช่วย

 

  • เน้นย้ำให้เห็นถึงศักยภาพด้านต่างๆ
  • สร้างความก้าวหน้าสู่เป้าหมายสุดท้าทายที่วัดผลได้
  • กระตุ้นกำลังใจและให้ช่วงเวลาฉลองความสำเร็จ

 

ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะนักเรียนจำเป็นต้องเห็นพัฒนาการสู่เป้าหมายสุดท้าทายของตนทีละขั้น ยิ่งไปกว่านั้น หากนักเรียนเป็นผู้กำหนดเป้าหมายย่อยด้วยตัวเอง ผลกระทบด้านการเรียนรู้จะสูงพอๆ กับพัฒนาการจากการเรียนรู้ระยะเวลากว่า 2 ปี แม้ว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจพลังแห่งการตั้งเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ดี แต่นักเรียนจะตั้งเป้าหมายจากประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมา ทำให้บ่อยครั้งพวกเขามักตั้งเป้าหมายที่ต่ำเกินไป

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักเรียนยังไม่เข้าใจว่าพวกเขาสามารถไปได้ไกลแค่ไหน หากได้รับคำแนะนำจากครูที่ทุ่มเท จะช่วยเด็กๆ ตั้งเป้าหมาย และเชื่อมโยงเป้าหมายย่อยสู่การบรรลุเป้าหมายสุดท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ จากนั้นทุกๆ สัปดาห์ อย่าลืมประเมินความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเป็นระยะ

นักเรียนหลายคนจะรู้สึกท้อถอยบนเส้นทางนี้ เพราะสักวันพวกเขาจะเผชิญอุปสรรค และบางกรณี เด็กก็มักมองว่าอุปสรรคกีดขวางนั้นเกิดเพราะตนเองด้อยความสามารถ คุณจึงจำเป็นต้องปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“สมองของคนเราพัฒนาได้ ระดับไอคิวก็เปลี่ยนแปลงได้ จงก้าวต่อไปข้างหน้า เพราะปัญหาที่ทำให้เราต้องถอยบ้างเป็นเรื่องไม่ถาวร และแท้จริงก็เป็นเพียงผลตอบรับให้เราทบทวนตนเอง เพื่อหาหนทางที่ดีกว่า”

หากคุณไม่จัดการประเด็นนี้อย่างจริงจัง อุปสรรคก็จะเปลี่ยนและทำลายทุกสิ่งที่สร้างมา

การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นจำต้องอาศัยทั้งชุดความคิดแห่งความสำเร็จและความสบายใจในการแสดงความอยากรู้อยากเห็นต่อการเรียน หากคุณถอดใจไปสักคน นักเรียนของคุณก็จะละทิ้งเป้าหมายของตนเช่นกัน

 

-2-

ให้ผลสะท้อนที่เป็นประโยชน์

 

เมื่อมองเห็นความก้าวหน้า คนเราย่อมเกิดแรงกระตุ้น และเมื่อได้รับข้อเสนอแนะ เป้าหมายก็ดูจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ความหวังจึงบังเกิด ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นกับนักเรียนเช่นกัน นักเรียนต่างต้องการและจำเป็นต้องได้รับผลสะท้อนและข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้

การให้ผลสะท้อนและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนของนักเรียนก่อให้เกิดขนาดผลกระทบด้านการเรียนสูง เทียบได้กับระดับผลเรียนรู้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี ครูควรให้ผลสะท้อนและข้อเสนอแนะเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ (ในอัตรา 3 ต่อ 1) และเจาะจงที่ประเด็นสำคัญที่นักเรียนสามารถปรับปรุงได้

 

การประเมินผลเพื่อพัฒนาการ

 

คำว่า การประเมินผลเพื่อพัฒนาการ หมายถึงนำผลลัพธ์จากการเรียนรู้ (หรือการเรียนรู้ที่ไม่เกิดผล) มาปรับแนวทางการสอนระหว่างยังอยู่ในกระบวนการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ใช่การปรับหลังจากจบกระบวนการแล้วเท่านั้น นักวิจัยสรุปข้อมูลว่าการนำแนวทางการประเมินผลเพื่อพัฒนาการมาใช้ในห้องเรียนช่วยส่งเสริมอัตราความสำเร็จทางวิชาการได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของการสอนโดยปราศจากการประเมินผลเพื่อพัฒนาการอย่างต่อเนื่องคือการเรียนการสอนที่ล่วงเลยไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ โดยที่ผู้สอนไม่อาจมั่นใจได้เลยว่านักเรียน “เข้าใจ” เนื้อหาหรือไม่ แต่หากผู้สอนตั้งเป้าประเมินความเข้าใจของนักเรียนเป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยให้รู้และปรับแนวทางการสอนได้รวดเร็วขึ้น ผู้สอนที่มีศักยภาพมักสังเกตเห็นจุดบกพร่องของวิธีการสอน และสามารถปรับปรุง แก้ไข ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิธีการสอนได้ทันท่วงที

ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีการใดเพื่อให้ผลสะท้อนในชั้นเรียน การประเมินผลเพื่อพัฒนาการที่มีคุณภาพต้องประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 5 ข้อต่อไปนี้

 

  1. ตั้งเป้าหมายร่วมที่ชัดเจน ครูควรแจ้งให้นักเรียนทราบถึงเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน รวมถึงเกณฑ์การประเมินผล
  2. วางระบบให้ชัดเจน นักเรียนจำเป็นต้องรับรู้ว่า ณ ระดับใดจึงถือว่าประสบความสำเร็จ และในสถานการณ์ใดที่ต้องขอความช่วยเหลือ
  3. ให้ผลสะท้อนที่ปฏิบัติตามได้จริงเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ นักเรียนต้องได้รับคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรเพื่อพัฒนาทักษะที่กำลังเรียนรู้อยู่
  4. กระตุ้นให้มีความรับผิดชอบต่อผลการเรียนของตนเอง ครูควรส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือการเรียนรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้น (เรียนรู้ รับผิดชอบ และแบ่งปันความรู้)
  5. ติดตามผล นักเรียนควรมองเห็นแนวโน้มของผลการเรียนในภาพรวมและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

 

การคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอหรือเขียนติดไว้ที่โต๊ะทำงานจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อการเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ต่อจากนี้ขอแนะนำวิธีให้ผลสะท้อนประสิทธิภาพสูงอีก 4 วิธี ซึ่งอาศัยปัจจัย 5 ข้อเป็นพื้นฐาน หากไม่ได้รับความนิยมจากครูเท่าที่ควร ถ้าคุณทดลองแล้วเห็นผลจริง ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้เลย

 

กลยุทธ์ SEA สำหรับผลสะท้อนเชิงคุณภาพ

 

กลยุทธ์ SEA [strategy (กลยุทธ์) effort (ความพยายาม) และ attitude (ทัศนคติ)] ช่วยเสริมคุณลักษณะสำคัญที่ครูผู้สอนควรปลูกฝังให้นักเรียนมีต่อเป้าหมายระยะยาว จริงอยู่ที่นักเรียนไม่อาจเลือกพ่อแม่ ลักษณะทางพันธุกรรม หรือย่านที่อยู่อาศัยตามต้องการได้ แต่เด็กๆ มีสิทธิ์เต็มที่ในการตัดสินใจเลือก (S กลยุทธ์) ระดับความมุ่งมั่น (E ความพยายาม) และชุดความคิดต่อประเด็นต่างๆ (A ทัศนคติ) ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนของตน กลยุทธ์ SEA จึงเป็นหนทางหลักในการส่งเสริมปัจจัยเบื้องต้นในชั้นเรียน ทั้งยังช่วยตั้งคำถามว่า “ตอนนี้การเรียนของฉันเป็นอย่างไร”

กลยุทธ์นี้จะมอบคำแนะนำ 3 ด้านให้คุณทันที โดยไม่ต้องคิดให้เปลืองสมอง กลยุทธ์ SEA 3 ด้านจึงเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนและมีศักยภาพกว่าการประเมินภายหลัง และมีประสิทธิภาพมากกว่าการกล่าวชม “เก่งมากเลย” หรือ “ทำได้ดีมาก” ด้วยกลยุทธ์นี้ ครูสามารถให้ผลสะท้อนและคำแนะนำที่ชัดเจนและเจาะจงใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ S กลยุทธ์ E ความพยายาม และ A ทัศนคติ

 

  • S กลยุทธ์ “ครูชอบที่เราทดลองใช้วิธีการและ กลยุทธ์ ที่หลากหลายจนสามารถแก้ปัญหานั้นได้”
  • E ความพยายาม “ดีมากที่ไม่ยอมแพ้ ความพยายาม ที่ทุ่มเทไปของเธอจะช่วยให้ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายได้แน่นอน”
  • A ทัศนคติ “ก่อนจะลงมือทำ เธอคิดเอาไว้ว่าต้องทำสำเร็จแน่นอนใช่ไหม ทัศนคติ เชิงบวกแบบนี้แหละที่ช่วยให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้”

 

วิธีใช้กลยุทธ์ SEA ลองเปลี่ยน คน เวลา และ ความถี่ ในการให้ผลสะท้อนดู

“คน” ในที่นี้หมายถึงครูไม่ควรเป็นบุคคลเดียวที่ให้ผลสะท้อนแก่เด็กๆ คำแนะนำหรือข้อคิดส่วนใหญ่ควรมาจากตัวเด็กเอง เพื่อนร่วมชั้น คอมพิวเตอร์ ผลลัพธ์ทางกายภาพ เกณฑ์การให้คะแนน หรือเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้เป็นต้นแบบหรือรายการวิธีตรวจสอบ “เวลา” หมายถึงยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี และ “ความถี่” น่าจะสำคัญที่สุด เพราะผลลัพธ์ของการให้คำแนะนำที่มีต่อความมุ่งมั่น การเรียนรู้ และความสำเร็จจะส่งผลอย่างสูง ดังนั้น ต้องพยายามให้นักเรียนได้รับฟังผลสะท้อนและคำแนะนำ (จากเพื่อน กิจกรรม การสะท้อนผล หรือครู) อย่างน้อยหนึ่งครั้งทุก 30 นาที และทุกวันที่มาเรียนตลอดปีการศึกษา

 

กลยุทธ์ 3M สำหรับผลสะท้อนเชิงปริมาณ

 

กลยุทธ์การให้ผลสะท้อนแบบ 3M [ประกอบด้วย milestone (หมุดหมาย) mission (ภารกิจ) และ method (วิธีการ)] เป็นวิธีที่มุ่งเน้นปลูกฝังนักเรียนให้เรียนรู้จากผลลัพธ์เชิงประจักษ์ ข้อดีของกลยุทธ์นี้อยู่ที่ความเรียบง่าย โดยผลสะท้อนตามแนวทางนี้จะตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อที่นักเรียนมีเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการเรียนของตน ได้แก่

  1. ตอนนี้ฉันอยู่ระดับใด (หมุดหมาย)
  2. จุดหมายฉันอยู่ที่ใด (ภารกิจ)
  3. ฉันจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร (วิธีการ)

กลยุทธ์ 3M ว่าด้วยการให้ผลสะท้อนกับนักเรียน และสอนให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะนำกระบวนการต่อไปนี้ไปใช้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ (1) สอนกระบวนการ 3M แก่นักเรียน (2) ให้นักเรียนประเมินความก้าวหน้าด้วยตนเอง และ (3) แนะนำนักเรียนให้ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง เรามาศึกษาแต่ละขั้นตอนกันแบบลงรายละเอียดกัน

 

สอนกระบวนการ 3M แก่นักเรียน

 

  • หมุดหมาย (ตอนนี้ฉันอยู่ระดับใด?) “นี่คือระดับการเรียนของเธอตอนนี้ เธอตอบคำศัพท์ได้ถูกต้อง 8 ข้อ จากทั้งหมด 15 ข้อ”
  • ภารกิจ (จุดหมายฉันอยู่ที่ใด?) “ภารกิจของเธออยู่ที่การทำคะแนนให้ได้ 100 เต็มทุกครั้งในการทดสอบรายเดือน”
  • วิธีการ (ฉันจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร?) “เธอต้องเปลี่ยนวิธีการและแผนการเรียนใหม่เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ซึ่งครูแนะนำไอเดียดีๆ ใว้ให้เลือกแล้วนะ แต่ก่อนอื่นเรามาตั้งเป้าหมายย่อยใหม่ๆ กันดีกว่า”

 

เมื่อคุณเริ่มใช้กระบวนการของกลยุทธ์ 3M กับนักเรียน เด็กๆ จะมองเห็นคุณประโยชน์ และเรียนรู้การประเมินตนเองตามกระบวนการนี้ในที่สุด

 

ให้นักเรียนประเมินความก้าวหน้าของตนเอง

เพื่อให้นักเรียนประเมินตนเองได้ เด็กๆ ต้องการข้อมูลประกอบการพิจารณาศักยภาพของตน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็คือคะแนนของพวกเขานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นคะแนนจากการประเมินตนเอง แบบฝึกหัดที่ตรวจแล้ว แบบทดสอบย่อย หรือคะแนนที่เป็นตัวเลขระบุชัดเจนรูปแบบอื่นๆ

ในระหว่างพิจารณาระดับการเรียนของตนเอง นักเรียนควรทราบแล้วว่าเป้าหมายคืออะไรตั้งแต่ขั้นตอนนี้ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายที่เข้าใจง่ายเป้าหมายเดิมเสมอ นั่นคือการทำคะแนนให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่บางทีอาจมีนักเรียนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีคะแนนทดสอบน้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้นมากในช่วงเริ่มต้น กรณีเช่นนี้ ภารกิจของเด็กกลุ่มนี้ให้เน้นไปที่การมีพัฒนาการขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ (เช่น จากเดิมได้ 3 คะแนน หากมีพัฒนาการเป็น 6 คะแนน เช่นนี้ถือว่าเด็กพัฒนาขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว) ความคาดหวังที่สูงเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญของชุดความคิดแห่งความสำเร็จ เราต้องตั้งเป้าไว้ให้สูง และใส่ใจกับความสำเร็จปลีกย่อย (วิธีการ) ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายสูงสุด

 

แนะนำนักเรียนให้เกิดพัฒนาการ

คุณประโยชน์หลักของกลยุทธ์​ 3M คือการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองให้แก่นักเรียน ปกติแล้ว นักเรียนจะค้นพบหมุดหมายและเข้าใจภารกิจของตนในเวลาไม่นาน แต่ต้องได้รับคำแนะนำด้านวิธีการ กล่าวคือทำอย่างไรให้พวกเขาเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ให้เด็กๆ ได้ทดลองวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย จนค้นพบวิธีที่เหมาะสมต่อพัฒนาการด้านการเรียนด้วยตัวของพวกเขาเอง

ดูตัวอย่างวิธีการได้ทางด้านล่าง ตัวคุณเองก็คิดและออกแบบวิธีการที่เหมาะสมกับนักเรียนได้เช่นกัน

 

  • ตั้งคำถามในชั้นเรียน
  • ทบทวนแบบฝึกหัด และแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้
  • ทำบทสรุปเนื้อหาการเรียนแต่ละวัน
  • วาดแผนผังความคิดหรือภาพสรุปเนื้อหา
  • ขอคำแนะนำโดยตรงจากครู
  • ค้นหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับเนื้อหาเข้าใจยาก

 

คุณอาจให้นักเรียนเขียนวิธีการเรียนรู้และติดไว้ที่ผนังห้อง หรือให้เด็กๆ เขียนเติมแผนผังติดตามผลการเรียนสู่เป้าหมายของตนเองก็ได้ ลองจินตนาการดูสิครับว่าผลลัพธ์ที่ได้จะมีประสิทธิภาพสูงเพียงใด หากนักเรียนสามารถรวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับหมุดหมาย (เช่น “เขียนถูก 8 คำจากทั้งหมด 15 คำ”) สามารถเน้นย้ำภารกิจ (“ได้คะแนนเต็มในการสอบคำศัพท์”) และสามารถตัดสินใจเลือกวิธีพัฒนาผลการเรียนด้วยตนเอง (“ฉันควรถามครูในชั้นให้มากกว่านี้”)

ข้อมูลผลการเรียนสู่เป้าหมายนี้อาจเก็บไว้ในแฟ้ม รวบรวมเป็นไฟล์ดิจิทัล หรือจะนำไปติดบนผนังเพื่อแสดงผลความก้าวหน้าของนักเรียนก็ได้ ผู้เขียนมักสนับสนุนให้นักเรียนเข้าใจและหาแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาผลการเรียนโดยอาศัยข้อมูลด้านการเรียนของตัวเอง เช่นนี้นักเรียนจะตระหนักถึงหมุดหมาย ตลอดจนเป้าหมายของตน และพวกเขาจะเลือกวิธีการขั้นต่อไปได้ดียิ่งขึ้น

การใช้กระบวนการ 3M ในห้องเรียนนั้นเห็นผลที่สุดเมื่อใช้อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หากต้องการส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาตนเองเป็นผู้เรียนที่ดี คุณต้องช่วยให้พวกเขาเรียนรู้วิธีการและเครื่องมือที่จำเป็น ทั้งคอยแนะนำให้เชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกัน หัวใจสำคัญของกลยุทธ์ 3M คือเรียนรู้ที่จะควบคุมพัฒนาการได้ด้วยตนเอง

 

 

การให้ผลสะท้อนแบบบัตรคำ

 

วิธีการให้ผลสะท้อนแบบบัตรคำ (micro-index card) เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลเร็วเพื่อช่วยนักเรียนที่ติดขัดให้ข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ ในชั้นเรียนหลายวิชา นักเรียนที่ไม่มั่นใจในความสามารถของตนมักกลัวการทำแบบฝึกหัดที่ท้าทาย การสร้างสรรค์ การสร้างผลงาน การเขียนเรียงความ หรือทำโปรเจกต์ ต้นเหตุของปัญหามาจากก้าวแรกที่ผิดพลาด จนทำให้เรียนตามเพื่อนไม่ทันอีกเลย

การให้ผลสะท้อนและคำแนะนำแบบบัตรคำแก้ปัญหาเหล่านี้ได้โดยตรง เพราะกลยุทธ์นี้จะช่วยให้ผู้สอนเข้าใจกระบวนการทางความคิดของนักเรียน และค้นพบอุปสรรคที่อาจบั่นทอนโอกาสสู่ความสำเร็จได้

ในรายวิชาด้านภาษา การเขียนเรียงความยาวสองหน้ากระดาษถือเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับนักเรียนที่ไม่มั่นใจในทักษะการเขียนของตน ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ การแก้โจทย์ 10 ข้อถือเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับนักเรียนบางคน ในทำนองเดียวกัน การแก้ปัญหาหรือคิดอย่างเป็นระบบตามหลักวิทยาศาสตร์ในวิชาวิทยาศาสตร์อาจเป็นสิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรง คุณคงสังเกตเห็นว่าปริมาณงานและโปรเจกต์นั้นทำให้เกิดความเครียดได้ แต่วิธีการที่นักเรียนใช้ก็เป็นตัวแปรสำคัญ และการให้ผลสะท้อนแบบบัตรคำแก้ปัญหานี้ได้

ช่วงเปิดเทอมใหม่ การรวบรวมผลสะท้อนและคำแนะนำแบบบัตรคำทำได้ง่าย โดยให้นักเรียนเขียนชื่อตัวเองไว้ด้านหลังบัตรคำ ส่วนอีกด้านให้เขียนเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งต่อไปนี้

 

  • สองเรื่องเกี่ยวกับตัวนักเรียนที่ครูควรรู้ แต่กลับไม่รู้
  • พื้นฐานด้านการเรียนรายวิชานั้นๆ (เขียนอธิบายสัก 5 ประโยคหรือน้อยกว่า)
  • การเรียนในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร (สิ่งที่นักเรียนชอบและสิ่งที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง)
  • เป้าหมายในการเรียนรายวิชานั้นๆ
  • โครงร่างของเรียงความ (คำนำ ประเด็นหลัก ข้อวินิจฉัย หลักฐานและข้อมูลสนับสนุน ข้อมูลโต้แย้ง บทสรุป และคำลงท้าย)
  • เพื่อนสามคนในชั้นเรียน (เพื่อเป็นข้อมูลว่านักเรียนแต่ละคนมีความสัมพันธ์ทางสังคมมากน้อยเพียงใด)
  • เค้าโครงของงานที่นักเรียนกำลังทำอยู่ โดยเขียนอธิบาย 5-10 คำ
  • คำแนะนำสำหรับนักเรียนรุ่นน้องคนอื่นเกี่ยวกับวิธีแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์

 

ช่วงสองสัปดาห์แรก ให้นักเรียนเขียนบัตรคำแบบวันเว้นวัน เมื่อได้อ่านและจัดเรียงบัตรคำเหล่านี้ คุณจะเข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่านักเรียนแต่ละคนต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงประเภทใดเพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้น

วิธีนี้ช่วยให้คุณรับทราบข้อมูลจำเพาะเจาะจงในแต่ละประเด็นที่คุณไม่เคยมีเวลาสอบถามนักเรียนแต่ละคนด้วยตนเอง หลังจากนั้น นักเรียนจะตระหนักว่าพวกเขาขอคำแนะนำจากคุณได้ หากมองเพียงผิวเผิน อาจดูเหมือนคุณต้องทุ่มเททำงานมากยิ่งขึ้น แต่หากตัวเด็กนักเรียนและตัวคุณเองเข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้น การก้าวไปข้างหน้าย่อมทำได้รวดเร็วขึ้นหลายเท่า

 

ผลสะท้อนและคำแนะนำจากนักเรียน

 

คุณอาจประหลาดใจ แต่ความจริงคือการให้ผลสะท้อนและคำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับครูนั้นมาจากนักเรียน การได้รับผลสะท้อนและคำแนะนำจากนักเรียนทำได้ง่ายมาก ดูตัวอย่างวิธีการให้คำแนะนำและผลสะท้อนจากนักเรียน 4 รูปแบบ ดังนี้

 

  1. ข้อมูลอวัจนภาษา ระหว่างทำแบบฝึกหัด มองหาสัญญาณทางกายหรืออารมณ์ที่บ่งบอกถึงสภาวะเชิงลบระหว่างทำแบบฝึกหัด หากพบ ให้นักเรียนหยุดและสอบถามว่านักเรียนกำลังประสบปัญหาอะไร เมื่อคุณสอนเนื้อหาใหม่ให้กับนักเรียน สังเกตภาษากายที่แสดงออก หากนักเรียนกลอกตาหรือทิ้งตัวพิงพนักเก้าอี้ นั่นก็ถือเป็นผลสะท้อนว่าวิธีการดึงความสนใจของคุณใช้ไม่ได้ผล แต่หากมีเพียงนักเรียนไม่กี่คนที่ไม่สนใจ ก็ปล่อยให้นักเรียนคนอื่นๆ เริ่มทำแบบฝึกหัดได้ จากนั้นจึงค่อยเข้าไปสอบถามนักเรียนคนที่แยกตัว มีท่าทีกังวล หรือใจลอย
  2. การเรียนรู้จากเมื่อวาน การทบทวนความเข้าใจส่งผลเชิงบวกต่อการเรียน เพื่อประเมินว่านักเรียนคนใดบ้างที่ไม่เข้าใจบทเรียน ให้ลองใช้กิจกรรมที่สะท้อนผลการเรียนรู้เนื้อหาของบทเรียนในวันก่อนหน้า โดยให้นักเรียนแต่ละคนเขียนสิ่งที่จำได้จากบทเรียนเมื่อวันก่อนลงในกระดาษ ใช้เวลา 10 นาที จากนั้นรวบรวมกระดาษคำตอบและรีบแบ่งประเภทเพื่อหานักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน สอนเนื้อหาที่นักเรียนสับสนอีกครั้ง และปรับปรุงวิธีการสอนให้ดีขึ้น
  3. สรุปเนื้อหาในหนึ่งนาที เมื่อจบเนื้อหาของวัน ให้นักเรียนทุกคนเขียนคำตอบโดยไม่ต้องระบุชื่อภายในสองนาที ด้วยคำถามสองประเด็นหลัก โดยคำถามแรกคือ “อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนวันนี้” และ “หัวข้อใดบ้างในวันนี้ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ” การไม่ให้นักเรียนระบุชื่อกระตุ้นให้นักเรียนเขียนคำตอบได้อย่างตรงไปตรงมา และผู้สอนจะได้รับผลสะท้อนจากการสอนที่เป็นประโยชน์และทันท่วงที
  4. กล่องรับข้อเสนอแนะ ก่อนเข้าสู่บทเรียน ลองถามนักเรียนก่อนว่ามีประเด็นใดของเนื้อหาวันก่อนหน้าที่ยังไม่เข้าใจบ้าง จากนั้นระหว่างเรียน ให้เวลานักเรียนหนึ่งนาทีเพื่อเขียนผลสะท้อนการเรียน โดยกระตุ้นให้นักเรียนเขียนอย่างเจาะจง เช่นนี้จะช่วยให้คุณได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเคยสอนวิธีสื่อสารสิ่งที่ตนเองต้องการไปแล้วก่อนหน้า เมื่ออ่านข้อเสนอแนะจากกล่องรับสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ให้บอกนักเรียนว่าคุณได้ข้อมูลอะไรบ้าง บอกพวกเขาว่าคุณรู้สึกขอบคุณทุกคน และบอกว่าคุณจะนำความคิดเหล่านั้นไปปรับใช้อย่างไรบ้าง

 

-3-

ยึดถือความเพียรพยายาม

 

การเรียนไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น แต่เปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน งานวิจัยระบุว่ามีนักเรียนจำนวนมากไม่จบการศึกษาเพียงเพราะยอมแพ้ หากต้องการให้นักเรียนเอาชนะความท้อแท้และความล้มเหลวจนสำเร็จการศึกษาได้ นักเรียนต้องมีความเพียรพยายามซึ่งถือเป็นคุณลักษณะหลักของชุดความคิดแห่งความสำเร็จ

 

5 วิธีสร้างความเพียร

 

นี่คือวิธีการจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือในการสร้างความเพียร บางวิธีได้จากการสัมภาษณ์แองเจลา ดักเวิร์ธ ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านความเพียรพยายาม

 

  1. กระตุ้นให้นักเรียนเห็นคุณค่าของเป้าหมายสุดท้าทายอย่างต่อเนื่อง อ้างถึงเป้าหมายระยะยาวของนักเรียนด้วยวิธีการหรือตัวอย่างที่หลากหลาย อาทิ โปสเตอร์ การเฉลิมฉลอง เป้าหมายย่อย เรื่องเล่า ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนตระหนักว่าเส้นทางที่เลือกเดินนั้นจะนำไปสู่เป้าหมาย และหลายโอกาส ความเพียรพยายามจะเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่นักเรียนทำนั้นเกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง หรือตรงกับสิ่งที่พวกเขาเห็นคุณค่า
  2. แสดงให้เห็นว่าความเพียรพยายามเป็นอย่างไร ลองฉายหนังดังอย่าง Forrest Gump, Bend It Like Beckham หรือ Remember the Titans ให้นักเรียนชม แต่ก่อนฉาย ควรยกประเด็นการควบคุมตัวเองและความเพียรขึ้นมาก่อน จากนั้นให้นักเรียนแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่แสดงถึงความพยายามให้ทุกคนฟัง
  3. สร้างสภาวะที่เอื้อต่อความเพียร สร้างบรรยากาศเชิงบวกในห้องเรียนด้วยการเฉลิมฉลอง รอยยิ้ม ดนตรีที่สนุกสนาน และการแสดงความหนักแน่น ความรู้สึกเชิงบวกอย่างการมองโลกแง่ดีจะสื่อให้นักเรียนเห็นว่าอนาคตนั้นสดใสและคุ้มค่าที่จะฝ่าฟันสู่เป้าหมายสำคัญ คุณค่าของความยืดหยุ่นและความเพียรจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่ออัตราส่วนระหว่างบรรยากาศเชิงบวกต่อเชิงลบอยู่ที่ 3 ต่อ 1 ดังนั้น ผู้สอนต้องทำให้นักเรียนทุกคนได้รับรู้ถึงพลังเชิงบวก (จากความหนักแน่น คำแนะนำที่ดี กำลังใจจากการแสดงออก ฯลฯ) มากกว่าพลังเชิงลบ (จากคำวิจารณ์ การแสดงออกเชิงลบ หรือการละเลย เป็นต้น)
  4. ทำให้ความเพียรมองเห็นเป็นรูปธรรม ใช้คำเปรียบเทียบ หรือคำอุปมาอุปไมยเพื่อสื่อถึงความเพียร ให้นักเรียนเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนว่าความเพียรคืออะไร บอกกับนักเรียนของคุณว่าพวกเขาอาจไม่ใช่คนที่ทำให้ตัวเองล้มเหลว แต่พวกเขาต้องเป็นคนที่ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองอีกครั้ง
  5. ลงมือเสริมความเพียร ทุกครั้งที่คุณเห็นนักเรียนฝ่าฟันจนผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ ลองพูดว่า “ดีใจนะที่เห็นเธอมุ่งมั่นมากกับงานที่ทำ” และเมื่อนักเรียนรู้สึกท้อแท้ คุณไม่ควรหาข้ออ้างเพื่อให้กำลังใจ (เช่น “ไม่เป็นไรนะ ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้” หรือ “นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่เธอถนัด”) แต่คุณต้องแสดงความเชื่อมั่นในความสามารถของเด็กนักเรียน และพูดให้กำลังใจว่าทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเพื่อเป้าหมายระยะยาวด้วยกันทั้งนั้น นี่เป็นแค่ความผิดพลาดครั้งเดียว ถือเสียว่าเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนา

 

จงยึดมั่นในมุมมองเพื่อการพัฒนาเอาไว้นะ สำหรับเด็ก ป.1 ความเพียรพยายามอาจหมายถึงการจดจ่อทำอะไรสักอย่างให้ได้อย่างน้อย 10 นาทีต่อสัปดาห์หรือแค่เพียงวันเดียว ในช่วงเริ่มปีการศึกษา ลองให้นักเรียนเริ่มต้นด้วยกิจกรรมง่ายๆ ที่ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที แต่ที่ครูไม่ควรมองข้ามไปคือพลังแห่งการตั้งโจทย์ ลองตั้งโจทย์ที่ท้าทายกับนักเรียน เพราะปกติแล้วนักเรียนจะไม่ทำในสิ่งที่ผู้สอนไม่ได้คาดหวังหรือขอให้ทำ หลังจากนั้นไม่นาน เด็กๆ ก็จะเคยชินและพร้อมรับมือโจทย์ที่ท้าทายยิ่งขึ้นที่คุณมอบหมายให้ทำทุกๆ วันตลอดช่วงสองสัปดาห์ และเมื่อเด็กๆ มีพัฒนาการและเติบโตขึ้น คุณจะก็ตั้งโจทย์หรือมอบหมายงานที่ต้องอาศัยเวลาทำหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนได้

นอกจากนี้ หากนักเรียนแสดงออกเชิงลบหรือทำให้คุณผิดหวัง ขอให้มองว่านั่นคือโอกาสที่จะได้สอนทักษะใหม่ให้กับนักเรียน

 

วิธีรับมือเมื่อสูญเสียความเพียร

 

เราทุกคนต่างเคยสูญเสียความเพียรพยายามกันมาทั้งนั้น และนักวิจัยก็ได้ค้นพบวิธีการจุดประกายไฟในตัวเพื่อกระตุ้นให้ความมุ่งมันกลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อนักเรียนสูญเสียความเพียร ให้ลองเชื่อมโยง ค่านิยม และ ตัวตน ของเด็กๆ เข้ากับบทเรียนหรือแบบฝึกหัด เพื่อเติมพลังงานและกระตุ้นความพยายามสู่ความสำเร็จ ขอยกตัวอย่างวิธีการดังนี้

ก่อนอื่นให้นักเรียนพักสัก 5 นาที โดยช่วง 2 นาทีแรก ให้นักเรียนยืดเส้นยืดสาย ทำกิจกรรมกำหนดลมหายใจ หรือกิจกรรมกระตุ้นความกระตือรือร้น และ 3 นาทีสุดท้าย ให้นักเรียนเขียนคุณลักษณะหรือนิสัยส่วนตัวออกมาเป็นข้อๆ โดยรายการดังกล่าวควรมีทั้งความจริงใจ อารมณ์ขัน และซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ขอให้นักเรียนนึกทบทวนรายการที่เขียนไว้อีกครั้ง โดยให้เขียนเพิ่มเติมได้

เราทุกคนต่างมีคุณลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย และประโยชน์ของกิจกรรมนี้คือเปิดโอกาสให้นักเรียนได้นึกสะท้อนถึงตัวตนที่แท้จริงว่า “ฉันคือใคร” ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความเพียรพยายามได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ให้นักเรียนทดลองวิธีการรับมือกับการสูญเสียความเพียร ซึ่งมี 3 ขั้นตอนดังนี้

 

  1. ตั้งใจฟัง ก่อนเริ่มทำงานใหญ่หรือเป้าหมายที่ท้าทาย ให้ลองฟังเสียงในใจของตัวเอง ฟังให้ดีว่ามีสัญญาณบ่งบอกถึงชุดความคิดแบบตายตัวเกิดขึ้นหรือไม่ และเสียงนั้นบอกอะไรกับนักเรียน เป็นเสียงที่ขัดขวางความตั้งใจหรือไม่ ถ้าใช่ ให้ปรับเป็นเสียงของชุดความคิดแบบเติบโตที่จะบอกว่า “ฉันจะไม่ยึดติดกับอดีตและความผิดพลาดหรอกนะ ฉันเรียนรู้และแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ว่าจะต้องพยายามมากแค่ไหนก็ตาม”
  2. กระตุ้นตัวเองอีกครั้ง เป้าหมายของนักเรียนคืออะไร แล้วเหตุใดการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจึงสำคัญ ลองกระตุ้นให้เกิดภาพที่ชัดเจนและสัมผัสได้ ตลอดจนเสียงแห่งความสำเร็จเมื่อบรรลุเป้าหมาย มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน และสัมผัสถึงความอิ่มเอมใจที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ จากนั้นเล่าให้เพื่อนฟังว่าเหตุใดนี่จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ และแบ่งปันความรู้สึกของตน (หรือคนที่เราช่วยเหลือ) เมื่อทำสำเร็จตามเป้าหมาย
  3. เลือกใหม่ให้ตรงใจ นี่คือสมองและความคิดของนักเรียน คือเสียงในใจนักเรียน ชุดความคิดแห่งความสำเร็จแบบไหนที่จะพาเราไปสู่จุดหมาย หากเสียงในใจบอกว่า “ฉันคงทำไม่ได้หรอก งานนี้มันใหญ่เกินตัว อีกอย่างก็ไม่มั่นใจด้วยว่าจะทำอย่างไร เลยกลัวว่าจะล้มเหลว” ก็ให้เลือกเสียงในใจใหม่ได้เลย เปลี่ยนเป็นเสียงในใจที่คาดการณ์อนาคต และบอกกับตัวเองว่า “ฉันเคยทำอะไรสำเร็จมาตั้งหลายครั้ง ถึงตอนแรกจะกล้าๆ กลัวๆ อยู่บ้าง แต่ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ก็ขอให้คนอื่นช่วยได้ และหากมีอะไรผิดพลาด ฉันก็จะถือเป็นบทเรียน เป้าหมายของฉันสำคัญมาก และเรื่องสำคัญย่อมทำไม่ง่ายอยู่แล้ว ฉันพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้น!”

 

เมื่อต้องตั้งมั่นในเป้าหมาย คุณต้องหมั่นกระตุ้นความเพียรพยายามของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยย้ำเตือนเหตุผลที่แต่ละคนต้องการไปสู่เป้าหมาย ตลอดช่วงระยะเวลาการเดินทางสู่เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปี ความกระตือรือร้นของนักเรียนมีขึ้นและลงเสมอ หน้าที่ครูคือการเลือกใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้เป้าหมายสุดท้าทายคงความน่าสนใจอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น

 

  • ให้นักเรียนหาคลิปยูทูบที่ถ่ายทอดแก่นสำคัญของเป้าหมายตัวเอง
  • ให้นักเรียนเตรียมการนำเสนอ 30 วินาที เพื่อให้เพื่อนในชั้นได้รู้ว่าเป้าหมายของตนคืออะไร และเหตุใดจึงต้องการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
  • ให้นักเรียนนำเสนอผลความก้าวหน้าสู่เป้าหมายให้ทุกคนได้เห็นจุดเริ่มต้น ความคืบหน้า และสิ่งที่ต้องทำต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
  • ให้นักเรียนทุกคนยืนขึ้น จากนั้นเดินไปจับคู่กับเพื่อนใหม่สัก 10 วินาที เพื่อบอกเล่าถึงเป้าหมาย อุปสรรคที่เจอ และวิธีการที่ใช้เพื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าว

 

วิธีการที่หลากหลายเช่นนี้กระตุ้นให้เป้าหมายของนักเรียนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะเด็กๆ สามารถประเมินและทำความเข้าใจระหว่างนำเสนอหรือบอกเล่าเป้าหมายของตนให้เพื่อนคนอื่นๆ ฟังได้

 

เพราะคุณมีทางเลือกเสมอ เลือกชุดความคิดของตัวคุณเองได้เลย

“ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ”

 

หากคุณคิดว่าความสำเร็จเป็นผลมาจากพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูแล้ว คุณจะไม่มีทางพัฒนาตนเองเป็นผู้สอนศักยภาพสูงได้ จริงอยู่ว่าปัจจัยที่ว่ามาล้วนสำคัญ แต่ตัวคุณในฐานะผู้สอนนั้นสำคัญยิ่งกว่า และมีครูที่มีผลการสอนดีเยี่ยมมากมายทำงานในโรงเรียนด้อยโอกาสและยากจน ดังนั้น อย่าด่วนสรุปและตัดสินนักเรียนก่อนจะเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา

ลองถามตัวเองว่า คุณมีชุดความคิดแห่งความสำเร็จหรือไม่ และคุณกำลังปลูกฝังชุดความคิดแห่งความสำเร็จให้กับนักเรียนอยู่หรือเปล่า เมื่อใดที่คุณตัดสินใจและเชื่อว่าคนเรามีทางเลือก เมื่อนั้นคุณย่อมตระหนักว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตของตัวเองและของนักเรียนแต่ละคนได้

การใช้กลยุทธ์ให้ผลสะท้อนและคำแนะนำที่มีประสิทธิภาพสูงและสะท้อนตนเอง เท่ากับคุณได้มอบสิ่งล้ำค่าด้วยการยืนยันความสำเร็จ และได้ปลุกไฟในตัวให้กับนักเรียนแล้ว

 

อ่านซีรีส์ ‘7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน’ ย้อนหลังได้ที่นี่